SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   โลกร้อน (3) (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=75)

สายน้ำ 03-06-2009 07:53

โลกร้อน (3)
 

'ดินเยือกแข็ง' ละลาย


การละลายตัวของดินเยือกแข็งจะค่อยๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งนับรวมกันอาจมีปริมาณหลายพันล้านตันเลยทีเดียว

นักวิทยาศาสตร์กำลังถกเถียงกันเกี่ยวกับผลกระทบของสารอินทรีย์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ถูกกักเก็บไว้ในดินเยือกแข็งแถบมลรัฐอะแลสกา, แคนาดา, ยุโรปเหนือ และแคว้นไซบีเรีย

เพราะมีความวิตกกังวลกันว่า เมื่อดินเยือกแข็งหรือเพอร์มาฟรอสต์เหล่านี้ละลาย สารอินทรีย์เหล่านี้ก็จะถูกจุลินทรีย์เปลี่ยนให้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ยิ่งเพิ่มปรากฏการณ์เรือนกระจก

ปรากฏการณ์นี้จะทำให้โลกร้อนขึ้น แล้วยิ่งทำให้ดินเยือกแข็งละลายมากขึ้น ผลคือ อุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งละลายมากขึ้น เป็นวงจรต่อไปเรื่อยๆ

แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ว่า วงจรแบบนี้จะเริ่มขึ้นเมื่อไรและอย่างไร

อย่างไรก็ดี บางคนบอกว่า เรื่องนี้ไม่น่ากลัว เพราะเมื่อโลกร้อนขึ้นก็จะมีต้นไม้เกิดใหม่เพิ่มขึ้น แล้วต้นไม้ก็จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงเอง

ทีมวิจัยของเท็ด ชูร์ นักนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดา ได้ศึกษาทุ่งทุนดราในบริเวณทะเลสาบเอทไมล์ในตอนกลางของอะแลสกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการติดตามเก็บข้อมูลการละลายของดินเยือกแข็งมาตั้งแต่ปี 2533

คณะของเขาได้นำถังที่ออกแบบเป็นพิเศษไปติดตั้งใน 3 จุด ซึ่งมีการละลายน้อย ปานกลาง และมาก ตั้งแต่ปี 2547-2549 ถังเหล่านี้ได้ตรวจวัดว่ามีคาร์บอนลอยขึ้นจากดินมากน้อยแค่ไหน และถูกพืชดูดซับไว้แค่ไหน

สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า แม้พืชสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ แต่ก็ดูดซับไม่หมด ดินเยือกแข็งสามารถปล่อยคาร์บอนออกมาปีละ 1,000 ล้านตัน

นักวิจัยบอกว่า การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 8,500 ล้านตัน แต่โดยทฤษฎีแล้วเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังสามารถควบคุมได้

แต่การละลายของดินเยือกแข็งนั้น ยิ่งโลกร้อนขึ้นก็ยิ่งละลายเร็วขึ้น และไม่สามารถหยุดยั้งได้ด้วย การจะชะลอการละลายของดินเยือกแข็งซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนนั้นทำได้ 2 วิธี คือ หนึ่ง ลดการตัดไม้ทำลายป่า และสอง ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล



จาก : X-cite ไทยโพสต์ คอลัมน์โลกน่ารู้ วันที่ 3 มิถุนายน 2552

janny 03-06-2009 09:56

เคยดูในสารคดีเหมือนกันค่ะ เป็นดินที่แข็งมาหลายล้านปี ถ้าละลายจะเกิดสภาวะต่อโลกอย่างร้ายแรงเลยทีเดียว พวกเราต้องช่วยกันรณรงค์รักษ์โลกร้อนเพิ่มขึ้นนะคะเนี้ยะ

ตุ๊กแกผา 16-06-2009 09:49

ทำตามทฤษฎีทีไร ปัญหาตามมาทุกทีเลยเนอะ?

รู้แต่เพียงว่า....การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด(ที่ทุกคนรู้ดี..แต่ไม่ทำ บางตนนอกจากไม่ทำแล้ว ยังตรงข้ามด้วย)คือทำให้ต้นไม้เพิ่มขึ้นๆๆๆๆๆๆ

ก็ไม่ทำกันสักที........เฮ้อ!!!!!!

สายน้ำ 24-06-2009 07:23


ภาวะโลกร้อนกับภัยน้ำท่วม

ทุกวันนี้ใครๆ ก็รู้ว่า แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และบรรยากาศเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าจะถามว่าใครคือบุคคลแรกที่ได้ศึกษาเรื่องนี้ ประวัติวิทยาศาสตร์ก็ได้บันทึกว่า ในปี 2370 (รัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) Jean Baptiste Joseph Fourier คือนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ได้ทดลองพบว่าแสงเดินทางผ่านอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำได้ดีกว่าอากาศที่มีอุณหภูมิสูง อีก 35 ปีต่อมา John Tyndall ได้แสดงให้เห็นว่า ทั้งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำต่างก็ดูดกลืนรังสีอินฟราเรดได้ดี

http://pics.manager.co.th/Images/552000007223902.JPEG
Svante Arrhenius (คนที่นั่งบนโต๊ะ) ภาพนี้ถ่ายในปี 2439

และเมื่อถึงปี 2440 Svante Arrhenius ได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นหนึ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้เป็นครั้งแรกว่า อุณหภูมิของบรรยากาศโลกขึ้นกับปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่บรรยากาศมี ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ผลิตแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (เช่น การเผาป่า การเผาถ่านหิน การขับเคลื่อนยานยนต์ ฯลฯ) แล้วปล่อยออกสู่บรรยากาศ สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ เรือนกระจกที่โลกทุกวันนี้รู้จักในนาม ภาวะโลกร้อน หรือภาวะบรรยากาศเปลี่ยนแปลงได้

แต่ Arrhenius คำนวณผิด เขาจึงอ้างว่า ถ้าอัตราการเผาผลาญถ่านหินดำเนินไปในอัตราขณะนั้น โลกจะมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น 50% ในอีก 3,000 ปี และแก๊สที่เพิ่มนี้ จะทำให้โลกร้อนขึ้น 3.4 องศาเซลเซียส เพราะข้อสรุปของ Arrhenius ไม่น่ากลัว และถ้าเหตุการณ์โลกร้อนจะเกิดขึ้นจริง ก็อีกนาน 3,000 ปี ดังนั้น วงการวิชาการจึงไม่มีใครสนใจผลงานของ Arrhenius ชิ้นนี้ จนอีก 60 ปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงเริ่มตระหนักว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดได้ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง และในที่สุดเหตุการณ์นี้ก็จะเป็นมหันตภัยต่อมนุษยชาติ

การศึกษาประวัติของปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอดีตเมื่อ 200 ปีก่อน แสดงว่า บรรยากาศโลกขณะนั้นมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 0.028% แต่ปัจจุบันปริมาณได้เพิ่มมากถึง 0.035% และนอกจากจะดูดกลืนความร้อนได้ดีแล้ว บรรยากาศที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ยังกักเก็บความร้อนได้ดีมากด้วย

แต่ในความเป็นจริง CO2 มิได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ปัจจุบันอื่นๆ เช่น ความแปรปรวนของปริมาณแสงอาทิตย์ที่โลกได้รับ ปริมาณฝุ่นธุลีที่ภูเขาไฟระเบิดพ่นออกมา ลักษณะการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทร ทั่วโลก และปริมาณไอน้ำกับเมฆในท้องฟ้าก็มีบทบาทในการทำให้โลกร้อนขึ้นหรือเย็นลงได้เหมือนกัน แต่ถ้าจะเน้นปัจจัยหลัก แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ คือตัวการสำคัญที่สุด

http://pics.manager.co.th/Images/552000007223901.JPEG
น้ำแข็งที่ Greenland และ Antarctica

ทุกวันนี้การสำรวจและศึกษาสภาพในภูมิประเทศต่างๆ ทั่วโลก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะโลกร้อน เช่น ในแอฟริกา นักสำรวจได้พบว่า ธารน้ำแข็งบนยอดเขา Kilimanjaro ได้ลดขนาดลงทุกปี จนในอีก 20 ปี ธารน้ำแข็งนี้จะหายไปอย่างสมบูรณ์ ส่วนในยุโรป ธารน้ำแข็งบนยอดเขา Alps ก็ได้ลดขนาดลงตลอดเวลาและสำหรับสัตว์นั้น นักชีววิทยาก็ได้พบว่า สัตว์ในเขตร้อนหลายชนิดได้อพยพแหล่งอาศัยขึ้นไปทางเหนือที่มีอากาศหนาวกว่า ซึ่งตามปกติแล้ว สัตว์เหล่านั้นไม่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้ เช่น ยุง ซึ่งเป็นพาหะของโรคหลายชนิด การอพยพของมันเข้ายุโรปจึงมีสิทธิ์ทำให้ชาวยุโรปมีโอกาสเป็นโรค มาลาเรีย และโรคไข้เลือดออกได้มากขึ้น เป็นต้น

สำหรับน้ำในมหาสมุทรนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน เพราะเมื่ออุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น นั่นก็หมายความว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มด้วย การคำนวณโดยนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่ม แสดงให้เห็นว่า ในอีก 90 ปี ระดับน้ำทะเลจะเพิ่ม 50 +25 เซนติเมตร และอีก 500 ปี ความเข้มข้นของ CO2 ในบรรยากาศโลกจะมากขึ้น 4 เท่า

ตัวเลขนี้ได้จากการพิจารณาการขยายตัวของน้ำเพียงอย่างเดียว หาได้คำนึงถึงการละลายของน้ำแข็งที่บริเวณขั้วโลกทั้งสองไม่ ซึ่งถ้าพิจารณาด้วย ระดับน้ำที่จะเพิ่ม ก็จะมีค่ามากขึ้นไปอีก เพราะพื้นที่ 2% ของทวีปต่างๆ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล น้อยกว่า 10 เมตร และพื้นที่ริมทะเลเป็นที่อยู่อาศัยของคน 630 ล้านคน (ในอีก 500 ปี จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ริมทะเลจะสูงขึ้นไปอีก) ดังนั้นการเพิ่มระดับน้ำทะเลจะทำให้ New York, Mumbai, London, Shanghai และกรุงเทพฯ จมน้ำหมด ส่วนเกาะต่างๆ เช่น Maldives, Hawaii และ Caribbean พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะจมน้ำเช่นกัน



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 มิถุนายน 2552

สายน้ำ 24-06-2009 07:27


ภาวะโลกร้อนกับภัยน้ำท่วม (จบ)


นอกจากนี้การเพิ่มของระดับน้ำทะเลจะทำให้เกิดการหนุนของน้ำทะเลเข้าไปตามแม่น้ำ และแหล่งน้ำจืดต่างๆ ในทวีป ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของชุมชนทุกชุมชนที่อาศัยอยู่ติดน้ำด้วย

ตามปกติ คนทั่วไปเวลาได้ยินเสียงหวอ เสียงไซเรน ทุกคนจะตระหนกตกใจ และถ้าเสียงนั้นดังจากที่ไกล คนส่วนใหญ่ก็จะกลับไปทำกิจกรรมที่กำลังกระทำต่อ แต่ในกรณีน้ำท่วมที่เกิดจากภาวะโลกร้อน เมื่อ 56 ปีก่อน ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ลมพายุในทะเลเหนือได้พัดพาคลื่นเข้าฝั่ง กระแสน้ำได้ไหลท่วมเข้าไปในแผ่นดินใหญ่เป็นระยะทาง 64 กิโลเมตร จนพื้นที่ 500,000 ไร่ ถูกน้ำท่วม และคนนับแสนไร้ที่อยู่อาศัย เหตุการณ์นี้ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เนเธอร์แลนด์ เสนอรัฐบาลให้สร้างเขื่อนป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศซ้ำอีก และหลังจากนั้นเหตุการณ์น้ำทะเลไหลนองแผ่นดิน เนเธอร์แลนด์ก็ได้หายไป

http://pics.manager.co.th/Images/552000007534501.JPEG
ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มตลอดเวลา ตามรายงานครั้งแรกในปี 2503 โดย Charles Keeling

การศึกษาภัยน้ำท่วมโดยคณะนักวิทยาศาสตร์แห่ง Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ในปี 2530 ได้คำพยากรณ์ว่า ในอนาคตอีก 100 ปี เมื่อโลกร้อนขึ้น และน้ำทะเลขยายตัว ระดับน้ำทะเลจะเพิ่ม 18-50 เซนติเมตร แต่ IPCC ก็ได้เน้นว่า ตัวเลขนี้ไม่ได้พิจารณาการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ทั้งนี้เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีความรู้ที่แน่ชัดเกี่ยวกับธรรมชาติของน้ำแข็งขั้วโลก จึงไม่สามารถนำประเด็นน้ำแข็งละลายมาทำนายการเพิ่มของระดับน้ำทะเล จะอย่างไรก็ตาม ข้อมูลหยาบๆ เกี่ยวกับน้ำแข็งที่ Greenland และ Antaretica ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าน้ำแข็งในบริเวณทั้งสองนี้ละลายหมด ระดับน้ำทะเลก็จะเพิ่ม 6 เมตร

การวัดระดับน้ำทะเลทุกปีตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ระบุว่าระดับน้ำทะเลได้เพิ่ม โดยเฉลี่ยปีละ 3 มิลลิเมตร (ซึ่งสูงกว่าที่ IPCC ได้เคยพยากรณ์ไว้) และถ้าตัวเลขนี้เป็นจริง นั่นก็หมายความว่า ในอีกหนึ่งศตวรรษ เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมทะเล (กรุงเทพฯ, ลอนดอน, นิวยอร์ก ฯลฯ) จะถูกน้ำท่วมตลอดปี ส่วนสภาพเศรษฐกิจของประชาชนในแถบลุ่มน้ำ Yangtze และแม่น้ำเหลืองในจีน แม่น้ำแดงในเวียดนาม แม่น้ำคงคาและพรหมบุตรในบังกลาเทศ ที่มีประชากรอาศัยประมาณ 300 ล้านคน ก็จะได้รับความเดือดร้อน เช่น บ้านถูกน้ำท่วม และนาที่ถูกน้ำท่วมก็จะปลูกข้าวไม่ได้ การแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากยุง รวมทั้ง อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ บิด ก็จะเกิดในพื้นที่ที่ยังไม่เคยได้รับผลกระทบมาก่อน นอกจากนี้เหตุการณ์น้ำท่วมยังทำให้แหล่งน้ำอุปโภค ได้รับการปนเปื้อนด้วย เพราะดินก็สกปรกที่ถูกน้ำพัดพามา อาจนำเชื้อ anthrax เชื้อรา และโลหะชนิดที่มีพิษ เช่น ปรอท เข้าสู่ร่างกายคนได้ และถ้าน้ำทะเลสูงขึ้น ไม่มาก เพียง 1 เมตร พื้นที่ของประเทศอียิปต์ประมาณ 15% จะถูกน้ำท่วม หมู่เกาะ Carteret ใน New Guinea ก็จะจมน้ำจนประชาชนชาวเกาะต้องอพยพหนีน้ำ ชาวบังกลาเทศร่วม 90 ล้านคน ก็จะถูกบีบบังคับให้ย้ายบ้านขึ้นที่สูง และการแทรกซึมของน้ำเค็มเข้าในแผ่นดินใหญ่ จะทำให้น้ำจืดปนเปื้อน ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตของคน สัตว์ และพืชในบริเวณนั้นมาก

http://pics.manager.co.th/Images/552000007534502.JPEG
ถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง 5 เมตร Ho Chi Minh City และกรุงเทพฯ จะจมน้ำทันที

เมื่อปีกลายนี้ ในวารสาร Online และ Nature Geoscience, DOI : 10.1038/ngeo 285 A. Carlson แห่งมหาวิทยาลัย Wisconsin-Madison และคณะได้ศึกษา isotope ของธาตุ beryllium ในหินชั้นที่อยู่ในทะเล และพบว่าน้ำแข็งจากขั้วโลกที่ละลายได้ทำให้ระดับน้ำเพิ่ม 0.7-1.3 เมตร/ศตวรรษ

การศึกษาโดยดาวเทียม GRACE ของ NASA ที่ใช้วิเคราะห์แรงโน้มถ่วงในบริเวณต่างๆ ของโลก เมื่อต้นปีนี้ แสดงให้เห็นว่า แผ่นน้ำแข็งใน Greenland และ Antarctica ได้สูญเสียน้ำแข็งในปริมาณ 150 ลูกบาศก์กิโลเมตร/ปี และนั่นหมายความว่า ระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มเพราะอิทธิพลของน้ำแข็งที่ละลาย ประมาณ 10 เซนติเมตรในหนึ่งศตวรรษ การศึกษาการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็งใน Greenland ก็ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกัน

ดังนั้น หนทางหนึ่งที่จะชะลอการเพิ่มระดับน้ำทะเล คือควบคุมอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มเกิน 1 องศาเซลเซียส ควบคุมปริมาณ CO2 ในอากาศให้ต่ำกว่า 450 ppm และถ้าทำได้โลกในอนาคตอีก 100 ปีก็จะปลอดภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องศึกษาปรากฏการณ์นี้อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถบอกได้ว่า สถานการณ์เรื่องนี้กำลังเลวร้ายอย่างไร และเพียงใด แต่ประชาชนทั่วไปก็ต้องตระหนักว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างในโลก และบนโลกที่เราทุกคนไม่รู้จัก และเข้าใจดีนัก ดังนั้นการพยากรณ์ใดๆ ที่จะให้ถูก 100% เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 24 มิถุนายน 2552

สายน้ำ 02-07-2009 07:33


ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอันดับ 8โลก เร่งศึกษาผลกระทบ"ปลูกข้าวแบบน้ำขัง"

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยถึงผลการประชุม United Nations Climate Change Talks เป็นการประชุมตามกระบวนการของการเจรจาตามบาหลี โรดแมป (Bali Roadmap) เพื่อบรรลุข้อตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต (Kyoto protocol) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วมเจรจาเกี่ยวกับอนาคตของความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญา และพันธกรณีเพิ่มเติมของประเทศที่มีรายชื่อใน Annex-I ภายหลังการสิ้นสุดพันธกรณีแรกของพิธีสารเกียวโต ซึ่งมีความคืบหน้าดังนี้

1.กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีท่าทีสนับสนุนการควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไม่ให้สูงกว่า 450 ppm และรักษาอุณหภูมิไม่เกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศหมู่เกาะเรียกร้องให้มีเป้าหมายของการควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือที่ระดับไม่ให้สูงเกินกว่า 350 ppm และรักษาอุณหภูมิไม่ให้เกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดี ชาติกำลังพัฒนายืนยันว่าจะไม่ยอมรับการมีพันธกรณีใดๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นไปตามหลักการ Common But Differentiated Responsibility ของอนุสัญญา แต่จะมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศโดยสมัครใจ และเรียกร้องให้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีตามพันธกรณีของประเทศพัฒนาแล้ว

2.นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศต้องการให้มีการตั้งศูนย์ลงทะเบียนภายใต้อนุสัญญา เพื่อรับลงทะเบียนการดำเนินงานและผลสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากโครงการ/มาตรการ และการจับคู่ความร่วมมือกับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งต้องอยู่บนหลักการดำเนินงานที่สามารถประเมิน รายงาน และตรวจสอบได้เท่านั้น ที่ประชุมยังได้เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วให้สนับสนุนทางเทคโนโลยีและการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา ตามพันธกรณีของอนุสัญญา UNFCCC

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า จากข้อมูลสถิติระบุว่าไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนี้ ก๊าซมีเทนจากนาข้าว และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอื่นๆ จากภาคอุตสาหกรรมในปริมาณสูง ซึ่ง Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC ประมาณการว่าไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจาก 345 ล้านตันในปี 2546 เป็น 559 ล้านตันในปี 2563 ซึ่งทำให้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยปรับสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องศึกษาถึงผลได้และผลเสียระหว่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวแบบนาข้าวน้ำขัง และการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรม




จาก : มติชน วันที่ 2 กรกฎาคม 2552



nudie 02-07-2009 07:58

"อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า จากข้อมูลสถิติระบุว่าไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนี้ ก๊าซมีเทนจากนาข้าว และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอื่นๆ จากภาคอุตสาหกรรมในปริมาณสูง ซึ่ง Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC ประมาณการว่าไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจาก 345 ล้านตันในปี 2546 เป็น 559 ล้านตันในปี 2563 ซึ่งทำให้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยปรับสูงเ ป็นอันดับที่ 8 ของโลก ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องศึกษาถึงผลได้และผลเสียระหว่างการลดการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวแบบนาข้าวน้ำขัง และการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรม"

ผมว่านี่ออกจะฟั่นเฟือนพอๆกับการที่พริก เป็นสารอันตรายควบคุม เลย
เอาทาสอเมริกันมาคิดมังครับท่าน

ไอ_นุ! 02-07-2009 23:56

ชมรมนักนิยมธรรมชาติ มีจัดเสวนา เรื่อง "ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกต่อทรัพยากรธรรมชาติ"

จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฏาคม 2552 เวลา 13.30 - 16.30 น.
ที่ ห้องบรรยาย PR201 ตึก PR คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พระรามหก ข้างโรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพฯ

โดย ดร.นาฎสุดา ภูมิจำนงค์ นักวิจัยสาขาสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม ม.มหิดล

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ครับ...
http://www.naturethai.org/forum/foru...?TID=2119&PN=1

สายน้ำ 30-07-2009 07:12


อุณหภูมิของโลกสูงเพราะวงจรอุบาทว์ เมฆหุบร่มบังแดด


นักวิทยาศาสตร์ พบเหตุทำโลกร้อน ชี้ โลกอุ่นขึ้นเนื่องจากปริมาณก๊าซที่ทำให้โลกร้อนเพิ่มมากขึ้น เมฆหมอกที่เคยบังแดดเริ่มกระจาย ทำให้มหาสมุทรโดนแดดมากขึ้น...

นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานที่แข็งแรงของเหตุอันเป็นชนวนทำให้อุณหภูมิโลกสูงว่า เมื่อน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น จะปรากฏว่าเมฆหมอกพากันแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากขึ้น เปิดให้โลกโดนแดดส่องทั่วถึงยิ่งขึ้น จนนักวิทยาศาสตร์ถึงกับเรียกขานว่าเป็น "วงจรอุบาทว์"

คณะนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยไมอามีของสหรัฐฯได้หันมาสนใจศึกษาแบบแผนของกลุ่มเมฆหมอกระยะต่ำ เพราะมันได้แสดงว่ามีผลกับความร่มเย็นของโลกโดยตรง เนื่องจากเมฆหมอกช่วยสะท้อนแสงแดดออกไป

พวกเขาได้พบว่า ขณะเมื่อโลกอุ่นขึ้นเนื่องจากปริมาณก๊าซที่ทำให้โลกร้อนเพิ่มมากขึ้น เมฆหมอกที่ปกคลุมอยู่ในระดับต่ำ ช่วยบังแดดจะเริ่มแตกกระจัดกระจายขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยากาศที่อุ่นกว่า ซึ่งยิ่งเปิดให้มหาสมุทรโดนแดดมากขึ้น ขณะเดียวกัน มันก็กลับยิ่งทำให้เมฆหมอกชั้นต่างๆยิ่งแตกกระจายออกไปมากขึ้น เป็นอยู่เช่นนี้ จน ดร.อามี คลีเมนต์ หัวหน้าคณะวิทยาศาสตร์ ได้เรียกมันว่าเป็น "วงจรอุบาทว์".



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 30 กรกฎาคม 2552

สายน้ำ 11-08-2009 07:53


เทคโนโลยี"เรือเมฆา" 1ทางออกสู้วิกฤตโลกร้อน?


http://www.khaosod.co.th/news-photo/...02110852p1.jpg
กล้องจากสถานีอวกาศนานาชาติ "ไอเอสเอส" ถ่ายภาพเหตุภูเขาไฟ "ซารีเชฟ" ระเบิดเหนือหมู่เกาะคูริล พ่นควันและเถ้าถ่านปกคลุมชั้นบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิโลกลดลง และเชื่อว่าโครงการเรือสร้างเมฆสู่ชั้นบรรยากาศจะประสบความสำเร็จด้วยวิธีเดียวกัน

นักวิทยาศาสตร์อเมริกันและอังกฤษ จับมือกันคิดค้นรูปแบบ "วิศวกรรมดาวเคราะห์" (Geoengineering) ใหม่ล่าสุดเพื่อแก้วิกฤตการณ์โลกร้อน

โครงการนี้มีชื่อเรียกชั่วคราว ว่า "คลาวด์ ชิป"

ถ้าจะแปลให้สละสลวยหน่อยอาจเรียกว่า "เรือเมฆา"

เป็นแนวคิดสุดขั้วที่เสนอให้มีการลงทุนสร้าง "เรือพลังงานลม" ประมาณ 2,000 ลำ ออกทดลองแล่นเหนือน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก

เพื่อดูดเอา "น้ำทะเล" ใต้ลำเรือมาแปรสภาพกลายเป็นไอน้ำและเมฆ ปล่อยให้ล่องลอยไปปกคลุมชั้นบรรยากาศ

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...02110852p2.jpg

ศาสตราจารย์เอริก บิกเคล และศาสตราจารย์ลี เลน ผู้นำเสนอทฤษฎีเรือเมฆา อธิบายว่า

พลันที่หมู่เมฆจากปากปล่อยเรือลอยไปปิดกั้นผืนฟ้า ก็จะช่วย "สะท้อน" แสงอาทิตย์กลับไปสู่ห้วงอวกาศ

ผลลัพธ์ที่ตามมา ก็คือ อุณหภูมิบนพื้นโลกจะเย็นลง!

ทฤษฎีนี้จำลอง-ลอกเลียนแบบมาจากเมื่อครั้งโลกเกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่

ส่งผลให้กลุ่มควันมหาศาลฟุ้งกระจายปกคลุมบรรยากาศ ปิดกั้นแสงอาทิตย์ไม่ให้ทะลุลงมายังพื้นโลกนั่นเอง

"ศูนย์ฉันทามติโคเปนเฮเกน" องค์กรสนับสนุนการวิจัยของบิกเคลและเลน ชี้ว่า

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...02110852p3.jpg

ความเป็นไปได้ของโครงการเรือเมฆามีสูงกว่าแผนวิศวกรรมดาวเคราะห์ และแผนลดก๊าซปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อื่นๆ

เพราะเรือเมฆาใช้เงินลงทุนแค่ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 315,000 ล้านบาท

ขณะ เดียวกัน กลุ่ม "ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ" ทั่วโลกต่างต้องหมดเปลืองงบประมาณไปกับโครงการลดคาร์บอน ไดออกไซด์ ถึง 2.5 แสนล้านเหรียญ หรือ 8.75 ล้านล้านบาทต่อปีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่คัดค้านไม่เห็นด้วยชี้ว่า เทคโนโลยีเรือเมฆา "ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอ" นั่นก็คือการที่มนุษย์โลกยังไม่พยายามหาทางหยุดยั้งพฤติกรรมระดมปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งเป็นตัวการก่อวิกฤตโลกร้อนตัวจริงเสียงจริง

ทั้ง ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ รับประกันได้ว่า ในระยะยาว การอุตริไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างชั้นบรรยากาศจะส่งผลร้ายอะไรตามมาบ้าง

แนวทางบรรเทาภัยโลกร้อนจึงต้องอาศัยองค์ประกอบ -ปัจจัย-เทคโนโลยีหลายอย่างทำงานไปพร้อมๆกัน รวมถึงการร่วมมือร่วมใจของคนทั้งโลก



จาก : ข่าวสด วันที่ 11 สิงหาคม 2552

สายน้ำ 11-08-2009 08:07


น้ำแข็งอาร์กติกละลายแล้วกว่าหมื่น ตร.กม.


ผลสำรวจชี้ น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกที่ติดกับแคนาดาละลายไปกว่าหมื่นตารางกิโลเมตร จากสภาวะโลกร้อน

น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกที่ติดกับแคนาดา ได้ละลายไปหลายหมื่นตารางกิโลเมตร เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ทำให้คณะนักวิทยาศาสตร์ต้องสังเกตการณ์ผ่านดาวเดียวถึงความเปลี่ยนแปลง และคาดว่าน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือ

อาจเหลือน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้นายเอ็ดดี้ กรูเบน วัย 89 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านสังเกตการณ์ สังเกตเห็นการถอยร่นของน้ำแข็งช่วงฤดูร้อนมากขึ้นในแต่ละทศวรรษเนื่องจากโลกร้อนขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนก็เนื่องมาจากน้ำมือของมนุษย์นั้นเอง



จาก : สำนักข่าว inn วันที่ 11 สิงหาคม 2552

สายน้ำ 12-08-2009 06:29


โลกร้อน : วินิจ รังผึ้ง

http://pics.manager.co.th/Images/552000009894301.JPEG

การระบาดของโรค ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยและการท่องเที่ยวของ โลกอย่างหนัก ด้วยเพราะเชื้อไวรัส เอ เอช1 เอ็น1 มีการแพร่ระบาดออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และอาจจะมากกว่านั้นกว้างขวางกว่านั้น เพราะบางประเทศที่ไม่มีมาตรฐานด้านการสาธารณสุขก็จะไม่มีการรายงาน ไม่มีการจดบันทึก หรือตัวเลขรายงานการระบาดจากทุกประเทศทั่วโลกในขณะนี้ก็อาจจะต่ำกว่าความ เป็นจริงไปมาก

ด้วยนักวิชาการสาธารณสุขก็ยังคาดว่าจะเป็นเพียงครึ่งของการระบาดจริง เท่านั้น เพราะคนที่เป็นหรือได้รับเชื้อแล้วรักษาเองโดยไม่ไปตรวจรักษาตามสถานพยาบาล ก็มีอยู่อีกมากมาย เจ้าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้จึงสามารถสร้างความตื่นตระหนกและหวาดวิตกกันไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนไม่อยากจะเดินทางท่องเที่ยวไปไหนไกลบ้าน เพราะกลัวจะติดหวัดหรือหวั่นเกรงในความไม่สะดวกต่างๆในการเดินทางไกล จึงทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมีปริมาณลดลงไปด้วย

ความจริงในแวดวงนักวิชาการสาธารณสุขและนักระบาดวิทยาของไทยนั้น ก็ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้ามาตั้งแต่ปีที่แล้วว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และ ไวรัสสายพันธุ์อื่นๆจะมีการกรายพันธุ์และพัฒนาตัวเองรวมทั้งมีการแพร่ระบาด จนยากที่จะควบคุม เพราะสาเหตุใหญ่ที่มาจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศและสภาพแวดล้อมที่ เป็นตัวเอื้ออำนวยให้ไวรัสและเชื้อโรคชนิดอื่นๆแพร่กระจายขยายตัวได้มากมาย ยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้โรคเขตร้อนต่างๆมีการแพร่ระบาดรุนแรงยิ่งขึ้นและยังมีการขยาย ตัวออกไปในวงกว้างโดยเฉพาะการแพร่ระบาดเข้าไปยังเขตหนาวที่ปัจจุบันก็มี อุณหภูมิแปรปรวนและสูงขึ้น ทำให้โรคบางชนิดที่ไม่เคยมีก็เกิดมีขึ้นได้

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่าไวรัสและเชื้อโรคต่างๆ มีการขยายตัวขึ้นเป็นทวีคูณจากการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศและสภาพแวดล้อม ก็คือ ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยของเรามีปริมาณฝนตกลงมามากกว่าปรกติ คือตกมาตลอดตั้งแต่ฤดูร้อนต่อเนื่องเข้ามาสู่ฤดูฝน และช่วงวันที่ฝนไม่ตกอากาศก็มักจะร้อนจัด ทำให้อากาศมีสภาพร้อนชื้นอย่างมาก จนส่งผลให้พืชพันธุ์เจริญเติบโต พืชผลทางการเกษตรติดดอกออกผลกันดกดื่นเต็มไปหมดไม่ว่าจะเป็นมะม่วง ลิ้นจี่ เงาะ มังคุด ทุเรียน ลำไย ออกผลเต็มต้นกันจนราคาตกต่ำติดดินจนต้องมีการปิดถนนประท้วงกันไปมากมาย

ซึ่งนั่นเป็นผลิตผลและการขยายตัวแพร่พันธุ์ของพืชขนาดใหญ่ๆ เชื้อไวรัสและเชื้อโรคต่างๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่ออุณหภูมิของโลกและสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวเผยแพร่เผ่า พันธุ์ มันก็เลยออกลูกออกหลานแพร่ระบาดกันจนเต็มบ้านเต็มเมือง และเมื่อโลกมนุษย์ทุกวันนี้เป็นเสมือนยุคที่โลกไร้พรมแดน การเดินทางไปมาหาสู่กันทำได้รวดเร็วสะดวกสบายในทุกมุมโลก เชื้อโรคก็ถือโอกาสทำตัวเป็นผู้โดยสารติดตามผู้คนไปทุกหนทุกแห่ง การควบคุมโรคระบาดจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

http://pics.manager.co.th/Images/552000009894302.JPEG

ดูเหมือนภาวะโลกร้อนจะเป็นสาเหตุให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและเกิด โรคระบาดที่ร้ายแรงขึ้นทุกที หากถ้าเราไม่ช่วยกันหยุดยั้งหรือชะลอภาวะโลกร้อนกันตั้งแต่วันนี้ ห้วงเวลาที่เหลือก็จะเป็นห้วงเวลาที่มนุษย์จะอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างลำบาก ยากแค้นแสนสาหัส ความจริงแล้วสาเหตุใหญ่ของภาวะโลกร้อนนั้นก็เกิดขึ้นจากมนุษย์ปล่อยก๊าซ เรือนกระจกขึ้นไปสู่บรรยากาศเป็นจำนวนมากจนก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากฟอสซิลทั้งหลายเช่นน้ำมัน ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดพลังงาน เกิดความร้อน และเกิดก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งเราท่านทุกคนต่างก็มีส่วนด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะทางตรงหรือทาง อ้อม ทางตรงก็เช่นการขับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแล้วปล่อยไอเสียออกมา ทางอ้อมก็เช่นการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่นอกจากจะก่อให้เกิดความร้อนแล้ว การผลิตไฟฟ้าก็ต้องใช้น้ำมัน ใช้ถ่านหิน ใช้พื้นที่ป่ามาสร้างเขื่อนเป็นต้น นอกจากนี้การใช้สินค้าทุกชนิดในชีวิตประจำวัน ซึ่งสินค้าเหล่านั้นต้องใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ ผ่านกระบวนการผลิตจากโรงงาน ผ่านกระบวนการขนส่ง ซึ่งล้วนมีส่วนก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกด้วยกันทั้งสิ้น

ความจริงเจ้าปรากฏการณ์เรือนกระจกนั้นมิใช่จะเป็นสิ่งเลวร้ายด้าน เดียว แต่กลับมีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างสูงยิ่งหากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น ในภาวะที่สมดุล เพราะปรากฏการณ์เรือนกระจกนั้นมีส่วนช่วยให้พื้นผิวโลกมีอุณหภูมิที่อบอุ่น เพราะก๊าซเรือนกระจกเช่นก๊าซคาบอนไดออกไซด์ และไอน้ำที่อยู่ในชั้นบรรยากาศนั้น ทำหน้าที่เป็นเสมือนแผ่นกระจกในเรือนกระจกที่ชาวเมืองหนาวใช้เป็นโรงเรือน สำหรับปลูกพืช ซึ่งแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลกส่วนใหญ่จะสะท้อนกลับไป แต่จะมีความร้อนและรังสีบางส่วนที่เมื่อสะท้อนจากพื้นโลกกลับขึ้นไปก็จะ สะท้อนก๊าซเรือนกระจกกลับลงมายังผิวโลกอีก

นั่นจึงทำให้โลกใบนี้มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 องศาเซลเซียส ซึ่งหากไม่มีปรากฏการณ์เรือนกระจกเช่นนี้ โลกก็จะมีอุณหภูมิหนาวเย็นถึงติดลบ 20 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้นโลกจะมีสภาพเหมือนยุคน้ำแข็ง มนุษย์ สัตว์ และพืชก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน

แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่รักษาสมดุลให้ปรากฏการณ์เรือนกระจกอยู่ในภาวะแห่งความพอดี โดยเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในบรรยากาศอย่างมากมายอยู่ทุกเมื่อเชื่อ วัน ปริมาณความร้อนและรังสีที่ถูกกักขังไว้ในเรือนกระจกที่หนาแน่นขึ้นก็จะเพาะ บ่มให้โลกร้อนขึ้นๆ จนเป็นผลให้เกิดความแปรปรวนของฤดูกาลและสภาพดินฟ้าอากาศ จนก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น น้ำแข็งในแถบขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว แผ่นดินไหว ไฟป่า คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง พายุเฮอริเคน พายุใต้ฝุ่นที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่ ดินถล่ม ระดับน้ำทะเลท่วมสูงขึ้น ชายฝั่งถูกกัดเซาะ รวมทั้งโรคระบาดในเขตร้อนจะแพร่ระบาดทวีความรุนแรงขึ้นและขยายพื้นที่การ ระบาดไปทั่วโลก

ธรรมชาติสร้างสมดุลไว้บนผืนโลกจนเกิดพืช สัตว์และมนุษย์ขึ้นมาอาศัยอยู่บนผืนโลกอย่างมีความสุข หากเราทำลายความสมดุลให้สูญสิ้นไปแล้วเราจะอยู่อย่างไรบนโลกใบนี้ ช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อดูแลรักษาโลกของเราวันนี้คงยังไม่สาย ด้วยการร่วมใจกันประหยัดพลังงาน ใช้ทรัพยากรของโลกอย่างประหยัดและคุ้มค่า เพียงเท่านี้เราก็จะมีส่วนดูแลรักษาโลกใบนี้ร่วมกัน



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 สิงหาคม 2552

สายน้ำ 07-09-2009 08:13


โลกร้อนส่งผล 100 ปี ระดับน้ำทะเลพุ่ง 1 ม.

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...03070952p1.jpg

องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อดังของโลก ประเมินว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงกว่า 1 เมตร ในราว 100 ปีข้างหน้า

กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ "ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ" (WWF) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าในปีพ.ศ. 2643 หรือเกือบ 100 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นถึง 1.2 เมตร ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่สหประชาชาติคาดการณ์เอาไว้ที่ 59 เซนติเมตรถึง 1 เท่าตัว

"ภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลก ทั้งขั้วโลกเหนือและใต้ละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและเกิดน้ำท่วม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชา กรถึง 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรโลก ดังนั้นเราจึงตัดสินใจแจ้งเตือนเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะมีการประชุมแก้ปัญหา โลกร้อนที่ประเทศเดนมาร์ก ในเดือนธันวาคม 2552" รายงานกองทุนสัตว์ป่าโลก ระบุ



จาก : ข่าวสด วันที่ 7 กันยายน 2552


สายน้ำ 30-09-2009 06:44


อุณหภูมิโลกเพิ่ม 1 องศาฝนกระหน่ำแรงขึ้น 6%

http://pics.manager.co.th/Images/552000012377101.JPEG
งานวิจัยเอ็มไอที-คาลเทคชี้พายุฝนรุนแรงจะเพ่มขึ้น 6% หากอุณภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส (ภาพประกอบไซน์เดลี)

แบบจำลองนักวิจัยเอ็มไอที-คาลเทคชี้อนาคต พายุฝนพัดกระหน่ำรุนแรงขึ้นเพราะโลกร้อน ระบุทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น ฝนรุนแรงขึ้น 6% เพราะความร้อนที่เพิ่มขึ้นทำไอน้ำในชั้นบรรยากาศก็สูงขึ้นด้วย

งานวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้านี้ชี้ว่า ปริมาณเฉลี่ยของฝนและหิมะประจำฤดูกาลจะเพิ่มขึ้นทั้งในบริเวณเส้นศูนย์สูตร และบริเวณขั้วโลก แต่ปริมาณฝนจะลดลงในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร อย่างไรก็ดีไซน์เดลีระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทราบความถี่และความรุนแรง ของพายุฝนที่จะกระหน่ำลงมา ซึ่งพายุใหญ่จะนำไปสู่ปัญหาน้ำท่วมและการกัดเซาะดินที่เพิ่มมากขึ้น

ล่าสุดงานวิจัยของพอล โอ'กอร์แมน (Paul O'Gorman) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาโลก บรรยากาศและดวงดาว แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์หรือเอ็มไอที (MIT) และทาพิโอ ชไนเดอร์ (Tapio Schneider) ศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรมแห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย หรือคาลเทค (Caltech) สหรัฐฯ ได้ร่วมกับศึกษาเพื่อตอบโจทย์ข้างต้น โดยแบบจำลองที่ทั้งสองใช้ศึกษาชี้ว่า พายุฝนรุนแรงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6% เมื่ออุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส

พร้อมกันนี้ การศึกษาต่างหากของทีมนักวิจัยเอ็มไอทีเมื่อต้นปีนี้ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และนโยบายการเปลี่ยนระดับโลก ชี้ให้เห็นว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่รวดเร็วและใช้ในวงกว้างแล้ว พบว่าอุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 5.2 องศาเซลเซียสก่อนสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งอุณภูมิดังกล่าวเป็นค่ากลางของช่วงอุณภูมิที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตซึ่ง อยู่ระหว่าง 3.5-7.4 องศาเซลเซียส โดยมีเปอร์เซนต์ความน่าจะเป็นสูงถึง 90%

ด้าน ริชาร์ด อัลลัน (Richard Allan) นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์วิทยาศาสตร์ระบบสิ่งแวดล้อม (Environmental Systems Science Centre) มหาวิทยาลัยเรดดิง (Reading University) ในอังกฤษกล่าวว่า งานวิจัยของโอ'กอร์แมนเป็นก้าวสำคัญที่จะเข้าใจพื้นฐานทางกายภาพของพายุฝน รุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น โดยอาศัยแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ แต่ยังต้องมีงานวิจัยที่มากกว่านี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับในแบบจำลองที่ใช้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของพายุฝนรุนแรง

" พื้นฐานของเหตุผลที่ศึกษาการเพิ่มขึ้นของฝนซึ่งรุนแรงขึ้น คืออากกาศที่ร้อนขึ้น ทำให้มีไอน้ำมากขึ้นด้วย ดังนั้นภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น ก็จะมีไอน้ำในชั้นบรรยากาศมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปริมาณพายุฝนรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นด้วย" โอ'กอร์แมนกล่าว

อย่างไรก็ดี นักวิจัยกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างตรงข้ามกับที่เราคาดคิดกัน นั่นคือพายุฝนที่รุนแรง จะไม่เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับความจุของความชื้นในชั้นบรรยากาศ.



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 30 กันยายน 2552

สายน้ำ 30-09-2009 06:52


ภาวะ"โลกร้อน"ส่งผล "เอลนิญโญ"เกิดถี่-เอเชียแล้ง

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...01300952p1.jpg


อาจารย์ มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เตือนว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ "เอลนิญโญ" บ่อยครั้งขึ้น และยังส่งผลให้พื้นที่บางจุดในทวีปเอเชียประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง

วารสาร วิทยาศาสตร์ "เนเจอร์" ตีพิมพ์ผลการศึกษาของ เบน เคิร์ตแมน อาจารย์มหาวิทยาลัยไมอามีและคณะ ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อน จะทำให้ปรากฏการณ์เอลนิญโญเกิดถี่ขึ้น เพราะนอกจากเกิดเอลนิญโญฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกทุก 4-5 ปีแล้ว ยังจะเกิดเอลนิญโญทางตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกถี่ขึ้น แต่จะไม่เกิดพร้อมกัน ส่งผลให้เอเชียแห้งแล้งยิ่งขึ้น ขณะที่เฮอริเคนถล่มฝั่งตะวันออกของสหรัฐและประเทศในทะเลแคริบเบียนจะรุนแรง ขึ้น

รายงานแจ้งว่า เอลนิญโญเป็นปรากฏการณ์กระแสน้ำอุ่นในทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทร แปซิฟิกตะวันออก ไหลไปแทนที่กระแสน้ำเย็นบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก และชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทำให้อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย และภาคตะวันออกของบราซิลแห้งแล้ง แต่ในประเทศสหรัฐ อเมริกาบริเวณฝั่งอ่าวเม็กซิโก และหลายพื้นที่ของภูมิภาคอเมริกาใต้ จะพบภัยธรรมชาติฝนตกหนัก ทำให้ผิวน้ำทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแอตแลนติกมีอุณหภูมิลดลง ช่วยบรรเทาการก่อตัวและความรุนแรงของเฮอริเคน



จาก : ข่าวสด วันที่ 30 กันยายน 2552

สายน้ำ 01-10-2009 07:13


น้ำท่วมใหญ่ในฟิลิปปินส์ สัญญาณเตือนต้องแก้โลกร้อนอย่างจริงจัง

http://pics.manager.co.th/Images/552000012439701.JPEG
คุณตา-คุณยายได้รับความช่วยระหว่างเกดอุทกภัยในฟิลิปปินส์

ผู้เชี่ยวชาญชี้น้ำท่วมครั้งใหญ่ใน ฟิลิปปินส์เป็นสัญญาณบ่งชี้ต้องแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง เตือนหลายล้านชีวิตกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ด้านองค์กรการกุศลอังกฤษระบุอีก 6 ปีข้างหน้าประชากรโลก 54% จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แม้ชาวฟิลิปปินส์จะคุ้นเคยกับพายุไต้ฝุ่น ซึ่งกระหน่ำลงมาทุกปีราวๆ ลูกอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ “มหาอุทกภัย” จากพายุ “กิสนา” (Ketsana) ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการราว 240 คนนั้น กลับเป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงผิดปกติสำหรับผู้คนในท้องที่นั้น ซึ่งเอเอฟพีระบุว่า ปริมาณฝนที่ตกลงมาต่อเนื่อง 9 ชั่วโมงในกรุงมนิลานั้น มากกว่าปริมาณฝนจากเฮอร์ริเคนแคทรินา (Hurricane Katrina) ที่ถล่มนิวออร์ลีนส์ของสหรัฐฯ เสียอีก

แอนโธนี กอเลซ (Anthony Golez) หัวหน้าหน่วยป้องกันภัยพลเรือนของฟิลิปปินส์ และพริสโก นิโล (Prisco Nilo) หัวหน้าหน่วยพยากรณ์สภาพอากาศของฟิลิปปินส์ ต่างพิศวงต่อการเปลี่ยนแปลงที่แปลกประหลาดของไต้ฝุ่นซึ่งถล่มประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

กอเลซระบุว่า ในเดือน เม.ย.ซึ่งควรจะเป็นฤดูร้อนสำหรับฟิลิปปินส์ แต่กลับมีพายุไต้ฝุ่นถึง 3 ลูกพัดถล่มประเทศ โดยหนึ่งในนั้นกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินถล่มซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 250 คนทางตอนใต้ของเมืองหลวง และพายุไต้ฝุ่นในช่วงเดือน มิ.ย.ยังมีเส้นทางที่เบี่ยงเบนไปจากเส้นทางปกติ โดยเคลื่อนตัวผ่านทางตอนเหนือและส่วนกลางของเกาะลูซอน (Luzon) เป็นครั้งแรก และสำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในฟิลิปปินส์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิต ผู้คนกว่า 12 ล้านคน ซึ่งรวมถึงพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อน

http://pics.manager.co.th/Images/552000012439702.JPEG
ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากต่อแถวรับความช่วยเหลือ

“เมื่อ คุณลองสังเกตข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คุณจะเห็นว่าปีนี้และปีที่ผ่านมาเป็นปีที่แปลกประหลาดมาก และเราก็ทำได้เพียงสันนิษฐานว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศเท่านั้น” กอเลซกล่าว

“เรา ไม่อาจกล่าวโทษเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็นเพราะฝน เราทราบว่านี่เป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นจริง ไม่ต้องโต้เถียงกันเรื่องนี้อีก นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจำเป็นต้องเตรียมตัว นี่เป็นเพียงประสบการณ์แรกของสิ่งที่จะเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องเตรียมตัวมากกว่านี้ และเราต้องแก้ต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” มาร์ก เดีย (Mark Dia) นักรณรงค์ของกรีนพีซให้ความเห็นผ่านสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่น

ทางด้าน อีโว เดอ โบร์ (Yvo De Boer) ประธาน สำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาว่าด้วยโลกร้อน ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ กล่าวว่า น้ำท่วมในฟิลิปปินส์นั้นเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่โลกต้องตกลงสัญญาในการ จัดการปัญหาโลกร้อนก่อนเส้นตายในเดือน ธ.ค.นี้ ภายในการเจรจาที่โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก

โบร์กล่าวว่าข้อตกลงร่วมกันระดับโลกนี้จะรับประกันว่า ความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้วอย่างที่เกิดขึ้นนี้จะลดลง ตามผลของนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการปฏิบัติอย่าง จริงจัง ทั้งนี้ผู้ร่วมเจรจาในเวทีของสหประชาชาติพยายามนำร่างหนังสือในสองประเด็น หลักๆ ที่ยังตกลงกันไม่ได้คือ เรื่องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเรื่องความร่วมมือทางด้านการเงินขึ้น มาพิจารณา เพื่อหาข้อสรุปสำหรับการประชุมที่โคเปนเฮเกน

ขณะที่ จอส เบอร์เซลส์ (Jose Bersales,) นักมนุษยธรรมและผู้อำนวยการกิจการฉุกเฉินขององค์กรการกุศล “เวิร์ลวิชัน” (World Vision) เตือนว่าพายุที่ฟิลิปปินส์เหมือนกับหายนะของผู้ที่ยากจนที่สุดในโลก ซึ่งมักไม่ได้เตรียมการเพื่อรับมือกับพายุ และยังเป็นเสียงปลุกให้โลกเตรียมตัวในการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศที่โคเปนเฮเกนในปลายปีนี้

http://pics.manager.co.th/Images/552000012439703.JPEG
ผู้ประสบอุทกภัยในฟิลิปปินส์กำลังเก็บกวาดบ้านเรือน หลังน้ำลด (ภาพทั้งหมดจากเอเอฟพี)

ทางเวิร์ลวิชันยังกล่าวถึงคำพยากรณ์ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศหรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่ระบุว่า พายุโซนร้อนจะมีความรุนแรงขึ้น มีกระแสลมรุนแรงขึ้นและมีพายุฝนหนักขึ้นด้วย ซึ่งภัยพิบัติในฟิลิปปินส์ครั้งนี้เป็นเหมือนหายนะทำลายล้างสำหรับประชากร ของประเทศ 43% หรือ 36 ล้านคน ซึ่งอาศัยอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 ดอลลาร์ และมีหมอ 1 คนที่ต้องดูแลผู้ป่วย 1,700 คน ซึ่งคนจำนวนนี้ต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อรับมือกับพายุอันเลวร้าย

นอกจากนี้งานวิจัยขององค์กรการกุศลออกซ์แฟม (Oxfam) ของอังกฤษยังระบุด้วยว่า ในอีก 6 ปีข้างหน้าจะมีประชากรโลก 54% หรือ 375 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 30 กันยายน 2552

สายน้ำ 04-10-2009 07:02


ภาวะโลกร้อน...หนุนพายุเขตร้อนแรงและถี่

http://www.dailynews.co.th/content/i...ge19/en260.jpg

ส่งผลคนจนเอเชียขาดแคลนอาหาร

อิทธิพลของไต้ฝุ่น “กิสนา” ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ฟิลิป ปินส์กลายเป็นเมืองบาดาลโดยฉับพลันมีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คน ก่อนที่จะเคลื่อนตัวมาที่เวียดนามซึ่งคร่าชีวิตผู้คนนับ 100 และลาวนับเป็นเรื่องโชคดีว่าก่อนจะเข้าประเทศไทย กิสนาแปรสภาพเป็นพายุดีเปรสชันไปแล้ว คนไทยได้รับผลกระทบน้อยลงไป ยังไม่ถึงขั้นต้องเสียชีวิต เพียงแต่ทำให้บ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคเสียหาย

แต่ยังไม่ทันที่จะแก้ไขความเสียหายและเยียวยาจิตใจของผู้คน ล่าสุดทางการฟิลิปปินส์ออกประกาศเตือนในวันศุกร์ที่ผ่านมาให้เตรียมรับมือ กับพายุไต้ฝุ่นลูกใหม่ “ป้าหม่า” คาดว่าก่อให้เกิดปริมาณฝนตกน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับพายุไต้ฝุ่น “กิสนา” นอกจากนี้ในบ้านเรามีคำเตือนให้ระวังพายุฝนจากมหาสมุทรอิน เดียอ่าวเบงกอล จะเป็นพายุไซ โคลน ซึ่งจะพัดเข้าทางภาคใต้ของไทย บริเวณสตูล ภูเก็ต พังงา ระนอง ในระยะ 2-3 วันนี้

จะว่าไปปรากฏการณ์ของพายุต่าง ๆ เป็นไปตามธรรมชาติของฤดูฝนในประเทศที่อยู่แนวเส้นศูนย์สูตร เรียกว่าพายุหมุนเขตร้อน เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่แถวฟิลิป ปินส์ ที่มีระดับอ่อนสุดคือดีเปรสชันไปจนถึงไต้ฝุ่น กล่าวคือ ความแรงลมความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางจะก่อให้เกิดดีเปรสชันมีค่าไม่เกิน 33 นอตต่อชั่วโมง พายุโซนร้อนความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางมีค่าระหว่าง 34-63 นอตต่อชั่วโมง และกลายมาเป็นพายุไต้ฝุ่นอยู่ที่ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางมีค่าตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดว่าพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีความแรงของลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุมากกว่า 33 นอต จะเริ่มเรียกชื่อพายุ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาโลก ได้จัดรายชื่อเรียกพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกไว้เป็นสากล ตามลำดับเพื่อง่ายในการเก็บบันทึก

ดร.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเกิดขึ้นของพายุในมหาสมุทรแปซิฟิก ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติปกติ เป็นพายุตามฤดูกาลของช่วงปลายฤดูฝน แต่นับจากนี้ไปพายุดังกล่าวจะมีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้น อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ถึงเวลาที่ประเทศในแถบภูมิภาคนี้ต้องเตรียมรับมือและป้องกัน ต้องติดตั้งสัญญาณเตือนให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง แต่ที่ผ่านมาแนวทางการเตรียมรับมือในบ้านเราทำกันเป็นฤดูกาลเหมือนกับปัญหา หมอกควันที่จะออกมาแก้ปัญหาในช่วงเกิดเหตุ 1-2 เดือนแล้วหายไป

“ภาวะโลกร้อนทำให้อากาศแปรปรวนเกิดพายุดีเปรสชันไต้ฝุ่นในหลายประเทศเตรียม รับมือแล้ว ในบังกลาเทศมีการฝึกเด็กเป็นแสนคนให้ว่ายน้ำ หากเกิดน้ำท่วมประชากรในประเทศจะได้รอดตาย”

อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยา กรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวอีกว่าในกลุ่มประเทศที่เป็นหมู่เกาะอย่างมัลดีฟส์ และฟิจิมีแผนที่จะรับมือกับการเกิดน้ำท่วมแผ่นดินหายด้วยการระดมนักวิชาการ จากทั่วโลกไปร่วมวางแผน รวมทั้งได้เชิญตนในฐานะคนไทยไปร่วมวางแผนป้องกันน้ำท่วมแผ่นดินหายอันเกิด จากภาวะโลกร้อนแล้ว

ระหว่างเกิดพายุกิสนาในฟิลิปินส์ ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ซึ่งมีสำนักงานในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เปิดเผยผลการศึกษา เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นรากฐานของภัยคุกคามต่อความมั่นคงทาง ด้านอาหารและพลังงานของเอเชีย” จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในเอเซีย จะมีผลกระทบต่อประเทศที่ยากจนในภูมิภาค โดยเฉพาะสตรีที่อยู่ในชนบทของประเทศกำลังพัฒนา จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากต้องพึ่งพาพืชผลเพื่อการยังชีพ การเข้าถึงทรัพยากรมีอย่างจำกัด และการขาดซึ่งอำนาจในการตัดสินใจ และมีแนวโน้มว่ากลุ่มประชากรเหล่านี้จะอพยพโยกย้าย เพื่อหาความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

นางเออซูลา พรูส รองประธานเอดีบี กล่าวว่า ความั่นคงทางอาหารและพลังงานของทุกประเทศในเอเชียถูกคุกคามโดยการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ มากกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมดในเอเชียมีชีวิตความเป็นอยู่ต่ำกว่าเส้นความ ยากจนที่ 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยฝนในการทำเกษตร และอาศัยในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภูมิอากาศที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ประชากรในเอเชีย 2.2 พันล้านคน พึ่งพาเกษตรกรรมในการหาเลี้ยงชีพ ปัจจุบันมีผลผลิตตกต่ำลง อันมีสาเหตุมาจากน้ำท่วม ความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล

นอกจากนี้จากการวิจัยด้านพลังงาน พบว่าการเข้าถึงพลังงานที่สามารถซื้อได้อยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้น การผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างกว้างขวางในภูมิภาคจะช่วยลด ความเสี่ยงลงได้ หากมีนโยบายทางการเงินต่าง ๆ ที่จะมาเร่งให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น พลังงานและแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก สำหรับคนยากจน

ความรุนแรงของพายุตามฤดูกาลที่ถี่และแรงขึ้น นำมาซึ่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในเอเชียในระยะยาว จนยากจะแก้ไขแน่นอนในอนาคต.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 4 ตุลาคม 2552

สายน้ำ 06-10-2009 09:16


ชี้โลกร้อนคุกคามคนลุ่มน้ำโขง


กองทุนสัตว์ป่าโลก (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) เผยแพร่รายงานขนานการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศโลก 2009 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ ระบุการเปลี่ยนรูปแบบของสภาพอากาศและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงแล้ว ขณะปัญหาโลกร้อนยังคุกคามชีวิตคนอีกหลายล้านในภูมิภาคนี้

รายงานขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งนี้ชี้ว่า อุทกภัยรุนแรงและภัยแล้ง, การกัดเซาะชายฝั่ง, ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และคลื่นความร้อน ที่จะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้ ส่งผลกระทบถึงผลผลิตข้าว, ผลไม้และกาแฟ และการทำประมง ซึ่งเป็นปัจจัยเลี้ยงชีวิตของผู้คนจำนวนมากในกลุ่มประชากรลุ่มแม่น้ำโขง 65 ล้านคน

"ทั่วทั้งภูมิภาคนี้อุณหภูมิกำลังเพิ่มขึ้น และได้เพิ่มขึ้นแล้ว 0.5-1.5 องศาเซลเซียสในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา" ข่าวรอยเตอร์อ้างข้อความในรายงาน

ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ กล่าวว่า ในขณะที่หลายพื้นที่ของภูมิภาคนี้จะมีฤดูฝนที่สั้นลง แต่คาดว่าปริมาณน้ำฝนโดยรวมกลับจะเพิ่มขึ้น หมายความว่าฝนที่ตกก็จะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะคุกคามต่อผลผลิตทางการเกษตร และทำใหิเกิดน้ำท่วมและดินถล่มตามมา

พื้นที่ลุ่มน้ำโขงที่รายงานนี้กล่าวถึงนั้น นับรวมตั้งแต่ที่ราบสูงทิเบตในจีนลงมายังพม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม จากนั้นได้ไหลลงสู่ทะเลจีนใต้

สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เป็นแหล่งปลูกข้าวราวครึ่งหนึ่งของเวียดนาม และเป็นแหล่งผลิตกุ้งประมาณ 60% แต่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและน้ำเค็มหนุน ได้กระทบต่อปริมาณผลผลิตและอาจทำให้เกษตรกรไร้ที่ทำกิน

ประชากรจำนวนมากอาศัยในที่ลุ่มต่ำ ตามแนวชายฝั่งและในพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง เช่นในนครโฮจิมินห์ซิตี, ฮานอย และกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ภูมิภาคเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงต่ออุทกภัย, การรุกล้ำปนเปื้อนของน้ำเค็ม และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

รายงานกล่าวด้วยว่า ภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดถี่ขึ้นจะสร้างความเสียหาย ขนานใหญ่ต่อชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ในช่วงฤดูแล้งจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำหนักหน่วงขึ้นด้วย "อุณหภูมิสูงขึ้นได้ทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดขนาดลง ขณะที่พายุ, น้ำท่วม และภัยแล้ง กำลังทำลายผลผลิตทั่วทั้งลุ่มน้ำโขง การขาดแคลนน้ำจะจำกัดการผลิตภาคเกษตร และคุกคามต่อความมั่นคงด้านอาหารด้วย" รายงานนี้เสริม

บรรดาผู้แทนจากประมาณ 180 ประเทศ กำลังประชุมกันที่สำนักงานยูเอ็นในกรุงเทพฯ เพื่อพยายามหาความตกลงร่วมกัน ในการขยับขยายความร่วมมือต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน โดยพวกเจ้าหน้าที่กำลังพยายามนิยามเนื้อหาที่จะใช้เป็นพื้นฐานของการทำสนธิ สัญญาว่าด้วยโลกร้อนฉบับใหม่ ที่ยูเอ็นหวังว่าจะสามารถหาความเห็นพ้องต้องกันได้ภายในเดือนธันวาคมปีนี้

ประเด็นหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของข้อตกลงฉบับใหม่นี้ คือการให้ความช่วยเหลือประเทศที่ยากจน ในการปรับตัวเข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

ที่ด้านนอกศูนย์การประชุมของยูเอ็น มีชาวนาไทย, เกษตรกร, ชาวประมง และชนพื้นเมืองจากหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และเนปาล รวมประมาณ 2,000 คน มาชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยทุ่มเทมากขึ้นในการจำกัดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก

"เรามาที่นี่เพื่อถ่ายทอดเสียงของชาวนาต่อยูเอ็น" ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรจากอินโดนีเซียตะโกนอยู่ด้านนอกศูนย์ประชุม

ประเทศกำลังพัฒนากล่าวโทษชาติร่ำรวยว่า ไม่ยอมริเริ่มด้วยการทำข้อตกลงลดระดับการปล่อยก๊าซให้หนักหน่วงกว่านี้ และต้องการให้ประเทศร่ำรวยรับปากทุ่มเงินนับพันล้านดอลลาร์ช่วยชาติยากจน ให้ปรับตัวรับผลกระทบและสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.



จาก : ไทยโพสต์ วันที่ 6 ตุลาคม 2552

สายน้ำ 31-10-2009 08:19


อาเซียนกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

http://thainews.prd.go.th/news/pictures/globalhot.gif

“ โลกของเราขณะนี้ร้อนขึ้นกว่าเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ศตวรรษที่ 19 เป็นศตวรรษที่ร้อนที่สุดในรอบพันปี ทศวรรษที่ 1990 เป็นห้วงเวลาที่ร้อนที่สุดของโลก ปีที่ร้อนที่สุดทั้ง 7 ปี ล้วนเกิดขึ้นในทศวรรษนี้ หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงช่วงสิ้นทศวรรษที่ 21 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าช่วงใดๆ ในรอบ 2 ล้านปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนส่งแรงสะเทือนไปทั่วทุกทวีป ตั้งแต่หลังคาโลกยันใต้ถุนโลก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การละลายของธารน้ำแข็ง อุทกภัยครั้งใหญ่ ผลผลิตทางการเกษตรที่ลดต่ำลง และการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิด เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงจนมิอาจควบคุมได้ หากเราไม่หยุดยั้งภาวะโลกร้อนตั้งแต่ตอนนี้.... ”

หลายฝ่ายออกมาเคลี่อนไหวเพื่อให้เกิดการป้องกันและแก้ไขญหาโลกร้อน โดยตระหนักถึงความเฉียบพลันของผลกระทบที่อาจเกิดอย่างรุนแรงไม่วันใดวัน หนึ่งในไม่ช้า ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องขาดความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน เช่นในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่ผ่านมาที่ชะอำ-หัวหิน กลุ่มกรีนพีชที่ได้เคลื่อนไหวรณรงค์ โดยกลิ้งลูกโลกยักษ์ 2 ลูก พร้อมกับชูป้ายข้อความ “Asean : U turn the Earth หรือ อาเซียนสามารถยูเทิร์นโลกได้” จากบริเวณหน้าโรงแรมเชอราตัน ซึ่งเป็นศูนย์ข่าวอาเซียน ตรงไปยังโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา และเป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่ส่งสัญญาณให้ผู้นำ 10 ประเทศอาเซียน เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาดังกล่าว

โดยนายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็น ว่า อาเซียนได้รับบทเรียนอย่างแสนสาหัสมาแล้ว จากเหตุการณ์พายุกิสนาที่ถล่มประเทศฟิลิปปินส์ แต่อาเซียนกลับเพิกเฉยต่อสัญญาณภัยครั้งนี้ จึงขอเรียกร้องให้ผู้นำ 10 ประเทศอาเซียนรวมตัวกันเพื่อปกป้องและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งยุติการทำลายป่าไม้และลดการผลิตสารคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศ

“เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ผู้นำอาเซียนจะผนึก กำลังร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความเข้ม แข็งในการประชุมสุดยอดที่โคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมนี้ การผนึกกำลังนี้ เป็นสัญญาณของการมีส่วนสำคัญต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็น การประกาศยุติการทำลายป่าไม้โดยสิ้นเชิงและให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อทางเลือก จะนำพาสังคมของเราออกไปจากกับดักของระบบเศรษฐกิจที่มีฐานอยู่บนเชื้อเพลิง ฟอสซิลและการปล่อยคาร์บอนอย่างมหาศาล”

แต่เมื่อถามถึงจุดยืนของอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น นายธาราเห็นว่า เท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ยังเป็นเรื่องทั่วๆ ไป และขาดแผนปฎิบัติการที่ชัดเจน ดังนั้น ในการประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือนธันวาคมนี้ จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกในการเดินให้พ้นจากขอบเหวของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย ทั้งนี้ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่าง น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซ ล้วนเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ การทำลายป่าเขตร้อน ยังก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาถึงร้อยละ 20 ซึ่งสูงกว่าการปล่อยก๊าซจากรถไฟ เครื่องบินและรถยนต์ของโลกรวมกันทั้งหมด

สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มกรีนพีซ มี 3 เรื่อง คือ

1)ขอให้ผู้นำอาเซียนผนึกกำลังกดดันให้ผู้นำของประเทศอุตสาหกรรมทั่วโลก ยอมรับข้อตกลงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล
2) ผู้นำอาเซียนสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้ม แข็ง ในการประชุมสุดยอด ที่กรุงโฮเปนเฮเกน ในเดือนธันวาคมนี้
3)ร่างคำแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 15 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 5 ต้องนำไปสู่แผนปฏิบัติได้จริง และยกให้แผนการรับมือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นวาระเร่งด่วนของอา เซียน

และเมื่อประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 สิ้นสุดลง ผลลัพธ์ของการประชุมครั้งนี้ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาโลกร้อน/การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ เกาหลีใต้ (ประเทศคู่เจรจา)จะให้การสนับสนุนทางการเงิน จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ข้อริเริ่มว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนของเอเชียตะวันออกเพื่อแก้ไขปัญหา โลกร้อน (East Asia Climate Partnership Initiative)

ขณะที่การจัดการกับปัญหาภัยพิบัตินั้น ญี่ปุ่น(ประเทศคู่เจรจา) ก็ประกาศให้เงินสมทบเพิ่มเติมจำนวน 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่กองทุนอาเซียน-ญี่ปุ่นว่าด้วยการบูรณาการ (Japan-ASEAN Integration Fund) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ และการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน

นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมา สิ่งที่กรีนพีซ คาดหวังก็คือ ความสนใจที่มีร่วมกันของอาเซียนในการปกป้องป่าไม้และการเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิ อากาศในภูมิภาค จะทำให้อาเซียนสนับสนุนข้อเรียกร้องของกรีนพีซในการที่จะจัดสรรงบประมาณ ประจำปี อย่างน้อย 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2563 เพื่อยุติการทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถือเป็นการลงมือปฎิบัติอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศและให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว



จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 30 ตุลาคม 2552


สายน้ำ 02-11-2009 07:37


หวั่นแผ่นน้ำแข็งทุนดราละลายหมด ปลดปล่อยมีเทนมหาศาลทำโลกเปลี่ยนฉับพลัน

http://pics.manager.co.th/Images/552000014049002.JPEG

"ดร.อานนท์" เผยสถานการณ์ที่ต้องจับตาในเขตทุ่งหญ้าทุนดรา หวั่นน้ำแข็งใต้ผืนดินละลายหมด ปลดปล่อยมีเทนมหาศาลสู่บรรยากาศ ทำภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงอย่างฉับพลัน อุณหภูมิสูงขึ้นได้ 10-20% ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไม่ถึง 1 องศาเซลเซียส

ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความเห็นกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยนั้น ยังไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมยกตัวอย่างการใส่สูทในห้องประชุม แล้วเปิดเครื่องปรับอากาศ พร้อมทั้งเผยถึงการทำงานกับชุมชนเพื่อการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ โดยได้ไปให้ความรู้แก่ชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดร้อยเอ็ด กระบี่ แม่ฮ่องสอน

"อย่าง จ.กระบี่ ก็มีความต้องการที่อยากจะปลูกข้าว แต่คงวิถีชีวิตมุสลิม และการใช้ชีวิตชายฝั่ง เราก็ไปดูว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง แนะวิธีปลูกข้าวอินทรีย์ หรือการทำให้เขาได้มีน้ำจืดใช้ เป็นการลงไปจัดการในภาพเล็ก แต่ในบางอย่างเราต้องเอาภาพใหญ่ลงไปภาพเล็กให้ได้ เช่น ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นจะมีปริมาณน้ำฝนเท่าไหร่ มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง จริงๆ ชุมชนในอดีตก็มีวิถีชีวิตที่พัฒนาให้สอดคล้องกับภูมิอากาศ แต่ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมามีกระแสจากภายนอกที่เข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยน และการเปลี่ยนกลับมาให้เหมือนเดิมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย" ผศ.ดร.อานนท์กล่าว

พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.อานนท์ยังได้ให้ข้อมูลระหว่างเสวนา "วิกฤติโลก เมื่อขั้วโลกเหนือไม่เหลือน้ำแข็ง" เมื่อวันที่ 29 ต.ค.52 ณ อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (โยธี) ว่า มีสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังจับตาและเป็นกังวล นั่นคือแผ่นน้ำแข็งถาวร (permafrost) ในเขตทุ่งหญ้าทุนดราของแถบอาร์กติก ซึ่งเป็นน้ำแข็งอยู่ใต้ดิน ที่ช่วยกักเก็บก๊าซมีเทนจากการเน่าเปื่อยของซากสิ่งมีชีวิตในอดีตนั้น จะละลายและปลดปล่อยก๊าซมีเทนออก โดยก๊าซมีเทนมีความสามารถในการกักเก็บความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ถึง 21 เท่า

ปัจจุบันมีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า แผ่นน้ำแข็งดังกล่าวเริ่มละลายแล้ว และมีก๊าซมีเทนอยู่ใต้ดินจริง หากก๊าซมีเทนทั้งหมดหลุดออกมา จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยอุณหภูมิโลกอาจเพิ่มได้ถึง 10-20% อันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าฉับพลัน ขณะที่ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตา แต่การเข้าไปก็บข้อมูลในเขตทุ่งหญ้าทุนดรานั้นทำได้ยาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่มีคนอาศัย และเข้าไปศึกษาได้ในช่วงฤดูร้อนเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

"เดิมที่ทุ่งหญ้าทุนดรามีชั้นน้ำแข็งถาวรเป็นพื้นที่ 12 ล้านตารางเมตร แต่ตั้งแต่ปี 1900 มา พื้นที่น้ำแข็งหายไปแล้วเกือบ 20% เหลือเพียง 10 ล้านตารางเมตร และอีก 100 ปีข้างหน้า ถ้ามองโลกในแง่ร้าย มนุษยชาติไม่สามารถตกลงที่จะร่วมมือแก้ไขปัญหากันได้ น้ำแข็งถาวรจะแทบไม่เหลือเลย แต่มองโลกในแง่ดีหน่อย น้ำแข็งถาวรก็ยังคงอยู่ แต่เหลือเพียง 5 ล้านตารางเมตร" ผศ.ดร.อานนท์กล่าว

ส่วนความกังวลว่า น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายหมดไปนั้น ผศ.ดร.อานนท์กล่าวว่าแนวโน้มของน้ำแข็งขั้วโลกจะลดลงจนหายไปในช่วงฤดูร้อน ของซีกโลกประมาณเดือน ก.ย. แต่เมื่อถึงฤดูหนาวน้ำแข็งก็จะกลับมาใหม่อย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อคนและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ใน แถบอาร์กติกอย่างแน่นอน อีกทั้งน้ำแข็งถาวรหรือน้ำแข็งที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปของขั้วโลกเหนือก็มีปริมาณลดลงอย่างชัดเจนด้วย



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 24-11-2009 07:49


โลกร้อนทำพิษ ก้อนน้ำแข็งนับร้อยลอยเข้าแดนกีวี

http://www.thairath.co.th/media/cont.../300/48796.jpg

ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งของออสเตรเลีย ระบุ จนท.พบก้อนน้ำแข็งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 200 เมตร จำนวน 100-200 ก้อน ลอยมุ่งหน้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทางตอนใต้ ของนิวซีแลนด์..

เหตุภัย ธรรมชาติผลพวงจากภาวะโลกร้อนนับวันยิ่งทวีความรุนแรง สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 23 พ.ย. อ้างการเปิดเผยของผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งของออสเตรเลีย ระบุเจ้าหน้าที่พบก้อนน้ำแข็งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 200 เมตร จำนวน 100-200 ก้อน ลอยมุ่งหน้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทางตอนใต้ ของนิวซีแลนด์

เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียกล่าวว่า กลุ่มก้อนน้ำแข็งชุดนี้แตกตัวออกจากก้อนน้ำแข็งขนาดประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร ที่แตกออกมาจากน้ำแข็งขั้วโลกใต้ อีกที ซึ่งสาเหตุมาจากอากาศและน้ำทะเลในบริเวณขั้วโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจาก ภาวะโลกร้อน นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 2549 แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางการนิวซีแลนด์ได้ประกาศเตือนภัยไปยังผู้ที่ต้องการเดินเรือผ่านบริเวณ ทะเลดังกล่าวให้ใช้ความระมัดระวัง

ด้านกองทุนสัตว์ป่าโลก หรือดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ รายงานผลการศึกษาระบุว่าหากปัญหาโลกร้อนยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2593 ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 0.5 เมตร สร้างความเสียหายแก่เมืองท่าเรือสำคัญกว่า 136 แห่งทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 924 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานถึงความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในรัฐกลันตันและ ตรังกานูของมาเลเซีย ระบุชาวบ้านกว่า 12,000 รายต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย หลังเกิดน้ำท่วมเนื่อง จากฝนตกหนักระลอกสอง ถนนหลายสายถูกตัดขาด บางพื้นที่เกิดเหตุดินถล่ม แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนภัยขั้นสูงสุด ให้ประชาชนเตรียมรับมือกับพายุที่กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ และอาจพัดเข้าชายฝั่งตะวันออกในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กว่า 2,000 คน จาก 80 ประเทศ ที่ร่วมกันวิจัยสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เปิดเผยงานวิจัยไขความลับก้นมหาสมุทร ลบล้างความเชื่อว่าก้นทะเลมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่น้อย โดยระบุว่าค้นพบสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ใต้ ทะเลลึก 200-5,000 เมตร ที่แสงแดดส่องไม่ถึงเป็นจำนวนกว่า 17,650 สายพันธุ์ อนึ่ง รายงานวิจัยฉบับเต็มนี้จะถูกเปิดเผยแก่สาธารณชนใน 4 ต.ค. 2553



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 24-11-2009 08:15


แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกละลาย อีกสัญญาณภาวะโลกร้อน-นักวิทย์ฯอึ้ง

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมของสหรัฐพบว่า แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออกละลายเร็วมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สร้างความแปลกใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่คิดว่าแผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์นี้จะ ละลายเร็วเหมือนแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกที่มีขนาดเล็กกว่า

ออสติน (เอเอฟพี/รอยเตอร์ส) - วารสารเนเจอร์จีโอไซเอินซ์ ตีพิมพ์รายงานของศูนย์วิจัยอวกาศ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ที่วิเคราะห์ข้อมูลจากโครงการค้นหาแรงโน้มถ่วงและทดลองสภาพอากาศหรือ grace ของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ดาวเทียมคู่แฝดของโครงการนี้เคยพบว่า แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกและแผ่นน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์กำลังละลายอย่าง รวดเร็ว หากสองแผ่นนี้ละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีก 6-7 เมตร แต่หากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออกละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 50-60 เมตร นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่คิดว่าแผ่นน้ำแข็งนี้จะละลายเพราะอยู่ในบริเวณที่ อากาศเย็นจัด ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ว่า ช่วงปี 2545-2549 แผ่นน้ำแข็งนี้อยู่ในสภาพเดิม แต่หลังจากปี 2549 เป็นต้นมาละลายมากถึงปีละ 57,000 ล้านตัน ขณะที่แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกและแผ่นน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์ละลายปีละ 132,000 ล้านตัน และ 273,000 ล้านตันตามลำดับ

ด้าน ดร.ริชาร์ด อัลลี นักธรณีวิทยาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งชั้นนำของโลกเตือนว่า การอ่านข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมต้องรอบคอบ มีความเสี่ยงพลาดได้ เพราะทวีปแอนตาร์กติกามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว แผ่นน้ำแข็งหนาขึ้นมากในยุคน้ำแข็งล่าสุดเมื่อ 20,000 ปีก่อน และเมื่อแผ่นน้ำแข็งละลายแรงกดต่อหินใต้น้ำลดลงทำให้หินถูกดันสูงขึ้น

ขณะที่รายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก หรือดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันภัยอลิอันซ์ของเยอรมนีระบุว่า หากอุณหภูมิในปัจจุบันจนถึงปี 2593 เพิ่มขึ้นระหว่าง 0.5 - 2 องศาเซลเซียส จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราวครึ่งเมตร และจะทำให้เมืองท่าขนาดใหญ่กว่า 136 เมืองทั่วโลก ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 930 ล้านล้านบาท) และหากนโยบายการปกป้องสภาพอากาศในปัจจุบันไม่ได้รับการแก้ไข มีความเป็นไปได้ที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสในปี 2593 นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ว่า ระดับน้ำทะเลนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ อาจเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 15 เซนติเมตร



จาก : แนวหน้า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 07-12-2009 07:45


เปิดประชุมแก้โลกร้อน โพลชี้คนสนใจปัญหาลดลง

http://www.thairath.co.th/media/cont.../300/51442.jpg

ตัวแทนประเทศ190ทั่วโลกร่วมถกแก้ปัญหาโลกร้อน ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯให้มากที่สุด ขณะที่โพลระบุ 41% เป็นกังวลและต้องการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ...

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. รัฐบาลเดนมาร์กเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการ เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่กรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของประเทศ ในวันที่ 7-18 ธ.ค. ร่วมกับตัวแทนประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 190 ประเทศทั่วโลก เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยสรุปเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศและนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติแทนพิธี สารเกียวโตที่กำลังจะหมดวาระภายในปี 2555 ทั้งยังตั้งเป้าว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ลงให้มากที่สุด

ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมชาวอังกฤษกว่า 20,000 คน ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้รวมตัวกันเดินขบวนตามท้องถนนในกรุงลอนดอน รวมถึงตั้งเต็นท์ประท้วงกว่า 30 หลัง ที่จัตุรัสทราฟัลการ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษร่วมมือกับไอพีซีซี ผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง และป้องกันมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งนายเอ็ด มิลลิแบนด์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอังกฤษ ได้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ พร้อมยืนยันว่ากรมอุตุนิยมวิทยาอังกฤษเตรียมเปิดเผยให้ประชาชนเห็นผลเปรียบ เทียบอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกๆปีด้วย

ด้านนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ผู้นำอังกฤษ ประกาศยืนยันว่าจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมในกรุงโคเปนเฮเกน พร้อมด้วยประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี มานโมฮัน สิงห์ ผู้นำอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนฯออกสู่ชั้นบรรยากาศมาก ติดอันดับ 1 และ 5 ของโลก และต้องโน้มน้าวให้ผู้นำจีน แคนาดา และบราซิล ที่เคยปฏิเสธการลงสัตยาบันเพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต ให้เปลี่ยนท่าทีมาให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอีกแรงหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความเห็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 27,000 คน จาก 54 ประเทศทั่วโลก จัดทำโดยสถาบันสำรวจความคิดเห็นนีลเซน ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แห่งอังกฤษ เพื่อสอบถามความเห็นบุคคลทั่วไปถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน พบว่า 37 เปอร์เซ็นต์ของ ผู้ตอบแบบสอบถาม มีความวิตกกังวลอย่างสูงเรื่องภาวะโลกร้อน แต่เป็นสถิติที่ลดลงจากการสำรวจในหัวข้อเดียว กันที่จัดทำขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถาม 41 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า เป็นกังวลและต้องการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง

ส่วนผลสำรวจความเห็นชาวจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซฯที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากพอๆกับสหรัฐฯ มีความกังวลเรื่องภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 30 เปอร์เซ็นต์ และผู้ตอบแบบสอบถามชาวฟิลิปปินส์กังวลต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุด คิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชาวเอสโตเนียมีความวิตกกังวลต่อปัญหาโลกร้อนน้อยที่สุด หรือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น.



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 7 ธันวาคม 2552

สายน้ำ 07-12-2009 07:47


ปฏิบัติการกู้โลกร้อน ความจริงที่ทุกคนควรฟัง


การประชุมระดับโลกที่มีขึ้นในสัปดาห์นี้ ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ณ กรุงโคเปนเฮเกน เนเธอร์แลนด์ เป็นการประชุมที่สำคัญและจะมีผลต่อมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ประเด็นสำคัญก็คือการที่โลกจะต้องมีข้อตกลงร่วมที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา โลกร้อนเพื่อแทนพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะหมดอายุลงในอีกสองปีข้างหน้า

ควรจะเป็นข้อตกลงร่วมที่มีความคืบหน้าและไปไกลกว่าพิธีสารเกียวโต เพราะนับแต่การประชุมเอิร์ธ ซัมมิท เมื่อเกือบยี่สิบที่แล้ว ที่โลกยอมรับร่วมกันถึงปัญหาภัยคุกคามต่อมนุษยชาติจากภาวะโลกร้อน อันเนื่องมาจากฝีมือมนุษย์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนถึงวันนี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ไม่ได้ลดลงเลย แม้จะมีความพยายามอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่เพียงพอ

และอาจจะไม่ทันหากทั้งโลกปราศจากความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกัน

ในอดีตกาลนานโพ้นจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าโลกเราเคยผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จนสิ่งมีชีวิตบนโลกเหลืออยู่ เพียงน้อยนิดมาแล้ว 5 ครั้ง ขณะที่วิถีของปัจจุบันกำลังเดินไปสู่สิ่งเดียวกัน ทว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิง เพราะครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ เคยพูด "ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟังมาแล้ว" เมื่อหลายปีก่อนว่าด้วยปัญหาโลกร้อน สาเหตุและผลกระทบ มันทำให้คนทั่วๆ ไปตระหนักในปัญหาและเกิดความตื่นตัว อย่างน้อยๆ ในเมืองไทยเราก็ได้เห็นการรณรงค์ให้แต่ละคนช่วยกันลดวิถีชีวิตที่ส่งผลให้ เกิดภาวะโลกร้อน

ถุงผ้าเกลื่อนประเทศไทยไปเลยน่ะซีครับ

มาปีนี้ อัล กอร์ ออกหนังสือใหม่อีกเล่มชื่อ "Our Chouce" หรือฉบับพากย์ไทยคือ "ปฏิบัติการกู้โลกร้อน : ทางเลือกสู่ทางรอดที่ยั่งยืน" คงจะวางตามร้านหนังสือบ้านเราในสองสามวันนี้ละครับ เที่ยวนี้ อัล กอร์ พุ่งประเด็นไปที่ทางออกของปัญหา จะว่าไปแล้วเล่มนี้เป็นหนังสือที่นำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุด เท่าที่เคยอ่านมาเพราะแจกแจงรูปธรรมของทางเลือกต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องพลังงานเอาไว้ครบถ้วน สมบูรณ์ ละเอียดยิบ ทันสมัย และตรงไปตรงมา

เช่น กอร์บอกว่า เขารู้สึกเสียใจที่สมัยเป็นรองประธานาธิบดีเขามีส่วนในการผลักดันการใช้เอทา นอล และผลของมันก็คือยิ่งเพิ่มภาวะโลกร้อน เนื่องจากความต้องการเอทานอลนำไปสู่การทำลายป่าในประเทศโลกที่สาม รวมทั้งการเบียดบังพื้นที่ปลูกอาหารไปเป็นพื้นที่ปลูกวัตถุดิบสำหรับเอทานอล เป็นต้น

มีข้อมูลมากมายที่เราคิดว่ารู้แล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่รู้ในอีกหลายเรื่อง

นอกจากตีประเด็นในเรื่องพลังงานแต่ละตัวและเสนอทางเลือกไว้แล้ว "ปฏิบัติการกู้โลกร้อน" ยังพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นหัวข้อใหญ่แต่ละหัว ข้อ คือ ป่า ดิน และประชากร

ที่สำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือการเฉพาะลงไปที่ "วิธีคิด" ของระบบบัญชีในการวัดผลประกอบการของโลก ของประเทศ และของบริษัทธุรกิจ ที่เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ โดยไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยในสาระสำคัญมายาวนานเป็นศตวรรษแล้ว ระบบบัญชีแบบนี้เป็นระบบที่บิดเบือนกลไกตลาดเนื่องจากมองข้ามความเป็นจริง ข้อหนึ่งคือธรรมชาติก็เป็นต้นทุนที่มีค่าใช้จ่าย พร้อมดอกเบี้ยทบต้นที่เรากำลังจ่ายกันอยู่ในเวลานี้แต่ไม่ได้ลงบัญชีไว้

แต่เข้าใจวิธีคิดเท่านั้นก็ยังไม่พอ จะทำให้ความเข้าใจมีพลังได้ เราแต่ละคนจะต้องเปล่งพลังนั้นออกมาผ่านผู้แทนของเรา

ปัญหาก็คือ ผู้แทนของเราแต่ละคนก็ทำอะไรไม่ค่อยเป็นนอกจากกัดกันรายวันผ่านสื่อมวลชนด้วยถ้อยคำไร้สาระ



จาก : มติชน วันที่ 7 ธันวาคม 2552

สายน้ำ 15-12-2009 08:47


"ก๊าซเรือนกระจก" อันตรายต่อสุขภาพ

http://pics.manager.co.th/Images/552000016240303.JPEG
ภาพหมอกควันที่ปกคลุมเมืองในประเทศจีน ซึ่งจีนนับเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินปริมาณมหาศาล

องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ประกาศภัยคุกคามจากก๊าซเรือนกระจกที่กระทบต่อสุขภาพของสาธารณชน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอุณหภูมิโลกที่เพิ่มมากขึ้น คุณภาพอากาศที่กระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงภูมิแพ้จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ หรืออีพีเอ (Environmental Protection Agency: EPA) ได้ ออกมาประกาศถึงอันตรายของก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสาธารณชน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมประกาศกำหนดระเบียบควบคุมมลภาวะจากรถยนต์ โรงไฟฟ้าและโรงงานต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้อีพีเอได้ชี้ว่า ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกหลัก 6 ชนิดคือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน และซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ ในชั้นบรรยากาศที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น คุกคามสุขภาพของสาธารณชนและเป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนในยุค ปัจจุบันและคนรุ่นต่อไปในอนาคต

อีกทั้งการปลดปล่อยก๊าซเหล่านี้ร่วมกันจากยานพาหนะรุ่นใหม่และ เครื่องยนต์ของยานพาหนะรุ่นใหม่ จะเสริมการกระจายของก๊าซเรือนกระจกซึ่งคุกคามสุขภาพของประชาชนได้

สำหรับคำวินิจฉัยของอีพีเอ เกี่ยวกับอันตรายของก๊าซเรือนกระจกที่ผลกระทบต่อสาธารณสุขของคนยุคปัจจุบัน และคนรุ่นถัดไปนั้น ประกอบไปด้วย

1.อุณหภูมิ ซึ่งมีหลักฐานว่า “วันที่ร้อนจัด” นั้นเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว และคลื่นความร้อนจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้การตายและอาการเจ็บป่วย ที่เกี่ยวเนื่องกับความร้อนเพิ่มขึ้น

2.คุณภาพอากาศ ทั้งนี้คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จะทำให้มลภภาวะของโอโซนภาคพื้นดินเลวร้ายลง ซึ่งโอโซนในภาคพื้นดินจะเกี่ยวพันกับปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ตั้งแต่การทำงานของปอดที่แย่ลง ทำให้โรคหอบหืดรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผู้คนต้องเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น หรือแม้แต่การตายก่อนวัยอันควร

3.โรคไวต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และสารก่อภูมิแพ้อากาศ ซึ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ทำให้เกิดสารก่อภูมิแพ้อากาศมากขึ้น รวมทั้งมีการประจายตัวของสารเหล่านั้นที่มาจากวัชพืช ต้นหญ้าและต้นไม้ต่างๆ มากขึ้น

4. ประชากรที่อ่อนแอ และการตัดสินโดยสิ่งแวดล้อม ซึ่งในจำนวนนั้นคือ คนยากจน คนแก่ ซึ่งมีสุขภาพไม่ดีอยู่แล้ว คนพิการซึ่งอาศัยอยู่คนเดียว และประชากรที่พึ่งพิงแหล่งทรัพยากรเพียงไม่กี่แห่ง ส่วนเรื่องความยุติธรรมหรือการพิพากษา ที่เป็นเสมือนบทลงโทษจากสิ่งแวดล้อม (Environmental justice) นั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างเช่น อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นในพื้นที่เมือง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ

5.เหตุการณ์สุดขั้ว ผลกระทบจากพายุดูจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะตลอดอ่าวและชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก มีฝนตกหนักขึ้น ซึ่งเสี่ยงน้ำท่วมที่ไหลบ่ารุนแรง และปัญหาการกัดเซาะ จนถึงผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะฉายให้เห็นแนวโน้มของประชาชนที่มีความเสี่ยงจากโรคภัยต่างๆ อาการบาดเจ็บระหว่างน้ำท่วม พายุ ภัยแล้งและไฟป่า

“คำนิจฉัยนี้ทำให้ปี 2552 กลายเป็นปีที่รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มต้นปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่ท้าทายและการถือโอกาสปฏิรูปพลังงานสะอาด ผู้นำด้านธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เจ้าหน้าที่รัฐบาล พลเมืองผู้มีความตระหนักทั้งหลาย และศาลสูงของสหรัฐฯ ได้รับการเรียกร้องให้ยืนหยัด และลงมือปฏิบัติเพื่อลดมลภาวะจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน"

"สิ่งนี้ได้เดินหน้าการทำงานของเราไปสู่การปฏิรูปพลังงานสะอาดที่จะช่วยลดก๊าซ เรือนกระจกและลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างชาติ ซึ่งคุกคามความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจของเรา” ลิซา แจ็คสัน (Lisa Jackson) ผู้อำนวยการของอีพีเอกล่าว



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 14 ธันวาคม 2552

สายน้ำ 16-12-2009 09:12


โลกร้อนคุกคามคน อาหารขาด โรคเพิ่ม

http://www.thairath.co.th/media/cont.../630/53166.jpg

ภาวะโลกร้อน...เป็นคำฮิตที่ได้ยินได้ฟังจนคุ้นหู

แต่ความหมายมีหลายระดับในความเข้าใจ

ระดับพื้นๆรู้ความหมาย โลกร้อนอากาศร้อนมากขึ้น แต่ก็ยังข้องใจ โลกร้อนขึ้นน่าจะแห้งแล้งมากขึ้น ทำไมบางฝนกลับตกมากขึ้น อากาศหนาวเย็นมากขึ้น และทำไมบางพื้นที่หิมะไม่เคยตก กลับมีหิมะตกมาได้...แล้วมาบอกว่าโลกร้อนได้อย่างไร

ความเข้าใจอีกระดับ โลกร้อนมาจากมนุษย์ทำลายธรรมชาติ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก โลกถูกใช้งานมาอย่างหนัก ตอนนี้โลกอยู่ในอาการไม่ต่างกับคนผ่านการออกกำลังกายทำงานมาอย่างหนัก ร่างกายร้อนจนเหงื่อแตกท่วมตัว

น้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลาย อากาศหนาวเย็นและมีฝนตกมากขึ้น เป็นอาการของเหงื่อโลกร้อนที่กำลังพรั่งพรูออกมา


http://www.thairath.co.th/media/cont...53166_20_3.jpg

กระนั้นก็ตามความเข้าใจหลายระดับของคนส่วนใหญ่ ยังพุ่งเป้ามองไปที่โลกร้อนทำให้ภูมิอากาศ ฤดูกาลเปลี่ยนไป

ในขณะคนที่เข้าใจในภาวะโลกร้อนระดับที่สูงขึ้น...ไม่ได้มองแค่เรื่องสภาพดินฟ้าอากาศอย่างเดียว

มองลึกละเอียดไปกว่านั้น...แต่ใกล้ชิดกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ยิ่งนัก

ด้วยวันนี้ ภาวะโลกร้อนได้รุกคืบคุกคามมาถึงความอยู่รอดของมนุษย์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...รุกคืบมาแบบเงียบๆ โดยเราไม่รู้ตัว

" วันนี้มีสัญญาณหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลนขึ้นกับมนุษย์ และอาหารที่มีให้บริโภคจะมีภาวะเป็นพิษมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น เชื้อโรคต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่กับมนุษย์ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน"

http://www.thairath.co.th/media/cont...53166_20_2.jpg
ดร.ทรงศักดิ์

รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ประธานจัดการประชุมพิษวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน : ปัญหาความปลอดภัยของอาหารที่อุบัติใหม่ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 17-18 ธ.ค.นี้ ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ ชี้ให้เห็นผลกระทบอีกด้านของภาวะโลกร้อน

ภาวะอาหารขาดแคลน ผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการบริโภคของมนุษย์...ภาวะเช่นนี้คนไทยเริ่มได้เห็นกันบ้างแล้ว

จากอุทกภัยฝนตกน้ำท่วมถี่บ่อยกว่าเมื่อก่อน แต่บ้านเรานับว่าโชคดีตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีพายุพัดถล่มไม่รุนแรง แต่ประเทศอื่นๆนั้นโดนกันระนาว ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน เวียดนาม อินเดีย ฯลฯ

อุทกภัยน้ำท่วม ทำไร่นาผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้อาหารขาดแคลน อย่างที่รู้กัน...แต่ที่ไม่ค่อยรู้กัน รศ.ดร. ทรงศักดิ์ บอกว่า...

" โลกร้อนภูมิอากาศเปลี่ยนไป บางพื้นที่ฝนตกมากขึ้น บางพื้นที่อากาศร้อนแห้งแล้งมากขึ้น ฤดูกาลเปลี่ยนไปสั้นยาวนานไม่เหมือนเดิม การเพาะปลูกพืชตามฤดูกาลจะให้ผลผลิตไม่เหมือนเดิม

รายงานการศึกษาวิจัยในอังกฤษและเดนมาร์กพบว่า แค่เพียงอุณหภูมิของฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป สูงขึ้นยาวนานกว่าปกติแค่ 2-3 วัน ส่งผลให้ผลผลิตของข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสงลดลง"

ส่วนอุณหภูมิสูงยาวนานเพิ่ม 2-3 วัน มีผลให้ข้าวหอมมะลิ ข้าวปทุมธานี 1 ข้าวเจ้า ข้าวเหนียวลดลงหรือไม่...ในบ้านเราไม่มีรายงานการศึกษาในเรื่องนี้

และ ผลของภาวะโลกร้อนทำให้อาหารในอนาคตขาดแคลนอีกอย่างที่คนไทยไม่ค่อยรู้กัน แต่ใกล้ตัวยิ่งนัก...โลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น น้ำเค็มจะรุกคืบแย่งชิงพื้นที่น้ำจืดมากขึ้น พื้นที่เพาะปลูกใกล้ชายฝั่งที่เคยปลูกพืชได้ จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

ปัญหานี้เกิดแล้ว โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา

โลกร้อนขึ้นทำให้อาหารเป็นพิษ...ปลาทะเลแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ วันนี้มีสัญญาณบอกเหตุแล้วว่า ปลาทะเลที่เคยกินได้มีพิษมากขึ้น

" โรคชิกัวเธอร่า โรคที่เกิดจากการกินปลาที่มีสารพิษสะสม กินเข้าไปแล้วคนจะมีอาการปวดหัวคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และมีอาการทางระบบประสาทตามมา ชาวูบวาบ ปวดแสบปวดร้อนไปทั่วตัว หายใจลำบาก เป็นมากๆ อาการรุนแรงจะถึงขั้นโคม่าและก็เสียชีวิต

โรคนี้เดิมจะพบกันในหมู่เกาะฟิจิ กลางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ กับแถบทะเลแคริเบียน ที่อื่นไม่เคยพบโรคนี้มาก่อน"

แต่วันนี้...พบแล้วที่อินเดีย...ไม่ห่างไปไกลจากบ้านเราไปเท่าไร

http://www.thairath.co.th/media/cont...53166_20_4.jpg

รศ.ดร.ทรงศักดิ์ อธิบายที่มาที่ไปของการพบโรคนี้ผิดแปลกไปจากปกติว่า...เป็นผลมาจากโลกร้อนนี่แหละ

พิษที่สะสมอยู่ในตัวปลานั้น ไม่ใช่สารพิษมาจากไหน...เป็นสารพิษ ควันพิษ มลภาวะต่างๆ ที่มนุษย์ก่อขึ้นนี่แหละ

ควันพิษที่มนุษย์ก่อขึ้นทั้งหลาย ลอยตัวขึ้นไปบนฟ้า ถูกลมพัดพาไปที่ขั้วโลก...เมื่อก่อนโลกยังไม่ร้อนเท่าขนาดนี้ สารพิษก็เลยไปหมักสะสมตัวอยู่ในก้อนน้ำแข็ง

แต่เมื่อโลกร้อนขึ้นน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็ว...สารพิษที่ถูกธารน้ำแข็งเก็บกักไว้พลอยถูกปลดปล่อย ไหลลงสู่ทะเล ให้ปลาได้กินสะสมอยู่ในตัว ให้คนไปจับมากิน

สารพิษจากอีกแหล่ง สารพิษจากบนบกที่มนุษย์อาศัยอยู่ ไม่ว่าสารพิษจากควันรถ จากโรงงาน จากการทำเกษตร สารพิษที่ลมหอบไปได้ไม่ไกลถึงขั้วโลก สะสมอยู่ในดินใกล้บ้านเรา...โลกร้อนขึ้น ฝนตกน้ำท่วมถี่บ่อย

อุทกภัยชะล้างสารพิษบนดินให้ไหลลงไปสะสมทะเลให้ปลาได้กินสะสมสารพิษมากขึ้น

เป็นเหตุผลว่าทำไมโรคชื่อไม่คุ้นหู...ชิกัวเธอร่า (Ciguatera) ถึงได้ลามระบาดกินพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น ใกล้บ้านเราเข้ามาทุกที

ผลของภาวะโลกร้อนไม่เพียงทำให้สารพิษได้สะสมในทะเลมหาสมุทรที่เปรียบเสมือน เป็นบ่อเพาะเลี้ยงปลาแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์เท่านั้น รศ.ดร.ทรงศักดิ์ บอกอีกว่า โลกร้อน อุณหภูมิที่อุ่น ช่วยให้เชื้อโรค จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ไวรัสบางตัว เจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้ดีขึ้นอีกด้วย

เชื้อโรคเจริญได้ดี การพัฒนากลายพันธุ์ก็จะดีด้วย และจะมีโรคใหม่ๆเกิดตามมา

" ซาร์ส ไข้หวัดนก รวมทั้งไข้หวัดหมู หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ นี่ก็เป็นผลมาจากอุณหภูมิของโลกที่เปลี่ยนไปเช่นกัน และที่น่ากังวลก็คือ โรคเก่าที่เราคิดว่าจะหมดไปแล้ว จะกลับมาอุบัติใหม่ด้วย

อย่างวัณโรค ตอนนี้ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ขององค์การอนามัยโลกแล้ว เพราะตอนนี้ได้กลับมาระบาดมากขึ้นในคนปกติ ระบาดใน

วงกว้างไปทั่วโลก ไม่เหมือนในอดีตที่ระบาดไม่กว้างขวางขนาดนี้ เป็นเพราะเชื้อวัณโรคเจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้ดีขึ้น"

และโรคเก่าที่ใกล้ชิดคนไทยยิ่งกว่านั้น นั่นคือ โรคท้องร่วง บิด อหิวาตกโรค จะหวนกลับมาอุบัติใหม่ได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน

ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น อาหารที่เคยเก็บได้นาน จะไม่นานเหมือนเก่า เพราะเชื้อโรคเติบโตได้เร็ว...จะทำให้อาหารบูดเน่าเสียเร็วขึ้น

ปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่แค่เรื่องลมฝนฟ้า

วันนี้ได้รุกคืบ ใกล้ตัว ใกล้ปาก คนเราเข้าไปทุกขณะแล้ว.



จาก : ไทยรัฐ คอลัมน์ สกู๊ปหน้า 1 วันที่ 16 ธันวาคม 2552

ดอกปีบ 16-12-2009 09:18

วันนี้ฟังจากข่าวตอนเช้า เค้าบอกว่าภาวะโลกร้อนมีผลต่อสัตว์หลายๆชนิด ..
หมีขั้วโลก ..
เพนกวินจักรพรรดิ ..
ปลาการ์ตูนที่อาจสูญเสียประสาทการรับกลิ่น จนอาจตกเป็นเหยื่อของนักล่าตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น ..
รวมถึงโคอาล่าที่กินอาหารได้น้อยลงจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้นด้วย ..


ภาวะโลกร้อนใกล้ตัวกว่าที่คิดจริงๆ ..

สายน้ำ 18-12-2009 07:51


ที่ประชุมโลกร้อนเตือน ระวังทะเลจะกลายเป็นกรด

http://www.thairath.co.th/media/cont.../630/53556.jpg

อังกฤษจะได้เตือนที่ประชุมสุดยอดโลกร้อนให้ระวังว่า ทะเลจะกลายเป็นกรด ซึ่งเป็นอันตรายต่อบรรดาสัตว์น้ำทั้งหลาย ตั้งแต่กุ้ง หอย ปูปลาไปจนถึงปะการัง..

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. อังกฤษจะได้เตือนที่ประชุมสุดยอดโลกร้อนให้ระวังว่า ทะเลจะกลายเป็นกรด ซึ่งเป็นอันตรายต่อบรรดาสัตว์น้ำทั้งหลาย ตั้งแต่กุ้ง หอย ปูปลาไปจนถึงปะการัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ กล่าวว่า เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า การที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศละลายในทะเล จะเป็นเหตุให้สภาพทางเคมีของน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนแปรไป การมีปริมาณของก๊าซในอากาศเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้น้ำกลายเป็นกรดมากยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญบางคน เห็นด้วยว่า มันจะก่อให้เกิดผลขึ้นได้ ไม่แพ้กับการปล่อยให้ระดับของก๊าซนั้นสูงขึ้น ซึ่งมีผลทำให้สภาพดินฟ้าอากาศแปรเปลี่ยนไป แต่กลับไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องทะเลจะกลายเป็นกรด ในที่ประชุมสภาพดินฟ้าอากาศของสหประชาชาติ "ผู้คนมักไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ทั้งที่มันเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ" เขากล่าว.



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 18 ธันวาคม 2552

สายน้ำ 18-12-2009 07:54


โลกร้อนกับปัญหามาบตาพุด

ณ เวลานี้ผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลกได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อที่จะได้บรรลุข้อตกลงในการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ทั่วภูมิภาคของโลกต่างประสบปัญหาในเรื่องวิกฤติโลกร้อน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับผู้นำโลกชาติอื่นๆด้วยเช่นกัน ถ้าผู้นำของโลกสามารถตกลงกันในที่ประชุมในการลดโลกร้อนได้ไปในทิศทางเดียวกันก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะทำให้การแก้ไขวิกฤติโลกร้อนบรรลุผลสำเร็จเพื่ออนาคตโลกและมวลมนุษยชาติ

อย่างไรก็ดี หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางกลับมาจากการประชุมลดโลกร้อนที่ประเทศเดนมาร์กแล้ว ปัญหาโลกร้อนในประเทศไทยที่กระทบถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศตามภูมิภาคต่างๆ คงจะมีแนวทางที่แก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศไทยและโลกรอดพ้นจากภาวะโลกร้อนที่เป็นประเด็นใหญ่ของโลกใน ปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นจะมีผลกระทบถึงเศรษฐกิจ การลงทุน และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยส่วนรวม ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังให้ตรงจุดของวิกฤติที่เกิดขึ้น

ภาวะโลกร้อนอย่างหนึ่งที่ไทยมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็คือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่ศาลปกครองสูงสุดได้สั่งระงับโครงการการลงทุนที่มาบตาพุด 65 โครงการเป็นการชั่วคราว อันเนื่องมาจากเป็นโครงการที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชน ผลการระงับดังกล่าวได้มีการตอกย้ำถึงเรื่องความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจที่จะหดตัวลงในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลก็เตรียมแนวทางในการแก้ไขให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในวันอังคารหน้านี้ ก็หวังว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นประเทศไทยกลับคืนมา

เหตุของวิกฤติมาบตาพุดครั้งนี้ก็เพราะละเลยต่อ ปัญหาโลกร้อน ก็ย่อมส่งผลกระทบถึงโครงการต่างๆในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อเกิดปัญหาแล้วนักลงทุนก็ต้องเป็นห่วงที่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวมที่จะตามมาในอนาคตก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง กลุ่มเอ็นจีโอที่ห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่จะกัดกร่อนชีวิตของประชาชนในพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเช่นกัน แต่ทุกฝ่ายไม่ควรที่จะสร้างกระแสให้สุดโต่งจนเกินไป ควรต้องร่วมมือกันหาทางออกที่ให้เกิดความพอดีของแต่ละฝ่าย ปัญหามลพิษจากโลกร้อนและเศรษฐกิจของชาติก็จะเดินหน้าแก้ไขไปได้ด้วยดี.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 18 ธันวาคม 2552

สายน้ำ 19-12-2009 07:56


ชะตากรรม "โลก" ผลกรรม “เรา” ในวันที่ร้อนจนเกินเยียวยา

http://pics.manager.co.th/Images/552000016656701.JPEG
นักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมประชุม UNFCCC ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก แสดงให้เห็นว่าถ้ายังไม่ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกในปี 2100 จะเพิ่มขึ้น 2 (สีเหลือง) - 4 องศาเซลเซียส (สีส้ม) ในสิ้นศตวรรษนี้แน่นอน (AFP)

หากอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้นจนผิดวิสัย มหันตภัยหลากหลายรูปแบบจะถาโถมเข้ามาสู่ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ และสิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ได้อย่างปกติสุข อาจต้องเผชิญกับความทุกข์ยากจนสุดจะทนทานไหว บางเผ่าพันธุ์อาจถูกกวาดล้างจนสิ้นซากไปพร้อมกับสิ้นศตวรรษนี้

นี่ไม่ใช่แค่ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เกี่ยวกับมหันตภัยล้างโลกที่ทำรายได้ มหาศาล แต่เป็นหนึ่งในหลายฉากที่มนุษย์อย่างพวกเราอาจได้เผชิญด้วยตัวเอง ดั่งที่ปรากฏในรายงานฉบับที่ 4 (Fourth Assessment Report) ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2007

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในรายงานฉบับดังกล่าว เผยให้เห็นถึงมหันตภัยรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ภายในศตวรรษนี้ หากอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกราว 1.8-4 องศาเซลเซียส

http://pics.manager.co.th/Images/552000016656702.JPEG
จีน แม้จะเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่มาแรงแซงโค้งประเทศอุตสาหกรรมในฐานะผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก (AFP)

เอเชียเผชิญอุทกภัยทั่ว พืชพันธุ์ถูกทำลาย โรคร้ายระบาด

ประชากรในทวีปเอเชียราว 120-1,200 ล้านคน จะต้องเผชิญกับอุทกภัยที่เพิ่มมากขึ้นภายในปี 2020 และอีกราว 185-981 ล้านคน ที่ต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกันภายในปี 2050 พร้อมกับผลผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารในบางพื้นที่ของเอเชียใต้จะถูกทำลายลงไป 30% จากปัจจุบัน

แม้ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นไม่มาก แต่ก็หนุนให้แม่น้ำสายสำคัญหลายแห่งเอ่อล้นทะลักตลิ่ง และสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำสายสำคัญๆที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เช่น แม่น้ำแยงซีในจีน แม่น้ำแดงในเวียดนาม และแม่น้ำคงคา-พรหมบุตร ในบังกลาเทศ

เมื่ออุทกภัยแผ่ขยายกินบริเวณกว้างมากขึ้น อหิวาตกโรคและมาลาเรียก็ระบาดหนักยิ่งกว่าเดิม

หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยที่มีขนาดไม่ถึง 4 กิโลเมตร จะละลายหายไปหมด และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มตามมา แต่ท้ายที่สุดจะจบลงด้วยความแห้งเหือดของแม่น้ำที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยธารน้ำ แข็งจากเทือกเขาหิมาลัย ชาวอินเดียจะมีน้ำใช้ต่อหัวลดลงจาก 1,900 ลูกบาศก์เมตร เหลือเพียงแค่ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2025


แอฟริกาทำลายโลกน้อยสุด แต่โดนหนักสุด นับร้อยล้านชีวิตขาดน้ำ-อาหาร

แม้แอฟริกาจะเป็นพื้นที่ปลดปล่อยก๊าซก่อเรือนกระจกน้อยที่สุด แต่กลับกลายเป็นทวีปที่ต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้ายกว่าใครเพื่อน เพราะจะมีประชากรในทวีปนี้หลายร้อยล้านคนหรือราว 90% ของประชากรทั้งหมด จะต้องประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มอย่างรุนแรงในปี 2080 หรืออาจเร็วกว่านั้น และในตอนนั้นประชากรโลกที่ขาดแคลนอาหารราว 40-50% คือชาวแอฟริกันที่อาศัยอยู่ใกล้กับทะเลทรายซาฮารา เมื่อเทียบกับจำนวนในปัจจุบันนี้ที่คิดเป็น 25% ของผู้ที่ขาดแคลนอาหารจากทั่วโลก

ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลให้ฤดูเพาะปลูกหดสั้นลง และหลายพื้นที่ทำการเกษตรไม่ได้อีกต่อไป ทำให้ในบางประเทศเพาะปลูกได้ผลผลิตน้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง ความแห้งแล้งแผ่ปกคลุมผืนดินกินพื้นที่กว้าง 6-9 แสนตารางกิโลเมตร

ประชากรในแอฟริกากว่า 500 ล้านคนจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำดื่มอย่างฉับพลัน

หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากปี 1990 แม้เพียง 2 องศาเซลเซียส อหิวาตกโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไข้เลือดออก จะระบาดหนักและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำไนล์และไนเจอร์ อันเป็นผลพวงมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

http://pics.manager.co.th/Images/552000016656703.JPEG
ต้นปาล์มริมชายฝั่งบนเกาะ Ghormara ของอินเดีย ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งลึกจนเห็นรากต้นปาล์มสูงท่วมหัว (AFP)

ยุโรปหิมะละลาย ความหลากหลายหายมากกว่า 60%

ประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนจะสามารถยืนหยัดอยู่บนความเสี่ยงต่อภัยแล้งที่รุนแรง ผลผลิตตกต่ำ และมหันตภัยจากคลื่นความร้อนได้มากกว่า ขณะที่ประเทศในยุโรปที่ตั้งอยู่บนละติจูดที่สูงขึ้นไป จะต้องเผชิญกับน้ำท่วมและสภาพอากาศที่เลวร้าย ทว่าจะได้รับความสมดุลจากการที่มีฤดูเพาะปลูกยาวนานขึ้น และมีพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ขยายกว้างมากขึ้น

อุณหภูมิบริเวณเทือกเขาแอลป์จะพุ่งสูงขึ้นจนสร้างความเสียหายร้ายแรง ต่ออุตสาหกรรมการเล่นสกี ตลอดจนกวาดล้างชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ให้หมดไปจากบริเวณดังกล่าวมากถึง 60% พื้นที่ลุ่มแม่น้ำที่ได้รับผลจากภาวะน้ำท่วมขยายตัวจาก 19% ในปัจจุบัน เป็น 36% ในปี 2070

อุทกภัยฤดูหนาวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นบริเวณชายฝั่งของยุโรป ขณะที่บริเวณตอนกลางของยุโรปจะประสบกับอุทกภัยและน้ำท่วมฉับพลันอันเนื่องมา จากหิมะละลาย เกิดผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อความหลากหลายทางชีวภาพในยุโรป พืชพรรณในท้องถิ่นเกือบทั้งหมดต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หรือบางชนิดอาจสูญพันธุ์เมื่อสิ้นศตวรรษนี้


คลื่นร้อนรุนแรง-พายุถาโถมอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ไร้ธารน้ำแข็งเขตร้อน

ภาวะโลกร้อนจะเป็นตัวหนุนให้พายุเขตร้อนและคลื่นความร้อนมีพละกำลังรุนแรงมากขึ้นในอเมริกาเหนือ พร้อมกับที่เป็นภัยคุกคามหลายสปีชีส์ในอเมริกาใต้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อถูกทำให้สูญพันธุ์ และต้องอดอยากหิวโหยอีกมากมาย

ดินเยือกแข็งรวมทั้งน้ำแข็งในทะเลแถบแคนาดาและอะแลสกาถูกเร่งให้ ละลายเร็วขึ้น แมวน้ำและหมีขั้วโลก ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตหลักในบริเวณดังกล่าวจะถูกคุกคามก่อนใครเพื่อน ทั้งยังเป็นการเกื้อหนุนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นให้แพร่กระจายไปในบริเวณนั้นได้มากยิ่งขึ้น และไปเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นมากกว่าเดิม

ผู้คนกว่าครึ่งในทวีปอเมริกาต้องตกอยู่ในภาวะยากแค้นจากอุทกภัย วาตภัย คลื่นความร้อน โรคระบาด และหมอกควันในย่านชุมชนเมือง การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองริมชายฝั่งจะทำให้เสี่ยงได้รับความเสียหายจากพายุมากยิ่งขึ้น และจะหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิมเมื่อได้รับแรงหนุนจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

ในอเมริกาใต้มีแนวโน้มสูงมากที่ธารน้ำแข็งเขตร้อนจะละลายหายไปภายในช่วงปี 2020 และมีประชากรราว 7-77 ล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากการขาดแคลนน้ำ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 60-150 ล้านคน ในปี 2100

ส่วนในบริเวณอ่างแคริบเบียนจะมีพายุเฮอริเคนเกิดถี่และรุนแรงมากขึ้น ขณะที่หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะเกิดการสูญเสียน้ำในดินไปในบริเวณอะเมซอนตะวันออก และป่าฝนเขตร้อนทางตอนกลางและตอนใต้ของเม็กซิโกจะกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา


โลกร้อนพ่วงท่องเที่ยวทำลายแนวปะการังยักษ์

ประเทศและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จะสูญเสียทั้งชนิดพันธุ์ต่างถิ่นและสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมในท้องถิ่นนั้น อันเป็นผลพวงมาจากการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะระบบนิเวศบริเวณแนวปะการังยักษ์ (Great Barrier Reef) และอุทยานแห่งชาติคาคาดูในออสเตรเลีย ที่เสี่ยงจะถูกทำลายได้มากที่สุด

ปัญหาขาดแคลนน้ำที่สั่งสมมานานทางใต้และตะวันออกของออสเตรเลียจะยิ่ง ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2030 พื้นที่ลุ่มน้ำเมอเรย์-ดาร์ลิ่ง (Murray-Darling Basin) จะลดลงอีก 10-25% ในปี 2050 ผลิตผลจากภาคเกษตรกรรมและป่าไม้ลดลงอย่างมากทั้งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่ยังมีบางพื้นที่ของนิวซีแลนด์ที่มีแนวโน้มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น

ส่วนหมู่เกาะต่างๆในแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบทั้งจากระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูง ขึ้น ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรวดเร็ว กำแพงตามธรรมชาติถูกทำลายลง ทั้งป่าชายเลนและแนวปะการัง ท่าเรือบางแห่งของเกาะฟิจิและซามัวถูกน้ำทะเลท่วม ผลผลิตลดลง 18% ในปี 2030

http://pics.manager.co.th/Images/552000016656704.JPEG
ธารน้ำแข็งขนาดยักษ์แตกออกจาก Knox Coast บริเวณเขตแอนตาร์กติกที่อยู่ใกล้กับออสเตรเลีย (AFP)

ขั้วโลกร้อนยาวนาน ลดปริมาตรธารน้ำแข็ง

สิ้นศตวรรษนี้มีแนวโน้มว่าน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะหายไปราว 23% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาด้วย ส่วนธารน้ำแข็งขนาดใหญ่บริเวณขั้วโลกเหนือ รวมถึงดินแดนแถบขั้วโลกเหนือที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งและกรีนแลนด์ ก็จะสูญเสียความหนาของชั้นน้ำแข็งไป

ชั้นน้ำแข็งจะบางลงแค่ไหนเป็นสิ่งที่ยากเกินคาดเดาได้ แต่จะมีประชากรที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวราว 4 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน

ส่วนชั้นดินเยือกแข็งในแถบอาร์กติกจะลดลงไปราว 20-35% ในปี 2050 และฤดูร้อนของขั้วโลกเหนือจะยาวนานขึ้นกว่าปัจจุบันราว 15-25% ซึ่งน้ำแข็งที่ละลายในฤดูร้อนก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในบริเวณนั้นด้วย

น้ำแข็งขั้วโลกใต้จะค่อยๆ ละลายหายไปตั้งแต่บริเวณแหลมแอนตาร์กติก ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นจุดหนึ่งบนโลกที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ามีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก และคาดการณ์ว่าก้อนน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกจะละลายเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ และละลายจนเกือบหมดในฤดูร้อนของขั้วโลกใต้

ขณะที่อนาคตของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกยังไม่มีความแน่นอน เพราะมีหลักฐานที่แสดงถึงแผ่นน้ำแข็งด้านตะวันตกถูกทำลายลง ทว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกนี้จะยังคงอยู่ เพราะยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเมื่อราว 12,000 ปีที่แล้ว มากกว่าที่จะละลายหายไปเพราะภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เมื่อไม่นานมานี้

แม้ข้อมูลจากไอพีซีซีตามที่เราหยิบยกมาจะทำให้หลายฝ่ายตระหนักดีว่า โลกในวันข้างหน้าเป็นเช่นไรหากยังไร้การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ผู้แทนรัฐบาลจาก 192 ประเทศทั่วโลกที่กำลังร่วมโต๊ะประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กก็ยังคงมีความขัดแย้งและไม่ลงตัวกับการเจรจาต่อรองจากผู้แทนของรัฐบาลจากหลายๆ ประเทศ

ถ้าเวทีที่โคเปนเฮเกนปิดลง โดยที่ยังไม่สามารถตกลงแนวทางหลังปี 2012 ได้ ขณะเดียวกันกิจกรรมของมนุษย์ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเพิ่มความร้อนให้โลกได้ วันสิ้นโลกอาจมาถึงเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้.




จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 ธันวาคม 2552

สายน้ำ 09-01-2010 07:50


เหมือนโลกหนาว เพราะปมโลกร้อน!

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...33090153p1.jpg

สัปดาห์นี้ทั้งในกรุงเทพฯ และในอีกหลายจังหวัดของไทยเจอกับสายฝนหลงฤดู ทำเอาหลายท่านเกิดอาการมึนงงว่า "นี่มันฤดูอะไรกันแน่"

ส่วนในต่างประเทศ ทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เช่น จีน อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐบางส่วนที่ประสบกับภาวะหนาวจับขั้วหัวใจ ต่างพูดคุยถึงประเด็นความแปรปรวนของอากาศเพราะภาวะโลกร้อนหนาหูไม่แพ้กัน

โดยมีคำพูดเป็นมุขตลกว่า "ไหนว่าโลกร้อน ในเมื่อหนาวจะตายอยู่แล้ว"

คำชี้แจงด้านวิทยาศาสตร์จากบรรดานักวิชาการและนักอุตุนิยมวิทยาก็คือ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของอากาศทางซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตรหลายพื้นที่มีแนวโน้มอุ่นมากขึ้น 5-10 องศาเซลเซียส เช่น ทวีปอลาสกาและแคนาดาเหนือ แม้อุณหภูมิเฉลี่ยของขั้วโลกเหนือยังยะเยือกอยู่ที่ -30 องศาเซลเซียส

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...33090153p2.jpg

ด้าน แอฟริกาเหนือและแถบเมดิเตอเรเนียนอุ่นขึ้นเฉลี่ยราว 10 องศาเซลเซียส ขณะที่ยุโรปทางเหนืออุ่นขึ้น 5 องศาเซลเซียส แต่ในบางพื้นที่กลับมีอุณหภูมิลดลงทำให้หนาวจัดขึ้น

นายสตีเฟน ดอร์ลิ่ง อาจารย์จากสำนักวิชาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกแปลกใจที่จะมีผู้คนหันมาตั้งคำถามกันเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตโลกร้อนมากขึ้นในช่วงที่กำลังประสบกับภาวะอากาศหนาวจัดผิดปกติ แต่ไม่ควรนำเรื่องนี้มาตัดสินว่า โลกไม่ได้ร้อนขึ้น

เนื่องจากการที่อากาศหนาวจัดไม่ได้หมายความว่าปัญหาโลกร้อนกำลังลดลงหรือหมดไป

ต่อไปนี้ มนุษยชาติจะต้องประสบกับภาวะอากาศที่ร้อนและเย็นผิดปกติ ซึ่งจะชัดเจนที่สุดในระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม เป็นเพียงผลลัพธ์จากต้นเหตุที่แท้จริง

สถิติการบันทึกพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในทศวรรษที่ผ่านมานั้นสูงที่สุด โดยใน 3 ปีสุดท้ายนั้น หากเฉลี่ยต่อ 1 ปีจะสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในทศวรรษก่อนหน้านั้นอีกด้วย

ขณะที่การสำรวจในปีล่าสุดพบว่า โลกกำลังอุ่นขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง นายดอร์ลิ่งระบุว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งแนวโน้มดังกล่าวของอุณหภูมิไม่ให้พุ่งสูงขึ้นเกินขีดอันตรายซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงอย่างมากต่อสภาพอากาศของโลก

เนื่องจากความกดอากาศสูงทำหน้าที่เสมือนกับกำแพงซึ่งตั้งขวางการเคลื่อนที่ของลม ทำให้ลมต้องพัดหนีไปทางอื่น ความกดอากาศสูงดังกล่าวพาดผ่านตั้งแต่ยุโรปตะวันออกไปจนถึงไซบีเรีย ทำให้ลมอุ่นจากมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกของเกาะอังกฤษพัดเข้ามาไม่ได้ จึงต้องเผชิญกับอากาศหนาวจัดที่มาจากแถบขั้วโลกเหนือ

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้อุณหภูมิในสกอตแลนด์ดิ่งลงติดลบแม้ในเวลากลางวัน

อย่างไรก็ตามนักอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหิมะในฤดูหนาวของประเทศทางเหนือละลาย

ผนวกกับปรากฏการณ์เอล นิโน่ ในมหาสุทรแปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น



จาก : ข่าวสด คอลัมน์สกู๊ปพิเศษ วันที่ 9 มกราคม 2553

สายน้ำ 06-04-2010 06:57


ธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายเร็วขึ้น


ปัญหาโลกร้อนเป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกแล้วขณะนี้ หลังจากที่ปล่อยปละละเลยมานาน เพราะมันเริ่มส่งผลกระทบต่อตัวเราแล้ว กล่าวกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากน้ำมือมนุษย์ เช่นเดียวกับธารน้ำแข็งหิมาลัยที่มีรายงานว่ากำลังละลายเร็วขึ้น ซึ่งย่อจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสำคัญอย่างแม่น้ำเหลือง แม่น้ำคงคงและแม่น้ำโขง

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมุทรศาสตร์ สคริปป์ในแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้เครื่องบินบังคับเพื่อตรวจวัดความร้อนในชั้นบรรยากาศเหนือมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนของเอเชียที่ถูกปกคลุมด้วยกลุ่มหมอกควันมลพิษที่เกิดจากฝีมือมนุษย์(Brown Cloud) โดยพบว่ากลุ่มหมอกควันมลพิษดังกล่าวได้เพิ่มความร้อนในปริมาณถึงร้อยละ 50 ซึ่งจะช่วยเร่งให้ธารน้ำแข็งหิมาลัยละลายรวดเร็วขึ้น

รายงานระบุว่าหมอกควันดังกล่าวจะดูดซับความร้อนของแสงอาทิตย์เอาไว้จำนวนมาก และปล่อยความร้อนออกสู่อากาศซึ่งมีผลทำให้ธารน้ำแข็งละลายได้เร็วขึ้น

สำหรับหมอกควันดังกล่าว ประกอบด้วยอนุภาคเล็กๆที่เรียกว่า "แอโรซอล" ที่มาจากไฟป่า ยวดยานพาหนะ และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการเผาถ่านและมูลวัวเพื่อใช้ในการทำอาหาร โดยเฉพาะในหลายๆครัวเรือนของประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยเราด้วย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการสูญเสียธารน้ำแข็งหิมาลัย จะทำให้ประขาชนหลายล้านคนในเอเชียประสบภาวะขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ธารน้ำแข็งของที่ราบสูงทิเบตเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของแม่น้ำสายหลักในภูมิภาคเช่นแม้น้ำเหลืองของจีน แม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแม่น้ำคงคาในอินเดีย

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มกรีนพิซในประเทศจีน เปิดเผยว่าอุณหภูมิบริเวณยอดเขาของภูเขาเอเวอร์เรสต์มีความร้อนมากกว่าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกถึง 3 เท่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนเตือนว่าหากอัตราความร้อนยังเป็นอยู่อย่างนั้น ธารน้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัยจะสูญหายไปภายในปี 2578 หรือ อีก 28 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าวิธีเดียวที่จะลดหมอกควันมลพิษคือเปลี่ยนพฤติกรรมของครัวเรือนหลายล้านครัวเรือนในเอเชียให้หันมาเริ่มใช้เครื่องปรุง อาหารพลังแสงอาทิตย์ หรือลดการเผาถ่าน



จาก : แนวหน้า เก็บโลกมาเล่า วันที่ 6 เมษายน 2553

สายน้ำ 07-04-2010 07:51


สำรวจธรณีฟิสิกส์ทางทะเล กรมทรัพยากรธรณีรับมือ 'Climate Change'

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change ) หรือโลกร้อน เห็นได้จัดชัดเจนยิ่งขึ้นในปัจจุบันภัยพิบัติทางธรรมชาติและธรณีพิบัติภัยอันสืบเนื่องมาจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ทวีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้นทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกี่ยวเนื่องกับธรณีวิทยาที่สำคัญ คือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งอาจทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งมะเลมากขึ้นส่งผลต่อระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเลและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชายฝั่งการเกิดพายุรุนแรงและสภาพอากาศแปรปรวนบ่อยครั้งขึ้น ทำให้เกิดอุทกภัย น้ำบ่าไหลหลาก ดินถล่ม ดินไหล บ่อยครั้งขึ้น

นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณีในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสำรวจ ศึกษา บริหารจัดการธรณีวิทยา และธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตลอดจนเสนอแนะมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาบริหารจัดการด้านธรณีพิบัติภัยของประเทศ จึงได้ดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรณีวิทยา เพื่อศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศที่อาจจะส่งผลทำให้เกิดธรณีพิบัติภัยและกำหนดแนวทางหรือมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบทางธรณีวิทยาให้แก่ทุกภาคส่วน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยใน 2 แนวหลัก แนวทางแรก คือ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลอย่างเป็นระบบ และแนวทางที่2คือการศึกษาการเปลี่ยนแปลงธรณีสัณฐานชายทะเล

ทั้งนี้โดยล่าสุดกรมทรัพยากรธรณี ได้นำสื่อมวลชนกว่า 20 ชีวิต เดินทางไปดูการศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งมาตรวัดระดับน้ำทะเล การศึกษาการทรุดตัวของพื้นดิน การศึกษาคุณสมบัติทางวิศวกรรมของชั้นดิน ร่วมทั้งการศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมทั้งการศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลอย่างเป็นระบบด้วยการศึกษาอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นดินบริเวณที่ตั้งของมาตรวัดะดับน้ำทะเล ศึกษาการทรุดตัวของพื้นดิน ศึกษาคุณสมบัติทางวิศวกรรมของชั้นดิน และการศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเลและการศึกษาการเปลี่ยนแปลงธรณีสัณฐานชายฝั่งทะเล ประกอบด้วยการศึกษาการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งทะเล การศึกษาธรณีสัณฐานชายฝั่ง การศึกษาธรณีวิทยาพื้นท้องทะเลและสมุทรศาสตร์ การสำรวจโครงสร้างทางวิศวกรรมชายทะเล และการศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงธรณีสัณฐานชายฝั่งทะเล ในพื้นที่ประปัญหาวิกฤติระดับน้ำทะเลอย่างเป็นระบบที่ชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี

สำหรับการสำรวจธรณีฟิสิกส์ทางทะเลนั้น กรมทรัพยากรธรณีได้ส่งทีมงานลงไปดำเนินการสำรวจในพื้นที่ มีนักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษพร้อมเครื่องมือเครื่องมือกว่า 10 ล้านบาท เช่น อุปกรณ์สำรวจที่มีระบบบันทึกและประมวลผล(Sediment Echo Sounder: SES) ใช้ร่วมกับการบันทึกภาพพื้นทะเลด้วยโซนาร์ เป็นการสำรวจความลึกน้ำและทำการบันทึกภาพหน้าตัดข้างคลื่นไหวสะเทือนแบบสะท้อนกลับระดับตื้น การวัดความเร็วและทิศทางกระแสน้ำชายฝั่ง โดยใช้เครื่องมือแบบ Acoustic Doppler Current Profile : ADCP การควบคุมเส้นทางเดินเรือสำรวจ โดยใช้เครื่องมือหาพิกัดทางภูมิศาสตร์บนพื้นโลกด้วยระบบดาวเทียม Global Positioning system : GPS และการเก็บตัวอย่างตะกอนพื้นทะเล เพื่อตรวจสอบชนิดและการกระจายตัวของตะกอนบนพื้นทะเล หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วจะมีการแปรข้อมูลอ่านค่าและทำรายงานเสนอเพื่อให้เป็นหลักฐานทางวิชาการต่อไป

นอกจากนี้ กรมทัพยากรธรณียังได้มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ด้านธรณีวิทยาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัหวัดชายทะเล ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรณีวิทยา ให้มีความรู้ความเข้าใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เพื่อติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องต่อการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยได้จัดทำโครงการฝึกอบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัหงวัดชายฝั่งทะเลด้านการอนุรักษ์และป้องกันพื้นที่ชายฝั่งทะเลและกิจกรรมปลูกป่าชายเลนในครั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้คนพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจสภาพแวดล้อม ที่อาศัยอยู่ และพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยได้ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ และมีโครงการที่จะดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดพื้นที่มีพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทั้ง 23 จังหวัดต่อไป

จากการเดินทางไปร่วมสื่อมวลชนสัญจรและโครงการฝึกอบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดชายฝั่งทะเลด้านการอนุรักษ์และป้องกันพื้ที่ชายฝั่งทะเลแล้ว พบว่าความพยามที่จะใช้หลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์และฐานข้อมูล หลักฐานทางธรรณีวิทยา การศึกษาสภาภูมิอากาศในอดีต มาอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมาและการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันรวมถึงการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคต จะต้องใช้ขอมูลหลักฐานที่เป็นวิทยาศาตร์มาอธิบาย เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องลงทุนลงแรงอย่างมาก ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน การที่กรมทรัพยากรธรณีได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องและน่าสนับสนุนเป็นอย่างมาก



จาก : แนวหน้า รายงานพิเศษ วันที่ 7 เมษายน 2553

สายน้ำ 25-07-2010 07:16


วิกฤติโลกร้อนในจีน


http://pics.manager.co.th/Images/553000010699701.JPEG
ประตูระบายน้ำสำหรับป้องกันน้ำท่วมของเขื่อนสามโตรกที่เมืองอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย กำลังปล่อยน้ำปริมาณมหาศาลในวันที่ 20 ก.ค. 2553 หลังจากที่พายุฝนได้กระหน่ำหนักในบริเวณแม่น้ำแยงซีเกียง กระแสน้ำมหาศาลในแม่น้ำแยงซีเกียงนับเป็นบททดสอบใหญ่ของเขื่อนสามโตรกซึ่งเป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ภาพเอเอฟพี)


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น หิมะตกหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปลายปีที่แล้ว และส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่นับวันปรากฏการณ์โลกร้อนก็ยิ่งปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายมณฑลทางใต้ของประเทศจีนต้องเผชิญกับพายุฝนถล่มอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายปี และเกิดดินโคลนถล่ม ถนนถูกตัดขาด บ้านเรือนพังเสียหาย ประชาชนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย

จนถึงตอนนี้มีผู้ประสบภัยใน 11 มณฑล (รวมเขตปกครองตนเองและมหานคร) จำนวนกว่า 40 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน หายสาบสูญเฉียด 200 คน บ้านเรือนพังเสียหายกว่า 300,000 หลังคาเรือน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงประมาณ 64,570 ล้านหยวน โดยมีมณฑลฝูเจี้ยน กวางซี หูหนาน เจียงซี กุ้ยโจว ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก

สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมและสร้างความเสียหายอย่างมากในครั้งนี้ คือ ประการแรก เพราะ ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้น้อยมาก ปริมาณน้ำฝนในหลายอำเภอทางลุ่มแม่น้ำหมิ่นเจียงในมณฑลฝูเจี้ยนมีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีถึง 2.2 เท่า ทำสถิติมากสุดในประวัติศาสตร์

ประการที่สอง ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก แม่น้ำสายหลักและสายรองในมณฑลฝูเจี้ยน เจียงซี หูหนาน มีปริมาณน้ำเกินกว่าระดับที่รองรับได้และเกินกว่าสถิติที่บันทึกไว้

ประการที่สาม ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นถือได้ว่าหนักมาก ความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า มีบ้านเรือนพังเสียหายเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ทางภาคใต้ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2548 - 2552 ในช่วงเวลาเดียวกัน

ประการที่สี่ เพราะเกิดภัยพิบัติเป็นบริเวณกว้างและรุนแรง ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนจำนวนมากอย่างกว้างขวาง ปริมาณน้ำฝนที่มากก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและอ่างเก็บน้ำแตก ทำให้บ้านเรือนประชาชน อาคารบริษัทต่างๆ และถนนหนทางจมอยู่ใต้น้ำ

เพื่อบรรเทาภัยพิบัติจากเหตุน้ำท่วมเนื่องจากพายุฝนถล่ม กระทรวงการคลังและกระทรวงกิจการพลเรือนของจีนร่วมกันอนุมัติงบประมาณ 377 ล้านหยวน โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะใช้ในการอพยพและฟื้นฟูที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประสบภัยใน มณฑลฝูเจี้ยน เจ้อเจียง เจียงซี และหูหนาน และทั้งสองกระทรวงได้จัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 867 ล้านหยวนให้กับพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้ง 8 มณฑลทางใต้ของจีน และพื้นที่เขตปกครองตนเองที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน ประชาชนชาวจีนก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ เมื่ออุณหภูมิภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกที่ขณะนี้หลายๆเมือง อุณหภูมิทะลุผ่าน 35 องศาเซลเซียสไปแล้ว

แค่เพียงสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม อุณหภูมิในกรุงปักกิ่งพุ่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำสถิติใหม่สูงสุดในรอบ 60 ปี ตามสถิติก่อนหน้านี้ อุณหภูมิเดือนกรกฎาคมในกรุงปักกิ่งเคยสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ.2542 วัดได้ 41.9 องศาเซลเซียส ครั้งที่สองในปี พ.ศ.2545 วัดได้ 41.1 องศาเซลเซียส มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า ปีนี้อุณหภูมิอาจพุ่งเกิน 55 องศาเซลเซียสได้

ความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลต้องรับผู้ที่ป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 3 เท่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนแล้ว 2 รายในกรุงปักกิ่งและเมืองเซินเจิ้น

ในแต่ละเมืองต่างก็พยายามหาวิธีการต่างๆที่จะช่วยคลายร้อน ยกตัวอย่างการบริการขนส่งสาธารณะในกรุงปักกิ่ง เพื่อสร้างความสบายให้กับผู้ใช้บริการรถประจำทาง บริษัทรถประจำทางในกรุงปักกิ่งสั่งให้รถประจำทางปรับอากาศเปิดแอร์ไว้ตลอด ส่วนรถที่ไม่มีแอร์ก็ให้รักษาความสะอาดเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ในขณะเดียวกันบริษัทที่ให้บริการรถไฟใต้ดินได้มีนโยบายให้รถไฟทุกขบวนเปิดแอร์ก่อนที่จะเริ่มให้บริการ 20 นาที เพื่อให้ความเย็นในแต่ละตู้คงไว้ตลอด เป็นต้น

ส่วนในมณฑลเจ้อเจียง ได้สั่งให้บริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงาน รวมถึงบริษัทผู้ผลิตกระดาษและหลอมเหล็กมากกว่า 1,000 บริษัท ยุติหรือลดการผลิตชั่วคราวเป็นเวลา 15 วัน เพื่อเพิ่มการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชน

กรมอุตุนิยมวิทยาของจีน เผยว่า หลังจากนี้พื้นที่ตอนบนและตอนล่างจะมีสภาพอากาศสลับกัน ทางเหนือจะมีพายุฝน ทำให้อุณหภูมิลดลง ส่วนทางใต้ฝนจะตกน้อยลง แต่อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น

ถึงแม้พื้นที่อันกว้างใหญ่ของประเทศจีนจะทำให้บริเวณตอนบนและตอนล่าง ของประเทศต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่แทบจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยธรรมชาติที่กำลังเผชิญอยู่ไม่ใช่เป็นผลจากการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น และเราก็คงปฏิเสธไม่ได้อีกว่าสาเหตุที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น มนุษย์เราไม่ได้มีส่วนสร้างให้เกิดสภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกัน



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2553

สายชล 29-07-2010 21:22

1 Attachment(s)


ขั้วโลกจะไร้น้ำแข็ง ภายในเวลาอีกชั่ว 30-40 ปี ที่ี่จะมาถึง


ศูนย์อุตุนิยมวิทยาของรัสเซียแจ้งการพยากรณ์อากาศว่า น้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือ จะพากันละลายกลายเป็นน้ำจนหมด ภายในกลางศตวรรษหน้านี้

นายอเล็กซานเดอร์ โฟรลอฟ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ กล่าวโดยอ้างข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศว่า "ภายในอีก 30-40 ปีนี้ เขตอาร์คติก รวมทั้งขั้วโลกเหนือในช่วงฤดูร้อนจะไม่มีน้ำแข็งเหลืออยู่เลย นอกจากนั้นปริมาณน้ำแข็งที่ลดลงในปี พ.ศ. 2553 นี้ จะยิ่งสูงเกินกว่าระดับเมื่อ พ.ศ. 2550 อีก"

เขาแจ้งว่า "มันมากเกินปริมาณเฉลี่ยมานานแล้ว ปริมาณน้ำแข็งที่เคยเหลืออยู่น้อยที่สุดแต่ก่อนอยู่ที่ 11 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ขณะนี้ตามภาพถ่ายดาวเทียม แสดงว่ามันเหลือสัก 10.8 ตารางกิโลเมตร".


ขอบคุณข่าวและภาพจาก...http://www.thairath.co.th/content/tech/99523

สายชล 25-08-2010 20:34



ความหวังและการต่อสู้ท่ามกลาง “ทะเลกลืนแผ่นดิน” ที่ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน

โดย โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน ศูนย์ข่าวอิศรา www.community.isranews.org/

http://www.matichon.co.th/online/201...282725128l.jpg


คงไม่มีใครปฏิเสธว่าปรากฏการณ์เรือนกระจกเป็นเรื่องไกลตัวแล้ว แต่ผลกระทบที่หลายคนคาดไม่ถึงคือโลกร้อนทำให้แผ่นดินทรุด-ชายฝั่งถูกกัดเซาะ จนปัจจุบันพื้นที่สมุทรปราการหายไป 1.1 หมื่นไร่ ภายใน 20 ปีจะหายไป 3.7 หมื่นไร่ และอีก 100 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯบางส่วนอาจอยู่ใต้ทะเล โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สถาบันอิศรา พาไปพบการต่อสู้เมื่อทะเลกำลังกลืนแผ่นดินที่ชุมชนขุนสมุทรจีน


บ้านขุนสมุทรจีน ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ แต่ถูกกล่าวขานไปทั่วโลก เพราะคือรูปธรรมชัดเจนถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจนทะเลกลืนแผ่นดินจมหายไปใน อ่าวไทยเกือบ 3 กิโลเมตร

โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สถาบันอิศรา พาไปร่วมสร้างความตระหนักแก่สังคมว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องช่วยกันลดผลกระทบ ในอนาคต ดังเช่นคนที่นี่พยายามต่อสู้อยู่บนความหวังที่จะอยู่รอด


@ ปรากฏการณ์ทะเลกลืนแผ่นดิน


ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาผลกระทบของแผ่นดินทรุดต่อการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน พบว่ารุนแรงมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชายฝั่งหายไปทุกปีๆละ 30 เมตร และในอีก 20 ปีข้างหน้าหากเราไม่ช่วยทำอะไรกันเลย ความรุนแรงของการกัดเซาะอาจเพิ่มเป็น 65 เมตร


สาเหตุหลักคือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากเกินปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เกิดคลื่นลมทะเลซัดรุนแรง รองลงมาคือการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำทำให้ตะกอนลงมาสู่ทะเลลดลง พบว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีตะกอนลดลง 75%

“น้ำทะเลอาจจะเพิ่มขึ้น 30-60 เซนติเมตร ในอีกร้อยปีข้างหน้าคลื่นลมและการกัดเซาะจะรุนแรงขึ้น ถึงตอนนั้นกรุงเทพฯบางส่วนอาจจมอยู่ใต้ทะเล ซึ่งวันนี้ปรากฏการณ์บางอย่างได้ส่อเค้าชัดเจนว่าที่ดินบางแห่งจมอยู่ใต้ ทะเล และกำลังตามมาอีกหลายแห่ง”


และที่บ้านขุนสมุทรจีน พบว่ามีปัญหาการกัดเซาะรุนแรงที่สุดในประเทศไทย!!



@ ความทุกข์เมื่อแผ่นดินหายไป


ห่างจากกรุงเทพฯ 20 กว่ากิโลเมตร ผ่านแนวคลองคดเคี้ยวสู่ชุมชนที่ยังมีกลิ่นอายชนบท เดือนมกราคมของทุกๆปีชาวบ้านขุนสมุทรจีนจากทั่วทุกสารทิศจะกลับมาเยือนถิ่น ฐานเดิมในเทศกาลสักการะ “ศาลเจ้าพ่อหนุ่มน้อยลอยชาย” เพื่อรำลึกถึงแผ่นดินที่รากเหง้าบรรพบุรุษย้อนความไปถึงสมัยสำเภาจีนเทียบ ฝั่งมาตั้งรกราก และรำลึกความหลังเมื่อยังมีผืนดินตั้งบ้านเรือนที่นี่


“เมื่อก่อนสุดลูกหูลูกตามีแต่แผ่นดิน กว่าจะถึงชายตลิ่งก็ต้องเข็นเรือไปเป็นกิโลๆทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ออกเรือเดี๋ยวก็ได้แล้ว”


นี่คือความทรงจำเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วของ ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทรจีน ก่อนที่ทะเลจะค่อยๆกลืนแผ่นดินที่พวกเขาตั้งรกรากมาแต่ปู่ย่าตาทวด


“ไปอยู่ชลบุรี 30 กว่าปีแล้ว เพราะที่มันพังลงทะเลไปหมด เลยต้องไปหาทำกินที่อื่น”


มนัส ลิ้มประเสริฐ กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดที่ต้องพลัดพรากไปนานเพราะผืนดินตั้งบ้านเรือนหายไปกับ น้ำทะเล ชุมชนที่ตั้งรกรากมาหลายชั่วอายุคนต้องแตกกระสานซ่านเซ็น หลายคนอพยพถิ่นเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ กระทั่งศาลเจ้าพ่อยังต้องถอยหนีคลื่น วัดต้องยกพื้นโบสถ์หนีน้ำ


“ทำมาหากิน พอจะมีเงินเหลือเก็บสักหน่อยก็ต้องมารื้อบ้านย้ายน้ำ มันก็ไม่มีจะกินกัน”
ผู้ใหญ่ สมร ที่ต้องรื้อบ้านหนีน้ำกว่า 3 ครั้งแล้ว เล่าว่าชาวบ้านต้องถอยร่นครั้งแล้วครั้งเล่า หลายคนทนไม่ไหวอพยพจากหมู่บ้านไป จากเกือบ 200 หลังคาเรือนเหลือเพียง 112 หลังในปัจจุบัน



http://www.matichon.co.th/online/201...282725137l.jpg


@ พิทักษ์รักษาศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธ


ปี 2536 อนามัยชุมชนเริ่มพังเพราะน้ำทะเลกัดเซาะ แผ่นดินทรุด จากนั้นชาวบ้านก็ต้องต่อสู้กับคลื่นทะเลอย่างทรหดมาตลอด จนกระทั่งเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ปี 2541 พายุใต้ฝุ่นรุนแรงพัดบ้านหลายหลังหายไปกับทะเล ผู้คนพากันหนีตายอาศัยโรงเรียนและสถานีอนามัยเป็นที่พัก นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้หลายครอบครัวถอดใจอพยพหนีถิ่นฐาน แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ยังยืดหยัดอยู่ และไม่ทิ้งความหวังว่าสักวันพวกเขาจะได้แผ่นดินคืนมา


ควบคู่ไปกับศาลเจ้าที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเคารพนับถือ คนที่นี่ยังศรัทธาในพุทธศาสนา จาก สำนักสงฆ์ที่เคยถูกทิ้งร้าง ชาวบ้านบริจาคที่ดินและช่วยกันบูรณะฟื้นฟูจนยกฐานะเป็นวัดประจำชุมชน แต่พิบัติภัยธรรมชาติก็ไม่ได้เลือกที่เกิด พื้นที่วัดมากกว่า 70 ไร่ ถูกคลื่นกัดเซาะเหลือแค่ 5 ไร่


พระอธิการสมนึก ปติปัญโญ เจ้าอาวาสวัดขุนสมุทรจีน เล่าว่า “มีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2547 อาตมาต้องยกพื้นหนีน้ำ จะได้เข้ามาสวดมนต์ทำวัดในโบสถ์ได้”


จะเป็นเช่นไร หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพจิตใจหวาดระแวงตลอดเวลาว่าน้ำจะท่วมบ้าน วิถีชีวิตจะถูกกลืนหายไปกับทะเล ท่ามกลางความทุกข์ส่วนตัว แต่ด้วยแรงศรัทธาชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างแนวป้องกันคลื่นถึง 2 ชั้น แนวหินด้านนอก และเขื่อนแนวที่ห่างไปอีก 20 เมตร เพื่อรักษาวัดขุนสมุทราวาส ศูนย์รวมจิตใจชุมชนไว้ไม่ให้จมหายไปกับทะเล


ศาสนสถานแห่งนี้จึงยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าท่ามกลางพื้นที่โดยรอบที่ถูกน้ำ ทะเลกลืนไปหมดแล้ว โดยมีแนวชายฝั่งที่รุกเข้ามาจนเหลือแค่ 1 กิโลเมตร เป็นความน่าทึ่งจากแรงศรัทธา

http://www.matichon.co.th/online/201...282725142l.jpg


@ การต่อสู้ท่ามกลางความหวังของคนขุนสมุทรจีน


หลายปีที่ผ่านมาบ้านขุนสมุทรถูกนำเสนอผ่านข่าวและมีหน่วยงานต่างๆ เข้าไปดูพื้นที่ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งชาวบ้านก็ได้แต่หวังว่าจะนำไปสู่การช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม


“หน่วยราชการบอกว่าไม่รู้จะช่วยอย่างไร มันใหญ่เกินความสามารถ บางแห่งบอกถ้าช่วยไปแล้วเดี๋ยวที่งอกขึ้นมา ชาวบ้านก็เอาไปอีก ก็ดิ้นรนช่วยกันเอง แล้วเราก็ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมคือรักษาวัดไว้ได้”


ผู้ใหญ่สมร เล่าว่าการต่อสู้ของชุมชนดำเนินไปตามมีตามเกิดด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้าน เป็นหลัก ปราการแนวหินของวัดได้มาจากเงินบริจาคที่ช่วยกันทอดผ้าป่ากฐินของชาวบ้าน ประชาชน พระในจังหวัด เขื่อนสลายกำลังคลื่นมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยมาช่วย



พลังที่สามารถรักษาวัดไว้ ได้สานศรัทธาของชาวบ้านว่าจะสามารถต่อสู้รักษาผืนดินถิ่นเกิดเอาไว้ได้ ด้วยความหวังว่าแนวป้องกันที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จะสามารถเป็นแนวดักดินให้สะสมอยู่จนเกิดแผ่นดินใหม่ที่อาจได้มาทดแทนแผ่นดิน ที่หายไปกลับมาสู่ชุมชนในอนาคต


เพราะในวันนี้ พวกเขาได้เห็นภาพที่น่ายินดีว่าแผ่นดินที่ได้จากการดักตะกอนเรี่มมีความหนา แน่นและแข็งแรงสามารถลงไปช่วยกันปลูกต้นโกงกางจนเกิดเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เริ่มกลับคืนมาภายใต้พื้นที่สงบสุขรอบเขตวัด

ปัจจุบัน ทุนจากการสร้างแนวเขื่อนป้องกันคลื่นทะเล ยังคงมาจากการรวบรวมของชาวบ้าน ผลที่ได้รับจึงเกิดอยู่รอบตัววัดเท่านั้น ทุกครั้งที่คลื่นซัดพวกเขาจึงยังอยู่อย่างไม่เป็นสุขเพราะไม่รู้ว่าเมื่อไร น้ำทะเลจะกลืนแผ่นดินอีก ภัยธรรมชาติครั้งนี้ใหญ่หลวงเกินกว่าเพียงกำลังชาวขุนสมุทรจีน ทำอย่างไรให้เสียงเรียกร้องของพวกเขาไม่หายไปพร้อมกลับเกลียวคลื่นเชี่ยว


ทุกคนที่ล้วนสร้างผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จะมีส่วนลดทุกข์สร้างสุขและเผื่อแผ่ถึงกันได้อย่างไร และได้ทำเพียงพอแล้วหรือ เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวและขยายออกไปเพื่อทุกคนบนโลกใบเดียวกัน สิ่งที่ชุมชนขุนสมุทรจีนทำได้ พวกเขาก็ทำแล้ว บนพื้นฐานความศรัทธา-ความหวังที่จะอยู่รอด และพบความสุข .


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก....http://www.matichon.co.th/news_detai...rpid=&catid=04

สายน้ำ 11-09-2010 07:45


นักวิทย์ชี้น้ำแข็งขั้วโลกละลายช้ากว่าที่คาด


http://www.komchadluek.net/media/img...jj7jg6g8aa.jpg


กระแสความตื่นตัวเรื่องโลกร้อนที่กระจายอยู่ทั่วทุกสังคมโลก ทำให้เกิดวิตกกังวลถึงการละลายตัวของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ที่จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นจนท่วมท้นล้นฝั่ง ทำให้เกาะบางแห่งเช่น มัลดีฟส์ถึงกับจมอยู่ใต้น้ำภายในครึ่งศตวรรษ แม้กระทั่งแผ่นดินทางตอนใต้ของไทยจนถึงกรุงเทพฯ จะหายไปใต้น้ำทะเล เป็นต้น

เมื่อ 2 ปีก่อนนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือบริเวณเกาะกรีนแลนด์จะละลายกลายเป็นน้ำประมาณ 2.3 แสนตันต่อปี ขณะที่น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ฝั่งตะวันตกละลายกลายเป็นน้ำปีละ 1.32 แสนตันต่อปี ด้วยอัตราการละลายของน้ำแข็งทั้งสองขั้วโลกจะทำให้น้ำทะเลทั่วโลกมีระดับสูงขึ้นประมาณ 3 มิลลิเมตรต่อปี สูงกว่าสถิติในช่วงต้นของยุคทศวรรษ 2503 ถึงเกือบ 2 เท่า

http://www.komchadluek.net/media/img...5cjf8g5ebb.jpg

อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลดังกล่าวอาจจะเกิดจากคาดการณ์ถึงเหตุรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง เพราะผลการศึกษาฉบับล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐและเนเธอร์แลนด์ที่ได้รับการยอมรับจนสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ จีโอไซแอนซ์ ระบุว่าอัตราการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่แท้จริงนั้นน้อยกว่าที่คาดไว้ถึงครึ่งหนึ่ง

เหตุเกิดเพราะการคำนวณของนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้นำปัจจัยปรากฏการณ์ "การปรับตัวของก้อนน้ำแข็ง" เข้ามาคำนวณในสมการ

ทีมนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองประเทศได้นำปรากฏการณ์การปรับตัวของก้อนน้ำแข็งมาประกอบการคำนวณ ผลที่ได้มาคือการละลายของก้อนน้ำแข็งขั้วโลกเหนืออยู่ที่ 1.04 แสนตันต่อปี (ผิดพลาดไม่เกิน 23,000 ตันต่อปี) ขณะที่น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายออกมาในระดับ 64,000 ตัน (บวกลบไม่เกิน 32,000 ตันต่อปี)

http://www.komchadluek.net/media/img...5hgdbd6ckb.jpg

ปรากฏการณ์การปรับตัวของก้อนน้ำแข็งเปรียบได้กับการดีดตัวกลับของที่นอน เพื่อรองรับน้ำหนักผู้นอน ซึ่งก้อนน้ำแข็งก็เปรียบเสมือนที่นอนที่ถูกกดทับมานานหลายล้านปี จนเมื่อผู้นอนลุกขึ้นจากเตียงน้ำหนักที่หายไปจึงทำให้สปริงในที่นอน ซึ่งในที่นี้คือส่วนของก้อนน้ำแข็งตอนกลางที่ยังจมอยู่ใต้น้ำดีดตัวกลับขึ้นมาทำให้ที่นอนราบเรียบเช่นเดิมเหมือนกับที่เคยเป็นเมื่อหลายล้านปีก่อน ด้วยปรากฏการณ์นี้เองทำให้การละลายของน้ำแข็งน้อยลงตามไปด้วย

นายเบิร์ท เวอร์เมียร์เสน นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเดลฟท์ เทคนิคัล แห่งเนเธอร์แลนด์ ที่ร่วมทำงานกับนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการจรวดขับดันของนาซา และสถาบันวิจัยอวกาศแห่งเนเธอร์แลนด์ ศึกษาปรากฏการณ์การปรับตัวของก้อนน้ำแข็งยืนยันว่าอัตราการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ถึงครึ่งหนึ่ง และหากตัวเลขอัตราการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลในปัจจุบันนั้นถูกต้องแม่นยำ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ก็คำนวณแล้วว่าปริมาณน้ำในน้ำแข็งขั้วโลกคิดเป็นเพียง 30% ของปริมาณน้ำในโลกไม่ใช่ครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำในโลกดังที่มีการคำนวณใว้ก่อนหน้านี้



จาก ............ คม ชัด ลึก วันที่ 11 กันยายน 2553

สายชล 10-11-2010 12:33

รู้จริงกับภาวะโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นเชิงลึกอย่างไรในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

โดย คลอเดีย คอร์นวอลล์


http://www.readersdigestthailand.co....res/global.jpg


โลกของเราร้อนขึ้นจริงหรือ มนุษย์เป็นต้นเหตุใช่ไหม คำถามจากนักวิชาการซึ่งซุ่มเงียบนี้แพร่ออกไปสู่หนังสือพิมพ์ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือ และบล็อกต่างๆจนเป็นประเด็นร้อน แต่หากพิจารณาให้รอบคอบ จริงๆแล้ว นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่าอย่างไร รีดเดอร์ส ไดเจสท์จึงตัดสินใจหาคำตอบ


หลายรายงานสรุปว่าร้อนขึ้นจริง ตั้งแต่ปี 2393 เป็นต้นมา เกิดปีที่ร้อนที่สุด 11 ครั้งในช่วงปี 2538 ถึง 2549 เมื่อปีก่อน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ของสหประชาชาติ ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2550 ร่วมกับอัล กอร์ รายงานว่า โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเมื่อปี 2393 ประมาณ 0.75 องศา แม้ตัวเลขจะดูไม่มาก แต่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างใหญ่หลวง โลกในช่วงยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายมีอากาศเย็นกว่าปัจจุบันประมาณห้าองศาเท่านั้น

เนื่องจากอากาศอบอุ่นขึ้น สัตว์และพืชจึงขยายเขตการกระจายพันธุ์ไปสู่ขั้วโลกเพื่อค้นหาถิ่นอาศัยที่เย็นกว่า ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 นักวิจัยชาวอังกฤษพบปลาเขตร้อนที่ไม่เคยพบมาก่อนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เมื่อปี 2544 ชาวประมงจับปลาสากได้ในบริเวณนอกชายฝั่งคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ไกลกว่าเขตการกระจายพันธุ์ปกติของปลาชนิดนี้มาก

ในปี 2548 องค์การศึกษาธารน้ำแข็งโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ซูริกในสวิตเซอร์แลนด์แถลงว่า ธารน้ำแข็งในยุโรปลดปริมาตรลงครึ่งหนึ่งจากที่เคยมีเมื่อปี 2393 เดือนมีนาคม 2550 นักวิจัยชาวรัสเซียรายงานการพบชั้นดินเยือกแข็งที่ไม่คงตัวในแถบไบคาล มองโกเลีย และจีน ในเดือนตุลาคม 2550 นักวิจัยชาวอังกฤษแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิที่อบอุ่นขึ้นเป็นสาเหตุให้โลกมีความชื้นเพิ่มขึ้นร้อยละ2.2 ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา



โลกเคยร้อนเท่านี้ไหม

เคย แถมยังร้อนกว่านี้ด้วย เมื่อ 450,000 ถึง 800,000 ปีก่อน กรีนแลนด์เคยเป็นผืนป่า ดังนั้น อุณหภูมิต้องอบอุ่นกว่าปัจจุบันพอสมควร และยังมีช่วงเวลาอื่นๆอีกด้วย



ทำไมต้องกังวลด้วย

ที่น่าเป็นห่วงก็ตรงความเร็วที่อุณหภูมิเกิดการเปลี่ยนแปลง ในอดีต อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2519 อุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าช่วงศตวรรษใดๆในรอบ 1,000 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศทางตอนเหนือของโลก เช่น แคนาดา หรือรัสเซีย อากาศที่อบอุ่นขึ้นอาจช่วยเพิ่มพืชผลทางการเกษตรมากขึ้นและประโยชน์อื่นๆ



อะไรทำให้โลกร้อนขึ้น


ไอพีซีซีสรุปว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกและปรากฏการณ์เรือนกระจก กว่า 25 สมาคมวิทยาศาสตร์และสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของกลุ่มประเทศจี 8 รับรองผลสรุปนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนยังไม่เห็นพ้องโดยแย้งว่าผลกระทบจากมนุษย์มีน้อยมาก



ปรากฏการณ์เรือนกระจกคืออะไร

ศาสตราจารย์โรเบิร์ต ชาร์ลสันแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันอธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้ "มีอยู่ในตำราวิทยาศาสตร์มากว่าร้อยปีแล้วและได้รับการทดสอบอย่างถี่ถ้วน" ก๊าซจำพวกหนึ่งจะทำให้ชั้นบรรยากาศกักพลังงานความร้อนให้อยู่บนผิวโลก หากปราศจากปรากฏการณ์เรือนกระจก อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะอยู่ที่ -18 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น 14.6 องศาซึ่งกำลังสบาย



ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร

ก๊าซเรือนกระจกหลัก ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (ซีเอฟซี) และไอน้ำ ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติ ยกเว้นซีเอฟซีซึ่งเป็นสารทางการค้า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เผาป่า และเผาไร่จะเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ เช่นเดียวกับบ่อขยะ โรงกลั่นน้ำมันและเหมืองถ่านหิน การกระทำของเรายังส่งผลกระทบต่อไอน้ำทางอ้อม เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำจะระเหยเป็นไอน้ำมากขึ้น



ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นแค่ไหน

"ตั้งแต่เริ่มยุคอุตสาหกรรม คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 35" กาวิน ชมิดท์ นักอุตุนิยมวิทยาแห่งสถาบันวิจัยอวกาศก็อดดาร์ดของนาซา กล่าว "มีเทนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า ไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17" นักวิทยาศาสตร์เป็นห่วงเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์เพราะเป็นก๊าซที่มีมากที่สุดซึ่งมีผลกระทบกับเราโดยตรง ขณะเราควบคุมการปล่อยสารซีเอฟซีและมีเทนได้แล้ว แต่ยังควบคุมก๊าซนี้ไม่ได้ คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศยังคงสูงขึ้นประมาณร้อยละ 0.4 ต่อปีจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 85 ของพลังงานที่เราต้องการ



คาร์บอนไดออกไซด์จะกระจายหายไปเองไหม

"ก๊าซนี้ไม่หายไปเอง แต่จะอยู่ได้หลายร้อยปี" ชมิดท์แห่งนาซากล่าว แต่ละปีทั่วโลกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 23.5 กิกาตัน (หนึ่งกิกาตันเท่ากับหนึ่งล้านล้านกิโลกรัม) โชคดีที่ปริมาณดังกล่าวจะยังคงอยู่ในบรรยากาศเพียงครึ่งเดียว ส่วนที่เหลือธรรมชาติจะดูดซับไป

แหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ใหญ่ที่สุดคือมหาสมุทร ซึ่งจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยออกมามากกว่าหนึ่งในสี่ทุกปี ขณะนี้ มหาสมุทรดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 50 เท่าของที่มีอยู่ในบรรยากาศและสิบเท่าของที่มีในสิ่งมีชีวิตบนบก แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามหาสมุทรจะเก็บกักอย่างปลอดภัยได้มากกว่านี้เท่าไร

เคน คาลไดรา นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศประจำสถาบันคาร์เนกีแห่งวอชิงตันในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า คาร์บอนไดออกไซด์ในมหาสมุทรจะกลายเป็น กรดคาร์บอนิกซึ่งกัดกร่อนโครงร่างที่เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตของสัตว์ทะเล

ป่าและพืชพรรณดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบหนึ่งในสี่ เมื่อพืชสังเคราะห์แสงก็จะสลายคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นออกซิเจนที่พืชคายออกมาและคาร์บอนที่พืชนำไปสร้างเซลล์ ศาสตราจารย์เดวิด เอลสเวิร์ตแห่งมหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์นซิดนีย์ ออสเตรเลีย กำลังศึกษาว่าต้นไม้และพืชจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นโดยการปลูกต้นยูคาลิปตัสในห้องที่เพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงขึ้น

สายชล 10-11-2010 12:34

นอกจากก๊าซเรือนกระจก มีปัจจัยอื่นอีกไหมที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลกและการเปลี่ยนแปลงการเอียงของแกนหมุนของโลกซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นแบบแผนเปลี่ยนแปลงการรับแสงอาทิตย์ของบริเวณต่างๆบนโลก และอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมยุคน้ำแข็งจึงเกิดเป็นช่วงๆ ดวงอาทิตย์ส่งพลังงานที่มีความผันแปรเล็กน้อยด้วย เมื่อความเข้มของดวงอาทิตย์สูง จุดดับบนดวงอาทิตย์จะเพิ่มจำนวนขึ้นและดวงอาทิตย์สว่างขึ้น แต่นักวิจัยแห่งสถาบันแมกซ์พลังก์เพื่อการวิจัยระบบสุริยจักรวาลกล่าวว่าความผันแปรในความเข้มของดวงอาทิตย์ไม่ได้ทำให้อุณหภูมิช่วงที่ผ่านมานี้สูงขึ้น ในปี 2547 พวกเขาสังเกตพบว่าขณะอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์ไม่ได้สว่างมากไปกว่าเดิมเลย

อนุภาคขนาดเล็กที่ภูเขาไฟปล่อยออกมาและมลพิษจากอุตสาหกรรมสามารถสะท้อน พลังงานบางส่วนจากดวงอาทิตย์กลับออกไปสู่อวกาศทำให้อากาศเย็นลง ในปี 2534 ภูเขาไฟพินาทูโบในฟิลิปปินส์พ่นเถ้าออกมาสู่ชั้นบรรยากาศมากจนอุณหภูมิลดลงครึ่งองศาเซลเซียสเป็นเวลาสองปี

ไอน้ำและเมฆมีบทบาทเช่นกัน แต่ยากจะคาดการณ์ผลกระทบได้ น้ำที่ระเหยจากมหาสมุทรที่อบอุ่นจะเกิดเป็นเมฆที่ทั้งสามารถเก็บกักความร้อนและสะท้อนความร้อนออกไปในอวกาศ "เมฆชั้นต่ำมีแนวโน้มจะทำให้โลกเย็นลง" ศาสตราจารย์ชาร์ลสันกล่าว



เมฆชั้นสูงจะทำให้โลกร้อนขึ้น

วงจรย้อนกลับส่งผลถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและยากจะคำนวณ เช่น เมื่อโลกร้อนขึ้น ธารน้ำแข็งและน้ำแข็งในทะเลละลาย พื้นผิวโลกก็จะสะท้อนแสงออกไปอวกาศน้อยลง โลกจะร้อนขึ้น น้ำแข็งก็ละลายมากขึ้น โลกจึงยิ่งร้อนขึ้นไปอีก เป็นต้น

อะไรทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการให้โลกร้อนขึ้น

นักวิจัยหลายคนสรุปว่า ลำพังธรรมชาติไม่เป็นสาเหตุให้อุณหภูมิสูงขึ้นตลอด 30 หรือ 40 ปีที่ผ่านมา บรูซ เบาเออร์ซึ่งศึกษาระบบภูมิอากาศโบราณที่ศูนย์ข้อมูลโบราณอุตุนิยมวิทยาโลกในโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด กล่าวว่า "หากจะหาสาเหตุ วิธีเดียวที่คุณจะคำนวณสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้คือต้องรวมผลกระทบจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเข้าไปด้วย"

ทฤษฎีก๊าซเก็บกักความร้อนระบุว่าหากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้น อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศระดับต่ำและที่ผิวโลกจะเพิ่มขึ้น โทมัส คาร์ล ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ กล่าวว่า "หลักฐานยังชี้ให้เห็นผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น"

ริชาร์ด ลินด์เซน ศาสตราจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า "ผลกระทบ (จากการสร้างก๊าซเรือนกระจก) นั้นมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงตามปกติของสภาพอากาศ" ลินด์เซนเชื่อว่าการที่อุณหภมิสูงขึ้นตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมาเกิดจาก "ความผันแปรตามธรรมชาติ" เราสามารถคาดการณ์ได้ไหม "ตอนนี้ไม่ได้" เขายืนยัน แล้วในอนาคตเราจะคาดการณ์ได้ไหม "ยังไม่มีหลักฐานมากนัก"

สเตฟาน ราห์มสตอฟ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ของมหาสมุทรที่สถาบันพอตสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบของสภาพอากาศในเยอรมนีไม่เห็นด้วย ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ เดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว ราห์มสตอฟชี้ให้เห็นว่า การคาดการณ์อุณหภูมิของไอพีซีซีสอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบัน ในปี 2533 ไอพีซีซีคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2549 อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นระหว่าง 0.15 ถึง 0.37 องศา ขณะอุณหภูมิที่เพิ่มจริงก็อยู่ในช่วงดังกล่าวคือ 0.33 องศา



นักวิทยาศาสตร์มั่นใจในข้อสรุปของตนแค่ไหน

เมื่อถามว่ามนุษย์ทำให้โลกร้อนขึ้นใช่ไหม คาร์ล วุนช์ ศาสตราจารย์ด้านสมุทรศาสตร์กายภาพ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า "จากที่ผมเห็นน่าจะใช่ แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีส่วนน้อยที่เกิดจากธรรมชาติ"

หมายความว่าเราควรรอดูอย่างนั้นหรือ วุนช์ตอบว่าไม่เลย เขาเปรียบให้เห็นว่าเราซื้อประกันอัคคีภัยไม่ใช่เพราะเชื่อว่าบ้านจะไฟไหม้ แต่เพราะเป็นความเสี่ยงที่เราเลี่ยงได้ ในปี 2549 อดีตหัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลก นิโคลาส สเทิร์น เขียนรายงานหนา 700 หน้าเสนอรัฐบาลอังกฤษ สรุปว่ายิ่งลงมือเร็วเท่าไรงานก็ยิ่งง่ายเท่านั้น



ในอนาคตอุณหภูมิจะสูงแค่ไหน

ตามความเห็นของไอพีซีซี เมื่อถึงปี 2643 อุณหภูมิเฉลี่ยอาจสูงขึ้นถึง 5.8 องศาเซลเซียส แต่รายงานของไอพีซีซียังเสนอว่า เราสามารถรักษาระดับอุณหภูมิที่สูงกว่าก่อนยุคอุตสาหกรรมสององศาซึ่งพอยอมรับได้ หากทุกปีเราลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงเกินกว่าร้อยละหนึ่งเพียงเล็กน้อยของระดับปัจจุบัน เมื่อถึงปี 2593 เราจะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาลงได้ครึ่งหนึ่ง



เราจะลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร

การใช้พลังงานทางเลือกและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นแบบอย่างที่ดีจากการออกกฎหมายและให้แรงจูงใจทางการเงิน รัฐนี้คงระดับการใช้ไฟฟ้าต่อหัวได้เท่ากับเมื่อปี 2513 ขณะรัฐอื่นๆมีอัตราการใช้ต่อหัวสูงเกือบสองเท่า

ปัจจุบัน การบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตร้อนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราวร้อยละ 20 จากที่เราปล่อยออกมา ปีเตอร์ ฟรัมฮอฟฟ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์และนโยบายของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใยโลก กล่าวว่า "เราจะลดภาวะโลกร้อนไม่ได้หากไม่ลดการทำลายป่าด้วย"

การอนุรักษ์ป่าเขตร้อนยังมีประโยชน์เป็นสองเท่าเพราะป่าดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มเมฆที่ช่วยให้ร่มเงา

นักวิทยาศาสตร์อยากจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศเพื่อลดปริมาณคาร์บอน โอมาร์ ยากี ศาสตราจารย์ ด้านเคมีคิดค้นฟองน้ำคริสตัลที่มีรูขนาดนาโนและสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบสองเท่าของน้ำหนัก ถังที่บรรจุคริสตัลนี้สามารถเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าถังขนาดเท่ากันที่ไม่มีคริสตัลถึงเก้าเท่า

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งใช้ปล่องควันดักมลพิษ ยากีหวังว่าภาคอุตสาหกรรมจะนำฟองน้ำของเขาใช้ไปดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังดูดซับก๊าซนี้จากอากาศได้ด้วย "วัสดุที่เราทำขึ้นมีความเฉพาะเจาะจงต่อคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซจากบรรยากาศได้" การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างกว้างขวาง ล่าสุด ในวารสารวิทยาศาสตร์ เดือนเมษายน 2550

แม้บริษัทน้ำมันจะถูกกล่าวหาอยู่บ่อยๆว่าเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน บางบริษัทก็กำลังหาทางแก้ไข เมื่อปี 2548 บริษัทน้ำมันบีพีของอังกฤษร่วมกับโซนาทราชของแอลจีเรียและสแทตออยล์ของนอร์เวย์เริ่มฝังคาร์บอนไดออกไซด์ที่แหล่งน้ำมันอินซาลาห์ในแอลจีเรียแทนที่จะปล่อยออกสู่บรรยากาศ ในก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะที่นั่นมีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ด้วย ตามที่โรเบิร์ต ไวน์ โฆษกของบีพี กล่าว คาร์บอนไดออกไซด์ 17 ตันจะถูกฝังลึกลงไปใต้ดิน 1,800 เมตร เทียบได้กับการเลิกใช้รถยนต์ 250,000 คัน "หากคุณเชื่อว่าปัญหาหนึ่งต้องการการแก้ไข คุณจะต้องแสดงให้เห็น" ไวน์กล่าว

วิทยาศาสตร์ของสภาพอากาศเป็น "วิทยาศาสตร์ซับซ้อนที่สุดแขนงหนึ่ง" วุนช์กล่าว แม้เราจะไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ "มีความเสี่ยงที่จะเป็นไปได้ ผมคิดว่าการไม่ทำอะไรเลยนั้นช่างไร้สติสิ้นดี"



ขอขอบคุณข้อมูลจาก .....http://www.readersdigestthailand.co.th

สายน้ำ 29-11-2010 07:57


ถาม-ตอบ 'ความจริง' 'เรื่องโลกร้อน' 'ความลวง 'ก็ระอุ ??

http://www.dailynews.co.th/content/i...aper/scoop.jpg

“ความจริงเรื่องโลกร้อน : รอยเท้า ถุงผ้า และการเปลี่ยนแปลง” ...นี่คือชื่องาน มหกรรมประชาชนเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม 2553 ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 30 พ.ย.นี้ ณ สวนสันติชัยปราการ ช่วงเวลา 09.00-20.00 น. โดยคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ซึ่งพิจารณาลึกๆจากชื่องาน...ก็น่าสนใจ

กระแส “ลดโลกร้อน” มี “ความจริง” บางอย่างที่น่ารู้

และคำว่า “โลกเย็นที่เป็นธรรม” ก็เป็นอีกคำที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ ก่อนจะถึงวันจัดงานมหกรรมนี้ หากจะว่ากันก่อนถึงเรื่อง “โลกร้อน” จากข้อมูลในเว็บไซต์ www.ThaiClimateJustice. org โดยคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม ก็มีประเด็นน่าพิจารณา ซึ่งโดยสังเขปก็เช่น... คำถาม... โลกร้อนคืออะไร? ทำไมถึงต้องสนใจด้วย? คำตอบ... โลกร้อนคือการที่อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น เกิดจากการที่มนุษย์ได้ขุดพลังงานฟอสซิลจากใต้ดินมาใช้อย่างมหาศาล เกิดการปลดปล่อยก๊าซบางชนิดสู่ชั้นบรรยากาศ และไปปิดกั้นไม่ให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกสะท้อนออกไป ทำให้โลกเกิดสภาพเหมือนเรือนกระจก และนำสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

คำถาม... ใครเป็นต้นเหตุทำให้โลกร้อน? คำตอบ... เมื่อประเทศพัฒนาแล้วเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ ทำให้เกิดการผลาญทรัพยากรธรรมชาติและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศและสะสมมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศกำลังพัฒนาเดินตามรอยประเทศพัฒนาแล้ว การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศเหล่านี้ก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว จนปรากฏว่า ปัจจุบันบางประเทศปล่อยก๊าซมากกว่าประเทศอุตสาหกรรมเสียอีก,

คำถาม... พูดให้ชัดกว่านี้ได้ไหมว่ากิจกรรมส่วนไหนของมนุษย์ที่เป็นปัญหามากที่สุด? คำตอบ... การใช้พลังงานของมนุษย์เป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะพลังงานส่วนใหญ่เป็นพลังงานสกปรกที่มาจากซากฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน เป็นต้น

คำถาม... ภาคเกษตรเองก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่หรือ? คำตอบ... การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีอยู่ในทุกภาคส่วน แต่เราจำเป็นจะต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างการปล่อยก๊าซเพื่อความอยู่รอดกับการปล่อยก๊าซแบบฟุ่มเฟือย การปล่อยก๊าซในภาคเกษตรจำนวนมากเป็นไปเพื่อการผลิตอาหาร จึงเป็นความจำเป็น

คำถาม... โลกร้อนมีผลกระทบต่อคนอย่างไรบ้าง? คำตอบ... ผลกระทบของโลกร้อนมีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญคือสุขภาพและอาหารจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพก็จะทำให้โรคระบาดในเขตร้อนเกิดมากขึ้น เช่น ไข้มาลาเรีย เพราะอากาศร้อนขึ้น เชื้อโรคอยู่ได้นานขึ้น บนภูเขาหลายพื้นที่เคยเย็น เดี๋ยวนี้ร้อนขึ้น ก็พบว่ามียุงมากขึ้น เป็นต้น ส่วนอาหารก็จะได้รับผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป บางปีฝนตกหนักน้ำท่วม บางปีฝนแล้ง อากาศร้อนเกินไปก็มีผลต่อพืช ทำให้การผลิตอาหารทำได้ลำบากขึ้น,

คำถาม... ใครจะได้รับผลกระทบมากที่สุด? คำตอบ... เป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าที่ว่าประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และ คนจนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนๆ ก็มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย เพราะขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว คนรวยมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีเงิน ทรัพยากรต่างๆสำหรับการปรับตัวหรือเตรียมการรับผลกระทบ แต่ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศยากจน คนจน จะมีน้อยกว่ามาก

แล้วก็ต่อเนื่องถึงคำถาม... โลกร้อนไปเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นธรรมตรงไหน? คำตอบ...
... แรกสุดเลยต้องนึกก่อนว่าปัญหาโลกร้อนมีต้นเหตุมาจากประเทศพัฒนาแล้ว มากกว่าประเทศกำลังพัฒนา มาจากคนรวยมากกว่าคนจน แต่พอเกิดผลกระทบ คนจนกลับได้รับผลกระทบมากกว่า
...สอง...เวลาแก้ปัญหาคนที่มีอำนาจในการออกมาตรการหรือนโยบายมักจะไม่ดูว่า สังคมมีปัญหาอะไรอื่นๆอยู่ก่อนหน้านั้น มุ่งแต่จะแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเดียว ซึ่ง วิธีแก้ปัญหาโลกร้อนหลายอย่างอาจช่วยให้โลกเย็นลงได้บ้าง แต่จะทำให้สังคมร้อนระอุขึ้นแทนมากกว่า เช่น การที่ชุมชนในเขตป่ามีปัญหากับหน่วยงานของรัฐเรื่องสิทธิที่ดิน เพราะชุมชนอยู่อาศัยในป่ามานานก่อนประกาศเป็นเขตอุทยาน แต่ราชการก็ยึดถือว่าเป็นพื้นที่ป่า เป็นของรัฐแล้ว ถ้าคิดจะแก้โลกร้อนอย่างเดียว รัฐบาลอาจนึกถึงแต่การไล่ชาวบ้านออก เอาพื้นที่มาปลูกป่า ปัญหาสังคมและความขัดแย้งจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ถ้าจะทำให้โลกเย็นก็ต้องแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมไปพร้อมๆกัน

เหล่านี้เป็นบางส่วนจากข้อมูลถาม-ตอบเรื่องโลกเย็น-ร้อนที่น่าคิด ขณะที่สิ่งที่จะมีการเปิดออกมาในงานมหกรรมประชาชนเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม 2553 “ความจริงเรื่องโลกร้อน : รอยเท้า ถุงผ้า และการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ www.ThaiClimateJustice.org และ info@thaiclimatejustice. org คงจะมีประเด็นร้อนเกี่ยวกับกระแสโลกร้อน-รณรงค์ลดโลกร้อนอีกไม่น้อย เพราะไม่เพียงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมเสนอไอเดียเพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง...

แต่ยังมีการระบุว่างานนี้เหมาะกับผู้ที่อยาก “ตาสว่าง”

และ “รับรู้ความจริงในความลวงเรื่องโลกร้อน???”.



จาก .............. เดลินิวส์ คอลัมน์สก๊ปหน้า 1 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2553


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 04:29

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger