PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567


สายน้ำ
21-02-2024, 01:39
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และมีการระบายอากาศที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 21 ? 22 ก.พ. 67 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 23 ? 26 ก.พ. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดช่วง
โดยในช่วงวันที่ 23 - 26 ก.พ. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
21-02-2024, 02:35
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


ผลพวงทะเลร้อนทำ "แม่ห้อมแดง" ลอยเกลื่อนผิวน้ำทะเลบางแสน ชาวบ้านบอกไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผลพวงทะเลร้อนทำ "แม่ห้อมแดง" หรือกั้งหางแดง ลอยขึ้นผิวน้ำเกลื่อนทะเลบางแสน ทำนักท่องเที่ยวฮืฮฮา ขณะชาวประมงพื้นที่บอกตั้งแต่เกิดมาจนอายุ 60 ปีเพิ่งเคยเห็น ยันนำมารับประทานเป็นอาหารได้ จับขายนักตกปลาตัวละ 2 บาท

จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Suwanan Saehueng ได้โพสต์ข้อความ "กุ้งต๊อกหรือกั้งต๊อก หลาย 10 ปี เพิ่งเคยเจอใครอยากได้มาช้อนเอาเลย" พร้อมคลิปวิดีโอขณะชาวประมงกำลังใช้สวิงช้อนกั้งหางแดง หรือแม่ห้อมอ่อน ที่กำลังลอยตัวบนผิวน้ำจำนวนมาก จนมีชาวเน็ตแห่ถามพิกัด และยังร่วมแสดงความเห็นนั้น

วันนี้ (20 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวไม่พลาดลงพื้นที่ชายหาดทะเลบางแสนช่วงจุดชมวิวแหลมแท่น เขตเทศบาลตำบลแสนสุข อ.เมืองชลบุรี ซึ่งพบว่ายังมีกลุ่มชาวประมงกำลังใช้สวิงตักกั้งหางแดง หรือแม่ห้อมอ่อนริมทะเลและตามโขดหิน ซึ่งบางรายสามารถช้อนกั้งหางแดง ได้เต็ม 2 กะละมังใหญ่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีน้ำหนักรวมหลายสิบกิโลกรัม

จากการสอบถาม น.ส.สุวนันท์ แซ่ฮึง เจ้าของโพสต์และยังเป็นลูกสาวชาวประมง ทราบว่าหลังพบปรากฏการณ์ดังกล่าวตนได้ถ่ายภาพเพื่อสอบถามข้อมูลไปยังเพจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งได้คำตอบว่าสัตว์ทะเลที่พบมีชื่อเรียกว่า "กั้งหางแดง" หรือแม่ห้อมอ่อน ซึ่งเป็นสัตว์ตระกูลกุ้งและกั้ง หากินได้ยากเพราะอยู่ในรูใต้ทะเล ซึ่งหากเป็นภาวะปกติจะไม่สามารถเจอตัวได้

แต่คาดว่าสาเหตุที่กั้งหางแดง พากันออกมาลอยเหนือน้ำเป็นเพราะปรากฏการฺณ์ทางทะเลที่เป็นผลพวงมาจากพื้นทะเลร้อนระอุจนทำให้กั้งหางแดงต้องออกจากรู

น.ส.พรวิไล สาครรัตน์ อายุ 35 ปี บอกว่าตนไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ชาวประมงในพื้นที่ที่พากันออกมาช้อนกั้งหางแดงขาย ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีการซื้อขายถึงราคาตัวละ 2 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ซื้อจะนำไปใช้เพื่อการตกปลา และบางส่วนนำไปชุบแป้งทอดรับประทาน เพราะกั้งหางแดงมีไข่เต็มท้อง จึงทำให้มีรสชาติอร่อยติดมัน

ด้าน นายสังข์ ชูศรี อายุ 65 ปี ชาวประมงในพื้นที่บอกว่าตนเป็นชาวประมงมากว่า 60 ปี ไม่เคยพบเห็นกั้งหางแดงลอยเหนือผิวน้ำเช่นนี้มาก่อน เพราะสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันกับกุ้งและกั้ง แต่จะตัวเล็กกว่าและมีไข่เต็มท้อง ซึ่งตากปกติหากออกเรือหาปลาหรือลากอวนจะเจอครั้งละไม่ถึง 10 ตัว

แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลร้อนทำให้ กั้งหางแดงพากันออกจากรูลอยเหนือทะเล ถือเป็นเรื่องที่หาดูได้ยาก และยังเป็นสัตว์ทะเลที่หากินได้ยากเช่นกัน


https://mgronline.com/local/detail/9670000015565?tbref=hp

สายน้ำ
21-02-2024, 02:41
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


เปิดภาพ 'หมีขั้วโลก' อดอยาก ต้องหาหญ้ากินประทังชีวิต เพราะ 'ภาวะโลกร้อน' ................ โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


KEY POINTS

- "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ทำให้พื้นที่หลายแห่งใน "ขั้วโลกเหนือ" ไม่มีน้ำแข็งปกคลุมนานขึ้นเรื่อยๆ หมีขั้วโลก" ไม่สามารถลงทะเลไปล่าเหยื่อได้ ทำให้พวกมันต้องหาอาหารบนบกเพื่อประทังชีวิตแทน

- นักวิจัยได้ติดกล้องวิดีโอที่แผงคอ หมีขั้วโลกจำนวน 20 ตัว ในช่วงฤดูร้อนที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุม เพื่อศึกษาการดำรงชีวิตและการหาอาหาร พบว่าหมีขั้วโลกส่วนใหญ่ต้องหาหญ้า ผลเบอร์รี และซากสัตว์กินประทังชีวิต

- หมีขั้วโลกที่ติดกล้องเกือบทุกตัวน้ำหนักลดลงโดยเฉลี่ย 21 กิโลกรัม ภายใน 3 สัปดาห์ เป็นข้อบ่งชี้ว่าหมีขั้วโลกไม่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยอาหารบนบก และไม่มีทางอยู่รอดในโลกที่ไม่มีน้ำแข็งได้เลย


เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่น้ำแข็งละลาย "หมีขั้วโลก" จะเข้าสู่โหมดจำศีลเพื่อประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด หรือไม่ก็ออกหาอาหารทดแทน เช่น ผลเบอร์รี ไข่นก และสัตว์บกขนาดเล็ก แต่ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ทำให้พื้นที่หลายแห่งใน "ขั้วโลกเหนือ" ไม่มีน้ำแข็งปกคลุมนานขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้หมีขั้วโลกไม่สามารถลงทะเลไปล่า "แมวน้ำ" เหยื่ออันโอชะของพวกมันได้ แม้จะไม่ใช่ฤดูร้อนแล้วก็ตาม พวกมันต้องอดอาหารนานขึ้น

ในงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications นักวิทยาศาสตร์ได้ติดกล้องไว้ที่แผงคอของหมีขั้วโลก 20 ตัวในรัฐแมนิโทบา ของแคนาดา บริเวณใต้เส้นอาร์กติกเซอร์เคิลทางใต้สุดของเทือกเขา เพื่อใช้ติดตามชีวิตของพวกมัน พบว่าในแต่ละวันหมีขั้วโลกส่วนใหญ่ได้รับปริมาณแคลอรีเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรักษามวลกายเอาไว้

"อาหารบนบกไม่เพียงพอที่จะทำให้หมีขั้วโลกสามารถมีชีวิตรอดได้" ดร.แอนโธนี ปากาโน นักชีววิทยาสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา เจ้าของงานวิจัยเปิดเผย


"หมีขั้วโลก" ออกล่าเหยื่อไม่ได้ เพราะ "โลกร้อน"

ข้อมูลจากกล้องที่ติดตัวหมีขั้วโลกพบว่า หมีพยายามเอาชีวิตรอดจากฤดูร้อนอันยาวนานด้วยการกินเป็ด ห่าน ไข่ของนกทะเล หรือแม้แต่กวางแคริบู ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความหวังว่าบรรดาหมีขั้วโลกจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับ "ภาวะโลกร้อน" ได้

แต่ไม่ใช่เลย เพราะหมีขั้วโลกเกือบทั้งหมดในการทดลองนี้น้ำหนักลดลง ได้รับแคลอรีไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นมีหมี 2 ตัวที่ไม่สามารถหาอาหารได้จนต้องอดตายก่อนที่ฤดูจะผ่านพ้นไป

สำหรับการศึกษาครั้งนี้ ดร.ปากาโน และคณะได้ติดกล้องไว้บนแผงคอของหมีขั้วโลกจำนวน 20 ตัว โดยทำการศึกษาติดต่อกัน 3 ปีระหว่าง 2019-2021 ครั้งละ 3 สัปดาห์ ซึ่งคณะนักวิจัยจะทำการชั่งน้ำหนักหมี เก็บตัวอย่างเลือด และวัดการหายใจทั้งก่อน และหลังติดกล้อง เพื่อเปรียบเทียบสภาพร่างกาย การทำกิจกรรม และระดับการใช้พลังงาน

นักวิจัยพบว่า มีหมีหกตัวที่เข้าสู่สภาวะจำศีล และอดอาหาร ส่วนหมีตัวอื่นๆ ล้วนออกหาอาหาร โดยเฉลี่ยแล้วหมีขั้วโลกใช้ระยะทางในการหาอาหารไปถึง 93 กิโลเมตร ส่วนตัวที่เดินทางไกลที่สุดเดินไปถึง 375 ภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อหาหญ้า สาหร่ายทะเล ผลเบอร์รี ซากนก กวางแคริบู ไข่ของนกทะเล และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กประทังชีวิต

ทั้งนี้มีหมีขั้วโลกบางตัวที่พยายามว่ายน้ำออกหาอาหารในอ่าวฮัดสัน โดยมีอยู่ตัวหนึ่งที่ว่ายน้ำออกไปไกลถึง 175 กิโลเมตร แต่พวกมันกลับกินซากแมวน้ำ และวาฬเบลูกาไม่ได้ถนัดนัก เพราะอยู่กลางน้ำ

ไม่ว่าหมีจะอดอาหารหรือออกหากิน หมีทุกตัวล้วนน้ำหนักลดลง โดยมีน้ำหนักลดลงเฉลี่ย 21 กิโลกรัมในช่วง 3 สัปดาห์ แต่บางตัวมีน้ำหนักลดลงเกือบ 36 กิโลกรัม และสูญเสียมวลร่างกายโดยเฉลี่ยประมาณ 7% ในเวลาเพียง 21 วัน

"ภาพวิดีโอจากตัวหมีทำให้เราเห็นถึงความฉลาด และสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของหมีขั้วโลก ในเวลาที่ต้องติดอยู่บนบก ซึ่งแต่ละตัวมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป" ดร.ปากาโน กล่าว


"หมีขั้วโลก" มีจำนวนลดลงอย่างมาก

แอนดรูว์ เดโรเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหมีขั้วโลกจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวกับ Vox ว่า วิดีโอเหล่านี้ช่วยให้เราเห็นพฤติกรรมใหม่ๆ ของหมี การว่ายน้ำเป็นเวลานานของหมีไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก และยิ่งหมีผอมลงเท่าไร ก็ยิ่งจะเสี่ยงภัยร้ายได้มากกว่าหมีที่แข็งแรง

"การศึกษาครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่า ไม่มีทางที่จะช่วยให้หมีขั้วโลกอยู่รอดในโลกที่ไม่มีน้ำแข็งได้เลย การกินผลเบอร์รี และอาหารอื่นๆ ช่วยบรรเทาความคิดได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสิ้นหวัง" เดโรเชอร์กล่าว

เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ทางตะวันตกของอ่าวฮัดสัน ประเทศแคนาดา มีช่วงเวลาไร้น้ำแข็งเพียงแค่ 3 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันหมีขั้วโลกกลับต้องใช้เวลาบนบกประมาณนานถึง 130 วัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่านับจากนี้ไป ในแต่ละทศวรรษจะมีวันที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุมในทะเลเพิ่มขึ้นอีก 5-10 วัน

ในปี 2015 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ประเมินว่ามีความเป็นไปได้มากที่จำนวนหมีขั้วโลกทั่วโลกจะลดลงมากกว่า 30% ภายในปี 2050 แต่ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงอาจจะเลวร้ายกว่าที่คาด เพราะจากเดิมช่วงปี 1980 ในอ่าวฮัดสันมีหมีขั้วโลกอาศัยอยู่ประมาณ 1,200 ตัว แต่ในปี 2021 กลับเหลือเพียงแค่ 600 ตัวเท่านั้น

ยิ่งโลกร้อนขึ้น พื้นที่มีน้ำแข็งปกคลุมตลอดทั้งปีก็ยิ่งมีน้อยลงไปทุกที ในตอนนี้แทบจะเหลือพื้นที่ดังกล่าวแค่ในกรีนแลนด์ และสฟาลบาร์ ดินแดนที่อยู่เกือบจะติดกับจุดสูงสุดของขั้วโลกเหนือเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นหมีขั้วโลกอยู่แค่ในบริเวณนี้เท่านั้น

"น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว มีแผ่นดินเพิ่มมากขึ้น เราก็จะยิ่งเห็นหมีขั้วโลกอดตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" ดร.ปากาโน กล่าว

ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้เห็นชีวิตของหมีขั้วโลกผ่านสายตาของพวกมันเอง และในอนาคตมีขั้วโลกอาจจะมีชีวิตอยู่แค่ในวิดีโอหรือในหนังสือเท่านั้น คนรุ่นหลังอาจไม่มีโอกาสได้เห็นพวกมันอีกต่อไป เหมือนกับที่เราไม่ได้เห็นสัตว์อีกหลายร้อยชนิดที่สูญพันธุ์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

ที่มา: Polar Bears International, The Guardian, The New York Times, Vox


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1114061

สายน้ำ
21-02-2024, 02:45
ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


ว่าวผลิตกระแสไฟฟ้าจากคลื่นในมหาสมุทร จ่ายไฟให้กับบ้าน 1,000 หลัง

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_SpringNews_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_SpringNews_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


SHORT CUT

- ว่าวผลิตไฟฟ้าจากคลื่นใต้มหาสมุทร ออกแบบโดยบริษัท Minesto จากประเทศสวีเดน

- อุปกรณ์ชิ้นนี้เลียนแบบการเคลื่อนไหวของว่าวเพื่อถ่ายโอนพลังงานคลื่นในมหาสมุทร จ่ายไฟฟ้าให้กับโครงข่ายในหมู่เกาะ Faroa

- ข้อดีของว่าวผลิตไฟฟ้า คือ ติดตั้งง่าย ต้นทุนไม่แพงมาก มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า


ว่าวผลิตกระแสไฟฟ้า Dragon 12 เป็นว่าวพลังงานคลื่นตัวแรกของ Minesto ในระดับเมกะวัตต์ โดยจากการผลิตไฟฟ้าในครั้งแรกได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ว่าวผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานคลื่นใต้มหาสมุทร ออกแบบโดยบริษัท Minesto จากประเทศสวีเดน


จากกระแสคลื่นในมหาสมุทร สู่พลังงานไฟฟ้า

ว่าวผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานคลื่นใต้มหาสมุทรกว้าง 12 เมตร หนัก 28 ตัน ทอดสมอด้วยสายโยงที่ก้นทะเล ควบคุมในวิถีการบินที่ขับเคลื่อนโดยกระแสคลื่นในมหาสมุทร

แนวทางใหม่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากมหาสมุทรประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเลียนแบบการเคลื่อนไหวของว่าวเพื่อถ่ายโอนพลังงานจากกระแสน้ำและคลื่นในมหาสมุทร ซึ่งได้จ่ายไฟฟ้าให้กับโครงข่ายในหมู่เกาะ Faroa


แนวทางใหม่ในการผลิตไฟฟ้า

รูปทรงของว่าวผลิตกระแสไฟฟ้า ออกแบบมาให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสม่ำเสมอ กระแสน้ำจะหมุนกังหันซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าและโอนผ่านสายโยง จากนั้นกระแสไฟจะถูกส่งขึ้นฝั่งผ่านสายเคเบิลที่พาดผ่านพื้นทะเล ซึ่ง Minesto ยังไม่ได้เปิดเผยปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายให้กับผู้อยู่อาศัยบนเกาะซึ่งมีประมาณ 55,000 คน แต่ในอัตราสูงสุดที่สามารถจ่ายไฟฟ้านั้นครอบคลุมความต้องการของบ้านประมาณ 1,000 หลัง

"สิ่งที่ทีม Minesto ประสบความสำเร็จในวันนี้ถือเป็นเรื่องพิเศษและได้กำหนดวาระใหม่สำหรับการสร้างพลังงานทดแทนในหลายพื้นที่ของโลก ความสามารถของว่าวผลิตไฟฟ้า Dragon 12 นั้นมันทรงพลัง คุ้มค่า" หัวหน้าทีม Minesto กล่าว


ต้นทุนไม่มากแต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า

ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากคลื่นในมหาสมุทรด้วยการติดตั้งว่าวของ Minesto น้อยกว่าโครงการผลิตไฟฟ้าอื่นๆ แต่สูงกว่าต้นทุนของกังหันลมนอกชายฝั่งเพียงเล็กน้อย ในอนาคตการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยว่าวผลิตไฟฟ้าพลังงานคลื่น อาจกลายเป็นทางเลือกที่สามารถแข่งขันกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งได้

ข้อดีของว่าวผลิตกระแสไฟฟ้า คือ ติดตั้งง่าย และกระแสน้ำจากคลื่นในมหาสมุทรมีอยู่ตลอด ไม่เหมือนกับลมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในอนาคตเราอาจได้เห็นโมเดลพลังงานจากคลื่นเกิดขึ้นอีก

ที่มา : IFL Science / New Atlas / Offshore


https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/847998

สายน้ำ
21-02-2024, 02:49
ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


วาฬฮีโร่กู้โลกตัวจริง กักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ 2 เท่า บรรเทาโลกร้อน

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_SpringNews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670221_SpringNews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


SHORT CUT

- นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวาฬมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกลไกกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่นเดียวกับต้นไม้หรือสาหร่ายทะเล

- วาฬ 1 ตัว สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 33 ตันตลอดอายุขัย

- ตั้งแต่ในปีคริสตศักราช 1000 เป็นต้นมา วาฬหลายสิบล้านตัวถูกฆ่าตาย ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจำนวนวาฬลดลง 66-90%



เรารู้กันดีว่าต้นไม้ช่วยในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่รู้ไหมว่าในมหาสมุทรมีสัตว์ชนิดหนึ่งที่ช่วยกู้โลกร้อนด้วยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ นั่นคือวาฬนั่งเอง

วาฬสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อนได้ โดยการกักเก็บคาร์บอนในร่างกาย และขนส่งสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทร


วาฬ สัตว์ที่ด้วยบรรเทาโลกร้อน กำลังลดลงอย่างน่าตกใจ

วาฬเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีอายุยืนยาวที่สุดในโลก และจำนวนประชากรของวาฬก็กำลังลดลงเนื่องจากการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในช่วงทศวรรษปี 1800 ซึ่งการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรวาฬสามารถบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการเพิ่มการดักจับคาร์บอน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ทะเลและสัตว์บก

มนุษย์ฆ่าวาฬมานานหลายศตวรรษ ร่างกายของวาฬมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ตั้งแต่เนื้อสัตว์ น้ำมัน ไปจนถึงกระดูกวาฬ บันทึกการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ที่เก่าแก่ที่สุดคือในปีคริสตศักราช 1000 ตั้งแต่นั้นมา มีวาฬหลายสิบล้านตัวถูกฆ่าตาย และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจำนวนประชากรอาจลดลงมากถึง 66-90%


วาฬฮีโร่กู้โลกตัวจริง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวาฬมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกลไกกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่นเดียวกับต้นไม้ในป่าฝนหรือสาหร่ายทะเล วาฬมีประสิทธิภาพในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในชั้นบรรยากาศโดยตรงในร่างกายขนาดใหญ่ตลอดชีวิตอันยาวนาน

เมื่อวาฬตายซากที่อุดมด้วยคาร์บอนของพวกมันมักจะจมลงสู่ก้นทะเล คาร์บอนที่ถูกดักจับและป้องกันไม่ให้กลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้วาฬยังมีส่วนช่วยในการดักจับคาร์บอนทางอ้อมด้วยการจัดหาของเสียที่อุดมด้วยสารอาหารให้กับแพลงก์ตอนพืช ซึ่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก

วาฬย่อยและกักเก็บเหยื่อที่อุดมด้วยคาร์บอนในปริมาณมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กระบวนการนี้ทำให้วาฬกักเก็บคาร์บอนในร่างกายได้มากกว่าต้นไม้ ซึ่งวาฬ 1 ตัว สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 33 ตันตลอดอายุขัย ต้นโอ๊กที่มีชีวิตซึ่งเป็นหนึ่งในต้นไม้ดักจับคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 12 ตันในช่วงอายุสูงสุด 500 ปี
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


วาฬสัตว์กู้โลก ที่ควรได้รับการปกป้อง

หลังจากที่วาฬตาย ซากของพวกมันมักจะจมลงสู่ก้นทะเล เพื่อดักจับคาร์บอนที่สะสมอยู่ในร่างกายของพวกมันที่ก้นมหาสมุทร ซากวาฬที่อยู่ใต้มหาสมุทรสามารถกักเก็บคาร์บอนได้นานนับร้อยหรือหลายพันปีเลยทีเดียว

สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลลึกจำนวนมากวิวัฒนาการโดยอาศัยสารอาหารจากซากสัตว์ที่จมลงในมหาสมุทร เมื่อซากสัตว์สลายตัวและถูกสัตว์ทะเลย่อยสลาย คาร์บอนนั้นก็จะถูกแยกออกเป็นตะกอนและหมุนเวียนไปตามระบบนิเวศใต้ทะเลลึก เพื่อป้องกันไม่ให้กลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับสัตว์ทะเล NOAA Fisheries เป็นองค์ที่มุ่งมั่นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์คุ้มครองที่เผชิญกับภัยคุกคามที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการพัฒนาวิทยาศาสตร์และการจัดการที่มุ่งเน้นสภาพภูมิอากาศ

การประเมินความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศสำหรับสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าชนิดพันธุ์ใดมีความเสี่ยงมากที่สุดและเพราะเหตุใด การวางแผนสถานการณ์เพื่อจัดการกับความไม่แน่นอน คาดการณ์ผลกระทบ และจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการบรรเทาและฟื้นฟู

ที่มา : NOAA Fisheries / BBC


https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/847998