SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5829)

สายน้ำ 03-02-2022 03:14

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ส่วนยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีเมฆบางส่วน กับหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 2 ? 3 ก.พ. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเป็นบางแห่ง โดยภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า

ส่วนในช่วงวันที่ 4 ? 6 ก.พ. 65 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณภาคเหนือมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกเป็นบางพื้นที่ ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร และ

ในช่วงวันที่ 7 ? 8 ก.พ. 65 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกยังคงปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณภาคเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียสกับมีหมอกในตอนเช้า


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 4 ? 6 ก.พ. 65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง และประชาชนบริเวณภาคเหนือระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่า โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ และชาวเกษตกร ควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "อากาศแปรปรวนบริเวณภาคเหนือตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ 2565)" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 03 กุมภาพันธ์ 2565

ในช่วงวันที่ 4 ? 6 กุมภาพันธ์ 2565 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน และแพร่ มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียสในภาคเหนือตอนบน สำหรับยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-12 องศาเซลเซียส กับมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 03-02-2022 03:19

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'ดร.ธรณ์' วอนลดขยะพลาสติกทุกชนิด เมื่อเกิดน้ำมันรั่ว จะปนเปื้อนน้ำมันลอยไปทั่ว กำจัดยาก

'ดร.ธรณ์' เตือนเมื่อเกิดน้ำมันรั่วเป็นคราบลอยกลางทะเล ขยะพลาสติกจะปนเปื้อนน้ำมันเป็นเหมือนพาหนะนำพาสารไม่พึงปรารถนาลอยไปทั่ว เมื่อลงไปในพื้นเลนพื้นทรายจะกำจัดยากลำบาก วอนลดขยะพลาสติกทุกชนิด

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

2 ก.พ.2565 - ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพถุงขยะติดคราบน้ำมันพร้อมข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า


เพื่อนธรณ์ถามว่าคนทั่วไปช่วยอะไรได้บ้าง ? ภาพนี้คงตอบได้ เป็นภาพขยะที่กรมทะเล/คณะประมงช่วยกันเก็บมาจากทะเลครับ

ขยะ 80% มาจากแผ่นดิน ไหลมาตามแม่น้ำลำคลอง เมื่อลงไปในทะเล เราเรียกว่าขยะทะเล

เมื่อเกิดน้ำมันรั่วเป็นคราบลอยกลางทะเล ขยะพลาสติกที่มีอยู่มากมาย จะปนเปื้อนน้ำมัน กลายเป็นเหมือนพาหนะนำพาสารไม่พึงปรารถนาลอยไปทั่ว

น้ำมันที่ละลายติดกับขยะพลาสติก จะติดแน่นกว่าปรกติ ขยะลอยตามคลื่นลมง่าย จะพาน้ำมันไปไกล ทำให้ผลกระทบกระจายเป็นวงกว้าง

เมื่อขยะลอยมาติดฝั่ง น้ำมันก็ซึมลงไปในทราย ลอยไปติดในแนวปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน ฯลฯ น้ำมันก็ไปถึงระบบนิเวศงดงามแต่บอบบางเหล่านั้น

สารองค์ประกอบของน้ำมันเมื่อลงไปในพื้นเลนพื้นทราย ฝังตัวเข้าไป กำจัดก็ยากลำบาก
ขยะพลาสติกจึงเป็นเหมือนเรือที่นำพาน้ำมันไปสู่ทะเลและชายฝั่งที่ห่างไกลออกไป

การลดขยะพลาสติกทุกชนิด การช่วยกันเก็บบนหาด/ทะเล ล้วนแต่มีส่วนสำคัญที่ช่วยทะเลได้
เราอาจไม่สามารถไปเก็บคราบน้ำมันตามหาดที่เกิดเหตุ

แต่เราสามารถลด/หยุดขยะที่จะพาน้ำมันไปทำร้ายทะเลรอบๆ
ถ้ารักทะเล ถ้าอยากช่วยทะเล ลดขยะ/รีไซเคิล/เก็บขยะพลาสติก

คุณช่วยได้แน่นอนครับ


https://www.thaipost.net/general-news/77569/


สายน้ำ 03-02-2022 03:22

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


อช.เขาแหลมหญ้า เปิดภาพใต้ท้องทะเล 'ปะการัง-สัตว์' ยังสมบูรณ์ไม่พบคราบน้ำมัน

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าเปิดภาพใต้ท้องทะเลยังสวยงามไร้คราบน้ำมันพร้อมรับนักทอ่งที่ยว ด้านกลุ่มประมงชายฝั่งเรือพายบ้านเพ ยื่นหนังสือร้องนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเพ กังวลไม่ได้รับชดเชยเยียวยากรณีน้ำมันดิบรั่วทะเลระยอง

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

2 ก.พ.65 นายธวัช เจนการ หน.อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ด กล่าวว่า ในช่วงเย็นวานนี้ (1กพ)ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงดำน้ำตรวจใต้ทะเลอ่าวพร้าว และพื้นที่ของอุทยานฯ พบว่า หญ้ามะกรูด ปะการัง สัตว์ทะเล ยังไม่พบคราบน้ำมัน ยังคงสภาพสมบูรณ์ตามปกติ ส่วนคราบสีดำที่พบบ้างบนหาดทราย คาดว่าน่าจะมาจากเรือที่ใช้ปฎิบัติการขจัดคราบน้ำมันในช่วงเกิดเหตุต้องใช้เรือหลายลำจึงมีคราบเขม่า ซึ่งได้เก็บกู้จนหาดทรายสะอาด จึงถือว่าปลอดภัย นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตามปกติ

ด้านกลุ่มประมงชายฝั่งประเภทเรือแจว เรือพาย ประมงพื้นบ้านกลุ่มศาลาเขียว ชายหาดเภตรา ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง กว่า 30 คน ได้เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์กับนายไพรัตน์ อรุณเวสสะเศรษฐ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเพ เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีขอรับค่าชดเชยเยียวยาจากผลกระทบกรณีน้ำมันดิบของบริษัท SPRC รั่วไหลลงทะเลระยอง ทั้งนี้เพราะมีความกังวลใจจะไม่ได้รับค่าชดเชยเยียวยาจากเหตุการณ์ดังกล่าว

นายจงกล วรรัตน์ หนึ่งในกลุ่มประมงชายฝั่งพื้นบ้านเรือแจว เรือพาย กล่าวว่า พวกตนเป็นกลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้านชายฝั่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเอาไว้ เนื่องจากเป็นเรือประมงประเภทไม่ติดเครื่องยนต์ ใช้พายหรือแจวออกท้องทะเลเพื่อทำประมงวางลอมปู กุ้ง อวนปลาตามแนวชายฝั่งห่างฝั่งไม่เกิน 5 กิโลเมตร ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อปี 2556 มีคราวครั้งน้ำมันดิบรั่วครั้งนั้นกว่าพวกตนจะได้รับเงินค่าชดเชยต้องเรียกร้องและฟ้องร้องจึงได้รับค่าเยียวยา นอกจากนี้ยังยืนยันพวกตนเป็นกลุ่มประมงชายฝั่งพื้นบ้านเก่าแก่ดั้งเดิมที่ทำประมงชายฝั่งมานานกว่า 60 ปี แต่เนื่องจากเป็นประมงชายฝั่งที่ใช้เรือขนาดเล็กและไม่มีเครื่องยนต์ จึงกังวลใจว่าจะเข้าข่ายที่จะได้รับค่าชดเชย จึงได้ฝากให้นายกเทศมนตรีบ้านเพ ซึ่งรู้ความจริงลักษณะการทำอาชีพของพวกตนได้ช่วยเหลือ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้พวกตนได้รับผลกระทบและเดือดร้อนไม่แตกต่างไปจากกลุ่มอาชีพอื่นเช่นกัน เพราะถูกสั่งห้ามออกทำประมงจับสัตว์น้ำเป็นเวลา 1 เดือน จากกรณีน้ำมันดิบรั่วลงทะเลคราวนี้.


https://www.naewna.com/likesara/632676


สายน้ำ 03-02-2022 03:26

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


World Wetlands Day เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก ............... โดย Supang Chatuchinda

'วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก' ถูกกำหนดขึ้นในทุกๆวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี จริง ๆ แล้วเราเองรู้จักพื้นที่ลักษณะนี้ดีในชื่อภาษาไทยว่า "ป่าชายเลน" "พรุ" "ดอน" นั่นเอง ซึ่งป่าพรุหรือป่าชายเลนเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในธรรมชาติเพราะเป็นพื้นที่เพื่ออนุบาลสัตว์น้ำตามธรรมชาติ คอยผลิตอาหารให้แก่สัตว์ในระบบนิเวศ ช่วยควบคุมกระแสน้ำในเวลาที่เกิดพายุหรือคลื่นแรงรวมทั้งควบคุมคุณภาพน้ำ

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
ภาพมุมสูงของพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาค Pantanal ในบราซิล ? Markus Mauthe / Greenpeace

พื้นที่ชุ่มน้ำมีบทบาทสำคัญต่อการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วยเพราะพื้นที่อันมีเอกลักษณ์นี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถปรับตัวรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เร็วกว่าป่าฝนเขตร้อนถึง 55 เท่า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ป่าพรุที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในดินได้มากถึง 30% ของก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาสู่บรรยากาศด้วยพื้นที่เล็กๆเพียง 3% ทั่วโลกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศแบบนี้กลับถูกคุกคามและถูกทำลายไปอย่างรวดเร็วกว่าพื้นที่ป่าถึง 3 เท่า แน่นอนว่าความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ดังกล่าวที่เคยมีมากมายก็สูญพันธุ์ตามไปด้วย


สถานการณ์พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก

ยกตัวอย่างในปี 2564 ที่ผ่านมา กรีนพีซได้เผยแพร่รายงานสถิติไฟป่าที่ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาค Pantanal ของบราซิลไปว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่ พบว่ามีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ระดับโลก ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยบริษัทอุตสาหกรรมดังกล่าวผลิตเนื้อสัตว์ให้กับแบรนด์อาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลก

นอกจากการทำลายป่าแล้ว จากรายงาน Global Wetland Outlook ฉบับพิเศษปี 2564 ขององค์กร Ramsar Conventions on Wetlands ระบุว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ เพราะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่งรวมทั้งปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำไม่สามารถทำงานตามคุณสมบัติของตัวเองได้อย่างเต็มที่ (การผลิตอาหาร อนุบาลสัตว์น้ำ และการปกป้องชายฝั่ง)

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
ไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุ บริเวณอุทยานแห่งชาติ North York Moors National Park สหราชอาณาจักร จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ? Steve Morgan / Greenpeace

ทั้งนี้ ยังระบุอีกว่าพื้นที่ชุ่มน้ำในทะเลเมดิเตอเรเนียนนั้นมีความเสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศสูงมากเพราะเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่นๆ 20% สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน พายุฝน และภัยแล้ง โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2583 อาจมีประชากรที่ต้องอาศัยอยู่กับการขาดแคลนน้ำสะอาดและผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

ในรายงานได้แนะนำเกี่ยวกับการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อช่วยชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วยว่า หากโลกต้องการบรรลุเป้าหมายคงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีสแล้วก็จะต้องปกป้องไม่ให้พื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลายไปมากกว่านี้ และจะต้องฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่เคยถูกทำลายไปก่อนหน้านี้กลับคืนมา 50% ก่อนปี 2573


พื้นที่ชุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์ = ความมั่นคงทางอาหาร

การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำไม่เพียงแต่จะช่วยให้ระบบนิเวศตามธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แต่จะช่วยให้เรายังคงมีความมั่นคงทางอาหารและน้ำสำหรับการดำรงชีวิต เพราะมีผู้คนมากกว่า 40 ล้านคนทั่วโลกที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ หากคิดเป็นมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจแล้วแต่ละปีพื้นที่ชุ่มน้ำได้ให้ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และสุขภาพที่ดี ปลอดภัย แก่มนุษย์ประมาณ 47.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีพรมแดน ในปี 2564 เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นทั่วโลกแทบจะทุกเดือนของปี ตั้งแต่พายุหิมะไปจนถึงน้ำท่วมฉับพลัน สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีใครที่มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และในภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่มีระบบเศรษฐกิจใดที่มั่นคงยั่งยืน

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

วิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องที่ควรเพิกเฉยหรือถูกปฏิเสธอีกต่อไป เราเดินทางมาถึงจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอีกมากมายจะมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราตัดสินใจทำในวันนี้ เราจะปกป้องสภาพภูมิอากาศได้หากเหล่าผู้นำประเทศดำเนินนโยบายอย่างจริงจังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด


https://www.greenpeace.org/thailand/...limate-crisis/



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:57

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger