SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5313)

สายน้ำ 18-10-2020 03:26

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดการเดินเรือในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 18 - 19 ต.ค. 63 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มี ฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 20 - 23 ต.ค. 63 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ช่วงวันที่ 17 ? 23 ต.ค. 63) ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนลดลง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 18 - 19 ต.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจาก ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือในบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง




*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง (พายุระดับ1) บริเวณประเทศกัมพูชา (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 17?18 ต.ค. 2563)" ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2563

เมื่อเวลา 05.00 น. ของวันนี้ (17 ต.ค. 63) พายุดีเปรสชัน (พายุระดับ 2) บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งและอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง (พายุระดับ 1) บริเวณประเทศกัมพูชาแล้ว โดยจะทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

ในขณะที่ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลาง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

ในช่วงวันที่ 17 ตุลาคม 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร

นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี

อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล


ในวันที่ 18 ตุลาคม 2563

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา และบุรีรัมย์

ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และนครปฐม

ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดการเดินเรือในระยะนี้



https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

สายน้ำ 18-10-2020 03:29

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


เชื้อก่อโรคกับหอยแมลงภู่แกะ (ต้มสุก)

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

หอยแมลงภู่ เป็นหอยสองฝาที่นำไปปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด ที่นิยมเห็นจะเป็นเมนูหอยทอด แกงคั่วสับปะรดหอยแมลงภู่ หรือหากต้มสุกแล้วแกะเนื้อ ก็นิยมนำมาทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ดแซ่บๆ

สมัยก่อนคนขายมักเก็บหรืองมหอยกันตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น ก็เปลี่ยนมาเพาะเลี้ยงกันเป็นล่ำเป็นสันแบบระบบฟาร์ม จากลูกหอยจนถึงระยะที่จับขายได้ใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 6-8 เดือน หอยแมลงภู่เป็นหอยที่มีรสชาติอร่อย หาซื้อได้ง่าย หากอยากทานเมนูหอยแมลงภู่ ปัจจุบันก็ไม่ยุ่งยาก แค่เดินเข้าตลาดนัด ก็จะเห็นหอยแมลงภู่ลวกทั้งเปลือกใส่ถุงพร้อมน้ำจิ้มรสแซ่บวางขาย หรือถ้าเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เกต ก็มีหอยแมลงภู่ต้มสุกแกะเนื้อทั้งแบบแช่เย็น และแช่แข็ง วางขายหลากหลายยี่ห้อ เลือกซื้อกันได้ตามอัธยาศัย

สำหรับท่านที่ชอบทานหอยแมลงภู่ วันนี้ขอเตือนให้ระมัดระวังอันตรายที่อาจมีในหอยแมลงภู่กันสักนิด อันตรายที่ว่าคือ เชื้อก่อโรค วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส แฟนพันธุ์แท้ของคอลัมน์ "มันมากับอาหาร" คงพอจะทราบว่าเชื้อก่อโรคชนิดนี้ พบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปตามชายฝั่งทะเล และตามตะกอน โคลนตมในทะเล จึงมักพบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ในกุ้ง หอย ปู ปลา ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร

หากเราทานกุ้ง หอย ปู ปลาดิบๆ หรือนำมาปรุงโดยให้ความร้อนไม่เพียงพอ เช่นสุกๆดิบๆ ก็อาจทำให้เราได้รับเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษและเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ มีอาการท้องเสีย เป็นตะคริวในช่องท้อง คลื่นเหียน วิงเวียน อาเจียน ปวดหัว มีไข้และหนาวสั่น สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างหอยแมลงภู่แกะ (ต้มสุก) แช่เย็นและแช่แข็ง จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ปนเปื้อน ผลปรากฏว่าหอยแมลงภู่แกะ (ต้มสุก) ทุกตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนเลย อย่าลืมว่าควรนำมาปรุงให้สุกก่อนทานทุกครั้งและควรทานขณะร้อนๆ เพื่อความปลอดภัยและสบายท้อง.


https://www.thairath.co.th/lifestyle/food/1953529


*********************************************************************************************************************************************************


ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงทะเล

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีผ่านการบำบัดแล้ว จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิเมื่อปี 54 ลงสู่ทะเล ท่ามกลางการคัดค้านจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เมื่อ 16 ต.ค.63 สำนักข่าวบีบีซีรายงานอ้างสื่อในญี่ปุ่นหลายสำนัก เผย ทางการญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ได้รับการบำบัดแล้วจำนวนกว่า 1 ล้านตันออกจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ ที่จังหวัดฟุกุชิมะลงสู่ทะเล นับตั้งแต่โรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสึนามิ หรือคลื่นยักษ์ที่ซัดถล่ม ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เมื่อปี 2554

สื่อท้องถิ่นในญี่ปุ่น ทั้งนิกเคอิ และโยมิอุริ ชิมบุน เผยว่า การจะปล่อยน้ำออกจากโรงงานไฟฟ้าฟุกุชิมะนั้น เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการถกเถียงมาหลายปี ซึ่งยังรวมถึงน้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิด้วย โดยกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำทางทะเลได้คัดค้านความคิดในการจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล ทว่าถูกนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากแย้งว่ามีความเสี่ยงต่ำ

บีบีซีรายงานด้วยว่าสาเหตุที่ทำให้กำลังมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เป็นเพราะขณะนี้พื้นที่ในการจัดเก็บน้ำกำลังจะหมดลง เนื่องจากน้ำใต้ดินและน้ำฝนทำให้ถังเก็บน้ำเต็มเร็วมากขึ้น ในขณะที่ปัญหาที่ยังหาทางแก้ไขไม่ได้คือ ขณะที่ไอโซโทปของกัมมันตรังสีส่วนใหญ่สามารถถูกขจัดออกจากน้ำได้ จากการใช้กระบวนการกรองน้ำที่มีความซับซ้อน แต่มีไอโซโทปกัมมันตรังสีหนึ่งชนิดที่เรียกว่า ?ทริเทียม? ไม่สามารถจะถูกขจัดออกจากน้ำได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเก็บน้ำไว้ในถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งจะเต็มในปี 2565

ด้านนายฮิโรชิ คาจิยะมา รมว.อุตสาหกรรมญี่ปุ่น กล่าวว่าขณะนี้ ทางการญี่ปุ่นยังไม่ได้มีการตัดสินใจเกี่ยวกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล แต่รัฐบาลก็มีแผนในเร็วๆ นี้ และเพื่อเป็นการป้องกันความล่าช้าที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการต่างๆ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมได้พยายามคัดค้านการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทร ขณะที่กลุ่มประมงได้ชี้ว่าถ้าปล่อยน้ำเหล่านี้ลงสู่ทะเลและมหาสมุทรจะทำให้บรรดาผู้บริโภคไม่ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลในภูมิภาคนี้ของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม มีนักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกเจือจางกับน้ำมหาศาลในมหาสมุทร และไอโซโทปทริเทียมก็มีความเสี่ยงต่ำต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์น้ำในทะเล


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1954619



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:27

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger