SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5046)

สายน้ำ 04-02-2020 03:15

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 13-21 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-14 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และระวังการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ฝุ่นละออง ในระยะนี้ ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีกำลังอ่อนลงและมีฝนบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันเพิ่มมากขึ้น ส่วนภาคเหนืออากาศยังยกตัวได้ไม่ดีในตอนเช้า และมีลมอ่อน ทำให้ตอนเช้ามีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควัน ตอนบ่ายจะดีขึ้นเนื่องจากอากาศยกตัวได้ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 4 - 7 ก.พ. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-15 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับภาคใต้มีฝนลดลง

ส่วนในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ. 63 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-15 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็น สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 4 - 7 ก.พ. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย



https://lh3.googleusercontent.com/8f...5=w850-h542-no

https://lh3.googleusercontent.com/Fs...H=w715-h345-no

สายน้ำ 04-02-2020 04:02

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ไฟเขียวงบ 17.5 ล้านบาทเดินหน้าปรับปรุง "อ่าวมาหยา"

เปิดแผนพัฒนาอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ 2 โครงการวงเงิน 17.5 ล้านบาท เล็งลดผลนักท่องเที่ยวเหยียบแนวปะการัง -ฉลามหูดำ หน้าอ่าวมาหยา ชี้ต้องกำกับเส้นทางขนส่งวัสดุก่อสร้างเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง

https://lh3.googleusercontent.com/Bp...x=w700-h393-no

วันนี้ (3 ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุท ยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ทำหนังสือถึงประธานชมรมเรือท่องเที่ยวอ่าวต้น ไทร เรื่อง ผู้รับหมาก่อสร้างจะเข้าตำเนินการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบริการนักท่องเที่ยว

หนังสือดังกล่าว ระบุว่า ด้วยกรมอุทยานยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้อนุมัติเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติประเภท ค โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2562 ทำโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณอ่าวมาหยา งบประมาณ 6,176,000 บาท

นอกจากนี้ยังและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการใช้ง่ายเงินรายได้ครั้งที่ 4 ประจำปีงบ 2562 ทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ก่อสร้างทางเดินยกระดับระเบียงชมวิว พร้อมม้านั่งอเนกประสงค์ บริเวณอ่าวมาหยา 12,949,000 บาท เพื่อเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนานาสิ่งอำนวยความสะตวกต่างๆ ให้มีความพร้อมสำหรับบริการนักท่องเที่ยว เมื่อเปิตให้เข้าท่องเที่ยวในบริเวณอ่าวมาหยาได้ ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ขอเรียนว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ได้ดำเนินการจัดซื้อจ้างหาผู้รับจ้าง โดยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ดังนี้

- โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณอ่าวมาหยา ผู้รับจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดเพชรสินนครก่อสร้าง งบตามสัญญาจ้าง 6,060,000 บาท

- โครงการปรันปรุงภูมิทัศน์ ก่อสร้างทางเดินยกระดับระเบียงชมวิว พร้อมม้านั่งอเนกประสงค์ บริเวณอ่าวมาหยา ผู้รับจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด สุชาติการโยธางบตามสัญญาจ้าง 11,580,000 บาท

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี อุทยานฯ จึงขอแจ้งให้ผู้รับจ้างจะขนวัสดุก่อสร้างเข้าไปในบริเวณพื้นที่อ่าวมาหยา เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางอุทยานฯ ได้กำหนดเส้นทางทางการเดินเรือเพื่อบรรทุกวัสดุก่อสร้าง ไห้แก่ผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพื้นฟูปะการังในบริเวณอ่าวมาหยา

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายวรพจน์ ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติทางทะเลแล้ว ซึ่งมีทั้งกรมอุทยานฯ นักวิชาการด้านทะเลจากหลายหน่วยงาน ซึ่งได้ลงพื้นที่จุดก่อสร้างแล้ว รวมทั้งเส้นทางที่จะขนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆจะไม่ให้กระทบกับแนวปะการังและฝูงฉลามหูดำอย่างเด็ดขาด

"โครงการพัฒนาเกิดขึ้น เพราะต้องการลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวหน้าอ่าวมาหยา และการเหยียบย้ำแนวปะการัง และเหยียบย่ำทรายชายหาด ซึ่งมีการคำนึงถึงผลกระทบช่วงก่อสร้างและจะไม่ให้มีผลกระทบกับปะการังและฝูงฉลามหูดำอย่างเด็ดขาด"

นายวรพจน์ กล่าวว่า สำหรับโครงการที่เดินหน้าได้ทันทีเป็นการสร้างเส้นทางเดิน ส่วนโครงการท่าเทียบเรือลอยน้ำ ยังต้องหาผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญเฉพาะมาทำโครงการ ขณะที่ยังมั่นใจว่าโครงการนี้ต้องรับฟังความคิดเห็นจากท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ


https://news.thaipbs.or.th/content/288583


สายน้ำ 04-02-2020 04:11

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


โลกร้อนขึ้น โรคร้ายขึ้น? ................... โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

อุณหภูมิของเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศอันแปรปรวนและวิกฤตต่าง ๆ ที่ตามมา รวมถึงโรคร้ายต่าง ๆ ที่ดูจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่น่ากังวลมากที่สุด ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ และโรคระบาดซ้ำที่เคยหายไปแล้วแต่กลับมาให้ได้เห็นใหม่ รวมถึงการเพิ่มจำนวนง่ายขึ้นของพาหะนำโรค


เนื้อหาโดยสรุป

- ไวรัสและแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรคระบาดของมนุษย์มาเนิ่นนานหากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งอาร์กติกค่อย ๆ ละลายจนกระทั่งปลดปล่อยไวรัสและแบคทีเรียในยุคหลายพันปีก่อน นั่นหมายถึงมนุษย์ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากไวรัสและแบคทีเรียอายุพันปีที่เคยสงบนิ่งใต้น้ำแข็ง

- สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าการคืนชีพกลับมาของเชื้อโรคต่าง ๆ คือ การอุบัติใหม่ และการย้ายถิ่นฐานของเชื้อโรค ที่เอื้อจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และความทันสมัยของโลกที่ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่าย

- ในอดีตโรคระบาดจะจำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเท่านั้น แต่ลองจินตนาการว่าหากโรคนี้เกิดขึ้นในยุคที่การเดินทางสะดวกสบายรวดเร็วอย่างรถไฟและเครื่องบินที่เชื่อมต่อข้ามพรมแดนได้ง่ายนั้น จะเป็นอย่างไร
โรคระบาดที่มียุงและแมลงเป็นพาหะ อาทิ ไข้เหลือง และมาลาเรีย ทวีความถี่และเกิดผู้เคราะห์ร้ายมากขึ้นโดยมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยผลักดัน

https://lh3.googleusercontent.com/zU...K=w700-h489-no
เครื่องบินกำลัง Take off การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปมากทีเดียว ? Marten van Dijl / Greenpeace

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (2019) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของโรคอุบัติใหม่จากไวรัสที่เห็นชัดที่สุดในขณะนี้ เราคงต้องรออีกสักนิดให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาถึงไวรัสนี้มากพอจึงจะชี้เฉพาะถึงที่มาและสาเหตุ แต่ประเด็นหลัก ๆ ที่น่าคิดคือ ภูมิคุ้มกัน อากาศที่เปลี่ยนแปลง และการ(กลับ)มาของเชื้อโรค

ไวรัสและแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรคระบาดของมนุษย์มาเนิ่นนาน สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้มีอยู่ทั่วไปบนโลกของเรา ตั้งแต่ในก้อนหินเล็ก ๆ หนึ่งก้อน ยุงหนึ่งตัว ไปจนถึงลำไส้ของเรา ซึ่งเปรียบเสมือนจักรวาลอีกหลาย ๆ จักรวาลที่มนุษย์ยังอาจไม่ทราบทั้งหมด ก้อนหินที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ยุคน้ำแข็งและเกิดการทับถมของดินมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละปี และถูกแช่แข็งไว้ผ่านเวลาหลายพันปี มนุษย์เพิ่งค้นพบยาปฏิชีวนะเพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียราว 70 ปีเท่านั้น และวัคซีนป้องกันไวรัสจะผลิตขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เผชิญกับโรคนั้นเสียก่อน แต่หากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งอาร์กติกค่อย ๆ ละลายจนกระทั่งปลดปล่อยไวรัสและแบคทีเรียที่จำศีลหลับไหลตั้งแต่ในยุคหลายพันปีก่อน ก่อนที่มนุษย์จะมีข้อมูลสิ่งเหล่านี้ล่ะ? ซึ่งนั่นหมายถึงมนุษย์ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากไวรัสและแบคทีเรียอายุพันปีที่เคยสงบนิ่งใต้น้ำแข็ง คำถามคือเราจะรับมือได้อย่างไร

https://lh3.googleusercontent.com/u8...T=w456-h304-no
น้ำแข็งในธารน้ำแข็งอัลไพน์หายไปกว่าร้อยละ 50 ในระยะเวลาเพียงแค่ 100 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ? Mitja Kobal / Greenpeace

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องสมมติที่ไกลความจริง เมื่อสิงหาคมปี 2559 ที่ภูมิภาคอาร์กติก เด็กชายวัย 12 ได้เสียชีวิต เพราะเชื้อแอนแทร็กซ์ และมีคนในพื้นที่อีก 20 คนถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะโรคเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าสาเหตุเกิดจากคลื่นความร้อนในปีนั้นทำให้ชั้นดินเยือกแข็งซึ่งปกติจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสอยู่ตลอดปีละลายตัว จนเผยซากกวางเรนเดียร์ที่ตายด้วยโรคแอนแทร็กซ์เมื่อ 75 ปีใต้ดินขึ้นมาสัมผัสกับน้ำและอากาศ เชื้อบางชนิด เช่นเชื้อแอนแทร็กซ์ สามารถสร้างสปอร์ห่อหุ้มตัวเพื่อดำรงชีวิตรอดในน้ำแข็งได้ หรือไวรัสบางชนิดเองก็มีดีเอ็นเอที่แข็งแกร่งกว่าไวรัสทั่วไปในปัจจุบัน

การวิจัยชิ้นหนึ่งของนาซ่าเมื่อปี 2548 เผยว่าได้ทดลองนำน้ำจากทะเลสาบของอลาสก้าที่ถูกแช่แข็งมากว่า 32,000 ปี ตั้งแต่ยุคที่มีแมมมอธยังคงอยู่ และน้ำมาละลายน้ำแข็ง ก็พบว่าแบคทีเรียที่อยู่ในนั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง สองปีถัดมาจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ลองละลายน้ำแข็งอายุ 8 ล้านปีอีกครั้งจากแอนตาร์กติกา แบคทีเรียก็กลับมามีชีวิตได้อีกเช่นกัน แต่แบคทีเรียไม่ใช่ผู้ร้ายทุกชนิดเสมอไป ตามปกติแล้วมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมและร่างกายเรา เพียงแค่ยีนดื้อยาสามารถส่งต่อถึงกันได้ ไวรัสเองก็สามารถอยู่รอดภายใต้น้ำแข็งได้เช่นกัน จากที่นักวิทยาศาสตร์เคยทดลองละลายน้ำแข็งอายุ 30,000 ปี และพบว่าไวรัสฟื้นกลับมาใหม่ได้ (แต่ไวรัสชนิดนั้นเป็นอันตรายต่ออมีบาเพียงเท่านั้น)

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าการคืนชีพกลับมาของเชื้อโรคต่าง ๆ คือ การอุบัติใหม่ และการย้ายถิ่นฐานของเชื้อโรค ที่เอื้อจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และความทันสมัยของโลกที่ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่าย ภาวะโลกร้อนไม่ได้เพียงแค่ทำให้น้ำแข็งละลายเท่านั้น แต่การเดินทางที่เข้าถึงพื้นที่หลากหลายง่ายขึ้น รวมถึงการที่พื้นที่อย่างไซบีเรียเข้าถึงได้จากการรุกล้ำของอุตสาหกรรมประมงและขุดเจาะพลังงาน ก็เป็นอีกหนทางที่เชื้อโรคสามารถเดินทางออกจากไซบีเรียไปยังที่ห่างไกลอื่นได้ และเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคจากใต้ดินปนเปื้อนออกสู่ดินชั้นบน แหล่งน้ำ และห่วงโซ่อาหารได้

ในอดีตโรคระบาดจะจำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเท่านั้น เช่น กาฬโรคที่เกิดขึ้นในยุโรปและจีนเมื่อช่วงยุคพศ.1890 การเดินทางหลักที่ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้คือทางเรือ แม้จะคร่าชีวิตคนจำนวนมหาศาลในยุโรป แต่ลองจินตนาการว่าหากโรคนี้เกิดขึ้นในยุคที่การเดินทางสะดวกสบายรวดเร็วอย่างรถไฟและเครื่องบินที่เชื่อมต่อข้ามพรมแดนได้ง่ายนั้น จะเป็นอย่างไร

พรมแดนประเทศมิได้เลือนลางเพราะการเดินทางที่สะดวกเท่านั้น แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เดิมจากที่เรารู้ว่าพื้นที่ใดมีโอกาสเสี่ยงติดโรคใดบ้างจากสัตว์ที่เป็นพาหะในพื้นที่นั้น ก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

เราคงทราบกัน หรือเคยได้รับคำเตือนให้ฉีดวัคซีนป้องกันอะไรก่อนเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เช่น ไข้เหลืองที่เกิดขึ้นในแอฟริกาและอเมริกาใต้ โรคไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อยในอินเดียและเนปาล หรืออาจจะแค่ง่าย ๆ ว่าเวลาไปเข้าป่าระวังไข้มาลาเรีย ทว่าโลกที่ร้อนขึ้น ป่าไม้ที่ถูกทำลาย การรุกคืบของเมือง สัตว์ท้องถิ่นในพื้นที่ป่านั้นก็อาจต้องหาทางมีชีวิตรอดในสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เปลี่ยนไปเช่นกัน

โรคระบาดที่มียุงและแมลงเป็นพาหะ อาทิ ไข้เหลือง และมาลาเรีย ทวีความถี่และเกิดผู้เคราะห์ร้ายมากขึ้นโดยมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยผลักดัน วงจรชีวิตและการเจริญเติบโตของยุงนั้นเกี่ยวข้องอย่างมากกับปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ กล่าวคือ ยุงและแมลงชอบอากาศที่อบอุ่นจนถึงร้อน สามารถแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้น เติบโตเร็วขึ้น นอกจากนี้วงจรของปรสิตในยุงยังพัฒนาไปเร็วขึ้นด้วยจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งอาจซ้ำความร้ายแรงด้วยปรสิตมาลาเรียดื้อยาที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2562 ที่ผ่านมา

ไข้หวัดนกเองก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและเชื้อไวรัส เดิมทีหวัดนกนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติในสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็ดหรือนกป่า ซึ่งตามปกติความหลากหลายของสายพันธุ์และความสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่และอาหารจะทำให้พวกมันมีภูมิต้านทาน แต่สภาวะโลกร้อนและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ส่งผลต่อจำนวนประชากรของนก ประกอบกับฤดูที่เปลี่ยนแปลงไปได้เปลี่ยนแปลงวงจรและเส้นทางการบินอพยพ ทำให้ไวรัสที่เจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัว เส้นทางการบินที่เปลี่ยนไปหรือการเติบโตขึ้นของเมืองก็มีโอกาสที่นกป่าจะใกล้ชิดกับปศุสัตว์และมนุษย์มากขึ้น


(มีต่อ)

สายน้ำ 04-02-2020 04:12

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


โลกร้อนขึ้น โรคร้ายขึ้น? ............. ต่อ

https://lh3.googleusercontent.com/3c...N=w700-h467-no
ฟาร์มไก่แบบปิดในประเทศเยอรมนี ? Greenpeace

หากกล่าวถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งหรือสองทศวรรษที่ผ่านมานั้น ตั้งแต่ ไข้เลือดออก ฉี่หนู อหิวาตกโรค อีโบลา ไข้หวัดนก วัณโรค ซาร์ส และมาลาเรีย ล้วนมีจุดเริ่มต้นติดต่อมาจากสัตว์สู่คน (ทั้งจากพาหะ หรือสัตว์โดยตรง) และพัฒนามาเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน ซึ่งสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า ค้าสัตว์ป่า หรือการเข้าใกล้ชิดกับสัตว์ป่าโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง

ยามใดที่เชื้อเปลี่ยนแปลงสภาวะ ไม่ว่าจะเป็นการผันผวนของอุณหภูมิ ถิ่นที่อยู่ หรือติดเชื้อยังสัตว์ชนิดอื่นหรือคน สภาวะเหล่านี้ทำให้เชื้อโรคมีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นโรคใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีภูมิคุ้มกัน การระบาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย จึงเป็นที่มาของโรคอุบัติใหม่

โลกของไวรัสและแบคทีเรียนั้นเป็นเสมือนอีกจักรวาลหนึ่งที่ความรู้ของมนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แม้แต่ในร่างกายของเราเองก็เป็นแหล่งที่อยู่ของแบคทีเรีย และเรารู้จักพวกมันแค่ 1% เท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า ประกอบกับความผันผวนของวิกฤตโลกร้อนที่กำลังก่อตัว มนุษย์ยังคงมืดบอดและคาดเดาได้น้อยมากกับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่จะตามมา อาทิเช่น แบคทีเรียในลำไส้ของเราและสัตว์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรไหมหากรับความเสี่ยงจากเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เพิ่มความรุนแรงด้วยการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่ร้อนขึ้น แบคทีเรียในตัวเราจะเปลี่ยนไปไหม?

สภาพภูมิอากาศคือชนวน เชื้อโรคคือกระสุน

เราอาจจะได้รู้จักกับโรคระบาดชนิดใหม่มากขึ้น และรุนแรงขึ้น หากวิกฤตโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป

เราอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกับสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย ตั้งแต่ขนาดเล็กจนมองไม่เห็นอย่างแบคทีเรีย ไวรัส แมลง ไปจนถึงสรรพสัตว์ต่าง ๆ ความสมบูรณ์หลากหลายของสายพันธุ์และสิ่งแวดล้อมจึงเป็นกลไกตามธรรมชาติที่สำคัญที่สุดในการรักษาสมดุลของทุกชีวิต แนวคิด ?สุขภาพหนึ่งเดียว? (One Health) แม้ดูจะเป็นหลักการที่เพิ่งได้รับการพูดถึงไม่นาน แต่การรักษาและคำนึงถึงสายสัมพันธ์ของสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งเดียวนั้นเป็นรากฐานการป้องกันและควบคุมโรคทั้งในคนและสัตว์ได้อย่างดีที่สุด

โลกที่ป่วย ชีวิตบนโลกก็ป่วยตาม สุขภาพของเราขึ้นอยู่กับสุขภาพของโลก


https://www.greenpeace.org/thailand/...rease-disease/



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:25

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger