SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2565 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=6068)

สายน้ำ 07-10-2022 02:16

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2565
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนน้อย ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้าปกคลุมภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 7 ? 8 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนน้อย แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

ส่วนในช่วงวันที่ 9 ? 12 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1 ? 3 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 7 - 10 ต.ค. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 07-10-2022 03:07

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีซ้อน เกิดจากภูมิอากาศโลกรวนด้วยฝีมือมนุษย์

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
ภาพถ่ายมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ

เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ประกาศว่าปรากฏการณ์ลานีญา (La Ni?a) ซึ่งทำให้ฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบแปซิฟิก มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปอีกนานหลายเดือนในปีนี้และปีหน้า ทำให้นับเป็นปีที่สามแล้วที่สภาพภูมิอากาศแบบดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกัน

ปรากฏการณ์ลานีญารอบปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก.ย. 2020 และมีความเป็นไปได้ 55-70% ที่จะดำเนินต่อไปจนถึง ก.พ. 2023 หรือยาวนานยิ่งกว่านั้น

การเกิดลานีญาถึง 3 ปีซ้อน จัดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หาพบได้ยากมาก โดยเคยมีการบันทึกไว้เพียง 2 ครั้งในประวัติศาสตร์ ระหว่างช่วงปี 1973-1976 และ 1998-2001

ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ นำโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (UW) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานวิจัยว่าด้วยความผิดปกติของปรากฏการณ์ลานีญาดังข้างต้น ลงในวารสาร Geophysical Research Letters ฉบับวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา

ทีมผู้วิจัยระบุว่า หลักฐานจากการติดตามความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำ ทั้งในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ชี้ว่าปรากฏการณ์ลานีญาที่รุนแรงและยาวนานเกินกว่าที่เคยเป็นมา ไม่ใช่วงจรความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยฝีมือมนุษย์

ข้อมูลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ชี้ว่าอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณนอกชายฝั่งอเมริกาใต้เย็นตัวลง ในขณะที่อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก และมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันออกกลับร้อนขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับห้วงน้ำอื่น ๆ ของโลก

สภาพการณ์นี้ทำให้ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกกับตะวันออกเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดเป็นกระแสลมพัดแรงเข้าหาอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์ลานีญารุนแรงขึ้นตามไปด้วย

ดร. โรเบิร์ต เจนกลิน วิลส์ ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันบอกว่า "ตามปกติแล้ว มหาสมุทรแปซิฟิกจะมีวงจรของภูมิอากาศที่สลับสับเปลี่ยนไปมาปีละครั้ง ระหว่างปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Ni?o) กับลานีญา แต่ภาวะโลกร้อนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก กำลังเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดลานีญาอย่างรุนแรงและยาวนาน ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา"

ทีมผู้วิจัยยังระบุในรายงานว่า ปรากฏการณ์ลานีญาแบบผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้น ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบในแบบจำลองภูมิอากาศโลก (climate model) ซึ่งใช้เป็นหลักในการทำนายความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศในปัจจุบัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ความผิดปกตินี้น่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มากกว่าจะเป็นวงจรความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยมองว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาว จะส่งผลเอื้อให้ปรากฎการณ์เอลนีโญซึ่งตรงข้ามกับลานีญาเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า โดยคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิก แทนที่ภาวะฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในขณะนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นเท่านั้น


https://www.bbc.com/thai/articles/c13xz00lzpzo



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:11

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger