PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2567


สายน้ำ
28-01-2024, 01:44
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคกลาง มีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันลดลง เนื่องจากมีลมพัดปกคลุม


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 27 - 28 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้

ส่วนในช่วงวันที่ 29 ม.ค. ? 2 ก.พ. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 - 3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า

ในช่วงวันที่ 28 ม.ค. ? 2 ก.พ. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1?2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 27 ? 28 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง รวมถึงให้ระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากอากาศแห้งและลมแรง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร ส่วนช่วงวันที่ 29 ม.ค. ? 2 ก.พ. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Warning02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
28-01-2024, 02:53
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


นักชีววิทยา สหรัฐฯ เผยความจริงของขนาดฉลามเม็กกาโลดอน

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

เม็กกาโลดอน (Megalodon) หรือฉลามเมกะทูธ (megatooth) ฉลามยักษ์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 3.6 ล้านปีก่อน มักถูกมองว่าเป็นสัตว์ประหลาดตัวยักษ์จากภาพจำในภาพยนตร์เรื่อง "เดอะ เม็ก" (The Meg) ที่ออกฉายในปี 2561 และ "เม็ก 2 : เดอะ เทรนช์" (Meg 2 : The Trench) ที่เพิ่งผ่านตาไปเมื่อปี 2566 ซึ่งในการศึกษาก่อนหน้านี้มีข้อสันนิษฐานว่าฉลามชนิดนี้น่าจะยาวอย่างน้อย 15 เมตร โดยอาจยาวได้มากสุดเกือบ 20 เมตร

ทว่าซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของเม็กกาโลดอนส่วนใหญ่ที่มีอยู่ มักเป็นฟันและกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่ค่อนข้างไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ฉลามขาวยุคปัจจุบันเลยถูกนำมาใช้เป็นแบบอย่างของร่างกายเม็กกาโลดอนในการวิจัยก่อนหน้านี้ แบบจำลองดังกล่าวทำให้นักวิจัยสรุปได้ว่าเม็กกาโลดอนมีรูปร่างกำยำคล่องแคล่วเหมือนฉลามขาว แต่ในการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดยนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ ในสหรัฐอเมริกา ที่ตรวจสอบซากฟอสซิลของเม็กกาโลดอนอีกครั้ง โดยเปรียบเทียบฟอสซิลกระดูกสันหลังของเม็กกาโลดอนกับฟอสซิลกระดูกปลาฉลามที่มีชีวิตในยุคปัจจุบัน ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พร้อมกับเปรียบเทียบกับการสร้างกระดูกสันหลังเม็กกาโลดอนในการวิจัยครั้งก่อนๆ

ผลการตรวจสอบพบว่าเม็กกาโลดอนมีรูปร่างเพรียวบางกว่าที่การศึกษาก่อนหน้านี้นำเสนอไว้ แต่มันยังคงเป็นนักล่าขนาดใหญ่ที่น่าเกรงขามในห่วงโซ่อาหารทางทะเลยุคโบราณ ซึ่งรูปร่างที่เพรียวบางและยาวนั้น อาจบ่งบอกว่าเม็กกาโลดอนมีช่องทางเดินอาหารที่ยาวขึ้น และในกรณีนี้ มันน่าจะมีการดูดซึมสารอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องกินอาหารบ่อยๆอย่างที่เคยเชื่อกันมา.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2758041

สายน้ำ
28-01-2024, 03:00
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


พะยูนทะเลตรังตายต่อเนื่อง 3 ตัวในรอบ 1 เดือน พบเศษอวน-พลาสติก พยาธิเต็มท้อง

ศูนย์ข่าวภาคใต้ - พะยูนตายต่อเนื่อง 3 ตัวในรอบ 1 เดือน ตัวล่าสุดยาว 2 เมตร น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ลอยติดใต้ถุนบ้านเกาะลิบง ชันสูตรทั้ง 3 ตัวคล้ายกัน พบเศษอวน เศษพลาสติก พยาธิเต็มท้อง เชื่อเป็นธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในทะเลตรัง

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันนี้ (26 ม.ค.) เพจมูลนิธิอันดามัน save Andaman network foundation โพสต์ข้อความพร้อมภาพพบพะยูนตายลอยน้ำมาติดฝั่งใต้ถุนบ้านของชาวบ้าน เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นเพศผู้ ความยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม

เพจมูลนิธิอันดามันระบุว่า เกิดอะไรขึ้นกับท้องทะเลตรัง? ธ.ค.ที่ผ่านมาถึงต้นปี 2567 เราพบพะยูนตายถึง 3 ตัวแล้ว ตัวล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2567 เวลาประมาณ 11.00 น. มีพะยูนตายลอยน้ำเข้ามาติดฝั่งใต้ถุนบ้านของชาวบ้าน ณ เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นเพศผู้ ความยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม

อ้างอิงจากผลชันสูตรตัวที่พบก่อนหน้า พบว่า ภายนอกสภาพที่พบค่อนข้างเริ่มเน่า ร่างกายค่อนข้างซูบผอม ภายนอกพบเขี้ยวพะยูน ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมฝูง มีเพรียงเกาะรอบตัว ภายในปากพบหญ้าทะเลเล็กน้อย ไม่พบบาดแผลฉกรรจ์อื่นๆ คล้ายคลึงกันใน 2 ตัวแรก

ภายในของซากพะยูนที่พบมีความคล้ายคลึงกันคือ ในกระเพาะอาหารพบเศษหญ้าทะเลเล็กน้อย และพยาธิตัวกลมจำนวนมาก รวมถึงเศษอวน เศษพลาสติกอ่อน ผนังกระเพาะอาหารหลุดลอกบางส่วน ผนังลำไส้เล็กพบจุดเนื้อตายเป็นหนองและลำไส้หลุดลอก

การตายของพะยูนในช่วงนี้นับว่ามีความถี่ขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในทะเลตรัง ซึ่งอาจจะมาจากหลากหลายสาเหตุของบริบทและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป คุณภาพน้ำในทะเลจากการขยายตัวของครัวเรือน กิจกรรมการท่องเที่ยว โรงงานยางพารามีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลมากยิ่งขึ้น การขุดลอกแม่น้ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งระบบ

ความไม่สมดุลของห่วงโซ่อาหารในปัจจุบัน และแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลที่กำลังเกิดวิกฤต (หญ้าทะเล) ที่อาจเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้สภาวะขาดแคลนอาหารอาจเกิดขึ้นได้ และที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะทะเลที่เข้าไปอยู่ในกระเพาะของพะยูน และผลชันสูตรในหลายๆ ตัวเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พะยูนต้องตายลง

จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายสาเหตุทีเดียวที่เราควรที่จะหันกลับมาใส่ใจ ให้ความสำคัญ และตระหนักในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น เรื่องราวเหล่านี้ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด

การที่พะยูนตาย สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ท้องทะเล และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สุดท้ายทุกคนควรทำอย่างไรถึงจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้อย่างยั่งยืน


https://mgronline.com/south/detail/9670000007865


******************************************************************************************************


โฉมใหม่สวยปัง!ถมทรายชายหาดจอมเทียน "มนพร" สั่งเจ้าท่าลุยแผน 12 ปี แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งยั่งยืน

"มนพร"สั่งเจ้าท่า เดินหน้าแผนแม่บทระยะ 12 ปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2577 แก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งและสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ ล่าสุดฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนเสร็จสมบูรณ์ ขยายความกว้าง 50 เมตร ยาว 3,575 เมตร สร้างจุดขายแหล่งท่องเที่ยว

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Mgr_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Mgr_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันที่ 26 มกราคม 2566 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีส่งมอบการฟื้นฟูอนุรักษ์ชายหาดจอมเทียนเพื่อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ "คมนาคมส่งยิ้ม เจ้าท่าสร้างสุข มอบหาดสวย สู่ประชาชน @หาดจอมเทียน" ณ บริเวณชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า (จท.) เดินหน้าสานต่อความสำเร็จพลิกฟื้นชายหาดท่องเที่ยวในที่ต่าง ๆ ให้มีความสวยงาม เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้เร่งรัดผลักดันให้ จท. จัดทำแผนการพัฒนาชายฝั่งทะเลด้านการเสริมทราย (Beach Nourishment) เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และฟื้นฟูอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ซึ่งถือเป็นหนึ่งหมุดหมายในการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรอยยิ้มให้ประชาชน ตามนโยบาย "คมนาคมเพื่ออุดมสุขของประชาชน และราชรถยิ้ม"

ทั้งนี้ จท. ได้จัดทำแผนแม่บทระยะ 12 ปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2577 ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ โดยดำเนินโครงการเสริมทรายชายหาดในพื้นที่ชายหาดจอมเทียนเป็นโครงการที่ 2 ต่อจากชายหาดพัทยา เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว และการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 แล้วเสร็จวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ใช้ทรายจากบริเวณทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ซึ่งอยู่ห่างจากหาดจอมเทียนประมาณ 15 กิโลเมตร ปริมาณทรายที่ใช้ทั้งสิ้น ประมาณ 640,000 ลูกบาศก์เมตร ภายหลังจากการฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนเสร็จสิ้น ส่งผลให้ชายหาดมีความกว้างเฉลี่ย 50 เมตร ยาว 3,575 เมตร สามารถสร้างประโยชน์ในพื้นที่ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยการพลิกฟื้นคืนความงดงามของชายหาดจอมเทียนให้กลับมาสวยงามและใช้เป็นพื้นที่สันทนาการได้มากขึ้น พร้อมเป็น Landmark ดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้กลับมาคึกคัก พร้อมแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ฟื้นฟูระบบนิเวศ อนุรักษ์หาดทรายให้สมบูรณ์สวยงามดังเดิม


https://mgronline.com/business/detail/9670000007931?tbref=hp


******************************************************************************************************


ตื้นเต้นกันทั้งหาด! แม่เต่าหญ้าขึ้นวางไข่ บนหาดกะรน จ.ภูเก็ต นับได้กว่า 126 ฟอง

ศูนย์ข่าวภูเก็ต ?สร้างความตื่นเต้นให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่อยู่บนชายหาดกะรนเป็นอย่างมาก ในช่วงเช้าวันนี้ เมื่อพบแม่เต่าหญ้าตัวใหญ่ ขึ้นมาวางไข่ นับได้กว่า 126 ฟอง เจ้าหน้าที่ย้ายไข่ไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Mgr_03.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Mgr_03.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

เมื่อเวลา 06.00 น. วันนี้ (27 ม.ค.) นายอุดม พัฒกอ เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด หาดกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต พบแม่เต่าหญ้าขึ้นมาวางไข่บนหาดกะรน บริเวณใกล้ๆหนองน้ำในหานขณะเดินตรวจตราความปลอดภัยบนชายหาด จึงแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ

การขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่าหญ้าในวันนี้ สร้างความตื่นเต้นให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาทำกิจกรรมบนชายหาดที่ได้เห็นแม่เต่าหญ้าตัวใหญ่ขึ้นมาวางไข่และกำลังคลานลงทะเล

ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ขุดหลุมไข่เต่า นับได้กว่า 126 ฟอง และพิจารณาพื้นที่การขึ้นวางไข่พบว่า อยู่ในระดับน้ำทะเลท่วมถึงอาจจะทำให้ไข่เต่าได้รับความเสียหายได้ เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดย้ายไข่เต่าและนำมาอนุบาล ณ โรงอนุบาลเต่าทะเล ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน

อย่างไรก็ตาม การขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่าหญ้าบนหาดกะรนในครั้ง เป็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่าหาดแห่งนี้มีความเป็นธรรมชาติและเงียบสงบในยามค่ำคืน


https://mgronline.com/south/detail/9670000008022

สายน้ำ
28-01-2024, 03:05
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'เต่ามะเฟือง' สัตว์ป่าสงวน เสี่ยงสูญพันธุ์ระดับโลก

'เต่ามะเฟือง' เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่หายาก และถือเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ของโลก ปัจจุบัน เต่ามะเฟือง ถูกบรรจุอยู่เป็น สัตว์ป่าสงวนของไทย ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670128_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

Key Point :

- เต่ามะเฟือง จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ และถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย

- ถือเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่ยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม เวลาวางไข่ มักจะขุดหลุมฝังไข่บริเวณชายหาดอันเงียบสงบ ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง

- ปัจจุบัน ภัยที่เป็นอันตรายต่อ เต่ามะเฟือง มีทั้งเครื่องมือประมง กิจกรรมในทะเลและชายฝั่ง การสูญเสียชายหาดสำหรับวางไข่ และ 'ขยะทะเล' โดยเฉพาะเชือกและเศษอวน ซึ่งเกี่ยวรัดสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ให้บาดเจ็บและเสียชีวิต


จากกรณี แม่เต่ามะเฟือง ถูกเชือกอวนหมึกรัดคอและพายหน้า 2 ข้าง ตายคาหาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเมือง วัดขนาดกระดองความกว้าง 105 ซม.ยาว 181 ซม. โดยผลชันสูตร พบไข่ในรังไข่ 136 ฟอง ถือเป็นการสูญเสียที่น่าเศร้าครั้งสำคัญ เพราะเต่ามะเฟือง ถือเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ของโลก และ ถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยอีกด้วย


ทำไม 'เต่ามะเฟือง' ถึงใกล้สูญพันธุ์

ข้อมูลจาก คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ จัดเป็นทรัพยากรร่วมของภูมิภาคและระดับโลก

ทั้งนี้ เต่ามะเฟือง เป็นเต่าทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับเต่าทะเลที่มีอยู่ 7 ชนิดทั่วโลก จำนวนประชากรพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองที่มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงปีละไม่ถึง 10 ตัว

ทำให้ต้องมีการทบทวนแนวทางการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการคุ้มครองเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกชนิดนี้ เต่ามะเฟือง จัดอยู่ในสถานภาพการอนุรักษ์ในระดับโลก คือ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) โดย IUCN และ ถูกบรรจุเป็น สัตว์ป่าสงวนของไทย ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562


เต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่ยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม กระดองเป็นหนังหนาสีดำมีจุดประสีขาว มีร่องสันนูนตามยาว 7 สัน

อาศัยอยู่ในทะเลเปิดกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก ในประเทศไทยพบวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและภูเก็ต


การออกลูกของ แม่เต่ามะเฟือง

เต่ามะเฟืองออกลูกเป็นไข่ แม่เต่ามะเฟือง จะขุดหลุมฝังไข่บริเวณชายหาดอันเงียบสงบ ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง จากนั้นจึงคลานลงสู่ทะเล ปล่อยให้ลูกเต่าฟักออกมาเป็นตัวเพียงลำพัง โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 55-60 วัน ในระหว่างนี้อุณหภูมิจะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่ออัตราการฟัก ระยะเวลาที่ใช้ฟัก และที่สำคัญเป็นตัวกำหนดเพศของลูกเต่า

โดยทั่วไปสัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียจะมีมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิในหลุมฟักไข่สูงขึ้น ลูกเต่าที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกมาจากหลุมพร้อมๆ กัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเล ลูกเต่าแรกเกิดยังคงมีถุงไข่แดงจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณท้อง

ลูกเต่าจะใช้ไข่แดงที่เหลืออยู่นี้เป็นแหล่งพลังงานในการว่ายน้ำอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหลบหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่งมุ่งออกทะเลลึก เต่ามะเฟืองซึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตหากินในบริเวณทะเลลึกไกลจากฝั่ง และจะเข้ามาชายฝั่งอีกครั้งเพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่


ภัยอันตรายต่อเต่ามะเฟือง


1. ติดเครื่องมือประมง

ระหว่างการเดินทางมาวางไข่และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น


2. ถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล

การรบกวน เช่น จากแสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกู๊ตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่าทะเลยังรบกวนการพักผ่อน หากินของมันอีกด้วย


3. การสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่

การสูญเสียสภาพชายหาดเกิดขึ้นได้ทั้งในเชิงของปริมาณ คือการสูญเสียบริเวณหาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลจากการก่อสร้างสิ่งลุกล้ำลงไป หรือในเชิงคุณภาพ เช่น มีกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่า ความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด


4. ถูกรบกวนจากกิจกรรมบนชายฝั่ง

การพัฒนาบนฝั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของชายหาดที่เต่าทะเลจะเลือกขึ้นมาวางไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแสง การขาดการจัดการที่ดีของการพัฒนาชายฝั่ง ส่งผลต่อปริมาณขยะ และน้ำเสียที่ไหลลงมาสู่ชายหาด


5. ขยะทะเล

ปัญหาของขยะทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มของประชากรของมนุษย์และการขาดจิตสำนึกในการใช้สิ่งของและการทิ้งขยะ ผลการผ่าชันสูตรซากเต่าทะเลที่เกยตื้นเสียชีวิตบางตัวพบขยะพลาสติกจำนวนมากในระบบทางเดินอาหารอันเป็นสาเหตุของการตาย

เต่ามะเฟือง ซึ่งกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลักเมื่อเห็นพวกเศษถุงพลาสติกใสอาจหลงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุนจึงกินเข้าไปได้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกลืนกินขยะทะเลเข้าไป ปัญหาขยะทะเล ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเต่าทะเล

แต่ยังเป็นสาเหตุการเกยตื้นในสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ ทั้งจากการกินโดยไม่ตั้งใจ หรือการกินโดยตั้งใจเนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร ปัญหาขยะที่พบได้บ่อยมาก คือ ขยะจำพวกเชือกและเศษอวนซึ่งเกี่ยวรัดสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ให้บาดเจ็บและเสียชีวิต


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1110424