SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=6545)

สายน้ำ 26-01-2024 02:37

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงยังคงปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้ากับมีลมแรง ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงให้ระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากอากาศแห้งและลมแรง

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกให้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง สำหรับคลื่น ลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และบริเวณทะเลอันดามันทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 27 ม.ค. 67 นี้ไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันลดลง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังแรงขึ้น


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 26 - 27 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่ในช่วงวันที่ 25 ? 28 ม.ค. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 28 ? 31 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 - 3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า

สำหรับอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันตอนบน ในช่วงวันที่ 26 - 27 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 28 ? 31 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1?2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 26 ? 28 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง รวมถึงให้ระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากอากาศแห้งและลมแรง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

ส่วนช่วงวันที่ 28 ? 31 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย

สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 25 - 27 ม.ค. 67 นี้ไว้ด้วย



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง คลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยตอนล่างและทะเลอันดามัน ฉบับที่ 8 (19/2567) (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 26-27 มกราคม 2567)

มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังคอนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และบริเวณทะเลอันดามันทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 27 มกราคม 2567 นี้ไว้ด้วย



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 26-01-2024 03:16

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


สหรัฐฯเร่งช่วยเต่าทะเลนับร้อย ตัวแข็งเกยหาด เหตุอากาศหนาวเย็นจัด

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

นักวิจัยในสหรัฐฯเร่งช่วยเหลือเต่าทะเลที่มีภาวะตัวแข็ง ขึ้นมาเกยชายหาดในรัฐนอร์ท แคโรไลนา รวม 109 ตัว โดยสามารถช่วยชีวิตไว้ได้เพียง 36 ตัวเท่านั้น

สภาพอากาศหนาวเย็นจัดในรัฐนอร์ท แคโรไลนาของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบไปถึงสัตว์ในทะเล โดยพบเต่าทะเลนับร้อยตัวขึ้นมาเกยตื้นอยู่บนชายหาดโดยมีสภาพตัวแข็งไม่สามารถขยับร่างกายได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ท แคโรไลนา ต้องเร่งเข้าช่วยเหลือและนำเต่าทะเลที่พบมาที่ศูนย์เพื่อให้ความอบอุ่น และช่วยฟื้นฟูร่างกาย แต่พบว่ามีเต่าเพียง 36 ตัวเท่านั้นที่รอดชีวิต ขณะที่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยก็พบเต่าจำนวนมากที่เผชิญภาวะนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในเฟซบุ๊กของอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ อธิบายสาเหตุของเหตุการณ์นี้ว่า เมื่อเต่าทะเลเผชิญกับภาวะหนาวเย็นเฉียบพลัน มันจะไม่สามารถว่ายน้ำหรือกินอาหารได้ เนื่องจากอุณหภูมิในร่างกายของมันจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ที่อุณหภูมิลดต่ำลง พวกมันอาจเซื่องซึม และมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติได้ และมักจะถูกคลื่นและกระแสลมพัดมาเกยตื้นบ่อยครั้ง ซึ่งแม้ว่าพวกมันจะตัวแข็งจนดูเหมือนตายแล้ว แต่ส่วนใหญ่มันอาจจะยังมีชีวิตอยู่ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนหากพบเต่าในลักษณะนี้ อย่าพยายามผลักมันกลับสู่ทะเล เพราะจะทำให้เต่ามีโอกาสตายได้ แต่ให้รีบโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์เต่าทะเลในพื้นที่ให้ทำการช่วยเหลือจะดีที่สุด เพราะเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบและให้ความอบอุ่นพวกมันอย่างถูกวิธี ก่อนที่จะรักษาอาการบาดเจ็บ รวมทั้งติดไมโครชิพ ก่อนส่งพวกมันกลับคืนสู่ทะเล หลังจากสภาพอากาศอุ่นขึ้นต่อไป.

ที่มา : CBS


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2757952



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:59

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger