SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5651)

สายน้ำ 30-08-2021 03:42

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 30 ? 31 ส.ค. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ส่วนในช่วงวันที่ 1 ? 4 ก.ย. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 30-08-2021 03:53

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


รมว.ทส.เสียใจนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุน ส่งเจ้าหน้าที่ดูแล เตือนเล่นน้ำในแนวทุ่นเท่านั้น

สุราษฎร์ธานี - รมว.ทส. เสียใจนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากพิษแมงกะพรุนกล่อง สั่งป้องกันเป็นวาระเร่งด่วน มอบกรมทะเลเสริมกำลังลาดตระเวนเกาะพะงัน เตือนเล่นน้ำต้องในแนวทุ่นเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

จากกรณีเด็กวัย 9 ปี ชาวอิสราเอล เสียชีวิตจากการสัมผัสและได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่อง เมื่อค่ำวันที่ 28 สิงหาคม 2564 บริเวณหาดริ้น เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี แม้หลายฝ่ายได้ช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำส่งโรงพยาบาลพะงันอินเตอร์เนชันแนล แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้

ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงความห่วงใยประชาชนและนักท่องเที่ยว อีกทั้งได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันคิดและวางแผนระยะยาวให้เป็นระบบและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งเสริมกำลังลาดตระเวนรอบเกาะพะงัน ประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนอุปกรณ์ปฐมพยาบาลในพื้นที่สำคัญทันที

นายวราวุธ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากหน่วยงานในพื้นที่กรณีเด็กวัย 9 ปี ชาวอิสราเอล ลงเล่นน้ำบริเวณหาดริ้น เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งออกเล่นน้ำนอกแนวตาข่ายกั้นแมงกะพรุน สัมผัสและได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องจนเสียชีวิต แม้จะพยายามปฐมพยาบาลและเร่งนำส่งโรงพยาบาลแต่ก็ไม่อาจยื้อชีวิตไว้ได้ ตนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเด็กรายดังกล่าว

และเป็นห่วงนักท่องเที่ยวและพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้พยายามประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวัง และประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลในการจัดตั้งจุดปฐมพยาบาลในพื้นที่สำคัญ ซึ่งครั้งนี้อาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้ใหญ่

นายวราวุธ ยังกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ได้กำชับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ระดมเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจการกระจายตัวของฝูงแมงกะพรุนกล่องในพื้นที่เกาะพะงัน และพื้นที่อื่นที่พบแมงกะพรุนพิษประจำ รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์เสาน้ำส้มสายชูในทุกพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ และให้เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ระวังเป็นพิเศษ โดยได้มอบให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งให้ทุกหน่วยงานร่วมกันคิดหารูปแบบการป้องกันและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว หากพบผู้ที่สัมผัสหรือได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในบริเวณนั้น และให้เร่งประสานสายด่วนศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร.1669 เพื่อให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปกติแล้วแมงกะพรุนกล่องสามารถพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน พบได้ทั้งปี แต่จะพบมากช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ซึ่งพิษของแมงกะพรุนกล่องจะมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด หากได้รับพิษมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ภายใน 2-5 นาที และมีผลต่อระบบประสาท ทำให้หมดสติ อีกทั้งยังมีผลต่อผิวหนังทำให้เป็นรอยไหม้และเกิดแผลเป็น จึงขอความร่วมมือทุกสถานประกอบการเตือนนักท่องเที่ยวไม่ควรเล่นน้ำช่วงเย็นและค่ำ โดยเฉพาะช่วงหลังฝนตก ควรใส่ชุดว่ายน้ำมิดชิดยาวแนบตัว และห้ามมิให้เล่นนอกทุ่นกั้นแมงกะพรุนโดยเด็ดขาด

นายโสภณ ระบุว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภูมิศาสตร์ของแต่ละหาดอาจไม่สามารถวางตาข่ายกั้นแมงกะพรุนได้หมด จึงขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ Life guard หรือผู้ประกอบการ สำหรับเสาน้ำส้มสายชู ทางกรมได้ติดตั้งไว้ที่หาดสำคัญ 18 จังหวัด กว่า 700 จุด สำหรับชาวประมงควรแต่งกายมิดชิดเมื่อลงทะเล เพื่อความปลอดภัยในช่วงฤดูกาลที่มีแมงกะพรุนพิษ

โดยหากสงสัยว่าสัมผัสพิษแมงกะพรุนพิษให้ราดด้วยน้ำส้มสายชูทันที ห้ามราดด้วยน้ำเปล่า ห้ามเอาทรายถู เพราะอาจจะทำให้เพิ่มการกระจายของพิษได้ หากหมดสติให้รีบทำการปั๊มหัวใจ และนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

นายโสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการหน่วยงานในพื้นที่เสริมกำลังลาดตระเวนและเร่งประสานโรงพยาบาลเกาะพะงัน ประกาศเตือนทุกพื้นที่บริเวณเกาะพะงัน และเตรียมความพร้อมในการช่วยชีวิตผู้ที่สัมผัสและได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่อง ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าสามารถท่องเที่ยวได้ตามปกติ แต่ขอให้เพิ่มความระมัดระวังและอย่าออกนอกพื้นที่ตาข่ายกั้น

นอกจากนี้ ได้ประสานไปยังนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสั่งการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งกรมจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศต่อไป


https://mgronline.com/south/detail/9640000085354


สายน้ำ 30-08-2021 03:57

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


ชะตากรรม'ฉลามหัวค้อน' ก่อนขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครอง

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

เสี่ยงสูญพันธุ์ทั่วน่านน้ำไทยจากสถานการณ์คุกคามที่ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะชีวิตปลาฉลาม ไม่ว่าจะเป็นฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน หัวค้อนใหญ่ หัวค้อนเรียบ จนถึงฉลามหัวค้อนยาว แทบไม่ต้องคาดการณ์ว่าจะวิกฤตหนักเพียงใด ฉลามกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการประมง อย่างกรณีที่เป็นข่าวในโลกโซเชียลปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบมีลูกปลาฉลามขายอยู่หลายตัวในตลาดใกล้กรุง ราคาเพียงกิโลกรัมละ 100 บาท แต่น่าสลดใจเป็นลูกปลาฉลามหัวค้อน ซึ่งใกล้สูญพันธุ์ อยู่ระหว่างการผลักดันเป็นสัตว์คุ้มครอง

ล่าสุด คณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปประกอบการพิจารณา และนำเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป สำหรับการพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นการดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่ได้มีการปรับปรุงจากบัญชีท้ายกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่า พ.ศ.2535

โดยมีการปรับสถานะรายการสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง และวาฬบรูด้า การเพิ่มรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 7 รายการ ได้แก่ ค่างตะนาวศรี งูหางแฮ่มกาญจน์ ปลากระเบนปีศาจหางเคียว ฉลามหัวค้อนยาว ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ฉลามหัวค้อนใหญ่ และฉลามหัวค้อนเรียบ

ชี้ชัดให้เห็นว่า สัตว์ทะเล ซึ่งมีความเปราะบางจากระบบนิเวศและมีจำนวนน้อยอยู่แล้วในธรรมชาติ ยิ่งประสบปัญหามากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สถานการณ์ประชากรในปัจจุบัน ปลาฉลามทั่วโลกถูกจับได้จากการประมงมากกว่า 100 ล้านตัวหรือเฉลี่ย 190 ตัวต่อนาที ใน จำนวนทั้งหมดนี้มากกว่า 70 ล้านตัว เป็นฉลามถูกจับตัดเอาครีบไปขาย ส่งผลกระทบถึงขั้นวิกฤตต่อประชากรปลาฉลาม หลายองค์กรทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาการคุกคามประชากรปลาฉลาม ร่วมมือรณรงค์อนุรักษ์ปลาฉลามมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรักษาระดับประชากรปลาฉลามให้มีความสมดุลของระบบนิเวศในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก เนื่องจากปลาฉลามมีความสำคัญต่อระบบห่วงโซ่อาหาร และจัดเป็นผู้ล่าหรือผู้บริโภคระดับสูงสุด ซึ่งมีจำนวนน้อยในธรรมชาติ

ขณะที่ผลจากการจับปลาฉลามเพื่อทำประมงของไทยในแต่ละปี มีค่าน้อยกว่าร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปริมาณการจับฉลามจากการประมงทั่วโลก จากข้อมูลสถิติการประมงแห่งประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2541-2561 พบว่า ปริมาณการจับปลาฉลามเฉลี่ยของประเทศไทย ร้อยละ 62.5 ได้จากการทำประมงฝั่งอ่าวไทย ที่เหลืออีกร้อยละ 37.5 มาจากประมงฝั่งอันดามัน

ในรอบ 21 ปีนี้มีค่าเฉลี่ยปริมาณการจับปลาฉลามในทะเลไทยเท่ากับ 5.5 ล้านกิโลกรัม/ปี แต่ที่น่าสังเกตปริมาณการจับปลาฉลามตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบันมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของตัวทรัพยากรของปลากลุ่มนี้ในเขตน่านน้ำไทย

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ชนิดพันธุ์ของฉลามในน่านน้ำไทยจากการสำรวจปี 2563 พบว่า มีทั้งหมด 87 ชนิด มากกว่าร้อยละ 75 เป็นชนิดพันธุ์ที่หายากหรือชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ กลุ่มปลาฉลามหัวค้อนเป็นกลุ่มปลาที่ออกลูกเป็นตัว อาศัยในระดับกลางน้ำหรือผิวน้ำ แต่อาจพบลงไป หาอาหารตามแนวหินและแนวปะการัง ลูกฉลามจะอาศัยบริเวณชายฝั่ง สามารถพบฉลามกลุ่มนี้ได้ตั้งแต่ชายฝั่งจนถึงบริเวณไหล่ทวีปที่มีความลึกน้ำพันกว่าเมตร

" ทั่วโลกพบจำนวน 9 ชนิด โดยในประเทศไทยพบ 4 ชนิด คือ ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ ปลาฉลามหัวค้อนเรียบ และปลาฉลามหัวค้อนยาว มีบันทึกการพบเห็นทั้งฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน แต่ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่จะพบได้เฉพาะบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน และฉลามหัวค้อนยาวมีรายงานว่าไม่พบในเขตทะเลไทยมานานแล้ว ฉลามหัวค้อนบางชนิด เช่น ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน มีลูกครั้งละ 12- 38 ตัว แต่ใช้เวลาอย่างอีกน้อย 15 ปี จึงจะพร้อมผสมพันธุ์อีกครั้ง สำหรับปลากระเบนปีศาจหางเคียว พบอาศัยอยู่บริเวณทะเลเปิด ไกลฝั่ง น้ำลึก ว่ายขึ้นมาที่ผิวน้ำได้ไม่บ่อยนัก พบเห็นน้อย ออกลูกเพียงครั้งละ 1 ตัว " นายโสภณ กล่าว


ครีบฉลามหัวค้อนราคาสูง 4 ชนิดใกล้สูญพันธุ์

อีกประเด็นสำคัญ อธิบดี ทช. กล่าวว่า พฤติกรรมของปลาฉลามหัวค้อนที่อยู่รวมกันเป็นฝูง ยิ่งทำให้ถูกจับทั้งหมดในคราวเดียว ในขณะที่อัตราการทดแทนในธรรมชาติต่ำ และมีความต้องการทางการค้าสูง โดยครีบใช้ทำหูฉลามตากแห้ง คุณภาพดี เนื้อนำมาบริโภค ตับใช้ทำน้ำมันตับปลาและวิตามินเอ หนังใช้ทำเครื่องหนัง โดยเฉพาะครีบของปลาฉลามหัวค้อนซึ่งมีราคาสูงกว่าปลาฉลามกลุ่มอื่น ในประเทศฮ่องกงตลาดรับซื้อขายใหญ่ของโลก พบครีบที่มาจากปลาฉลามหัวค้อนอย่างน้อยร้อยละ 4-5

ส่วนปลากระเบนปีศาจหางเคียว ซี่เหงือกของปลาในกลุ่มปลากระเบนปีศาจ มีความต้องการเพื่อการบริโภคในตลาดยาของเอเชียสูงขึ้น เนื้อสดถูกแล่ขายเพื่อบริโภค และใช้สำหรับเป็นเหยื่อทำประมง อาจเป็นทางเลือกสำหรับการส่งออก และเคยพบกระเบนปีศาจติดเครื่องมือประมงอวนลากอวนล้อมโดยบังเอิญ

จากการติดตามสถานภาพการถูกคุกคามของชนิดพันธุ์ในระดับโลกใน IUCN Red List ล่าสุด ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ฉลามหัวค้อนใหญ่ และฉลามหัวค้อนเรียบ ถูกจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ในขณะที่ปลาฉลามหัวค้อนยาว และปลากระเบนปีศาจหางเคียว ถูกจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์

สำหรับสถานภาพการถูกคุกคามของชนิดพันธุ์ในประเทศไทยใน Thailand Red Data 2017 (2560) พบว่า กลุ่มปลาฉลามหัวค้อนทั้ง 4 ชนิด ถูกจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ส่วนปลากระเบนปีศาจหางเคียวถูกจัดอยู่ในสถานภาพที่ยังไม่ได้รับการประเมิน

? พบฉลามหัวค้อนติดเครื่องมือประมงทั้งโดยบังเอิญและตั้งใจ ส่วนใหญ่ลูกฉลามหัวค้อนอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งมักติดเครื่องมือประมงชายฝั่ง ส่วนตัวโตเต็มวัยส่วนใหญ่ถูกจับได้โดยเครื่องมืออวนลาก โดยเฉพาะอวนลากแผ่น ตะเฆ่ ประมงอวนลอย ประมงเบ็ดราว บริเวณทะเลลึกไกลฝั่ง บางครั้งพบว่าถูกตกเพื่อการกีฬา ? นายโสภณ กล่าว

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
ฉลามหัวค้อนยาวไม่พบในไทยนานแล้ว ?หัวค้อนสีน้ำเงิน? 15 ปี ผสมพันธุ์ครั้ง

ชีวิตฉลาม?หัวค้อน? เมื่อขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครอง

ใช้มาตรการทางกฎหมายยกฐานะให้เป็นสัตว์คุ้มครอง จะช่วยให้การอนุรักษ์มีความเข้มข้นมากขึ้น นายโสภณ กล่าวว่า จะสามารถรักษาจำนวนประชากรได้ทันท่วงที โดยเฉพาะชนิดที่เป็นเป้าหมายเจาะจงจับเพื่อประโยชน์ทางการค้า ครอบครอง หรือนำมาจัดแสดง เนื่องจากปลาฉลามหัวค้อนและปลากระเบนปีศาจมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา เกิดเป็นช่องว่าง ทำให้พ้นจากการถูกกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ เมื่ออยู่นอกพื้นที่การคุ้มครองของอุทยานฯ

" เมื่อมีกฎหมายคุ้มครองฉลาม กระเบน ตามรายชนิดจะช่วยให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือในการปฏิบัติงานได้สะดวกขึ้น แก้ไขปัญหาการสูญพันธุ์ของปลาฉลามหัวค้อนและปลากระเบนปีศาจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารทางทะเล เมื่อมีกฎหมายดูแลปลาฉลามและกระเบนจะทำให้เกิดกฏระเบียบต่างๆ ส่งเสริมท่องเที่ยวยั่งยืนมากขึ้น " อธิบดี ทช. กล่าว


ไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่ต้องคุ้มครองทะเล ปชช.-ประมง ต้องช่วยชีวิตฉลาม

แนวทางการอนุรักษ์ปลาฉลามหัวค้อนและปลากระเบนปีศาจหางเคียว ต้องทำควบคู่กันในหลากหลายมิติ นายโสภณกล่าวประเด็นนี้ว่า นอกจากการผลักดันกฎหมายให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว การประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่เป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ รวมถึงการรณรงค์ให้ชาวประมงช่วยชีวิตหรือปล่อยสัตว์เหล่านี้ที่ยังมีชีวิตจากเครื่องมือประมง รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนร่วมใจไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่บริโภคหูฉลาม และสัตว์ทะเลต่างๆ ที่เป็นสัตว์คุ้มครอง และสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในการเที่ยวชมสัตว์เหล่านี้ ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดการสร้างรายได้และอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยรักษาแหล่งอาศัยแ แก้ไขปัญหาการสูญพันธุ์ของฉลามจากน่านน้ำไทยได้

ในส่วนของกรม อธิบดี ทช. บอกว่า มีแผนการสำรวจ ติดตามและรวบรวมข้อมูลจำนวนประชากร การพบเห็น ถิ่นอาศัย เส้นทางหากิน อพยพย้ายถิ่น กับหน่วยงาน สมาคม หรือ ชมรมที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งข้อมูลการแจ้งพบเห็นสัตว์ทะเลหายากจากสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลการแพร่กระจายและแหล่งอาศัยในการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่เป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ รวมทั้งจัดทำสื่อให้ความรู้คุณค่าความสำคัญของฉลามและปลากระเบนในระบบนิเวศ จะทำให้การคุ้มครองเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับการสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์กับภาคส่วนต่างๆ นายโสภณ เน้นย้ำในท้ายว่า ทช.ดำเนินการอบรมสร้างเครือข่ายการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ มุ่งเน้นที่กลุ่มชาวประมง ชุมชนชายฝั่ง หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ ตลอดจนประชาชน เป้าหมายให้เข้าใจวิธีการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลเหล่านี้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลที่ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลมากกว่าสองหมื่นคนในปัจจุบัน ทำหน้าที่ประสานงาน แจ้งเบาะแสการทำผิดกฎหมายในพื้นที่อาศัยของสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ไปจนถึงรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพราะหน่วยงานรัฐมีเจ้าหน้าที่จำนวนจำกัด นี่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมคุ้มครองปลาฉลามหัวค้อนและปลากระเบนปีศาจหางเคียวได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ถึงเวลาแก้ปัญหาคุกคามสัตว์ทะเลไทยอย่างจริงจัง เพื่อสถานภาพของประชากรสัตว์น้ำ ด้วยมาตรการทางกฎหมายควบคู่พลังประชาชน ไม่ว่าจะสัตว์ทะเลชนิดใดล้วนมีความสำคัญเกื้อหนุนให้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอุดมสมบูรณ์


https://www.thaipost.net/main/detail/114875


สายน้ำ 30-08-2021 03:59

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


เด็ก9ขวบชาวอิสราเอลเจอพิษแมงกะพรุนกล่องหาดริ้นดับอนาถ

สุราษฎร์ธานี-ครอบครัวนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลลงเล่นน้ำชายหาดริ้นเกาะพะงันโชคร้ายลูกวัย 9 ขวบถูกพิษแมงกะพรุนกล่องเสียชีวิต

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายพูลศักดิ์ โสภณปทุมรักษ์ นายอำเภอเกาะพะงันเกิดเหตุเด็กชาวต่างชาติ อายุ 9 ปี สัญชาติอิสราเอล ถูกพิษแมงกะพรุนกล่องได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะเด็กเล่นน้ำอยู่บริเวณชายหาดริ้นหน้าซีวิวซันไรซ์ หมู่ 6 ต.บ้านใต้ อ.เกาะพะงัน และเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาลพะงันอินเตอร์เนชั่นแนล จึงให้รีบตรวจสอบสาเหตุพร้อมสั่งการให้ฝ่ายปกครอง ร่วมกับผู้นำชุมชนออกประชาสัมพันธ์เตือนนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่ฝนตก หากลงไปเล่นให้เล่นในบริเวณพื้นที่เจ้าหน้าที่วางตาข่ายเอาไว้ เนื่องจากช่วงเดือนสิงหาคม ? เดือนพฤศจิกายนทุกปี เป็นฤดูที่พบแมงกะพรุนจำนวนมาก

นายพูลศักดิ์ โสภณปทุมรักษ์ นายอำเภอเกาะพะงัน กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบเด็กหญิงผู้เสียชีวิตและครอบครัวประมาณ 4 คนได้เล่นน้ำกันอยู่ พ่อของเด็กหญิงได้ยินเสียงร้องของลูกสาวที่วิ่งขึ้นมาบนชายหาดขอความช่วยเหลือ มีอาการเจ็บแสบบริเวณแขนขวาและขาพบมีรอยไหม้ มีอาการเวียนศีรษะ พ่อจึงนำน้ำส้มสายชูราดลงไปที่บริเวณมือที่มีรอยไหม้ และติดต่อโรงพยาบาลเกาะพะงันอินเตอร์เนชั่นแนล มารับตัวก่อนจะเสียชีวิต

"ก่อนเกิดเหตุมีฝนตกบริเวณหาดริ้น คณะกรรมการหมู่บ้านหาดริ้น และชมรมผู้ประกอบการหาดริ้นได้นำป้ายเตือน 3 ภาษา มีข้อความเตือนให้ระมัดระวังการลงเล่นน้ำในช่วงนี้ให้ลงเล่นได้ในจุดที่จัดเตรียมวางตาข่ายสำหรับป้องกันแมงกะพรุน และจุดวางน้ำส้มสายชูไว้หากถูกพิษแมงกะพรุน แต่พบว่าจุดที่เด็กลงไปเล่นน้ำอยู่นอกตาข่ายที่กั้นเอาไว้ " นายพูลศักดิ์ กล่าว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงความห่วงใยกับประชาชนและนักท่องเที่ยว อีกทั้งได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันคิดและวางแผนระยะยาวให้เป็นระบบและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งเสริมกำลังลาดตระเวนรอบเกาะพะงัน ประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนอุปกรณ์ปฐมพยาบาลในพื้นที่สำคัญทันที

นายวราวุธ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากหน่วยงานในพื้นที่กรณีเด็กวัย 9 ปี ชาวอิสราเอลลงเล่นน้ำบริเวณหาดริ้น เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นการออกเล่นน้ำนอกแนวตาข่ายกั้นแมงกะพรุน สัมผัสและได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องจนเสียชีวิต แม้จะพยายามปฐมพยาบาลและเร่งนำส่งโรงพยาบาลแต่ก็ไม่อาจยื้อชีวิตไว้ได้ ตนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเด็กรายดังกล่าว ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้พยายามประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวัง และประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลในการจัดตั้งจุดปฐมพยาบาลในพื้นที่สำคัญ ครั้งนี้อาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้ใหญ่


https://www.posttoday.com/social/local/661804


สายน้ำ 30-08-2021 04:02

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


อุทยานเขาใหญ่ป้องกันนักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ป่า

นครราชสีมา 27 ส.ค. ? หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สั่งเจ้าหน้าที่คุมเข้ม ไม่ให้นักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ป่าในเขตอุทยาน ซ้ำรอยผู้ให้อาหารกวางป่า เร่งทำความเข้าใจ เป็นการทำร้ายสัตว์ป่าทางอ้อม ยืนยัน จับจริง ปรับจริง

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เปิดเผยว่า ให้เจ้าหน้าที่ปิดกั้นทางเข้า-ออกพื้นที่ที่มีกวางออกมา รวมทั้งไม่ให้รถเข้าไปจอดบริเวณสนามหญ้าซึ่งมีกวางอาศัยอยู่โดยทั่วไป ติดตั้งลำโพงเครื่องขยายเสียงเพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอันตรายที่จะเกิดต่อสัตว์ป่า หากนักท่องเที่ยวให้อาหาร จึงเป็นการทำร้ายทางอ้อม โดยประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทุก 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนกว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางกลับทั้งหมด

นอกจากนี้ได้จัดทำป้ายสามเหลี่ยมประชาสัมพันธ์กฎ ระเบียบ ข้อห้ามต่างๆ สำหรับวางชั่วคราวบริเวณด้านหน้ารถของนักท่องเที่ยว ในขณะที่นักท่องเที่ยวซื้อตั๋วค่าบริการฯบริเวณด่านปากช่อง และด่านเนินหอม ปราจีนบุรี โดยเน้นย้ำเรื่อง ห้ามให้อาหารสัตว์ป่า ห้ามทิ้งขยะ ห้ามขับรถเร็ว ห้ามส่งเสียงดัง และห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เพื่อออกตรวจลาดตระเวน ดูแลความเรียบร้อย เฝ้าระวังไม่ให้นักท่องเที่ยวกระทำผิด

สำหรับกรณีนักท่องเที่ยวที่ให้อาหารกวางในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ผู้กระทำผิดได้ติดต่อขอชำระค่าปรับกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่ได้เปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท ซึ่งผู้กระทำผิดได้ยอมรับว่ากระทำผิดจริง โดยระบุว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนที่นักท่องเที่ยวให้อาหารลิงบริเวณลานกางเต็นท์ลำตะคองเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมนั้น ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้แจ้งความกล่าวโทษไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครนายกเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้ว

ทั้งนี้ การให้อาหารสัตว์ป่าเป็นความผิดตามกฎหมาย มาตรา 20 แห่งพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2563 ข้อ 6 (2) ห้ามให้อาหารสัตว์ป่าทุกชนิด ผู้ใดฝ่าฝืนมีระวางโทษ ตามมาตรา 47 ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกวางป่าว่า "กวาง" เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีกีบเท้า กินพืชเป็นอาหาร ตามธรรมชาติจะหากินตามทุ่งหญ้าในป่าและรับแร่ธาตุจากการกินโป่ง แต่หากมนุษย์นำอาหารไปให้เช่น ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็มเหมือนโป่งดิน กวางจึงติดใจชอบเข้ามาขออาหารจนสัญชาตญานในการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ การทิ้งขยะและเศษอาหารไม่เป็นที่ยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า เศษอาหารเป็นเเหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวันและเชื้อโรค เชื้อโรคจากเมืองเข้าสู่ป่าทางอาหาร จึงเป็นการแพร่โรคสู่สัตว์ด้วย ที่ผ่านมา เคยมีการผ่าพิสูจน์ซากกวางที่ตายโดยไม่มีบาดแผล พบว่า บางตัวมีถุงพลาสติกอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นทั้งเศษอาหารและขยะที่นักท่องเที่ยวไม่ทิ้งให้ถูกที่ จึงเป็นการทำร้ายสัตว์ป่า.


https://tna.mcot.net/latest-news-767637



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 03:56

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger