SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2565 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=6048)

สายน้ำ 17-09-2022 02:34

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2565
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทย มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนัก และมีลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 17 - 22 ก.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ลมกระโชกแรง และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ตลอดช่วง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับในช่วงวันที่ 17 - 22 ก.ย. 65 ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 17 ? 21 กันยายน 2565)" ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 17 กันยายน 2565

ในช่วงวันที่ 17 - 21 ก.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับ มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ลมกระโชกแรง และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้


วันที่ 17 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และพิษณุโลก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี และตราด


ในช่วงวันที่ 18 - 19 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา


ในช่วงวันที่ 20 - 21 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดอุสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ยโสธร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 17-09-2022 03:04

ขอบคุณข่าวจาก อสมท.


16 ก.ย. ของทุกปีตรงกับวัน "โอโซนโลก"

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันที่สะท้อนให้เห็นถึงการลดลงของชั้นบรรยากาศโอโซน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการลดลงของชั้นบรรยากาศ และให้นานาประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

วันโอโซนโลกเกิดจากการที่นานาประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงได้ร่วมกันจัดทำอนุสัญญาการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซน ขึ้นในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) เรียกว่า "อนุสัญญาเวียนนา และพิธีสาร ว่าด้วยการเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน" ขึ้น และ ในปี ค.ศ.1987 (พ.ศ. 2530) ได้จัดให้มีการลงนาม เรียกว่า "พิธีสารมอลทรีออล"

สาระสำคัญของอนุสัญญาเวียนนานับว่าเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งมั่นในการ พิทักษ์ ชั้นโอโซน และ เป็นเครื่องมือทางกฎหมายข้อแรกที่กลายเป็นรูปแบบของการแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อมร่วมกัน ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมให้สัตยาบันแล้วรวม 191 ประเทศพิธีสารมอนทรีออลกับการช่วยปกป้องมนุษยชาติ พิธีสารมอนทรีออล กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิก ลดและเลิกการผลิตและการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยเป็นการลดในรูปแบบขั้นบันได เพื่อให้ไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศภาคีสมาชิกทั่วโลก

หากไม่มีพิธีสารมอนทรีออลฉบับนี้ ชั้นบรรยากาศโอโซนที่คอยช่วยกรองรังสียูวีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบน โลกจะถูกทำลายลง โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้ประเมินไว้ว่า หากพิธีสารมอนทรีออลไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้น จำนวนคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งผิวหนังในอีก 40 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 19 ล้านคนทั่ว โลก และ 130 ล้านคนจะเป็นโรคตาต้อกระจก แม้ว่าระยะเวลาดังกล่าวจะดูเหมือนค่อนข้างนาน แต่ด้วยการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรม สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนจะยิ่งถูกผลิตมากขึ้นและนำไปใช้ในปริมาณมาก ปฏิกิริยาการทำลายโอโซนก็จะยิ่งสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้พิธีสารมอนทรีออลยังมีส่วนในการช่วย ชะลอปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศไปอีก 10 ปี กล่าวคือ หากไม่มีพิธีสารดังกล่าว โลกจะเผชิญกับปัญหาการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเร็วขึ้นอีก 10 ปี

สำหรับประเทศไทยได้ร่วมลงนามในพิธีสารนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1988 (พ.ศ. 2531) และให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.1989 (พ.ศ. 2532) มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ.1989 (พ.ศ. 2532)



โอโซนคืออะไร?

ชั้นโอโซน เป็นส่วนหนึ่งชั้นบรรยากาศของโลกที่ประกอบด้วยโอโซนในปริมาณมาก ชั้นโอโซนช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ประมาณ 97-99% ของรังสีทั้งหมดที่แผ่มายังโลก

โอโซนคือรูปแบบพิเศษของออกซิเจน ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในชั้นของบรรยากาศชั้นบน ๆ ชั้นโอโซนนี้มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อโลก

ชั้นโอโซนอยู่ห่างจากผิวโลก ประมาณ 20 ไมล์ โดยอยู่ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ชั้นโอโซนจะช่วยป้องกันไม่ให้รังสีอุลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ส่องมาถึงโลกของเรา ดวงอาทิตย์ทำให้ชีวิตบนโลกดำรงอยู่ได้ ความอบอุ่นและพลังงานของดวงอาทิตย์ ส่งผลต่อดิน น้ำ อากาศ และสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง แต่ดวงอาทิตย์ทำให้เกิดรังสีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตด้วย ชั้นโอโซนมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกัน ปกป้องพืชและสัตว์จากรังสีที่เป็นอันตรายของดวงอาทิตย์

ดังนั้นเมื่อใดที่โอโซนบางลงเราก็ได้รับการปกป้องน้อยลงด้วย เราเรียกรังสีที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ว่า อุลตราไวโอเลต อุลตราไวโอเลตเป็นรังสีที่ไม่สามารถมองเห็นได้ หากมีปริมาณน้อยรังสีอุลตราไวโอเลตจะปลอดภัยและมีประโยชน์ โดยช่วยให้ร่างกายของเราได้รับวิตามินอี แต่รังสีอุลตราไวโอเลตที่มากเกินไป เป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวหนังของเราอักเสบเนื่องจากแพ้แดด

ปริมาณของรังสีอุลตราไวโอเลตจำนวนมาก อาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการอักเสบรุนแรง เกิดโรคผิวหนังและปัญหาเกี่ยวกับดวงตา รังสีอุลตราไวโอเลตยัง ลดความสามารถของร่างกายมนุษย์ ในการต่อสู้กับโรคต่าง ๆ นอกจากนี้รังสีอุลตราไวโอเลตปริมาณมากยังทำลายพืชในไร่และต้นพืชเล็ก ๆ ในทะเลซึ่งเป็นอาหารของ ปลา หากต้องไปอยู่ท่ามกลางแสงแดด ควรทาครีมป้องกันผิว ครีมทาผิวเหล่านี้จะมีตัวเลขบอก ปริมาณการปกป้องผิวจากรังสีอุลตราไวโอเลตได้

ที่มา : สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


https://www.mcot.net/view/hDUAAcOZ


สายน้ำ 17-09-2022 03:07

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


รู้หรือไม่ ?โลกร้อนกำลังเปลี่ยนพฤติกรรม สัตว์น้ำ ให้บ้าคลั่งมากขึ้น

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

รู้หรือไม่ ? งานวิจัยใหม่เผยให้เห็นพฤติกรรมของ สัตว์น้ำ นักล่าเริ่มหิวกระหายและกินเยอะขึ้นเกินความจำเป็น เนื่องจากอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น จากวิกฤตภาวะโลกร้อน

งานวิจัยใหม่ที่ได้ตีพิมพ์ลงวารสาร Science เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เผยให้เห็นปัญหาประการหนึ่งที่นักวิทย์ไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเกิดขึ้นได้ และมีหลักฐานการทดลองให้เป็นประจักษ์ ที่นักวิทย์พบว่า ปลานักล่าใต้ท้องทะเลมีความหิวกระหายมากขึ้น โดยเฉพาะนักล่าที่อยู่ในเขตน้ำที่อุ่นกว่าปกติ ซึ่งสิ่งนี้สร้างความกังวลหลายด้าน แต่ที่ต้องพึงระวังเลยคือ การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอันตรายต่อ สัตว์น้ำ หลายชนิดที่อยู่ต่ำกว่าในห่วงโซ่อาหารของสัตว์นักล่า

Gail Ashton ผู้เขียนหลักในการศึกษานี้และเป็นนักนิเวศวิทยาทางทะเลที่ Smithsonian Environmental Research Center ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศทางน้ำและบนบก กล่าวว่า ?เราจะต้องพบเจอกับการสูญเสียอีกมากมายแน่นอนจากเหตุการณ์นี้?

เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการล่าอย่างหิวกระหายเพิ่มขึ้นนี้ มาจากผู้ล่ามีกำลังเผาผลาญพลังงานมากขึ้น ยิ่งอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเท่าไหร่ พวกมันก็ยิ่งต้องการพลังงานมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้พวกมันยังคงพลังงานเท่าเดิมและเพื่อความกระฉับกระเฉงในการดำรงชีวิตต่อไป สิ่งนี้เองจึงกระตุ้นให้ผู้ล่าออกหาอาหารมากขึ้น

ผลกระทบของภาวะโลกร้อนมีผลต่อสัตว์นักล่าไม่เหมือนกันในแต่ละน่านน้ำ เนื่องจากอุณหภูมิจะแตกต่างกันมากตามละติจูดต่าง ๆ โดยผู้เขียนเรียกสิ่งนี้ว่า ?ความเข้มของการล่า? จะมีการล่าต่ำในละติจูดที่สูงขึ้น (บริเวณขั้วโลก) และเด่นชัดกว่าในพื้นที่น้ำอุ่นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่ในขณะที่ทะเลดูดซับความร้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การล่าในละติจูดสูงก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น อาร์กติกที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการเข้าไปล่าอาหารมีมากขึ้น

การศึกษาใหม่นี้ได้ทำการสังเกตการล่าในบริเวณ 36 แห่งในชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติกตั้งแต่อะแลสกาไปจนถึงอเมริกาใต้ อุณหภูมิทางทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเหล่านี้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหามากมาย เช่น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกไม่เสถียร และระบบนิเวศทางทะเลที่กระจัดกระจาย ในขณะที่สารคดี Our Planet ของ David Attenborough จับภาพไว้อย่างชัดเจน ว่ามหาสมุทรที่อุ่นขึ้นได้ดึงสาหร่ายออกจากแนวปะการังและทำให้พวกมันเกิดการฟอกขาว

ประกอบกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ ที่แสดงให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนมีอิทธิพลต่อวิธีการล่าที่นักล่าเดินทางข้ามมหาสมุทรเพื่อหาอาหาร โดยการสังเกตฉลามเสือ ซึ่งเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Global Change Biology เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นรูปแบบที่น่าสนใจ คือ น่านน้ำใกล้ขั้วโลก (ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ) อุ่นขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าปกติมาก สิ่งนี้ทำให้ฉลามเสือขยายขอบเขตการล่าและเคลื่อนตัวไปทางเหนือเส้นศูนย์สูตร ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณและพื้นที่ที่ฉลามล่าและการกินอาหาร

หรือกล่าวคือ ฉลามเสือ เมื่อต้องการหาอาหารมากขึ้นเพื่อเผาผลาญร่างกายอันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น มันจะว่ายข้ามเขตแดนไปยังถิ่นอื่น ๆ ทำให้ปลาท้องถิ่นเริ่มหวาดกลัวการล่าของมัน เพิ่มความกดดันแก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพิ่มระดับความกดดันในห่วงโซ่อาหารที่รองจากพวกมันมากขึ้นไปอีก

ทีมงานของ Ashton ไม่สามารถระบุสัตว์นักล่าเกือบทุกสายพันธุ์ที่มีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการศึกษาเดี่ยวนี้ แต่ในอนาคต แอสตันและทีมของเธอวางแผนที่จะค้นคว้าว่าเหยื่อตัวใดได้รับผลกระทบจากนักล่าผู้หิวโหยเหล่านี้มากที่สุด

ยังเป็นที่ไม่แน่นอนว่า นักล่าที่ต้องการพลังงานเพิ่มและหิวกระหายเหล่านี้จะส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ล่าเองหรือต่อเหยื่อในระยะยาวมากขนาดไหน และอย่างไร เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ยังเข้ามามีบทบาทอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมการประมงที่ยังคงมุ่งเป้าล่าปลาผู้ล่า ซึ่งหมายความว่าบางภูมิภาคของมหาสมุทรยังคงปลอดภัยจากความกระหายเหล่านี้ ทั้งเหยื่อเองและจากภาวะโลกร้อน

แต่หลักฐานที่พบนี้ก็บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นมีผลต่อพฤติกรรมสัตว์ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ผู้ล่าบ้าคลั่งได้ง่าย ๆ โดยในมุมผู้เขียนเองมองเรื่องนี้ว่า การเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มีความจำเป็นที่เราต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างใกล้ชิดแม้จะดูเหมือนเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในอนาคตหากยังเกิดต่อเรื่อย ๆ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของมนุษย์ได้

มนุษย์อาจขาดแคลนอาหารทะเลเนื่องจากมีการล่ากันเองของสัตว์มากขึ้น สัตว์น้อยใหญ่ทางเศรษฐกิจอาจเริ่มเปลี่ยนทิศหรือพฤติกรรมเพื่อหลบซ่อนนักล่ามากขึ้น ตามสัญชาตญาณการปรับตัวทางธรรมชาติ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อความไม่มั่นคงด้านอาหารของมนุษย์ และมีความรุนแรงเทียบเท่ากับการประมงเกินขนาดที่มนุษย์กำลังดำเนินการอยู่ในทุกวันนี้

ขอบคุณข้อมูล https://mashable.com/?/ocean-warming-predation-climate?


https://dxc.thaipbs.or.th/news/%e0%b...8%a4%e0%b8%95/



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:00

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger