SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5656)

สายน้ำ 04-09-2021 03:09

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 4 - 6 ก.ย. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.ย. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 7 - 9 ก.ย. 64 ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 04-09-2021 03:30

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ต้องเร่งจัดการ! วิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะคือโอกาสมูลค่ากว่า 12.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

รายงานฉบับใหม่จาก Deloitte Economics Institute ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องตื่นตัวในการรับมือกับสภาพอากาศที่วิกฤตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียศักยภาพทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 28 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 50 ปีข้างหน้า

รายงาน Southeast Asia?s
turning point: How climate action can drive our economic future ยังเผยวิธีที่จะทำให้ภูมิภาคแห่งนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 12.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน โดยการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และตระหนักถึงศักยภาพในการ "ลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์" ให้กับโลกใบนี้

"ประเด็นนี้ถือเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับประเทศต่างๆ และภาครัฐ ต้องหาวิธีในการรับมือตลอดช่วงระยะสิบปีต่อจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายเกินเยียวยาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าธุรกิจต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวกลับไม่ได้เดินไปบนเส้นทางแห่งความยั่งยืนนี้อย่างสอดคล้อง เนื่องจากมีสภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจที่ต่างกันออกไป เพราะฉะนั้น ในการที่จะเริ่มการเปลี่ยนแปลงได้นับตั้งแต่ตอนนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องคว้าโอกาสเล็กน้อยที่มีนี้ เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการดำเนินการและจัดการปัญหาด้านสภาพอากาศ โดยหยุดให้ความสำคัญแค่ในเรื่องของต้นทุน แล้วหันมาพิจารณาประเด็นของการเติบโตและความสำเร็จทางเศรษฐกิจแทน" ฟิลลิปส์ เหยิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำดีลอยท์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

หากทุกประเทศยังคงนิ่งเฉยในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้แล้ว อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียสเป็นอย่างน้อยภายในปลายศตวรรษนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้คนใช้ชีวิตและทำงานหาเลี้ยงชีพได้ลำบากขึ้น เนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรลดลง โครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหาย รวมถึงความท้าทายอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกนับไม่ถ้วน

เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในภูมิภาคนี้ จะเทียบเท่ากับการที่เราได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในทุก ๆ 9 เดือน ต่อจากนี้ไปจนถึงปี 2613

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยของดีลอยท์ยังแสดงให้เห็นว่า หากรัฐบาล ธุรกิจ และชุมชนต่าง ๆ เดินหน้ารับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดภายในทศวรรษหน้าแล้ว เราจะสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ได้ที่ประมาณ 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2593 ซึ่งถือเป็นกรณีหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นของโลก ในขณะเดียวกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังสามารถบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้ด้วยการคิดค้นผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ ๆ รวมถึงการเตรียมโซลูชันทางการเงินไว้ให้แก่โลก ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในภายภาคหน้า

"เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถยืนหยัดเพื่อให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 12.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในระยะเวลา 50 ปีได้ หากพิจารณาถึงแค่ปี 2613 เพียงปีเดียวแล้ว เรื่องนี้จะหมายความว่า เราจะได้ประโยชน์เท่ากับ 80% ของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน" มาร์คัส เงิน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของดีลอยท์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว "โลกจำเป็นต้องเปลี่ยนสู่เส้นทางใหม่ที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรร่วมแรงร่วมใจเพื่อทำให้สถานการณ์โดยรวมในภูมิภาคของเราดีขึ้น เพื่อที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต"

"มันไม่ใช่เรื่องของปาฏิหาริย์ โลกของเรามีโซลูชันที่จะมาช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนี้บ้างอยู่แล้ว องค์กรชั้นนำระดับโลกได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และให้บริการทางเทคโนโลยีที่ช่วยจัดการกับความเสี่ยงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้กับภูมิภาคนี้และทั่วโลก"

อีวอน จาง หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของดีลอยท์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสริม "เราจำเป็นต้องร่วมมือกันในการกำหนดเส้นทางที่เป็นไปได้ เพื่อโลกแห่งอนาคตที่มีการปล่อยมลภาวะต่ำ โดยใช้ประโยชน์จากความช่างคิดของมนุษย์ในห่วงโซ่อุปทาน การผลิตที่มีความยืดหยุ่น และการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อสอดรับต่อความต้องการของโลก"

รายงานของดีลอยท์ได้แบ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็นสี่ระยะสำคัญ โดยเริ่มต้นด้วยการที่ประเทศและธุรกิจต่าง ๆ ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ในการที่จะรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเสียตั้งแต่ตอนนี้ และพัฒนาหรือขยายกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องให้มีความครอบคลุม การตัดสินใจดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจต่าง ๆ สามารถเริ่มลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปี 2573

ตั้งแต่ปี 2573 ถึงปี 2583 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลกจะต้องเดินเคียงคู่กันไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถือเป็นการทำงานร่วมกันในการลดการปล่อยคาร์บอนโดยแก้ปัญหาในแง่ของวิธีการผลิตและการใช้พลังงาน

ตั้งแต่ปี 2583 ถึงปี 2593 จะเป็นช่วงเวลาสิบปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิของโลกจะไม่พุ่งสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น ภายในปี 2593 กระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนที่รับนำมาใช้โดยอุตสาหกรรมมลพิษสูงน่าจะเกือบสมบูรณ์แล้ว ต้นทุนของวิธีการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเริ่มลดลง และเราจะเริ่มเห็นถึงผลกำไรทางเศรษฐกิจสุทธิในวงกว้าง

หลังปี 2593 เป็นต้นไป เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลและนำไปสู่ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกือบเป็นศูนย์แม้จะยังคงเดินหน้าทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป และภายในสิ้นศตวรรษนี้ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะถูกจำกัดไว้แค่ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเท่านั้น


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000087194

สายน้ำ 04-09-2021 03:34

ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก


ระทึก "งูทะเล" ว่ายเลื้อยเข้าหาอย่างไว ขณะพายเรือกลางสมุทร

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

โบรดี มอสส์ ยูทูบเบอร์ชาวออสเตรเลีย ผู้ชื่นชอบการพายเรือ ตกปลา และแคมปิ้งกลางทะเล ได้อีกประสบการณ์ใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ขณะเจอกับงูทะเล ความยาวประมาณ 2 เมตร มันขึ้นมาจากพื้นทะเล ว่ายเลื้อยติดตาม และตรงเข้ามาเรื่อย ๆ ขณะที่เขาอยู่บนเรือยืนพาย (paddleboard) ถึงขั้นพาดหัวกับกาบเรือครู่หนึ่ง ก่อนว่ายออกไปอย่างรวดเร็วเหมือนตอนขามา นับเป็นนาทีที่น่าตื่นเต้นและน่ากลัวในเวลาเดียวกัน

มอสส์บันทึกนาทีเหล่านี้ และโพสต์คลิปบนสื่อสังคมออนไลน์ กลายเป็นไวรัล โดยเฉพาะบน TikTok ยอดวิวกว่า 26 ล้าน พร้อมอธิบายว่า ปกติแล้ว งูทะเลจะหนีคนมากกว่าเข้าหา แต่ช่วงเวลานี้ของทุกปี มันจะกระตือรือล้น งุ่นง่านทางเพศ และดุร้ายมากกว่าปกติ ขณะหาคู่ผสมพันธุ์

ชาวเน็ตที่ดูคลิปคนหนึ่ง เขียนว่า ?ชาวออสเตรเลียไม่ใช่มนุษย์จริง ๆ? เป็นการแซวชาวออสเตรเลีย ที่ช่างคุ้นชินกับบรรดาสัตว์อันตรายนานาชนิดเหลือเกิน อีกคนระบุว่า "เป็นเหตุผลลำดับที่ 13 ที่จะไม่ไปออสเตรเลีย"

งูทะเล หรืองูปะการัง เป็นอสรพิษที่อาศัยในน้ำอุ่น ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกตะวันตก อยู่ใต้น้ำเกือบตลอดเวลา ขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อหายใจ และส่วนใหญ่เป็นงูที่มีพิษร้ายแรง




https://www.komchadluek.net/news/481882


สายน้ำ 04-09-2021 03:38

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


มลพิษทางอากาศร้ายกว่าสงคราม ทำอายุเฉลี่ยชาวอินเดียลดฮวบ 9 ปี

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
Photo by XAVIER GALIANA / AFP

5 ประเทศที่อายุคาดเฉลี่ยของประชากรลดลงมากที่สุดในโลกล้วนมาจากเอเชีย
CNN รายงานว่ามลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนบนโลกไปหลายพันล้านคนแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นภัยคุกคามที่ลดทอนอายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์มากกว่าการสูบบุหรี่ เอชไอวี/เอดส์ หรือการเกิดสงครามเสียอีก

ตามดัชนีคุณภาพชีวิตอากาศ (AQLI) ซึ่งตีพิมพ์ในรายงานประจำปีของสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (EPIC) ในสรัฐเผยว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงสุดของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งมีผู้คนประมาณ 480 ล้านคนสูดมลพิษในระดับที่มากกว่าที่อื่นๆ ในโลกถึง 10 เท่า

หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจทำให้ชาวอินเดียกว่าร้อยละ 40 ของประเทศมีอายุขัยเฉลี่ยลดลงมากกว่า 9 ปี รวมถึงผู้คนในกรุงนิวเดลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน


เอเชียกำลังแย่

รายงานระบุว่า 5 ประเทศที่อายุคาดเฉลี่ยของประชากรลดลงมากที่สุดในโลกล้วนเป็นประเทศในแถบเอเชียทั้งหมด ซึ่งได้แก่ อินเดีย ลดลงกว่า 9 ปี รองลงมาคือบังคลาเทศ ลดลง 5.4 ปี ตามมาด้วยปากีสถาน ลดลง 3.9 ปี และสิงคโปร์ ลดลง 3.8 ปี

แม้ว่าในหลายพื้นที่จะมีอากาศที่สะอาดขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งลดการเดินทางและการทำงานของโรงงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันบางพื้นที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศในระดับสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเกิดไฟป่า ซึ่งรุนแรงขึ้นด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง

บ่งชี้ว่าปัญหามลพิษทางอากาศเกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ซึ่งทั้งสองมีสาเหตุหลักมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ยานพาหนะ และแหล่งอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน

รายงานดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกดำเนินนโยบายอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาวิกฤตดังกล่าว


https://www.posttoday.com/world/662276

สายน้ำ 04-09-2021 03:41

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


หมึกยักษ์ตัวเมียขว้างปาสิ่งของ ป้องกันตนเองจากตัวผู้ที่จ้องเข้ามาลวนลาม

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ดูเหมือนว่าหมึกยักษ์จะเป็นสัตว์เจ้าอารมณ์และตอบโต้อย่างดุเดือดหากถูกท้าทาย นอกจากหมึกยักษ์อันธพาลจะชอบออกหมัดไล่ต่อยปลาที่เกลียดขี้หน้าแล้ว งานวิจัยล่าสุดจากออสเตรเลียยังพบว่า หมึกยักษ์ตัวเมียมักจะขว้างปาสิ่งของใส่ตัวผู้ที่จ้องคุกคามทางเพศ เพื่อขับไล่ไม่ให้เข้ามาผสมพันธุ์กับพวกเธอได้

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ นำโดยดร. ปีเตอร์ ก็อดฟรีย์-สมิต เผยผลการติดตามศึกษาพฤติกรรมของหมึกยักษ์ในบริเวณอ่าวเจอร์วิส (Jervis Bay) ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งมีประชากรหมึกยักษ์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นที่พื้นทรายก้นทะเล จนได้ชื่อว่าเป็น Octopolis หรือ "มหานครหมึกยักษ์" เลยทีเดียว

มีการตั้งกล้องบันทึกภาพใต้น้ำ และวิเคราะห์พฤติกรรมของหมึกยักษ์ในบริเวณนี้มาตั้งแต่ปี 2015 ทำให้พบว่าการขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ ของพวกมัน ไม่ได้ทำไปเพื่อขุดรูทำรังหรือทำความสะอาดที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่มีการเล็งเป้าหมายเพื่อขว้างใส่สัตว์ชนิดอื่นเหมือนเป็นการโจมตีทำร้ายด้วย

ส่วนการขว้างปาสิ่งของใส่หมึกยักษ์ด้วยกันซึ่งเกิดขึ้นน้อยมากนั้น ทีมผู้วิจัยพบว่ามักเป็นกรณีที่หมึกยักษ์ตัวเมียขว้างสิ่งของจำพวกเปลือกหอยและสาหร่ายใส่ตัวผู้ที่เธอไม่ชอบ เพื่อขับไล่ไม่ให้มีโอกาสเข้ามาผสมพันธุ์ด้วย โดยอาวุธที่มีความแม่นยำและหมึกยักษ์ตัวเมียชอบใช้ขว้างมากที่สุดได้แก่ทรายแป้ง (slit)

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ดร. ก็อดฟรีย์-สมิต อธิบายว่า การขว้างวัตถุของหมึกยักษ์นั้นแตกต่างจากการใช้แขนของมนุษย์ โดยหมึกยักษ์จะใช้หนวดจับยึดสิ่งของที่ต้องการขว้างเอาไว้ที่ใต้ลำตัว แล้วจึงปรับองศาของท่อพ่นน้ำ (siphon) ให้ตรงกับทิศทางที่ต้องการ แล้วพ่นน้ำออกไปอย่างแรงจนสามารถขับดันวัตถุให้กระเด็นออกไปไกลได้หลายช่วงตัว

อย่างไรก็ตาม มีครั้งหนึ่งที่ทีมผู้วิจัยสามารถบันทึกภาพหมึกยักษ์ขว้างเปลือกหอย โดยใช้การเคลื่อนไหวของหนวดข้างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับที่คนเราใช้แขนขว้างจานร่อนฟริสบีไม่มีผิด

ดร. ก็อดฟรีย์-สมิตและคณะ ระบุในบทความที่เผยแพร่ทางคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ bioRxiv.org ว่า หลักฐานล่าสุดบวกกับข้อมูลที่รวบรวมมาหลายปี พิสูจน์ว่าหมึกยักษ์มีพฤติกรรมขว้างปาสิ่งของแบบเล็งเป้าหมายเพื่อโจมตีสัตว์อื่นและเพื่อป้องกันตัวได้เหมือนกัน โดยท่าทางที่ใช้ในการขว้างปาแบบเล็งเป้าหมาย จะแตกต่างจากการขว้างสิ่งของเพื่อขุดรูและทำความสะอาดที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน

"ภาพวิดีโอที่เราบันทึกได้ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2016 แสดงให้เห็นว่าหมึกยักษ์ตัวเมียขว้างทรายได้แม่นยำมาก โดยเหวี่ยงไปถูกตัวผู้อย่างจังถึง 5 ใน 10 ครั้ง บางครั้งตัวผู้พยายามหมอบหรือเบี่ยงตัวหลบ แต่ก็ทำได้สำเร็จเพียงไม่กี่ครั้ง" ดร. ก็อดฟรีย์-สมิต กล่าว

"เรายังไม่พบว่าหมึกยักษ์ที่ถูกขว้างของใส่จะตอบโต้เลยสักครั้ง แต่เคยมีกรณีที่พบหมึกยักษ์ขว้างของใส่พื้นที่ว่างเปล่าเหมือนเป็นการระบายอารมณ์ขุ่นเคือง เช่นหมึกยักษ์ตัวผู้ตัวหนึ่งขว้างเปลือกหอยไปรอบ ๆ และเปลี่ยนสีผิวไปมา หลังเพิ่งถูกตัวเมียปฏิเสธไม่ให้ผสมพันธุ์ด้วย"


https://www.bbc.com/thai/international-58436570



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 03:13

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger