PDA

View Full Version : "ชาวลิบง"วอน หยุดฆ่า"พะยูน"


สายน้ำ
28-02-2010, 08:17
"ชาวลิบง"วอน หยุดฆ่า"พะยูน"

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/02/hap03280253p1.jpg

"ตรัง" นอกจากจะเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในฐานะจังหวัดที่อุดมไปด้วยทรัพยากร ธรรมชาติอันสวยงามแล้ว ยังเป็นถิ่นอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของประเทศ

เพราะบริเวณนี้สมบูรณ์ไปด้วยหญ้าทะเล อาหารโปรดของพะยูน ทำให้แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาชมฝูงพะยูนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่รอบเกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง

แต่ต้นปีพ.ศ.2553 เป็นต้นมา ชาวบ้านเกาะลิบงต้องพบกับความเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อจู่ๆ พะยูน 2 ตัวก็มาเกยตื้นริมหาดบนเกาะลิบงและตายลงในเวลาไล่เลี่ยกัน

ตัวแรกเป็นพะยูนเพศเมีย อายุ 4 ปี ยาว 1 เมตร หนัก 120 กิโลกรัม ส่วนหางมีบาดแผลลึกฉกรรจ์ จากการโดนเครื่องมือประมงบาด จนไม่สามารถหากินได้และสิ้นใจตายในที่สุด

คล้ายภาพเดิมถูกฉายซ้ำๆ ถัดมาอีกเพียง 3 วัน พะยูนเพศเมีย อายุ 30 ปี ยาว 2.60 เมตร หนัก 300 กิโลกรัม ก็เกยตื้นริมหาดตายอีกตัวหนึ่ง ครั้งนี้นอกจากรอยขีดข่วนทั่วตัวแล้ว ยังถูกตัดเขี้ยวไปทั้ง 2 ข้าง เพื่อนำเอาไปขายทำเป็นเครื่องประดับ หรือเครื่องรางของขลังตามความเชื่อผิดๆ

ไม่เพียงแต่พะยูนเท่านั้น สัตว์ทะเลอีกหลายชนิดยังต้องมาสังเวยชีวิตเป็นจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งเต่าตนุแม่ลูกที่บาดเจ็บจากเบ็ดราวไวและอวนปลาใบ สิ้นใจตายด้วยกันทั้งคู่ และเต่าตนุเพศผู้ อายุกว่า 50 ปี ตายจากการถูกอวนปลากระเบนของชาวประมงต่างถิ่นบาดเข้าที่คอจนเห็นกระดูก

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/02/hap03280253p2.jpg

เฉพาะปีพ.ศ.2553 เต่าในท้องทะเลตรังรอบเกาะลิบง ถูกเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายคร่าชีวิตไปแล้วถึง 9 ตัว!

เหตุการณ์อันน่าสลดใจเหล่านี้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในท้องทะเลไทยได้บ้าง...

ผู้ใหญ่เชลล์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.เกาะลิบง บอกเล่าจากสายตาของคนในพื้นที่ว่า ขณะนี้มีการลักลอบจับสัตว์น้ำเกลื่อนทะเลตรัง โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่เคยสนใจเข้าจับกุม และอ้างว่าขาดคน ขาดงบประมาณ ทั้งๆที่อุปกรณ์ทำประมงแบบผิดกฎหมายเช่นนี้นอกจากเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำเล็กๆแล้ว บางชนิดยังเป็นอันตรายต่อสัตว์สงวนที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างพะยูน และเต่าทะเล ปีที่ผ่านมามีเต่าทะเลและพะยูนตายไปแล้วจำนวนมาก ทั้งจากการถูกล่าและโดยไม่ได้ตั้งใจ

ในขณะที่รุ่งโรจน์ เบ็ญหมูด หรือ "บังหมาน" ชาวบ้านเกาะลิบง แกนนำชาวประมงพื้นบ้าน และมัคคุเทศก์ประจำถิ่นร่วมให้ข้อมูลว่า เมื่อปีพ.ศ.2552 พบพะยูนถูกล่าตายไปแล้วถึง 26 ตัว ปีนี้ก็ตายลงไปอีก 2 ตัวต่อเนื่องกัน เชื่อว่าน่าจะเป็นการล่าตามใบสั่ง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบจัดการกับผู้ที่ลอบล่าพะยูนอย่างจริงจัง ก่อนที่สัตว์ประจำจ.ตรัง ชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเล

สถานการณ์ของสัตว์ทะเลดูเหมือนจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ และเมื่อความอดทน อดกลั้นของชาวบ้านสิ้นสุด เช้าวันหนึ่ง ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และนักเรียนในพื้นที่ จึงรวมตัวกันที่ชายหาดเกาะลิบง เพื่อทำพิธีละหมาดฮายัต ขอพรจากองค์พระอัลเลาะห์ ให้ดลใจให้กลุ่มคนเหล่านั้นเลิกการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและกลับใจเสีย ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาจะรวมตัวกันอีกครั้ง พร้อมทั้งวิงวอนพระเจ้าดลบันดาลให้เกิดความเสียหายกับคนเหล่านั้นอย่างไม่คาดคิด หากยังทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

http://www.khaosod.co.th/news-photo/khaosod/2010/02/hap03280253p3.jpg

วันเดียวกันนั้น พี่น้องชาวเกาะลิบงร่วมกันเดินขบวนชูป้ายผ้าขับไล่นักล่าพะยูน และอ่านคำแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมผู้ลักลอบทำประมงแบบผิดกฎหมายมาลงโทษอย่างจริงจังและเร่งด่วน

เนื่องจากขณะนี้ทรัพยากรในทะเลกำลังถูกทำลายอย่างหนักจากเครื่องมือประมง ขนาดใหญ่ รวมทั้งเครื่องมือประมงพื้นบ้านบางชนิด เช่น อวนลากเรือปั่นไฟปลากะตัก หรือปลาหมึกใกล้ชายฝั่ง

ขณะเดียวกัน กลุ่มประมงต่างถิ่นก็เข้ามาลักลอบจับพะยูน นำเขี้ยว กระดูก หรืออวัยวะต่างๆไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อทำยาบำรุงกำลังหรือเครื่องประดับ

ชาวเกาะลิบงแสดงความน้อยใจว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุร้ายขึ้นกับพะยูน คนที่ทราบข่าวมักประณามชาวเกาะลิบงว่าเป็นฆาตรกรฆ่าพะยูน ทั้งๆที่คนนอกพื้นที่เป็นคนเข้ามาหาผลประโยชน์ แต่ผลร้ายกลับตกกับชาวบ้านที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆเลย

ข้อเสนอของพวกเขา คือต้องการให้รัฐสนับสนุนชุมชนในการฟื้นฟูทรัพยากร เช่น การวางปะการังเทียมในเขตหญ้าทะเล และประกาศให้เครื่องมือประมงที่ส่งผลกระทบต่อพะยูน อย่างอวนปลากระเบน อวนทับตลิ่ง ไม้กระทุ้งน้ำ และเบ็ดราวไว เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

วิไลพร พริ้มทอง และเบบ หมาดหลี 2 ตัวแทนชาวบ้านเกาะลิบง ซึ่งเดือดร้อนจากการที่เครื่องมือประมงพื้นบ้านของตนถูกอวนลากต่างถิ่นทำลาย กล่าวทั้งน้ำตาคลอเบ้าว่า ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พวกเราต้องสูญเสียเครื่องมือประกอบอาชีพไป และต้องกู้หนี้ยืมสินมาซื้อเครื่องมือใหม่ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยสนใจกวาดล้างจับกุม ปล่อยให้เครื่องมือประมงขนาดใหญ่เข้ามาทำร้ายชาวบ้านถึงถิ่น ทางจังหวัดก็ทราบดีแต่ไม่เคยแก้ปัญหาเพราะเอาแต่เกี่ยงกัน

เช่นเดียวกับ ฮัจยีห์โชติ อับดุลกะเดช อดีตโต๊ะอิหม่ามมัสยิดเกาะลิบง บอกว่า ปัญหานี้ชาวบ้านเคยสะท้อนให้ทางจังหวัดทราบแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ยังปล่อยให้พะยูน เต่าทะเล และสัตว์ทะเลเล็กๆ ตายได้ทุกวัน จังหวัดและรัฐบาลอยากให้ชาวบ้านจับปืนแล้วออกไล่ล่ากลุ่มคนที่สร้างปัญหาให้ ด้วยตนเองอย่างนั้นหรือ

แม้แต่ 2 มัคคุเทศก์น้อยอย่างน้องมะเล็ก นักเรียนชั้น ม.2 และน้องลิป นักเรียนชั้นม.4 โรงเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ ก็รู้สึกห่วงใยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของพวกเขา ทั้งคู่อยากให้ประกาศให้เกาะลิบงเป็นเขตหวงห้ามทำประมงทุกชนิด เพื่อไม่ให้รบกวนที่อยู่ของพะยูน และประกาศให้ที่นี่เป็นแหล่งชมพะยูนที่สำคัญของจังหวัดต่อไป

เป็นเสียงสะท้อนจากคนตัวเล็กๆ ที่อยากให้ทะเลไทยยังเป็นบ้านที่อบอุ่นของพะยูนเหมือนที่ผ่านมา



จาก : ข่าวสด วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553

Super_Srinuanray
28-02-2010, 08:41
อ่านแล้วสะเทือนใจ.....ปัญหาโลกแตกของกลุ่มผู้เห็นแก่ตัวกลุ่มนึงเท่านั้น

แต่ไอ้กลุ่มนี้ มันเหมือนจะกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆๆ ของ สังคม ของชุมชน

เมื่อไรมันจะหมดไป อยากให้ธรณีสูบพวกเห็นแก่ได้พวกนี้ไปให้หมดจากโลกจริงๆๆ เลย