SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2564 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5638)

สายน้ำ 17-08-2021 02:27

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2564
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 17 - 18 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น

ส่วนในช่วงวันที่ 19 - 22 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มีลมฝ่ายตะวันออกพัดเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ตลอดช่วง บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 19 - 22 ส.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 17-08-2021 03:27

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ภัยธรรมชาติรุนแรงทั่วโลก สัญญาณผลกระทบโลกร้อน

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น

- สภาพอากาศโลกแปรปรวนขึ้นเรื่อยๆ กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเดือนที่โลกมีอุณหภูมิทะยานขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวทั้งบนบกและผิวน้ำทะเลอยู่ที่ 16.73 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิในศตวรรษที่ 20 ไปถึง 0.93 องศาเซลเซียส

- เกิดไฟป่ารุนแรงแบบเกินรับมือในหลายประเทศทั่วโลกทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย กรีซ อิตาลี แอลจีเรีย ตุรกี และแคนาดา แม้ปกติแล้วจะเกิดไฟป่าทุกปี แต่ปีนี้สถานการณ์เลวร้าย โดยมีผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนเป็นชนวนความรุนแรง เฉพาะที่สหรัฐฯ ปีนี้มีพื้นที่ป่าถูกเผาไหม้แล้วกว่า 8.8 ล้านไร่

- ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกยังทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ เกิดน้ำท่วมฉับพลันรุนแรงในหลายประเทศแถบตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 100 ศพ สูญหายอีกนับพันคน หลายประเทศแถบเอเชียก็เจอน้ำท่วมครั้งใหญ่อย่างที่จีนและญี่ปุ่น


หากติดตามข่าวต่างประเทศช่วงนี้จะพบว่านอกจากข่าวสถานการณ์โควิดที่กลับมาแพร่ระบาดรุนแรงในหลายประเทศแล้ว ยังมีแต่ข่าวภัยพิบัติธรรมชาติเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ดูแล้วไม่ต่างจากวันสิ้นโลก ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าตามที่ต่างๆ ที่โหมรุนแรงลามเข้าเขตชุมชน น้ำท่วม ดินถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และข่าวการเผชิญคลื่นความร้อนในหลายประเทศแถบยุโรป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่า เป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยขึ้นและส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การบริหารด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration-NOAA) เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติมา วัดจากพื้นผิวดินและผิวน้ำแล้วคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยออกมาได้สูงกว่าตัวเลขอุณหภูมิเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 ไปถึงเกือบ 1 องศาเซลเซียส โดยร้อนกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว 0.01 องศาเซลเซียส และเรียกได้ว่าเป็นเดือนที่โลกร้อนที่สุดในรอบ 142 ปี

จากข้อมูลระบุว่า หากดูเฉพาะบริเวณซีกโลกเหนือ อุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้นถึง 1.54 องศาเซลเซียส ขณะเดียวกัน เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ยังเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของเอเชียด้วย และร้อนที่สุดของยุโรป รองจากเดือน ก.ค. ในปี 2561 โดยสภาพอากาศแปรปรวนยังทำให้เกิดการก่อตัวอย่างผิดปกติของพายุไซโคลนโซนร้อนในปีนี้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ องค์การสหประชาชาติออกมารายงานเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ถือเป็นสัญญาณอันตรายร้ายแรงต่อมนุษยชาติ โดยนายอันโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ กล่าวว่า หากเป็นเมื่อก่อนเรายังหลีกเลี่ยงที่จะไม่แก้ปัญหาโลกร้อนได้ เพราะผลกระทบต่างๆ ยังไม่รุนแรง แต่ตอนนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้เราไม่มีเวลาเหลือที่จะเพิกเฉยต่อปัญหานี้แล้ว

รายงานของยูเอ็นระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2513 ที่ผ่านมา อุณหภูมิพื้นผิวโดยเฉลี่ยรอบ 50 ปีของโลกเราเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วที่สุดในตลอดช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศแถบยุโรป อุณหภูมิร้อนทะลุ 40 องศาเซลเซียส โดยอากาศในเมืองซิซิลีของอิตาลี ร้อนทำสถิติสูงสุดที่ 48.8 องศาเซลเซียส ส่วนที่หมู่บ้านลิทตั้น ในรัฐบริติช โคลัมเบีย ของแคนาดา อุณหภูมิทะลุ 49.6 องศาเซลเซียส


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ไฟป่าทำทั่วโลกลุกเป็นไฟ

ตอนนี้มีหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ รัสเซีย กรีซ อิตาลี แอลจีเรีย ตุรกี และแคนาดา โดยที่กรีซแม้จะเกิดไฟป่าเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้เปลวไฟลุกลามไปทั่วประเทศ และอากาศที่ร้อนจัดก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อภารกิจในการดับไฟป่า

นายกรัฐมนตรีของกรีซ แถลงทางโทรทัศน์ว่า กรีซกำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากเกิดไฟป่าถึง 586 จุดในทั่วทุกมุมของประเทศ เผาผลาญบ้านเรือนไปหลายร้อยหลังคาเรือน ทำให้ต้องอพยพประชาชนถึง 63 ครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยเกาะเอเวีย ซึ่งเป็นเกาะใหญ่อันดับสองของกรีซ ได้ถูกไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ของเกาะไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ส่วนที่สหรัฐฯ ไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ปะทุขึ้นมานานนับเดือนก็ยังคงลุกลามอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบททางตอนเหนือ ของเขตเทือกเขาเซียร์รา เนวาดา เผาบ้านเรือนวอดไปกว่า 550 หลัง และยังขยายวงกว้างเผาผลาญพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร จนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงควบคุมไฟป่าไปได้เพียง 31% เท่านั้น

ขณะที่สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ทำให้ไฟป่าลุกลามรวดเร็ว และส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่า นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ทำให้พื้นที่ทางตะวันตกของสหรัฐฯ ร้อนและแห้งแล้งมากที่สุดในรอบ 30 ปี ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง รวมถึงไฟป่าเพิ่มมากขึ้น

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


น้ำท่วมใหญ่หลายประเทศทั่วยุโรป

สองสัปดาห์ที่ผ่านมาน้ำท่วมรุนแรงส่งผลกระทบในหลายประเทศของยุโรปตะวันตก มีภาพข่าวกระแสน้ำทะลักลงไปท่วมถึงในรถไฟใต้ดิน มีรายงานผู้เสียชีวิตมากกว่า 120 ศพ มีผู้สูญหายอีกหลายร้อยคน ทั้งในเยอรมนีและเบลเยียม หลังฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง โดยเยอรมนีนับเป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมเป็นวงกว้าง และมียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดกว่า 100 ศพ ส่งผลให้ประธานาธิบดี แฟรงค์ วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ถึงกับออกปากว่า เขาตกตะลึงกับความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง และเห็นใจประชาชนที่ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมาทั้งชีวิต

นอกจากนี้ยังมีฝนตกหนักในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ทำให้นายกรัฐมนตรี มาร์ก รูทท์ ของเนเธอร์แลนด์ ต้องประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินในจังหวัดทางตอนใต้ 1 จังหวัด

ที่เบลเยียม มีการประเมินความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 ศพ โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้วันที่ 20 กรกฎาคม เป็นวันไว้อาลัยทั่วประเทศ

ส่วนที่ สวิตเซอร์แลนด์ ทะเลสาบและแม่น้ำเพิ่มระดับสูงขึ้นหลังฝนตกหนัก จนน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ ทั้งในกรุงเบิร์น และในเมืองลูเซิร์น จนทางการต้องสั่งให้ประชาชนอยู่ห่างจากแม่น้ำในช่วงนี้เพื่อความปลอดภัย

บรรดาผู้นำชาติยุโรปต่างกล่าวโทษว่า สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงเป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนและภาวะโลกร้อน เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า ภาวะโลกร้อนทำให้มีฝนตกหนักมากผิดปกติ โดยอุณหภูมิของโลกอุ่นขึ้นราว 1.2 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มต้นขึ้น

ขณะที่ตุรกี เป็นหนึ่งในประเทศที่เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด มีภัยธรรมชาติกระหน่ำสองด้าน อุณหภูมิสูงทะลุ 49.1 องศาเซลเซียส เกิดไฟป่ากว่า 500 แนว บริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางตอนใต้ของประเทศ เปลวไฟเผาพื้นที่ป่าของตุรกีไปกว่า 1,600 ตารางกิโลเมตร นับเป็นฤดูไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ศพ บาดเจ็บเกือบ 1,000 ราย ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เมืองรีสอร์ตริมทะเลต้องอพยพหนีไฟป่าที่ลามเข้าประชิด ผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์ถึงเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้เป็นส่วนใหญ่

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ในขณะที่ไฟป่ายังดับไม่หมด ก็ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่บริเวณจังหวัดชายฝั่งทะเลดำทางตอนเหนือของประเทศ อย่างจังหวัดบาร์ติน คาสตาโมนู ไซนอป และแซมซัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 60 ศพ มีประชาชนกว่า 2,000 คนต้องอพยพหนีออกจากบ้านเรือน ภัยธรรมชาติรุนแรงทำให้ประธานาธิบดีของตุรกีต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติในพื้นที่แถบทะเลดำ

ผู้เชี่ยวชาญของตุรกีบอกว่า จากการทำแบบจำลองสภาพอากาศทำให้พบว่า มีโอกาสที่พอถึงปลายศตวรรษนี้ตุรกีจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 3.5-6.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่จะเกิดฝนตกหนักครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น แม้จะตกไม่ยาวนาน แต่จะตกบ่อยมากขึ้น ในขณะที่ฤดูแล้งจะขยายเวลาออกไปประมาณ 30% เนื่องมาจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้ว.

ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์ ....... ข้อมูล : BBC People Politico.eu


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2166666


สายน้ำ 17-08-2021 03:30

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


สะพานแห่งกาลเวลา : กัลฟ์สตรีม ................ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
(ภาพ-NASAGoddard Space Flight Center Scientific Visualization Studio)

เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เนเจอร์ จีโอไซนซ์ เนื้อความสรุปว่า กระแสน้ำหลักของมหาสมุทรโลกอย่าง กระแสน้ำแอตแลนติก เมริดิโอนัล โอเวอร์เทิร์นนิ่ง เซอร์คูเลชัน (เอเอ็มโอซี) ที่ส่วนมากมักรู้จักกันในชื่อ กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเอเอ็มโอซี) กำลังไหลเวียนด้วยกำลังที่อ่อนลงและช้าลงมากที่สุดในรอบ 1,600 ปี

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่อย่างมาก เพราะกัลฟ์สตรีมคือตัวการในการบรรเทาเบาบางภาวะภูมิอากาศรุนแรงให้กับพื้นที่ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ขนาดมหึมาเลยทีเดียว

เรียกได้ว่าเป็นตัวปรับสมดุลของภูมิอากาศที่สำคัญยิ่งให้กับโลก

แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ของทีมวิจัยที่นำโดย นิคลาส โบเออร์ส นักวิจัยของสถาบันพอทสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบจากภูมิอากาศ ในประเทศเยอรมนี ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เนเจอร์ ไคลเมท เชนจ์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอันตรายที่จะเกิดจากเอเอ็มโอซีมากยิ่งกว่านั้น

ข้อสรุปจากงานวิจัยที่ผ่านๆ มามักสรุปเอาไว้ว่า เอเอ็มโอซีจะยังคงอยู่ต่อไป เพียงแค่ว่าจะไม่อยู่ในสภาพไหลแรงและเร็ว แต่จะไหลช้าและอ่อนกำลังลงเท่านั้น

ข้อที่ถกกันอย่างมากก็คือ สภาวะที่อ่อนแรงลงและไหลวนช้าลงที่ว่านี้ ช้าพอที่จะให้เวลากับมนุษย์ได้ช่วยกันลดภาวะโลกร้อน กู้สภาพคืนมาได้หรือไม่

ทีมวิจัยของโบเออร์ส อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตจากแกนน้ำแข็งแอตแลนติก รวมถึงข้อมูลทางธรณีวิทยาอีกหลายอย่างจากอดีตกาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระแสน้ำเอเอ็มโอซีนั้นมีสภาพ ?เสถียร? อยู่ 2 แบบ คือ สถานะไหลแรงและเร็ว อย่างที่เราคุ้นเคย กับสถานะไหลอ่อนและช้า

การวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นด้วยว่า เอเอ็มโอซีค่อยๆ ไหลช้าลงก็จริง แต่เมื่อผ่านจุด "วิกฤต" จุดหนึ่งแล้ว การพลิกผันไปอยู่ในอีกสถานะหนึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วน เหมือนเราพลิกกลับเหรียญจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งยังไงยังงั้น

เมื่อกลับไปสู่สถานะใหม่แล้ว ก็จะคงอยู่อย่างนั้น ต่อเนื่องนานนับเป็นร้อยเป็นพันปี

สิ่งที่ทีมวิจัยของโบเออร์ส บอกไม่ได้และเรียกร้องให้เร่งศึกษาวิจัยให้ชัดเจนก็คือ เวลานี้เราอยู่ตรงจุดไหนกันแน่ เข้าใกล้ ?จุดวิกฤต? ที่ว่ามากเพียงใด หรือว่าเราผ่านเลยจุดที่ว่านั้นมาแล้ว?

เพราะการเปลี่ยนสถานะเสถียรของเอเอ็มโอซี จากไหลแรง เร็ว เป็น ไหลอ่อนและช้านั้น ไม่เพียงส่งผลมหาศาลต่อภูมิอากาศของซีกโลกทางตอนเหนือ (เส้นศูนย์สูตร) ให้เย็นลงมากเท่านั้น ยังจะส่งผลให้เกิดพายุรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ในเวลาเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อรูปแบบของฝนที่เกษตรกรหลายพันล้านคนต้องพึ่งพาในการทำเกษตรกรรมใน แอฟริกา, อเมริกาใต้ และเอเชีย รวมทั้งอินเดียอีกด้วย

อะไรทำให้สถานะเสถียรของกระแสน้ำเอเอ็มโอซี พลิกกลับไปอีกขั้วหนึ่ง? คำตอบของ โบเออร์สและทีมก็คือ ภาวะโลกร้อนที่มนุษย์ก่อให้เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการละลายของมวลน้ำแข็ง เพิ่มน้ำจืดปริมาณมหาศาลให้กับมหาสมุทร ตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

เอเอ็มโอซีนั้นคงสถานะอยู่ได้เพราะ 2 ปัจจัย หนึ่งคืออุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างน้ำในมหาสมุทรตอนใต้และมหาสมุทรตอนเหนือ อีกหนึ่งคือ ความเค็มของน้ำที่แตกต่างกัน กระแสน้ำจากมหาสมุทรตอนใต้ที่เค็มกว่าและร้อนกว่า จะไหลวนขึ้นไปทางเหนือ แลกเปลี่ยนอุณหภูมิจนเย็นลง จึงจมลงสู่ด้านล่างเพราะมีความเค็มมากกว่าทำให้มีความหนาแน่นมากกว่า แล้วจึงไหลวนกลับมายังมหาสมุทรตอนใต้อีกครั้ง

เมื่อความเค็มลดลงจนแทบไม่แตกต่าง ความหนาแน่นก็ไม่แตกต่าง ทำให้ไม่สามารถจมลงแล้วดันมวลน้ำจากด้านล่างขึ้นสู่พื้นผิวแทนได้ การไหลเวียนก็ไม่เกิดขึ้น

นี่เป็นอีกตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมามนุษย์เราทำร้ายตัวเองและโลกหนักหนาสาหัสเพียงใด


https://www.matichon.co.th/article/news_2884832



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:23

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger