SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฏาคม 2565 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5994)

สายน้ำ 28-07-2022 03:21

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฏาคม 2565
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ประเทศไทย และทะเลอันดามัน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 28 ? 29 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน โดยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ค. ? 2 ส.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. ? 2 ส.ค. 65 ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 28-07-2022 04:19

1 Attachment(s)
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


สุดงง นักวิทย์สหรัฐฯ ยังหาคำตอบไม่ได้ เจอรูปริศนาก้นมหาสมุทร

นักวิทย์ NOAA ของสหรัฐฯ ยังหาคำตอบไม่ได้ เจอรูปริศนาเรียงกันเป็นแถวใต้ก้นมหาสมุทรเกิดขึ้นมาได้อย่างไร โพสต์เฟซบุ๊กถามความเห็น ได้คำตอบหลากหลาย มีทั้งอาจขุดโดยเครื่องจักร ไปจนถึงฝีมือเอเลี่ยน

เมื่อ 27 ก.ค. 65 เดลี่เมลรายงาน ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐฯ พบรูปริศนาจำนวนหนึ่งซึ่งไม่อาจอธิบายได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่บริเวณก้นมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งลึกจากผิวน้ำประมาณ 1.7 ไมล์ หรือประมาณ 2.73 กิโลเมตร โดยทีมนักวิทย์ NOAA ได้ตั้งคำถามกับบรรดาผู้ใช้งานทางเฟซบุ๊กให้ช่วยอธิบายหาคำตอบเกี่ยวกับรูปริศนาที่มีลักษณะทำให้เป็นจักๆ อย่างเป็นระเบียบเหล่านี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

'เมื่อวันเสาร์ จากการส่งหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ Okenos พวกเราได้สังเกตเห็นรูหลายรูอยู่ที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานพบรูเหล่านี้แล้ว แต่ต้นกำเนิดของรูเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนา ในขณะที่รูเหล่านี้ดูเหมือนเป็นรูที่มนุษย์ทำขึ้น แต่กองทรายรอบๆ รูดูเหมือนพวกมันถูกขุดขึ้นมาด้วยอะไรบางอย่าง

'สมมติฐานของคุณคืออะไร?' ทีมนักสำรวจ NOAA ถามผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับรูปริศนาที่พบใกล้เทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกว่า 60 คน ซึ่งได้ตั้งทฤษฎีสมมติฐานที่ทำให้เกิดรูเหล่านี้แตกต่างกันไป โดยบางคนก็คิดว่า 'อาจมีบริษัทหนึ่งมาทำการสำรวจเก็บตัวอย่างใต้มหาสมุทรแอตแลนติกก็เป็นได้' ขณะที่บางคนก็คิดว่า 'อาจเป็นปูที่ขุดรูเหล่านี้' และมีบางคนคอมเมนต์ว่า 'ไม่ได้บอกว่าเป็นเอเลี่ยน แต่มันคือเอเลี่ยน'

ทั้งนี้ นักสำรวจเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Voyage to the Ridge 2022 ของ NOAA ซึ่งเป็นการสำรวจแบบเป็นซีรีส์ 3 มหาสมุทรบนโลก รวมทั้งการทำแผนที่ และมีการส่งยานสำรวจใต้น้ำเพื่อที่จะสามารถเข้าใจได้มากขึ้นเกี่ยวกับบริเวณน้ำลึกรอบๆ เทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก

เทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก (Mid-Atlantic Range) คือ ตัวอย่างของแนวเปลือกโลกแยกตัว ซึ่งเทือกเขานี้มีความสูงมากเมื่อเทียบกับพื้นมหาสมุทรรอบข้าง โดยเทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติกครอบคลุมความยาวเหนือ-ใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก และทอดยาวเป็นระยะทางนับ 1,000 ไมล์ จึงทำให้เป็นเทือกเขายาวที่สุดในโลกและเป็นหนึ่งในเทือกเขาที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่น่าประทับใจมากที่สุดของโลก


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2457007

สายน้ำ 28-07-2022 04:21

1 Attachment(s)
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


"ก๊าซเรือนกระจก" แก้เท่าไหร่ก็ไม่จบสิ้นจริงหรือ ?

เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ไม่แน่ใจนัก ที่จู่ๆ ในรอบเดือนที่ผ่านมา ผู้นำประเทศสองประเทศพูดถึง "ก๊าซเรือนกระจก" ในระยะเวลาใกล้ๆ กันแบบไม่ได้นัดหมาย ประเทศแรกคือ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งนิวซีแลนด์ ดันกฎหมายเก็บภาษีมลพิษจากปศุสัตว์สำเร็จเป็นที่แรกของโลก โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นิวซีแลนด์มีประชากรแกะ 26 ล้านตัว วัว 10 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า ผลสำรวจพบว่า มูลที่สัตว์ปล่อยออกมา รวมถึงทุกๆ การ "เรอ" และการ "ตด" ของวัวและแกะในนิวซีแลนด์ สามาถทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และได้ส่งผลกระทบไปยังปัญหา Climate change หรือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย

ถัดมาไม่นาน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ย้ำทุกหน่วยงานว่าต้องเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทั้งเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับอุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน เพื่อให้เป็นไปตามที่ประเทศไทยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ในการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26 โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)

ปัญหา "ก๊าซเรือนกระจก" ไม่เคยถูกลืม และเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศหลายๆ ประเทศตระหนักอยู่เสมอ เพียงแต่วิธีการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานของประเทศ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ จึงขอพาท่านสำรวจตรวจสอบปัญหา ?ก๊าซเรือนกระจก? ในประเทศไทย ว่าหนักหน่วงมากเพียงใด แล้วเราจะมีส่วนช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง


ทำความเข้าใจกับก๊าซเรือนกระจกอีกครั้ง

จริงๆ ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHGs) ไม่ใช่ของใหม่ มันเป็นก๊าซที่มีอยู่บนโลกใบนี้มานับล้านๆ ปี เพียงแต่ ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ปริมาณของมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมจวบจนปัจจุบัน ก๊าซเรือนกระจกกำลังส่งผลโดยตรงต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง โดยก๊าซเรือนกระจกนี้ เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการกักเก็บและดูดซับคลื่นรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์เอาไว้ ดังนั้นก๊าซเหล่านี้ถ้ามีในปริมาณที่พอเหมาะ จะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกเป็นอย่างมาก โดยในภาวะปกติดวงอาทิตย์จะแผ่รังสีเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกในลักษณะของรังสีคลื่นสั้นและสะท้อนกลับขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศในลักษณะของรังสีคลื่นยาว หรือรังสีอินฟราเรด พลังงานความร้อนบางส่วนจะถูกก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ดูดซับไว้ ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกอยู่ในระดับที่พอเหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ต่างจากดาวศุกร์ที่มีก๊าซเรือนกระจกหนาแน่นมากจนทำให้มีอุณหภูมิร้อนเกินไปและมนุษย์อาศัยอยู่ไม่ได้ แล้วเราจะปล่อยให้โลกของเราเป็นแบบดาวศุกร์หรือ ?

ปัจจุบันก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกมีปริมาณมากเกินไป จนทำให้โลกร้อนขึ้น และเกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) นั่นเอง โดยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นได้จาก 2 ส่วน คือ (1) เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และ (2) เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การขุดพลังงานฟอสซิล อย่างน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติมาใช้ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และสร้างที่อยู่อาศัย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คาร์บอนที่สะสมอยู่ในเนื้อไม้ ในราก ในดิน ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วย

สำหรับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มีทั้ง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ก๊าซไนโตรเจน ไตรฟลูออไรด์ ไอน้ำ โอโซน และ สารซีเอฟซี ซึ่งจากสถานการณ์ที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไปนี้เอง จึงได้เกิดข้อตกลงการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในระดับโลก

ในประเทศไทย ปัญหาของก๊าซเรือนกระจกก็ใกล้เคียงกับที่อื่นๆ โดยก๊าซส่วนใหญ่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ภาคการเกษตรเป็นรอง และระดับครัวเรือนตามมาเป็นอันดับสาม การแก้ไขปัญหานี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งระดับมหภาคจากรัฐบาลเป็นแกนนำ และระดับจุลภาคหรือระดับครัวเรือนเป็นตัวเสริม ในระดับมหภาคนั้น รัฐบาลไทยได้ปรับโครงสร้างพลังงาน ลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยายแนวคิดการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานทดแทนในทุกภาคส่วน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย รวมทั้งเรื่องของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งรัฐบาลกำหนดแผนที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ในประเทศในปี 2573

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังส่งเสริมการปลูกและเพิ่มพื้นที่ป่า และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน เป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยรัฐบาลมีแผนในการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2579 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

ในระดับครัวเรือน เราสามารถเริ่มต้นที่ตัวเรา โดยลดความอยากให้น้อยลง อย่าอยากกินของไกลเกินตัวที่ต้องนำเข้าหรือขนส่งในระยะทางไกล มันสิ้นเปลื้องน้ำมัน อย่าอยากกินเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะเราจะกลายเป็นผู้ร่วมมือปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และอย่าอยากใช้ของใหม่ตลอดเวลา ยิ่งในสภาวะที่น้ำมันแพงและข้าวของแพงด้วยแล้ว ใช้เท่าที่มีจะทำให้เราเป็นกำลังสำคัญในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างจริงจัง


https://www.thaipost.net/ptt/182746/


สายน้ำ 28-07-2022 04:23

1 Attachment(s)
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'เจ้าท่า' เร่งเสริมทรายหาดจอมเทียนปักหมุดแล้วเสร็จ พ.ย.นี้


"กรมเจ้าท่า" กางแผนความคืบหน้าเสริมทรายชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี 6.5 กม. วงเงิน 986 ล้านบาท เฟส 1 ระยะทาง 3.5 กม. เสร็จ พ.ย.นี้ พร้อมลุยเฟส 2 อีก 3 กม. คืนความสวยงามให้ชายหาด หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวในประเทศ

27 ก.ค. 2565 ? นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร (กม.) งบประมาณ 986 ล้านบาท แบ่งเป็น ระยะ (เฟส) ที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. งบประมาณ 586 ล้านบาท เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการเสริมทรายฯ ความกว้าง 50 เมตร ตั้งแต่ด้านทิศใต้ของหาดจอมเทียนไปทางทิศเหนือบริเวณบริเวณซอยนาจอมเทียน 11 ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จแล้วระยะทาง 800 เมตร และส่งมอบพื้นที่ชายหาดให้กับเทศบาลตำบลนาจอมเทียน ตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 และอยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนที่เหลือ คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย.2565

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า และ ระยะที่ 2 ระยะทาง 3 กม. งบประมาณ 400 ล้านบาท โดยจะดำเนินการเสริมทรายฯ ความกว้าง 50 เมตร จากด้านทิศใต้บริเวณซอยนาจอมเทียน 11 (ต่อจากระยะที่ 1) ไปทางทิศเหนือบริเวณแนวโขดหิน หน้าสวนน้ำพัทยาปาร์ควอเตอร์เวิร์ล ซึ่งเริ่มเสริมทรายฯ ได้ในปี 66 คาดว่าแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.2568โครงการฯ ดังกล่าวถือเป็นโครงการเร่งด่วน เนื่องจากพื้นที่ชายหาดจอมเทียนประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงและต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2510-2558 พื้นที่ชายหาดถดถอยและลดขนาดลงไปทุกปี หรือประมาณ 60 ไร่ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน หากปล่อยทิ้งไว้จะไม่เหลือพื้นที่ชายหาดอีกต่อไป

ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน ตลอดแนวชายหาดจอมเทียน ความยาว 7 กม. จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เงิน 1 บาทที่ลงทุน สามารถสร้างผลตอบแทนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 3.2 บาท และยังสร้างผลตอบแทนทางอ้อม ซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้

นอกจากนี้โครงการดังกล่าวได้จัดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 5 ครั้ง แบ่งเป็น ประชุมใหญ่ 3 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งแรกเดือน มี.ค.2558, ครั้ง 2 เดือน ก.ย.2558 และครั้งที่ 3 ช่วงเดือน ก.ย.2559 รวมทั้งจัดประชุมกลุ่มย่อยอีก 2 ครั้ง คือ เดือน มิ.ย.2558 และเดือน ก.ย.2558

ทั้งนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จครบทั้ง 2 ระยะ จะทำให้หาดจอมเทียนกลับมามีสภาพที่สวยงาม ช่วยฟื้นฟูและบำรุงรักษาระบบนิเวศชายฝั่งทะเลให้กับมามีสภาพสมบูรณ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายใน จ.ชลบุรี และยังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดรับกับนโยบายการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี


https://www.thaipost.net/district-news/188667/


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:26

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger