SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5143)

สายน้ำ 22-05-2020 03:31

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 22 - 27 พ.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ยังคงทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง



https://i1198.photobucket.com/albums...psmualhx71.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...ps15gtehps.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psqzdte1x0.jpg

สายน้ำ 22-05-2020 03:47

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


เศร้า โลมาปากขวดเกยตื้นหาดระยอง สุดยื้อสิ้นใจตาย คาดคลื่นซัดหลงทิศ

พบโลมาปากขวด ร่างกายอ่อนล้า หนัก 60 กก. เกยตื้นชายหาดระยอง จนท.เร่งช่วยเหลือ หวังส่งกลับน้ำลึก แต่ว่ายกลับฝั่ง ก่อนสิ้นใจตาย ระหว่างรอเคลื่อนย้ายกลับศูนย์พักฟื้น คาดหลงทิศ-กระแสน้ำพัดเกยตื้น

https://i1198.photobucket.com/albums...ps9bfuqkmo.jpg

เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 21 พ.ค.63 นายสุเทพ เจือละออง ผอ.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก รับแจ้งจาก รปภ.ของภูผาธารา พบปลาโลมาเกยตื้นบริเวณชายหาด ของบริษัทภูผาธารา จึงเดินทางมาตรวจสอบและให้การช่วยเหลือ บริเวณดังกล่าวพบโลมาปากขวด อายุประมาณ 3-5 ปี น้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม ความยาวประมาณ 2 เมตร ยังมีชีวิตอยู่ เจ้าหน้าที่จึงเร่งให้ความช่วยเหลือ และนำกลับลงทะเลหลายครั้ง แต่ก็ว่ายกลับมายังฝั่งตามเดิม จากนั้นทีมสัตว์แพทย์ได้มาตรวจดู พบว่าโลมาตัวดังกล่าวมีอาการเหนื่อยอ่อน จึงเตรียมเคลื่อนย้ายไปพักรักษาที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรและชายฝั่ง อ่าวมะขามป้อม ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง สุดท้ายไม่รอด ตายขณะที่รอการขนย้าย

ด้าน นายสุเทพ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้สาเหตุว่าโลมาเกยตื้นได้อย่างไร แต่ขณะนี้ทางฝั่งตะวันออกมีคลื่นลมแรง อาจทำให้โลมาหลงทิศหรือถูกกระแสน้ำพัดเข้าฝั่งเกยตื่น


https://www.thairath.co.th/news/local/east/1850328


*********************************************************************************************************************************************************


ผลจากการปิดเกาะ 4 ปี แนวปะการัง "เกาะยูง" เจริญเติบโตดี ไร้การฟอกขาว

จนท.ฝ่ายวิจัย อช.หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ลงดำน้ำสำรวจปะการัง "เกาะยูง" พบเจริญเติบโตดี ปกคลุมพื้นที่กว่า 70% หลังปิดเกาะนาน 4 ปี โดยไร้การฟอกขาว มีสัตว์น้ำนานาชนิดหากิน

https://i1198.photobucket.com/albums...psrws7pf9w.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.63 เจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาวิจัย อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ลงดำน้ำสำรวจแนวปะการังบริเวณเกาะยูง ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ที่ระดับความลึกประมาณ 3 เมตร พบปะการังปกคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 70 ส่วนใหญ่เป็นปะการังเขากวางวัยอ่อน มีสภาพการเจริญเติบโตสมบูรณ์ดี

นอกจากนี้ยังมีปะการังโคโลนีชุดเก่า ที่เจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ไม่พบปะการังมีการฟอกขาว รวมทั้งมีสัตว์ทะเลนานาชนิดอาศัยหากินบริเวณแนวปะการังเป็นจำนวนมาก เช่น ปลาสลิดหินลายบั้ง หอยมือเสือ และเม่นหนามยาว เป็นตัวบ่งชี้ว่าระบบนิเวศน์เริ่มฟื้นตัวจนใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ สาเหตุที่แนวปะการังบริเวณเกาะยูงมีสภาพเจริญเติบโตได้ดีขึ้น สืบเนื่องมาจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศปิดเพื่อต้องการฟื้นฟูแนวปะการังมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายจากกิจกรรมการท่องเที่ยว

จากการสอบถามทาง จนท.อุทยานฯ ทราบว่า ที่ผ่านมาแนวปะการังบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างจากภาวะน้ำทะเลร้อนขึ้น ส่งผลให้แนวปะการังมีการฟอกขาว รวมถึงการเข้าไปทำกิจกรรมของนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก กรมอุทยานฯ เห็นว่าหากไม่ปิดเพื่อฟื้นฟู อาจจะส่งผลเสียหายจนยากจะฟื้นตัวได้ จึงประกาศปิดเกาะยูงตามมาตรการฟื้นทะเลกระบี่ให้กลับคืนมา โดยหลังจากนี้จะยังคงปิดเกาะยูงต่อไป เพื่อให้สภาพแวดล้อมกลับสู่สภาพเดิมมากที่สุด นอกจากนี้ทาง จนท.ยังนำเอากิ่งพันธุ์ปะการังบริเวณเกาะยูงไปใช้ในการปลูกฟื้นฟูในอ่าวมาหยาด้วย.


https://www.thairath.co.th/news/local/south/1850011


สายน้ำ 22-05-2020 03:52

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


โควิดเป็นเหตุ! สัตว์ป่า-ทะเล สุดเริงร่า ทส.เตรียมสานต่อ .ปิดอุทยานทุกแห่งปีละ 3 เดือน.

https://i1198.photobucket.com/albums...ps0woxeh0j.jpg
ปลาโลมาอิรวดี โผล่ทะเลใกล้เกาะช้าง จ.ตราด

'วราวุธ' เตรียมมาตรการสั่งปิดอุทยานแห่งชาติทั้ง 157 แห่งทุกปี ยกเคสปิดช่วงโควิด 2 เดือน ธรรมชาติ ทั้งสัตว์ป่า สัตว์ทะเลหายากออกมาให้ยลโฉม ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่อุทยานฯ

หลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดมากขึ้น ต่อมาทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตัดสินใจประกาศปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยว จนเวลาผ่านไปราว 2 เดือน ซึ่งยังไม่มีกำหนดเปิดอุทยานฯ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกับหลายประเทศ เมื่อพบเห็นสัตว์ป่า สัตว์ทะเลที่หาตัวได้ยากตามปกติ ออกมาปรากฏให้เห็น ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บันทึกภาพหายากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อย่างเช่น เลียงผา สัตว์ป่าสงวนออกมาเดินหากินบนหน้าผาอย่างสบายใจ หมีควายสัตว์ป่าคุ้มครองปีนต้นไม้ หรือหมีหมาเดินผ่าถนนแบบไม่สนใจใคร ละมั่งสัตว์ป่าสงวนออกมายืนกลางป่า ฝูงกระทิงออกมาเล็มกินหญ้ากันเป็นครอบครัวตามพื้นที่ชายป่า ยิ่งเป็นโขลงช้างป่าออกมาให้เห็นบ่อยกว่าปกติ แม้แต่นกเงือกซึ่งสะท้อนถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าก็พบ เช่นเดียวกับสัตว์ทะเลหายาก เมื่อเจ้าหน้าที่ได้พบฝูงปลาโลมาอิรวดี ใกล้เกาะช้าง ปลาฉลามหูดำออกมาว่ายในบริเวณเกาะห้อง

https://i1198.photobucket.com/albums...psawruacrx.jpg

เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่แนวคิดที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการเร่งทำตารางกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับปิดอุทยานแห่งชาติทั้ง 157 แห่ง สำหรับการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของผืนป่า สัตว์ป่า สัตว์ทะเลเป็นเวลา 3 เดือน

"ภาพรวมช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา หลังปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เราพบแต่เรื่องดีๆ เกิดขึ้น มีสัตว์ป่าออกมาหาอาหารและออกมารวมฝูงนอกพื้นที่มากขึ้น เช่นเดียวกับสัตว์ทะเลเพราะไม่มีมนุษย์เข้าไปรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัย"

รมว.ทส.ยกตัวอย่างกรณีปิดอ่าวมาหยา ตั้งแต่ 1 มิ.ย.2561 ซึ่งขยายเวลาปิดยาวถึงปี 2564 ที่นี่เคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากถึงวันละ 4,000 คน ทั้งที่มีศักยภาพรองรับได้เพียงวันละ 375 คน ทำให้แนวปะการังเสียหายจากการโดนเหยียบย้ำและสมอเรือ แต่พอมาถึงวันนี้เราได้พบฝูงฉลามหูดำกว่า 60 ตัวกลับมาอาศัย มีปูลมตามชายหาด ปะการังอ่อนเริ่มแตกหน่ออีกครั้ง

https://i1198.photobucket.com/albums...ps1rzc3clu.jpg

ด้าน ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่าได้มีการประชุมและมีข้อสรุปว่าให้แต่ละอุทยานทั่วประเทศ จัดทำแผนการปิดอุทยานตามนโยบายของ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้พิจารณาปิดไม่ต่ำกว่า 2 เดือนต่อปี หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

อีกนโยบายที่จะนำมาพิจารณาควบคู่กัน คือ การจำกัดนักท่องเที่ยวไม่ให้มากจนเกินไป แม้ที่ผ่านมาจะมีรายได้มาก โดยเฉพาะอุทยานทางทะเล แต่จะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมากจนเกินไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบาย ดังนั้น นอกจากปิดแล้วจะจำกัดปริมาณด้วย เพราะอุทยานไม่ได้ต้องการรายได้เป็นหลัก แต่เน้นการฟื้นฟูของทรัพยากรธรรมชาติด้วย

ตามปกติอุทยานทางทะเลจะปิดตามหน้ามรสุมอยู่แล้ว เช่น ฝั่งอันดามันจะเริ่มปิดตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.จนถึง ก.ค. ฝั่งอ่าวไทยจะปิดช่วงเดือน พ.ย.ถึง ธ.ค. ซึ่งแต่ละที่ปิดยาวไม่เท่ากัน และหลังจากนั้นให้แต่ละอุทยานพิจารณาว่าจะปิดเพิ่มเติมมากกว่านั้นหรือไม่ตามความเหมาะสม แต่อุทยานทางทะเลจะปิดไม่น้อยกว่าปกติที่ปิดอยู่แล้วในหน้ามรสุม แต่อาจจะปิดมากกว่าด้วยบางแห่ง

https://i1198.photobucket.com/albums...psq5rzbrx4.jpg

ส่วนอุทยานทางบกก็เช่นเดียวกันจะปิดไม่น้อยกว่า 2 เดือน แต่บางแห่งอาจจะปิดมาก 3-4 เดือน เช่น อุ้มผาง ทีลอซู เพราะเป็นพื้นที่ฝนมาก ซึ่งแต่ละแห่งจะมีการหารือกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้พิจารณาโดยอิงหลักวิชาการด้วย

"เราได้เห็นว่าช่วงโควิดมีสัตว์ป่าออกมาให้เห็นมากมายทั้งทางบกและทางทะเล ไม่ว่าฉลามหูดำ ฉลามวาฬ โลมา เสือ กระทิง ช้าง ฯลฯ ดังนั้น ผมจึงให้แต่ละอุทยานถ่ายภาพก่อนและหลังการปิด เพื่อจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เพราะบางแห่งไม่เคยปิดเลย" ธัญญา กล่าว


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000052927

สายน้ำ 22-05-2020 03:57

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


ของฝากจากโลมา ดำเอามาจากใต้ทะเล แลกอาหารกับมนุษย์

ของฝากจากโลมา - เอบีซี รายงานพฤติกรรมน่ารักของ "มิสทีก" โลมาหลังโหนกที่อาศัยในอ่าวทินแคน นอกชายฝั่งคูลูลา รัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย มีพัฒนาความแสนรู้ในช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดและนักท่องเที่ยวกักตัวอยู่กับบ้าน

https://i1198.photobucket.com/albums...psbszv0veo.jpg
ของฝากจากโลมา (Supplied: Barnacles Cafe And Dolphin Feeding)

โลมา เพศผู้ อายุ 29 ปีตัวนี้ นำสิ่งของจากใต้ทะเลมาฝากอาสาสมัคร ที่บาร์นาเคิลส์ คาเฟ่ และศูนย์ให้อาหารโลมาเป็นประจำทุกวัน

ลีน แมคเฟียสัน อาสาสมัครกล่าวว่ามิสทีกมีกิจกรรมใหม่ ไม่เหมือนเดิมระหว่างที่ศูนย์ให้อาหารโลมาปิดทำการระหว่างล็อกดาวน์ ด้วยการนำของขวัญจากทะเลมาฝากอาสาสมัครโดยวางของบนจะงอยปาก อาสาสมัครก็จะให้อาหารเป็นการตอบแทน โดยที่อาสาสมัครไม่ได้ฝึกเลย แต่กลับเป็นฝ่ายมิสทีกที่ฝึกอาสาสมัครแทน

โลมาแสนรู้ประคองสิ่งของไว้บนจะงอยปาก ถ้าทิ้งสิ่งของไกลเกินไป อาสาสมัครก็จะบอกว่า ยังไม่ดีพอ จากนั้น มันก็ดำน้ำลงไปและนำมาให้อาสาสมัครใหม่

สำหรับของฝากจากใต้ทะเล มีทั้งขวดต่างๆ ชิ้นส่วนโครงเรือ เปลือกหอย และไม้ และคงจะมีอีกมากมายที่โลมาน่ารักตัวนี้รอคอยที่จะมาฝากอาสาสมัคร

https://i1198.photobucket.com/albums...psxtmauoan.jpg
ของฝากจากโลมา (Supplied: Barnacles Cafe And Dolphin Feeding)

แมคเฟียสันกล่าวว่าตั้งแต่ปิดศูนย์ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม มิสทีก็นำของฝากมาให้มากขึ้นๆ บางวัน นำของมาให้ 10 ชิ้น ทีละชิ้นๆ และจะได้ปลาเป็นสิ่งตอบแทน

มิสทีกเป็นโลมาเพียงตัวเดียวในบรรดาโลมา 7 ตัวของโครงการป้อนอาหารโลมาที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ แต่มีโลมาเพศผู้อีกตัวหนึ่งที่ว่ายน้ำไปกับมิสททีกเพื่อหาของมาฝากอาสาสมัคร ซึ่งมันก็ได้ป้อนปลาเป็นรางวัลเช่นกัน

โครงการป้อนอาหารโลมาดึงดูดนักท่องเที่ยวประมาณ 200 คนต่อวันในช่วงวันหยุดของโรงเรียนและเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้อีกครั้ง

มิสทีก ว่ายน้ำมาที่อ่าวทินแคน พร้อมกับแม่ ในปี 2534 และมีพฤติกรรมโดดเด่นเพราะมีเลือดนักสู้เต็มตัว มันมักต่อสู้กับโลมาเพศผู้ตัวอื่นและเคยถูกฉลามหัวบาตรโจมตีมาแล้วเมื่อปี 2550 ทำให้หางและครีบหลังแหว่งไปเล็กน้อย


https://www.khaosod.co.th/around-the...s/news_4173412



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:53

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger