SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5290)

สายน้ำ 25-09-2020 03:14

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งนี้เนื่องจาก ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 25 - 26 กันยายน 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 30 กันยายน 2563 ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้จะเคลื่อนตัวเข้ามาตามแนวร่องมรสุม ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ระวังอันตรายฝนตกหนักถึงหนักมากไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 29 ก.ย. 63 ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง



https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

สายน้ำ 25-09-2020 03:16

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ออสเตรเลียจำใจ ต้องทำการุณยฆาต วาฬ 4 ตัว เหนื่อยจนทรมาน หลังเกยตื้น

ออสเตรเลียต้องทำการุณยฆาต วาฬนำร่อง 4 ตัว หลังเกยตื้นที่เกาะแทสมาเนีย เพราะเหนื่อยจนทรมานเกินกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้แล้ว หลังจากเพื่อนวาฬด้วยกันตายไปแล้วเกือบ 400

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

เมื่อ 24 ก.ย.63 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียกล่าวด้วยความเสียใจถึงเหตุการณ์มีฝูงวาฬนำร่องจำนวนหลายร้อยตัวมาเกยตื้นบริเวณชายหาดบนเกาะแทสมาเนีย ทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลีย และมีวาฬตายไปแล้วประมาณ 380 ตัวว่า ขณะนี้มีวาฬนำร่อง 4 ตัวจะต้องถูกทำการุณยฆาต หรือทำให้ตายอย่างไม่เจ็บปวด เนื่องจากวาฬเหล่านี้มีอาการเหนื่อยล้าเกินไปที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แล้ว

คริส คาร์ลยอน เจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในทะเลอธิบายถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องตัดใจฆ่าวาฬให้ตายอย่างไม่เจ็บปวดว่า เป็นเรื่องที่มีมนุษยธรรมที่ดีที่สุดที่ต้องทำ เนื่องจากการพยายามช่วยชีวิตวาฬนำร่องทั้ง 4 ตัวกลับสู่ท้องทะเลนั้น ไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังไว้

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่พบวาฬนำร่องหลายร้อยตัวเกยตื้นที่เกาะแทสมาเนีย ทางตอนใต้ออสเตรเลียเมื่อวันจันทร์ที่ 20 ก.ย.นั้น ทีมกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียสามารถช่วยวาฬนำร่องที่หลงมาเกยตื้นกลับสู่ท้องทะเลได้แล้ว 70 ตัว และยังมีความหวังกับวาฬอีก 20 ตัวที่อาจกลับสู่ท้องทะเลได้ แต่มีวาฬนำร่องตายไปแล้วนับ 400 ตัว ซึ่งการเกยตื้นของวาฬนำร่องครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในออสเตรเลียเลยทีเดียว หลังจากเคยมีฝูงวาฬ 320 ตัวมาเกยตื้นในปี 2539 .


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1936463


สายน้ำ 25-09-2020 03:18

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ประมงเมืองคอนยึด "ลอบไอ้โง่" เครื่องมือทำลายล้างสัตว์น้ำ 225 ลูกกลางร่องน้ำ

นครศรีธรรมราช - ประมง จ.นครศรีธรรมราช นำกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษตรวจยึด "ลอบไอ้โง่" เครื่องมือทำประมงจอมทำลายล้าง ดักสัตว์น้ำทุกชนิดได้ทุกขนาด ในร่องน้ำปากนครได้ถึง 225 ลูก ยาวกว่า 2 กิโลเมตร มูลค่านับแสนบาท

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

วันนี้ (24 ก.ย.) นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมประมง ได้เข้าทำการตรวจหาลอบไอ้โง่ หรือลอบพับ บริเวณร่องน้ำปากนคร ต.ปากนคร รอยต่อร่องน้ำปากพญา ต.ท่าซัก อ.เมืองนครศรีธรรมราช หลังจากสืบทราบว่า มีชาวประมงใช้เครื่องมือผิดกฎหมายชนิดนี้ลอบทำประมงในพื้นที่ อาศัยช่วงเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกำลัง โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดตามจนพบว่า มีการวางลอบไอ้โง่เป็นแนวยาวกว่า 2 กิโลเมตร จึงทำการตรวจยึด โดยการสาวขึ้นจากร่องน้ำ พบว่า มีมากถึง 225 ลูก มีมูลค่าการลงทุนของชาวประมงผิดกฎหมายด้วยเครื่องมือจำนวนนี้สูงถึงกว่า 1 แสนบาท

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ลอบไอ้โง่ หรือลอบพับ หรือลอบรถไฟ เป็นเครื่องมือประมงทำลายล้างอย่างรุนแรง ดักสัตว์น้ำได้ทุกชนิด และทุกขนาด โดยเป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถมีไว้ในครอบครองหรือนำมาทำประมงได้ โดยการยึดลอบจำนวนสูงถึง 225 ลูกนี้ ชาวประมงใช้เงินลงทุนซื้อกว่า 1 แสนบาท ขณะที่เข้าทำการตรวจยึดไม่พบว่ามีเจ้าของหรือผู้แสดงตัวอยู่ในบริเวณการตรวจยึด สำหรับพื้นที่บริเวณอ่าวปากนคร และอ่าวปากพญา จะมีกลุ่มประมงผิดกฎหมายคือกลุ่มลอบไอ้โง่ และกลุ่มคราดหอยเถื่อนประมาณ 30-40 ลำ โดยจะอาศัยช่วงเจ้าหน้าที่สับเปลี่ยนกำลังเข้าทำประมงผิดกฎหมายเนื่องจากมีผลตอบแทนสูง ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งกวาดล้างอย่างต่อเนื่อง

ส่วนลอบไอ้โง่ทั้ง 225 ลูก เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึดแล้วนำความเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อสืบสวนหาเจ้าของมาดำเนินคดีแล้ว


https://mgronline.com/south/detail/9630000098043


สายน้ำ 25-09-2020 03:20

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


งามขนาด! แสงสุดท้ายในอ่าวพังงาพร้อมชมฝูงปูมดแดงนับล้านตัวที่หาดตั้งเลน

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

ที่ชุมชนท่องเที่ยวบ้านโคกไคร ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา นายสมพร สาระการ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนฯ นำผู้สื่อข่าวลงเรือหัวโทง ซึ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้านของชุมชนในทะเลอันดามันลัดเลาะไปตามลำคลองมะรุ่ย มุ่งสู่หาดตั้งเลน และภูเขาสองพี่น้อง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเกาะหมากน้อย

ในช่วงที่น้ำลงสุดหาดตั้งเลนก็จะโผล่ขึ้นมาบนผืนทรายจะพบกับฝูงปูขนาดจิ๋วที่เรียกกันว่าปูมดแดง นับล้านตัว คลานหากินอยู่บนผืนทราย เมื่อเราเข้าไปใกล้พวกมันก็จะมุดตัวซ่อนในผืนทรายทันที จึงต้องอยู่นิ่งเพื่อดูพวกมันหากิน และในช่วงที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า บรรยากาศแสงและสีของท้องฟ้ากับผิวน้ำและหาดทราย ประกอบเป็นภาพที่สวยงามอย่างน่าอัศจรรย์จนไม่อยากรีบกลับเข้าฝั่ง

สำหรับปูมดแดงหรือปูทหาร จะอาศัยอยู่ในรูในพื้นทราย อาศัยช่วงเวลาน้ำลงแล้วจึงออกมาจากรูหากิน เมื่อน้ำขึ้นหรือเมื่อมีภัยก็จะหนีลงรู แล้วใช้ทรายปิดปากรู มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ที่หาดตั้งเลน บ้านโคกไคร เป็นจุดที่พบประชากรปูมดแดงมากที่สุดในประเทศไทย จึงกลายเป็นอีก 1 จุดเป้าหมายของการท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัดพังงา สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อคุณสมพร ได้ที่เบอร์ 087-886-0465


https://www.naewna.com/likesara/520780


สายน้ำ 25-09-2020 03:23

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


ออสเตรเลียจำใจจบชีวิตวาฬเกยตื้นไม่ให้ทรมาน

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

แมคควอรีฮาร์เบอร์ 24 ก.ย.- ทีมกู้ภัยชาวออสเตรเลียจำใจเริ่มกระบวนการจบชีวิตวาฬเกยตื้นจำนวนหนึ่งในวันนี้ เพื่อไม่ให้พวกมันทรมานจนตาย หลังจากฝูงวาฬเกยตื้นตายไปแล้ว 380 ตัว

เจ้าหน้าที่อุทยานและสัตว์ป่ารัฐแทสเมเนียเผยว่า ช่วยวาฬนำร่องได้แล้ว 88 ตัว นับจากพบพวกมันมาเกยตื้นชายฝั่งขรุขระ ทางฝั่งตะวันตกของรัฐ เมื่อ 4 วันก่อน ขณะนี้ยังมีวาฬมีชีวิตอยู่จำนวนหนึ่ง ทีมกู้ภัยจะพยายามช่วยต่อไปจนถึงวันพรุ่งนี้ โดยมุ่งเน้นตัวที่มีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด เป็นวาฬประมาณ 20-25 ตัวที่กึ่งเกยตื้นกึ่งจมน้ำ ทีมกู้ภัยจะใช้เรือติดสลิงพิเศษนำทางพวกมันกลับไปที่ทะเลเปิดอีกครั้ง

กลุ่มนักอนุรักษ์และอาสาสมัครประมาณ 60 คน ลุยน้ำเย็นจัดช่วยเหลือวาฬนำร่องเกยตื้นในปากน้ำแมคควอรีฮาร์เบอร์มาตลอดหลายวัน หลายตัวส่งเสียงร้องอย่างทุรนทุราย เพราะใกล้ตาย นักกู้ภัยคนหนึ่งเผยว่า เป็นภาพที่สะเทือนอารมณ์มาก วาฬตัวอื่นๆ ว่ายเข้ามาใกล้และส่งเสียงร้อง แสดงถึงความผูกพันระหว่างพวกมัน วาฬนำร่องเป็นสัตว์สังคม ตัวโตเต็มที่หนัก 1 ตัน ยาว 6 เมตร วาฬบางตัวที่ได้รับการช่วยเหลือให้ออกจากฝั่ง กลับมาเกยตื้นอีกเป็นครั้งที่สอง ทำให้ทีมกู้ภัยต้องเริ่มกระบวนการจบชีวิต โดยได้รับความช่วยเหลือจากสัตวแพทย์เพื่อไม่ให้ทรมานจนตาย วันนี้ได้เริ่มไปแล้ว 4 ตัว

จนถึงขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่สามารถไขปริศนาที่ทำให้วาฬพากันมาเกยตื้นแม้ศึกษาเรื่องนี้มาหลายทศวรรษ บางคนสันนิษฐานว่า วาฬนำร่องอาจหลงทางหลังจากเข้ามาหาอาหารใกล้ฝั่ง หรืออาจว่ายมาตามสมาชิกในฝูงที่พลัดหลง นักชีววิทยาทางทะเลคนหนึ่งระบุว่า วาฬเกยตื้นหมู่เกิดขึ้นบ่อยทางตอนใต้ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่คนไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก ตราบใดที่ยังไม่สามารถหาวิธีป้องกันได้.-


https://tna.mcot.net/world-546601


สายน้ำ 25-09-2020 03:28

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


เมื่อพลาสติกย้อนกลับมาในห่วงโซ่อาหารและซ่อนอยู่ในวัตถุดิบที่เรากิน

- นักวิจัยจาก University of Catania ในอิตาลีค้นพบเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กในผลไม้และผักบางชนิดเช่น แครอท ผักกาดหอม แอปเปิ้ลและลูกแพร์
ไมโครพลาสติกสามารถแทรกซึมเข้าไปในรากของผักกาดหอมและลำต้นข้าวสาลี นอกจากนี้รากของพืชยังดูดซับนาโนพลาสติก ดังนั้นผลไม้และผักจึงเป็นแหล่งสะสมไมโครพลาสติกจากน้ำและดินที่ปนเปื้อนอยู่แล้ว

- สถาบันผู้บริโภคของฮ่องกงรายงานว่าพบไมโครพลาสติกในเกลือที่นำมาทดสอบกว่า 20% จากปริมาณเกลือทั้งหมด โดยพบอนุภาคไมโครพลาสติกประมาณ 114 ? 17,200 มิลลิกรัม ในเกลือทดลอง 1 กิโลกรัม

- การหยุดกินอาหารที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะยิ่งเราเพิกเฉยไม่เริ่มแก้ปัญหามลพิษอย่างจริงจัง เราก็จะกินมันเข้าไปมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

- การลดการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่บริษัทต้นทางก็คือลดการผลิตพลาสติกที่ไม่จำเป็น ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตก็ลดใช้พลาสติกในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นยิ่งเราลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เร็วเท่าไหร่ เราก็ยิ่งลดความเสี่ยงของการกินไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้มากเท่านั้น

แน่นอนว่าอาหารคือปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของเราทุกคน และวัตถุดิบที่นำมาใช้ประกอบอาหารจะต้องสะอาดและมีคุณภาพ แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน วัตถุดิบที่เราใช้ทำอาหารนั้นมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ งานวิจัยล่าสุดที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของร่างกายจากมลพิษพลาสติกแสดงให้เห็นแล้วว่าวัตถุดิบหลายประเภทที่เรากินมีปริมาณไมโครพลาสติกปนเปื้อน จากขยะที่เราทิ้งในตอนนี้พวกมันกลายเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อาหารของพวกเราแล้ว

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
ผักผลไม้ และอาหารที่เรารับประทานในชีวิตประจำวัน ? Greenpeace / Zamyslov Slava

การหยุดกินอาหารที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะยิ่งเราเพิกเฉยไม่เริ่มแก้ปัญหามลพิษอย่างจริงจังเราก็จะกินมันเข้าไปมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว


1.ผักและผลไม้

นักวิจัยจาก University of Catania ในอิตาลีค้นพบเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กในผลไม้และผักบางชนิดเช่น แครอท ผักกาดหอม แอปเปิ้ลและลูกแพร์

แอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่พบปริมาณไมโครพลาสติกเยอะที่สุดในบรรดาผลไม้ที่นำมาทดสอบ โดยพบปริมาณไมโครพลาสติกในแอปเปิ้ล 1 กรัม เฉลี่ย 195,500 ชิ้น ในขณะที่ลูกแพร์มีปริมาณไมโครพลาสติกเฉลี่ย 189,500 ชิ้นต่อ 1 กรัม ส่วนบล็อคโคลี่และแครอท เป็นผักที่พบไมโครพลาสติกมากที่สุดโดยพบไมโครพลาสติกในปริมาณมากกว่า 100,000 ชิ้นต่อผัก 1 กรัม

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
สินค้าหลายๆชนิดรวมทั้งผลไม้อย่างแอปปิ้ลที่ขายในห้างสรรพสินค้ามักถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ? Patrick Cho / Greenpeace

ผลการศึกษาทั้ง 2 ชิ้นถูกเผยแพร่ก่อนที่จะมีการพบว่าไมโครพลาสติกสามารถแทรกซึมเข้าไปในรากของผักกาดหอมและลำต้นข้าวสาลี นอกจากนี้รากของพืชยังดูดซับนาโนพลาสติก ดังนั้นผลไม้และผักจึงเป็นแหล่งสะสมไมโครพลาสติกจากน้ำและดินที่ปนเปื้อนอยู่แล้วนั่นเอง

ซีออน ชาน ผู้ประสานงานรณรงค์ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ในฮ่องกง กล่าวว่า "เรากินปริมาณไมโครพลาสติกเกือบทั้งหมดที่สะสมอยู่ในแอปเปิ้ลได้เพียงกัดแค่หนึ่งคำ สิ่งที่เราทำได้เพื่อทำให้ปัญหาการสะสมของไมโครพลาสติกนี้ทุเลาลงคือ การลดการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่บริษัทต้นทางก็คือลดการผลิตพลาสติกที่ไม่จำเป็น ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตก็ใช้พลาสติกในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นยิ่งเราลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวได้เร็วเท่าไหร่ เราก็ยิ่งลดความเสี่ยงของการกินไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้มากเท่านั้น"


2.เกลือ

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2563 สถาบันผู้บริโภคของฮ่องกงรายงานว่าพบไมโครพลาสติกในเกลือที่นำมาทดสอบกว่า 20% จากปริมาณเกลือทั้งหมด โดยพบอนุภาคไมโครพลาสติกประมาณ 114 ? 17,200 มิลลิกรัม ในเกลือทดลอง 1 กิโลกรัม ยิ่งไปกว่านั้นตัวอย่างการทดลองนี้ยังแสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้มาจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งประเภทโพลีโพรพิลีน (Polypropylene:PP)

นอกจากนี้ จากงานวิจัยที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกทำร่วมกับมหาวิทยาลัย Incheon National University ในเกาหลีใต้พบว่า เกลือที่นำมาทดสอบทั้งหมด 39 แบรนด์ จาก 21 ประเทศมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนมากกว่า 90% เกลือเหล่านี้ยังคงถูกจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าออนไลน์ และเมื่ออ้างอิงจากผลวิจัยในระดับสากลแล้ว เป็นไปได้ว่ามนุษย์เราอาจบริโภคอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปประมาณ 20,000 ชิ้นต่อปี เมื่อบริโภคเกลือปริมาณเฉลี่ย 10 กรัมต่อวัน


3.ปลากระบอกเทา (Flathead Grey Mullet)

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
จากการทดลองของมหาวิทยาลัย The Education University of Hong Kong ใน พ.ศ.2560 พบไมโครพลาสติกในปลากระบอกเทาถึง 60% ? Greenpeace

จากการทดลองของมหาวิทยาลัย The Education University of Hong Kong ใน พ.ศ.2560 พบไมโครพลาสติกในปลากระบอกเทาถึง 60% โดยพบปริมาณเฉลี่ย 4.3 ชิ้น ต่อปลา 1 ตัว และยังพบไมโครพลาสติกในปลาทะเลและปลากระบอกเทาที่ซื้อจากตลาดปลาอื่น ๆ อีกด้วย


พลาสติกปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารได้อย่างไร?

ไมโครพลาสติกเป็นพลาสติกที่แตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็ก (มีขนาดความยาวน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร) ไมโครพลาสติกนี้เกิดจากพลาสติกที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์จากซูเปอร์มาร์เก็ต ตาข่ายโฟมห่อผลไม้ ถุงพลาสติกใส่ขนมปัง และอื่น ๆ มีรายงานว่า ในแต่ละปีมีพลาสติกมากกว่า 112 ตันในฮ่องกงถูกทิ้งเป็นขยะไหลลงทะเล พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยหลักของมลพิษพลาสติก

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
พบไมโครพลาสติกในปลากระบอกเทาถึง 60% โดยพบปริมาณเฉลี่ย 4.3 ชิ้น ต่อปลา 1 ตัว ? Greenpeace

ไมโครพลาสติกเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ที่หลุดรอดลงไปในมหาสมุทรได้จากการบำบัดน้ำเสีย พลาสติกเหล่าที่ไม่ได้ละลายหายไปไหน เพียงแต่แตกตัวเป็นชิ้นเล็กลง จนเป็นอาหารของแพลงก์ตอนและหอยต่าง ๆ ทำให้ไมโครพลาสติกเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร


มลพิษไมโครพลาสติกส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพเรา

ไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์น้ำ เช่น ทำให้ลำไส้ของปลาเกิดความผิดปกติ สารเคมีในไมโครพลาสติกจึงอาจเป็นพิษและคุกคามสุขภาพมนุษย์ ในไมโครพลาสติกมีกลุ่มสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือ persistent organic pollutants (POPs) เช่น ยาฆ่าแมลงและพลาสติกไซเซอร์ หรือแม้กระทั่งส่วนประกอบในพลาสติกประเภท PE และ PP ดังนั้น สุขภาพของเราตกอยู่ในความเสี่ยงทุกครั้งที่กินอาหารที่มีพลาสติกหรือไม่โครพลาสติกปนเปื้อน


เราจะแก้วิกฤตนี้ได้อย่างไร?

มลพิษพลาสติกถือเป็นวิกฤตของความสะดวกสบาย ซึ่งความสะดวกสบายนี้เองทำให้สุดท้ายเราต้องเผชิญกับกองขยะพลาสติกในปริมาณมหาศาลดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกกลุ่มในวงจรพลาสติกต้องหันมาลดพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือการผลิต

ผู้ผลิตและภาคธุรกิจต้องลดการผลิตที่ไม่จำเป็นลง แล้วหันมาใช้ระบบมัดจำ ระบบเติม และมุ่งผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำแทน รวมถึงระบบเก็บรวบรวมขยะเพื่อนำเข้าสู่ระบบหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ส่วนภาครัฐเองก็ควรออกนโยบายขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงการลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการจัดการไม่ให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม ในส่วนของผู้บริโภค นอกเหนือจากการลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยังจำเป็นต้องร่วมกันส่งเสียงบอกภาครัฐและภาคเอกชนให้มีนโยบายลดใช้พลาสติกอย่างจริงจังและทันที และพร้อมสนับสนุนสินค้าที่ลดใช้พลาสติกเหล่านั้น

เราต้องการคุณเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงในชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญคือเราไม่อาจกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกด้วยเพียงแค่การรีไซเคิล ถึงเวลาแล้วที่บริษัททั้งหลายต้องบอกลาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวไปพร้อมกัน ลงชื่อบอกบริษัทผู้ผลิตให้ยุติการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งสนับสนุนให้ซูเปอร์มาร์เก็ตลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง พัฒนา "ระบบเติม" ให้ลูกค้านำภาชนะมาเติมผลิตภัณฑ์ได้เอง


https://www.greenpeace.org/thailand/...-microplastic/



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:33

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger