PDA

View Full Version : ปลาโนรี ธงทิวใต้ทะเลลึก


สายน้ำ
17-03-2010, 07:53
ปลาโนรี ธงทิวใต้ทะเลลึก โดย วินิจ รังผึ้ง

http://pics.manager.co.th/Images/553000003924301.JPEG

ในบริเวณแนวปะการังที่เราดำน้ำกันบ่อยๆ มักจะพบเจ้าปลาที่มีสีสันสดใส ลวดลายสวยงาม ตัวขนาดฝ่ามือ ว่ายวนเวียนไปมา แวะตอดแวะตอมไปตามกิ่งก้านปะการัง ราวกับผีเสื้อแสนสวยที่โบยบินตอมดอกไม้ในผืนป่า ด้วยสีสันอันสดใสและกิริยาอาการดังกล่าว ปลากลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่าปลาผีเสื้อหรือ Butterflyfish อยู่ในครอบครัว Chaetodontidae ซึ่งเป็นปลาที่มีญาติพี่น้องในกลุ่มเดียวกันนับร้อยชนิด พบได้ทั้งทะเลฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ซึ่งในเมืองไทยมีรายงานการพบราว 40 ชนิด โดยทางฝั่งทะเลอันดามันจะพบได้มากชนิดกว่า

ปลาในกลุ่มที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาผีเสื้อก็คือกลุ่มปลาสินสมุทร จะใหญ่กว่า แต่ก็มีปลาสินสมุทรหลายชนิดที่ตัวใกล้เคียงหรือเล็กกว่าปลาผีเสื้อ แต่การแยกชนิดปลาทั้งสองออกจากกันได้ง่ายๆ โดยสังเกตตรงที่ปลาสินสมุทรทุกตัวจะมีเงี่ยงใต้แก้มหรือบริเวณกระบังเหงือก ในขณะที่ปลาผีเสื้อจะไม่มีเงี่ยงดังกล่าว

ปลาผีเสื้อส่วนใหญ่มีลำตัวรูปร่างแบนทรงรูปไข่ ปากเล็กยื่นยาวไปข้างหน้า บางชนิดก็มีปากยื่นยาวแหลม เหมาะสำหรับการตอดกินปะการังและสัตว์ทะเลขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ตามซอกหลืบ ปะการัง ปลาผีเสื้อจะออกหากินเป็นคู่ๆในตอนกลางวันโดยจะว่ายคลอเคลียกันไปอย่างน่าอิจฉา ชนิดที่มีคำเตือนว่านักดำน้ำที่กำลังอกหักไม่ควรมอง เพราะอาจจะกระทบกระเทือนต่อจิตใจได้ บางชนิดอาจพบเป็นกลุ่มย่อย ๆ ไม่เกิน 10 ตัว นานๆครั้งจะพบการรวมกลุ่มเป็นฝูงใหญ่ๆ 20-30 ตัวสักครั้ง เช่นปลาผีเสื้อคอขาว

http://pics.manager.co.th/Images/553000003924302.JPEG

แนวปะการังอันกว้างใหญ่ใต้ท้องทะเลคราม ปลาผีเสื้อนับเป็นตัวสร้างสีสันและความมีชีวิตชีวาให้กับแนวปะการังเป็นอย่างยิ่งและหนึ่งในกลุ่มปลาผีเสื้อที่โดดเด่นก็คือ “ปลาโนรี” ซึ่งเป็นปลาผีเสื้อในกลุ่มปลาผีเสื้อที่มีสีสันลวดลายสวยงามสะดุดตา มีรูปทรงของลำตัวที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยรูปทรงของลำตัวที่แบนและกว้าง จงอยปากทู่ยื่นออกไปข้างหน้าเล็กน้อย ครีบหลังที่มีก้านแข็งราว 11-12 อัน โดยมีครีบอันที่ 4 ตั้งยาวพลิ้วโดดเด่น ลำตัวสีขาวมุก คาดดำ ครีบหลังและหางมีสีเหลือง

ปลาโนรีที่เราพบเห็นกันบ่อยตามแนวปะการังก็คือ ปลาโนรีครีบยาว (Longfin Bannerfish) ที่มีครีบหลังตั้งยาวโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ปลาโนรีครีบยาวนั้นเมื่อว่ายน้ำไปทางไหนก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนโดดเด่น ยิ่งเมื่อรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่นับร้อยตัวด้วยแล้ว เมื่อยามที่มันว่ายน้ำเคลื่อนขบวนไปทางไหนก็จะมองดูเหมือนธงทิวปลิวไสว ลำตัวสีขาวคาดดำสลับสีเหลืองสดใสเมื่อตัดกับสีฟ้าครามยิ่งดูงดงามสะดุดตา

ปลาโนรีที่พบได้บ่อยอีกชนิดหนึ่งก็คือ ปลาโนรีครีบสั้น (Singular Bannerfish ) ซึ่งมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าโนรีครีบยาว แต่ครีบบนหลังสั้นกว่าและมีสีออกเหลืองเข้มกว่า แต่มีปริมาณน้อยและพบเห็นได้ยากกว่าปลาโนรีครีบยาว และอีกชนิดเป็นปลาโนรีหน้าหักหรือโนรีเขา (Phantom Bannerfish )ซึ่งมีเขาหรือนอแหลมยื่นออกมาบนหน้าผากเหนือดวงตา มีแต่ครีบแข็งตั้งบนหลัง ไม่มีครีบยาวยื่นออกมา ปลาโนรีชนิดนี้มีสีออกน้ำตาลคาดขาวดำ และค่อนข้างจะหายากกว่าปลาโนรีทั้งสองชนิดข้างต้น

http://pics.manager.co.th/Images/553000003924303.JPEG

ปลาโนรีครีบสั้น กับปลาโนรีหน้าหักนั้น บางคนอาจจะไม่นึกว่าเป็นปลาโนรี เพราะรูปร่างหน้าตาไม่ค่อยสวยงามเหมือนเช่นปลาโนรีครีบยาว และสีสันยังดูหม่นมอ ซ้ำยังชอบอาศัยอยู่ตามกองหินหรือแนวปะการังที่มีสภาพน้ำขุ่นกว่าปลาโนรีครีบยาว ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยกลับไปเข้าใจว่าปลาที่มีรูปร่างหน้าตาและมีสีสัน เหมือนกับปลาโนรีครีบยาวและมักเข้าใจผิดว่ามันเป็นปลาโนรีเช่นกัน นั่นคือ ปลาผีเสื้อเทวรูป ซึ่งมีหน้าตา สีสันลวดลายบนลำตัวเหมือนปลาโนรีครีบยาวมาก แต่ปลาผีเสื้อเทวรูปก็ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มปลาโนรี ด้วยมีความแตกต่างกันตรงที่ปลาผีเสื้อเทวรูปจะมีผิวหนังละเอียดเป็นมันวาว ลักษณะใกล้เคียงกับปลาขี้ตังเบ็ดฟ้า ในขณะที่ปลาโนรีครีบยาวจะมีเกล็ดที่มองเห็นได้ชัดเจนกว่า

เราจะพบปลาโนรีได้ตามกองหิน หรือแนวปะการังในระดับความลึกตั้งแต่ 2-70 เมตร ปลาโนรีชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลที่ใสสะอาด และเป็นปลาที่ชอบว่ายอยู่กลางน้ำ หรือว่ายอยู่เหนือแนวปะการัง ไม่ชอบว่ายซอกซอนไปตามแนวปะการังเหมือนปลาผีเสื้อชนิดอื่นๆ ปลาโนรีที่รวมฝูงมักจะชอบว่ายเวียนตามกันไป บางครั้งเมื่อตัวหนึ่งว่ายเข้าไปติดในลอบที่ชาวประมงดักไว้ พรรคพวกที่เหลือก็มักจะว่ายตามเข้าไปติดลอบกันทั้งฝูง แต่ชาวประมงที่วางลอบส่วนใหญ่ก็จะเน้นดักปลาที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ ดังนั้นเมื่อกู้ลอบติดปลาโนรีขึ้นมาก็มักจะจับโยนทิ้งให้แห้งตายโดยไม่ได้นำไปทำประโยชน์อะไร

ด้วยสีสันและรูปทรงที่สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ปลาโนรีจึงมักถูกจับขึ้นมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ ตามบ้านเรือนหรือเลี้ยงไว้โชว์ในอควาเรียม แต่ปลาชนิดนี้ก็ชอบใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติ มันต้องการอาณาเขตของการว่ายเวียนหากินในผืนน้ำกว้าง และชอบหากินอาหารอันหลากหลายตั้งแต่โพลิบของปะการัง กุ้งปลาขนาดเล็ก ไปจนถึงแมงกะพรุนที่ล่องลอยอยู่กลางน้ำ เมื่อนำมาเลี้ยงในตู้โอกาสรอดชีวิตจึงแทบไม่มี ทางที่ดีจึงควรปล่อยให้ปลาสวยงามเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างเสรีในท้องทะเลกว้าง เมื่อคิดถึงจึงค่อยแวะมาดำลงไปชื่นชมจะดีกว่า



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 มีนาคม 2553

ดอกปีบ
17-03-2010, 08:44
เป็นอีกหนึ่งในปลาตัวโปรดเลยทีเดียวครับ เวลาดำน้ำแล้วเห็นปลาโนรีว่ายกระจายทั่วท้องน้ำ สวยงามอย่าบอกใคร เป็นเหมือนธงราวใต้ทะเลอย่างที่คุณวินิจว่าไว้จริงๆ

ตุ๊กแกผา
17-03-2010, 08:59
คิดถึงการดำน้ำตัดอวนล่าสุด.....ที่ช่วยกันกับพี่ภา (แบบว่าเราชี้ พี่ภาตัดอ๊ะค่ะ เพราะแขนยาวกว่า)ตัดอวนที่พันเจ้าพวกนี้ให้กลับมาว่ายน้ำได้อย่างอิสระอีกครั้ง เป็นสมาชิกของธงราวใต้ทะเลอีกตัวหนึ่ง.....เฮ้อ!!!!ชื่นใจ

-Oo-
17-03-2010, 09:30
ขอบคุณบทความดีๆ ที่เอามาโพสท์ให้อ่านค่ะ

Nuu-TaHn
17-03-2010, 13:51
อยากเห็นโนรี คลีบยาว ว่ายเป็นฝูงใหญ่ๆเหมือนในรูปบ้างจังค่ะ....

ตุ๊กแกผา
26-03-2010, 08:46
คราวหน้าก็ลงน้ำตัดอวนกะพี่ๆใหมาสิจ๊ะนู๋....อิอิ

รับรองเห็นแน่ๆเลย......ไม่เชื่อถามครูดูสิ (แน๊ะๆๆๆๆๆ มีอ้างครูด้วยแหล่ะ)

สายชล
26-03-2010, 10:09
ใช่จ้ะ....ฝูงปลาโนรีเห็นได้ไม่ยากเลยในทะเล


ดูสองภาพนี้ที่สิมิลันเป็นตัวอย่างนะจ๊ะ....


http://www.saveoursea.net/boardapr2007/index.php?action=dlattach;topic=555.0;attach=9416;image



http://www.saveoursea.net/boardapr2007/index.php?action=dlattach;topic=555.0;attach=9418;image

อะแฮ่ม....ดูปลาโนรีจ้ะ....ไม่ใช่ให้ดูแหน่มที่กำลังดูปลาโนรีอยู่นะจ๊ะหนุ่มๆทั้งหลาย...