SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5016)

สายน้ำ 02-01-2020 04:21

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส บริเวณพื้นราบของภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส ยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนภาคใต้มีฝนน้อย สำหรับอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 4 ม.ค. 63

ในช่วงวันที่ 3 - 5 ม.ค. 63 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงได้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากสภาพอากาศที่แปรปรวนไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วน กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 2 ? 7 ม.ค. 63 ประเทศไทยตอนบนอุณภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส บริเวณพื้นราบของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 3-11 องศาเซลเซียส สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยในช่วงวันที่ 1 - 4 ม.ค. 63 บริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 ม.ค. 63 บริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 4 ม.ค. 63




https://lh3.googleusercontent.com/0y...B=w887-h642-no

https://lh3.googleusercontent.com/ha...P=w532-h750-no

สายน้ำ 02-01-2020 05:00

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


"ปาเลา" ประเทศแรกแบน "ครีมกันแดด" เป็นพิษต่อแนวปะการัง

"ปาเลา" ประเทศแรกของโลกที่ออกกฎหมายแบนครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตราย 10 ชนิด เช่น oxybenzone และ octinoxate เนื่องจากเป็นอันตรายต่อแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยมีผลบังคับใช้วันนี้ (1 ม.ค.2563) เป็นวันแรก

https://lh3.googleusercontent.com/cX...C=w700-h394-no

วันนี้ (1 ม.ค.2563) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า "ปาเลา" ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกได้กลายเป็นประเทศแรกที่ยกเลิกการใช้ครีมกันแดดที่เป็นอันตรายต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยตั้งแต่วันนี้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายอย่างสารเคมีสำหรับป้องกันรังสียูวี "ออกซิเบนโซน" (oxybenzone) จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้หรือจำหน่ายในประเทศ

ทอมมี เรเมนเจเซา ประธานาธิบดีปาเลา ระบุว่า "เราต้องเคารพสิ่งแวดล้อมเพราะสิ่งแวดล้อมเป็นรากฐานของชีวิต"

การยกเลิกการใช้ครีมกันแดดในครั้งนี้ เป็นการบังคับใช้กฎหมายจากประกาศในปี 2561 ที่ห้ามมิให้นำเข้าครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมี 10 ชนิด สำหรับผู้ค้าปลีกที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 1,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 29,000 บาท ซึ่งสารเคมี 10 ชนิด ประกอบด้วย

- Oxybenzone (benzophenone-3)
- Ethyl paraben
- Octinoxate (octyl methoxycinnamate)
- Butyl paraben
- Octocrylene
- 4-methyl-benzylidene camphor
- Benzyl paraben
- Triclosan
- Methyl paraben
- Phenoxyethanol

ขณะที่มูลนิธิแนวปะการังระหว่างประเทศ ระบุว่า สารเคมีต้องห้ามเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่รู้จักกันดี ส่วนใหญ่เป็นพิษอย่างไม่น่าเชื่อต่อชีวิตของสัตว์ป่าหลายชนิด

ประธานาธิบดีปาเลา บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เมื่อวิทยาศาสตร์บอกกับเราว่า สารเคมีกำลังสร้างความเสียหายให้กับแนวปะการัง ประชากรปลา รวมถึงมหาสมุทรเอง ชาวปาเลาก็ควรจะตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวและทำเป็นแบบอย่างเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติตามเช่นกัน

"เราไม่กังวัลที่จะเป็นประเทศแรกที่ห้ามใช้สารเคมีเหล่านี้ในครีมกันแดดและเราจะทำหน้าที่ของในการประกาศเรื่องนี้ต่อสาธารณะ"

ทั้งนี้ ในปี 2561 ผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยว่า จำนวนครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่งของครีมและโลชั่นทั้งหมด ขณะที่รัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา ก็มีประกาศห้ามที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 เช่นเดียวหมู่เกาะแคริบเบียนของเนเธอร์แลนด์ ในโบแนร์ รวมถึงหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา ที่กฎหมายแบนสารเคมีอันตรายในครีมกันแดดจะมีผลบังคับใช้ในเดือน มี.ค.นี้


https://news.thaipbs.or.th/content/287550


สายน้ำ 02-01-2020 05:07

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


มองย้อน 5 ประเด็นร้อนสิ่งแวดล้อมปีหมู การพัฒนาที่ไร้ความยั่งยืนยังเป็นปัญหาหลัก

เพียงอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าเราก็กำลังจะก้าวข้ามสู่ศักราชใหม่กันแล้ว สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมจึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมมองย้อนประเด็นความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม 5 ด้าน ในปี พ.ศ.2562 ไปด้วยกัน เพื่อที่เราจะได้ทบทวนสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่วนใหญ่ยังคงยืดเยื้อ และเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน

https://lh3.googleusercontent.com/Gk...K=w524-h700-no
ซากเต่าทะเลที่พบลอยเกยตื้นในจ.ชลบุรี //ขอบคุณภาพจาก: ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ


5. สารพันปัญหาขยะ จากขยะในท้องสัตว์ทะเล สู่การนับถอยหลังแบนขยะพลาสติก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญของสังคมไทยคือปัญหาขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขยะในทะเล ที่ไทยเคยติดอันดับ 6 ประเทศที่ก่อขยะในทะเลมากที่สุด จากการจัดอันดับเมื่อปี พ.ศ.2560 อย่างไรก็ดีในปีนี้ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะไม่น้อยไปกว่าเก่า โดยเฉพาะปัญหาจากขยะในทะเล ขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้า

เริ่มกันด้วยประเด็นปัญหาขยะในทะเล และการตายของสัตว์ทะเลหายากอาทิ เต่า วาฬ และพะยูน โดยในปีนี้พบว่ามีสัตว์ทะเลหายากเข้ามาติดตื้น ป่วย และตาย จากการกินขยะพลาสติกเข้าไปเป็นจำนวนสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆมาอย่างเห็นได้ชัด (อ่านต่อ: เศร้า! ขยะทะเลดับชีวิตเต่า 13 ตัว ในช่วงเวลาแค่ 2 วัน "ดร.ธรณ์" ย้ำถึงเวลาลดขยะพลาสติกอย่างจริงจัง) พะยูนน้อย 'มาเรียม' ถือเป็นหนึ่งในเคสที่สร้างความสะเทือนใจให้กับคนรักษ์สิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยหลังจากเจ้าหน้าที่ได้ช่วยลูกพะยูนพลัดหลงแม่ที่ จ.กระบี่ และนำมาอนุบาลจนมาเรียมสามารถกลับคืนทะเลได้ กระนั้นเมื่อเดือนสิงหาคม ลูกพะยูนขวัญใจชาวไทยกลับป่วยและเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน ผลการชันสูตรโดยทีมสัตวแพทย์ชี้ชัดว่ามีถุงพลาสติกหลายชิ้นอุดตันลำไส้จนอักเสบ

นอกจากข่าวการตายของสัตว์ทะเลจากขยะพลาสติกแล้ว ในปีนี้เรายังพบหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงภัยคุกคามของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ โดยเมื่อเดือนกันยายน ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง รายงานว่าได้พบไมโครพลาสติกในปลาทูไทย ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลกระทบจากขยะในทะเลไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับผู้สคนในสังคมอีกต่อไป

อย่างไรก็ดีในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างต่อเนื่องจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงนามร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนใน ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน หรือการประกาศโครงการ Everyday Say No To Plastic Bags งดการแจกถุงพลาสติกใน 75 แบรนด์ค้าปลีกในไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

ถึงแม้ว่า ในปีนี้เราจะเห็นภาพการร่วมมือกันจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ กระนั้นเรายังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับขยะอีกหลายประเด็น เช่น ปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังรอการแก้ไขอย่างจริงจังเช่นกัน

https://lh3.googleusercontent.com/_V...3=w700-h525-no
ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า รวมตัวกันหน้าศาลจังหวัดลำปาง ก่อนหน้าการอ่านคำตัดสินคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม //ขอบคุณภาพจาก: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ


4. ปัญหาที่ดินป่าไม้ เรื่องคาราคาซังที่มีหลายมาตรฐาน?

นับตั้งแต่การประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยรัฐบาลคสช.เมื่อปี พ.ศ.2557 ประเด็นการยึดคืนพื้นที่รุกเขตป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนข้ามปีที่ไม่มีทีท่าว่าจะเสียอันดับไปง่ายๆ เช่นเดียวกับปี พ.ศ.2562 ประเด็นความขัดแย้งจากการยึดคืนพื้นที่บุกรุกในเขตป่าสงวน ? อุทยานแห่งชาติ ยังคงระอุ ท่ามกลางข้อโต้แย้งถึงการเลือกปราบปรามชุมชน คนตัวเล็กตัวน้อยในเขตป่า มากกว่าการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มนายทุนใหญ่ที่รุกพื้นที่ป่าที่ปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนในปีนี้

หนึ่งในเรื่องที่เป็นข้อครหามากที่สุดของปีในประเด็นปัญหาที่ดินป่าไม้ได้แก่ กรณีฟาร์มไก่ ของ เอ๋ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่นับตั้งแต่เรื่องแดงขึ้นมาเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จนถึงบัดนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการดำเนินการเอาผิดกับปารีณาได้

จากประเด็นดังกล่าว ได้มีการนำกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าบุกยึดคืนพื้นที่ ดำเนินการเอาผิดชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวน ? อุทยานแห่งชาติหลายคดี ที่พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้บุกรุกใหม่ แต่เป็นผู้อาศัยในเขตป่ามานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนการประกาศเขตป่าสงวน ? อุทยานแห่งชาติ แต่การดำเนินการเอาผิดกับคนกลุ่มนี้กลับทำอย่างว่องไว ผิดกับคดีบุกรุกป่าของนักการเมือง หรือนายทุนใหญ่ โดยเฉพาะกรณีการทวงคืนผืนป่าที่บ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ซึ่งศาลได้ตัดสินให้ชาวบ้าน 14 คนต้องโทษจำคุก จากคดีรวมกันทั้งสิ้น 19 คดี

ผลกระทบจากการเร่งรัดดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่ากับกลุ่มชาวบ้านไร้ที่ดิน ยังนำไปสู่ปัญหาสังคมมากมาย และสร้างผลกระทบรุนแรงต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่แอบอิงอาศัยกับทรัพยากรมาเนิ่นนาน กรณีปัญหาการทวงคืนผืนป่า ตามเป้าหมายขยายพื้นที่ป่าของประเทศให้ได้ถึง 40% ตามนโยบายของรัฐบาล จึงยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังที่ยังคงแก้ไม่ตกจนถึงบัดนี้

https://lh3.googleusercontent.com/rG...7=w700-h525-no
หมอกควันมลพิษหนาทึบปกคลุมกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 29 กันยายน // สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์


3. ภัยเงียบฝุ่น PM2.5 ยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย

นับตั้งแต่ต้นปี ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยสังเกตได้ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นหมอกควันหนาทึบที่ห่มทับหลายหัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ตลอดจนถึง กรุงเทพมหานคร โดยสถานการณ์ฝุ่นควันมีความสาหัสที่สุดในช่วงระหว่างฤดูแล้งตั้งแต่ ปลายเดือนธันวาคมของปีก่อนหน้า เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม เมื่อฤดูฝนมาถึง จะสังเกตได้ว่าช่วงเวลาประสบปัญหาจากฝุ่น PM2.5 ในช่วงต้นปีของปีนี้มีความยาวนานขึ้นอย่างชัดเจน

กระนั้น สภาพปัญหามลพิษจากฝุ่นควัน PM2.5 ก็ยังไม่จางหายไปจากสังคมไทยเสียทีเดียว ย่างเข้าเดือนกันยายน ปัญหาหมอกควันย้อนกลับมาอีกครั้ง คราวนี้ที่ภาคใต้ และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ฝุ่นควัน PM2.5 ก็กลับมาปกคลุมกรุงเทพมหานครเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆอีกครั้ง

ล่วงไปจนถึงย่างเข้าฤดูแล้งช่วงปลายปี สถานการณ์ฝุ่นควันสาหัสก็กลับมาเยือนกรุงเทพมหานคร และหลายพื้นที่ในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือตามคาดหมาย ชี้ให้เห็นว่ามาตรการต่างๆของภาครัฐที่เร่งทยอยออกมาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ ดังจะเห็นได้จาก ความล่าช้าในออกมาตรการรับมือฝุนควันของแต่ละท้องที่ จนทำให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยง หรือแม้กระทั่งมาตรการที่ออกมายังเน้นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยยังไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการจัดการปัญหาที่ต้นเหตุนัก นอกจากนี้มาตรการแจ้งเตือนสภาพอากาศของทางภาครัฐก็ยังไม่เหมาะสมกับการเตือนภัยในสภาพความเป็นจริงนัก จนทำให้ประชาชนยังต้องพึ่งพาแอปพลิเคชันตรวจเช็คคุณภาพอากาศเอกชนในการป้องกันตนเองจากสถานการณ์ฝุ่นควันพิษ

จากสถานการณ์ที่กล่าวมา จึงพอสรุปได้ว่าสถานการณ์หมอกควัน PM2.5 ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป


(มีต่อ)


สายน้ำ 02-01-2020 05:13

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


มองย้อน 5 ประเด็นร้อนสิ่งแวดล้อมปีหมู การพัฒนาที่ไร้ความยั่งยืนยังเป็นปัญหาหลัก ........ (ต่อ)

https://lh3.googleusercontent.com/hg...m=w621-h518-no
ภาพถ่ายดาวเทียมพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากิบิส จากเว็บไซต์ https://www.windy.com


2. ท่วมแล้งรุนแรงพร้อมๆกัน สภาพอากาศแปรปรวนป่วนทั่วทุกภูมิภาค

เป็นที่ชัดเจนจากสถานการณ์สภาพอากาศที่แปรปรวนผิดปกติไปทั่วโลกว่าปีนี้เป็นปีเราประสบกับผลพวงจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยประสบมา ทั้งจากเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ในป่าอเมซอน ไฟป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลียที่คุกคามถิ่นอาศัยของโคอาล่า จนสัตว์สัญลักษณ์ของออสเตรเลียชนิดนี้ตกในสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ยิ่งขึ้น ไปจนถึงพายุรุนแรงหลายลูกที่พัดเข้าถล่มญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องช่วงกลางปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์ความแปรปรวนของภูมิอากาศโลกกระทบถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน โดยตั้งแต่ต้นปี ไทยก็ต้องพบกับพายุโซนร้อน ?ปาบึก? พัดถล่มชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกในเดือนมกราคม นับเป็นพายุลูกแรกที่พัดถล่มพื้นที่นี้นับตั้งแต่มีการบันทึกประวัติการเกิดพายุในไทย

ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศยังไม่หยุดอยู่เท่านั้น เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนแต่กลับกลายเป็นว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนกลับตกน้อยผิดปกติเป็นประวัติการณ์เช่นกัน สภาวะภัยแล้วรุนแรงยังส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้ประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องประสบกับสภาวะขาดแคลนน้ำอย่างหนักตั้งแต่ยังไม่หมดฤดูมรสุม

จากสถานการณ์ความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากสภาวะโลกร้อน และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการนานาชาติว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ และเวลาในการแก้ไขสถานการณ์กำลังหมดไปทุกที

อย่างไรก็ดี เรายังไม่เห็นท่าทีที่กระตือรือร้นนักจากภาครัฐในการเร่งผลักดันแผนลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมายข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือแม้แต่ภาครัฐไทยเองก็ยังไม่มีการปรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) ของตน ให้มีความท้าทายยิ่งขึ้น เพื่อเติมช่องโหว่ของความพยายามลดก๊าซเรือนกระจก (emission gap) ที่ยังถ่างกว้าง ซ้ำร้ายยังมีความพยายามจากภาคอุตสาหกรรมที่ยังผลักดันให้เกิดโครงการที่ส่งผลเสียต่อเป้าหมายการลดโลกร้อน

วิกฤตสภาวะโลกร้อนจึงเป็นเรื่องร้อนที่ชาวโลกยังต้องจับตา และเร่งหาทางแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุดก่อนที่อนาคตของเราจะตกอยู่กับความไม่แน่นอนเช่นเดียวกับสภาพภูมิอากาศโลก

https://lh3.googleusercontent.com/ju...j=w700-h525-no
สภาพแม่น้ำโขงลดต่ำผิดฤดูกาลเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม เผยให้เห็นป่าไคร้กลางแม่น้ำโขงแหังตายเพราะผลจากการขึ้นลงอย่างผิดปกติของแม่น้ำโขงในปีที่ผ่านมา //ขอบคุณภาพจาก: Chainarong Setthachua


1. เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าและการพัฒนาขนานใหญ่ ต้นตอแม่น้ำโขงวิบัติ

ปี พ.ศ.2562 นับได้ว่าเป็นปีที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนนานาชาติที่เข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายประธาน ทั้งจากการทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเขื่อนไชยะบุรีในเดือนเมษายน และเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าส่งขายไทยอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ความคืบหน้าโครงการเขื่อนดอนสะโฮงที่มีแผนจ่ายไฟไปยังกัมพูชาในเดือนมกราคมนี้ หรือการประกาศเตรียมสร้างเขื่อนหลวงพระบาง อันจะเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าโครงการล่าสุดบนลำน้ำโขงเมื่อเดือนตุลาคม

ความเคลื่อนไหวในวงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในปีที่ผ่านมา สอดรับกับสภาพความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยพบว่าการขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีความผันผวนรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่ระดับน้ำโขงลดลงต่ำสุดในรอบ 50 ปี ทั้งๆที่อยู่ในช่วงฤดูฝน และแม่น้ำยังคงมีความผันผวนรุนแรงไปจนตลอดทั้งปี

จากสภาพการณ์ความผันผวนรุนแรงของกระแสน้ำในแม่น้ำโขง ทำให้ระบบนิเวศของแม่น้ำเกิดความเสียหายอย่างหนัก ปลาจำนวนมากติดตื้นแห้งตาย ไม่สามารถว่ายน้ำขึ้นไปวางไข่ในฤดูน้ำหลากได้ จนสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงปีที่ผ่านมาเรายังได้เห็นปรากฎการณ์ที่แม่น้ำโขงเปลี่ยนสี จากสีปูนขุ่น กลายเป็นสีฟ้าคราม ซึ่งชี้ให้เห็นผลกระทบต่อการไหลของตะกอนจากการสร้างเขื่อนอย่างชัดเจน เนื่องจากน้ำใสปราศจากตะกอนดังกล่าวจะกัดเซาะพาเอาตะกอนออกจากตลิ่งและท้องน้ำเพื่อคืนสมดุลตะกอน นำไปส่การพังทลายของตลิ่งในที่สุด

จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบต่อเนื่องจากการสร้างและดำเนินการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำโขง กำลังทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำโขง อันเป็นฐานทรัพยากรสำคัญที่อุ้มชูผู้คนหลายสิบล้านคน ตลอดสองฝั่งแม่น้ำใน 5 ประเทศ ใกล้ถึงจุดแตกหักเข้าไปทุกที จนอาจสร้างภัยร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต หากแต่ยังไม่มีทีท่าว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคจะทบทวนแผนการลงทุนเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำโขง และลงมือแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมจึงเลือกให้กรณีแม่น้ำโขงวิบัติให้เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สาหัสที่สุดในปี พ.ศ. 2562 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้


https://greennews.agency/?p=19958



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:17

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger