SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5833)

สายน้ำ 07-02-2022 03:02

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ลมตะวันตกในระดับบนพัดพาความหนาวเย็นจากประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นลง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่หนาวเย็นลงนี้ไว้ด้วย ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มอ่อนกำลังลง ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะนี้

ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วน กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 7 ? 12 ก.พ. 65 ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนจากประเทศเมียนมาพัดปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียสในภาคเหนือตอนบน กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 7 ? 12 ก.พ. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงระวังอันตรายจากการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 07-02-2022 03:11

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


น้ำมันดิบรั่วทำให้ปะการังเป็นหมันเฉียบพลัน ได้อย่างไร

"ปะการังเป็นหมันเฉียบพลัน" กำลังเป็นผลกระทบที่ทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กังวล และจับตาอย่างใกล้ชิด แม้สภาพปัจจุบันยังปกติ เพราะบทเรียนจากน้ำมันดิบรั่วในอดีต ทำให้ปะการังเป็นหมันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และใช้เวลาฟื้นฟูถึง 3-5 ปี

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

10 วันที่แล้วมันดิบรั่วที่ทะเลระยอง ทำให้น้ำทะเลเป็นคราบสีดำจนน่าตกใจ แต่ในวันนี้น้ำทะเลกลับมาใส ทรายกลับมาขาวเหมือนเดิมแล้ว หลังจากหลายหน่วยงานระดมกำลังกันขจัดคราบน้ำมันออกจากชายหาดกันอย่างเต็มที่ แต่ปัญหานี้ยังต้องเฝ้าระวังว่าจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาอีกหรือไม่

ล่าสุดสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่เอกสารข่าว และมีความเห็นเพิ่มเติมจากนักวิจัยของสถาบันฯ ระบุถึงความกังวลว่า เหตุน้ำมันดิบรั่วในทะเลที่มีบทเรียนจากอดีตอาจทำให้ปะการังเป็นหมันเฉียบพลัน และต้องรอฟื้นฟูอย่างน้อย 3-5 ปี ดังนั้นผลกระทบอาจจะไม่เห็นทันที 1-2 สัปดาห์ แต่อาจจะใช้เวลานานอย่างน้อย 1 ปี จึงจะเห็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ

ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ว่า สภาพปะการังเป็นหมัน คือ ปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ หรือถึงแม้ปะการังจะสามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ปะการังเป็นหมันเฉียบพลัน ซึ่งเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นในอดีต ช่วงน้ำมันดิบรั่วเมื่อปี 2556

ผลกระทบจากปะการังเป็นหมันเฉียบพลันคือ ปริมาณปะการังและความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังจะลดลง เพราะความหลากหลายทางพันธุกรรมต้องสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ อาจส่งผลให้ปะการังลดลงและสูญพันธุ์ไปในที่สุด ดังนั้นแม้ดูจากภายนอกว่าสิ่งแวดล้อมจะกลับมาเหมือนเดิม แต่ก็จะใช้เวลา 3-5 ปี ปะการังจึงจะสามารถกลับมาปล่อยไข่และสเปิร์มได้เหมือนเดิม แต่ปะการังส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจะไม่เหมือนเดิม 100%

ส่วนการเก็บตัวอย่างของทีมวิจัยครั้งนี้ ดำเนินการในพื้นที่บริเวณก้นอ่าว เขาแหลมหญ้า และอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด โดยเก็บตัวอย่างดินตะกอน น้ำทะเล และสิ่งมีชีวิตทางทะเล เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 หรือหลังจากน้ำมันดิบรั่ว 4 วัน และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 โดยพบว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ปะการังเริ่มมีไข่ แต่ยังไม่ปล่อยออกมา ดูสภาพภายนอกยังปกติ จึงต้องรอเวลาว่าปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ไข่ของปะการังจะได้รับผลกระทบจากสารเคมีของน้ำมันดิบ และสารขจัดคราบน้ำมัน มากน้อยเพียงใด

ข้อมูลจากเอกสารข่าวระบุว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วนี้เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนที่ปะการังกำลังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ คือประมาณกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วงว่า อัตราการเป็นหมันของปะการังจะเกิดสูง

ปะการังเปรียบเสมือนบ้านของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล เป็นแหล่งอาหารของนานาสัตว์ใต้ทะเล ถ้าปะการังลดลง หรือตาย ก็จะกระทบกับระบบนิเวศในทะเลเช่นกัน กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้จึงควรต้องติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 ปี

ขณะเดียวกัน ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุสารเคมีปริมาณมหาศาลปนเปื้อนในทะเล มักจะเห็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ลงลึกในรายละเอียดและรอบด้าน โดยเฉพาะปะการังมักถูกประเมินว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะดูจากแค่ภายนอก ทั้งที่ภายในของปะการังได้รับผลกระทบมาก

ทั้งนี้ไม่ว่าในน้ำมันหรือสารขจัดคราบน้ำมัน ล้วนเป็นส่วนผสมของสารเคมีที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และใช้เวลานานกว่าจะเห็นถึงผลเสียที่สะสม และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ยังสามารถส่งผลกระทบต่อบริเวณใกล้เคียง แม้ว่าจะไม่พบคราบน้ำมันหรือการปนเปื้อนก็ตาม เนื่องจากเป็นน้ำทะเลมวลเดียวกัน ปะการัง และสิ่งมีชีวิตในบริเวณใกล้เคียงจึงได้รับผลกระทบเช่นกัน


ย้อนดู 10 วันระทึกน้ำมันดิบรั่วทะเลระยอง

เหตุการณ์ 10 วันระทึกที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลระยองก่อนหน้านี้ เริ่มจากวันที่ 25 ม.ค. 2565 เวลา 21.06 น. เกิดเหตุน้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) รั่วไหลจากท่อใต้ทะเล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ในพื้นที่ทะเลจังหวัดระยอง โดยในเบื้องต้นที่เป็นข่าวมีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบรั่วออกมาอยู่ที่ประมาณ 4 แสนลิตร แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการในเวลานั้น โดยจุดรั่วอยู่ห่างจากฝั่ง 20 กิโลเมตร

3 ก.พ. 2565 หรือประมาณ 8 วันหลังจากน้ำมันดิบรั่ว เจ้าหน้าที่จากทางจังหวัดระยอง ได้ร่วมกับทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทสตาร์ฯ แถลงความสำเร็จในการขจัดคราบน้ำมันจนสถานการณ์คลี่คลาย ไม่พบคราบน้ำมันที่หาดแม่รำพึง และไปไม่ถึงเกาะเสม็ด โดยเฉพาะอ่าวพร้าว อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าอย่างที่น่ากังวลในช่วงแรกที่มีข่าวว่าน้ำมันดิบรั่ว โดยทีมผู้บริหารบริษัทสตาร์ฯ ยังได้ยกมือไหว้ขอโทษกลุ่มประมงเรือเล็กคลองกะเฌอ หาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมืองระยอง ด้วย

4 ก.พ.2565 บริษัทสตาร์ฯ ได้แถลงตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วอย่างเป็นทางการว่ามีปริมาณ 39 ตัน หรือปริมาณ 47,000 ลิตร สอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าอยู่ที่ประมาณ 20-50 ตัน

ขอบคุณภาพ : สถาบันวิจัยวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2308000


สายน้ำ 07-02-2022 03:13

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


เศร้า! พบซาก 'เต่ากระ' ลอยกลางทะเลระยอง ห่างเกาะเสม็ด 8 กิโล

ประมงพื้นบ้านออกเรือกลางทะเลห่างเกาะเสม็ด 8 กม. ห่างฝั่ง 2 กม.ใกล้จุดพบคราบน้ำมันฟิล์มบางๆ พบซากเต่ากระลอยตายขึ้นอืด เก็บซากขึ้นฝั่งรอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หวั่นน้ำมันรั่วกระทบระบบนิเวศน์ เพราะสัตว์ทะเลเริ่มหดหาย

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 6 ก.พ.ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายประเสริฐ แสงเมฆ อายุ 50 ปี ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กบางกะเฌอ หาดแม่รำพึง อ.เมืองระยอง ว่าพบเต่ากระลอยตายกลางทะเลห่างฝั่งประมาณ 2 กม.ห่างจากเกาะเสม็ดประมาณ 8 กม.จึงนำเข้าฝั่ง แจ้งเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ระยอง นำไปผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย

นายประเสริฐ แสงเมฆ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กบางกะเฌอ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าได้ออกเรือไปเก็บอวนจับสัตว์น้ำกลางทะเล กำลังจะนำเรือเข้าฝั่ง พบซากเต่ากระลอยตายขึ้นอืดอยู่ใกล้บริเวณที่พบมีคราบน้ำมันลักษณะฟิล์มบางๆ กระจายทั่วบริเวณ ห่างฝั่งประมาณ 2 กม.ใกล้ๆ เกาะเสม็ด จึงนำเข้าฝั่ง ซึ่งจากการตรวจสอบพบเป็นเต่ากระเพศเมีย อายุประมาณ 1 ปี น้ำหนักประมาณ 2 กก. ยาว 30 ซม.คาดว่าตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ชม.พบมีเลือดออกทางปาก และพบตาถลน ทั้งยังไม่แน่ใจว่าซากเต่ากระตังกล่าวตายเพราะคราบน้ำมันหรือไม่ อีกทั้งยังหวั่นเกรงด้วยว่าน้ำมันรั่วครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาว เพราะการออกเรือไปในช่วงนี้ไม่มีสัตว์น้ำ อยากให้บริษัทฯต้นเหตุเร่งฟื้นฟูท้องทะเลให้สัตว์น้ำกลับมา

เบื้องต้นได้แจ้งเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ระยอง นำไปผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายต่อไป.


https://www.naewna.com/likesara/633616


สายน้ำ 07-02-2022 03:18

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ฟื้นทะเลระยองใช้เวลา 3-5 ปี จับตา "ปะการังเป็นหมัน"

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

นักวิจัย จุฬาฯ ชี้น้ำมันรั่วในทะเลต้องรออย่างน้อย 1 ปีจึงเห็นผลกระทบ จับตา "ปะการังเป็นหมัน" จากสารเคมีปนเปื้อน หวั่นส่งผลให้ปะการังลดลง ระบุผลศึกษาในอดีตชี้ชัดรอฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับมาเหมือนเดิมอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกไปสำรวจเก็บตัวอย่างจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ จ.ระยอง เพื่อดูถึงผลกระทบของคราบน้ำมัน และสารขจัดคราบน้ำมันที่อาจจะมีผลต่อระบบนิเวศทางทะเล และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล โดยทำการเก็บตัวอย่างดินตะกอน น้ำทะเล และสิ่งมีชีวิตทางทะเลชนิดต่าง ๆ เพื่อศึกษาการสะสมของสารไฮโดรคาร์บอนที่มาจากน้ำมันในตัวอย่างชนิดต่าง ๆ

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

จากการที่ทีมวิจัยได้มีประสบการณ์ศึกษาผลกระทบของคราบน้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมันที่มีต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น พบว่า ผลกระทบของคราบน้ำมันที่มีต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล อาจจะไม่เห็นทันที 1-2 สัปดาห์ แต่อาจจะใช้เวลานาน อย่างน้อย 1 ปี จึงจะเห็นผลกระทบอย่างแบบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ

ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุสารเคมีปริมาณมหาศาลปนเปื้อนในทะเล มักจะเห็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ลงลึกในรายละเอียดและรอบด้านเท่าที่ควร โดยเฉพาะปะการังมักถูกประเมินว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเราดูจากภายนอกของปะการังเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว ภายในของปะการังได้รับผลกระทบมาก แต่ผู้คนในสังคมไม่ทราบเพราะไม่ได้ดูอย่างละเอียด

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ทั้งนี้ ไม่ว่าในน้ำมันหรือสารขจัดคราบน้ำมัน ล้วนเป็นส่วนผสมของสารเคมีต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และใช้เวลานานกว่าจะได้เห็นถึงผลเสียที่สะสมและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกันก็ยังสามารถส่งผลกระทบต่อบริเวณใกล้เคียง ถึงแม้ว่าจะไม่พบคราบน้ำมันหรือการปนเปื้อนก็ตาม เนื่องจากเป็นน้ำทะเลมวลเเดียวกัน ปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณใกล้เคียงจึงได้รับผลกระทบเช่นกัน


เร่งหาวิธีฟื้นฟูปะการัง-แก้ไขผลกระทบระยะยาว

ด้าน ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่าน้ำมัน หรือคราบน้ำมัน รวมทั้งสารขจัดคราบน้ำมัน อาจจะทำให้ปะการังเป็นหมัน โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ หรือถึงแม้ปะการังจะสามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมันและสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ปะการังเป็นหมันเฉียบพลัน และมีผลกระทบต่อปะการังอย่างมาก

ทั้งนี้ การที่ปะการังจะเพิ่มจำนวนประชากรให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้น จำเป็นต้องมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ปะการังเป็นหมันทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรออกลูกออกหลานได้ อาจส่งผลให้ปะการังลดลงและสูญพันธุ์ไปในที่สุด

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

การเป็นหมันชั่วคราวนี้ ถึงแม้สิ่งแวดล้อมจะกลับมาเหมือนเดิม แต่ก็อาจจะใช้เวลา อย่างน้อย 3-5 ปี กว่าปะการังจะสามารถกลับมาปล่อยไข่และสเปิร์มได้เหมือนเดิมบางส่วน แต่ปะการังส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบก็ไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ 100%

ศ.ดร.สุชนา ระบุอีกว่า ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีวิธีการที่จะฟื้นฟูปะการัง แต่วิธีการส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัด เหตุการณ์น้ำมันรั่วนี้ เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนที่ปะการังกำลังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ คือประมาณ ก.พ.-เม.ย. ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วงว่า อัตราการเป็นหมันของปะการังจะเกิดสูง

อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิจัยจะติดตามศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดได้เข้ามาร่วมมือกันป้องกันแก้ไขในระยะยาว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


https://news.thaipbs.or.th/content/312398



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:16

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger