SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   รวมเรื่องราวเกี่ยวกับ ..... ปะการังเทียม (2) (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=182)

สายน้ำ 09-07-2009 07:48

รวมเรื่องราวเกี่ยวกับ ..... ปะการังเทียม (2)
 


ลิ๊งค์จากกระทู้เก่า

http://www.saveoursea.net/boardapr20...hp?topic=941.0


สายน้ำ 09-07-2009 07:50


วางซั้ง อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล


สำนักราชเลขาธิการ มูลนิธิพระดาบส สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ร่วมกับจังหวัดนราธิวาสและราษฎรบ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จัดทำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลตาม พระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยการนำซั้งปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ

ทั้งนี้ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย และ พลเรือเอกชุมพล ปัจจุสานนท์ องคมนตรี รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และคณะกรรมการมูลนิธิพระดาบส ร่วมทำพิธีปล่อยขบวนเรือกอและ จำนวน 150 ลำ ออกทะเลเพื่อปล่อยซั้งที่ความลึก 5-15 เมตร ห่างจากชายฝั่งทะเล 2-3 กิโลเมตร

ซั้ง หรือปะการังเทียมพื้นบ้าน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่อดีต เป็นเครื่องมือดึงดูดสัตว์น้ำให้มาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อความสะดวกในการทำการประมง โดยการนำซั้ง หรือทุ่นปะการังเทียมไปทิ้งไว้ในทะเลอ่าวไทยเพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยชาวบ้านสร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นที่สามารถย่อยสลายในน้ำได้ กล่าวคือ นำไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อน แล้วใช้เถาวัลย์ผูกติดกับใบหรือทางมะพร้าวทำเป็นซั้ง นอกจากนี้ประโยชน์ทางอ้อมของซั้งคือ ป้องกันเรือประมงขนาดใหญ่ เช่น เรืออวนลาก มาทำการประมงในเขตน่านน้ำหวงห้ามได้อีกทางหนึ่งด้วย

ซั้ง หมายถึงอุปกรณ์ที่ทำให้ปลามา อยู่รวมกัน ซึ่งมีที่มาจากสิ่งของลอยน้ำ ต่าง ๆ โดยมีปลาเล็กปลาน้อยอาศัยร่มเงาอยู่ และจะมีปลาขนาดใหญ่กว่าติดตามหาอาหารไปด้วย การวางซั้งก็จะเลียนแบบสิ่งของลอยน้ำ โดยใช้วัสดุต่าง ๆ มาผูกมัดรวมกัน เช่น เศษอวน, เชือกเก่า, ไม้ไผ่ และทางมะพร้าว เหล่านี้เป็นต้น เพียงแต่ซั้งจะถ่วงด้วยก้อนหิน หรือผูกติดกับโขดหินใต้น้ำ ไม่ให้ลอยออกไปจากจุดที่ต้องการ

การจัดทำซั้งจะเลือกใช้วัสดุที่มีราคาถูกสามารถจัดหาซื้อได้ในท้องถิ่น เช่น ลำไม้ไผ่ ใบมะพร้าว เชือก กระสอบ กิ่งไม้ เป็นต้น มาประกอบกันเป็นซั้งแล้วนำไปวางบริเวณชายฝั่งทะเลที่เป็นแหล่งทำการประมงหรือบริเวณแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล โดยรูปแบบของการทำซั้งจะแตกต่างกันตามภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน ส่วนประกอบของซั้งประกอบด้วย ลำไม้ไผ่ 1 ลำ ยาว 7-10 เมตร ซึ่งสั้นกว่าลำไม้ไผ่ที่ใช้ในที่อื่น ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-4 นิ้ว ใช้ใบมะพร้าว เพียง 4 ใบ ขนาดยาว 1.5-2.5 เมตร กิ่งเสม็ดจำนวน 3-4 กิ่ง แทนใบมะพร้าวบริเวณตอนล่างของเชือกซึ่งอยู่ใกล้กับกระสอบทราย ใช้เชือกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร และกระสอบ 1 ถุงต่อซั้ง 1 ชุด แหล่งจัดวางซั้งบ้านทอนอยู่ในเขต 3 กิโลเมตรจากฝั่ง

ซั้งอาจจะมีส่วนของการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำได้น้อยกว่าปะการังเทียม แต่ซั้งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับกิจกรรมการตกปลา และอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยเฉพาะกับการทำปลากระป๋อง ซึ่งจะลงทุนทำซั้งเป็นจำนวนมากกลางทะเล เพื่อให้ปลาเล็กเข้าอยู่อาศัย เช่น ปลากุแร, ปลาทูแขก, ปลาสีกุน เป็นต้น แล้วจับปลาเหล่านั้นส่งโรงงานได้คราวละมาก ๆ ปลาเล็กดังกล่าวเป็นอาหารของปลาที่ใหญ่กว่า เช่น ปลาอินทรี, สาก, อีโต้มอญ, กะโทงแทง, กะโทงร่ม เป็นต้น จึงทำให้ซั้งเป็นประโยชน์ต่อวงการตกปลามากกว่าปะการังเทียม

สำหรับหมู่บ้านทอน ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เป็นหมู่บ้านติดชายทะเล คือชายหาดบ้านทอน ซึ่งเป็นชายหาดยาวขาวสะอาด และยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ทำการประมงเป็นอาชีพหลัก และใช้เวลาว่างประดิษฐ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านคือ เรือกอและจำลอง.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 9 กรกฎาคม 2552

สายน้ำ 18-08-2009 07:40


เร่งสร้างปะการังเทียม ช่วยชาวประมงพื้นบ้าน"ปัตตานี-นราธิวาส"


นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ได้สั่งการให้กรมประมง เร่งจัดสร้างปะการังเทียมให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านใน จ.ปัตตานี และ นราธิวาส ตามที่ได้เข้าชื่อร้องมา โดยขอความร่วมมือไปยังกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร เพื่อรับการสนับสนุนตู้รถไฟเก่า และรถขนขยะที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อนำมาสร้างแหล่งปะการังเทียม

ขณะที่ ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เผยว่า ได้สั่งการให้ประมงจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา ลงพื้นที่พบปะหารือกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านดังกล่าว เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดวางตู้รถไฟ หรือรถขนขยะเพื่อเป็นแหล่งปะการังเทียม เมื่อได้พื้นที่แล้วให้เร่งสำรวจพื้นที่จริงเพื่อดูความเหมาะสมเชิงวิชาการ ด้านระบบนิเวศ พร้อมทั้งลงจุดพิกัดให้แน่นอน โดยให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งคาดว่าผลจากการสร้างปะการังเทียม จะช่วยทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20-30% และยังช่วยจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำได้ผลอย่างยั่งยืน

อธิบดีกรมประมง ยังกล่าวถึงปะการังเทียมที่จัดสร้างโดยใช้วัสดุแท่งคอนกรีตรูปลูกบาศก์ ว่า กรมประมงได้จัดสร้างมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน จากผลการจัดสร้างถึงปี 2551 รวมมีทั้งหมด 342 แห่ง เป็นแหล่งปะการังเทียมขนาดเล็กครอบคลุม พื้นที่ 1-2 ตารางกิโลเมตร จำนวน 310 แห่ง ใน 18 จังหวัดชายฝั่งทะเล และแหล่งปะการังเทียมขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 20-30 ตารางกิโลเมตร 32 แห่ง ในเขต 19 จังหวัด สำหรับในปี 2552 มีการจัดสร้าง 20 แห่ง เป็นแหล่งเล็ก 19 แห่ง และแหล่งใหญ่ 1 แห่ง ซึ่งจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่ จ.ปัตตานี 3 แห่ง นราธิวาส 3 แห่ง สงขลา 2 แห่ง และสตูล 1 แห่ง




จาก : แนวหน้า วันที่ 18 สิงหาคม 2552

สายน้ำ 27-08-2009 08:07


กรมประมงเผยได้พื้นที่สร้างปะการังเทียมแล้ว

http://news.mcot.net/_images/MNewsImages_111668.jpg

กรมประมง 26 ส.ค.-กรมประมงเผยความคืบหน้าได้พื้นที่สร้างปะการังเทียมด้วยตู้รถไฟและรถขนขยะในพื้นที่ จ.นราธิวาส

ตาม ที่กรมประมงโดย ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง ได้สั่งการให้ประมงจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับชาวประมงในพื้นที่ จ.ปัตตานีและนราธิวาส เพื่อหารือเกี่ยวกับพื้นที่วางปะการังเทียม ด้วยตู้รถไฟและรถขนขยะที่ไม่ใช้งานแล้ว พร้อมทั้งสำรวจความเหมาะสมเชิงวิชาการ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผลการดำเนินการ ขณะนี้สามารถหาพื้นที่วางปะการังเทียมดังกล่าวได้แล้ว ได้แก่ พื้นที่ใน จ.นราธิวาส บริเวณชายฝั่งทะเล หมู่ที่ 4 ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ ซึ่งอยู่ห่างฝั่ง 12.5 กิโลเมตร ที่ระดับน้ำลึก 23 เมตร พื้นท้องทะเลเป็นทรายในโคลน ถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนพื้นที่ใน จ.ปัตตานี คาดว่า จะได้ผลก่อนสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับตู้รถไฟและรถขนขยะที่ไม่ใช้งานแล้วกำลังรอการพิจารณาสนับสนุน จากกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร




จาก : ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 27 สิงหาคม 2552

สายน้ำ 01-09-2009 06:39


"ปะการังเทียม"ฟื้นฟูทะเลไทย สร้างรายได้ประมงพื้นบ้าน (สกู๊ปแนวหน้า)

http://www.naewna.com/cgi-bin/31-8-2009/5b1.gif

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ในหลายโอกาสให้สร้างแนวปะการังเทียมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เนื่องจากในหลายพื้นที่ที่สร้างแนวปะการังเทียม พบว่ามีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศในท้องทะเลดีขึ้น ชาวประมงก็มีรายได้เพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา โดยทรงย้ำในเรื่องนี้อีกครั้งว่า...

"ปะการังเทียมนั้นใช้ได้ผลจริงๆ ควรสร้างปะการังเทียมเพิ่ม"

ข้อมูลจาก โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงสนองพระราชเสาวนีย์ของพระองค์ท่าน โดยสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชาย ฝั่งทะเลไทย และวางแนวปะการังเทียมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา

http://www.naewna.com/cgi-bin/30-8-2009/5b2.gif

และหนึ่งในพื้นที่วางปะการังเทียมครั้งนี้ คือชายฝั่งทะเลปัตตานี โดยมี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาเป็นประธานเปิดโครงการด้วยตัวเอง

นายวิชาญ ทวิชัย อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เมื่อแนวปะการังตามธรรมชาติถูกทำลาย ก็เหมือนที่อยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำลดลง ปริมาณสัตว์น้ำก็ลดตาม การสร้างแนวปะการังเทียมจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ทำหน้าที่คล้ายแนวหินหรือแนวปะการังตามธรรมชาติ ซึ่งยอมรับกันว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการอนุรักษ์ทรัพยา กรทางทะเล โดยเฉพาะสัตว์น้ำขนาดเล็กไม่ให้ถูกจับถูกล่าไปก่อน และสามารถดึงดูดสัตว์น้ำนานาชนิดให้เข้ามาอยู่อาศัย หาอาหาร สืบพันธุ์ ตลอดจนสามารถพัฒนาเป็นแหล่งประมงสำหรับทำประมงขนาดเล็กและประมงในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย

"ประโยชน์ของปะการังเทียมมีหลายด้าน ได้แก่ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตพวกเกาะติด ทำให้เกิดแพลงตอนพืชในมวลน้ำเพิ่มขึ้น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ และเป็นแหล่งตกปลา ซึ่งผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า บริเวณที่มีการวางปะการังเทียมจะมีปริมาณสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น มากกว่าบริเวณที่ไม่ได้วางแนวปะการังเทียมเป็นจำนวนมาก"

http://www.naewna.com/cgi-bin/30-8-2009/5b3.gif

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวอีกว่า สำหรับการวางแนวปะการังเทียมครั้งนี้ ได้จัดวางปะการังเทียมในพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ โดยพื้นที่จัดวางอยู่ในทะเลห่างจากชายฝั่งบ้านตันหยงเปาว์ หมู่ 4 ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ประมาณ 5-6 กิโลเมตร บริเวณน้ำลึกประมาณ 8-14 เมตร พื้นทะเลเป็นโคลนปนทราย โดยแท่งปะการังเทียมทำจากซีเมนต์รูปทรงลูกบาศก์โปร่งขนาด 1.5 คูณ 1.5 คูณ 1.5 เมตร จำนวน 2,135 แท่ง

โครงการจัดวางปะการังเทียมได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 ในหลายอำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น อ.หนองจิก อ.เมือง อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ และ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ช่วยคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล สร้างรายได้และความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประมงพื้นบ้านได้อย่างยั่งยืน

จากโครงการวางแนวปะการังเทียมเมื่อปี 2545 ในพื้นที่ จ.ปัตตานี พบว่า บริเวณปะการังเทียมมีสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยมากขึ้น ได้แก่ ปลาสลิดหิน ปลาอมไข่ ปลาดุกทะเล ปลากะรัง ปลากะพงข้างปาน ปลากะพงแดง ปลาสีกุน และปูม้า ซึ่งจากการศึกษาด้วยเครื่องมืออวนจมกุ้งในอดีต พบว่าจำนวนชนิดสัตว์น้ำที่จับได้ด้วยอวนจมกุ้งมีทั้งหมด 17 ชนิด และเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในปีถัดมา คือสามารถจับสัตว์น้ำได้ทั้งหมด 33 ชนิด ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่า ปะการังเทียมสามารถเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำได้จริง

http://www.naewna.com/cgi-bin/30-8-2009/5b4.gif

นายสุไลมาน ทิพย์ยอแล๊ะ รองประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านรูสะมิแล ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ปัจจุบันการทำมาหากินของกลุ่มชาวบ้านที่เป็นประมงพื้นบ้าน ต้องยอมรับว่าทำมาหากินได้ยากขึ้น เนื่องจากทรัพยากรทางทะเลจำพวกสัตว์ทะเลที่เคยจับไปขายเพื่อเลี้ยงชีพมีปริมาณลดน้อยลงกว่าในอดีตมาก การทำมาหากินของชาวประมงค่อนข้างฝืดเคีอง ประกอบกับรายจ่ายในการออกเรือเพื่อทำประมงแต่ละครั้งค่อนข้างสูง ซ้ำเมื่อออกเรือก็จับสัตว์น้ำได้ไม่คุ้ม ต้องออกไปไกลฝั่งมากๆ จึงจะได้

"ในอดีตกลุ่มประมงพื้นบ้านไม่ได้ออกไปจับปลาไกลมากเหมือนทุกวันนี้ เมื่อก่อน ออกไปแค่ไม่กี่ร้อยเมตรก็สามารถทอดแหหรือตกปลาเอาไปขายได้วันละ 300-500 บาทแล้ว ชาวบ้านก็อยู่ได้ เพราะต้นทุนการทำประมงน้อยมาก แต่ปัจจุปันชาวประมงต้องขับเรือออกไปกว่า 3-4 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 40 นาที หนำซ้ำยังจับปลาได้น้อยกว่าในอดีตมาก ไหนจะต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันที่ใช้เติมเรือที่มากขึ้น ราคาน้ำมันก็แพง แต่ราคาปลาทะเลที่จับมาได้กลับไม่ได้สูงเหมือนต้นทุน วันนี้ออกเรือไปหาปลาแต่ละครั้งใช้ต้นทุน 400-500 บาท หาปลาได้น้อยลงทำให้ชาวประมงหลายรายต้องหยุดออกเรือ แล้วไปทำงานรับจ้างอย่างอื่นแทน" รองประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านรูสะมิแล บอก

นายสุไลมานกล่าวอีกว่า หลังจากรู้ว่าจะมีโครงการวางแนวปะการังเทียมในพื้นที่ก็รู้สึกดีใจ เพราะเคยทราบจากเครือข่ายประมงในพื้นที่ อ.สายบุรี ที่เคยมีโครงการวางแนวปะการังเทียมมาก่อนว่า ให้หลัง 1 ปี สัตวน้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาและทำมาหากินได้ตามปกติ มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงคิดว่าหากมีการวางแนวปะการังเทียมขึ้นในพื้นที่เขต อ.เมืองและ อ.หนองจิก จะทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำมาหากินได้ดีขึ้น

"ชาวประมงพื้นบ้านทุกคนรู้สึกซาบซึ้งในพระมหาการุณธิคุณที่พระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมมั่นใจว่าหลังจากนี้ชาวประมงพื้นบ้านจะทำมาหากินได้อย่างปกติสุข" นายสุไลมาน กล่าว

โครงการดีๆ เช่นนี้จะช่วยอนุรักษ์ให้ทะเลปัตตานีอุดมสมบูรณ์ไปชั่วลูกชั่วหลาน...



จาก : แนวหน้า วันที่ 31 สิงหาคม 2552

สายน้ำ 09-10-2009 07:55


โครงการสร้างปะการังเทียมเห็นผลสำเร็จช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

http://news.mcot.net/_images/MNewsImages_119523.jpg

โครงการสร้างปะการังเทียมประสบผลสำเร็จหลังดำเนินการต่อเนื่องมา 24 ปี ปัจจุบันสามารถฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ใน ระดับหนึ่ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และกรมประมง ร่วมกันแถลงข่าวถึงความสำเร็จในระดับหนึ่งของโครงการ “ร่วมสร้างบ้านปลาด้วยปะการังเทียม” โดยทั้ง 4 หน่วยงานหลักได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องจับมือร่วมกันสร้างปะการังเทียม เพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและฟื้นฟูความสมบูรณ์ของท้องทะเล โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่าหลังจากที่ได้มีการจัดวางปะการังเทียมในทะเลแต่ละพื้นที่ไปแล้ว ประมาณ 2-3 ปี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ไปประเมินทุกครั้ง พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำได้จริง เพราะเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเลนานาชนิดที่สำคัญช่วยป้องกันการกัดเซาะชาย ฝั่ง ทั้งยังส่งผลให้ชาวประมงมีแหล่งประมงเพิ่มขึ้นด้วย ล่าสุดได้มีการจัดวางปะการังเทียมที่จังหวัดปัตตานีซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะทำอย่างต่อเนื่องโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวด ล้อมและพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล

ด้าน ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าโครงการดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องมา 24 ปีแล้ว โดยวางปะการังเทียมแล้ว 364 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการจัดวางในแต่ละพื้นที่ทุกครั้งทำถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยมีการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม เลือกใช้วัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือมีสิ่งเจือปน ที่ผ่านมาได้มีการเลือกใช้วัสดุคือแท่งคอนกรีตและตู้รถไฟ ซึ่งมีหน่วยงานเป็นผู้มอบให้ ส่วนงบประมาณที่ดำเนินการไปแล้วปะมาณกว่า 3,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีแผนเตรียมสร้างประการังเทียมอีก 23 แห่ง คาดจะดำเนินการประมาณกลางปีหน้าในช่วงที่มีสภาพอากาศที่เหมาะสม




จาก : ข่าว อสมท. วันที่ 8 ตุลาคม 2552

สายน้ำ 09-10-2009 08:01


ทช. จับมือ 3 หน่วยงาน จัดโครงการ “ร่วมสร้างบ้านปลาด้วยปะการังเทียม” ฟื้นฟูทะเลไทย

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ กองทัพเรือ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และกรมประมง จัดโครงการ “ร่วมสร้างบ้านปลาด้วยปะการังเทียม” ฟื้นฟูทะเลไทย

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงการดำเนินงานตามโครงการ “ร่วมสร้างบ้านปลาด้วยปะการังเทียม” ว่า จะมุ่งเน้นการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ให้ระบบนิเวศกลับมามีความสมบูรณ์ดังเดิม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวปะการังเทียม ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีบทบาททางด้านทรัพยากรทางทะเลที่ล้วนเอื้อประโยชน์ต่อกัน จึงถือเป็นความร่วมมือกันอย่างบูรณาการ เพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ทะเลอื่นๆได้อย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ

ทั้งนี้ การวางแนวปะการังเทียม นอกจากเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ทะเลแล้ว ยังช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้สามารถลดความแรงของคลื่นลมจากทะเลได้ด้วย




จาก : สำนักข่าวไทย วันที่ 9 ตุลาคม 2552

สายน้ำ 19-10-2009 08:01


77 ล้าน...สร้างปะการังเทียม


สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ...ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ในเรื่องการ สร้างปะการังเทียม จากนั้นก็มี หลายหน่วยงานได้สนองพระราชเสาวนีย์

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ณ สยามโอเชี่ยนเวิลด์ สยามพารากอน มีการแถลงข่าว ร่วมระหว่าง กรมประมง กองทัพเรือ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้รู้ว่ากิจกรรมในการสร้างปะการังเทียมนี้ กรมประมงได้ดำเนินการอย่างมีระบบและต่อเนื่องก่อนใครเพื่อน

คือ ตั้งแต่ปี 2522 ได้ศึกษาเกี่ยวกับวัสดุที่เหมาะสม อย่างเช่น ไม้ไผ่ ยางรถยนต์ และ แท่งคอนกรีต รูปแบบต่างๆ ตลอดจนการจัดวางเพื่อดึงดูดให้
สัตว์น้ำเข้ามาอยู่อาศัย จนกระทั่งได้ผลสรุป

ใน ปี 2528 จึงสร้าง แท่งคอนกรีตเสริมเหล็กรูปลูกบาศก์เมตร ขนาด 1.5 ๚ 1.5 ๚ 1.5 เมตร เพื่อใช้ เป็นปะการังเทียมอย่างจริงจัง จนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 362 แห่ง ทั้งใน อ่าวไทย และ อันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร

ผลจากการจัดวางปะการังเทียม ได้ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ ก่อให้เกิดเป็นแหล่งประมงสำหรับชาวประมงพื้นบ้าน และช่วยป้องกันการลักลอบเข้ามาทำการประมงใกล้ฝั่งของเรืออวน เรือลาก อวนรุน เป็นการลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวประมงด้วยกัน

และ....สร้างวิถีแห่งเศรษฐกิจพอเพียง ลดค่าน้ำมันไม่น้อยกว่า 10-20% ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 20-23%

นอก นั้นยังได้ใช้ โบกี้รถไฟเก่า รถขนขยะ ที่ไม่ใช้งานแล้ว รวมถึง ท่อระบายน้ำ ให้เป็นวัสดุจัดสร้างปะการังเทียม ภายใต้ โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส

โดย...ตั้งแต่ปี 2544 จากที่ สมเด็จฯทรงมีพระราชเสาวนีย์ เป็นต้นมาได้จัดสร้างฯ โดยใช้ตู้รถไฟ 608 ตู้ ท่อระบายน้ำ 707 ท่อ และรถขนขยะที่ไม่ใช้งานแล้ว 389 คัน

ขณะนี้... กรมประมงก็ได้ตู้รถไฟเก่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทย 59 ตู้ รถขนขยะที่ไม่ใช้แล้วจากกรุงเทพมหานคร 200 คัน คาดว่าจะนำไปวางในเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยได้สำรวจพื้นที่ไว้แล้วในเขต อำเภอสายบุรี ไม้แก่น และ ปะนาเระ จังหวัดปัตตานีกับ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง บอกว่า....ปีนี้ได้งบประมาณ 77 ล้านบาท สร้างแท่งปะการังเทียมได้ 12,800 แท่ง จัดวางในแหล่งเล็กๆ 1 ตารางกิโลเมตร 19 แห่ง ในจังหวัดตราด จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ ปัตตานี นราธิวาส สตูล สงขลา

และ...แหล่งพื้นที่ใหญ่ ขนาด 20 ตารางกิโลเมตร 1 แห่งที่จังหวัดระยอง ต้องใช้คอนกรีต 36,781 แท่ง ซึ่ง คุณธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ จะเป็นประธานในพิธี วางปะการังเทียม ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งตะวันออก ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 19 ตุลาคม 2552


สายน้ำ 07-11-2009 08:10


ก.เกษตรขยายพื้นที่สร้างปะการังเทียมปีหน้ากว่า 23 แห่ง


กระทรวงเกษตรฯ ประเมินผลการสร้างแหล่งปะการังเทียมเป็นไปตามเป้า พร้อมเตรียมแผนขยายพื้นที่สร้างปะการังเทียมปี 53 กว่า 23 แห่งทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและแหล่งประมง เพิ่มมากขึ้น

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการจัดวางปะการังเทียมว่า ในปีนี้ กรมประมงได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดสร้างปะการังเทียม 20 แห่ง จำนวน 77 ล้านบาท แบ่งเป็นแหล่งการจัดสร้างในพื้นที่ขนาดเล็ก จำนวน 19 แห่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ฝั่งอ่าวไทยยังคงเหลือเพียงที่จังหวัดตราด และจันทบุรี ส่วนสตูล กระบี่ ตรัง ฝั่งทะเลอันดามัน ที่ต้องรอให้มรสุมหยุดก่อน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการจัดวางได้แล้วเสร็จไม่เกินมกราคมปีหน้า

ทั้งนี้จากผลการจัดสร้างปะการังเทียมที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2552 มีการจัดสร้างปะการังเทียมทั้งหมด 362 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ยังผลให้บริเวณที่ไปจัดสร้างปะการังเทียมมีจำนวนทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ขึ้น สัตว์น้ำบางชนิดที่หายากก็กลับมีการพบเพิ่มมากขึ้น เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป ปลาจะละเม็ดเทา ปลาดุกทะเล และปลาตะลุมพุก ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชาวประมงไม่ว่าจะสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น ช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องออกทะเลไปไกลทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยในการบริหารจัดการการทำการประมงโดยช่วยป้องกันเรือที่มี ศักยภาพในการทำประมงสูงไม่ให้เข้ามาทำการประมงใกล้ฝั่ง เพื่อป้องกันการเสื่อมโทรมของทรัพยากร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ในปีหน้า ได้มอบหมายให้กรมประมงจัดสร้างปะการังเทียมอีก 23 แห่ง เป็นปะการังเทียมขนาดเล็กทั้งหมด โดยมีแผนจัดวางใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 14 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้เร่งให้มีการจัดสร้างปะการังเทียม แก่ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส โดยใช้วัสดุเหลือใช้ ได้แก่ ตู้รถไฟ และรถขนขยะตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งกรมประมงได้เคยดำเนินการมาแล้วในปี 2544 โดยในปีนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนตู้รถไฟเก่า 59 ตู้ และรถขนขยะที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจำนวน 200 คัน เพื่อนำไปจัดวางในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดสามารถจัดวางปะการังเทียมได้ดี รวมทั้งเป็นแหล่งประมงที่มีฝูงปลาผ่านจึงเหมาะสมในการฟื้นฟูให้เป็นแหล่ง ประมงที่ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป



จาก : ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 6 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 09-11-2009 07:20

1 Attachment(s)

ตามรอยแม่ดูแลทะเลไทย

ปลูก 'ปะการังเทียม' รักษ์สิ่งแวดล้อม

ด้วยเพราะทะเลเป็นทรัพยากรธรรม ชาติที่มีความสำคัญ ก่อเกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากมายทั้งการประมง การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ในความสมบูรณ์ของท้องทะเลยังมีความหมายต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ น้อยใหญ่ สิ่งมีชีวิตใต้ผืนน้ำ อีกทั้งยังก่อเกิดภูมิปัญญาอาชีพของคนในท้องถิ่นกับธรรมชาติได้อยู่ร่วมกัน อย่างยั่งยืน

การร่วมใจกันดูแลอนุรักษ์ฟื้นฟูชายฝั่งทะเล รักษาสภาพธรรมชาติให้คงอยู่จึงเป็นสิ่งที่มีความหมายความสำคัญ จากพระราชดำริสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีความห่วง ใยท้องทะเลไทย การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ผ่านมาหลายหน่วยงานภาครัฐ เอกชนได้ผสานความร่วมมืออย่างจริงจัง

ตามรอยแม่ดูแลทะเลไทย เหล็กไทยร่วมใจรักษ์ สิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างสรรค์ประโยชน์ ให้กับธรรมชาติ โดย สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยและภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ ได้ร่วมใจกันคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล ปลูกปะการังโดยใช้เหล็กวัสดุจากภาคอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์จัดทำโครงสร้าง ปลูกปะการังศึกษาวิจัยและจัดทำที่อยู่อาศัยสัตว์ทะเล ขึ้น ณ หาดสังวาลย์ เกาะล้าน จ.ชลบุรี

การปลูกปะการังเทียมด้วยโครงเหล็กเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูชายฝั่งทะเลไทยทด แทนสภาพระบบนิเวศใต้ทะเลที่ถูกทำลาย สร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลและเป็นแหล่งอนุบาลปะการังเทียม ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้ว่า การปลูกปะการังครั้งนี้ปลูกบนโครงซึ่งการใช้วัสดุจากอุตสาหกรรมเหล็กจัดทำ ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลพัฒนาแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ให้กับทะเลนั้นเมื่อเวลาผ่านไปปะการังจะเติบโต ขณะที่โครงเหล็กจะผุกร่อนหักลงปะการังก็จะหลุดมารวมกันเหมือนการเกิดตาม ธรรมชาติ วัสดุเหล็กจะถูกกัดกร่อนย่อยสลายไปตามธรรมชาติโดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางทะเล

“ประเทศเรามีแนวปะการังอยู่ไม่น้อยและมีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังในรูป แบบต่าง ๆ ทั้งในการท่องเที่ยว แหล่งประมง ฯลฯ อีกทั้งในประโยชน์ที่มองไม่เห็นของแนวปะการังซึ่งมีลักษณะเป็นเขื่อน ถ้าไม่มีแนวปะการังคลื่นจะซัดเข้าชนชายหาด กัดเซาะแนวชายฝั่ง แนวปะการังจึงมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม”

การจัดการปะการังที่มีทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟู ในแนวคิดการอนุรักษ์นั้นมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ขณะเดียวกันการฟื้นฟูเป็นสิ่งที่ตามมาซึ่งบางครั้งการฟื้นฟูเป็นสิ่งที่จำ เป็น เพราะสามารถช่วยเหลือแนวปะการังบางรูปแบบบางอย่างได้ แต่อย่างไรก็ตามในรูปแบบการช่วยเหลือจะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ศึกษารูปแบบการช่วยเหลือที่เหมาะสม เพราะแนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่เก่าแก่และมีความสำคัญ

ในส่วนของกิจกรรม ครั้งนี้ เหล็กที่นำมาจัดทำที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลจัดทำโครงสร้างปลูกปะการังแบ่ง เป็น Coral Ball (ปูนซีเมนต์เสริมเหล็ก) เป็นการนำปะการัง หรือปะการังที่แตกหักโดยธรรมชาติมาปลูกเลี้ยงในกระถางดินเผา ขณะที่รูปแบบ โครงเหล็กแบบสี่เหลี่ยม กับแบบเส้นตรง เป็นการนำปะการัง หรือปะการังที่แตกหักโดยธรรมชาติ ผูกติดกับโครงสร้างเหล็กซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปปะการังจะเติบโตมีน้ำหนักมาก ขึ้น โครงเหล็กจะผุกร่อนหักลงปะการังก็จะหลุดออกมารวมตัวกันเหมือนกับการเกิดตาม ธรรมชาติ

ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง โครงเหล็กรูปทรงลูกบาศก์ เป็นวิธีการห้อยวัสดุล่อตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ปะการัง หอย ฯลฯ ให้มาเกาะยึดกับวัสดุสร้างเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อน และช่วยดึงดูดสัตว์น้ำให้มา อยู่อาศัย ในโครงสร้างเหล็กจัดทำแปลงอนุบาลปะการังที่ด้านบนของโครงสร้างเหล็ก โดยจะทำการอนุบาลประมาณ 4-6 เดือน แล้วจึงย้ายไปทำการปลูกในโครงสร้างปูนซีเมนต์เสริมเหล็กในแบบแรกและแบบที่ สอง

นอกเหนือจากการศึกษาวิจัยสร้างบ้านให้กับ ปะการังสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในท้องทะเลที่มีความหมายต่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเล ไทยแล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการปลูกใจ สร้างการมีส่วนร่วม แรงร่วมใจกันดูแลทะเลไทยซึ่งมีการจัดทำค่ายนำนิสิตชั้นปีที่ 1-4 นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิทยาศาสตร์ ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำงานร่วมกับคนในพื้นที่เกาะล้าน

ปูนซีเมนต์เสริมเหล็กทรงกลมคล้ายลูกฟุตบอลตัดครึ่งน้ำหนักไม่น้อยซึ่งนิสิต ชายหลายคนกำลังช่วยกันนำลงสู่ทะเล ปิยะวัฒน์ สุจิรชาโต นิสิตปริญญาโทที่กำลังศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว หนึ่งในพี่เลี้ยงเล่าถึงความสำคัญของแนวปะการังว่า ธรรมชาติ ของปะการังจริง ๆ แล้วจะสามารถฟื้นฟูได้ด้วยตัวเองแต่อาจจะช้า การที่มีโครงการอาจช่วยให้การฟื้นฟูเป็นไปได้เร็วขึ้นซึ่งถ้าเราช่วยกัน ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติไม่ทำลายปะการัง ไม่ทิ้งขยะลงทะเล ไม่เก็บปะการังกลับมา ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยธรรมชาติพิทักษ์ท้องทะเลให้คงความอุดมสมบูรณ์ และเมื่อเป็นอย่างนั้นการปลูกปะการังลักษณะนี้อาจไม่จำเป็นต้องมีเลยก็ได้ เพราะอย่างที่กล่าวโดยทั่วไปธรรมชาติสามารถจะฟื้นฟูตัวเองได้ อย่างในเหตุการณ์สึนามิ ธรรม ชาติก็ฟื้นฟูตัวเอง

“ปะการังที่เป็นที่รู้จักกันนั้นไม่เพียงสร้างความสวยงามให้กับโลกใต้ทะเล แต่ยังสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศเรียกได้ว่าไม่มีแนวปะการังก็ไม่มีปลา และเมื่อไม่มีสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลก็เหมือน กับห่วงโซ่ของระบบนิเวศขาดหายไป

ในมิติของการใช้เหล็กเข้ามาช่วยสร้างบ้านให้ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เหล็กสามารถย่อยสลายได้ไม่กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในท้องทะเล เมื่อกาลเวลาผ่านไปปะการังที่ปลูกเจริญเติบโตขึ้นเหล็กก็ผุกร่อนลง พอเหล็กหักสลายไปปะการังที่อยู่บนเหล็กก็จะตกลงไปอยู่ในพื้นทรายแล้วก็จะ เติบโตต่อ กลายเป็นแนวปะการรังที่มีอยู่ในธรรมชาติ”

ปูนซีเมนต์เสริมด้วยโครงเหล็ก ที่เป็นหินปูนจะค่อย ๆ กร่อนหลุดร่วงลง ซึ่งหินเหล่านี้ปะการังก็จะนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ด้วย ในโครงการนี้สิ่งที่จะทิ้งจมลง ทะเลมีทั้ง ปะการังเขากวาง และปะการังพุ่ม ซึ่งปะการังทั้งสองลักษณะนี้เป็นปะการังที่พบในบริเวณนี้ อีกทั้งปะการัง เขากวางจะเจริญเติบโตได้ดี ขณะที่ปะการังพุ่มมีลักษณะเด่นคือจะมีช่องว่างให้สิ่งมีชีวิต เข้าไปอยู่อาศัย

นอกจากนี้ในรูปแบบ ดังกล่าว ซึ่งมีการออกแบบ ที่เหมาะสมยังเป็นการเลียนแบบธรรมชาติเช่นเดียวกับอีกสองรูปแบบที่เหมาะสม กับธรรมชาติโครงการนี้จึงเป็นการศึกษาทดลอง ที่นอกเหนือจากมิติการอนุรักษ์ธรรมชาติแล้วยังเป็นการศึกษาเรียนรู้วิทยา ศาสตร์ทางทะเลที่มีความหมายอีกด้วย

ส่วนอีกเสียงหนึ่งจากเยาวชนที่เข้าร่วมในกิจกรรม เส้นหมี่ นิสิตน้องใหม่ปี 1 บอกเล่าประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า การได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้เรียนรู้สัมผัสของจริงเป็นการต่อเติมการ เรียนรู้เพิ่มจากในตำรา การศึกษาสาขานี้นอกจากความสนใจในทะเลไทยแล้วยังมีความห่วงใยต่อสภาพธรรมชาติ ที่เป็นอยู่ สิ่งนี้อาจมองกันว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดการระมัดระวัง ใช้อย่างเต็มที่โดยไม่มองต่อไปอีกว่าถ้าใช้อย่างเต็มที่ในเวลานี้แล้วอนาคต จะเป็นอย่างไร คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก

ในเรื่องของปะการังก็เช่นเดียวกันอยากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาไว้ เพื่อภายภาคหน้าจะได้มีแนวปะการังที่สวยงาม คงความสมดุลตามธรรมชาติ เพราะแนวปะการังนั้นเป็นระบบนิเวศ ที่สำคัญของท้องทะเล

ตราบใดที่ท้องทะเลไทย ยังคงเป็นที่กล่าวขาน เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวนัก ดำน้ำที่หลงใหลมนต์เสน่ห์ โลกใต้ทะเล อีกทั้งทะเลยังเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญสร้างประโยชน์มากมายให้ กับมนุษย์และสัตว์ การร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ดูแลธรรมชาติให้คงความอุดมสมบูรณ์ร่วมกันจึงนับ เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับท้องทะเลไทยอย่างแท้จริง



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 10-11-2009 08:33


งานสร้างปะการังเทียมเข้าเป้า ฟื้นฟูประมงอ่าวไทย-อันดามัน

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2552 กรมประมงได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดสร้างปะการังเทียม 20 แห่งจำนวน 77 ล้านบาท แบ่งเป็นแหล่งการจัดสร้างในพื้นที่ขนาดเล็ก 19 แห่ง ในพื้นที่ จ.ตราด จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยฝั่งอ่าวไทยคงเหลือเพียงที่ จ.ตราด และ จันทบุรี ส่วนฝั่งอันดามันเหลือ จ.สตูล กระบี่ ตรัง ซึ่งต้องรอให้มรสุมหยุดก่อน โดยคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จไม่เกิดเดือนมกราคมปีหน้า

"จากผลการจัดสร้างปะการังเทียมที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2552 มีการสร้างปะการังเทียมทั้งหมด 362 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 2,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ยังผลให้บริเวณที่ไปจัดสร้างปะการังเทียม มีจำนวนทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ขึ้น สัตว์น้ำบางชนิดที่หายากก็กลับมีการพบเพิ่มมากขึ้น เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป ปลาจะละเม็ดเทา ปลาดุกทะเล และปลาตะลุมพุก"

นายธีระกล่าวอีกว่า สำหรับปี 2553 ได้มอบหมายให้กรมประมงจัดสร้างปะการังเทียมขนาดเล็ก 23 แห่ง โดยจะจัดวางใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 14 แห่ง นอกจากนี้ยังเร่งการจัดสร้างปะการังเทียมแก่ชาวประมงพื้นบ้านใน จ.ปัตตานี และ นราธิวาส ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับการสนับสนุนตู้รถไฟเก่า และรถขนขยะที่ไม่ใช้งานแล้ว มาจัดทำปะการังเทียมดังกล่าว



จาก : ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 12-11-2009 07:00


วางปะการังเทียมฟื้นฟูทะเลไทย


กรมประมงสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดึงชาวประมง ชุมชนมีส่วนร่วมวางปะการังเทียม ขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ฟื้นฟูทะเลไทยให้กลับมาสมบูรณ์ พร้อมปลูกจิตสำนึกให้ชาวประมง เยาวชน และประชาชน ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่คู่ท้องทะเลไทยสืบไป

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการจัดวางปะการังเทียม ที่ จ.ระยอง ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกร ซึ่งเป็นชาวประมงขนาดเล็กที่ยากจน ขาดแหล่งทำการประมง ทำให้มีรายได้น้อย ตามที่มีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2552 ซึ่งผลจากการสร้างปะการังเทียม ทำให้ชาวประมงขนาดเล็กมีแหล่งทำการประมงชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องออกทำการประมงไกลฝั่ง ลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการประกอบอาชีพได้ อีกทั้งเป็นแนวป้องกันการทำลายสัตว์น้ำขนาดเล็ก และสภาพแวดล้อมจากการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนลากและอวนรุนได้ด้วย

การจัดสร้างปะการังเทียม ในพื้นที่ จ.ระยอง นั้น เป็นการสร้างในพื้นที่ขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 21.6 ตารางกิโลเมตร ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 แปลง คือ ทางทิศตะวันออกของเกาะเสม็ด และหน้าหาดแม่รำพึงห่างจากฝั่งประมาณ 7-14 เมตร น้ำลึก 12-18 เมตร ใช้วัสดุแท่งคอนกรีตรูปลูกบาศก์แบบโปร่ง ขนาด 1.5x1.5x1.5 เมตร จำนวนทั้งสิ้น 3,681 แท่ง คาดว่าจะสามารถจัดวางแท่งปะการังเทียมในทะเลได้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2552 นี้



จาก : คม ชัด ลึก วันที่ 12 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 13-11-2009 07:43


ทุ่ม 77 ล้านสร้างปะการังเทียม


นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการจัดวางปะการังเทียมว่า ในปี 2552 กรมประมงได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดสร้างปะการังเทียม 20 แห่งจำนวน 77 ล้านบาท แบ่งเป็นแหล่งการจัดสร้างในพื้นที่ขนาดเล็ก จำนวน 19 แห่ง อยู่ในพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่ฝั่งอ่าวไทยยังคงเหลือเพียงที่จังหวัดตราดและจันทบุรี ส่วนสตูล กระบี่ ตรัง ฝั่งทะเลอันดามัน ที่ต้องรอ ให้มรสุมหยุดก่อน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการ จัดวางได้แล้วเสร็จไม่เกินมกราคมปีหน้าส่วนอีก 1 แห่ง เป็นแหล่งการจัดสร้าง ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ก็คือ การจัดงานในครั้งนี้ที่จังหวัดระยอง เป็นการจัดสร้างปะการังเทียม จำนวน 3,681 แท่ง ครอบคลุมพื้นที่ 21.6 ตารางกิโลเมตร ใช้ งบประมาณ 20 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 แปลง คือทางทิศตะวันออกของเกาะเสม็ด และหน้าหาดแม่รำพึง ห่างจาก ฝั่งประมาณ 7-14 เมตร น้ำลึก 12-18 เมตร ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดวางแท่งปะการังเทียมในทะเลได้แล้วเสร็จภาย ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นชาว ประมงในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงจึงสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้

จากผลการจัดสร้างปะการังเทียม ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2552 มีการจัดสร้างปะการังเทียมทั้งหมด 362 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามันยังผลให้บริเวณที่ไปจัดสร้างปะการังเทียม มีจำนวนทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ขึ้น สัตว์น้ำบางชนิดที่หายากก็กลับมีการพบเพิ่มมากขึ้น เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป ปลาจะละเม็ดเทา ปลา ดุกทะเล และปลาตะลุมพุก ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชาวประมงไม่ว่าจะสามารถ จับสัตว์น้ำได้มากขึ้น ช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องออกทะเลไปไกล ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในปี 2553 ได้มอบหมายให้กรมประมงจัดสร้างปะการังเทียมอีก 23 แห่ง เป็นปะการังเทียมขนาดเล็กทั้งหมด โดย มีแผนจัดวางใน 4 จังหวัดชายแดนภาค ใต้ รวม 14 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้ เร่งให้มีการจัดสร้างปะการังเทียม แก่ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส โดยใช้วัสดุเหลือใช้ ได้แก่ ตู้รถไฟ และรถขนขยะ ตามพระราช เสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 16-11-2009 07:52


ปะการังเทียม..ฟื้นฟูทะเลไทย

ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในประเทศไทยถูกคุกคามและถูกทำลาย จากการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ ๆ อย่างการทำประมงแบบผิดกฎหมายเช่น การระเบิดปลา การทำประมงอวนลากในบริเวณแนวปะการัง การเบื่อปลาในแนวปะการังด้วยสารไซยาไนด์ ทำให้ปะการังตาย มีผลให้แหล่งหญ้าทะเลและป่าชายเลนเกิดการเปลี่ยนแปลง ผลจากการกระทำเหล่านี้เองทำให้สัตว์น้ำและสัตว์ทะเลไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีอาหาร นับวันจำนวนประชากรของสัตว์จึงลดลงอย่างน่า ใจหาย

การจัดสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล หรือปะการังเทียม จึงเป็นอีกหนึ่งหนทาง ที่จะช่วยให้ระบบนิเวศฟื้นฟูเร็วที่สุดและช่วยเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ สร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล โดยเฉพาะปะการังเทียม หากวางไว้บริเวณชายฝั่งนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งในการ อนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำขนาดเล็กมิให้ถูกนำไปใช้ก่อนถึงเวลาที่เหมาะสมและ สามารถดึงดูดสัตว์น้ำนานาชนิดให้เข้ามาอยู่อาศัยหาอาหาร สืบพันธุ์ รวมไปถึงพัฒนาเป็นแหล่งประมงสำหรับการทำประมงขนาดเล็กและเชิงพาณิชย์ได้

ผลจากการสร้างปะการังเทียม ทำให้ชาวประมงขนาดเล็กมีแหล่งทำการประมงชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องออกไปทำการประมงไกล ลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิง มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทำการประมงใกล้ชายฝั่ง ไม่ต้องออกไปไกล สามารถลดข้อขัดแย้งระหว่างชาวประมงในพื้นที่กับประมงแบบอวนลากและอวนรุนได้ มากขึ้น เพราะมีการช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันของชาวประมงในท้องถิ่น นอกจากนั้นแล้ว จากการดูแลสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นแล้วนั้น ส่งผลทำให้สามารถมีรายได้เพิ่มจากการทำเป็นแหล่ง ท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลอีกด้วย นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯกล่าว

ส่วน นายจัตุรัส เอี่ยมวรนิธาน ประธานกลุ่มประมงเรือเล็ก อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 49 ถนนแหลมรุ่งเรือง ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง เล่าว่า ที่ผ่านมากลุ่มประมงเรือเล็กนั้น ได้ขอปะการังเทียมมาตลอด เพราะเห็นถึงข้อดีของการทำที่อยู่ให้กับปลา ทำให้มีปลามาอยู่อาศัยมากขึ้น จนถึงทุกวันนี้กรมประมงได้มาสร้างปะการังเทียมให้เป็นเวลาหลายปีแล้ว ทำให้มีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แต่ในวันนี้สิ่งที่กลุ่มประมงเรือเล็กต้องการก็คือ ต้องการให้ทำปะการังเทียมมาวางในบริเวณชายฝั่ง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่อยู่ของปลาขนาดเล็ก เพราะปลานั้นโดยธรรมชาติจะขยายพันธุ์ในป่าชายเลน จากนั้นจะย้ายมาอยู่ริมฝั่ง พอโตก็จะไปอยู่ในน้ำลึก หากมีการวางปะการังเทียมใกล้ชายฝั่งก็จะเป็นที่อยู่ เป็นแหล่งอนุบาลปลาขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี

“ทุกวันนี้เรือประมงเล็กมีประมาณ 2,000 ลำ จริง ๆ แล้วอยากให้ทำปะการังเทียมมากขึ้นกว่านี้ เพราะจำนวนของเรือและการทำประมงที่มากขึ้น ทำให้ทรัพยากรลดน้อยลงไปมาก วันนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ เพราะเมื่อประมาณ 5 ปีมาแล้วนั้น ชาวประมงจับปลาได้มากกว่านี้ อย่างเช่นเมื่อก่อนเคยจับปลาหมึกได้วันละ 100 กิโลกรัม ณ วันนี้ โดยเฉลี่ยแล้วจับได้วันละประมาณ 10 กิโลกรัมเท่านั้น ถือว่าน้อยลงเยอะมาก อันนี้ผมว่าสาเหตุนั้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นของการทำประมงด้วย ทำให้ประมงพื้นบ้านได้ปลาน้อยลง อย่างรายได้ตอนนี้มีรายได้วันละ 1,000 บาท หักค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมันแล้วเหลือประมาณ 300-400 บาท ก็ถือว่าอยู่ได้แล้วครับ” นายจัตุรัส กล่าว

การจัดสร้างปะการังเทียมในพื้นที่จังหวัดระยองนั้น เป็นการสร้างในพื้นที่ขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 21.6 ตารางกิโลเมตร ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท ใช้วัสดุคอนกรีต รูปลูกบาศก์แบบโปร่ง ขนาด 1.5x1.5x1.5 เมตร จำนวนทั้งสิ้น 3,681 แท่ง ซึ่งแท่งคอนกรีตแบบโครงสี่เหลี่ยม ถือได้ว่ามีความเหมาะสมที่สุด แม้ต้นทุนสูงแต่มีอายุการใช้งานนาน สะดวกในการลำเลียงขนส่ง ควบคุมการจัดวางให้ซ้อนทับกันได้สูง มีประสิทธิภาพในการดึงดูดสัตว์น้ำให้มาอยู่อาศัยได้หลายชนิด เมื่อใช้นานๆไปจะค่อยๆ สลายไปเป็นทราย ไม่เป็นสารพิษกับน้ำ.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 19-01-2010 08:19


ระดมสมองแผนปะการังเทียม


นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจในการเพิ่มผลผลิตและฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ได้พยายามเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการนำปะการังเทียมมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง ซึ่งสามารถช่วยปรับเปลี่ยนระบบนิเวศชายฝั่งให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทรัพยากรสัตว์น้ำ และทำให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์ได้ในระดับหนึ่ง ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านมีแหล่งทำการประมงชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังเป็นแนวป้องกันการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำขนาดเล็กและสภาพแวดล้อมจากการทำประมงด้วยเครื่องมืออวนลาก อวนรุน และยังสามารถลดข้อขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร และแหล่งทำการประมงที่มีอยู่จำกัด

ขณะเดียวกัน พบว่าในปัจจุบันมีหลากหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมดำเนินการในการฟื้นฟูแหล่งปะการังเทียมเพิ่มมากขึ้น อาทิ กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร ที่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ เป็นอย่างดีมาโดยตลอด

ดังนั้นกรมประมงจึงมีการจัดสัมมนาสืบสานตำนานปะการังเทียมเพื่อชาวประมง เพื่อบูรณาการความรู้ ความเข้าใจ และหาแนวทางในการพัฒนาและบริหารจัดการให้การจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อการประมงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการประมงเป็นไปอย่างเหมาะสม ภายใต้การระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสร้างปะการังเทียม อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



จาก : แนวหน้า วันที่ 19 มกราคม 2553

สายน้ำ 20-01-2010 08:05


ประมงตรังตรวจเช็กสภาพปะการังเทียม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.จุมพล สงวนสิน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล พร้อมด้วย นายสุริยะ วิฑูรย์พันธุ์ ประมงจังหวัดตรัง นำคณะตรวจสอบการจัดทำปะการังเทียมที่ทางกรมประมงและจังหวัดตรัง จัดสรรงบประมาณในการดำเนินการจัดสร้างปะการังเทียม เพื่อนำไปวางในทะเลในพื้นที่อำเภอสิเกาและอำเภอหาดสำราญ จำนวน 6 ล้านกว่าบาท เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล โดยปะการังเทียมมีการจัดสร้างเป็นรูปทรงรูปบาศก์แท่งคอนกรีต ขนาด 1.5 x 1.5 เมตร

ดร.จุมพล กล่าวว่า การจัดสร้างปะการังเทียม ทางกรมประมงถือเป็นหน่วยงานหลักและหน่วยงานแรก ที่ดำเนินการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อเพิ่มพูนทรัพยากรสัตว์น้ำมาอย่างต่อ เนื่อง ซึ่งมีการนำไปวางในทะเลทั้งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จำนวนทั้งหมด 362 แห่ง โดยจังหวัดตรังจะมีการนำปะการังเทียมไปวางในพื้นที่บ้านแหลม หมู่ที่ 3 ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง และพื้นที่บ้าน ตะเสะ หมู่ที่ 4 ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดตรัง เคยดำเนินการวางปะการังเทียมมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา จำนวน 1,900 แท่ง ใน 3 พื้นที่ของอำเภอสิเกา



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 20 มกราคม 2553

สายน้ำ 08-03-2010 08:16


ม.อ.ลุยโครงการ "ปะการังเทียม" หวังลดวิกฤติกัดเซาะชายฝั่งภาคใต้


ม.อ. เดินหน้าโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง ภายใต้โครงการ “สมาร์ทโปรเจค เฟส 3” หลังผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการและการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ พบว่าปะการังเทียมที่ออกแบบสามารถช่วยลดพลังงานคลื่นได้สูงสุดถึง 88% เผยเตรียมทดลองเชิงประจักษ์กับสภาพการใช้งานจริงในทะเล ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จ.เพชรบุรี เดือน เม.ย. นี้ ก่อนติดตามผลต่อเนื่องอีก 1 ปี เพื่อประเมินผลด้านวิศวกรรม ด้านระบบนิเวศ และด้านสังคม หวังช่วยลดวิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งภาคใต้

http://pics.manager.co.th/Images/553000003410601.JPEG
ม.อ. เดินหน้าโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง ภายใต้โครงการ “สมาร์ทโปรเจค เฟส 3”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ หัวหน้าโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ในทั้ง 23 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล โดยในบางพื้นที่มีการกัดเซาะวิกฤติถึง 20 เมตรต่อปี นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งมาตรการแก้ปัญหาที่ผ่านมามักเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ที่ยังไม่มีการจัดโซนนิ่งและแผนแม่บทระยะยาว ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้มาตรการแก้ไขปัญหาในหลายพื้นที่ ทั้งวิธีใช้โครงสร้างและไม่ใช้โครงสร้างไม่บรรลุผลเท่าที่ควร

“ม.อ. หวังที่จะแก้ปัญหาให้ชุมชนในท้องถิ่นภาคใต้ จึงได้จัดตั้งกลุ่มวิจัยทางทะเลขึ้นมาเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการ โดยแนวความคิดของการวิจัย ได้จากการสังเกตหาดทรายที่มีแนวปะการังอยู่ตามธรรมชาติ พบว่าพื้นที่เหล่านี้ประสบปัญหาน้อยมาก เนื่องจากแนวปะการังจะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างตามธรรมชาติที่สามารถชะลอความแรงของคลื่นได้เป็นอย่างดี จึงได้นำหลักการ “แนวปะการังเทียมกันคลื่น” มาเป็นทางเลือกในการแก้ใขปัญหาแบบบูรณาการที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และไม่บดบังภูมิทัศน์การท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ สมาร์ท โปรเจค” ผู้ช่วยศาสตราจารย์พะยอมกล่าว

http://pics.manager.co.th/Images/553000003410603.JPEG
คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่

ทั้งนี้ โครงการ “สมาร์ท โปรเจค” เฟส 1 ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2549 โดยได้ศึกษาพื้นที่หาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา และเฟส 2 ในปี 2552 ได้ขยายผลไปยังพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดระยอง-จันทบุรี ภายใต้การสนับสนุนของกรมทรัพยากรธรณี โดยได้ทำการวิจัยรูปแบบ รูปทรง และขนาดของแท่งปะการังเทียม พร้อมทั้งผังการจัดวาง ด้วยแบบจำลองทางกายภาพในรางจำลองคลื่น และด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ปะการังเทียมที่สามารถสลายพลังงานคลื่นได้สูงสุดและเกื้อกูลต่อสัตว์ทะเล

หัวหน้าโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง กล่าวว่า พบว่า แท่งปะการังเทียมที่ได้จากการศึกษาวิจัยเป็นรูปทรงโดมฐานหกเหลี่ยม สามารถสลายพลังงานคลื่นได้ 60-88% มีช่องเปิดขนาดต่างๆโดยรอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสลายพลังงานคลื่น ลดการสะท้อนกลับของคลื่น และยอมให้กระแสน้ำสามารถไหลผ่านได้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือรวมฝูงของปลา และเพิ่มพื้นผิวให้สิ่งมีชีวิตกลุ่มเกาะยึด ซึ่งในบางพื้นที่อาจพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำดูสัตว์น้ำใต้ทะเลได้

http://pics.manager.co.th/Images/553000003410604.JPEG

“ปัจจุบัน สมาร์ท โปรเจค เป็นโครงการเฟส 3 ภายใต้การสนับสนุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบแท่งปะการังเทียม การผลิตแท่งปะการังเทียมที่มีความคงทนในน้ำเค็มโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล แล้วทดลองเชิงประจักษ์ (Real Experiment Research) โดยจะวางในพื้นที่สาธิต ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และสถานที่แห่งนี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ในระดับสากลอีกด้วย โดยจะวางแนวปะการังเทียมจำนวน 254 แท่ง จำนวน 5 แถว เป็นแนวยาว 100 เมตร ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 3 เมตร ห่างจากชายฝั่งประมาณ 400 เมตร แล้วทำการติดตามข้อมูลทุกเดือนเป็นเวลา 1 ปี เพื่อตรวจสอบประเมินผล ทั้งด้านประสิทธิภาพการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง ระบบนิเวศทางทะเล และทัศนคติของชุมชนและผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่” ผู้ช่วยศาสตราจารย์พยอมกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรณีที่ได้ผลการทดลองเชิงประจักษ์ที่เพชรบุรีจะได้ผลเป็นที่พอใจ แต่การจะนำไปประยุกต์เพื่อช่วยแก้ปัญหาในภาคใต้ตอนล่าง ก็จะต้องสำรวจข้อมูลเฉพาะพื้นที่ให้รอบคอบ เช่น สภาพภูมิประเทศ ความลึก ความลาดชันของท้องทะเล สัณฐานของชายฝั่ง สภาพทางสมุทรศาสตร์ น้ำขึ้น-น้ำลง ลักษณะคลื่นลม กระแสน้ำ ตะกอนท้องทะเล สภาพทรัพยากรชายฝั่ง สภาพการใช้พื้นที่ชายหาด และที่สำคัญคือสภาพวิถีชุมชนในพื้นที่ จากนั้นจึงทำการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ เพื่อให้ตอบสนองทั้งการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ลดผลกระทบด้านต่างๆ และการเกื้อกูลต่อระบบนิเวศชายฝั่ง

http://pics.manager.co.th/Images/553000003410605.JPEG
พัฒนารูปแบบแท่งปะการังเทียม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พยอม กล่าวอีกว่า แนว ทางการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น ภาครัฐจะต้องจัดทำโซนนิ่งเพื่อจัดเขตการใช้พื้นที่ชายฝั่ง พร้อมวางแผนแม่บทการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเร่งด่วน บางพื้นที่อาจจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางสังคมและประวัติศาสตร์ ก็จำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสม



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 7 มีนาคม 2553

สายน้ำ 13-04-2010 06:48


อบจ.เมืองคอนทุ่มงบฯ วางปะการังเทียมชายทะเล


นครศรีธรรมราช/ นายพิชัย บุณยเกียรติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีวางปะการังเทียม จำนวน 620 แท่ง ณ อ่าวแขวงเถ้า ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จัดทำโครงการวางปะการังเทียมมาตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชจัดโครงการต่อเนื่องตั้งแต่สมัยนายกคนเก่า ได้วางปะการังเทียมตลอดแนวชายฝั่งทะเลพื้นที่จังหวัดไปแล้ว 5,400 แท่ง นอกจากนี้ทาง อบจ.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานส่วนกลางผ่านกรมประมงเพื่อจัด สร้างปะการังเทียมวางตลอดแนวชายฝั่งอีก 60 ล้านบาท แยกเป็นปี 2553 จำนวน 30 ล้านบาท และปี 2554 จำนวน 30 ล้านบาท

ระยะแนวชายฝั่งอ่าวไทยของจังหวัดประมาณ 230 กิโลเมตร ในพื้นที่ 6 อำเภอ คือ อ.หัวไทร ปากพนัง เมือง ท่าศาลา สิชล และ อ.ขนอม และจะยังดำเนินการต่อไป โดยได้จัดตั้งงบประมาณเพื่อวางปะการังเทียมเสริมตามจุดต่างๆ ที่ชาวประมงร้องขอการวางปะการังเทียมจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับข้อมูลด้านวิชาการของกรมประมง และจากการพูดคุยกับชาวประมงพบว่า ขณะนี้สัตว์น้ำที่สูญหายจากชายฝั่งทะเลน้ำตื้นได้กลับมาแล้ว ช่วยเพิ่มพูนรายได้แก่ชาวประมงชายฝั่งเป็นอย่างดี ทาง อบจ.จะจัดงบประมาณอีกส่วนหนึ่งในการจัดซื้อเรือเร็วตรวจการณ์ชายฝั่งให้กับภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 2 ลำ ประจำการใน อ.ขนอม 1 ลำ และ อ.หัวไทร อีก 1 ลำ

นายพิชัย กล่าวว่า การจัดทำโครงการวางปะการังเทียมได้ดำเนินการตามระเบียบพัสดุในการจัดหาผู้ประกอบการที่มีความชำนาญเชี่ยวชาญทางทะเล มีอุปกรณ์พร้อมสำหรับการวางปะการังเทียม ตามพิกัดที่กรมประมงกำหนดไว้ สามารถตรวจสอบได้ และจากการส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจดูการวางปะการังเทียมใต้ทะเลพบว่า ปะการังเทียมที่วางไว้ส่วนหนึ่งกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นปะการังแท้ และได้อบรมชาวประมงชายฝั่งให้เกิดความรักความหวงแหน ช่วยดูแลปะการังเทียม เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่อไปอีกด้วย ที่สำคัญทาง อบต.ท่าศาลาได้มีการทำพระราชบัญญัติท้องถิ่นในการดูแลทรัพยากรชายฝั่งทะเล ทำให้การปกป้องดูแลทรัพยากรทางทะเลมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ ทาง อบจ.จะนำแบบอย่างของ อบต.ท่าศาลา มาจัดทำ พ.ร.บ.ท้องถิ่น อบจ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการปกป้องดูแลทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งจะมีอำนาจดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทั้งหมดของจังหวัดนครศรีธรรมราช



จาก : บ้านเมือง วันที่ 13 เมษายน 2553

สายน้ำ 13-06-2010 06:52


สมาร์ทโปรเจ็กต์ ปะการังฟื้นชายฝั่ง


http://www.khaosod.co.th/news-photo/...04130653p1.jpg


ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้งในทะเลอ่าวไทยและอันดามันลุกลามและขยายวงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศชายฝั่ง จึงมีความพยายามปรับปรุงฟื้นฟูแถบชายฝั่งที่ถูกคลื่นกัดเซาะให้กลับมาคงสภาพเดิม

กรมทรัพยากรธรณีและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี มอบทุนสนับสนุน ผศ.พยอม รัตนมณี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.ปัตตานี ไปศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ "การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเชิงบูรณาการ" หรือโครงการ "สมาร์ทโปรเจ็กต์" เพื่อช่วยลดวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งให้กลับคืนสภาพสมบูรณ์

คณะวิจัยกว่า 20 คน จึงเริ่มโครงการสมาร์ทโปรเจ็กต์ เฟส 1 ผ่านการทำ "ปะการังเทียมกันคลื่น" พร้อมทั้งก่อสร้างแบบรางจำลอง คลื่นขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.ปัตตานี เพื่อเป็นห้องวิจัยทางทะเล หลังจากนั้นได้สร้างแบบปะการังเทียมขึ้นมา พร้อมศึกษาทางกายภาพ รูปแบบ รูปทรง ขนาด ช่องเปิดรอบแท่งปะการัง แนวและตำแหน่งการจัดวางแท่งปะการังเทียม

กระทั่งพัฒนาแท่งปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่งได้สำเร็จ สามารถต้านแรงคลื่นได้ดี มีลักษณะเป็นรูปโดม มี 3 ขนาด ประกอบด้วย ขนาดเล็กมีฐานกว้าง 1.8 เมตร สูง 1.3 เมตร, ขนาดกลาง ฐานกว้าง 1.8 เมตร สูง 1.5 เมตร และขนาดใหญ่ ฐานกว้าง 1.8 เมตร สูง 1.6 เมตร

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...04130653p3.jpg

แต่ละขนาดจะมีช่องเปิดลักษณะเดียวกัน ประกอบไปด้วย ช่องเปิดด้านบน 1 ช่อง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร ช่องเปิดด้านข้าง จำนวน 3 แถว แถวละ 6 ช่อง โดยแถวบนช่องเปิดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร แถวกลางมีช่องเปิดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร และแถวล่างมีช่องเปิดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร

โดยช่องเปิดดังกล่าวช่วยการชะลอความแรงคลื่น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อฟื้นฟูหาดทราย ให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล และเป็นแหล่งดำน้ำในอนาคต

จากนั้นทางคณะวิจัยเลือกพื้นที่ชายหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหาเรื้อรังมายาวนานเป็นพื้นที่นำร่อง ผลการศึกษาวิจัยพบว่า แนวปะการังเทียมสามารถสลายพลังงานคลื่นได้เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์

ต่อมาจึงขยายผลโครงการสมาร์ทโปรเจ็กต์ เฟส 2 ไปยังพื้นที่ จ.ระยอง และจ.จันทบุรี เนื่องจากมีหลายพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง หลังผ่านการทดลองพบว่าปะการังเทียมสามารถช่วยลดพลังงานคลื่นได้สูงสุดถึง 88 เปอร์เซ็นต์

ล่าสุดคณะวิจัยเตรียมทดลองสมาร์ทโปรเจ็กต์ เฟส 3 กับสภาพการใช้งานปะการังเทียมในทะเลจริง ที่ชายฝั่งทะเล บริเวณอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จ.เพชรบุรี ในช่วงเดือนก.ค. เพื่อประเมินผลด้านวิศวกรรม ด้านระบบนิเวศ และด้านสังคม ต่อเนื่อง 12 เดือน หากประสบผลสำเร็จก็จะปรับปรุงเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...04130653p2.jpg

ผศ.พยอม เปิดเผยว่า ทีมวิจัยโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทะเลชายฝั่งมานานกว่า 10 ปี พบว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดอย่างต่อเนื่อง และตามแนวชายฝั่งส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งอีกด้วย

เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ จึงนำผลการสำรวจและข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่ของไทยมาศึกษาวิเคราะห์ จึงพบว่าชายฝั่งที่มีโขดหินหรือแนวปะการังอยู่ด้านนอก มักไม่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ทำให้หาดทรายมีเสถียรภาพค่อนข้างดี เนื่องจากแนวปะการังจะทำหน้าที่เป็นแนวสลายพลังงานคลื่น เป็นโครงสร้างตามธรรมชาติที่แข็งแรงปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และเกื้อกูลต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างดี

"แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยังขาดการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่างๆในการแก้ปัญหา โดยส่วนใหญ่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาแก้ปัญหา ทำให้การแก้ปัญหาชายฝั่งทะเลในบ้านเราไม่บรรลุผลเท่าที่ควร เนื่องจากประเทศไทยมีปัจจัยหลายประการที่แตกต่างกับต่างประเทศ เช่น สัณฐานชายฝั่ง สภาพคลื่นลม น้ำขึ้น น้ำลง กระแสน้ำ ตะกอน ระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งวิถีชีวิต ปัญหาจึงถูกแก้ไม่ถูกวิธี"

อาจารย์พยอมระบุว่า ในอนาคตการใช้แนวปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำไปแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยแนวปะการังเทียมเหล่านี้จะทำหน้าที่สลายและลดพลังงานคลื่น ปรับเปลี่ยนลักษณะของคลื่นที่เคลื่อนที่เข้าสู่ชายหาดให้เบาลง ในขณะเดียวกันที่การเคลื่อนย้ายเม็ดทรายขึ้นมาบนชายหาดจะมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับคลื่นลม

ดังนั้น เราศึกษาถึงรูปแบบ รูปร่าง รูปทรง และขนาดแท่งปะการังเทียม รวมถึงช่องเปิดโดยรอบแท่งปะการังเทียม เพื่อให้เป็นช่องทางเข้าออกของน้ำทะเลและสัตว์ทะเล เพื่อให้แนวปะการังเทียมสามารถเป็นที่ยึดเกาะ อยู่อาศัย หลบภัย และอนุบาลสัตว์ทะเลได้

หากการศึกษาวิจัยสัมฤทธิผลจะช่วยลดวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งได้ ในแง่ของการวิจัยอาจจะใช้เวลาหลายปี แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมหาศาล



จาก : ข่าวสด วันที่ 13 เมิถุนายน 2553

สายน้ำ 24-06-2010 07:59

2 Attachment(s)

สร้างบ้านปลาด้วยปะการังเทียม


การทำประมงชายฝั่งเป็นอาชีพที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างช้านาน จวบจนสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งและปัจจัยต่างๆมีผลกระทบ ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำของไทยมีปริมาณลดลงอย่างมากจนบางชนิดใกล้สูญพันธุ์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่างๆจะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

กรมประมงนับเป็นหน่วยงานแรกและหน่วยงานหลักที่ริเริ่มให้มีการจัดสร้างปะการังเทียมขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ควบคู่กับการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ชาวประมง เยาวชน และประชาชน ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ การรักษาสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ

และจากการสำรวจสภาวะการประมงทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง กรมประมง ในปี พ.ศ. 2540 ที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณสัตว์ทะเลเฉพาะที่นำมาขึ้นที่ท่าขึ้นปลาที่สำคัญๆ ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 666,848 ตัน และมีปริมาณสัตว์ทะเลสูงสุดที่จังหวัดปัตตานี 288,241 ตัน นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่ต่อเนื่องจากการประมง อาทิ อู่และคานเรือประมงกว่า 35 แห่ง โรงน้ำแข็งกว่า 59 แห่ง ห้องเย็นกว่า 23 แห่ง โรงงานปลากระป๋อง กว่า 13 แห่ง โรงงานน้ำปลา 1 แห่ง โรงงานปลาป่น 32 แห่ง นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังมีจำนวนประชากรประมงเป็นจำนวนมากที่ได้ดำเนินธุรกิจทำการประมง

และด้วยความต้องการในทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก จึงเป็นผลให้การจับสัตว์น้ำขึ้นมาจากทะเลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพแวดล้อมของท้องทะเลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงและการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำตามธรรมชาติได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแหล่งอาศัยให้กับสัตว์น้ำในท้องทะเล ซึ่งแหล่งอาศัยหากินเพื่อเจริญเติบโตของสัตว์น้ำที่สำคัญก็คือแนวปะการังนั่นเอง

จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2552 ให้มีการสร้างปะการังเทียมให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวประมงที่เดือดร้อนให้ได้มีแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพที่อุดมสมบูรณ์ เหมือนเช่นในอดีต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมสนองพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดทำปะการังเทียมขึ้น

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในพิธีเปิดการส่งมอบและจัดวางปะการังเทียมภายใต้โครงการ “ร่วมสร้างบ้านปลาด้วยปะการังเทียม” ณ จังหวัดปัตตานี เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมาว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับสนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยในวิถีความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของชาวประมงขนาดเล็กที่มีฐานะยากจน มีรายได้น้อยขาดพื้นที่ทำการประมง โดยได้จัดสร้างปะการังเทียมเพิ่มขึ้นเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์ทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิมจึงดำเนินการกำหนดแผนการจัดสร้างปะการังเทียมปี 2553 ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ รวม 15 แห่ง รวมทั้งพื้นที่พิเศษใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดสงขลา สตูล นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ด้วย

โดยจะจัดวางห่างจากฝั่งประมาณ 6 กิโลเมตร ระดับน้ำลึก 13 เมตร เป็นแท่งคอนกรีตรูปลูกบาศก์แบบโปร่ง ขนาด 1.5x 1.5x1.5 เมตร จำนวน 638 แท่ง วางเป็นแถวเดี่ยวยาว 150 เมตร แบ่งเป็น 4 กลุ่มมีระยะห่างระหว่างกลุ่ม 50 เมตร

ทางด้าน ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากการติดตามผลการจัดสร้างปะการังเทียมในปี 2552 ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส จำนวน 6 แห่ง พบว่าชาวประมงขนาดเล็กมีแหล่งทำการประมงชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้เพิ่มขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าบางพื้นที่มีสัตว์น้ำบางชนิดที่หายไปในช่วงเวลาหนึ่งกลับคืนมา เช่น ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป ปลาจะละเม็ดเทา ปลาดุกทะเล และปลาตะลุมพุก เป็นต้น

แนวปะการังบริเวณชายฝั่งและแนวปะการังแบบกำแพงจะช่วยป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะของคลื่นและกระแสน้ำโดยตรง บริเวณชายฝั่งที่แนวปะการังถูกทำลายจะถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจากคลื่นลมทะเลในฤดูมรสุม เป็นแหล่งกำเนิดทรายให้กับชายหาด ทั้งจากการสึกกร่อนของโครงสร้างหินปูน การกัดกร่อนโดยสัตว์ทะเลบางชนิดและจากกระแสคลื่น ซึ่งทำให้หินปูนปะการังแตกละเอียดเป็นเม็ดทรายที่ขาวสะอาด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชนานาชนิด เช่น เต่าทะเลและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ ปลาหมึก หอย กุ้ง แมงกะพรุน และปลิงทะเล เป็นต้น.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 24 เมิถุนายน 2553

สายน้ำ 23-07-2010 08:36


ขนซากรถถังใช้ทำเป็นปะการังเทียมฟื้นฟูทะเลอ่าวไทยออกจากโคราชแล้ว


http://www.matichon.co.th/online/201...279844701l.jpg


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 23 ก.ค. ที่กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ สายสรรพาวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก เจ้าหน้าที่กรมทหารขนส่งรักษาพระองค์ได้นำซากรถถังรุ่น 30 T 69-2 ล็อตแรกจำนวน 9 คันที่จะใช้ทำเป็นปะการังเทียมให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลอ่าวไทย แถบจังหวัดนราธิวาส ตามโครงการพระราชดำริปะการังเทียมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ออกเดินทางจากจังหวัดนครราชสีมาแล้ว โดยขบวนซากรถถังได้เดินทางมุ่งหน้าไปยังท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ เพื่อส่งมอบซากรถถังให้ทางกรมประมงรับช่วงต่อเคลื่อนย้ายซากรถถังไปทิ้งลงทะเลอ่าวไทยแถบจังหวัดนราธิวาสต่อไป

สำหรับซากรถถังที่ถูกนำไปทำเป็นแหล่งปะการังเทียมนี้ เป็นรถถังขนาดกลาง รุ่น 30 T 69-2 ซึ่งผลิตขึ้นในประเทศจีน และถูกนำมาประจำการที่กองพันทหารม้าที่ 16 จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2530 ก่อนที่เสื่อมสภาพและถูกนำมาซ่อมบำรุงกับทางกองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2547 แต่หลังจากประเมินแล้วหากดำเนินการซ่อมแซมจะไม่คุ้มค่า ทางกองทัพบกจึงเห็นควรส่งมอบซากรถถังที่ไม่ใช้แล้วให้กับกรมประมงใช้ทำเป็นปะการังเทียมให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ตามโครงการพระราชดำริปะการังเทียม ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงต้องการส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลและการประมงของประเทศไทย

ทั้งนี้ ซากรถถังที่ทางกองทัพบกส่งมอบให้กับกรมประมงครั้งนี้มีจำนวน 25 คัน โดยจะทำการเคลื่อนย้ายทั้งหมด 3 รอบ ซึ่งในวันนี้ (23 ก.ค. 53) เป็นการเคลื่อนย้ายซากรถถังรอบแรกจำนวน 9 คัน รอบที่สองวันที่ 25 ก.ค. จำนวน 8 คัน และรอบสุดท้ายวันที่ 27 ก.ค.อีกจำนวน 8 คันโดยทางกองทหารขนส่งรักษาพระองค์จะทำการเคลื่อนย้ายซากรถถังไปที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ จากนั้นกรมประมงจะรับช่วงเคลื่อนย้ายต่อเพื่อนำซากรถถังไปทิ้งลงทะเลอ่าวไทยต่อไป โดยโครงการดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2553 นี้




จาก : มติชน วันที่ 23 กรกฎาคม 2553


สายน้ำ 23-07-2010 08:39


ทบ.ปลดรถถังชำรุดส่งประมงทำปะการังเทียม


กองทัพบกส่งมอบซากรถถัง 25 คันให้กรมประมงนำไปสร้างปะการังเทียม ฟื้นฟูทะเลอ่าวไทยที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี

ที่กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ สายสรรพวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ สายสรรพวุธ กรมสรรพวุธทหารบก (กรซย.ศซส.สพ.ทบ.) ภายในค่ายสุรธรรมพิทักษ์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดเตรียมซากรถถังที่ถูกปลดระวางจำนวน 25 คันไปทำเป็นปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดนราธิวาสและ ปัตตานี

รถถังดังกล่าวอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมจนเป็นสนิมเขรอะ ซึ่งจอดเรียงรายตาก แดดตากฝนอยู่ลานด้านหน้าโรงซ่อมบำรุงภายในศูนย์ดังกล่าว เป็นรถถังขนาดกลาง รุ่น 30 t 69-2 ที่เคยใช้งานอยู่แถบชายแดนประเทศไทย ซึ่งเป็นรถถังที่ผลิตขึ้นในประเทศจีน และถูกนำมาประจำการที่กองพันทหารม้า ที่ 16 จังหวัดนครศรีธรรมราช กองทัพบกไทย ตั้งแต่เมื่อปี 2530 ก่อนที่เสื่อมสภาพและถูกนำมาซ่อมบำรุงที่ กรซย.ศซส.สพ.ทบ. เมื่อปี 2547 แต่ไม่สามารถทำการซ่อมแซมได้ เนื่องจากประเมินความเสียหายแล้วเกิน 60% และไม่คุ้มค่ากับการซ่อมแซม

โดยมาจัดเตรียมลำเลียงขึ้นหัวรถลากเทรนเลอร์ 22 ล้อของกรมทหารขนส่งรักษาพระองค์ เพื่อขนย้ายไปยังท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ ก่อนจะนำขึ้นเรือไปยังจังหวัดนราธิวาส และจะถูกนำไปทิ้งลงในทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดนราธิวาสและปัตตานี เพื่อสร้างเป็นปะการังเทียมให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ตามโครงการพระราชดำริปะการังเทียมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงต้องการส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลและการประมงของประเทศไทย

พ.อ.มังกร ว่านเครือ รองผู้อำนวยการ กรซย.ศซส.สพ.ทบ. เปิดเผยว่า การส่งมอบซากรถถังในครั้งนี้เป็นการสนองพระเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงต้องการช่วยเหลือประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะแถบชายฝั่งจังหวัดปัตตานีและ นราธิวาส ซึ่งจริงๆแล้วโครงการนี้มีหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกรมประมง รวมถึงหน่วยราชการอื่นๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของท้องทะเลเช่นเดียวกัน สำหรับทางหน่วยทหารในสังกัดแห่งนี้ก็เป็นซากรถถังที่หมดสภาพซ่อมไม่คุ้มค่า เนื่องจากถูกใช้การมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน โดยเข้ามาประจำการในกองทัพไทยตั้งแต่ปี 2530 ที่ผ่านมา และกองทัพบกได้มีการพิจารณาแล้วว่า หากนำไปพัฒนาฟื้นฟูทะเลจะทำให้เกิดประโชยน์ต่อชาวประมงพื้นบ้าน สร้างความสมบูรณ์ของท้องทะเลมากกว่าอย่างอื่น

พ.อ.มังกรกล่าวอีกว่า สำหรับการขนย้ายซากรถถังทั้งหมดจะทำการเคลื่อนย้าย 3 รอบ คือ วันที่ 22, 24 และ 26 กรกฎาคม 2553 โดยทางกองทหารขนส่งรักษาพระองค์จะทำการขนย้ายไปที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ จากนั้นกรมประมงจะรับช่วงต่อโดยเดินทางทางเรือ เพื่อนำซากรถถังทั้งหมดไปรวมไว้ที่หน้าพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ก่อนจะนำไปทิ้งลงทะเลทำเป็นปะการังเทียมต่อไป.




จาก : ไทยโพสต์ วันที่ 23 กรกฎาคม 2553

koy 23-07-2010 09:29

เห็นข่าวนี้เหมือนกัน และมีข้อสงสัยตามประสาคนความรู้น้อย การที่เอารถถังลงไปอย่างนี้ มันจะสร้างมลพิษอะไรให้กับทะเลบ้างมั๊ยครับ อย่างสนิมจากตัวรถถัง ส่วนพวกน้ำมันเครื่อง จารบีอะไรต่างๆ คาดว่าเขาคงจะชำระทำความสะอาดก่อนเอาลงไปไว้ัในทะเลนะครับ ไม่ทราบว่ามีการศึกษาทำวิจัยผลดี/ผลเสียจากการทำปะการังเทียมอย่างนี้มั๊ยครับ

สายชล 23-07-2010 10:06



คงต้องทำความสะอาดตามขบวนการปฏิบัติเหมือนกับรถไฟและเครื่องบินที่นำไปทิ้งลงทะเลมาแล้วน่ะค่ะน้องก้อย ส่วนจะสะอาดจริงหรือไม่ ยากจะรู้ จนกว่าจะนำไปจมแล้วน้ำมันลอยฟ่องหรือไม่นะคะ

ผลดี....ก็น่าจะมีปลามาอาศัยกันมากขึ้น....ส่วนผลเสียก็น่าจะเป็นส่วนที่เป็นสนิม จะทำให้มีมลพิษเพิ่มขึ้นในท้องทะเล เหมือนกับตู้รถไฟ ที่ผุพัง กองเป็นขยะอยู่ก้นทะเลในเวลานี้...


ได้ยินเรื่องนี้มาจากนักเรียนที่เป็นนักข่าวช่อง 9 แต่ไม่นึกว่าจะนำไปลงที่นราธิวาส ถ้าไม่ไกลจากโลซิน เราน่าจะไปแวะดูนะคะ..


KENG@SK 23-07-2010 11:04

แล้วมันจะอยู่ได้นานซักเท่าไหร่เหรอครับแบบที่ยังพอเป็นโครงอยู่

สายชล 23-07-2010 11:48

โบกี้รถไฟ ที่มีไม้เป็นโครงหลักกับเหล็กที่เป็นสนิมได้ง่าย.... 5 ปี ก็กองเป็นขยะอยู่ที่พื้นทราย


ถ้าเป็นเหล็กกล้าอย่างเรือครามก็อยู่ได้นานค่ะ ไม่ผุง่ายๆ 7 ปีแล้วก็ยังดีอยู่ (ยกเว้นหอบังคับการ ที่ต่อในไทย ยุบไปเรียบร้อย)...


แต่ไม่ทราบว่ารถถังเป็นเหล็กประเภทไหน เลยตอบไม่ได้ค่ะ...

สายน้ำ 24-07-2010 07:52


ซากรถถัง 25 คัน ทำปะการังเทียม ส่งให้กรมประมงฟื้นฟูทะเลนราธิวาส-ปัตตานี


http://www.khaosod.co.th/news-photo/...01240753p1.jpg

นครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ ภายในค่ายสุรธรรมพิทักษ์ อ.เมืองนครราชสีมา ทางหน่วยได้จัดเตรียมซากรถถังจำนวน 25 คัน ซึ่งเป็นรถถังขนาดกลาง รุ่น 30 T 69-2 ซึ่งเป็นรถถังที่ผลิตขึ้นในประเทศจีน และถูกนำมาประจำการที่กองพันทหารม้าที่ 16 นครศรีธรรมราช กองทัพบก เมื่อปี 2530 ก่อนที่เสื่อมสภาพและถูกนำมาซ่อมบำรุงเมื่อปี 2547 แต่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ เนื่องจากประเมินความเสียหายแล้วเกิน 60% และไม่คุ้มค่ากับการซ่อมแซม มาจัดเตรียมลำเลียงขึ้นหัวรถลากของกรมทหารขนส่งรักษาพระองค์ เพื่อขนย้ายไปยังท่าเรือคลองเตย ก่อนจะขึ้นเรือไปยังจ.นราธิวาส และจะถูกนำไปทิ้งลงในทะเลอ่าวไทยที่นราธิวาสและปัตตานี ทำเป็นปะการังเทียม เพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล

พ.อ.มังกร ว่านเครือ รองผอ.กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์ เปิดเผยว่า การส่งมอบซากรถถังในครั้งนี้เป็นการสนองพระเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงต้องการช่วยเหลือประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะแถบชายฝั่งจ.ปัตตานีและนราธิวาส ซึ่งจริงๆแล้วโครงการนี้มีหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกรมประมง รวมถึงหน่วยราชการอื่นๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของท้องทะเลเช่นเดียวกัน สำหรับในส่วนของทางหน่วยทหารในสังกัดตนเองนี้ก็เป็นซากรถถังที่หมดสภาพซ่อม ไม่คุ้มค่า เนื่องจากถูกใช้การมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน โดยเข้ามาประจำการในกองทัพไทยตั้งแต่ปี 2530 กองทัพบกพิจารณาแล้วว่าหากนำไปพัฒนาฟื้นฟูทะเลจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อชาวประมงพื้นบ้าน สร้างความสมบูรณ์ของท้องทะเลมากกว่าอย่างอื่น

สำหรับการขนย้ายซากรถถังทั้งหมด จะเคลื่อนย้าย 3 รอบ คือวันที่ 22 ก.ค. 24 ก.ค. และ 26 ก.ค. นำไว้ที่หน้าพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ก่อนจะนำไปทิ้งลงทะเลต่อไป



จาก : ข่าวสด วันที่ 24 กรกฎาคม 2553

สายน้ำ 24-07-2010 07:56


หย่อนปะการังเทียมฟื้นทะเลสนองพระราชดำรัสราชินี


http://www.bangkokbiznews.com/home/m...g_344601_1.jpg


หลายหน่วยสนองพระราชดำรัสราชินี ทำปะการังเทียม ตามแผน 15 จุด โบกี้ 273 คัน รถขยะกทม. 198 คัน รถถัง 25 คัน ฤกษ์หย่อนทะเลปัตตานี-นราธิวาส 2-9 ส.ค.

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาส 78 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2553 และรับสนองพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2552 ในโอกาสที่คณะบุคคลต่างๆเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลและเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงเพิ่มขึ้น

จากพระราชดำรัสดังกล่าว ขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการจะจัดสร้างปะการังเทียมภายใต้ “โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส” ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร กองทัพบก และกองทัพไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งมอบหมายให้กรมประมงประสานงานหน่วยงานต่างๆกำหนดจุดพิกัดที่จัดวางปะการังเทียมร่วมกับชาวประมงท้องถิ่น และควบคุมการจัดวางวัสดุให้ถูกต้องตามที่ชาวประมงต้องการ

สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการฯกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้ประสานงานกับหน่วยสนับสนุนต่างๆ จนกระทั่งทุกหน่วยงานมีความพร้อมที่จะส่งมอบวัสดุดังกล่าวข้างต้น โดยได้กำหนดแผนให้มีการส่งมอบวัสดุทั้งหมด ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทยสนับสนุนตู้รถสินค้า จำนวน 273 คัน กรุงเทพมหานครสนับสนุนรถยนต์เก็บขยะมูลฝอย จำนวน 198 คัน กองทัพบกสนับสนุนรถถัง รุ่น T 69 จำนวน 25 คัน และกองทัพไทยสนับสนุนรถยนต์ 3 คัน บริเวณท่าเทียบเรือชายฝั่ง การท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2553 และการสังเกตการณ์ในทะเล ในทะเลพื้นที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ช่วงวันที่ 2 - 9 สิงหาคม 2553

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งเป้าหมายของโครงการฯ ที่นอกจากหน่วยงานต่างๆดังกล่าวข้างต้นได้ร่วมกันจัดทำโครงการพิธีมอบวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วเพื่อ จัดสร้างเป็นปะการังเทียมในโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสครั้งนี้ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังจะส่งผลทำให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับทรัพยากรทางธรรมชาติใต้ทะเลมากขึ้น

ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นผลสำเร็จใน ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ที่นอกจากจะก่อให้เกิดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศใต้ทะเลแล้ว ยังส่งผลทำให้ชาวประมงมีแหล่งประกอบอาชีพทางการประมงเพิ่มมากขึ้นด้วยและจะเพิ่มเติมจากโครงการจัดสร้างปะการังเทียมของกระทรวงเกษตรฯ ตามแผนเร่งรัดในการจัดสร้างปะการังเทียมให้เสร็จตามแผนงาน ทั้งสิ้น 15 แห่ง งบประมาณรวมทั้งสิ้น 42 ล้านบาท แบ่งเป็น การจัดสร้างในเขตจังหวัดตราด 1 แห่ง จันทบุรี 1 แห่ง จังหวัดเพชรบุรี 2 แห่ง จังหวัดชุมพร 2 แห่ง จังหวัดนครศรีธรรมราช 1 แห่ง จังหวัดสงขลา 2 แห่ง จังหวัดปัตตานี 2 แห่ง จังหวัดนราธิวาส 1 แห่ง จังหวัดสตูล 1 แห่ง จังหวัดกระบี่ 1 แห่ง และจังหวัดพังงา 1 แห่ง เพื่อเป็นการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำซึ่งจะส่งผลประโยชน์ต่อชาวประมงในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนในอนาคต





จาก : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 กรกฎาคม 2553


เบิ๊ด 24-07-2010 15:11

ทริปโลซินพวกเราอาจจะได้ไปดูกันเหรอคร้าบพี่น้อย ^^

สายน้ำ 26-07-2010 07:29


ทบ.ระดมซากรถถัง จัดทำปะการังเทียม สนองพระราชดำรัส ฟื้นธรรมชาติใต้ทะเล


นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสร้างปะการังเทียม เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลและเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายหน่วยงานต่างๆประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปัตตานีและนราธิวาส

ทั้งนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยสนับสนุนตู้รถสินค้า จำนวน 273 คัน กรุงเทพมหานครสนับสนุนรถยนต์เก็บขยะมูลฝอย จำนวน 198 คัน กองทัพบกสนับสนุนรถถัง รุ่น t 69 จำนวน 25 คัน และกองทัพไทยสนับสนุนรถยนต์ 3 คัน เพื่อนำไปจัดสร้างปะการังเทียมในทะเลพื้นที่ จ.ปัตตานีและนราธิวาส

นายธีระ กล่าวด้วยว่า การจัดสร้างปะการังเทียมดังกล่าว นอกจากจะก่อให้เกิดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศใต้ทะเลแล้ว ยังส่งผลทำให้ชาวประมงมีแหล่งประกอบอาชีพทางการประมงเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังจะมีการจัดโครงการสร้างปะการังเทียมเพิ่มเติมจากโครงการจัดสร้างปะการังเทียมของกระทรวงเกษตรฯ ตามแผนเร่งรัดในการจัดสร้างปะการังเทียมให้เสร็จตามแผนงาน ทั้งสิ้น 15 แห่ง งบประมาณรวมทั้งสิ้น 42 ล้านบาท แบ่งเป็น จ.ตราด 1 แห่ง จันทบุรี 1 แห่ง เพชรบุรี 2 แห่ง ชุมพร 2 แห่ง นครศรีธรรมราช 1 แห่ง สงขลา 2 แห่ง ปัตตานี 2 แห่ง นราธิวาส 1 แห่ง สตูล 1 แห่ง กระบี่ 1 แห่ง และพังงา 1 แห่ง



จาก : แนวหน้า วันที่ 26 กรกฎาคม 2553

สายน้ำ 30-07-2010 07:51


รถถังหย่อนทะเล


กรมประมงสร้างปะการังเทียมจากตู้รถไฟ รถขยะ กทม. และรถถังกองทัพบก ทำเป็นบ้านหลังใหม่ให้ปลาน้อยใหญ่อยู่อาศัย ช่วยเหลือประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษา 78 พรรษา นักวิชาการเผยสำรวจพบปลาหายากเพิ่มมากขึ้นและไม่เกิดมลพิษในระบบนิเวศใต้ทะเล

ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ กรมประมงได้ทำพิธีรับมอบวัสดุขนาดใหญ่ที่ไม่ใช้งานแล้วเพื่อนำไปจัดสร้างปะการังเทียมในทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยส่งมอบตู้สินค้าจำนวน 273 คัน กรุงเทพมหานครมอบรถเก็บขยะมูลฝอย 198 คัน กองทัพบกมอบรถถัง 25 คัน และกองทัพไทยสนับสนุนรถราดน้ำ 3 คัน รวมทั้งสิ้น 499 คัน จัดขึ้น ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย คลองเตย

นายธานินทร สิงหะไกรวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันและพัฒนาเทคโนโลยีประมงทะเล กรมประมง ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างปะการังเทียมภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส เสร็จสิ้น แล้วจำนวน 72 จุด ในปีนี้จะทำปะการังเทียมเพิ่มอีก 15 จุด จากการสำรวจสภาพปะการังเทียมเหล่านี้พบว่า ได้กลายเป็นระบบนิเวศแห่งใหม่ใต้ทะเลที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง โดยพบเจอปลาและสัตว์น้ำหลายชนิดที่สูญหายไปนานแล้วกลับเข้ามาอาศัยและหากิน เช่น ปลาหมอทะเล และปลาผีเสื้อเทวรูป เป็นต้น ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านหรือประมงขนาดเล็กๆ สามารถจับสัตว์น้ำได้จำนวนมากขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

นายธานินทรกล่าวว่า การนำวัสดุเก่าที่ไม่ใช้งานแล้วมาทำปะการังเทียมถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศใต้ทะเล ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ติดตามผลการจัดสร้างปะการังเทียม โดยเก็บตัวอย่างน้ำทะเล ตะกอนดินและในตัวสัตว์น้ำ เพื่อสำรวจหาสารโลหะหนัก พบว่าไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและผู้บริโภค ทั้งนี้ วัสดุต่างๆที่นำมาทำปะการังเทียมส่วนใหญ่เป็นเหล็กขนาดหนาคงทน เมื่ออยู่ในน้ำทะเลซึ่งมีความเป็นด่างทำให้เกิดการผุกร่อนน้อย และปริมาณออกซิเจนในทะเลน้อยกว่าในอากาศทำให้เกิดสนิมบนวัสดุไม่มากนัก

"ตู้สินค้ารถไฟ รถถังและรถขยะ มีพื้นผิวหลังคาและผนังที่ให้สิ่งมีชีวิตชนิดเกาะติด เช่น หอย เพรียงและฟองน้ำเข้ามาอาศัย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของปลาขนาดเล็ก จากนั้นก็จะมีสัตว์น้ำใหญ่ๆเข้ามาหากิน เกิดเป็นห่วงโซ่อาหารและเป็นถิ่นอาศัยถาวร มีการวางไข่และเลี้ยงตัววัยอ่อน เกิดระบบนิเวศใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงเรียกว่าปะการังเทียม มีปลาเข้าไปอยู่มาก เราไม่ห้ามชาวประมงจับปลา แต่ต้องใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ทำความเสียหายต่อทรัพยากร"

ภายหลังจากกรมประมงรับมอบตู้สินค้า รถถังและรถขยะจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว จะนำขนส่งทางเรือไปยังจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ส่วนจุดพิกัดที่จะวาง ปะการังเทียมได้กำหนดร่วมกับชาวประมงท้องถิ่น และควบคุมการจัดวางวัสดุให้ถูกต้องตามที่ชาวประมงต้องการ ในเบื้องต้นวางแผนที่จะวางปะการังเทียมตั้งแต่วันที่ 5-9 สิงหาคม 2553 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 78 พระชนมพรรษา

อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิชาการผู้ประเมินโครงการปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า บริเวณที่นำวัสดุไม่ใช้แล้วไปทำปะการังเทียมกลายเป็นแหล่งอาศัยแห่งใหม่ของปลาและสัตว์น้ำจำนวนมาก โดยพบว่าไม่มีมลพิษหรือสารอันตรายต่อสัตว์น้ำ ส่งผลให้ชาวประมงจับปลาได้มากขึ้นโดยไม่ต้องออกเรือไปไกล ลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาทำประมง จากการสำรวจปะการังเทียมภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พบว่ามีสัตว์น้ำหายากเข้าไปอาศัย เช่น ปลาหมอทะเล ปลากระเบน เต่าทะเล กัลปังหา และดอกไม้ทะเล เป็นต้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 ในโอกาสที่คณะบุคคลต่างๆเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสใจความว่า

"ปีนี้ประมงพื้นบ้านตั้งแต่ปัตตานีจนถึงนราธิวาสหลายร้อยคนเขียนจดหมายถึง ข้าพเจ้าแล้วก็เซ็นชื่อเป็นบัญชีหางว่าวเลย ขอให้ข้าพเจ้าช่วยจัดทำปะการังเทียมเพิ่มเติมขึ้นอีก แล้วตอนนี้ใครจะช่วยข้าพเจ้า ตอนนี้จะเอาอะไรไปทิ้งให้ปลามันอยู่ ข้าพเจ้าจึงนำมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังว่า ปะการังเทียมนั้นใช้ได้ผลจริงๆ

น่าภูมิใจแทนหน่วยงานทั้งหลายที่ช่วยเหลือประชาชนประสบผลสำเร็จ และข้าพเจ้าก็เลยขอถือโอกาสนี้ส่งข่าวถึงกลุ่มประมงพื้นบ้านที่เขาเขียนจดหมายถึงข้าพเจ้าขอปะการังเทียมเพิ่มเติมด้วยว่า ข้าพเจ้าจะพยายามขอร้องให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกแห่งช่วยกันประสานงาน เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอก็คงจะเริ่มจัดสร้างพื้นที่บริเวณปะการังเทียมได้อีก เพื่อประชาชนจะได้ไปตกปลา ไปทำมาหากินได้เพิ่ม".



จาก : ไทยโพสต์ วันที่ 30 กรกฎาคม 2553

สายน้ำ 05-08-2010 07:49

1 Attachment(s)

สร้างบ้านปลา 'ปะการังเทียม' ฟื้นชีวิตใต้ท้องทะเล


จากปริมาณประชากรสัตว์น้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น และผลจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเลที่เป็นบ้านพักพิงของสัตว์น้ำต่างๆที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การฟื้นฟูธรรมชาติใต้ท้องทะเลจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่มนุษย์ต้องเร่งแก้ไข แม้การช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้เหมือนเดิมจะเป็นเรื่องยาก แต่การช่วยเหลือให้ทรัพยากรธรรมชาติกลับฟื้นคืนมาดังเดิมโดยวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้น ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการฟื้นฟู

จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเป็นห่วงประชากรสัตว์น้ำที่ลดลง จึงเกิดโครงการ “ร่วมสร้างบ้านปลา...ด้วยปะการังเทียม” ณ บริเวณ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ห่างจากฝั่งประมาณ 6 กิโล เมตร โดยความร่วมมือระหว่าง กองทัพเรือ-กรมประมง- กรมเจ้าท่า-กรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง ทำการทิ้งปะการังเทียมแท่งคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมจำนวน 638 แท่ง กระจายรอบพื้นที่เพื่อฟื้นฟูสัตว์น้ำให้มีแหล่งพักพิงอาศัย

พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรใต้ท้องทะเลในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยการดำเนินโครงการมีความต่อเนื่องในการศึกษาพื้นที่ซึ่งจะนำปะการังไปวาง และศึกษาความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างได้ผลสูงสุด

สำหรับพื้นที่ จ.ปัตตานี ที่ทำการทิ้งปะการังเทียมในครั้งนี้อยู่ในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง ห่างจากฝั่งประมาณ 6 กิโล เมตร ระดับน้ำลึก 13 เมตร วัสดุที่ใช้เป็นแท่งคอนกรีตรูปลูกบาศก์แบบโปร่ง ขนาด 1.5X1.5X1.5 เมตร โดยการนำไปวางในลักษณะแถวเดียวกันยาว 150 เมตร แบ่งเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มห่างกัน 50 เมตร

หลังจากวางลงไปใต้ท้องทะเลไม่นานดินจะทับถมปะการังเทียมให้ยึดติดอยู่บริเวณดังกล่าว และบรรดาสัตว์น้ำต่างๆจะเข้ามาอาศัยเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ โดยจะส่งผลให้ประชากรสัตว์น้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อชาวประมงในพื้นที่ได้มีปลาที่ทำการประมงเพิ่มขึ้น

ในส่วนของการเลือกใช้วัสดุที่จะนำมาทำเป็นปะการังเทียม ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการมีมติร่วมกันว่า ต้องใช้วัสดุที่ไม่เป็นพิษหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในท้องทะเลทั้งระยะสั้นและระยะยาว และมีประสิทธิภาพในการดึงดูดสัตว์น้ำตลอดจนพัฒนาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยใต้ท้องทะเลได้ ขณะเดียวกันต้องมีสภาพที่คงเดิมไม่เสี่ยงต่อการเสียหายในระยะสั้น สามารถคงรูปเดิมได้ยาวนาน

นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสู่ทะเล ตลอดจนคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรมากเกินไป

สำหรับการเลือกพื้นที่ควรอยู่หน้าหมู่บ้านประมง ซึ่งเคยเป็นแหล่งประมงที่ดีมาก่อน แต่ได้รับผลกระทบเสื่อมโทรมลง เป็นทางผ่านหรือเส้นทางย้ายของฝูงปลา ขณะเดียวกันพื้นที่ในทะเลไม่เป็นโคลนเหลว เพราะจะทำให้ปะการังจมตัว หรือไม่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันพื้นที่ซึ่งทำการวางปะการังเทียมต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ซึ่งต้องมีความลึกของน้ำทะเลที่เหมาะสม ไม่เป็นพื้นที่หวงห้าม หรือเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น เช่น เขต ท่าเรือ เขตสัมปทานขุดแร่ เขตสัมปทานรังนก เขตอุทยานทางทะเล แนวท่อหรือสายเคเบิลใต้น้ำ ไม่เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อการปฏิบัติการของทหารและความมั่นคงของประเทศ

ด้านรูปทรงของปะการังเทียม ต้องคำนึงถึงการใช้งาน เช่น การใช้งานเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล นิยมใช้รูปทรงที่มีโครงสร้างซับซ้อนและมีช่องว่างหรือรูเพื่อให้เป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำ จะจัดวางเป็นจำนวนมากซ้อนกันในจำนวนสูงในน้ำลึก มีลักษณะเป็นกองใหญ่ เพื่อสามารถดึงดูดฝูงปลาได้หลายชนิด ทั้งปลาหน้าดิน และปลากลางน้ำ

ส่วนการจัดวางเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงที่มีพื้นที่หน้าตัดแบบราบและมีพื้นที่ว่างจำนวนมากสำหรับการยึดเกาะ จัดวางชั้นเดียวให้ สามารถรับแสงได้ ในบริเวณที่มีคุณภาพน้ำทะเลที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปะการัง

ขณะที่การจัดวางเพื่อป้องกันระบบนิเวศทางทะเล ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก จัดวางซ้อนกันเป็นแนวขวางการเข้ามาของเครื่องมือประมง สำหรับพื้นที่เพื่อการดำน้ำ ควรมีรูปทรงที่มีเอกลักษณ์ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น เครื่องบิน เรือ หรืองานประติมากรรมรูปปั้นที่มีเอกลักษณ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อการดำน้ำ

การจัดวางเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นรูปทรงที่เลียนแบบแนวปะการังธรรมชาติ ลดพลังงานของ การเคลื่อนที่เข้ามากระทบฝั่ง จัดวางขนานแนวชายฝั่งในระยะที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคลื่นลม และความลึกของท้องทะเล

จุมพล สงวนสิน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กล่าวว่า การจัดสร้างปะการังเทียมของกรมประมง ดำเนินการเพื่อสร้างแหล่งอาศัยให้สัตว์ทะเล และจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงเกิดโครงการปะการังเทียมขึ้นเพื่อประโยชน์ที่ได้รับจากการสร้างปะการังเทียม คือ ทำให้ชาวประมงขนาดเล็กมีแหล่งทำการประมงชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องออกไปทำการประมงไกลฝั่ง

การทำประมงริมชายฝั่งย่อมส่งผลให้ชาวประมงประหยัดต้นทุน และมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ อีกทั้งเป็นแนวป้องกันการทำลายสัตว์น้ำขนาดเล็ก และสภาพแวดล้อมที่ถูกทำให้เสียหายด้วยเครื่องมืออวนลากชายฝั่ง โดยจะสามารถลดข้อขัดแย้งระหว่างชาวประมงในเรื่องพื้นที่ทำประมงได้

ปะการังเทียม นับเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยเหลือให้สัตว์น้ำและชาวประมงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนในพื้น ที่หากินของตนเอง.


********************************

รู้จักปะการังเทียม

ปะการังเทียม มีชื่อเรียกเป็นทางการในภาษาอังกฤษว่า อิมมิเทชั่น รีฟ (Imitation Reef) หมายถึง กองหินเทียมใต้น้ำ เป็นการทำขึ้นเลียนแบบโขดหิน หรือหินกองใต้น้ำ ซึ่งนักตกปลาทางทะเลจะรู้จักกันดี โดยในบ้านเราใช้คำว่า ปะการังเทียม

ปะการังเทียม มักถูกสร้างขึ้นในรูปแบบต่างๆ เพื่อดัดแปลงสภาพของพื้นท้องทะเลที่ปะการังทางธรรมชาติถูกทำลายเหลือจำนวนลดน้อยลงให้มีความอุดมสมบูรณ์เฉกเช่นในอดีต โดยการจัดทำสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยหรือเรียกง่ายๆ ว่า บ้านปลา เลียนแบบบริเวณที่มีกองหินใต้น้ำ ซากเรืออับปาง หรือแนวปะการังธรรมชาติ โดยการใช้วัสดุที่แข็งแรง ทนทาน มีน้ำหนัก สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ ราคาไม่แพง มีรูปแบบที่มีช่องเงาให้สัตว์น้ำกำบังหรือหลบซ่อนตัวได้ และนำไปวางรวมกลุ่มกันในบริเวณต่างๆตามแนวชายฝั่งที่เหมาะสม.




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 5 สิงหาคม 2553

หอยกะทิ 07-08-2010 01:02

พวกเศษเหล็กที่ทิ้งน้ำน่าจะเรียกได้ว่าการแก้ปัญหาระยะสั้น หรือการเพิ่มสัตว์น้ำแบบชั่วคราว ถ้าโชคดีปะการังหรืออะไรแข็งๆเกาะจนเป็นโครงได้ก็ดีไป น่าจะได้ระยะยาว ส่วนเหล็กและสนิม ส่วนตัวความรู้น้อยของผม คิดว่าไม่กระทบมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้กลับมา เพราะธาตุเหล็กที่มีในทะเลบริเวณนั้นก็เป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างชีวิตใหม่อยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าถ้าใส่ในพื้นที่ปะการังเสื่อมหรือไม่มีเลย น่าจะดีกว่าวางต่อหรือใกล้กับแนวปะการังสมบูรณ์

ส่วนปัญหาอย่างอื่นที่มากกว่าแค่ การปนเปื้อน และประชากรปลา เช่น กระแสน้ำ ภูมิประเทศ ผลกระทบต่อแนวปะการังที่อื่น ยังขาดอีกมากที่จะมีการศึกษาจริงจัง เหมือนกันทุกประเทศ สุดท้ายค่อยรอดูผลลัพธ์ แล้วเอาเป็นบทเรียน อาจจะนานไป บางจุดที่เคยเห็นทำแนวฟื้นฟู เกิดแนวปะการังใหม่ที่ยังไม่สมบูรณ์จริงๆ แต่แนวข้างเคียงที่สมบูรณ์อยู่แล้ว และน่าเสียดายมาก ก็พังทลายไป เพราะกระแสน้ำเปลี่ยน การสะสมตะกอนเปลี่ยน เกิดปะการังฟอกขาวก็โทษโลกร้อนก็จบ ไม่เห็นต้องคิดมาก แค่ตอนนี้จะออกข่าวนี่นา อุ๊บ! ถ้าผมโดนอุ้มอาจจะเพราะกระทู้นี้

สายชล 07-08-2010 06:50



ได้ยินมาว่า พวกตู้รถไฟ...รถขยะ...รถถัง จะนำไปไว้บนพื้นทราย ห่างไกลแนวปะการังค่ะ


มีอาจารย์บอย...ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ทำการศึกษา ดูแล และควบคุมโครงการอยู่ ก็เบาใจไปได้หน่อยค่ะ


หอยกะทิ 08-08-2010 21:29

ถ้าอย่าพี่สายชลบอกก็สบายใจไปได้เยอะครับ

เพราะประเภทที่เคยเจอมาบ้าง โครงการ...ตามด้วยคำหวานๆอย่างเพื่อทะเลไทย เพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำ บลา บลา บลา ... เพื่อให้รู้ว่าควรส่งเสริมทั้งๆที่ไม่ปี่ ขลุ่ย หรือแตรที่ไหนมาเป่าก่อน แล้วก็เอาแท่ง เสา หรืออะไรก็ไม่รู้ใหญ่ๆ วางโครมๆ มีทั้งฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย มีทั้งเอกชนที่ไม่รู้มาจากไหน และหลวงที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงทำโดยไม่มีการศึกษาเลย พวกวางต่อข้างแนวปะการังก็มี ผมไม่ได้จำแน่นอนว่าวางตำแหน่งไหนแต่ได้ร่วมวางกับเขาด้วยเพราะเพื่อชวนกันไป สุดท้าย อยากร้องไห้บนเรือ

สรุปจากสถานการณ์ที่ผมประมวลได้ในสิ้นวันนั้น คือ เจ้าของรีสอร์ทแถวเกาะช้าง ต้องการขนซากอาคารเก่าทิ้งแต่ไม่อยากขนเสียปล่าว เลยน่าจะมีเส้นที่จะให้หลวงหรืออะไรคล้ายๆอย่างนี้ มาช่วยขนทิ้ง ไหนๆก็จะลงทุนแล้วก็ขอผลทางการค้าด้วยเลยจะเป็นโครงการโปรโมตซะ สุดท้ายทิ้งแถวเกาะช้างนั่นแหละ ห่างจากรีสอร์ทมันมาไม่ไกลเลย นี่คือเหตการณ์เน่าๆของการเมืองแบบ สะดวกซื้อ ที่ซื้อได้อยู่เมื่อปีที่แล้ว

ส่วนนอกนั้น ยังเจอมาเกือบทุกปีกับเรื่องแบบนี้ ทั้งหน่วยงานที่มีสี หรือไม่มีสี

ผมซีเรียสเองครับพี่ อย่างพวกรีสอร์ทไฮโซนี่ก็ชอบไปชัก ngo ฝรั่งเข้ามาป่วนออกบ่อย จะวางปะการังเทียมตรงนั้นตรงนี้ ไม่มีงานศึกษารองรับ รู้แค่ได้หน้าพอ พี่ๆกรมทรัพย์น่าจะเคยได้ปวดหัวผ่านๆกันมาแล้วทุกปี

หอยกะทิ 08-08-2010 21:31

หัวข้อหนักๆแบบนี้ คราวหน้าไม่โพสดีกว่า นอนไม่หลับเอง มันเครียด -_-"

สายชล 08-08-2010 23:38



เรื่องแบบนี้....พี่ก็เคยเครียดเหมือนน้องหอยกะทิมาแล้วค่ะ....


แต่หลังๆมาคิดได้ว่า จะเครียดไปทำไมให้แก่เร็วขึ้นไปอีก ตอนนี้ก็เลยเลิกเครียด....หันมานั่งปลงอนิจจังอย่างเดียว...สบายใจดีออก



หอยกะทิ 09-08-2010 08:24

ปลงๆๆๆครับ

สายน้ำ 16-08-2010 08:05


ปะการังเทียมจากรถขยะ กทม.


แนวปะการังใต้ท้องทะเลของประเทศไทยเป็นมรดกทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่า และมีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่วันนี้ชายฝั่งทะเลและแนวปะการังใต้ทะเลกำลังถูกทำลายทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ได้สร้างความเสียหายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวไทยและเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมไม่เพียงเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังได้ขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ด้วยการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งเน้นตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จากการที่กรุงเทพฯมีซากรถเก็บขนมูลฝอยเก่าซึ่งหมดสภาพการใช้งานเป็นจำนวนมาก และต้องการสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้จัดทำ “โครงการน้อมเกล้าถวายรถยนต์เก่า เพื่อทำเป็นปะการังเทียม” ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กรุงเทพฯได้น้อมเกล้าฯถวายซากรถเก็บขนมูลฝอยเพื่อใช้เป็นปะการังเทียมในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2549 ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถเก็บขนมูลฝอยเพื่อทำปะการังเทียมจำนวน 189 คัน และในปี 2550 จำนวน 200 คัน

ในปี 2553 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ได้สานต่อโครงการน้อมเกล้าฯถวายรถยนต์เก่าเพื่อทำเป็นปะการังเทียม (ครั้งที่ 3) อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายวากรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 5 ตัน จำนวน 198 คัน เป็นรถขยะเก่าที่หมดสภาพการใช้งานมานานกว่า 9 ปีขึ้นไปโดยได้ทำการล้างทำความสะอาด ตัดล้อ รวมทั้งตัดวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับน้ำมันออกทั้งหมดและส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้กรมประมง สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ (กปร.) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ก.ค.53 และทำพิธีส่งมอบในวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง การท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย และได้มีการจัดวางปะการังเทียมในทะเลเขตอำเภอปะนาเระ สายบุรี และไม้แก่น จังหวัดปัตตานี และเขตอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่าน

สำหรับการสร้างปะการังเทียมจะดึงดูดให้ปลามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก และหลากหลายชนิด ทำให้เกิดระบบนิเวศห่วงโซ่อาหารของปลาที่เพิ่มมากขึ้นและไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม เพราะซากรถจะถูกกัดกร่อนย่อยสลายไปโดยธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางทะเล อีกทั้งประโยชน์ที่มองเห็นของแนวปะการังซึ่งมีลักษณะเป็นเขื่อน ถ้าไม่มีแนวปะการังคลื่นจะซัดเข้าชนชายหาดกัดเซาะแนวชายฝั่ง แนวปะการังจึงมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การดำเนินการดังกล่าวนอกจากเป็นการฟื้นคืนความสมบูรณ์ของท้องทะเลแล้ว ยังก่อให้เกิดภูมิปัญญาอาชีพใหม่ทำให้คนในท้องถิ่นกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน




จาก ............... บ้านเมือง วันที่ 15 สิงหาคม 2553

สายน้ำ 24-08-2010 06:14


ภารกิจ 'รถถัง' ใต้ทะเล


http://www.bangkokbiznews.com/home/m...g_349256_1.jpg


เชื่อไหมว่ารถถังปลดระวางยังมีประโยชน์ ถึงรบไม่ได้ แต่กินได้! แม้กระทั่งรถขนขยะ หรือจะใหญ่ยักษ์ขนาดรถไฟ ก็กินได้ทั้งนั้น

ปล่า... เราไม่ได้ให้คุณๆ ผู้อ่านหันมาบริโภคเหล็ก แต่ที่บอกว่ากินได้ ก็เพราะวันนี้เจ้าพี่ยักษ์จักรกลปลดเกษียณเหล่านี้ได้รับมอบหมายภารกิจใหม่ ดิ่งลงสู่ใต้ทะเล เพื่อรอวันที่จะเกิดใหม่ในชื่อ "ปะการังเทียม" ความหวังของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ใต้ทะเลที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้มาแต่อ้อนแต่ออก

เมื่อบ้านพังเสียหาย แน่นอนว่าผู้อาศัยย่อมลำบาก ปะการังไม่มี ปลาก็ไม่มา จนกระทั่งวันนี้ ใครๆ ก็รู้ว่าชาวเลต้องออกเรือหาปลาไกลบ้านขนาดไหน ถึงจะจับปลาได้มากพอที่จะคุ้มค่าเหนื่อย

อย่างนี้แล้ว ยังมีใครเถียงอีกไหมว่า รถถังกินไม่ได้?

หลายคนอาจไม่ทราบว่าทะเลไทยบ้านเราจัดว่ามีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปะการัง ที่มีอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลด้านอันดามัน แต่สถานการณ์ของปะการังในปัจจุบันพบว่ามีความเสื่อมโทรมลงอย่างมาก โดยเกิดขึ้นทั้งจากภัยธรรมชาติและด้วยน้ำมือมนุษย์ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ข้อมูลของกรมประมงพบว่า ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีพื้นที่ปะการัง 74.9 ตารางกิโลเมตร แต่มีสภาพสมบูรณ์ดีมากและสภาพสมบูรณ์ดีไม่ถึงครึ่งมีเพียงร้อยละ 45.5 และที่สำคัญมีมากถึงร้อยละ 23.7 ที่พบว่ามีสภาพเสื่อมโทรมสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากพายุ การพัฒนาแนวปะการังเป็นแหล่งท่องเที่ยว และผลกระทบจากการทำประมง

จึงต้องเรียกว่าเป็นภาวะเร่งด่วนจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ทั้งการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน จนถึงการจัดสร้างปะการังเทียมขึ้นมาเพื่อช่วยย่นเวลาในการนำความสมดุลกลับคืนสู่ท้องทะเล


http://www.bangkokbiznews.com/home/m...g_349256_2.jpg


"เทียม" แต่ "แท้"

ก่อนอื่นขออธิบายถึงวิธีการสร้าง "ปะการังเทียม" ที่ถูกต้องเสียก่อนว่า ไม่ใช่อะไรๆก็สามารถโยนลงทะเลแล้วจะเรียกว่าปะการังเทียมได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น เปลี่ยนคำเรียกให้ใหม่ว่า "ทิ้งขยะในทะเล" เสียยังจะเหมาะกว่า โดยหลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่า ซากตึก เศษปูน หรืออะไรก็ตามแต่ที่สิ่งมีชีวิตอย่าง หอยนางรม เพรียง ฟองน้ำสามารถเกาะได้ ก็จะถือว่าช่วยสร้างสมดุลแก่ธรรมชาติได้แล้ว

อย่าลืมว่าเป้าหมายสำคัญของการทำปะการังเทียม ก็คือ เพื่อทำให้กุ้งหอยปูปลากลับมาอยู่กันอย่างคึกคักเหมือนแต่ก่อน ฉะนั้น หากว่าสิ่งที่คนโยนลงไปไม่มีช่องว่างภายในให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเข้าไปอาศัยได้ ก็เหมือนกับบ้านไม่มีประตู แล้วจะยังมีประโยชน์อยู่หรือ?

ข้อมูลจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้คำนิยามของปะการังเทียม ไว้ว่า

"แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (Artificial Habitats) หรือ ปะการังเทียม (Artificial Reefs) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อดัดแปลงสภาพพื้นทะเล โดยการนำวัสดุที่แข็งแรงทนทานต้านกระแสน้ำได้และค่าใช้จ่ายคุ้มทุน ไปจัดวางที่พื้นทะเล เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอยู่อาศัย เป็นที่หลบภัย รวมทั้งเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำ เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ เสริมมาตรการควบคุมและบริหารจัดการทรัพยากรประมง"

เกณฑ์ในการเลือกสถานที่สร้างบ้านให้ปลานั้น กรมประมงกำหนดให้ต้องเป็นสถานที่ที่มีความลึกของน้ำทะเล 6 ม.ขึ้นไป พื้นทะเลไม่เป็นโคลนเหลว ไม่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเลอย่างรวดเร็วในฤดูน้ำหลาก ไม่เป็นพื้นที่ซึ่งมีตะกอนแขวนลอยในน้ำมาก ไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำ ไม่เป็นที่หวงห้ามเพื่อการใช้ประโยชน์อื่นๆทางทะเล เช่น เขตร่องน้ำเดินเรือ เขตจอดเรือ เขตพื้นที่ท่าเรือ เขตสัมปทานขุดแร่และแก๊สธรรมชาติ เขตสัมปทานรังนก เป็นต้น

ส่วนเรื่องวัสดุที่จะนำมาใช้ทำเป็นปะการังเทียมนั้น ได้มีการวิจัยและพัฒนาโดยกรมประมงต่อเนื่องมาหลายสิบปี โดยปะการังเทียมชุดแรก เกิดขึ้นในปี 2521 ทดลองจัดทำโดยสถานีประมงทะเลจังหวัดระยอง และเรียกว่า "มีนนิเวศน์" เป็นการใช้วัสดุแตกต่างกันหลายชนิด เช่น ยางรถยนต์เก่า ท่อคอนกรีต ผูกมัดเป็นรูปทรงต่างๆ กัน เพื่อศึกษาผลของการใช้วัสดุ และการดึงดูดสัตว์น้ำ โดยพบว่ามีสัตว์น้ำหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัย

นอกจากทดลองที่ชนิดของวัสดุแล้ว ก็ยังมีการทดสอบความแตกต่างของรูปทรงที่เหมาะสมด้วย ตัวอย่างเช่น พ.ศ.2526 สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา ได้ทดลองใช้วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กรูปสามเหลี่ยมพีระมิด ยาวด้านละ 80 ซม.จัดสร้างที่บริเวณชายฝั่งด้านหน้าของสถาบันฯ โดยเรียกว่า "แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล" ขณะที่ทางฝั่งทะเลอันดามัน สถานีประมงทะเลจังหวัดภูเก็ต ได้จัดสร้างปะการังเทียมด้วยยางรถยนต์เก่า และคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดสี่เหลี่ยมที่บริเวณอ่าวพังงา ในปี พ.ศ.2525


http://www.bangkokbiznews.com/home/m...g_349256_3.jpg


บ้านเหล็กใต้ทะเล

แต่ที่แปลกใหม่และเป็นข่าวฮือฮาก็คือ ปะการังเทียมซึ่งเกิดขึ้นจากโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยใช้ซากตู้รถไฟจำนวน 208 ตู้ทิ้งลงในทะเลลึกเขตจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2545 เพื่อฟื้นความสมบูรณ์ของธรรมชาติ

โดยก่อนที่รถไฟจะได้ย้ายบ้านสู่ก้นทะเลนั้น ต้องผ่านการศึกษาวิจัยในเรื่องอิทธิพลของกระแสน้ำว่าจะกระทบต่อกระแสน้ำหรือไม่ มีผลต่อชายฝั่งอย่างใดหรือไม่ และก็ได้รับทราบข้อมูลทางวิชาการว่า หากนำตู้รถไฟลงไปวางในระดับน้ำที่ลึกเกิน 20 เมตร จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชายฝั่งทะเล ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาด้านชีววิทยาและเคมีโดยกรมประมงได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของเหล็กที่มีต่อน้ำทะเล และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งได้รับคำตอบว่าไม่มีอันตราย

จากนั้นตู้สินค้าขนาดความยาว 6.5 เมตร กว้างและสูงเท่ากัน 2.18 เมตร น้ำหนัก 5.5 ตัน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการถอดล้อ ทำความสะอาดตู้ให้ปราศจากคราบน้ำมัน เปิดประตูทั้งสองและเชื่อมไว้ให้ถาวร จึงได้มีโอกาสดำดิ่งสู่ทะเลลึก ก่อนจะตามด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น ท่อระบายน้ำ รถเก็บขยะมูลฝอย และแท่งคอนกรีต

จากการลงสำรวจของทีมนักดำน้ำในบริเวณที่เคยที่ปะการังเทียมเหล็ก ที่เคยวางไว้นั้น จากเดิมซึ่งเคยเป็นพื้นทรายกว้างสุดระยะสายตา พบว่า มีปลาทะเลหลายชนิดอาศัยอยู่ วนเวียนว่ายอยู่รอบรถขยะและในช่องโพรงของรถ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา เป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำได้ไม่ต่างจากปะการังธรรมชาติ ผลพลอยได้ที่ตามมา เมื่อปลาที่เคยหายไปกลับคืนมา ชาวประมงไม่ต้องออกเรือไปหาไกลจากชายฝั่ง ประหยัดค่าน้ำมัน มีรายจ่ายลดลง และมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแนวกั้นให้กับเรือประมงพาณิชย์อวนลากได้อีกด้วย

มะรอฟี ลอตันหยง ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต.กะลุวอเหนือ ยืนยันชัดเจนว่า ปะการังเหล็กเหล่านี้ช่วยให้ปากท้องอิ่มขึ้นจริง

“หลังจากมีปะการังเทียม ปลากลับมาอาศัยอยู่มาก เราหาปลาได้ง่ายและมากขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลง สัตว์น้ำหลายชนิดที่เคยสูญหายไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา บางชนิดกลับมาอยู่ในปะการังเทียม ปลาที่เคยหายไปกลับมา ทั้งปลาหมอ ปลาสวยงาม ปลาหมอทะเล ปลาโทงเทง และสัตว์น้ำอีกหลายชนิด ก็กลับมา”

และเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 78 พระชนมพรรษา ในปี 2553 นี้ กรมประมงได้สานต่อ "โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส" ขึ้นอีกครั้ง โดยวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วจากกระทรวงคมนาคม

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยสนับสนุน "ตู้รถสินค้า" จำนวน 273 ตู้ กรุงเทพมหานครสนับสนุน "รถเก็บขยะมูลฝอย" จำนวน 198 คัน กองทัพบกสนับสนุน "รถถัง รุ่น ที 69" จำนวน 25 คัน และกองทัพไทยสนับสนุน "รถยนต์" 3 คัน รวมทั้งสิ้น 499 คัน เพื่อทำเป็นปะการังเทียม และแนวกันคลื่น รวมทั้งสิ้น 15 จุด ในพื้นที่ อ.ปะนาเระ อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี รวม 9 จุด และ อ.เมือง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส รวม 6 จุด ถือเป็นบิ๊กโปรเจคถึงขนาดที่ต้องใช้เรือบรรทุก สินค้าขนาดใหญ่ 2 ลำ ขนรถไปทิ้งโดยใช้เครนยก แล้วจึงใช้รถแบ็คโฮดันลงทะเล

ด้วยหวังจะให้ยักษ์เหล็กเหล่านี้สร้างความกินดีอยู่ดี ชาวบ้านได้อิ่มท้อง ทะเลได้อิ่มหนำ แล้วนักท่องเที่ยวยังจะได้อิ่มใจจากแนวปะการังน้องใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย

(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากมูลนิธิสวัสดี และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)



จาก ........... กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 สิงหาคม 2553


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:31

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger