SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2565 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5915)

สายน้ำ 06-05-2022 03:48

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2565
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้ทีพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง และทะเลอันดามันตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีอากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น

อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง และทะเลอันดามันตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน และจะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนในช่วงวันที่ 7-9 พ.ค. 65


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 6 ?11 พ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณดังกล่าว มีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีอากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงและฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีฝนตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง และทะเลอันดามันตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน และจะเคลื่อนขึ้นไปปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนในช่วงวันที่ 6 - 9 พ.ค. 65


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 6 ? 10 พ.ค. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางแห่ง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับประชาชนบริเวณภาคใต้ควรระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 06-05-2022 04:32

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


ซากสัตว์ทะเลใหญ่เบิ้ม เกยตื้นหาดแอฟริกาใต้-คาดเซ่นใบพัดเรือ

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ซากสัตว์ทะเลใหญ่เบิ้ม ? วันที่ 5 เดอะมีร์เรอร์รายงานว่า เกิดเหตุซากสัตว์ทะเลลักษณะคล้ายปลาหมึกขนาดใหญ่ถูกคลื่นซัดเกยตื้นที่หาดลองบีช เมืองโคมาคีย์ ใกล้กรุงเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ที่พบเห็น

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ภาพดังกล่าวได้รับการเผยแพร่โดยนายอาลี เพาลัส ที่ถ่ายภาพซากสัตว์ทะเลคล้ายปลาหมึกไว้ได้ โดยสภาพนั้นมีบาดแผลเหวอะหวะเต็มตัว ส่วนลำตัวยาวถึง 2.2 เมตร ไม่รวมหนวดที่พันระโยงระยาง คาดว่าถูกใบพัดเรือปั่น

รายงานระบุว่า ปลาหมึกยักษ์นั้นเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่หาตัวพบยากที่สุดในโลกเนื่องจากพวกมันอาศัยอยู่ที่ระดับความลึก 300 ถึง 1,000 เมตร และมักไม่ขึ้นมาที่ผิวน้ำ

การพบซากของพวกมันก็หาได้ยากเช่นกัน โดยครั้งสุดท้ายนั้นมีผู้พบซากปลาหมึกยักษ์ถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นที่ชายหาดกรุงเคปทาวน์ในปี 2563

นายเพาลัสเผยแพร่ภาพผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวพร้อมระบุว่า "ปลาหมึกยักษ์ ลองบีช เมืองโคมาคีย์ มนุษย์เรามีความรู้เกี่ยวกับมันน้อยมาก แล้วก็ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าพวกมันเหลือกันอยู่มากน้อยเพียงใด"

"สายพันธุ์ของมันที่ทราบแน่ๆ มีอยู่ 3 สายพันธุ์ แต่ของจริงอาจจะมากกว่านั้น เพราะสามารถพบเจอพวกมันได้ทั่วโลก" และว่า "เจ้าตัวที่น่าสงสารนี้น่าจะถูกใบพัดเรือปั่นเอา"

ด้านผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่างพากันระบุถึงความน่าตื่นตาตื่นใจและแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเจ้าปลาหมึกยักษ์ตัวนี้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ระบุว่า ปลาหมึกยักษ์มีขนาดตัวเต็มวัยที่ใหญ่มหึมามาก นับเป็นสิ่งมีชีวิตไม่มีกระดูกสันหลังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน


https://www.khaosod.co.th/around-the...s/news_7034063


สายน้ำ 06-05-2022 04:35

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ทุ่งหญ้าทะเลทั่วโลกเปลี่ยนคาร์บอนเป็นน้ำตาลนับล้านตัน เก็บไว้ใต้พื้นมหาสมุทร

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
ฝูงปลาแหวกว่ายเหนือทุ่งหญ้าทะเล ที่นอกชายฝั่งเกาะอีบิซาของสเปน

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการศึกษาจุลชีววิทยาทางทะเล (MPIMM) ของเยอรมนี ค้นพบแหล่งกักเก็บน้ำตาลซูโครสปริมาณมหาศาลนับล้านตันใต้พื้นมหาสมุทร โดยน้ำตาลเหล่านี้คือผลผลิตจากการสังเคราะห์ด้วยแสงของหญ้าทะเล

รายงานวิจัยข้างต้นซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution ระบุว่ากระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงที่มีประสิทธิภาพดียิ่งของทุ่งหญ้าทะเลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีแสงอาทิตย์เจิดจ้าเช่นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้คาร์บอนในบรรยากาศถูกดึงมากักเก็บไว้ใต้ทะเลในรูปของน้ำตาลซูโครสจำนวนมาก

กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) เป็นกระบวนการสร้างอาหารของพืชสีเขียว โดยมีสารคลอโรฟิลล์ทำหน้าที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เปลี่ยนวัตถุดิบคือน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้กลายเป็นน้ำตาลและก๊าซออกซิเจน ซึ่งกระบวนการนี้ช่วยให้หญ้าทะเลดูดซับคาร์บอนและจมมันลงก้นมหาสมุทรในปริมาณมหาศาล นับว่าเป็นผลดีต่อการชะลอภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างมาก

ตามปกติแล้วหญ้าทะเลจะปล่อยน้ำตาลที่ผลิตได้ล้นเกินออกทางราก จนซึมลงสู่ใต้พื้นมหาสมุทรทั่วโลกถึง 1.3 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณเทียบเท่ากับน้ำตาลที่ใส่ในน้ำอัดลม 32,000 ล้านกระป๋อง ทำให้พื้นมหาสมุทรบริเวณที่มีทุ่งหญ้าทะเลขึ้นอยู่อิ่มด้วยน้ำตาล ซึ่งตรวจวัดได้ว่าเข้มข้นกว่าที่อื่นถึง 80%


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
นักวิทยาศาสตร์ตรวจหาน้ำตาลและสารเคมีที่หญ้าทะเลผลิตออกมา

นอกจากจะผลิตน้ำตาลซูโครสแล้ว หญ้าทะเลยังหลั่งสารจำพวกฟีนอล (Phenol) หรือกรดฟีนอลิกที่พบในกาแฟ ไวน์แดง และผลไม้บางชนิดออกมาด้วย โดยสารนี้จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่จะมากินน้ำตาลซูโครสเป็นอาหารได้

ทีมผู้วิจัยบอกว่า การเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ทุ่งหญ้าทะเลดูดซับกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าไม้บนบกที่มีขนาดเท่ากันถึง 2 เท่า ทั้งยังดูดซับคาร์บอนได้รวดเร็วกว่า 35 เท่าอีกด้วย

ดร. แม็กกี โซกิน หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "ทุ่งหญ้าทะเลมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมโลกมากมายเกินคาด แต่เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลยเมื่อเทียบกับป่าไม้บนบก เราหวังว่าการค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้โลกตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทุ่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่ถูกคุกคามทำลายมากที่สุดเช่นกัน"


https://www.bbc.com/thai/international-61338241



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:35

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger