SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรรพชีวิตแห่งท้องทะเล (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=8)
-   -   นักวิทย์เตือน "เลี้ยงทากทะเลมุ้งมิ้ง" ไม่น่ารอด ซ้ำทำลายระบบนิเวศ (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=3381)

สายน้ำ 11-08-2015 08:55

นักวิทย์เตือน "เลี้ยงทากทะเลมุ้งมิ้ง" ไม่น่ารอด ซ้ำทำลายระบบนิเวศ
 

นักวิทย์เตือน "เลี้ยงทากทะเลมุ้งมิ้ง" ไม่น่ารอด ซ้ำทำลายระบบนิเวศ

http://mpics.manager.co.th/pics/Imag...009217508.JPEG
Jorunna funebris ถ่ายโดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ (อนุเคราะห์ภาพโดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์)

หลายคนคงคุ้นหน้ากับเจ้า "ซีบันนี่" ทากทะเลหน้าตาน่ารักเหมือนกระต่ายขนฟูตัวเล็กสีสันแปลกตา ที่ในขณะนี้กำลังกลายเป็นที่ต้องการของใครหลายคน จนนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลต้องออกมาปราม เพราะนอกจากจะเลี้ยงยากจนไม่น่ารอดแล้วยังทำให้เสียระบบนิเวศด้วย

จากกรณีที่เมื่อสัปดาห์ก่อน หลายๆ เว็บไซต์ได้นำเสนอภาพสัตว์ทะเลหน้าตาน่ารักคล้ายกระต่าย พร้อมกับคำบรรยายในทำนองที่ว่า เป็นสัตว์เลี้ยงสุดมุ้งมิ้งตัวใหม่ขวัญใจชาวญี่ปุ่น ทำให้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊คของตัวเองเชิงเป็นห่วง เนื่องจากสัตว์ทะเลชนิดนี้มีบทบาทอย่างมากต่อระบบนิเวศและแนวปะการัง พร้อมขอความร่วมมือไม่ให้คนไทยนำมันขึ้นมาจากทะเลเพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง

โอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยัง ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ดร.ศุภณัฐ อธิบายว่า กระต่ายทะเลมุ้งมิ้งซีบันนี่ (sea bunny) ที่หลายคนเรียก แท้จริงแล้วคือ "ทากทะเล" (sea slug หรือ nudibranch) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "โจรันน่า พาว่า" (Jorunna parva)

http://mpics.manager.co.th/pics/Imag...009217507.JPEG
Gymnodoris rubropuparosa ถ่ายโดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ (อนุเคราะห์ภาพโดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์)

ทากทะเล เป็นสัตว์ในไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca) อยู่กลุ่มเดียวกับหอยฝาเดียว มีลักษณะเด่นที่ลำตัวอ่อนนุ่ม โดยตอนแรกของช่วงชีวิตจะมีเปลือกแข็ง แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นก็สลัดเปลือกออกจนเหลือแต่ลำตัว

ทากทะเลพบได้ทั่วไปตั้งแต่ทะเลแถบเส้นศูนย์สูตร ไปจนถึงทะเลขั้วโลก และพบได้ค่อนข้างมากในทะเลไทย ตั้งแต่บริเวณน้ำตื้นไปจนถึงน้ำลึก ด้วยสีสันที่สวยงามและหน้าตาที่น่ารักเหมือนตัวการ์ตูนของมัน "ทากทะเล" จึงกลายเป็นสัตว์ยอดฮิตของนักดำน้ำทุกเพศทุกวันไปโดยปริยาย

นอกจากความน่ารักแบบเกินหน้าเกินตาสัตว์ทะเลชนิดอื่น ทากทะเลยังมีประโยชน์ในการเตือนภัย และยังเป็นโมเดลสำคัญในการศึกษาการลอกเลียนแบบสิ่งมีชีวิตในทะเลเลยได้เป็นอย่างดี เพราะทากทะเลจะมีทั้งตัวที่มีพิษและไม่มีพิษซึ่งมีผลกับการใช้ชีวิตเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งพิษไม่ได้เกิดตัวของมันเองแต่เกิดจากการเอาหนวดแมงกะพรุนมาไว้ที่ลำตัว พอสัตว์อื่นมากินก็จะได้รับพิษไป

"ทากทะเลบางตัวไม่มีพิษ ก็ทำสี ทำลายให้เหมือนตัวที่มีพิษ ที่ถ้าตัวหนึ่งมีพิษ แต่ไม่อร่อย แล้วอีกตัวไม่มีพิษแต่อร่อย ตัวที่ไม่มีพิษก็จะเลียนแบบตัวที่มีพิษ เพื่อให้ผู้ล่าเข้าใจได้ว่า หน้าตาแบบนี้ไม่มีพิษ ตัวมันก็จะรอดจากการโดนกินเป็นอาหารได้ และบางทีทากทะเลก็จะใช้สีสันพรางตัวไปกับสิ่งมีชีวิตอื่น (camouflage) เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีสีสวยที่สุดในโลกเลยในมุมมองของผม" ดร.ศุภณัฐ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

http://mpics.manager.co.th/pics/Imag...009217506.JPEG
Flabellina rubrolineata ถ่ายโดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ (อนุเคราะห์ภาพโดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์)

นอกจากนี้ ดร.ศุภณัฐ ยังเผยด้วยว่า การนำทากทะเลขึ้นมาเลี้ยง เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเลี้ยงแล้วประสบความสำเร็จ แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพราะ สภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ เช่น ความเค็ม อุณหภูมิ อาหารที่เหมาะสมกับมันค่อนข้างจำเพาะ ในขณะที่ความรู้เกี่ยวกับชีววิทยาของสัตว์พวกนี้ยังมีไม่มากพอ

มากไปกว่านั้น ทากทะเลยังมีความสำคัญในการแง่การรักษาสมดุลของระบบนิเวศปะการัง เพราะเมื่อใดก็ตามที่สิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งมีขนาดประชากรเปลี่ยนแปลงไป ย่อมส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่งทากทะเลสกุลนี้กินฟองน้ำ สัตว์ขนาดเล็ก และสาหร่ายซึ่งเป็นตัวการทำลายแนวปะการังเป็นอาหาร ดังนั้นการจับทากทะเลขึ้นมาเป็นสัตว์เลี้ยงก็เท่ากับทำลายปะการังด้วย

"ปล่อยให้มันอยู่ในสภาพธรรมชาติน่าจะดีกว่า เอาขึ้นมาก็ดูได้เพียงชั่วคราว สุดท้ายก็ไม่รอด เป็นการทำร้ายสัตว์แถมยังทำลายสมดุลของระบบนิเวศโดยเฉพาะแนวปะการังด้วย เพราะทากทะเลเปลือยส่วนใหญ่พบอยู่ในแนวปะการัง หากวันหนึ่งพวกมันโดนมนุษย์จับขึ้นมาหมด แน่นอนว่าระบบนิเวศด้านล่างย่อมปั่นป่วน แล้วก็อาจจะได้รับพิษจากมันด้วยในกรณีที่ทากทะเลตัวนั้นมีพิษ" นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทากทะเลจากสถาบันเดียวกัน ที่เผยทัศนะแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า การนำทากทะเลมาเลี้ยงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งเพราะสุดท้ายทากเปลือยจะตาย เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เปราะบางต้องการน้ำหมุนเวียนตลอดเวลา และต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจง เช่นฟองน้ำบางชนิด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดสามารถเพาะเลี้ยงทากเปลือยได้ อีกทั้งทากเปลือยยังเป็นสัตว์ทะเลที่หาได้ไม่ง่าย การจับขึ้นมาอาจทำให้ทากเปลือยบางชนิดลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีผลต่อการกระจายของสัตว์ทะเลอื่นๆ เพราะทากเปลือยทำหน้าที่เป็นตัวควบคุม เนื่องจากมันกินฟองน้ำ ไบรโอซัว หรือเพรียงหัวหอมเป็นอาหาร

http://mpics.manager.co.th/pics/Imag...009217504.JPEG
Chromodoris annulata ถ่ายโดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ (อนุเคราะห์ภาพโดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์)

นอกจากความสวยงามของสีสันที่ทำให้ทากเปลือยกลายเป็นสัตว์ทะเลที่น่าสนใจของตลาดปลาสวยงามแล้ว รศ.ดร.สุชนา ยังเผยด้วยว่าทางด้านการแพทย์ก็สนใจทากเปลือยไม่แพ้กัน เนื่องจากทากเปลือยสามารถผลิตสารทุติยภูมิขึ้นสะสมในร่างกาย ซึ่งมีศักยภาพในการนำไปสกัดเป็นยาบำบัดหรือยารักษาโรคสำหรับมนุษย์ เช่น ทากเปลือยโจรันนา (Jorunna funebris) ที่พบกระจายทั่วไปในน่านน้ำไทยซึ่งกินฟองน้ำสีน้ำเงิน (Xestospongia sp.) เป็นอาหาร โดยมันจะผลิตสารประกอบทางชีวภาพกลุ่มโจรันนาไมซิน (jorunnamycin) และเรนีราไมซิน (renieramycin) ที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและมะเร็งบางชนิด

“ทากทะเล หรือ ทากเปลือย เป็นสัตว์ทะเลที่มีสีสันสวยงาม เป็นขวัญใจของนักดำน้ำ การจับทากเปลือยในเขตทะเลทั่วไปไม่ผิดกฎหมาย ถ้าจับในเขตทะเลที่เป็นเขตอุทยานจะผิดกฎหมาย เพราะเขตอุทยานเป็นเขตที่ไม่อนุญาตให้จับสัตว์ทะเล อย่างไรก็แล้วแต่พฤติรรมการจับสัตว์ทะเลขึ้นมาเลี้ยงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเพราะคิดว่ายังไงคงไม่น่าจะรอด และสำหรับทากทะเลแล้วคงไม่มีที่ไหนดีสำหรับมันไปมากกว่าทะเลอีก” รศ.ดร.สุชนา กล่าวทิ้งท้ายผ่านทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

http://www.manager.co.th/Science/Vie...=9580000089026

.......... จาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 สิงหาคม 2558



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:12

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger