PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2567


สายน้ำ
21-01-2024, 01:54
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงหนาวเย็นในตอนเช้า รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง และการระบายของอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีหมอกในตอนเช้า
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-15 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 21 ? 22 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 26 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 2 - 4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่าง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 21 - 22 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงหนาวเย็นในตอนเช้า รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 26 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
21-01-2024, 04:57
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


เตือนแมงกะพรุนไฟสีชมพูโผล่ทะเลเกาะห้า จ.กระบี่ พิษร้ายแรง

กระบี่ - อุทยานลันตา กระบี่ ออกเตือนให้นักท่องเที่ยวระวัง "แมงกะพรุนไฟ" สีชมพู ลอยโผล่ทะเลเกาะห้าจำนวนมาก พิษร้ายสุดอันตราย

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันนี้ (20 ม.ค.) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ นำเรือตรวจการณ์ออกลาดตระเวนแจ้งประชาสัมพันธ์เตือนผู้ประกอบการนำเที่ยว นักท่องเที่ยวที่เล่นน้ำทะเลบริเวณเกาะห้า และพื้นที่ใกล้เคียงให้ระวังอันตราย หลังจากพบแมงกะพรุนไฟ ชื่อแมงกะพรุนสีชมพู ลอยอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมาก บริเวณเกาะห้า แหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ หากนักท่องเที่ยวจะไปสัมผัสจะทำให้ได้รับอันตรายได้

เนื่องจากแมงกะพรุนชนิดดังกล่าวมีพิษร้ายแรง หากสัมผัสโดยตรงจะปวดแสบปวดร้อน บางคนมีอาการแพ้ขั้นรุนแรงจะต้องไปพบแพทย์โดยทันที การแก้พิษเบื้องต้นเมื่อถูกแมงกะพรุนไฟ โดยการใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่ถูกพิษ และนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

นายพันธ์พงศ์ คงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการบลูมของแมงกะพรุน อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหลายปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศตามฤดูกาล อุณหภูมิ การลดลงของจำนวนปลาในช่วงนั้นๆ ปรากฏการณ์ยูโทรฟิค องค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาจะทำให้ปริมาณอาหาร และสภาพแวดล้อมในระบบนิเวศเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตและการสืบพันธุ์ของแมงกะพรุนมากขึ้น ส่วนอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นและปริมาณน้ำฝนที่ลดลง สามารถชักนำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของแมงกะพรุนได้เช่นเดียวกัน ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการกระแพร่กระจายของแมงกะพรุน


https://mgronline.com/south/detail/9670000005888


******************************************************************************************************


ฮือฮา! พบ "ปลาโมล่า" ปลามหาสมุทรสุดน่ารักในทะเลไทย

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Mgr_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Mgr_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)
ภาพจากในคลิปจากเจ้าของคลิปที่ไม่ประสงค์ออกนาม

ดร.ธรณ์ ยืนยันพบ "ปลาโมล่า" ในทะเลอันดามัน ซึ่งปลาโมล่าเป็นปลามหาสมุทรที่โอกาสเจอในทะเลแทบจะไม่มี คาดอาจจะหนีมาในช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรอินเดีย

เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความว่า

น่าจะเป็นครั้งที่สองที่เราเจอโมล่าใต้น้ำในทะเลไทย พี่ๆ ที่เจอจึงส่งคลิปมาให้ผมลงไว้เป็นหลักฐานครับ

โมล่าเป็นปลามหาสมุทร จะแวะเข้ามาใกล้ฝั่งตามเกาะกลางทะเล น้ำลึก น้ำเย็น จึงแทบไม่โผล่มาในทะเลไทย แม้เป็นอันดามันก็ตามเถอะ

แต่ IOD ปรากฏการณ์ในมหาสมุทรอินเดียทำให้อะไรก็เป็นไปได้ ตัวประหลาดโผล่มากันเพียบ

จุดที่เจอคือหินม่วง/หินแดงเป็นกองหินกลางทะเลกระบี่/ตรัง น้ำลึกกว่าแนวปะการังชายฝั่ง

ผู้ที่พบแจ้งว่า เจอที่ความลึก 31 เมตร ตามสายทุ่นจอดเรือที่อยู่นอกกองหิน ปลาว่ายเข้ามาดูและว่ายออกไปอย่างเร็ว ไม่กลับเข้ามาอีก

หากย้อนไปเมื่อเดือนก่อน มีข่าวว่าชาวประมงล้อมอวนติดโมล่า 2-3 ตัว ก่อนรีบปล่อยลงทะเล ทำให้เราพอทราบว่าช่วงนี้มีโมล่าเข้ามาในไทย การพบใต้น้ำหนนี้จึงเป็นไปได้

เชื่อว่าเพื่อนธรณ์คงรู้จักโมล่ากันดีแล้ว เพราะเป็นปลาสุดน่ารัก โผล่บ่อยมากในสติ๊กเกอร์ ตุ๊กตา ฯลฯ คนญี่ปุ่นรักมากๆ

โมล่าชื่อฝรั่งคือ ocean sunfish เรามักทับศัพท์ว่าปลาแสงอาทิตย์ แต่ปัจจุบันเรียกกันว่าโมล่า ตามชื่อวิทยาศาสตร์ Mola mola

พบเกือบทั่วโลกยกเว้นเขตหนาวจัด ตัวใหญ่สุดอาจยาวเกิน 3 เมตร หนักเกิน 2.5 ตัน โมล่าจึงเป็นปลากระดูกแข็งหนักที่สุดในโลก

(ฉลามวาฬเป็นปลากระดูกอ่อน วาฬ/โลมาไม่ใช่ปลา และโมล่า ?หนัก? ไม่ใช่ยาวใหญ่)

ตัวที่เจอจึงยังเป็นโมล่าเด็ก ยาวแค่ 1 เมตรนิดๆ (ตามรายงานของผู้พบ)

โมล่ากินแมงกะพรุนเป็นหลัก ยังรวมถึงญาติๆ เช่น หวีวุ้น จึงใช้ชีวิตกลางทะเลเปิด

สังเกตท่าว่ายน้ำอันแปลกประหลาดในคลิปนี้ ทำให้โมล่ามีชื่อเสียงเป็นที่จดจำ

เพราะะปลาอื่นใช้หางว่ายน้ำ แต่โมล่าใช้ครีบหลังและครีบก้นที่ยาวเป็นพิเศษโบกน้ำไปมา ขณะที่ครีบหางสั้นกุดแทบไม่เกี่ยวอะไรกับการว่ายเลย

โมล่ายังเป็นปลาที่ออกไข่มากที่สุดในโลก 200-300 ล้านฟองต่อครั้ง เพราะโอกาสรอดของลูกๆ มีน้อยมาก

ลูกปลาที่เพิ่งเกิดตัวเล็กจิ๋ว 2-3 มิลลิเมตร กลายเป็นเหยื่อของสัตว์อื่นเพียบ กว่าจะรอดมาเป็นตัวเต็มไว ใหญ่และเร็วพอที่จะรอดตายจากศัตรู

แต่ก็ไม่ใช่ทุกตัว ฉลามและวาฬขนาดใหญ่ที่กินเนื้อเป็นนักล่าตามธรรมชาติของโมล่า เช่น วาฬเพชฌฆาต

โมล่ายังเป็นปลาที่มีปรสิตเยอะ บางหนจึงว่ายเข้ามาที่แนวปะการังกลางมหาสมุทรให้ปลาช่วยตอดปรสิต บางทีอาจถึงขั้นขึ้นไปลอยบนผิวน้ำให้นกช่วยจิก

อยากเห็นแค่เสิร์ช mola seabirds มีให้ดูแน่นอน หรืออยากให้ลูกรู้ด้วยก็ซื้อการ์ตูน ?โมล่าหาเพื่อน? ที่อาจารย์รูปหล่อเคยแต่งไว้ให้น้องๆ เด็กอนุบาลเมื่อหลายปีมาแล้ว (ภาพในเมนต์ฮะ ????)

หากเทียบความหายากของสัตว์ที่โผล่มาในอันดามันช่วงนี้

1 วาฬโอมูระเผือก (ไม่มีรายงานในโลก)

2 oarfish (ไม่เคยมีรายงานในไทย)

3 หมึกผ้าห่ม (มีตัวอย่าง เคยจับได้จากชาวประมง แต่มีคนเจอใต้น้ำเป็นครั้งแรก)

4 โมล่า เคยมีคนถ่ายคลิปไกลๆ ได้ที่สิมิลัน (2018) หนนี้น่าจะเป็นครั้งที่สองที่มีการบันทึกได้ใต้น้ำ (รายงานตามท่าเรือหรือชาวประมงจับได้มีเป็นระยะนานปีหน)

เนื่องจากมาตาม IOD จึงไม่หวังว่าจะอยู่ประจำ คงจากไปในไม่ช้า แต่แค่ได้เจอก็กรี๊ดๆๆๆ

ทะเลไทยปีนี้พีคสุดขีดครับ


https://mgronline.com/travel/detail/9670000005795

สายน้ำ
21-01-2024, 05:02
ขอบคุณข่าวจาก Springnews


น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลาย 30 ล้านตันต่อชั่วโมง เท่าเรือไททานิคจม 650 ลำพร้อมกัน

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Springnews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670121_Springnews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

งานวิจัยใหม่เผย แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลาย 30 ล้านตันต่อชั่วโมง เทียบเท่าเรือไททานิค 650 ลำจมลงสู่ก้นมหาสมุทรพร้อมกัน น้ำแข็งกรีนแลนด์ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร?

รุนแรงกว่าที่คาดไว้! การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกเดือดกำลังเร่งให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย โดยเฉพาะกรีนแลนด์


น้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังละลาย

จากการศึกษาล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อระบุตำแหน่งสิ้นสุดของธารน้ำแข็งหลายแห่งในกรีนแลนด์ทุกเดือน ตั้งแต่ปี 1985 ? 2022 จากการคำนวณน้ำหนักและขนาด แสดงให้เห็นการลดขนาดลงมหาศาลของกรีนแลนด์

โดยล่าสุด กรีนแลนด์สูญเสียน้ำแข็งโดยเฉลี่ย 30 ล้านตันต่อชั่วโมง หรือหากเทียบกับสิ่งที่หลายคนรู้จัก เราขอเทียบกับเรือไททานิคที่มีน้ำหนักราว ๆ 46,000 ตัน ดังนั้น 30 ล้านตันจึงคาดว่าจะเทียบเท่ากับเรือไททานิคจมลงสู่ก้นมหาสมุทรพร้อมกัน 650 ลำใน 1 ชั่วโมง ซึ่งมันแย่กว่าที่นักวิทย์คาดไว้ก่อนหน้านี้ซะอีก


น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างไร?

นักวิทย์บางคนกังวลว่า น้ำแข็งจากกรีนแลนด์ละลายจะเพิ่มน้ำจืดลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการล่มสลายของกระแสน้ำในมหาสมุทร หรือที่เรียกว่า กระแสน้ำพลิกคว่ำในมหาสมุทรได้ (the Atlantic meridional overturning circulation (Amoc)) และที่สำคัญคือทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยน ระดับน้ำเปลี่ยน รวมถึงรูปแบบของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน แน่นอนว่าจะกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลก ซึ่งนั่นคือพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีพของมนุษย์หลายพันล้านคน


สถิติการล่มสลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เผยว่า จากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับข้อมูลที่ศึกษามานานนับทศวรรษและการติดตามธารน้ำแข็งมากกว่า 235,000 แห่ง การศึกษาพบว่า ตลอดระยะเวลา 38 ปี แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์สูญเสียพื้นที่โดยรอบไปแล้ว 5,000 ตารางกิโลเมตร นับตั้งแต่ปี 1985

และจากการอัปเดตล่าสุดพบว่า น้ำแข็งกรีนแลนด์สูญหายไป 221 พันล้านตันทุกปี นับตั้งแต่ปี 2003 และการศึกษาใหม่นี้ก็ได้เพิ่มไปอีก 43 พันล้านตันต่อปี ซึ่งก็เท่ากับน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายประมาณ 30 ล้านตันต่อชั่วโมง

ที่มาข้อมูล : The Guardian / Nature / Reuters


https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/847046