SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=7011)

สายน้ำ 01-05-2024 02:47

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานานไว้ด้วย ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไว้ด้วย สำหรับลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และลมใต้พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับชาวเรือควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3-5 พ.ค. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับในช่วงวันที่ 6-7 พ.ค. 67 มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และการระบายอากาศในบริเวณดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 29-30 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 37-42 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 1 ? 2 พ.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

ส่วนในช่วงวันที่ 3 ? 6 พ.ค. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

สำหรับลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันตกพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 1 ? 2 พ.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานาน รวมถึงระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ไว้ด้วย

ส่วนในช่วงวันที่ 3 ? 6 พ.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง สำหรับชาวเรือควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 1 (79/2567) (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 3-7 พฤษภาคม 2567)

ในช่วงวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับในช่วงวันที่ 6-7 พฤษภาคม 2567 มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 01-05-2024 03:31

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


จีนเผยโฉม "หุ่นยนต์เลียนแบบปลากระเบน" ว่ายน้ำพลิ้วไหวราวมีชีวิต

มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ไห่หยางเผยโฉม หุ่นยนต์กระเบนราหูเลียนแบบชีวภาพ ซึ่งเป็นฝีมือการพัฒนาโดยทีมนวัตกรรมปลาเลียนแบบชีวภาพปัญญาประดิษฐ์ของสถาบัน

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ว่าเจ้ากระเบนราหูเลียนแบบชีวภาพตัวนี้มีความทนทาน คล่องตัวสูง รองรับน้ำหนักบรรทุกมาก และตอบโจทย์การดำเนินงานขนาดใหญ่ โดยมีลักษณะทางสัณฐานวิทยา โครงสร้าง และพฤติกรรมการว่ายน้ำราวกับปลากระเบนมีชีวิต

กระเบนราหูอัจฉริยะตัวนี้ว่ายด้วยความเร็วปกติ 0.5 เมตรต่อวินาที แหวกว่ายได้นานสูงสุด 6 ชั่วโมง และว่ายระยะทางไกลสุด 30-35 กิโลเมตร โดยสามารถนำทางตัวมันเองได้ผ่านระบบอัตโนมัติ

รายงานระบุว่า กระเบนราหูเลียนแบบชีวภาพดังกล่าวยังสามารถติดตั้งเซ็นเซอร์ความแม่นยำสูงหลายตัว สำหรับการตรวจสอบฝูงปลาใต้น้ำแบบเรียลไทม์ รวมถึงการจดจำและการโต้ตอบแบบอัจฉริยะ.


https://www.dailynews.co.th/news/3389932/


สายน้ำ 01-05-2024 03:34

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


อ.ธรณ์ เผยบทอวสาน หายนะโลกร้อน ทะเลเดือด น้ำในแหล่งหญ้า ร้อนจี๋เท่าออนเซ็นในญี่ปุ่น

อ.ธรณ์ เผยบทอวสาน หายนะโลกร้อน ทะเลเดือด น้ำในแหล่งหญ้า ร้อนเท่าออนเซ็นในญี่ปุ่น ไม่ต้องรออีก 30-40 ปี มันเกิดขึ้นแล้ว

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ขณะนำเครื่องวัดอุณหภูมิเพื่อวัดน้ำในแหล่งหญ้าในทะเล พบว่าอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส

พร้อมระบุข้อความว่า น้ำในแหล่งหญ้าทะเลไทยร้อนเท่าออนเซนในญี่ปุ่น เมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวดังกล่าวจำนวนมาก หลายคนห่วงเรื่องภาวะโลกร้อน

ต่อมา ผศ.ดร.ธรณ์ โพสต์ระบุเพิ่มเติมว่า เมื่อ 3 วันก่อน ผมเขียนมินิซีรี่ย์ ?จุดจบ? โดยทิ้งท้ายว่า จะมาเขียนบทอวสานเมื่อมาสำรวจพื้นที่ และบทอวสานก็มาถึงจริง แม้จะภาวนาไว้ แต่หญ้าทะเล 810 ไร่ที่เกาะกระดาด (ตราด) หายไปทั้งหมดเลย

ทั้งหมดหมายความว่าหมดจริง ลองดูภาพเปรียบเทียบ ปี 2563 เห็นดงหญ้าสีดำกว้างใหญ่ กรมทะเลรายงานว่ามีหญ้า 6 ชนิด ความหนาแน่น 90% ของพื้นที่ วันนี้คณะประมงมาสำรวจอีกครั้ง หญ้าไม่เหลือเลย

สีดำๆ ที่เห็นในภาพปี 67 คือเศษปะการังตายและสาหร่าย หญ้าทะเลเหลือเพียงไม่กี่ต้น กุดสั้น มองไม่เห็นจากโดรนที่นี่ไม่มีพะยูน ไม่มีเต่ามากินหญ้า ไม่มีการขุดลอกร่องน้ำ ไม่มีการพัฒนาใดในระหว่างปี 63-67 จึงสรุปได้ว่าโลกร้อนทำให้ทะเลแปรปรวนถึงขีดสุด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างฆ่าหญ้าทะเล

สาเหตุหลักน่าจะมาจากน้ำลงต่ำผิดปรกติในช่วงปี 64-65 ทุกอย่างแห้งผาก ผิดจากวันนี้ที่แม้ในตารางน้ำบอกว่าลงเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง น้ำปีนี้ไม่ลดต่ำเท่า 2-3 ปีก่อน แต่น้ำร้อนจี๋ในบริเวณที่เคยมีหญ้า อุณหภูมิน้ำ 40 องศา ในทรายลึก 10 เซนติเมตร บริเวณที่รากหญ้าฝังอยู่ อุณหภูมิ 36 องศา

ยังอาจเกี่ยวกับลมแรงมากในทิศทางผิดปรกติบางช่วง รวมถึงแนวปะการังที่เคยเป็นกำแพงกั้นคลื่น ทรุดโทรมจากปัญหาปะการังฟอกขาาวซ้ำซ้อน ทำให้ไม่สามารถลดแรงคลื่นได้เหมือนเดิม

จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แหล่งหญ้าทะเล 810+ ไร่ ใหญ่สุดในแนวปะการังภาคตะวันออก เป็นที่อยู่ของปลาเกือบ 30 ชนิด ปูม้าเต็มไปหมด ตอนนี้แทบไม่เหลืออะไรสักตัว ปลาเอย ปูเอย หายหมด เหลือแต่ทรายโล้นๆ

ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของระบบนิเวศดีสุดในโลก ก็ไม่มีเหลือเช่นกัน สภาพกลับกลายเป็นพื้นทรายธรรมดา มันน่าเศร้าเมื่อคิดว่าหญ้าทะเลที่ช่วยเรากักเก็บคาร์บอนมาตลอด สุดท้ายก็สู้โลกร้อนไม่ไหว พ่ายแพ้ตายจนหมดสิ้น แล้วใครจะช่วยเราลดคาร์บอน โลกก็ยิ่งร้อนหนักขึ้นอีก

ผมไม่ทราบว่าอีกนานแค่ไหน หญ้าทะเลจะกลับมา แต่เราคงพยายามภารกิจนี้จึงไม่จบแค่สำรวจ ยังรวมถึงการทดลองหาพื้นที่พอฟื้นฟูได้ ทดลองปลูกเพื่อพัฒนาวิธีในอนาคต ฯลฯ เดี๋ยวจะมาเล่ารายละเอียดให้เพื่อนธรณ์ฟัง แต่ตอนนี้ขอไปตั้งสติก่อน เพื่อนธรณ์อยากรู้รายละเอียดมากขึ้น ย้อนไปอ่าน 3 วันก่อน ผมเขียนเรื่องจุดจบและจุดจบก็มาถึงจริงครับ

นี่แหละครับคือหายนะโลกร้อนทะเลเดือดที่มาถึงเมืองไทยแล้ว ไม่ต้องรออีก 30-40 ปี มันเกิดขึ้นแล้วที่ตราด ที่ตรัง ที่กระบี่ และอีกบางที่ในทะเลไทยหญ้าทะเลของเราแย่มากแล้วครับ

หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ ช่วยให้เราตระหนักถึงความพินาศจากโลกร้อน ผลกระทบกับทะเล ภูมิอากาศ เศรษฐกิจปากท้อง และผู้คน อาจมีสักวันที่เราจะเอาจริงเรื่องโลกร้อนให้มากขึ้น เพื่อความหวังน้อยๆ ของเราและลูกเราครับ


https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_8210459


สายน้ำ 01-05-2024 03:38

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


เศร้า! 'ดร.ธรณ์' เปิดภาพหญ้าทะเล 810 ไร่ ที่เกาะกระดาด หายไปทั้งหมด

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

1พ.ค.2567- ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กพร้อมภาพหญ้าทะเล ว่า

เมื่อ 3 วันก่อน ผมเขียนมินิซีรี่ย์ "จุดจบ" โดยทิ้งท้ายว่า จะมาเขียนบทอวสานเมื่อมาสำรวจพื้นที่

และบทอวสานก็มาถึงจริง แม้จะภาวนาไว้ แต่หญ้าทะเล 810 ไร่ที่เกาะกระดาด (ตราด) หายไปทั้งหมดเลย

ทั้งหมดหมายความว่าหมดจริง ลองดูภาพเปรียบเทียบ ปี 2563 เห็นดงหญ้าสีดำกว้างใหญ่ กรมทะเลรายงานว่ามีหญ้า 6 ชนิด ความหนาแน่น 90% ของพื้นที่
วันนี้ คณะประมงมาสำรวจอีกครั้ง หญ้าไม่เหลือเลย

สีดำๆ ที่เห็นในภาพปี 67 คือเศษปะการังตายและสาหร่าย หญ้าทะเลเหลือเพียงไม่กี่ต้น กุดสั้น มองไม่เห็นจากโดรน

ที่นี่ไม่มีพะยูน ไม่มีเต่ามากินหญ้า ไม่มีการขุดลอกร่องน้ำ ไม่มีการพัฒนาใดในระหว่างปี 63-67

จึงสรุปได้ว่าโลกร้อนทำให้ทะเลแปรปรวนถึงขีดสุด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างฆ่าหญ้าทะเล

สาเหตุหลักน่าจะมาจากน้ำลงต่ำผิดปรกติในช่วงปี 64-65 ทุกอย่างแห้งผาก ผิดจากวันนี้ที่แม้ในตารางน้ำบอกว่าลงเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง น้ำปีนี้ไม่ลดต่ำเท่า 2-3 ปีก่อน

แต่น้ำร้อนจี๋ ในบริเวณที่เคยมีหญ้า อุณหภูมิน้ำ 40 องศา ในทรายลึก 10 เซนติเมตร บริเวณที่รากหญ้าฝังอยู่ อุณหภูมิ 36 องศา

ยังอาจเกี่ยวกับลมแรงมากในทิศทางผิดปรกติบางช่วง รวมถึงแนวปะการังที่เคยเป็นกำแพงกั้นคลื่น ทรุดโทรมจากปัญหาปะการังฟอกขาาวซ้ำซ้อน ทำให้ไม่สามารถลดแรงคลื่นได้เหมือนเดิม

จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แหล่งหญ้าทะเล 810+ ไร่ ใหญ่สุดในแนวปะการังภาคตะวันออก เป็นที่อยู่ของปลาเกือบ 30 ชนิด ปูม้าเต็มไปหมด ตอนนี้แทบไม่เหลืออะไรสักตัว

ปลาเอย ปูเอย หายหมด เหลือแต่ทรายโล้นๆ

ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของระบบนิเวศดีสุดในโลก ก็ไม่มีเหลือเช่นกัน สภาพกลับกลายเป็นพื้นทรายธรรมดา

มันน่าเศร้าเมื่อคิดว่าหญ้าทะเลที่ช่วยเรากักเก็บคาร์บอนมาตลอด สุดท้ายก็สู้โลกร้อนไม่ไหว พ่ายแพ้ตายจนหมดสิ้น

แล้วใครจะช่วยเราลดคาร์บอน โลกก็ยิ่งร้อนหนักขึ้นอีก
ผมไม่ทราบว่าอีกนานแค่ไหน หญ้าทะเลจะกลับมา แต่เราคงพยายาม

ภารกิจนี้จึงไม่จบแค่สำรวจ ยังรวมถึงการทดลองหาพื้นที่พอฟื้นฟูได้ ทดลองปลูกเพื่อพัฒนาวิธีในอนาคต ฯลฯ เดี๋ยวจะมาเล่ารายละเอียดให้เพื่อนธรณ์ฟัง

แต่ตอนนี้ขอไปตั้งสติก่อน เพื่อนธรณ์อยากรู้รายละเอียดมากขึ้น ย้อนไปอ่าน 3 วันก่อน ผมเขียนเรื่องจุดจบ

และจุดจบก็มาถึงจริงครับ

นี่แหละครับคือหายนะโลกร้อนทะเลเดือดที่มาถึงเมืองไทยแล้ว ไม่ต้องรออีก 30-40 ปี

มันเกิดขึ้นแล้วที่ตราด ที่ตรัง ที่กระบี่ และอีกบางที่ในทะเลไทย
หญ้าทะเลของเราแย่มากแล้วครับ

หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ ช่วยให้เราตระหนักถึงความพินาศจากโลกร้อน ผลกระทบกับทะเล ภูมิอากาศ เศรษฐกิจปากท้อง และผู้คน

อาจมีสักวันที่เราจะเอาจริงเรื่องโลกร้อนให้มากขึ้น เพื่อความหวังน้อยๆ ของเราและลูกเราครับ

ขอบคุณ ?บางจาก? และ ?เครือข่ายอนุรักษ์เกาะหมาก? และเพื่อนธรณ์ ผู้ช่วยสนับสนุนมาตลอดครับ
พี่สุวรรณ สำหรับภาพโดรนปี 63 ครับ Suwan Pita


https://www.thaipost.net/general-news/579040/


สายน้ำ 01-05-2024 03:43

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


'ทำไมฤดูร้อนของไทย อากาศร้อนจนแทบอยู่ไม่ได้ ?'

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
ภาพถ่ายจากเครื่องมือบนดาวเทียม Terra ของ NASA แสดงค่าเบี่ยงเบนจากค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิพื้นผิวในไทยและอินเดียในเดือนเมษายน 2559 (ที่มา :NASA Earth Observatory)

"ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส การศึกษาในปี 2563 [6] คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยจะเท่ากับของทะเลทรายซาฮาราภายในปี 2613 โดยสูงมากกว่า 29 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนที่เบาที่สุดในช่วงปี 2613 จะเทียบได้กับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุด ณ ปัจจุบัน และทำให้ประเทศไทยร้อนเกินกว่าที่จะอาศัยอยู่ได้ตลอดทั้งปี"

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ออกบทความ "ทำไมฤดูร้อนของไทยอากาศร้อนจนแทบอยู่ไม่ได้ ?"มีเนื้อหาดังนี้

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร อากาศจึงร้อนเป็นธรรมดา นี่เป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อย และหากจะตอบว่าเป็นเพราะโลกร้อนขึ้นอาจจะเหมารวม (oversimplify) ไปนิด เรื่องนี้เราต้องพิจารณาในทางเวลาหลายระดับ

ในช่วงฤดูร้อนของไทย อุณหภูมิสูงสุดในแต่ละวันอาจทะลุไปมากกว่า 40 องศา ดังที่เราเคยประสบ ประเทศไทยเจออากาศร้อนสูงขึ้น 12 องศาเซลเซียส มากกว่าค่าเฉลี่ยในพื้นที่ส่วนใหญ่ และมีการทำลายสถิติอุณหภูมิรายวันมากกว่า 50 ครั้ง จากข้อมูลที่ประมวลจากภาพถ่ายจากเครื่องมือบนดาวเทียม Terra ของ NASA แสดงค่าเบี่ยงเบนจากค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิพื้นผิวในไทยและอินเดียในเดือนเมษายน 2559 ข้อมูลที่บันทึกโดยกรมอุตนิยมวิทยาระหว่างปี 2494-2565 จังหวัดแม่ฮ่องสอนทุบสถิติอากาศร้อนสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียสในวันที่ 28 เมษายน 2559 [1]

แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกร้อนมากน้อย ไม่ใช่เป็นตัวเลขอุณหภูมิล้วนๆ แต่คือสิ่งที่เรียกว่า ?ดัชนีความร้อน(Heat Index)? คิดจากอุณหภูมิอากาศ(Air Temperature) และเปอร์เซ็นต์ของความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity%) กล่าวง่ายๆ คือเป็นอุณหภูมิที่เรารู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิอากาศจริง

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเจออุณหภูมิ 44.6 องศาเซลเซียสในวันนั้นที่แม่ฮ่องสอน และมีความชื้นสัมพัทธ์ 15% เราจะรู้สึกร้อนประมาณนั้นซึ่งจริงๆ แล้วก็เกินระดับเฝ้าระวัง ทำให้เราอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวได้

แต่เมื่อความชื้นสัมพัทธ์ขึ้นเป็น 35% ในอุณหภูมิ 44.6 องศาเซลเซียส ดัชนีความร้อน(ซึ่งไม่มีหน่วย) จะกลายเป็น 54 ที่ทำให้เราเป็นภาวะลมแดด(heat stroke) ในทันที


อุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือน

ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี เราสามารถสัมผัสกับอากาศร้อนที่อาจสูงถึง 40?C ในปี 2559 ประเทศไทยต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 65 ปี

เรารับรู้ถึงอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและจากสภาพอากาศสุดขั้ว ข้อมูลที่วิเคราะห์โดย Berkeley Earth [3] ชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนของประเทศไทยในทศวรรษล่าสุด (ปี ค.ศ.2020 ? เส้นสีแดง) เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนระหว่างทศวรรษ 1951-1980 (เส้นสีดำและแถบสีเทา)เกือบตลอดทั้งปี เดือนที่ร้อนที่สุดคือเมษายนโดยมีค่าเฉลี่ย 30.6 องศาเซลเซียส(พ.ศ.2562) เดือนที่มีอุณหภูมิต่ำสุดคือธันวาคมโดยมีค่าเฉลี่ย 23.8 องศาเซลเซียส(พ.ศ.2562 และ 2563)


อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยระยะยาวของไทย

ข้อมูลที่วิเคราะห์โดย Berkeley Earth [4] ที่เก็บรวบรวมตั้งแต่ พ.ศ.2383 (ช่วงรัชกาลที่ 3 ปีที่ 59 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นต้นมา อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส มากกว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.3 องศาเซลเซียส

ทำไมเราต้องแคร์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 1 หรือ 2 องศาเซลเซียส เพราะการผกผันของอุณหภูมิในแต่ละวันของพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ก็มากกว่านั้นอยู่แล้ว

คำตอบคือ การบันทึกอุณหภูมิพื้นผิวโลกนั้นแทนค่าเฉลี่ยของพื้นผิวทั้งหมด อุณหภูมิที่เราเจอในพื้นที่และในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นผันผวนขึ้นลงอย่างมากเนื่องจากเหตุการณ์ที่เป็นวัฐจักรซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ (กลางคืนและกลางวัน ฤดูร้อนและฤดูหนาว) แบบแผนของกระแสลมและการตกของฝน/หิมะ/ลูกเห็บ/น้ำค้างที่คาดการณ์ยาก แต่อุณหภูมิผิวโลกขึ้นอยู่ปริมาณพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์และพลังงานที่แผ่กลับออกไปนอกโลก ซึ่งขึ้นอยู่องค์ประกอบของสารเคมีในชั้นบรรยากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซเรือนกระจกที่มีคุณสมบัติกักเก็บความร้อน

อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาองศาเซลเซียส จึงมีนัยสำคัญยิ่งเนื่องจากต้องใช้ความร้อนมหาศาลในการทำให้มหาสมุทร ชั้นบรรยากาศและผืนแผ่นดินร้อนขึ้น(ที่ 1 องศาเซลเซียส) ในทางตรงกันข้าม การลดลงของอุณหภูมิผิวโลกเพียง 1 หรือ 2 องศา ในอดีตสามารถทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง (Little Ice Age) การลดลงของอุณหภูมิผิวโลก 5 องศา เพียงพอที่ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนืออยู่ใต้มวลน้ำแข็งหนาเมื่อ 20,000 ปีก่อน

ดังนั้น "โลกร้อน" จึงมิได้หมายถึงอุณหภูมิทุกจุดบนพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น 1 องศา อุณหภูมิในปีหนึ่งๆ หรือในทศวรรษหนึ่งๆ อาจเพิ่มขึ้น 5 องศาในที่หนึ่ง และลดลง 2 องศาในอีกที่หนึ่ง ฤดูหนาวที่เย็นผิดปกติในภูมิภาคหนึ่งอาจตามมาด้วยฤดูร้อนรุนแรงในเวลาต่อมา หรือฤดูหนาวที่เย็นยะเยือกในที่หนึ่งอาจถ่วงดุลด้วยฤดูหนาวที่อุ่นขึ้นอย่างผิดปกติในอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก โดยรวม ผืนแผ่นดินจะร้อนขึ้นมากกว่าพื้นผิวมหาสมุทร เนื่องจากมวลน้ำจะค่อยๆ ดูดซับความร้อนและค่อยๆ คายความร้อนออก (มหาสมุทรโลกมีความเฉี่อยทางความร้อนมากกว่าผืนแผ่นดิน) การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจึงแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละภาคพื้นทวีปและแอ่งมหาสมุทร

กลับมาที่ประเทศไทย เมื่อใช้แถบสี(Climate Stripe) [5] ด้านล่าง เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวระยะยาวในประเทศไทยซึ่งชี้ชัดถึงหน้าตาของภาวะโลกร้อนที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ได้เป็นอย่างดี

Berkeley Earth ยังได้ใช้แบบจำลองคาดการณ์อนาคตซึ่งหากไม่มีการลงมือทำอย่างจริงจังของประชาคมโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนถึง พ.ศ.2643 อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้น 2.5-5.5 องศาเซลเซียส โดยมีค่ากลางที่ 3.8 องศาเซลเซียส

เป็นเวลาหลายพันปีที่เผ่าพันธุ์มนุษย์วิวัฒนาการในพื้นที่ที่มีอุณภูมิเฉลี่ยทั้งปี (Mean Annual Temperature) ระหว่าง 11-15 องศาเซลเซียส โดยเป็นลักษณะของสภาพอากาศของโลกในช่วงแคบๆ แท้ที่จริงแล้ว เผ่าพันธุ์มนุษย์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ที่มีอุณภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่านี้มาก และต้องรับมือกับอุณหภูมิสูงสุดในฤดูร้อนที่ท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์

จากการศึกษาเกี่ยวกับคลื่นความร้อนของไทยในปี 2561 แม้แต่คลื่นความร้อนที่มีกำลังน้อยถึงปานกลางก็สามารถสร้างความเสียหายได้ นอกจากความเครียดจากความร้อนโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่เข้าไม่ถึงเครื่องปรับอากาศ ยังเพิ่มอุบัติการณ์ของโรคหัวใจ โรคปอดบวม และโรคติดเชื้ออื่นๆ

ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส การศึกษาในปี 2563 [6] คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยจะเท่ากับของทะเลทรายซาฮาราภายในปี 2613 โดยสูงมากกว่า 29 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนที่เบาที่สุดในช่วงปี 2613 จะเทียบได้กับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุด ณ ปัจจุบัน และทำให้ประเทศไทยร้อนเกินกว่าที่จะอาศัยอยู่ได้ตลอดทั้งปี

กลุ่มประชากรในไทยที่ต้องเผชิญอากาศร้อนจัดมักเป็นกลุ่มเปราะบางที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท หรือมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงระบบการลดความร้อน / ที่มา : https://earth.org/data_visualization...ot-to-live-in/
พื้นที่ตั้งถิ่นฐานขนาดใหญ่ในประเทศไทยทั้งหมดจะต้องเผชิญกับช่วงความร้อนสูงที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า อะไรคือมาตรการรับมือในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศต้องขยายตัวมากขึ้น เครือข่ายระบบเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่พอที่จะปกป้องประชากรส่วนใหญ่จะเป็นคำตอบหรือไม่

รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายไม่มีทางเลือกนอกจากพิจารณาถึงแผนการรับมือและปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทั้งคลื่นความร้อน ภัยแล้งยาวนาน อุทกภัย และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เป็นต้น

สิ่งสำคัญคือลงมือกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศบนรากฐานของความเป็นธรรมทางสังคม


หมายเหตุ :

[1] https://www.tmd.go.th/climate/tempmaxstatlatest
[2] http://www.arcims.tmd.go.th/Research...D%E0%B8%99.pdf
[3] http://berkeleyearth.lbl.gov/regions/Thailand
[4] Berkeley Earth จัดตั้งโดย Richard และ Elizabeth Muller ในช่วงต้นปี 2553 เมื่อพวกเขาพบข้อดีในข้อกังวลบางประการของผู้สงสัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขาจัดตั้งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อทบทวนและวิเคราะห์ข้อมูลอุณหภูมิผิวโลก และเผยแพร่ข้อค้นพบครั้งแรกในปี 2555 ปัจจุบัน Berkeley Earth เป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร
[5] Climate Stripe คิดโดย Professor Ed Hawkins (University of Reading) เพื่อให้บทสนทนาเรื่องโลกร้อนไปสู่วงกว้างมากขึ้นและสื่อสารออกมาได้ง่ายขึ้น แต่ละแถบแสดงให้เห็นถึงการเปรียบเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละปี (ถ้าเป็นสีฟ้าคือเย็นกว่าค่าเฉลี่ย ถ้าเป็นสีแดงคือร้อนกว่าค่าเฉลี่ย
[6] https://www.pnas.org/content/117/21/11350



https://www.thaipost.net/news-update/578820/

สายน้ำ 01-05-2024 03:45

ขอบคุณข่าวจาก อสมท.


เตรียมการรับมือ วิกฤตโลกเดือด

30 เม.ย.67 - กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เตรียมการรับมือ รู้เท่าทัน "วิกฤตโลกเดือด"

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเป็นห่วงประชาชนจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปีนี้ที่ร้อนและแล้งหนัก และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเตรียมการรับมือให้เท่าทันต่อวิกฤตโลกเดือด

ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยของไทย ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับอุณหภูมิเฉลี่ยโลก และจากที่ประชุม COP28 แสดงให้เห็นว่า ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 2.4 ? 2.7 องศาเซลเซียส ในปี พ.ศ. 2643 (ค.ศ. 2100) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกับศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิระดับภูมิภาคและพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (RU-CORE) ที่มีการคาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นไปถึง 2 - 3 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้ หากการลดก๊าซเรือนกระจกของโลกยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

"ในมุมของการลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่ท้าทายและเร่งขับเคลื่อนอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ทั้งพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรมและกระบวนการผลิต เกษตรและของเสีย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30-40 ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือเป้าหมายระยะยาวที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608"

การเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงระบบอากาศ ที่มีปัจจัยความเสี่ยงทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ซึ่งมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ทั้งการรับมือแบบรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน เช่น การแจ้งเตือนภัยความร้อนล่วงหน้า การเตรียมความพร้อมอพยพประชาชน และการเตรียมความพร้อมรับมือในระยะยาว ทั้งการบริหารความเสี่ยงของภัยที่อาจเกิดขึ้น ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรับมือกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง รวมถึงการประยุกต์ใช้แนวทางระบบนิเวศและธรรมชาติเป็นฐาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง

ขณะนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างบูรณาการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าสู่ 6 สาขา ได้แก่

1.สาขาการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นมิติการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ ลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยพิบัติจากน้ำ

2.สาขาเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร

3.สาขาการท่องเที่ยว ในมิติการจัดการความเสี่ยงและการเพิ่มขีดความสามารถของภาคการท่องเที่ยว

4.สาขาสาธารณสุข ในมิติระบบสาธารณสุขที่สามารถจัดการความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อสุขภาพ

5.สาขาการจัดการทรัพยากร ในมิติการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

6.สาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ในมิติของประชาชน ชุมชนและเมือง ที่มีความพร้อมและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อความเสี่ยงและผลกระทบอย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันในทุกมิติ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้และให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


https://www.mcot.net/view/u8wGuAkH


สายน้ำ 01-05-2024 03:50

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


ตะลึง! สัมผัส "ไมโครพลาสติก" ทำสารเคมีที่เป็นพิษเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้


SHORT CUT

- สารเคมีอันตรายในวัสดุกันไฟ และสารพลาสติก สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้จากการสัมผัสไมโครพลาสติก อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์

- การทดลองพบว่าสารเคมีจากไมโครพลาสติกถูกดูดซึมโดยผิวหนังได้ถึง 8% โดยผันแปรตามความชุ่มชื้นของผิว

- หากสัมผัสต่อเนื่องจะสะสมและอันตราย แม้หลายประเทศจะมีมาตรการควบคุม แต่สารเคมีก็ยังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม พบการดูดซับสารเคมีที่เป็นพิษเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางผิวหนัง จากการ "สัมผัสไมโครพลาสติก" หวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากสะสมในระยะยาว

งานวิจัยชิ้นนี้จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ถือเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่า สารเคมีอันตรายอย่างสารหน่วงการติดไฟและสารเคมีอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตพลาสติก สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ผ่านการสัมผัสกับไมโครพลาสติก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีที่ยังคงมีอยู่ในสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ผลการศึกษาพบว่าเมื่อสารเคมีเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในไมโครพลาสติก จะสามารถซึมเข้าสู่เหงื่อของมนุษย์ ทะลุผ่านผิวหนัง และเข้าสู่กระแสเลือดได้ในที่สุด ซึ่งเป็นเส้นทางการได้รับสารพิษที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน การค้นพบนี้จึงก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น หากมีการสะสมของสารอันตรายเหล่านี้ในร่างกายเป็นเวลานาน


ทำความรู้จัก ไมโครพลาสติก คืออะไร

ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ ชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ไมโครพลาสติกเกิดขึ้นได้จาก 2 แหล่งหลักๆ คือ

1. ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary Microplastics) เป็นไมโครพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาให้มีขนาดเล็กตั้งแต่แรก เช่น เม็ดพลาสติกที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือไมโครบีดส์ที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ขัดผิว

2. ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary Microplastics) เกิดจากการแตกหักหรือสึกหรอของผลิตภัณฑ์พลาสติกขนาดใหญ่ เช่น ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ และเศษชิ้นส่วนจากยางรถยนต์

ไมโครพลาสติกเหล่านี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย ทั้งในแหล่งน้ำ ดิน อากาศ และห่วงโซ่อาหาร จนกลายเป็นปัญหามลพิษที่น่ากังวล เพราะจากงานวิจัยพบว่าสิ่งมีชีวิตหลายชนิดกินไมโครพลาสติกเข้าไป ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อระบบนิเวศแล้ว ยังอาจเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าไมโครพลาสติกอาจดูดซับสารพิษต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม แล้วนำพาสารอันตรายเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว จึงเป็นประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์กำลังให้ความสนใจศึกษากันมากในปัจจุบัน


"ไมโครพลาสติก" อันตรายร้ายที่แทรกซึม

ดร. Ovoidroye Abafe จากมหาวิทยาลัยบรูเนล ผู้ร่วมงานวิจัยนี้ขณะที่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ได้ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกที่มีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นตัวนำพาหรือ "พาหะ" ของสารเคมีอันตรายเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ โดยสารเคมีเหล่านี้จะซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด และสะสมอยู่ในร่างกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากได้รับสัมผัสอย่างต่อเนื่อง

แม้หลายประเทศจะมีมาตรการควบคุมหรือห้ามใช้สารเคมีบางชนิดที่พบว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เกิดความเสียหายต่อตับและระบบประสาท เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง และส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ แต่สารพิษหลายชนิดที่ใช้เป็นสารหน่วงการติดไฟและสารพลาสติก ก็ยังคงมีอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์เก่าๆ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ พรม และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งอาจทำให้มนุษย์สัมผัสสารเคมีเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะผ่านไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม


วิธีวิจัย การดูดซึมของไมโครพลาสติก

ในการศึกษาวิจัยนี้ ทีมนักวิจัยได้ใช้แบบจำลองผิวหนังมนุษย์ 3 มิตินวัตกรรมใหม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นทางเลือก แทนที่จะใช้สัตว์ทดลองหรือเนื้อเยื่อมนุษย์แบบดั้งเดิม โดยนำแบบจำลองไปสัมผัสกับไมโครพลาสติกที่มีสารโพลีโบรมิเนเต็ด ไดฟีนิล อีเทอร์ (PBDE) ซึ่งเป็นสารหน่วงไฟที่พบได้ทั่วไป เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนจะวัดผลการดูดซึมสารเคมี

"ผลการทดลองพบว่า ผิวหนังสามารถดูดซึมสารเคมีที่มีอยู่ในไมโครพลาสติกได้สูงถึง 8% โดยระดับการดูดซึมจะแปรผันตามความชุ่มชื้นของผิวหนัง กล่าวคือ ผิวที่มีความชุ่มชื้นมากกว่าจะดูดซึมสารเคมีได้ในอัตราที่สูงกว่า"

ดร. Mohamed Abdallah รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ระบุว่าการค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลและผู้กำหนดนโยบายปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับไมโครพลาสติก รวมถึงปกป้องสุขภาพของประชาชนจากการสัมผัสสารอันตราย

งานวิจัยนี้ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการกับแหล่งกำเนิดและผลกระทบของไมโครพลาสติก ซึ่งกลายเป็นสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่พบได้ทั่วทุกมุมโลก แม้กระทั่งในบริเวณขั้วโลก

ที่มา
Innovation News Network
PHOTO : REUTERS



https://www.springnews.co.th/keep-th...ronment/849935



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:26

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger