SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2564 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5587)

สายน้ำ 27-06-2021 02:49

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2564
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะนี้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ ในระหว่างบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 26 - 27 มิย. หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในวันที่ 28 มิ.ย. - 2 ก.ค. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกยังคงมีฝนน้อย



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 27-06-2021 03:32

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


แม่เต่ากระลูกดก! "แม่เทียนทะเล" ขึ้นวางไข่รอบที่ 3 เป็นรังที่ 10 ในพื้นที่ อช.อ่าวสยาม

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
ไข่รัวๆ 124 ฟอง เป็นรังที่ 3 ของแม่เทียนทะเล

วันนี้ (26 มิถุนายน 2564) นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี รายงานว่า เมื่อคืนนี้เวลาประมาณ 00.45 น. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเล สยาม ลาดตระเวนการขึ้นวางไข่ของเต่ากระในพื้นที่เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์

ขณะลาดตระเวนได้พบกับ "แม่เทียนทะเล" แม่เต่ากระขึ้นวางไข่บริเวณอ่าวในหุบ ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) จากการตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบร่องรอยบาดแผลที่เกิดจากเครื่องมือการทำประมงแต่อย่างใด

นับเป็นรังที่ 10 ที่มีเต่ากระขึ้นมาวางไข่ที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม และเป็นรังที่ 3 ของแม่เทียนทะเล ซึ่งครั้งนี้มีจำนวนไข่ทั้งหมด 124 ฟอง เป็นไข่ที่สมบูรณ์ จำนวน 123 ฟอง และไข่ไม่สมบูรณ์/ไม่พัฒนา เพียง 1 ฟองเท่านั้น

จากนั้นเจ้าหน้าที่วัดลำตัวของแม่เต่ายาว 87 เซนติเมตร กว้าง 78 เซนติเมตร และวัดความกว้างของพาย 65 เซนติเมตร ขนาดหลุมวางไข่ ความกว้าง 25 เซนติเมตร ความลึก 40 เซนติเมตร ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000061895


*********************************************************************************************************************************************************


ยูเนสโก ส่งสัญญาณลดเกรด! แนวปะการัง Great Barrier Reef มรดกโลกอยู่ใน "ภาวะอันตราย"

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

'ยูเนสโก' เร่งทางการออสเตรเลียแก้ไขปัญหาแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) หลังเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้งในเวลาไม่ถึง 10 ปี ทั้งพบว่าปะการังหายไปแล้วกว่าครึ่งในช่วง 25 ปี จึงต้องลุ้นมติคณะกรรมการมรดกโลก ที่จะมีการประชุม 16 ก.ค.นี้ที่ประเทศจีน

ตามร่างรายงานคณะกรรมการมรดกโลกแห่งสหประชาชาติ ที่ออกเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา แนวปะการัง Great Barrier Reef ของออสเตรเลียรวมอยู่ในรายชื่อมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากรัฐบาลออสเตรเลีย

คณะกรรมการมรดกโลกประกอบด้วยตัวแทนจาก 21 ประเทศ ได้ประชุมกันภายใต้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระบุว่า ประเทศนี้ไม่ได้ดำเนินการมากพอที่จะปกป้องแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกเนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

"สรุปได้ว่าแม้รัฐภาคีจะประสบความสำเร็จในเชิงบวกมากมาย แต่ความคืบหน้ายังไม่เพียงพอในการบรรลุเป้าหมายสำคัญของแผนแนวปะการังปี 2050"

"แผนดังกล่าวต้องการคำมั่นที่เข้มแข็งและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน แต่ยังรวมถึงการเร่งปรับปรุงคุณภาพน้ำและมาตรการจัดการที่ดินด้วย"

"ผลกระทบอย่างกว้างขวางจากเหตุการณ์การฟอกสีปะการังที่ต่อเนื่องกันทำให้เกิดความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตของมรดกโลกแห่งนี้"

ยูเนสโกส่งสัญญาณลดระดับเกรตแบร์ริเออร์รีฟสู่รายชื่อแหล่งมรดกโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตราย โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และเเนะนำให้ทางการออสเตรเลียแก้ไขนโยบายเกี่ยวกับการฟื้นฟูปะการังยาวไปจนถึงปี พ.ศ. 2593 (หรือ The Reef 2050 Plan) ในขณะที่ทางการออสเตรเลียเตรียมทำเรื่องคัดค้านข้อเรียกร้องนี้ของยูเนสโก โดยระบุว่า การลดระดับเกรตแบร์ริเออร์รีฟเป็นเรื่อง ?ทางการเมือง? เนื่องจากหนึ่งใน 12 ประเทศที่ทำหน้าที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกนั้น มีประเทศจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตไม่ลงรอยกันนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
.
หากคณะกรรมการมรดกโลกมีมติเห็นชอบลดระดับเกรตแบร์ริเออร์รีฟในวันที่ 16 กรกฎาคมที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมก็จะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแหล่งมรดกธรรมชาติให้อยู่ใน 'ภาวะอันตราย' จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาจกระทบต่ออัตราการจ้างงานหลายพันตำแหน่งซึ่งเกิดจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางธรรมชาติแห่งนี้

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สถานการณ์ปัจจุบันของแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ซึ่งทอดยาวเป็นระยะทางประมาณ 2,300 กิโลเมตร ตกอยู่สถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนถึงปัจจุบัน ได้เกิดเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้ง ในครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ.2563 ถือเป็นการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด ซ้ำร้ายกว่านั้น เกรตแบร์ริเออร์รีฟต้องเผชิญกับอุณหภูมิน้ำทะเลสูงที่สุด ตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ซึ่งทั้งหมดเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงฉับพลัน


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000061968


สายน้ำ 27-06-2021 03:36

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


ทช.แจง เห็นชอบให้ฉลามหัวค้อนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว รอประกาศเป็นกฏกระทรวง

กรณีที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พบมีลูกฉลามขายอยู่หลายตัวในตลาดใกล้กรุง ราคาเพียงกิโลละ 100 บาท แต่ตัวที่สำคัญมากคือลูกฉลามหัวค้อน ซึ่งเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันเป็นสัตว์คุ้มครอง

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

วันที่ 26 มิถุนายน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันฉลามทั่วโลกถูกจับได้จากการประมงมากกว่า 100 ล้านตัว หรือเฉลี่ยที่ 190 ตัวต่อนาที ในจำนวนทั้งหมดนี้มากกว่า 70 ล้านตัว หรือประมาณร้อยละ 75 เป็น ฉลามที่ถูกจับเพื่อตัดเอาครีบไปขาย

อธิบดีทช. กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีการทำประมงปลาฉลามโดยตรง เนื่องจากปลากลุ่มนี้ไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย และถูกจัดเป็นเพียงสัตว์น้ำพลอยจับได้ (bycatch) โดยมีสัดส่วนที่จับได้ น้อยกว่าร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับผลจับสัตว์น้ำทั้งหมดที่ได้จากการประมงทะเล และส่วนใหญ่ถูกจับได้โดยเครื่องมืออวนลาก โดยเฉพาะอวนลากแผ่นตะเฆ่

"การสำรวจรวบรวมข้อมูลชนิดพันธุ์ของฉลามในน่านน้ำไทยโดยกรมประมง ในปี 2563 พบว่า มีทั้งหมด 87 ชนิด มากกว่า 75% เป็นชนิดพันธุ์ที่หายาก (Rare species) หรือชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) โดยพบในทะเลอันดามันมากถึง 80 ชนิด ส่วนอ่าวไทยพบเพียง 53 ชนิด มีการแพร่กระจายตามแหล่งที่อยู่อาศัยตั้งแต่ในแม่น้ำไปจนถึงเขตทะเลลึก และมีบางชนิดที่มีรายงานว่าไม่พบในเขตทะเลไทยมานานแล้ว ได้แก่ ปลาฉลามหนู(Carcharhinus obsolerus) และปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii)
กลุ่มปลาฉลามที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง ได้แก่ กลุ่มปลาฉลามหัวค้อน และฉลามเสือดาว กลุ่มปลาฉลามหัวค้อน 4 ชนิด ได้แก่ ปลาฉลามหัวค้อนยาว (Eusphyra blochii) (Thailand Red Data) ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน (Sphyrna lewini) ปลาฉลามหัวค้อนยักษ์ (Sphyrna mokarran) และปลาฉลามหัวค้อนเรียบ/ปลาฉลามหัวค้อนดำ (Sphyrna zygaena)"นายโสภณ กล่าว

อธิบดีทช. กล่าวว่า ทช. ได้เสนอขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ผ่านกรมประมง และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ (ตาม พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2535) โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ซึ่งได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศเป็นกฎกระทรวง เนื่องจากอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างพระราชบัญญัติฉบับเดิม (พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2535) กับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ (พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2562)

"ท่านรัฐมนตรี เร่งรัดและสั่งการเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะเห็นความสำคัญอย่างมาก หากมีการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติครั้งหน้า คิดว่าเรื่องนี้จะมีความคืบหน้าแน่นอน" นายโสภณ กล่าว

ขณะนี้บัญชีรายชื่อกลุ่มฉลามหัวค้อนดังกล่าว รอดำเนินการผ่านทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าสำหรับฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum) คณะกรรมการฝ่ายวิชาการพิจารณาสถานภาพสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ ตาม พ.ร.บ. สงวนฯ พ.ศ. 2535 ของกรมประมง ขอให้เพิ่มเติมข้อมูล เนื่องจากฉลามชนิดนี้มักพบติดเครื่องมือประมงแบบสัตว์น้ำพลอยจับได้ (Bycatch) การพิจารณาต้องมีการหารือทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

"สำหรับฉลามหัวค้อนตัวที่เป็นข่าวคือ ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน Sphyrna lewini (kidney-head shark) ซึ่งเป็นชนิดที่อยู่ในบัญชีที่กำลังจะประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง พบได้น้อย ในเขตน้ำตื้นถึงไหล่ทวีป เป็นบัญชี 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ใน IUCN Red List" อธิบดีทช. กล่าว


https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_2797097


สายน้ำ 27-06-2021 03:40

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


'กรมทะเล' เผยผลชันสูตร โลมาเกยตื้นตาย 8 ตัวชายหาดพังงา

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

กรมทะเล เผยผลชันสูตรโลมาเกยตื้นตาย 8 ตัวชายหาดพังงา ติดเชื้อในกระแสเลือดภายในฝูงตามธรรมชาติ ไม่เกี่ยวเครื่องมือประมงทุกชนิด

กรณีพบโลมากระโดด 8 ตัว เกยตื้นตาย บริเวณเกาะทุ่งนางดำ อ. คุระบุรี จ. พังงา และอีก 5 ตัว ว่ายติดอยู่บริเวณน้ำตื้น ในวานนี้(25มิ.ย.) เบื้องต้นไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายและบาดแผลจากเครื่องมือประมง ผลชันสูตรชี้เกิดการติดเชื้อมาหลายวันจนร่างกายอ่อนแอ ประกอบกับคลื่นแรงทำให้เกยตื้นตาย นั้น

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า วานนี้ (25มิ.ย.) ตนได้รับรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) แล้ว พร้อมสั่งเร่งตรวจสอบสาเหตุการตายและช่วยเหลือโลมาที่ยังมีชีวิตอยู่ทันที

สำหรับเรื่องนี้ ตนถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจาก ไม่เคยพบเห็นการเกยตื้นตายพร้อมกันในจำนวนมากขนาดนี้ อีกทั้งโลมากระโดดยังจัดอยู่ในสัตว์คุ้มครองตามบัญชีไซเตส หมายเลข 2 ซึ่งต้องอนุรักษ์ดูแลมิให้ลดจำนวนลงและควบคุมการส่งออก

นอกจากนี้ ยังอยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และอยู่ระหว่างจัดทำบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งหากพบการตายผิดธรรมชาติ จะต้องเร่งหาสาเหตุและแนวทางการป้องกันแก้ไขมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ซึ่งตนได้สั่งการให้จัดทีมลาดตระเวนเฉพาะกิจ เพื่อสำรวจในพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอาจจะมีโลมาฝูงอื่นบริเวณใกล้เคียง

สุดท้าย ตนอยากฝากพี่น้องประชาชนและชาวประมงทุกคนว่า "การทำกิจกรรมใดๆ ในทะเล จะต้องคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดกับโลมาและสัตว์ทะเลอื่นๆ การทำประมงในพื้นที่ที่พบสัตว์ทะเลหายาก ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เครื่องมือประมงต้องไม่ส่งผลกระทบ โดยเฉพาะต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหามาตรการคุมเข้มทุกกิจกรรม เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรและสร้างความเชื่อมั่นในระดับสากล ซึ่งตนจะได้กำชับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วนต่อไป

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยผลการชันสูตรการตายของโลมาทั้ง 8 ตัว ว่า จากการตรวจสอบของทีมสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อเวลา17.00น.ในวันนี้ว่า สภาพโลมาที่เสียชีวิตไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย หรือจากคราบน้ำมัน และไม่มีบาดแผลบนตัวและในช่องปาก เบื้องต้นสรุปได้ว่าไม่ได้เกิดจากเครื่องมือประมงหรือการล่าแต่อย่างใด ตนได้มอบหมายให้นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำกับทีมสัตวแพทย์ชันสูตรอย่างละเอียด โดยใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมง

พบว่า โลมากระโดดทั้ง 8 ตัว เป็นเพศผู้ทั้งหมด ทุกตัวอยู่ในเกณฑ์ผอม ผลการชันสูตรซากพบว่าทุกตัวมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงของอวัยวะภายในหลายแห่ง พบซิสต์ของพยาธิในชั้นไขมันและบริเวณระบบสืบพันธุ์ สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการป่วยด้วยโรคที่ติดเชื้อภายในฝูงตามธรรมชาติเป็นเวลานานหลายวัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอไม่สามารถรวมฝูงกับตัวอื่นได้ ประกอบกับสภาพคลื่นลมแรงทำให้เกิดการเกยตื้นดังกล่าว

สำหรับโลมากระโดดอีก 5 ตัว ที่ยังมีชีวิต ทีมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลได้ช่วยกันนำออกไปยังบริเวณน้ำลึกอย่างปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ ตนได้รับข้อสั่งการจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ประสานจังหวัด กรมประมง ทหารเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนในการลาดตะเวนและแนวทางการป้องกันการใช้เครื่องมือประมงที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ต่อไป

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โลมากระโดดสามารถพบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน พฤติกรรมโลมากระโดด ว่าเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นฝูง ส่วนมากไม่ค่อยเข้ามาในพื้นที่อ่าว และมักออกหากินเวลากลางคืน ภัยคุกคามหลักของโลมากระโดด คือ การล่าตามธรรมชาติ และมักมีปรสิตที่เกาะบริเวณผิวหนังและปรสิตที่เข้าไปในตัว สำหรับกิจกรรมมนุษย์ที่ส่งผลกระทบ ส่วนมากมาจากเครื่องมือประมงและคราบน้ำมันในทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมและจัดการได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งในด้านกฎหมาย นโยบาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนและชาวประมงด้วยเช่นกัน


https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6475835


สายน้ำ 27-06-2021 03:43

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


จับตา! อุณหภูมิน้ำทะเลภาคตะวันออกอุ่น ห่วง "ปะการังฟอกขาว"

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ชี้ยังต้องเฝ้าระวังปะการังทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออกอีก 1-4 สัปดาห์ เสี่ยงฟอกขาว แม้แนวโน้มคลื่นลมเปลี่ยน ส่งผลอุณหภูมิน้ำทะเลลดลงเหลือ 30 องศาเซลเซียสอาจช่วยคลี่คลายปัญหา

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

วันนี้ (26 มิ.ย.2564) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่า ทีมนักดำน้ำทช. ติดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเลโดยใช้อุปกรณ์วัดอุณหภูมิน้ำทะเล บริเวณสถานีสำรวจท่าเรือเกาะมันใน และอ่าวต้นเลียบ เกาะมันใน อ.แกลง จ.ระยอง พบว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลทั้ง 2 จุด มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 31 องศาเซลเซียส

โดยอุณหภูมิเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยสถานีท่าเรือเกาะมันใน ช่วงวันที่ 16-25 มิ.ย.นี้ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 30.7 องศาเซลเซียส และสถานีอ่าวต้นเลียบ ระหว่างวันที่ 4-25 มิ.ย.นี้ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 30.69 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ผลที่ได้สอดคล้องกับข้อมูลภาพจากดาวเทียม ที่แสดงแนวโน้มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการแจ้งเตือนปะการังฟอกขาว (NOAA Satellite and Information Service, Coral Reef Watch) ในช่วงวันที่ 23 มิ.ย.นี้ พบว่าพื้นที่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกของประเทศไทย อยู่ในระดับการเตือนที่ 1 หรือ "watch" จึงควรเฝ้าระวังปะการังฟอกขาวบริเวณเกาะมันใน ในอีก 1-4 สัปดาห์ข้างหน้า


https://news.thaipbs.or.th/content/305543



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:58

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger