PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2567


สายน้ำ
02-03-2024, 01:59
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูงเนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และมีการระบายอากาศที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 2 - 3 มี.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 7 มี.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ในช่วงวันที่ 2 ? 3 มี.ค. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 7 มี.ค. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดช่วง

โดยในช่วงวันที่ 2 - 3 มี.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Warning03.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Warning03.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
02-03-2024, 02:51
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


นักบรรพชีวินวิทยา เผย พบหมึกแวมไพร์โบราณสายพันธุ์ใหม่ อายุ 183 ล้านปี

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Thairath_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Thairath_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

หมึกแวมไพร์ (vampyromorphs) เป็นปลาหมึกประเภทหนึ่ง มีลักษณะคล้ายปลาหมึกมากที่สุด แต่จริงๆแล้วมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับปลาหมึกยักษ์มากกว่า vampyromorphs ถูกค้นพบมาแล้วหลายชนิด โดยหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว หมึกชนิดนี้ขึ้นชื่อในเรื่องอวัยวะเรืองแสงและเส้นใยยาวที่ยืดหดได้ เป็นคุณสมบัติที่ทำให้พวกมันแตกต่างจากปลาหมึกและหมึกยักษ์ชนิดอื่นๆ

เมื่อเร็วๆนี้มีนักบรรพชีวินวิทยา 3 คนจากเยอรมนี คือโรเบิร์ต ไวส์, เบน ทุย และเดิร์ก ฟุก เผยแพร่ในวารสาร Swiss Journal of Palaeontology ระบุค้นพบหมึกแวมไพร์โบราณแต่เป็นสายพันธุ์ใหม่ ขนาด 38 เซนติเมตร อายุ 183 ล้านปีจากยุคจูราสสิกตอนต้น พบที่แหล่งขุดค้นซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลในเมืองบาชชาราจน์ ลักเซมเบิร์ก ในปี 2565 สายพันธุ์ใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า Simoniteuthis michaelyi โดยฟอสซิลอยู่ในสภาพดีเยี่ยม เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์ สามารถศึกษารายละเอียดได้ ซึ่งหลังจากวิเคราะห์ตรวจสอบยังระบุว่าหมึกแวมไพร์โบราณตัวนี้เสียชีวิตในขณะที่กินปลาตัวเล็ก 2 ตัว นับเป็นฟอสซิลที่หาได้ยาก

การวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า หมึกแวมไพร์ อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำตื้นนอกเกาะที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในบริเวณที่เป็นใจกลางของแผ่นดินใหญ่ยุโรปในปัจจุบัน เชื่อว่าการที่ธรรมชาติเก็บรักษาหมึกตัวนี้ได้อย่างน่าทึ่งนั้น เนื่องมาจากสภาวะเฉพาะในช่วงเวลาที่หมึกตาย น้ำที่ก้นทะเลที่หมึกเข้าไปน่าจะทำให้มันได้รับออกซิเจนต่ำ ส่งผลให้หมึกหายใจไม่ออก แม้ว่าปัจจัยเหล่านี้จะฆ่าหมึก แต่ยังช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ เข้าไปกินซากศพของมัน และปล่อยให้หมึกแวมไพร์ตัวนี้ถูกฝังอยู่ที่ก้นทะเลแบบไร้สิ่งใดรบกวนมายาวนาน.

Credit : Swiss Journal of Palaeontology (2024). DOI: 10.1186/s13358-024-00303-y


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2766773

สายน้ำ
02-03-2024, 02:53
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ไขความลึกลับเสียงเพลงแห่งวาฬ

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

หากใครได้ฟังเสียงเพลงของ "วาฬ" จะพบว่ามีทั้งความน่าขนลุก น่าหลงใหล เสียงของวาฬเป็นหนึ่งในเสียงลึกลับที่สุด เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย เซาเทิร์น เดนมาร์ก ระบุว่าวาฬบาลีนที่เป็นวาฬไร้ฟัน แต่มีขนแปรงหนาไว้กรองอาหารกิน สามารถร้องเพลงใต้น้ำได้

นักวิจัยเผยว่า ในขณะที่วาฬพวกมีฟันอย่างโลมาและวาฬเพชฌฆาต มีการพัฒนาอวัยวะในจมูกเพื่อสร้างเสียง แต่คาดว่าวาฬบาลีนจะใช้กล่องเสียงในลำคอเพื่อสร้างเสียง โดยกล่องเสียงของวาฬบาลีนมีรูปทรงแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น มีกระดูกอ่อนคล้ายทรงกระบอกที่ยาวและแข็ง รูปร่างตัว "ยู" (U) การปรับตัวเชิงโครงสร้างเหล่านี้ช่วยให้วาฬบาลีน หายใจเอาอากาศเข้าและออกได้อย่างมหาศาลเมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ ถุงลมยังมีการพัฒนาในลักษณะที่อาจทำให้วาฬบาลีนสามารถนำอากาศกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับเสียงร้องได้ ยังมีโครงสร้างพิเศษคือชั้นไขมันที่สั่นสะเทือนเมื่ออากาศถูกผลักออกจากปอด ทำให้วาฬบาลีนออกเสียงความถี่ต่ำใต้น้ำเพื่อสื่อสารในระยะไกลได้

การศึกษายังพบว่าวาฬบาลีนส่งเสียงความถี่ต่ำจากผิวน้ำจนถึงระดับความลึกสูงสุดประมาณ 100 เมตรเท่านั้น เพราะว่ามันไม่อาจอยู่ไกลจากผิวมหาสมุทรได้มากนัก มันต้องการอากาศเพื่อส่งเสียงร้อง ซึ่งมีความถี่เสียงสูงสุด 300 เฮิรตซ์ ความลึกและความถี่นี้ซ้อนทับกับเสียงที่สร้างโดยเรือที่มนุษย์สร้างขึ้นและมักมีความถี่อยู่ที่ 30-300 เฮิรตซ์ใกล้พื้นผิวมหาสมุทร นักวิจัยระบุว่าการปลดล็อกวิธีที่วาฬเปล่งเสียงจะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่ามลพิษทางเสียงที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเลส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลขนาดยักษ์อย่างไร.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2765932

สายน้ำ
02-03-2024, 02:56
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


5 ขั้นตอนรับมือ หลังสัมผัส "แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส" ลดเสี่ยงอันตรายถึงตาย

กรมควบคุมโรค เผย 5 ขั้นตอนรับมือ หลังสัมผัส "แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส" ลดเสี่ยงอันตรายทำลายระบบประสาท ถึงขั้นเสียชีวิต หลังพบชายหาดหลายพื้นที่ พบบาดเจ็บหลายรายที่หาดชลาทัศน์ "สงขลา"

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Mgr_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกระแสในสื่อโซเชียลมีการเตือนภัยพบแมงกะพรุนพิษสายพันธุ์ไฟหมวกโปรตุเกส บริเวณหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา และพบมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกพิษแมงกะพรุนหลายราย กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำวิธีช่วยเหลือผู้ถูกพิษแมงกะพรุนที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเจ็บปวดรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส หรือเรียกอีกอย่างว่าแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) มีลักษณะเด่นบริเวณหัวจะมีลักษณะคล้ายหมวกทหารเรือรบโปรตุเกสโบราณ ลำตัวพบได้ทั้งสีน้ำเงิน สีม่วง สีชมพู หรือเขียว และมีหนวดที่มีพิษยาวได้ถึง 30 เมตร ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ในประเทศไทยพบถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นได้ในบางฤดูกาลหรือช่วงมรสุม มีพิษร้ายแรง เมื่อสัมผัสพิษจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก อาจทำลายระบบประสาท ผิวหนัง หัวใจ ช็อก หัวใจล้มเหลว เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

หากลงเล่นน้ำทะเลและมีอาการปวดแสบปวดร้อนให้สงสัยว่าโดนแมงกะพรุนพิษ และให้ปฏิบัติดังนี้

1.รีบขึ้นจากน้ำทะเล และรีบขอความช่วยเหลือพร้อมโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669

2.ห้ามทิ้งผู้บาดเจ็บอยู่คนเดียว เพราะอาจหมดสติหรือเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้

3.ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ และห้ามขัดถูบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน เนื่องจากการเคลื่อนไหวอาจเป็นการกระตุ้นการยิงพิษ

4.รีบล้างพิษทันที โดยใช้น้ำส้มสายชูความเข้มข้น 4-6% ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป ราดบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วินาที (ห้ามราดด้วยน้ำจืด น้ำเปล่า หรือแอลกอฮอล์) น้ำส้มสายชูจะป้องกันไม่ให้ผู้บาดเจ็บได้รับพิษเพิ่มขึ้น และ

5.หากผู้บาดเจ็บไม่มีชีพจรหรือหยุดหายใจ ให้รีบทำการช่วยฟื้นคืนชีพ โดยการปั๊มหัวใจ ผายปอด ก่อนราดน้ำส้มสายชู และรีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว สวมเสื้อผ้ามิดชิดลงเล่นน้ำ ไม่ควรเล่นน้ำหลังฝนตก สังเกตจุดวางน้ำส้มสายชูและปฏิบัติตามป้ายแจ้งเตือน หากพบว่ามีซากของแมงกะพรุนอยู่ตามชายหาด ไม่ควรลงเล่นน้ำ หรือลงเล่นน้ำในบริเวณปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เท่านั้น และให้ปฏิบัติตามคำเตือนของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด


https://mgronline.com/qol/detail/9670000018811?tbref=hp

สายน้ำ
02-03-2024, 03:00
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


"ทุ่นดักขยะพลาสติก?ไหลลงทะเล สู่ธนาคารชุมชนต้นแบบยั่งยืน


KEY POINTS

- ขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการ หรือทำลายให้ถูกต้องเหมาะสม ประมาณ 10 ? 15% ของขยะพลาสติกทั้งหมด มีโอกาสไหลลงสู่ทะเลผ่านทางแม่น้ำลำคลอง

- ก่อตั้งโครงการธนาคารขยะในชุมชนต้นแบบ ให้ประชาชนและบริษัทรับซื้อ เข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายขยะในพื้นที่ เพื่อให้จัดการขยะได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน

- ติดตั้งทุ่นดักขยะ จุดเริ่มต้นที่ช่วยดักขยะไม่ให้ไหลลงสู่ชายฝั่งและทะเล ที่เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหา จากนั้นคงต้องช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


ปัจจุบัน "ขยะทะเล" เป็นปัญหาที่สร้างวิกฤติให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มักไม่ได้รับการจัดการ หรือทำลายให้ถูกต้องเหมาะสม ประมาณ 10 ? 15% ของขยะพลาสติกทั้งหมด มีโอกาสไหลลงสู่ทะเลผ่านทางแม่น้ำลำคลอง ทำให้ขยะพลาสติกที่ตกค้างเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเล

ขยะพลาสติกเหล่านี้ล้วนเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลมากที่สุด โดยเฉพาะเต่าทะเล โลมา และวาฬ ส่งผลให้สัตว์เหล่านี้เสียชีวิตจากสาเหตุขยะพลาสติกเข้าไปอุดตันในกระเพาะอาหารทำให้ร่างกายของพวกมันทำงานไม่ได้ จนเสียชีวิตในที่สุด

นอกจากขยะพลาสติกจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำแล้ว มนุษย์ก็อาจได้รับผลกระทบจากขยะทะเลด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อสัตว์น้ำกินเศษขยะหรือมีเศษขยะขนาดเล็ก ที่เรียกว่า "ไมโครพลาสติก" เข้าไปในร่างกาย เมื่อมนุษย์บริโภคสัตว์น้ำเป็นอาหาร ได้รับปริมาณไมโครพลาสติกที่มากขึ้นในทุกๆ วัน ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ การติดตั้งทุ่นดักขยะ เพื่อลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะในทะเล


ธ.กรุงเทพ ติดตั้งเครื่องมือดักขยะในทะเล

"กอบศักดิ์ ภูตระกูล" กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้เริ่มต้นดำเนินโครงการ 'Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน' เพื่อร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะในแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย โดยในปัจจุบันได้เริ่มดำเนินงานในระยะที่ 1 อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ได้ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ติดตั้งเครื่องมือดักขยะในพื้นที่นำร่องบริเวณคลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยากรณ์ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากศึกษาข้อมูลและสำรวจพื้นที่ร่วมกันพบปัญหาขยะจำนวนมากที่ไหลจากชุมชนต่างๆ มารวมบริเวณนี้ก่อนจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกปากแม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย


ดักขยะไหลลงแม่น้ำลำคลอง

เครื่องมือดักขยะที่ติดตั้งในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ประเภทเครื่องมือ ได้แก่ ทุ่นดักขยะ (Boom) ผลิตจากพลาสติก HDPE สีเหลือง ขนาด 0.35x0.50 เมตร พร้อมตาข่ายความยาว 15 เมตร และลึกลงไปจากผิวน้ำ 50 เซนติเมตร อายุการใช้งาน 5-7 ปี กระชังไม้ไผ่ดักขยะ เป็นโครงไม้ไผ่ติดอวน ขนาด 3x3 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี และเครื่องมือดักขยะแบบปักหลัก เป็นโครงไม้ไผ่ผูกอวน ขนาด 5x10 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี ซึ่งเครื่องมือทั้ง 3 ประเภทเหมาะสมกับสภาพกระแสน้ำ สามารถรองรับกระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้ จะเป็นตัวช่วยดักขยะที่ไหลมาตามน้ำไม่ให้ไหลต่อลงสู่แม่น้ำท่าจีนและทะเลอ่าวไทย

ติดตั้ง "น้องจุด" หรือ ฉลามวาฬพี่ใหญ่แห่งท้องทะเล เป็นที่พักขยะแบบถาวร สำหรับพักขยะประเภทขวดพลาสติก ทั้งจากการดักจับบนผิวน้ำและเกิดขึ้นบนบก ซึ่งขวดพลาสติกเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในขยะทะเลที่ถูกพบมากในประเทศไทย โดยจะตั้งวาง "น้องจุด" ไว้ 2 จุดในบริเวณลานวัดสหกรณ์โฆสิตาราม ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมและตลาดนัดเป็นประจำ

ทั้งนี้ อุปกรณ์ทุกประเภทดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้ามาดูแลเป็นประจำ โดยตักขยะเพื่อนำไปคัดแยกและรีไซเคิล ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้ว หรือขยะกำพร้า จะถูกส่งไปทำเชื้อเพลิงทดแทนให้เกิดประโยชน์ต่อไป

กอบศักดิ์ กล่าวว่านอกจากการติดตั้งเครื่องมือดักขยะแล้ว คณะทำงานยังได้เริ่มดำเนินงานตามแผนในระยะ 2 โดยจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังในเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือนให้แก่ชุมชน และโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าและเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว

"เมื่อชุมชนเริ่มมีองค์ความรู้และขยะที่คัดแยกออกมาได้มีปริมาณที่มากขึ้น ธนาคารจะเริ่มพัฒนาและต่อยอดสู่การก่อตั้งโครงการธนาคารขยะในชุมชนต้นแบบ ให้ประชาชนและบริษัทรับซื้อ เข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายขยะในพื้นที่ เพื่อให้จัดการขยะได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน"

ทั้งนี้แม่น้ำท่าจีน เป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายสำคัญที่จะไหลลงสู่ทะเล และพบปัญหาขยะที่มีมากกว่า 14 ล้านชิ้น หรือประมาณ 148 ตันต่อปี เป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องเร่งกำจัดขยะเหล่านี้ออกให้เร็วที่สุด ควบคู่กันก็คือ ต้องสกัดไม่ให้ขยะใหม่ไหลลงไปสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น อันเป็นที่มาของการติดตั้งเครื่องมือดักขยะ โดยจะมีการบันทึกข้อมูลเพื่อวัดปริมาณขยะแต่ละประเภทและวิเคราะห์ที่มาของขยะ เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาอย่างชัดเจนและแก้ไขไปจนถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา แก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน


พิทักษ์ธรรมชาติและประชาชน

วสันต์ แก้วจุนันท์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกขาม มากว่า 37 ปี กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องมือดักขยะตามแผนงานโครงการ 'Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน' จะช่วยแก้ไขปัญหาขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลได้เป็นอย่างดีและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เมืองเริ่มขยายตัวมากขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรรและโรงงานเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยปัญหาขยะและน้ำเสียที่ไหลลงแม่น้ำลำคลอง กระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งส่งผลให้พื้นที่การทำประมงและพื้นที่ธรรมชาติถูกรุกล้ำมากขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง หรือการทำวังกุ้ง ก็ทำได้ลำบาก หาลูกกุ้งธรรมชาติได้ยากมากขึ้น หรือแม้แต่การลงเล่นน้ำในคลองก็ทำไม่ได้ เพราะน้ำไม่สะอาด

"หวังว่าการติดตั้งทุ่นดักขยะ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยดักขยะไม่ให้ไหลลงสู่ชายฝั่งและทะเล ที่เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหา จากนั้นคงต้องช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง พวกลูกกุ้งธรรมชาติจะได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อมีการส่งเสริมความรู้เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าเมื่อเด็กมีนิสัยที่ดีติดตัว ก็จะช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ในอนาคต"


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1115578

สายน้ำ
02-03-2024, 03:04
ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


วิจัยใหม่คาด ปี 2024 อากาศร้อนทุบสถิติโลก อันดามัน-ทะเลจีนใต้เดือด

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Prachachart_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Prachachart_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

งานวิจัยชิ้นใหม่ในวารสาร Scientific Reports ระบุมีโอกาส 90% ที่ปี 2024 นี้ โลกจะมีอุณหภูมิสูงสุดทุบสถิติเดิม และบางส่วนของเอเชียจะร้อนระอุเป็นพิเศษ พร้อมเกิดปะการังฟอกขาว ภัยแล้ง และไฟป่าในหลายพื้นที่

วันที่ 1 มีนาคม 2567 งานวิจัย Enhanced risk of record-breaking regional temperatures during the 2023 ? 24 El Ni?o ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2024 ระบุว่า มีโอกาสสูงที่ในปี 2024 นี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้อุณหภูมิอากาศใกล้ผิวโลก (Surface air temperature) สูงจนทำลายสถิติอีกครั้ง โดยบริเวณอ่าวเบงกอล-ทะเลอันดามัน และทะเลจีนใต้ จะได้รับผลกระทบสูงเป็นพิเศษทั้งด้านอุณหภูมิ และปะการังฟอก

หลังเมื่อเดือนมกราคม องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เพิ่งประกาศว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้ ปี 2023 ที่ผ่านมาเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติเมื่อปี 1850 หรือในรอบ 173 ปี ไปแล้ว

ข่าว The Verge รายงานว่า งานวิจัยนี้ใช้การสร้างแบบจำลองสถานการณ์เอลนีโญในระดับความรุนแรงปานกลาง และรุนแรงมาก จากนั้นจึงศึกษาผลกระทบด้านระดับอุณหภูมิและภัยธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ของโลก


อากาศร้อนทำสถิติใหม่อีก

ผลจากแบบจำลองชี้ว่า ไม่ว่าเอลนีโญจะมีความรุนแรงระดับใดก็มีความเป็นไปได้ถึง 90% ที่อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยรายปีทั่วโลกในปี 2024 นี้จะสูงจนทำลายสถิติเดิมอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวเบงกอล-ทะเลอันดามัน, ทะเลจีนใต้, ทะเลแคริบเบียน, อะแลสกา และป่าอเมซอน ส่วนสิ่งที่แตกต่างกันจะมีเพียงพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากผลของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น


อ่าวเบงกอล-อันดามัน ทะเลจีนใต้ เดือด

ในกรณีที่เอลนีโญมีความรุนแรงระดับปานกลาง พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นบริเวณอ่าวเบงกอล, ประเทศฟิลิปปินส์ โดยบริเวณอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันน้ำทะเลจะอุ่นขึ้นตลอดทั้งปีทำให้แนวปะการังตายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบทั้งทางระบบนิเวศและเศรษฐกิจ ส่วนประเทศฟิลิปปินส์และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดภัยแล้งนานต่อเนื่องหลายเดือน

ส่วนกรณีที่เอลนีโญรุนแรงมาก พื้นที่รอบทะเลจีนใต้จะกลายเป็นอีกจุดที่ได้รับผลกระทบหนัก อย่าง อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้แนวปะการังตาย เช่นเดียวกับบริเวณอ่าวเบงกอล และประเทศฟิลิปปินส์ ขณะที่บริเวณป่าอเมซอนจะเกิดภัยแล้งและไฟป่า ส่วนบริเวณอะแลสกาจะสูญเสียธารน้ำแข็งและชั้นดินเยือกแข็งถาวร

"เต๋อเหลียง เฉิน" ศาสตราจารย์ภาควิชาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก หนึ่งในทีมผู้เขียนงานวิจัยฉบับนี้ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในแบบของปีนี้ เคยก่อปัญหาให้หลายพื้นที่ในโลกมาแล้ว เราจึงพยายามเตือนผู้คนล่วงหน้าไว้ก่อน


https://www.prachachat.net/world-news/news-1513496

สายน้ำ
02-03-2024, 03:07
ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


เอลนีโญทำให้อากาศร้อนเป็นประวัติการณ์ จากแอมะซอนลามไปอะแลสกาแล้ว


SHORT CUT

- จากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ 90% มีโอกาสที่อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น อากาศร้อนจนทำลายสถิติเก่า และเกิดสถิติใหม่ขึ้น

- อุณหภูมิโลกที่อบอุ่นขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของคลื่นความร้อนในทะเลตลอดทั้งปี เพิ่มความเสี่ยงด้านลบในอะแลสกา

- เอลนีโญบวกกับระดับคาร์บอนไดออกไซด์ฝีมือมนุษย์ ส่งผลให้วัฏจักรสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนไป

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Springnews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_Springnews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


นักวิทยาศาสตร์พบว่าเอลนีโญมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงขึ้น ทำให้ความร้อนทั่วโลกเพิ่มขึ้นในปี 2024 และอาจสร้างอุณหภูมิที่ทำลายสถิติอย่างที่เคยเกิดขึ้นในแอมะซอน (Amazon) ตอนนี้ลามไปยังอะแลสกา (Alaska) แล้ว

ปรากฏการณ์ธรรมชาติเอลนีโญ ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 อากาศร้อนทุบสถิติเป็นว่าเล่น

เอลนีโญทำให้อากาศร้อนเป็นประวัติการณ์ จากแอมะซอนลามไปอะแลสกาแล้ว


โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิสูงจนเกิดสถิติใหม่

ปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่มส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในอเมริกาเหนือ ยุโรปและจีน อเมริกาใต้ และมาดากัสการ์ ในขณะที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น

การวิเคราะห์ใหม่โดยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อระบุฮอตสปอตในภูมิภาคต่างๆ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 พบว่า 90% มีโอกาสที่อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น อากาศร้อนจนทำลายสถิติเก่า และเกิดสถิติใหม่ขึ้น

"คลื่นความร้อนที่รุนแรงและพายุหมุนเขตร้อน เมื่อรวมกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีประชากรหนาแน่น กำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่อย่างรวดเร็ว ซึ่งท้าทายความสามารถในการปรับตัว การบรรเทา และการบริหารความเสี่ยง" ผู้เชี่ยวชาญจาก Chinese Academy of Meteorological Sciences กล่าว


เอลนีโญและก๊าซเรือนกระจกเร่งให้โลกร้อนขึ้น

อุณหภูมิโลกที่อบอุ่นขึ้นจนถึงขั้นทำให้อากาศร้อน เพิ่มความเสี่ยงของคลื่นความร้อนในทะเลตลอดทั้งปี และเพิ่มความเสี่ยงของไฟป่าและผลกระทบด้านลบอื่นๆ ในอะแลสกา (Alaska)และแอ่งแอมะซอน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ทะเลและพื้นที่ชายฝั่งมีความเสี่ยงเป็นพิเศษเนื่องจากมหาสมุทรสามารถกักเก็บความร้อนได้มากกว่าพื้นดิน หมายความว่าสภาพอากาศที่ร้อนจะคงอยู่บริเวณนั้นเป็นระยะเวลานานขึ้น

ปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา บวกกับระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นฝีมือของมนุษย์ ส่งผลให้วัฏจักรสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนไป และทำให้ความร้อนทั่วโลกสูงขึ้น อากาศจะร้อนขึ้นอีก


อะแลสกาอาจเป็นรายต่อไปที่ได้รับผลกระทบโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์พบว่าอุณหภูมิที่สูงทำลายสถิติในแอมะซอนมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอีกในปี 2567 และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ารุนแรง เกิดความแห้งแล้ง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเดือนกุมภาพันธ์ได้สร้างสถิติใหม่ขึ้นแล้ว

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าความร้อนที่บันทึกได้ในอะแลสกาจะส่งผลให้ธารน้ำแข็งและชั้นดินเยือกแข็งละลาย และเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง และจากการศึกษานี้ในการบันทึกอุณหภูมิที่สังเกตได้ และสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญและผลกระทบอื่นๆ ต่อส่วนที่เหลือของโลก เพื่อคาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในปี 2024 ได้

ที่มา : The Guardian


https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/848297

สายน้ำ
02-03-2024, 03:10
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


กู้วัตถุอันตรายจาก "เรือหลวงสุโขทัย" วันที่ 9 พบโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง

การปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย วันที่ 9 ยังไม่พบผู้สูญหายติดอยู่ในเรือ แต่พบโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ขณะที่กองทัพเรือลำเลียงท่อยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน และแท่นยิงตอร์ปิโดกลับไปเก็บรักษา

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_TPBS_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_TPBS_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

วันนี้ (1 มี.ค.2567) กองทัพเรือรายงานว่า เป็นการปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย วันที่ 9 โดยชุดปฏิบัติการผสมของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐ ฯ บนเรือ Ocean Valor ที่จอดเรืออยู่บริเวณอ่าวไทยใกล้จุดที่เรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยมีการดำน้ำ 4 เที่ยว มีภารกิจในการค้นหาผู้สูญหาย การสำรวจ และถอดถอนยุทโธปกรณ์เครื่องควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนในห้องเรดาร์

สำหรับผลการปฏิบัติการได้สำรวจและค้นหาผู้สูญหายในห้องเรดาร์ ไม่พบผู้สูญหาย รวมทั้งไม่สามารถถอดถอนเครื่องควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนได้ ซึ่งจะได้พิจารณาหาหนทางปฏิบัติ เพื่อลดขีดความสามารถของระบบปล่อยนำวิถีฮาร์พูนต่อไป

สำหรับการสำรวจในห้องเรดาร์ไม่พบผู้สูญหายติดอยู่ในห้อง นอกจากนั้นในวันนี้ชุดปฏิบัติการผสม ได้ตรวจพบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในห้องเรดาร์ จำนวน 1 เครื่อง จึงได้นำขึ้นมา เพื่อจะตรวจสอบต่อไป โดยการปฏิบัติในวันนี้ กำลังพลทุกนายปลอดภัย

พล.ร.ต.วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า หลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจในวันนี้เรือ Ocean Valor จะเดินทางกลับเข้าฝั่งที่ท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเคลื่อนย้ายท่อยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนจำนวน 2 ท่อ และแท่นยิงตอร์ปิโด จำนวน 2 แท่น (6 ท่อยิง) ที่นำขึ้นมาจากเรือหลวงสุโขทัย เพื่อส่งกลับไปยัง กรมสรรพาวุธทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ต่อไป

สำหรับการปฏิบัติการพรุ่งนี้ เรือ Ocean Valor จะจอดรับการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงที่ท่าเรือประจวบ โดยจะมีการปฏิบัติการดำน้ำของกองทัพเรือไทย โดยมี เรือหลวงมันในเป็นฐานปฏิบัติการในการค้นหาผู้สูญหาย และสำรวจหาพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจสอบและบันทึกหลักฐาน รูทะลุหรือรอยรั่ว สภาพการกั้นน้ำของประตู ตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่คณะกรรมการสอบสวนฯ กำหนด รวมทั้งการตรวจสอบอุปกรณ์บนดาดฟ้าหลักหัวเรือ ซึ่งกองทัพเรือจะแจ้งผลการดำเนินการให้ทราบต่อไป


https://www.thaipbs.or.th/news/content/337623

สายน้ำ
02-03-2024, 03:13
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


"ชายหาด" สมบัติของแผ่นดิน ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ครอบครองไม่ได้

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_TPBS_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670302_TPBS_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

นิยามของคำว่า "ชายหาด" หมายถึง ที่ดินที่น้ำทะเลขึ้นและลง เป็นที่ดินที่น้ำท่วมถึง จรดไปถึงแนวพันธุ์พืชและพันธุ์ไม้ของแผ่นดิน จากจุดนี้ลงไปสุดทะเล ถือเป็น "ชายหาด" ซึ่งถือเป็น ที่ดินสาธารณะ เป็นสมบัติของแผ่นดินที่ให้ประชาชนใช้ร่วมกัน

ซึ่งมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับ "ชายหาด" พื้นที่สาธารณะที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้น มีดังนี้

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือ สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันเช่น

(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ
(3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะ หรือพระราชกฤษฎีกา

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน


สำหรับกรณี ชายหาด หรือ หาดทราย แม้จะไม่มีประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ยังถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่สงวนไว้สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ยกเว้นมีการออกกฎหมายหรือพระราชกฤษฎีกาให้ถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดแนวถอยร่นจากหน้าหาดไปจนถึงชายทะเล โดยส่วนใหญ่จะต้องไม่มีการใช้ประโยชน์ส่วนบุคคล ในระยะ 30-50 เมตร รวมทั้งยังมีข้อกำหนดเรื่องการก่อสร้างอาคารสูงได้แค่ไหน และมีข้อห้ามกับกิจกรรมที่จะกระทบต่อชายหาดด้วย


โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หมวดที่ 4 ข้อ 42 ระบุไว้ว่า

ข้อ 42 อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ คู คลอง ลำราง หรือสำกระโดง ถ้าแหล่งน้ำสาธารณะนั้นมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้นไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่ถ้าแหล่งน้ำสาธารณะนั้นมีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้นไม่น้อยกว่า 6 เมตร

สำหรับอาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้แหล่งน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น บึง ทะเลสาบ หรือทะเล ต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้นไม่น้อยกว่า 12 เมตร

ทั้งนี้ วันแต่ ละพาน เขื่อน รั้ว ท่อระบายน้ำ ท่เรือ ป้าย อู่เรือ คานเรือ หรือที่ว่างที่ใช้เป็นที่จอดรถไม่ต้องร่นแนวอาคาร

ซึ่งระยะร่น คือ ระยะร่นหมายถึงบริเวณพื้นที่นอกอาคารไปยังจุดควบคุม ในกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมความสูงของอาคารริมชายฝั่งนั้นระยะร่น จะวัดจากพื้นที่ภายนอกอาคารไปยังชายหาด หรือชายทะเล โดยอ้างอิงจากแนวชายฝั่งทะเล โดยใช้ระดับน้ำทะเลสูงสุด หรือ ระดับน้ำทะเลปานกลาง ขึ้นอยู่กับทางท้องที่กำหนด


https://www.thaipbs.or.th/news/content/337621