SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2564 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5657)

สายน้ำ 05-09-2021 03:18

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน 2564
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 5 - 6 ก.ย. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 10 ก.ย. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลางโดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 7 - 10 ก.ย. 64 ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 05-09-2021 05:12

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


โลกร้อน : จากไฟป่าในไซบีเรียสู่น้ำท่วมที่นิวยอร์ก ย้อนดูเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในปีนี้ ............... BBC Thai

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
น้ำท่วมฉับพลันทำให้ระบบรถไฟใต้ดินของนิวยอร์กเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงัก ......... EPA

อย่างน้อย 45 ราย คือจำนวนผู้เสียชีวิตจากพายุไอดาที่เข้าถล่มภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาในช่วงไม่กี่วันมานี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตือนถึง "วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ" โดยบอกว่าสหรัฐฯ "ต้องเตรียมตัวให้ดีกว่านี้" ในอนาคต

วิดีโอบันทึกเหตุน้ำท่วมทะลักเข้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในนครนิวยอร์กที่เผยแพร่กันในโซเชียลมีเดียดูน่าตกใจก็จริง แต่เมื่อเรามองย้อนดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ในปีนี้ จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) กำลังกลายเป็นสิ่งที่โลกต้องเจอบ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ

บีบีซีชวนย้อนดูปรากฎการณ์ลักษณะนี้ในประเทศต่าง ๆ ที่หลายคนมองว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


น้ำท่วมในสหรัฐอเมริกา

พายุไอดาที่เข้าถล่มบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ราย ครัวเรือนหลายแสนครัวเรือนในรัฐลุยเซียนา รัฐนิวยอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย และรัฐมิสซิสซิปปี ยังไม่มีไฟฟ้าใช้

ที่นครนิวยอร์ก น้ำท่วมฉับพลันทำให้ระบบรถไฟใต้ดินเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงัก มีคนอย่างน้อย 14 รายเสียชีวิต โดย 11 คนในจำนวนนี้จมน้ำขณะติดอยู่ในที่พักชั้นใต้ดิน

ฟิล เมอร์ฟี ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ บอกว่าที่รัฐมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 23 ราย โดยส่วนใหญ่ติดอยู่ในรถขณะที่ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลัน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเดินทางไปลุยเซียนาวันศุกร์นี้ โดยนี่เป็นรัฐแรกที่เผชิญพายุไอดาซึ่งทำให้เกิดเหตุดินถล่ม และมีถึง 9 แสนครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ในตอนนี้

"นี่เป็นเรื่องของความเป็นความตาย และเราทุกคนต้องเผชิญกับมันด้วยกัน" ปธน. ไบเดน กล่าว "นี่เป็นความท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุดในยุคนี้แต่ผมก็มั่นใจว่าเราจะจัดการได้"

ผู้นำสหรัฐฯ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุของน้ำท่วมในครั้งนี้ และบอกว่าต้องมี ?การลงทุนครั้งประวัติศาสตร์? เพื่อจัดการกับวิกฤตดังกล่าว


ฝนตกเป็นประวัติการณ์ในจีน

ภาพน้ำท่วมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในนครนิวยอร์กอาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงเหตุการณ์ที่จีนเมื่อช่วงเดือน ก.ค.

เหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เป็นผลจากฝนที่ตกหนักเป็นประวัติการณ์ในภาคกลางของจีนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย และประชาชนกว่า 100,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้าน มีกว่า 12 เมืองในมณฑลเหอหนานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมถึงเมืองเจิ้งโจวซึ่งเป็นศูนย์กลางของมณฑลนี้ด้วย วิดีโอที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์แสดงภาพน้ำท่วมถึงเอวคนบนท้องถนนและในสถานีรถไฟฟ้า

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวเมื่อวันที่ 20 ก.ค ว่า การรับมือกับน้ำท่วมเป็นไปอย่าง "ยากยิ่ง" และอยู่ใน "สภาวะวิกฤต" ในตอนนั้น ทางการของมณฑลเหอหนาน ซึ่งมีประชากรทั้งหมด 94 ล้านคน ได้ประกาศเตือนภัยทางภูมิอากาศขั้นสูงสุด โดยทางการท้องถิ่นบอกว่าสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้ ร้อยปีมีครั้ง


ฝนตกหนักที่ยุโรป

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
น้ำท่วมตามแนวแม่น้ำอาร์ในเยอรมนี ............ Getty Images

ยุโรปเองก็เผชิญกับฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงเมื่อเดือน ก.ค. โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

น้ำท่วมในเยอรมนี เบลเยียม และอีกหลายพื้นที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 220 คน สร้างความตกตะลึงให้แก่บรรดานักพยากรณ์อากาศและเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นอย่างมาก โดยนักวิจัยระบุว่า โลกร้อนมีโอกาสทำให้เกิดเหตุฝนตกหนักเช่นนี้ในยุโรปตะวันตกมากขึ้นเป็น 9 เท่า ขณะที่ปริมาณน้ำฝนในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3-19% เนื่องจากปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์

นอกจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแล้ว ยังมีบ้านเรือน ถนนและทางรถไฟได้รับความเสียหายจากน้ำที่ไหลทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว


คลื่นความร้อนในสหรัฐฯ และแคนาดา

ฝั่งตะวันตกของแคนาดาและสหรัฐฯ ต้องเจอกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์เพราะโดมความร้อน (heat dome) หรือปรากฏการณ์โดมความร้อน โดยหมู่บ้านลิตตัน ทางฝั่งตะวันตกของแคนาดา อุณหภูมิสูงถึง 49.6 องศาเซลเซียส จากที่แคนาดาเคยอุณหภูมิสูงสุดแค่ 45 องศาเซลเซียส

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ปรากฏการณ์เมื่อปลาย มิ.ย. ?แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย? หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ทีมนักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ 27 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ หรือ World Weather Attribution บอกว่า หากมนุษย์ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศอย่างที่ทำมา สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงถึง 150 เท่า

หลังจากหมู่บ้านลิตตันของแคนาดาเผชิญอุณหภูมิสูงสุดเป็นกระวัติการณ์ไม่นานก็เกิดเหตุไฟป่าลุกลามทำลายพื้นที่จำนวนมาก

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
หมู่บ้านลิตตันหลังโดนไฟป่าลุกลาม ................ Reuters

ในสหรัฐฯ หลายเมืองในรัฐออริกอน และรัฐวอชิงตัน ต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสมาก

อุณหภูมิที่สูงมากลักษณะนี้เป็นอันตรายถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต และมีผู้ต้องเข้ารับการรักษาตัวเพิ่มขึ้นจากอาการป่วยที่มีสาเหตุมาจากอากาศร้อน


ไฟป่าครั้งมโหฬารในไซบีเรีย

หายนะไฟป่าครั้งรุนแรงที่เขตไซบีเรียในปีนี้ สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมโลกอย่างมหาศาล โดยเหตุเพลิงไหม้ป่าสนหิมะได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นสองเท่าของสถิติเมื่อปีที่แล้ว และผลักให้อัตราการปล่อยคาร์บอนจากไฟป่าทั่วโลกในปีนี้ พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ

สำนักงานควบคุมดาวเทียมคอเปอร์นิคัสเพื่อการติดตามสภาพบรรยากาศโลกแห่งยุโรป (CAMS) เผยว่าไฟป่าในไซบีเรียซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ ตั้งแต่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซียไปจนถึงภูมิภาคอเมริกาเหนือ ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกแล้วกว่า 800 ล้านตัน นับแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา

ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากสถิติในเหตุไฟป่าไซบีเรียเมื่อปีที่แล้ว ทั้งยังสูงกว่าอัตราการปล่อยคาร์บอนทั้งปีของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูงสุดของยุโรปและอยู่ในอันดับ 6 ของโลก

ผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่าไฟป่าไซบีเรียในปีนี้กินพื้นที่กว้างถึง 161,300 ตารางกิโลเมตร โดยอาจเป็นไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยพื้นที่ซึ่งเกิดเพลิงไหม้ในเขตไซบีเรียเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว มีขนาดใหญ่กว่าบริเวณที่กำลังเกิดไฟป่าในขณะนั้นทั่วโลกมารวมเข้าด้วยกัน

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
แอ่งน้ำซึ่งเกิดจากน้ำแข็งละลายที่กรีนแลนด์ สะท้อนถึงความรุนแรงของภาวะโลกร้อน ............... Getty Images

การเกิดไฟป่ารุนแรงในเขตอากาศหนาวจัดเช่นนี้ สะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของภาวะโลกร้อนที่ยิ่งเลวร้ายลงทุกที โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของกลุ่มกรีนพีซประจำรัสเซียได้ชี้ถึงสาเหตุของไฟป่าขนาดใหญ่ ว่าเกิดจากความละเลยไม่ใส่ใจของภาครัฐ ทั้งยังมีกฎหมายห้ามไม่ให้จัดการดับไฟ หากหน่วยปฏิบัติการผจญเพลิงต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง หรือในกรณีที่ไฟป่าไม่ได้ไหม้ลามถึงเขตที่อยู่อาศัย


https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_6601676


สายน้ำ 05-09-2021 05:18

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


น้ำมันรั่วลงทะเล หายนะของธรรมชาติ จากความผิดพลาด(อีกครั้ง)ของมนุษย์

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds|

ข่าวน้ำมันรั่วลงทะเลคือเรื่องที่เราได้ยินอยู่ทุกปี ล่าสุดคือครั้งที่เกิดในซีเรีย เหตุการณ์เหล่านี้หลายครั้งทิ้งผลกระทบกับผู้คนและธรรมชาติไว้มากมาย ไม่เว้นแม้แต่ที่เคยเกิดขึ้นกับจังหวัดระยองในประเทศไทยเอง


HIGHLIGHTS

- น้ำมันรั่วลงทะเลเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทบทั่วทุกมุมโลก โดยมีระดับความร้ายแรงต่างกันตามพื้นที่

- ผลกระทบที่เกิดกับธรรมชาติคือความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ ร้ายแรงจนทำให้สูญเสียชีวิตสัตว์น้ำไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงปนเปื้อนสัตว์น้ำในพื้นที่จนไม่อาจนำมาใช้บริโภค

- ตามมาด้วยการสูญเสียบางอาชีพในพื้นที่จากการปนเปื้อนสารพิษ ทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไปโดยสิ้นเชิง

- ปัจจุบันแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมยังไม่ชัดเจนหรือได้ผลมากนักในทั่วทุกมุมโลก


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

การรั่วไหลของน้ำมันคือข่าวที่เราได้ยินกันจนชาชิน ล่าสุดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลเกิดขึ้นในโรงกลั่นน้ำมันของซีเรีย ลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนและกำลังไหลลงบนเกาะไซปรัสในไม่ช้า เป็นการรั่วไหลของถังน้ำมัน 15,000 ตันในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนตรงชายฝั่งแถบซีเรีย มาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม และการวิเคราะห์ด้วยภาพถ่ายการรั่วไหลของน้ำมันครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่า 800 ตารางกิโลเมตรทีเดียว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในโลกที่มีอุบัติเหตุน้ำมันรั่วไหลลงท้องทะเล แม้แต่ในประเทศไทยเองก็เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อยู่ทุกปี สถิติล่าสุดจากกรมเจ้าท่าเองในปี 2563 มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลเกิดขึ้น 6 ครั้ง เป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป และหนึ่งในครั้งใหญ่สุดในประเทศไทยคงเป็นเคสปี 2556 โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล กับการรั่วไหลมากกว่า 50,000 ลิตร

เมื่อเกิดการรั่วไหลหากเป็นในปริมาณน้อยอาจสามารถควบคุมความเสียหายอยู่ในวงจำกัด หรือปล่อยให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติได้ แต่นั่นสามารถทำได้เพียงกับปริมาณน้อยและจำกัดเพียงบางชนิด อีกทั้งต้องมีการติดตามผลกระทบของคราบน้ำมันอย่างใกล้ชิดในกรณีเกิดความเปลี่ยนแปลง

แต่หากปริมาณการรั่วไหลมีมากเกินจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หาไม่ผลกระทบที่ตามมามากพอจะฆ่าทั้งท้องทะเลและมนุษย์เราไปพร้อมกัน

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและท้องทะเลที่อาจไม่กลับมาเหมือนเก่า

ไม่ใช่ทุกครั้งเมื่อมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ด้วยอาจเกิดการรั่วไหลขึ้นในพื้นที่กลางทะเลห่างไกลจากชายฝั่ง หรือคลื่นลมพัดพาจนเกิดผลกระทบขึ้นไม่มาก แต่บางกรณีก็สร้างผลกระทบร้ายแรง เช่น การรั่วไหลน้ำมันของ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล กลางอ่าวไทย จังหวัดระยอง, การรั่วไหลของน้ำมันในแถบชายฝั่งมอริเซียส หรือการรั่วไหลน้ำมันดิบบีพีในสหรัฐฯ เป็นต้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสัตว์น้ำเกิดขึ้นในหลายระดับ ในเบื้องต้นเมื่อน้ำมันปนเปื้อนร่างกายและผิวหนังจะทำให้ขนสัตว์จับตัวเป็นก้อน น้ำซึมลึกเข้าถึงผิวหนังจนอาจทำให้เกิดการจมน้ำ อีกทั้งการรักษาอุณหภูมิร่างกายทำได้ยาก จนเกิดอัตราการตายทั้งจากความหนาวหรือร้อนตายเป็นจำนวนมาก บางครั้งยังอาจไปอุดตันปากและจมูกได้อีกด้วย

นอกจากส่งผลทางตรงยังทำให้เกิดการปนเปื้อนในสัตว์น้ำเป็นวงกว้าง เป็นพิษต่อทางเดินอาหารของสัตว์น้ำและทำลายเนื้อเยื่อในอวัยวะภายใน เป็นอีกสาเหตุให้สัตว์น้ำเสียชีวิต และเมื่อมีการปนเปื้อนหรือตายไปเป็นจำนวนมาก ห่วงโซ่อาหารย่อมได้รับผลกระทบ ตามมาด้วยความเสียหายต่อระบบนิเวศทั้งหมดโดยรวม

ยิ่งไปกว่านั้นสารประกอบหรือสารเคมีในน้ำมันล้วนส่งผลให้ปะการังเกิดการฟอกขาวและตายลง ส่งผลกระทบกับปลาและความสมบูรณ์ภายในระบบนิเวศอย่างร้ายแรง ขัดขวางการสังเคราะห์แสงของปะการัง หญ้าทะเล สาหร่าย ไปจนถึงแพลนตอน ทั้งยังทำให้การวางไข่และขยายพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด เช่น เต่ากับนกทะเลอีกด้วย

ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดจากน้ำมันรั่วดังเช่น เหตุการณ์ดังของแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก Deepwater Horizon ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตสัตว์ทะเลเป็นจำนวนมหาศาล ตั้งแต่ นกทะเลจำนวนกว่า 800,000 ตัว เต่าทะเล 65,000 ตัว วาฬและโลมาอีกร่วม 1,400 ตัว และนี่ยังถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหาย และผลกระทบระยะยาวอีกมากมายที่ตามมา

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


เคราะห์กรรมที่หนีไม่พ้นเมื่ออันตรายย้อนกลับมาสู่ตัวเรา

น้ำมันรั่วไหลย่อมตามมาด้วยสารพิษปริมาณมหาศาลลงสู่ทะเลไปตามกัน ส่งผลกระทบกับมนุษย์หรือใครก็ตามที่เข้าไปสัมผัส ในระยะสั้นอาจทำให้เกิดการวิงเวียน ปวดศีรษะ เคืองตา เสียการทรงตัว หมดสติ ไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนในระยะยาวเมื่อสารพิษซึมลงไปตามร่างกาย อาจทำให้เกิดผื่นคันลุกลามไปถึงมะเร็งผิวหนัง หากสูดเข้าไปอาจทำให้ปอดเกิดติดเชื้อและอักเสบทำลายทางเดินหายใจ ทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ จนเกิดเลือดออกในอวัยวะจนล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

นั่นคือผลกระทบในทางตรงและเมื่อเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาด้วยคุณค่าทางเศรษฐกิจของทั้งพื้นที่ ตั้งแต่การสูญเสียคุณสมบัติในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว จากการปนเปื้อนของสารพิษและน้ำมัน ทำลายทัศนียภาพและความปลอดภัยไปหมดสิ้น

เช่นเดียวกับแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทั้งหลายเมื่อเกิดการปนเปื้อน ฟาร์มกุ้ง หอย ปู ที่เพาะพันธุ์ขายจะถูกทำลายจากการปนเปื้อนจนไม่สามารถนำไปบริโภค รวมถึงธุรกิจประมงทำให้สัตว์น้ำจำนวนมากตายและลดจำนวน ถึงสามารถหาจับได้บางส่วนก็เกิดความผิดปกติเช่น ตาบอดหรือมีเนื้องอกทำให้อาชีพประมงในพื้นที่ถูกทำลาย


เทียบจากเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้น เหตุการณ์รั่วไหลน้ำมันดิบในจังหวัดระยอง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวจังหวัดระยอง ภายหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วในปี 2556 แม้มีการเก็บกู้ทำความสะอาดท้องทะเลแล้ว สารพิษตกค้างกลับยังคงอยู่และไม่ได้มีการจัดสำรวจอย่างจริงจัง สาเหตุมาจากการประเมินและตรวจสอบจำกัดแค่ผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ ไม่ได้ครอบคลุมการสำรวจทรัพยากรทางทะเล

เลวร้ายกว่าคือนอกจากตัวน้ำมันและสารเคมีประกอบภายในจะสร้างปัญหา เป็นอันตรายทั้งกับท้องทะเล สัตว์น้ำ และมนุษย์แล้ว อันตรายแอบแฝงไม่แพ้กันกลับเป็นสารที่มีไว้สำหรับสลายน้ำมันชื่อ Slickgone NS ซึ่งมีความเป็นพิษสูง หากใช้ในปริมาณมากเกินอาจทำให้ปะการังตายทันที รวมถึงผลผลิตด้านการประมงไม่ว่าจะเป็นเคยที่หายไปถึง 95% ปูลดลง 50% ปลาอินทรีหายไป 60%

มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียหายเกินกว่าจะประเมินค่า ไม่ว่าในแง่การท่องเที่ยวหรือประมงทำลายระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนโดยสิ้นเชิง ความอุดมสมบูรณ์ของพันธ์ปลาสาบสูญ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมหลายชนิดต้องยุติและปิดตัวลง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านท้องถิ่นให้ต้องเปลี่ยนอาชีพ บ้างก็หันไปรับจ้างเรือใหญ่ บางส่วนก็จำใจเข้ามาทำงานในเมือง กลายเป็นปัญหาให้แก่ชุมชนและสังคมเมืองเพิ่มเติมอีกด้วย

จนปัจจุบันการแก้ไขและสำรวจคราบน้ำมันตกค้างรวมถึงความเสียหายต่อระบบนิเวศยังไม่มีวี่แววดำเนินการแน่ชัด แม้จะมีคำตัดสินจากศาลให้ทางบริษัทชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านแล้วก็ตาม แต่ในส่วนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมกลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

นี่ไม่ใช่ปัญหาเกิดขึ้นในไทยที่เดียว หลายประเทศยามเกิดเหตุการณ์นี้ล้วนประสบปัญหา ไม่ว่าเหตุการณ์ในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ การรั่วไหลน้ำมันจากโรงไฟฟ้าสู่แม่น้ำภายในรัสเซีย หรืออีกหลายเหตุการณ์เอง การขจัดคราบน้ำมันออกไปไม่ใช่ผลสำเร็จเป็นแค่ก้าวแรก สำหรับการฟื้นฟูและลดทอนผลกระทบต่อธรรมชาติที่ตามมา

น่าสนใจว่าคราวนี้เหตุการณ์น้ำมันรั่วในซีเรียจะส่งผลกระทบต่อท้องทะเลบนโลกอีกมากแค่ไหน


https://www.nationtv.tv/original/378837841



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:57

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger