PDA

View Full Version : สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม 2567


สายน้ำ
09-03-2024, 02:29
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าว รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และมีการระบายอากาศที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่
กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 9 - 10 มี.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในระยะแรก สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 14 มี.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 9 - 10 มี.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน
ฉบับที่ 6 (57/2567) (มีผลกระทบบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 9-10 มีนาคม 2567)


บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

โดยจะมีผลกระทบดังนี้


วันที่ 9 มีนาคม 2567

ภาคเหนือ: จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา และบุรีรัมย์

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี
และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล


วันที่ 10 มีนาคม 2567

ภาคเหนือ: จังหวัดตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดชัยภูมิ และนครราชสีมา

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา

ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี สระบุรี และกาญจนบุรี


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Forecast_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Sat2.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Warning.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สายน้ำ
09-03-2024, 03:32
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


สำรวจ ร.ล.สุโขทัย วันที่ 16 ยังไม่พบกำลังพลสูญหาย ตัดเสากระโดงได้สำเร็จ

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Thairath_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

เข้าสู่วันที่ 16 ของการค้นหาและปลดอาวุธอันตรายเรือหลวงสุโขทัย ยังไม่พบผู้ที่สูญหาย พร้อมตัดเสากระโดงเรือได้สำเร็จ เพิ่มความลึกจากระดับน้ำทะเลถึงส่วนสูงสุดของเรือ ให้มีความปลอดภัยในการสัญจร

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 8 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่ 16 ของ "ภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัย (แบบจำกัด)" ซึ่งเป็นการปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย

พลเรือตรี วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ ได้มีการเปิดเผยว่า ชุดปฏิบัติการร่วมของกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐฯ บนเรือ Ocean Valor ที่จอดเรืออยู่บริเวณอ่าวไทยใกล้จุดที่เรือหลวงสุโขทัยล่ม มีการดำน้ำ จำนวน 4 เที่ยว โดยมีภารกิจในการค้นหาผู้สูญหายบริเวณรอบตัวเรือ และการตัดเสากระโดงเรือ เพื่อเพิ่มความลึกจากระดับน้ำทะเลถึงส่วนสูงสุดของเรือ ให้มีความปลอดภัยในการสัญจร

โดยผลการปฏิบัติ ไม่พบผู้สูญหาย สามารถดำเนินการตัดเสากระโดงเรือ ร.ล.สุโขทัย ขึ้นสู่เรือ Ocean Valor ได้สำเร็จ กำลังพลทุกนายปลอดภัย

สำหรับการปฏิบัติการพรุ่งนี้ จะมีการปฏิบัติการดำน้ำร่วมกัน ในการค้นหาผู้สูญหายบริเวณรอบตัวเรือและตัดโซ่สมอเรือทั้ง 2 ข้าง


https://www.thairath.co.th/news/local/central/2769104

สายน้ำ
09-03-2024, 04:03
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ปรากฏการณ์ "เกาะความร้อน" ทำไมคนในเมืองใหญ่รู้สึกร้อนกว่ารอบนอก

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Thairath_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Thairath_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

รู้จัก ปรากฏการณ์ "เกาะความร้อน" หรือ โดมความร้อน (Urban Heat Island : UHI) เหตุใดคนในเมืองใหญ่จึงรู้สึกร้อนกว่ารอบนอก

เคยสงสัยหรือไม่ว่า เหตุใดจึงรู้สึกว่าในเมืองร้อนกว่าที่อื่น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกสูงระฟ้ามากมาย มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งนอกจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความร้อนในเมืองใหญ่มีอุณหภูมิสูงขึ้นก็คือ "ปรากฏการณ์เกาะความร้อน" หรือ "โดมความร้อน" (Urban Heat Island : UHI)


รู้จัก ปรากฏการณ์เกาะความร้อน

เป็นปรากฏการณ์ที่พื้นที่ในเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ชานเมืองรอบนอก เนื่องจากในเวลากลางวัน ตึกสูงและพื้นคอนกรีตที่มีอยู่มากมายในเมืองได้ดูดซับความร้อนไว้ แล้วจะคลายความร้อนออกมาเมื่ออุณหภูมิเย็นลงในเวลากลางคืน ประกอบกับอาคารตึกสูงยังกีดขวางการเคลื่อนไหวของลม ทำให้การพาของความร้อนเป็นไปได้ไม่สะดวก

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เกาะความร้อน ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ทำให้เกิดความเครียดจากความร้อน รวมไปถึงการสิ้นเปลืองพลังงานจากการเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อต่อสู้กับความร้อน เรียกได้ว่าทั้งสิ้นเปลืองพลังงานและเงินค่าไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการเกิดฝนตกช่วงเลิกงาน หรือฝนราชการ เนื่องจากเมืองสะสมความร้อนไว้ตลอดวัน ทำให้ความร้อนเหล่านี้ดึงความชื้นขึ้นไปสะสมบนท้องฟ้าจำนวนมาก จนกลายเป็นกลุ่มเมฆแล้วตกลงมาเป็นฝนในช่วงเย็นถึงค่ำ แต่จะเป็นฝนที่มีความเป็นกรดและสกปรก เนื่องจากเป็นการชะเอาก๊าซเรือนกระจกและฝุ่นควันที่สะสมในเมืองลงมาด้วย และยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนรูปแบบของลมประจำถิ่น การเกิดเมฆ หมอก ความชื้น และอัตราของหยาดน้ำฟ้า (Precipitation)


แนวทางการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาปรากฏการณ์เกาะความร้อนนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ซึ่งการจะแก้ปัญหาได้ดีคือการเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง สามารถบรรเทาปรากฏการณ์เกาะความร้อนได้ดังนี้

1. เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ เนื่องจากต้นไม้ให้ร่มเงา ช่วยฟอกอากาศ ดูดซับแสงอาทิตย์ สามารถลดความร้อนในเมืองได้ รวมไปถึงการเพิ่มสวนสาธารณะ การปลูกต้นไม้ริมถนน หรือการปลูกต้นไม้รอบอาคาร หรือบนดาดฟ้า

2. การเพิ่มการสะท้อนออกของพื้นผิว เช่น การใช้วัสดุสะท้อนความร้อน การเปลี่ยนสีของพื้นผิววัตถุให้เป็นสีขาวหรือสีอ่อน เพื่อลดการสะสมความร้อน

3. การนำแนวคิดเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) มาปรับใช้


ข้อมูลจาก Action for Climate Empowerment Thailand, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2768228

สายน้ำ
09-03-2024, 04:05
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


รู้จัก เกาะผ้า ที่เที่ยวอันซีนจังหวัดพังงา

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Thairath_03.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Thairath_03.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สำหรับคนที่ชอบเที่ยวที่ลับฉบับอันซีน ไม่ชอบซ้ำใคร "เกาะผ้า" คือหนึ่งในลิสต์ที่น่าสนใจของจังหวัดพังงา ที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก และมีประวัติที่น่าสนใจไม่น้อย

เกาะผ้า ตั้งอยู่ตำบลเกาะคอเขา ห่างจากชายฝั่งจังหวัดพังงาประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นเนินทรายละเอียด ราบเรียบเหมือนผ้าผืนใหญ่สีขาวนวลอยู่ท่ามกลางทะเลอันดามันที่มีน้ำทะเลสวยใส จึงเป็นที่มาของชื่อ "เกาะผ้า" หรือ ?Sand Pile island? เนินทรายเกิดจากการทับถมของทรายจำนวนมากเป็นสันดอนกลางทะเล ในช่วงที่น้ำลดระดับลงไม่มาก ก็จะเห็นเป็นเกาะเล็กๆ 3 เกาะ คล้ายปรากฏการณ์ทะเลแหวก แต่ถ้าน้ำทะเลลดระดับลงต่ำสุดจะปรากฏเป็นเกาะเดียวเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ โอบล้อมด้วยน้ำทะเลสีฟ้า

ในอดีตเกาะผ้าเคยเป็นเกาะกลางน้ำที่เงียบสงบ เต็มไปด้วยต้นสนและต้นมะพร้าว มีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ นักท่องเที่ยวมักเดินทางมาพักผ่อนนอนอาบแดด และทำกิจกรรมต่างๆ แต่หลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 คลื่นได้พัดพาทุกสิ่งหายไปในทะเล เมื่อกาลเวลาผ่านไปจึงก่อเกิดเป็นเนินทรายกลางทะเลขึ้นมาใหม่ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือเดินทางช่วงเช้าไปถ่ายรูป เล่นน้ำ ดำน้ำดูแนวปะการังน้ำตื้น และดอกไม้ทะเลซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปลาการ์ตูน หรือพายเรือคายัครอบเกาะได้

ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวเกาะผ้าคือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน มีท่าเรือบริการไปเกาะผ้า โดยขึ้นที่ท่าเรือบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สามารถใช้บริการเรือเหมาลำหรือเรือประมงพื้นบ้านได้ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30-40 นาที

ข้อมูลอ้างอิง : ททท., บางกอกแอร์เวย์


https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/2768770

สายน้ำ
09-03-2024, 08:46
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


พะยูนเกยตื้นตายแล้ว! น่าห่วงเป็นตัวที่ 4 ในทะเลตรัง บินสำรวจล่าสุดพบน้อยลง

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Khaosod_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Khaosod_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ผ่าพิสูจน์พะยูน เพศผู้ อายุ 20 ปี เกยตื้นตายเป็นตัวที่ 4 ใน จ.ตรัง พบสาเหตุมาจากป่วย ส่วนผลบินสำรวจของทีมอาสาสมัครล่าสุด พบพะยูนน้อยลง คาดอาจเคลื่อนย้ายไปจากปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม

วันที่ 8 มี.ค.2567 จากกรณีเพจ "ขยะมรสุม ???s?????????? ????????" โพสต์ภาพพะยูนที่มีสภาพผอม ว่ายอยู่บริเวณใกล้กับชายหาด บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง

ล่าสุดเรื่องนี้ พะยูนตัวดังกล่าวได้ตายลงแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นำซากพะยูนผ่าชันสูตรซากโดยทีมสัตวแพทย์ เบื้องต้น พบว่า เป็นพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ความยาว 250 ซ.ม. น้ำหนัก 220 ก.ก. ลักษณะภายนอกเขี้ยวอยู่ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง และยังมีร่องรอยการกินหญ้าคาอยู่ภายในปาก แต่พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัว บ่งบอกว่าสัตว์อยู่นิ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอาการป่วย

เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายในส่วนของทางเดินอาหาร พบพยาธิตัวกลมเต็มท้องในกระเพาะ ส่วนลำไส้พบเนื้องอกเนื้อตาย รวมทั้งยังพบพยาธิตัวกลมพยาธิใบไม้ด้วย ขณะที่ในลำไส้ใหญ่พบไมโครพลาสติกปะปนเล็กน้อย

ทีมสัตวแพทย์ ใช้เวลาในการผ่าพิสูจน์นานถึง 4 ชั่วโมงเต็ม ก่อนลงความเห็นสาเหตุการตายของพะยูนตัวนี้ว่า มาจากอาการป่วยเรื้อรัง เนื่องจากมีพยาธิตัวกลมเต็มกระเพาะอาหาร ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูก เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป

นายสันติ นิลวัฒน์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 มีพะยูนเกยตื้นตายในจ.ตรังแล้ว 4 ตัว ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ส่วนสาเหตุหลักของการเกยตื้นของพะยูนนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ค่อนข้างจะวินิจฉัยยาก เพราะมักจะเจอแต่ซากเน่า น้อยมากที่เราจะเจอซากที่สด

"ส่วนพะยูนที่เกยตื้นตายตัวล่าสุดนี้ พบหญ้าใบมะกรูดในกะเพาะ ซึ่งแสดงว่าพะยูนยังคงหากินในแหล่งน้ำลึกและแหล่งเดิมๆ ถึงแม้ตอนนี้จะเกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลในพื้นที่ก็ตาม"

ด้าน นายวัชรบูล ลี้สุวรรณ หรือโน๊ต ดาราดังที่ร่วมกับทีมอาสาสมัครบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก บอกว่า ปีนี้จากการบินสำรวจเบื้องต้น พบประชากรพะยูนน้อยลง โดยแต่ก่อนจะเจอเป็นฝูงเป็นกลุ่ม แต่ปีนี้อยู่แบบกระจัดกระจาย ซึ่งตนเองก็ไม่รู้สาเหตุเหมือนกันว่าเพราะอะไร และเท่าที่บินสำรวจก็ยังไม่พบพะยูนคู่แม่ลูกเลย

ขณะที่นายทอม โพธิสิทธิ์ ช่างภาพอาสาสมัครร่วมบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ก็บอกว่า จากการบินสำรวจจำนวนประชากรพะยูนในจังหวัดตรัง ปีนี้พบน้อยมากจริงๆ แต่จะไปเจอพะยูนในจังหวัดอื่นๆ แทน ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่า เกิดจากเคลื่อนตัว หรือกระจายตัว


https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8130876

สายน้ำ
09-03-2024, 08:50
ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก


ชาวบ้าน จ.ตราด ออกหาปลาใกล้เกาะกูด เก็บ 'อ้วกวาฬ' หนัก 8 ขีด ประกาศขาย 4 ล้าน

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_KhomChudLuek_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_KhomChudLuek_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ชาวบ้านออกหาปลาพบ 'อำพันทะเล' หรือ 'อ้วกวาฬ' ลอยกลางทะเลใกล้เกาะกูด หนัก 8 ขีด ประกาศขาย 4 ล้านบาท เผยใช้ทำหัวน้ำหอมได้พรีเมียม

8 มี.ค.2567 นายอ้าย พรหมดี อายุ 61 ปี และนายเส็ง สมบัติ อายุ 62 ปี 2 พี่น้อง ชาวใน ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ. ตราด นำวัตถุเป็นก้อนสีขาวที่เก็บได้จากทะเล บริเวณเกาะกูด มาแสดงให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมระบุว่าเป็น อำพันทะเล หรือ อ้วกวาฬ ซึ่งเป็นของหายากและมีราคาแพง

โดยนายอ้าย เปิดเผยว่า ตนพบอำพันทะเล หรือ อ้วกวาฬ ลอยอยู่บนผิวน้ำทะเลใกล้เกาะกูด ขณะออกหาปลา จึงเก็บใส่เรือนำกลับมาที่บ้าน และพยายามศึกษาหาข้อมูล ทำให้ทราบว่า วัตถุดังกล่าวคือ อำพันทะเล หรือ อ้วกวาฬ ซึ่งเป็นของหายากและมีราคาแพง จึงตั้งใจจะขายในราคา 4 ล้านบาท มีน้ำหนัก 8 ขีด

ทั้งนี้ นายอ้ายยังได้พิสูจน์ว่าทดสอบว่าก้อนวัตถุดังกล่างคือ อำพันทะเล จริงหรือไม่ ด้วยการนำมาเผาไฟ ปรากฎว่าละลาย จึงฝากแจ้งประกาศขาย อำพันทะเล หรือ อ้วกวาฬ ดังกล่าว หากมีใครสนใจติดต่อสอบถามได้ หรือมาขอดูได้ที่ ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

อำพันทะเล จากเว็บไซต์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ระบุไว้ว่า อำพันทะเล (Ambergris) คือ ขี้วาฬ หรือ อ้วกวาฬหัวทุย (ขึ้นอยู่กับวาฬจะขับออกมาทางไหน) เกิดจากอาหารที่วาฬกินเข้าไป คือจำพวกหมึก แต่ร่างกายของวาฬไม่สามารถขับไขมันจากหมึกได้ ทำให้ไขมันของหมึกสะสมอยู่ในลำไส้ จนร่างกายขับถ่ายไขมันส่วนนี้ออกมาพร้อมอุจจาระ หรือสำรอกไขมันออกมา ที่เรียกว่า อ้วก

ส่วนที่ออกมาสามารถละลายในน้ำทะเลได้อย่างอุจจาระ อ้วก หรือสารอื่นๆ ก็จะละลายไปกับน้ำทะเล แต่ไขมันจากหมึก ไม่สามารถย่อยสลายได้ จึงลอยตัวอยู่ในผิวทะเลปกติ แล้วอำพันทะเลจะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์สักเท่าไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป เป็นเดือน ปี แสงแดดและน้ำทะเลจะทำปฏิกิริยากลายสภาพเป็นก้อนสีขาว น้ำตาล เทา หรือสีดำ ตามระยะเวลาของการทำปฏิกิริยา เมื่อเวลานานไป กลิ่นของขี้วาฬกลายเป็นกลิ่นหอม คล้ายกลิ่นน้ำมันหอมระเหย

โดย อำพันทะเล มีราคาสูง เหมาะสมในการทำน้ำหอมเกรดพรีเมียม และเป็นของเฉพาะ คนที่ต้องการไม่ได้อยู่ในเมืองไทย จะนำไปใช้เป็นสูตรผสมทำ "หัวน้ำหอม" ระดับพรีเมียม ส่วนมากทำในยุโรป ฉะนั้นการที่จะเดินทางมาซื้อถึงประเทศไทยนั้นอาจจะไม่จำเป็นขนาดนั้น เนื่องจากในประเทศแถบใกล้เคียงประเทศไทยก็มี


https://www.komchadluek.net/news/local/570444

สายน้ำ
09-03-2024, 08:53
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


ความเสี่ยงที่ต้องรับมือ จากภาวะโลกร้อนปี 2566

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Bkkbiz_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ระบุว่า ความเสี่ยง และปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อโลกในระยะสั้น และระยะยาวตาม Global Risks Perception Survey (GRPS) ได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงทั่วโลกจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,490 ราย

ทั้งจากสถาบันการศึกษา ธุรกิจ รัฐบาล ชุมชนระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม และสรุปข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาพรวมด้านความเสี่ยงทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ในรายงาน Global Risks Report 2024 ของ World Economic Forum โดยในปีนี้ แบ่งประเด็นความเสี่ยงออกเป็น 5 กลุ่ม ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (Economic) - สีฟ้า ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) - สีเขียว ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) - สีส้ม ความเสี่ยงด้านสังคม (Societal) - สีแดง ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Technological) ? สีม่วง


จากรายงานระบุว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดของโลกใน 5 อันดับแรก นั่นคือ ภาวะสภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว หรือ Extreme weather เช่น ไฟป่า น้ำท่วม คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยอาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาทั้ง 2 ปี และ 10 ปี

ในอันดับถัดมาคือ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อโลกทั้งระบบ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศล่มสลาย การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการบิดเบือนข้อมูล ส่วนปัญหามลพิษในอากาศ น้ำ ดิน หรือ Pollution ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ อย่างกิจกรรมในครัวเรือน อุตสาหกรรม อุบัติเหตุ รวมไปถึง การรั่วไหลของน้ำมัน และกัมมันตภาพรังสี และการปนเปื้อน อยู่ในอันดับที่ 10 ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาทั้ง 2 ปี และ 10 ปี เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจาก World Economic Forum's 2023 Executive Opinion Survey (EOS) สรุปความเสี่ยง 5 ประการ ที่สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทยได้มากที่สุดในอีกสองปีข้างหน้า ดังนี้

อันดับที่ 1 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic downturn)
อันดับที่ 2 ปัญหามลพิษในอากาศ น้ำ ดิน (Pollution)
อันดับที่ 3 การขาดแคลนแรงงาน (Labour shortage)
อันดับที่ 4 หนี้ครัวเรือน (Household debt)
อันดับที่ 5 ความไม่เท่าเทียมทางความมั่งคั่ง และรายได้ (Inequality)

ซึ่งโดยสรุปในรายงานยังระบุว่า เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่กำลังเติบโตในลักษณะที่ไม่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ครอบคลุมประเด็นทางสังคม กล่าวคือ มีการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในระหว่างที่โลกกำลังพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1116703

สายน้ำ
09-03-2024, 08:56
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


อช.หาดนพรัตน์ฯ แจ้งจับนักท่องเที่ยว ดำน้ำจับหอยที่ "เกาะพีพี"

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_TPBS_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_TPBS_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

นักท่องเที่ยวจับสัตว์น้ำในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โพสต์ลงโซเชียล อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี รวบรวมหลักฐานส่งดำเนินคดี

วันนี้ (8 มี.ค.2567) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจาก นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567 เวลาประมาณ 20.00 น. ได้รับร้องเรียนจากสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook) กลุ่มชวนกันไป Dive ว่า "เหตุเกิดที่เกาะบิดะ Phi Phi Island หน่วยงานใดรับเรื่องต่อได้บ้าง"

"ภาพที่ปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว มีกลุ่มนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ นำเรือ ทราบชื่อภายหลัง ชื่อเรือ ?Quel Voyage GEORGE TOWN? มาจอดบริเวณเกาะบิดะในเพื่อทำกิจกรรมดำน้ำบริเวณที่ดังกล่าว และดำน้ำลงไปจับหอย (ไม่ทราบชนิด) 1 ตัว เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราฯ จึงได้ร่วมกันตรวจสอบ ตามที่มีภาพปรากฏบนสื่อออนไลน์ดังกล่าว"

นายยุทธพงค์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบภาพโดยละเอียด ได้ปรากฏเห็นทิวทัศน์ มีลักษณะเป็นเกาะ ซึ่งแต่ละเกาะมีลักษณะที่เด่นชัดเป็นจุดเด่นเฉพาะตัว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว

"พบว่า บริเวณที่เรือ Quel Voyage GEORGE TOWN และกลุ่มนักท่องเที่ยวดำน้ำลงไปจับหอย (ไม่ทราบชนิด) นั้น อยู่บริเวณเกาะบิดะใน ท้องที่หมู่ 7 ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี"

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราฯ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเกาะพีพี จ.กระบี่ เพื่อให้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562

มาตรา 19 (2) ฐานเก็บหา นำออกไป กระทำด้วยการประการใด ๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทรายแร่ ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มาตรา 19 (3) ฐานล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยประการใด ( โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 20 บุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

นายยุทธพงค์กล่าวอีกว่า อยากฝากนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวว่า

1.ไม่เก็บหา นำออกไปหรือกระทำการใด ๆ ให้เกิดความเสียหายแก่ปะการัง สัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิต รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

2.ไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย หรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม 3.ไม่ล่าสัตว์ จับสัตว์น้ำ หรือกระทำการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ทุกชนิดในเขตอุทยานแห่งชาติ


https://www.thaipbs.or.th/news/content/337850

สายน้ำ
09-03-2024, 09:04
ขอบคุณข่าวจาก Nation


เศร้า "พะยูน" ตรัง จากโลกตัวที่ 4 ของปี เกิดอะไรขึ้นกับทะเลไทย

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Nation_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Nation_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)

สะเทือนใจ! ปีนี้ พบ "พะยูน" ตรังเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว เกิดอะไรขึ้นกับท้องทะเล ด้าน "อ.ธรณ์" โพสต์ 10 ข้อเท็จจริงปัญหา พร้อมเผยข้อมูลน่าตกใจ หรือนี่จะเป็นวิกฤตหมูน้ำของไทย

ภายหลังเพจเฟซบุ๊ก ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND ซึ่งเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ได้โพสต์ภาพ "พะยูน" เกยตื้น บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง ในสภาพลำตัวซูบยาว ผอมโซ ขณะว่ายน้ำเข้ามาเกยตื้นใกล้เรือหางยาวของชาวบ้านที่จอดอยู่บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว

พร้อมระบุข้อความว่า "จะร้องแล้ว พะยูนผอมมาก ท่าเรือบ้านพร้าวเกาะลิบงไม่มีใครสนใจ รอให้ตายหมดก่อนเหรอคับ หญ้าก็หาย. ตะกอนจากการก่อสร้างก็ไม่มีใครทำอะไร บอกใครก็ไม่สนใจ มารวมกันช่วยหน่อยได้ป่าว หลายเดือนแล้วไม่บูมเลย พะยูนตายทุกคนก็เฉยๆสภาพแย่ลงไปทุกวัน หญ้าเหลือน้อยแล้วนะ ขอความสนใจหน่อย ปีนี่ตายไปหลายตัวแล้วนะ"

ซึ่งเป็นภาพที่ประชาชนทั่วไปเห็นแล้ว ต่างสะเทือนใจ และเป็นห่วงต่อสถานการณ์พะยูนในทะเลตรังเป็นอย่างมาก

ด้าน นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง และเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ บอกว่า พะยูนตัวที่ชาวบ้านพบเกยตื้นตายในวันนี้ สภาพผอม มีเพรียงเกาะตามลำตัวจำนวนมาก แสดงอาการชัดเจนว่าป่วยและขาดอาหาร ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ผ่าพิสูจน์ซากหาสาเหตุที่ชัดเจน

ส่วนการที่ "หญ้าทะเล" ในทะเลตรังเสื่อมโทรมทุกพื้นที่รวมกว่า 30,000 ไร่ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้อาหารพะยูนขาดแคลน เพราะทะเลตรังมีพะยูนจำนวนมาก พะยูนจึงอยู่ในภาวะวิกฤตหนัก ซึ่งมีสัญญาณมาตั้งแต่ประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว เพราะมีการพบพะยูนเกยตื้นตายจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย และสาเหตุหลักเกิดจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่มาจากความไม่สมดุลทางระบบนิเวศ

ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ เพื่อร่วมกันหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งเขามองว่าตอนนี้ทุกฝ่ายจะต้องเร่งมือทำงาน มัวแต่หาสาเหตุอย่างเดียวไม่ได้ ไม่ทันการณ์พะยูนจะตายหมด โดยทุกฝ่ายต้องจริงจังในการร่วมมือกันทำงาน

นายภาคภูมิ บอกด้วยว่า ปัจจุบันภาระตกอยู่กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งส่วนตัวมองว่าในภาวะวิกฤตตอนนี้หน่วยงานเดียวทำงานไม่พอ ยังมีกรมอุทยานฯ ซึ่งดูแลอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงถิ่นพะยูนอาศัยอยู่ จะต้องร่วมกันทำงาน

นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะลงมาดำเนินการด้วยตัวเอง เพื่อให้กระทรวงเป็นหน่วยบูรณาการ เพราะลำพังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แม้จะพยายามแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดทั้งเรื่องคน และงบประมาณ จึงต้องดำเนินการในระดับนโยบาย รัฐมนตรีควรจะมีข้อสั่งการ และต้องเร่งกู้วิกฤตในครั้งนี้โดยเร็ว เพราะอาศัยทั้งคน ความรู้ งบประมาณ และต้องการความเร็วในการทำงาน หากมัวแต่หาสาเหตุเพียงเรื่องเดียวพะยูนคงตายหมด แต่ควรทำด้านการฟื้นฟูควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปี 2566 พะยูนตรังเกยตื้นทั้งหมด 23 ตัว ช่วยชีวิตได้ 4 ตัว ตายทั้งหมด 19 ปี หรือตายประมาณร้อยละ 7 ส่วนปี 2567 พบพะยูนเกยตื้นตายแล้วรวม 4 ตัว


ผลผ่าพิสูจน์ คาดสาเหตุป่วยตาย

เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลปละชายฝั่ง(ทช.) ได้นำซากพะยูนผอมตัวดังกล่าวมาทำการผ่าชันสูตรซากโดยทีมสัตวแพทย์

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นซากพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ความยาว 250 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 220 กิโลกรัม ลักษณะภายนอกเขี้ยวอยู่ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง และยังมีร่องรอยการกินหญ้าคาอยู่ภายในปาก พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัวบ่งบอกว่าสัตว์อยู่นิ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอาการป่วย

เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายใน ส่วนของทางเดินอาหารพบพยาธิตัวกลมเต็มท้องในกระเพาะ ลำไส้พบเนื้องอกเนื้อตาย และยังพบพยาธิตัวกลมพยาธิใบไม้ และในลำไส้ใหญ่พบไมโครพลาสติกปะปนเล็กน้อย โดยในกระเพาะพบว่ามีหญ้าทะเลชนิดหญ้าใบมะกรูด หญ้าเข็ม (ซึ่งหญ้าเข็มจะพบในระดับน้ำลึกกว่าหญ้ามะกรูด) แต่มีอยู่น้อย

หลังผ่าพิสูจน์นานถึง 4 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ลงความเห็นสาเหตุการตาย ว่า สัตว์ป่วยเรื้อรัง เนื่องจากมีพยาธิตัวกลมเต็มกระเพาะอาหาร พร้อมทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูก เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป

นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทช. บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทะเลตรังพบพะยูนเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว โดยที่ผ่านมาจะพบว่า พะยูนเกยตื้นมากที่สุดในช่วงปลายปีประมาณ พ.ย.-ธ.ค. ส่วนที่ตายในปีนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงกลางๆปีมีโอกาสการเกิดขึ้นน้อยลง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง

จากที่มีการเก็บข้อมูลมาหลายปี พบสาเหตุหลักของการเกยตื้นส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ค่อนข้างจะวินิจฉัยยาก เพราะซากจะเน่า น้อยมากที่จะเจอซากที่สด เมื่อเจอซากเน่า อวัยวะภายในค่อนข้างที่จะพิสูจน์ยาก จะเห็นได้ว่าตัวล่าสุด พบพยาธิในกระเพาะมากขึ้น ชี้ชัดว่ามันป่วย ,พบหนอง พบก้อนเนื้อที่คล้ายมะเร็งลักษณะผิดปกติในอวัยวะภายใน ซึ่งค่อนข้างจะเจอในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของการเกยตื้น

ส่วนพะยูนตัวดังกล่าวผอม เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ มันป่วยแล้วทำให้มันผอม หรือ มันอดอาหารแล้วเหนี่ยวนำทำให้มันป่วย ซึ่งจากการที่สัตวแพทย์ ชันสูตรในเบื้องต้นพบว่า ลักษณะของหัวใจอักเสบ และมีก้อนไขมันในหัวใจ ซึ่งถ้าพบว่าในกระเพาะของพะยูนมีแผล ก็อาจจะเป็นเพราะขาดอาหารได้ แต่นี่พบว่ามีพยาธิเต็มกระเพาะเกิดจากอาการป่วยเรื้อรัง


ทีมบินสำรวจพบหากินเป็นฝูงน้อยลง

ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง บอกด้วยว่า พะยูนจะย้ายถิ่นฐานหรือไม่ ตัวเลขยังสรุปไม่ได้ หากพบแหล่งหญ้าเสื่อมโทรมสัตว์ก็จะย้าย และที่พบในกระเพาะตัวล่าสุดจะเป็นหญ้าเข็ม ซึ่งแสดงว่าพะยูน ไปหากินในระดับน้ำลึก แต่ก็พบเจอหญ้าใบมะกรูดซึ่งเป็นหญ้าที่พะยูนยังคงหากินในที่แหล่งเดิมอยู่ เพราะหลักๆที่เจอความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล จะเจอในแหล่งน้ำตื้นและเป็นในบริเวณที่หญ้าแห้งระดับน้ำลงต่ำสุด

"ตอนนี้ทางศูนย์วิจัยฯ ทำการสำรวจพะยูนโดยการใช้เครื่องบินเล็ก ซึ่งร่วมสำรวจตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา สิ้นสุดในวันที่ 10 มีนาคมนี้ เพราะฉะนั้น จำนวนตัวเลขพะยูนของจังหวัดตรังในขณะนี้ ยังบอกไม่ได้ เพราะยังสำรวจไม่แล้วเสร็จ แต่ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พบพะยูนทั้งหมด 31 ตัว ซึ่งพบตัวแม่ลูก 2 คู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก พบว่าอยู่ในพื้นที่มีการขยายพันธุ์" นายสันติ กล่าวทิ้งท้าย


เศร้าซ้ำ บินสำรวจทะเลตรังเบื้องต้น ไม่พบ "พะยูน" คู่แม่ลูก

เศร้า "พะยูน" ตรัง จากโลกตัวที่ 4 ของปี เกิดอะไรขึ้นกับทะเลไทย
ด้าน นายวัชรบูล ลี้สุวรรณ หรือโน๊ต ดาราดังร่วมกับทีม อาสาสมัครร่วมบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก บอกกับทีมข่าวว่า วันนี้เขาได้มีโอกาสร่วมกับทีมที่ทำงานภาคสนาม และบังเอิญเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีพะยูนตายพอดี ทำให้ได้เห็นหมดตั้งแต่การบินสำรวจ บินโดรนและนั่งเรือสำรวจ จนสุดท้ายผ่าซากพะยูน ซึ่งเขามาสำรวจปีนี้เป็นปีแรก แต่จากที่สอบถามทีมงานอื่นๆ ทราบว่าประชากรพะยูนลดจำนวนน้อยลง ซึ่งแต่ก่อนเจอเป็นฝูงเป็นกลุ่ม แต่ปีนี้อยู่แบบกระจัดกระจาย ซึ่งต้องบินหาอยู่พอสมควรกว่าจะเจอ ซึ่งก็ไม่รู้สาเหตุเหมือนกันว่าเพราะอะไร และเท่าที่บินสำรวจ ก็ยังไม่พบพะยูนคู่แม่ลูกเลย

ส่วน นายทอม (Tom) ช่างภาพอาสาสมัครร่วมบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก บอกว่า ได้ร่วมกับคณะบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก เพื่อที่นักวิจัยจะใช้ข้อมูลนี้ไปอนุรักษ์ทะเลหายากในประเทศไทย ซึ่งที่ไปสำรวจมีจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี สตูล ชุมพร ทำเป็นโรดแมพ เชื่อมข้อมูลหาวิธีการอนุรักษ์ให้เป็นภาพใหญ่ขึ้น และในเรื่องของหญ้าทะเลเสื่อมโทรมนั้นตนเริ่มเห็นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเสื่อมโทรมเร็วมากในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแหล่งหญ้าทะเลที่เกาะลิบงเริ่มหายไปเยอะมากจริงๆ และจากการบินสำรวจจำนวนประชากรพะยูนในเกาะลิบงน้อยมากจริงๆ แต่ไปเจอพะยูนในจังหวัดอื่นๆ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากเคลื่อนตัวหรือกระจายตัว


มีต่อ

สายน้ำ
09-03-2024, 09:06
ขอบคุณข่าวจาก Nation


เศร้า "พะยูน" ตรัง จากโลกตัวที่ 4 ของปี เกิดอะไรขึ้นกับทะเลไทย ............... ต่อ



"อ.ธรณ์" โพสต์ 10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤตหญ้าทะเล/พะยูน

ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า

1.หญ้าทะเลตรัง/กระบี่ตายเป็นจำนวนมากจากโลกร้อน อาจมีรายงานเรื่องขุดลอกหรือทรายกลบที่ลิบง แต่เป็นเฉพาะพื้นที่ในอดีตและการขุดลอกหยุดไปหลายปีแล้ว

2.หญ้าตายหนนี้เริ่มตายปี 65-67 ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้น และอาจขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากโลกร้อนไม่หยุด

มีรายงานหญ้าเสื่อมโทรมในลักษณะคล้ายกันในพื้นที่อื่นๆ เช่น เกาะพระทอง (พังงา) อีกหลายพื้นที่กำลังสำรวจเพิ่มเติม

ภาพที่เห็นคือหญ้าทะเลไหม้เนื่องจากน้ำลงต่ำผิดปรกติ น้ำยังร้อน/แดดแรง ปัจจุบันในพื้นที่นั้นหญ้าตายหมดแล้ว

หญ้าทะเลยังตายจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนรุนแรง บางแห่งเน่าจากปลาย บางแห่งเน่าเฉพาะโคนก่อนใบขาด ยังมีความเป็นไปได้ในเรื่องโรค (เชื้อรา)

3.พะยูน 220 ตัวอยู่ที่ตรัง/กระบี่ (ศรีบอยา) เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

4.กรมทะเลมีงบศึกษาวิจัยสัตว์หายากน้อยมาก แม้เริ่มมีอุปกรณ์และทีมงานดีขึ้น แต่งบปฏิบัติการยังน้อยและทำการสำรวจได้ไม่เต็มที่

ในด้านสัตวแพทย์ทะเล ฯลฯ ยังมีบุคลากรจำกัด การศึกษาที่จำเป็น เช่น ตรวจฮอร์โมน ศึกษา DNA การย้ายถิ่น ฯลฯ เพิ่งเริ่มต้น และคงต้องใช้เวลาอีกนานด้วยความจำกัดในหลายด้าน

5.คาดว่าพะยูนอาจเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ยังมีหญ้าเหลือ โดยมีเส้นทางขึ้นเหนือ (กระบี่ตอนบน/พังงา/ภูเก็ต) หรือเส้นทางลงใต้ (สตูล) แต่ยังบอกไม่ได้ชัดเจน

บอกไม่ได้เพราะการสำรวจทำตามงบจำกัด ไม่สามารถสำรวจต่อเนื่องเป็นพื้นที่กว้างในช่วงเวลาเดียวกัน

6.ในอดีตไม่เคยมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน ตั้งแต่เริ่มต้นสำรวจหญ้าทะเลที่ตรังเมื่อ 40 ปีก่อน หญ้าไม่เคยหายไปเยอะแบบนี้
เนื่องจากหญ้าตายเพราะโลกร้อน/สิ่งแวดล้อม การแก้ที่ต้นเหตุจึงยากมาก

7.การปลูกฟื้นฟูจำเป็นต้องเลือกพื้นที่เหมาะสม พันธุ์หญ้าที่เหมาะสม (DNA) ภูมิต้านทานโรค ฯลฯ ไม่สามารถทำได้ทันที เพราะสภาพแวดล้อมแปรปรวน

คณะประมงตั้ง "หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน" และมีโรงเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลเพื่อเรื่องนี้ตั้งแต่ 4 ปีก่อน

8.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องพะยูน คือการสำรวจให้กว้างที่สุด ดูการอพยพ (หากมี) เพื่อดูแลแหล่งหญ้าใหม่ที่พะยูนอาจไป

แนวทางใหม่ๆ เช่น การติดตามสัตว์แบบ tracking ด้วยดาวเทียม การตรวจสุขภาพแบบจับมาตรวจ การให้อาหารเฉพาะหน้า ฯลฯ อาจต้องเริ่มคิดกัน

9.กรมทะเลตั้งคณะทำงานแล้วตั้งแต่ต้นปี ทำงานต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ (บางคนก็อยู่ในทะเลตอนนี้) ประชุมกันเกือบทุกวัน เราไม่มีผู้เชี่ยวชาญดีกว่านี้อีกแล้ว

10.ทางออกที่สำคัญสุดคือการสนับสนุนงบประมาณให้โครงการต่างๆ ที่กรมทะเลเสนอไป เพื่อให้งานเดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของพะยูน

ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้งบหรือไม่ ? (งบไม่ใช่หลายล้าน ทั้งหมดที่เสนอไป ราคาใกล้เคียงรถ EV จากจีน)

ทั้งหมดนั้นคือที่สรุปมาให้เพื่อนธรณ์ ในฐานะคนในคณะทำงานครับ (ไม่ได้ตังค์ ไม่มีเบี้ยประชุม ไม่มีโครงการวิจัยในส่วนนี้ ฯลฯ)

จะพยายามต่อไปเท่าที่ทำได้ ยังไงก็ต้องหาทางช่วยน้องครับ

ต่อมา "อ.ธรณ์" ยังได้โพสต์ ผลสำรวจพะยูนเบื้องต้นที่ตรัง โดยระบุข้อความว่า

ผลสำรวจพะยูนเบื้องต้นที่ตรังออกมาแล้วครับ คงถึงเวลาต้องร้องไห้

กรมทะเลบินสำรวจทุกปีที่เดิม ในเดือนเดียวกัน (มีนาคม) ด้วยวิธีเดิมๆ นักบินช่างภาพก็คนเดิมๆ

เมื่อเทียบตัวเลขปีก่อนกับปีนี้ คำว่าตกใจอาจไม่พอ

ปีที่แล้วพบไม่น้อยกว่า 180 ตัว แม่ลูก 12 คู่

ปีนี้พบ 24 ตัว (ลิบง 17 มุกด์ 7) ไม่พบแม่ลูกเลย

เน้นย้ำว่าเป็นผลขั้นต้น ยังต้องสำรวจอีก 2 วัน แต่แค่นี้ก็พอบอกได้ว่าพะยูนตรังน้อยลงมาก ขนาดช่างภาพอาสาสมัครที่มาช่วยสำรวจเป็นสิบๆ ปียังแทบร้องไห้

ปีที่แล้วยังพบพะยูนรวมเป็นฝูง แต่ปีนี้ไม่พบฝูงพะยูนเลย กระจายกันออกไปเป็นตัวเดี่ยวๆ เพราะหญ้าเหลือน้อยมาก

ผลชันสูตรพะยูนที่ตาย พบว่าป่วย ในทางเดินอาหารแทบไม่พบหญ้าทะเล (หากเราไม่มีอะไรกิน เราก็ป่วยตาย ผลชันสูตรคงไม่สามารถระบุได้ว่าอดตาย)

ตัวเลขสำคัญสุดจึงย้อนมาที่ผลสำรวจทางอากาศ พะยูนลดน้อยลงมาก

แล้วพะยูนไปไหน ? เราไม่ได้มีพะยูนตายเป็นร้อยๆ

ดังที่เคยบอกเพื่อนธรณ์ เมื่อหญ้าทะเลหมด พะยูนคงไม่รอให้อดตาย หากตัวไหนไปได้ก็ไป

แต่ไปไหน ? นั่นคือสิ่งที่ผมบอกไว้ในโพสต์ก่อน

เราต้องการโครงการขนาดใหญ่สำรวจต่อเนื่องทั้งพื้นที่ กระบี่/ตรัง/สตูล หรือจะครอบคลุมทั้งอันดามันยิ่งดี

คณะทำงานสัตว์หายากเสนอไปแล้ว หากได้รับความสนับสนุน นักวิจัยของกรมทะเลพร้อมทำงาน

สำหรับทางออก การแก้ปัญหา ฯลฯ ยังบอกไม่ได้ เอาแค่ว่าพะยูนหายไปไหนแค่นี้ก่อน

180 เหลือ 24 ไม่มีแม่ลูกเลย แค่นี้ผมก็พูดอะไรไม่ออก คิดอะไรไม่ออก มันตื้อไปหมด

ได้แต่ภาวนาว่าในการสำรวจอีก 2 วัน เราจะเจอน้องพะยูนเยอะขึ้น แม้รู้ดีว่าไม่มีทางเท่าปีก่อน แต่อย่างน้อยก็ขอให้เยอะกว่านี้สักนิด

24 ตัวมันเป็นตัวเลขที่โหดร้ายและทำร้ายจิตใจเกินไปครับ

หมายเหตุ - เป็นผลสำรวจขั้นต้น รอผลเป็นทางการจากกรมทรัพยากรทางทะเลอีกครั้ง แต่จำนวนคงน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน


ขอขอบคุณ : เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat , กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND


https://www.nationtv.tv/news/social/378941233

สายน้ำ
09-03-2024, 09:10
ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


ฟิลิปปินส์เจ็บหนัก! มัดรวม 4 วิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่ซัดน่วมแบบไม่ให้พักยก


https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Springnews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Springnews_01.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)
เครดิตภาพ: REUTERS


SHORT CUT

- ฟิลิปปินส์เผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน : อากาศย่ำแย่, ขยะพลาสติก, ทะเลปนเปื้อน, ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

- ฟิลิปปินส์สร้างขยะพลาสติกลงทะเลกว่า 3 แสนเมตริกตันต่อปี ภายในปี 2593 อาจเจอพลาสติกในทะเลมากกว่าปลา

- ภายในปี 2100 กรุงมะนิลาอาจกลายเป็นอาณาจักรแอตแลนติส หรือนครใต้บาดาล เพราะน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น


ฟิลิปปินส์คือประเทศที่สร้างขยะลงทะเลราว 3.6 แสนล้านตัน มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน นี่คือ 1 ปัญหาที่ดินแดนพันเกาะยังแก้ไม่ตก แต่ยังมีอีก 3 วิกฤตที่ฟิลิปปินส์ต้องแบกรับ จะมีอะไรบ้างติดตามได้ที่บทความนี้

มูฟออนจาก สุขุมวิท 11 ล่องฟ้าไปเยือนที่ฟิลิปปินส์กันดีกว่า ต้องบอกว่า "ไทย" กับ"ฟิลิปปินส์" นอกจากจะมีการแข่งขันกันบนเวทีการประกวดนางงามที่เด็ด เผ็ด มันส์ อยู่ทุกปีแล้ว ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญก็คล้ายคลึงสมกับเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันจริง ๆ

Spring News ถือโอกาสนี้สรุป 4 วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมของฟิลิปปินส์มาให้ 4 ข้อ แล้วชาวไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่รักกัน? จะได้เห็นว่าดินแดนพันเกาะก็ถูกธรรมชาติซัดจนน่วมแบบไม่ให้ได้ตั้งการ์ดด้วยซ้ำไป


สภาพอากาศย่ำแย่

ปัญหาอันดับแรกของฟิลิปปินส์คือ ?มลพิษทางอากาศ? ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า คุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 24 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานถึง 4 เท่า

ซึ่งต้นเหตุอากาศแย่ของฟิลิปปินส์มาจาก 3 สาเหตุหลักได้แก่ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล การปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ และการจุดปะทะในวันเทศกาลซึ่งก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 รวมถึงบรรจุสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน


ขยะพลาสติกอ่วมประเทศ

รู้หรือไม่ว่า แต่ละปีฟิลิปปินส์สร้างขยะพลาสติกราว 2.7 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-used Plastic) นอกจากนี้ กระบวนรีไซเคิลของแดนพันเกาะยังไร้ประสิทธิภาพ

ถึงขั้นเกิดการประมาณการว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องจ่ายเงินมากถึง 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดการขยะพลาสติกเหล่านี้ ในสถานการณ์เลวร้าย ยังมีเรื่องราวดี ๆ เมื่อปี 2022 รัฐบาลคลอดกฎหมาย Extended Producer Responsibility Act (EPRA) ออกมาเพื่อจัดการกับปัญหาขยะโดยตรง

ซึ่งหลักการก็ไม่มีอะไรซับซ้อนคือ ภาคเอกชนต้องจัดทำแผนในการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงการรีไซเคิลพลาสติก กฎหมายเรือธงจัดการขยะตัวนี้คาดว่าจะลดปริมาณขยะพลาสติกของฟิลิปปินส์ลง 80%


ทะเลเฟื่องไปด้วยขยะพลาสติก

เป็นผลสืบเนื่องมาจากหัวข้อที่แล้ว งานวิจัยของ Science Advances ระบุว่า ฟิลิปปินส์คือประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลราว 3.6 แสนล้านตันมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ถึงขั้น เทเรซา ลาซาโร ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ภายในปี 2593 ฟิลิปปินส์จะมีขยะในทะเลมากกว่าปลา

แต่กระนั้นรัฐบาลก็ออกมาตรการแก้ไขปัญหาขยะรั่วไหลลงสู่ทะเลด้วยการจับมือกับ WWF เพื่อควบคุมการรั่วไหลของขยะพลาสติกให้ได้ 50% โดยเริ่มที่บริเวณท่าเรือ Cagayan de Oro ท่าเรือ Batangas และท่าเรือมะนิลาเหนือ

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยเรื่องการจัดการขยะทะเล โดยมีจุดประสงค์คือน่านน้ำของฟิลิปปินส์จะต้องมีขยะเป็นศูนย์ภายในปี 2583 หรืออีกราว ๆ 16 ปี การแก้ไขอีกทางหนึ่งคือ เดินหน้าให้ความรู้แก่ภาคประชาชน ธุรกิจ ถึงวิธีการกำจัดขยะที่ถูกต้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คงต้องมารอดูกันว่าไทยกับฟิลิปปินส์ใครจะจัดการขยะได้ก่อนกัน


ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

ปี 2024 มีการคาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลในฟิลิปปินส์จะเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเมืองชายฝั่งอย่างมะนิลา ถึงขั้นมีการระบุว่า ภายในปี 2100 กรุงมะนิลาจะกลายเป็นนครแอตแลนติสเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงวางแผนที่จะลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อมาจัดการกับปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว อาทิ ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ท่อระบายน้ำ โดยจะเน้นที่เมืองริมชายฝั่งเป็นกรณีพิเศษ

ที่มา: Earth.ORG


https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/848420

สายน้ำ
09-03-2024, 09:16
ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


พายุฤดูร้อน คืออะไร? กับสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเจอเกือบทุกปี


SHORT CUT

- ประเทศไทยเจอพายุฤดูร้อน สาเหตุจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมเกิดการปะทะกันระหว่างอากาศที่ร้อนชื้นและเย็น ในช่วงเดือน มี.ค. เม.ย. พ.ค. ของทุกปี

- ภาคเหนือ ภาคอีสาน ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดพายุฤดูร้อนมากที่สุด

- พายุฤดูร้อนถล่มไทย ช่วงวันที่ 8-10 มี.ค. จังหวัด ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง

https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Springnews_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds (https://hosting.photobucket.com/images/aa455/saveoursea/670309_Springnews_02.jpg?width=960&height=720&fit=bounds)


พายุฤดูร้อน คืออะไร? และสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยเจอกันเกือบทุกปี ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน จังหวัดภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง รับมือพายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง ช่วง 8-10 มี.ค. นี้

พายุฤดูร้อนเชื่อว่าหลายคนคุ้นกับคำนี้ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ความหมายของมันว่าเหตุใดจึงเรียกพายุฤดูร้อน วันนี้ SPRiNG จะพาไปรู้จักพายุฤดูร้อนคืออะไร

พายุฤดูร้อน (Thunderstorms) เป็นพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดในช่วงการเปลี่ยนฤดูจากฤดูร้อนไปสู่ฤดูฝน ช่วงประมาณเดือนเมษายน พายุฤดูร้อนนี้ เป็นพายุประจำถิ่น ที่มักเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยตอนบน เมื่ออากาศในช่วงเปลี่ยนฤดู มีความชื้นสูงและร้อน ในขณะที่ความกดอากาศสูงก็ยังคงแผ่ลงมาเป็นครั้งคราว นำอากาศที่แห้งและเย็นกว่ามาผสมผสาน ทำให้เกิดมวลอากาศ ที่อเสถียรภาพ มีการแลกเปลี่ยนมวลกันในแนวดิ่ง เกิดการยกตัวของมวลอากาศอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้น ในบางครั้งทำให้เกิดลูกเห็บตก ทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือนและ พืชผลทางการเกษตรเสียหายได้


สาเหตุการเกิดพายุฤดูร้อน

ประเทศไทย แผ่นดินได้รับรังสีดวงอาทิตย์มากกว่าในช่วงอื่นๆ ของปี ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น พายุฤดูร้อนเกิดจากการที่ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย จึงทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทยและอากาศที่แห้งและเย็นจากประเทศจีน อากาศเย็นจะผลักให้อากาศร้อนชื้นลอยตัวขึ้นสู่ข้างบนอย่างรวดเร็ว จนเมื่อไอความชื้นขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ จนก่อตัวเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นก้อนสีเทาเข้มทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบและฟ้าผ่าตามมา บางโอกาสจะมีลมพัดแรงเป็นเวลา 10 - 15 นาที หรืออาจนานกว่านั้นก็ได้ และมีลมกระโชกเป็นครั้งคราว โดยอาจมีกำลังแรงถึง 40 นอต หรือ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ประมาณ 30 - 40 นาที ถึง 2-3 ชั่วโมง.


สัญญาณเตือนก่อนเกิดพายุฤดูร้อน

- อากาศร้อนอบอ้าว ติดต่อกันหลายวัน
- ลมสงบ แม้ใบไม้ก็ไม่สั่นไหว
- ความชื้นในอากาศสูง จนรู้สึกเหนียวตามร่างกาย
- ท้องฟ้ามัว ทัศนวิสัยการมองเห็นระยะไกลไม่ชัดเจน
- เมฆมากขึ้น ท้องฟ้ามืดครึ้ม อากาศร้อนอบอ้าว


พื้นที่เสี่ยงเกิดพายุฤดูร้อน

พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยซึ่งอยู่ใกล้ประเทศจีน เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อนเนื่องจากการปะทะกันของมวลอากาศร้อนและมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุม หรือแม่แต่ระแสลมซึ่งมีมวลอากาศที่มีคุณสมบัติต่างกัน อย่าง กระแสลมใต้ หรือตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอากาศร้อนและชื้นพัดผ่านทะเลมา และกระแสลมเหนือเป็นอากาศแห้งและเย็นพัดผ่านพื้นทวีปมา ก็อาจทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงได้ ทั้งนี้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนได้ แต่ก็น้อยกว่าภาคเหนือ-อีสาน


ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัยล่าสุด ฉบับที่ 4 เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 8-10 มีนาคม 2567

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงสำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

โดยจะมีผลกระทบดังนี้


วันที่ 9 มีนาคม 2567

- ภาคเหนือ: จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี
- ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

วันที่ 10 มีนาคม 2567

- ภาคเหนือ: จังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ หนองบัวลำภู ขอนแก่น นครราชสีมา และบุรีรัมย์
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
- ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี และสระบุรี


ข้อมูลจาก : มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทย , กรมอุตุนิยมวิทยา


https://www.springnews.co.th/keep-the-world/848457