SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 17 มกราคม 2567 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=6536)

สายน้ำ 17-01-2024 01:58

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 17 มกราคม 2567
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกปกคลุมภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนบนยังคงมีฝนตกบางพื้นที่ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางยังคงปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลางโดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง และการระบายของอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วน
อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 16 - 17 ม.ค. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งเกิดขึ้นได้ในภาคเหนือ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางจะมีอุณหภูมิลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียส ส่วนภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 17 ? 18 ม.ค.67 ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 22 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 - 3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคกลางตอนบนทำให้ภาคเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และมีอุณหภูมิลดลง 2 - 4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนลดลง


ข้อควรระวัง

ในวันที่ 17 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร ส่วนในช่วงวันที่ 17 ? 18 ม.ค. 67 ประชาชนในภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 17-01-2024 03:01

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


4 ชั่วโมงแห่งความทรมาน ปฏิบัติการช่วย "โลมาหลังโหนก" ถูกเชือก-ทุ่นรัดตัว

กรมอุทยานแห่งชาติฯ จับมือ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ช่วย "โลมาหลังโหนก" ติดเชือกลอบหมึกสาย พร้อมอิฐบล็อกถ่วงโคนหางบาดเจ็บ ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง จึงสำเร็จ

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

วันที่ 16 มกราคม 2567 มีรายงานว่า นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายแสงสุรี ซองทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ว่าเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จังหวัดตรัง (ศอท. จ.ตรัง)

ได้ออกปฏิบัติการติดตาม และเข้าช่วยเหลือโลมาหลังโหนก มีชีวิต บริเวณหน้าหาดมดตะนอย ซึ่งได้รับแจ้งในวันเดียวกัน ว่าพบโลมาหลังโหนกมีชีวิตถูกเชือกพร้อมทุ่นลอยพันรัดที่บริเวณโคนหาง ว่ายน้ำอยู่บริเวณหาดหยงหลิง ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อ.กันตัง จ.ตรัง

คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และติดตามช่วยเหลือโลมาหลังโหนกตัวดังกล่าว โดยได้นำเรือยางขนาดเล็ก เรือสปีดโบ๊ต และเรือพาดหางยาว จำนวน 9 ลำ พยายามเข้าช่วยเหลือโลมาโดยการใช้อวนล้อม และกระโดดจับ เพื่อทำการปลดเชือกที่โคนหาง ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง จึงสามารถจับตัวโลมา และปลดเชือกพันรัดที่โคนหางได้สำเร็จ

จากการตรวจสอบ พบว่าโลมาติดเชือกลอบหมึกสาย (กุ๊งกิ๊ง) ขนาดยาวประมาณ 1.2 เมตร และมีอิฐบล็อกถ่วงอยู่ด้านล่าง ทั้งนี้ สัตวแพทย์ประเมินอาการสัตว์เบื้องต้น พบว่าโลมามีขนาดประมาณ 1.7 เมตร อยู่ในช่วงวัยรุ่น สัตว์ยังมีการตอบสนองดี สามารถว่ายน้ำทรงตัวได้

พบบาดแผลถลอกบริเวณครีบหลัง และใต้โคนหางไม่เป็นบาดแผลฉกรรจ์ จึงทำการรักษาโดยการให้ยาลดปวดและยาแก้อักเสบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ก่อนทำการปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ประสานกับชุมชนในพื้นที่ ให้ช่วยเฝ้าระวังหากพบการเกยตื้นซ้ำในพื้นที่ต่อไป.


https://www.thairath.co.th/news/society/2755700


******************************************************************************************************


เตือน สนามบินคันไซในญี่ปุ่น ใช้งบสร้าง 6.6 แสนล้าน อาจจมทะเลใน 30 ปี

ผู้เชี่ยวชาญเตือน สนามบินคันไซ บนเกาะเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้น กลางอ่าวโอซากาของญี่ปุ่น ใช้งบก่อสร้าง 6.6 แสนล้าน กำลังจมลงทะเลอย่างช้าๆ จนอาจจมใต้น้ำภายใน 30 ปีข้างหน้า

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาเตือนด้วยความกังวล สนามบินนานาชาติคันไซ (Kansai International Airport) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเทียมจากการถมทะเล ในอ่าวโอซากา จังหวัดโอซากา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น และเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2537 กำลังจมทะเลอย่างช้าๆ โดยคาดว่าสนามบินคันไซอาจจมอยู่ใต้น้ำทะเลภายใน 30 ปีข้างหน้า

ทางการญี่ปุ่นกำลังรีบหาทางแก้ไขปัญหาสนามบินคันไซจมทะเลอย่างช้าๆ ขณะที่ตอนนี้อาคารจมลงไป 38 ฟุต นับตั้งแต่ก่อสร้าง ขณะที่ทีมวิศวกรรู้ว่าสนามบินคันไซจะจมทะเลภายในเวลากว่า 50 ปี แต่วิศวกรก็ไม่เคยจินตนาการไว้ว่าสนามบินคันไซจะจมเร็วขนาดนี้ เพราะได้คาดการณ์ไว้ว่าสนามบินจะอยู่ในระดับเสถียรอยู่ที่ความสูงประมาณ 13 ฟุต หรือราว 4.2 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นความสูงต่ำสุดที่วิศวกรประเมินไว้ว่าเป็นความสูงที่จำเป็นในการป้องกันไม่ให้สนามบินถูกน้ำทะเลท่วม

ขณะนี้มีการพยายามจะยกระดับเขื่อนกั้นน้ำทะเลให้สูงขึ้น โดยใช้งบประมาณ 117 ล้านปอนด์ หรือ 5.1 พันล้านบาท แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า อาจจะสายเกินไปในการรักษาสนามบินแห่งนี้ให้รอดพ้นจากการจมอยู่ใต้น้ำทะเล ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่าสนามบินคันไซจะจมอยู่ใต้ทะเลในปี ค.ศ. 2056 หรือปี พ.ศ. 2599

สนามบินคันไซ สร้างขึ้นบนเกาะเทียมจากการถมทะเล กลางอ่าวโอซากา ในเขตจังหวัดโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยมีการเปิดใช้งานสนามบินครั้งแรกในปี 2537

ยูกาโกะ ฮันดะ เจ้าหน้าที่ตัวแทนของการท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ เคยรายงานเมื่อปี 2561 ว่า เมื่อตอนก่อสร้างสนามบินคันไซบนเกาะเทียมนั้น ดินจำนวนมากที่ถูกนำมาถมทะเลเพื่อเป็นฐานรากของพื้นดินที่จำเป็นและการประมาณค่าการทรุดตัวจะนานกว่า 50 ปี หลังการก่อสร้างสนามบินคันไซ

โดยดินที่ถูกนำมาถมทะเลเพื่อสร้างเกาะเทียมในการก่อสร้างสนามบินคันไซ ถูกเปรียบเหมือนกับ ?ฟองน้ำเปียกๆ? ซึ่งจำเป็นต่อการจะแปรรูปไปเป็นเป็นฐานรากที่แห้งและแน่นหนา เพื่อรองรับน้ำหนักของอาคารต่างๆ ที่สนามบิน ขณะที่ตอนนั้นมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเล ก่อนจะถมทะเลสร้างเกาะเทียมแล้ว

ทั้งนี้ สนามบินคันไซ เป็นท่าอากาศยานนานาชาติของจังหวัดโอซากา ในภูมิภาคคันไซ เป็นสนามบินที่ตั้งอยู่บนเกาะเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้นในอ่าวโอซากา ห่างจากตัวเมืองโอซากา ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างนับ 15,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 6.6 แสนล้านบาท และสนามบินคันไซ เชื่อมต่อกับแผ่นดินไหญ่ด้วยสะพานและเส้นทางรถไฟความเร็วสูง

ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ เปิดใช้งานให้บริการเที่ยวบินครั้งแรกเมื่อปี 2537 นับเป็นสนามบินที่อยู่ใกล้นครโอซากามากที่สุด โดยสนามบินคันไซเป็น ?ฮับ? หรือสนามบินที่เป็นศูนย์กลางเดินทาง โดยสายการบินชั้นนำจำนวนมาก ไปยังจุดหมายปลายทางทั่วโลก รวมทั้ง All Nippon, Japan Airlnes และ Nippon Cargo รวมทั้งสายการบินโลว์คอสต์ อีกทั้งสนามบินคันไซยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า สนามบินนานาชาติคันไซด้วย


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2755050


******************************************************************************************************


แจงแล้ว "น้ำสีดำ" ไหลลง "หาดกะรน" หลังชาวบ้านหวั่น กระทบการท่องเที่ยว

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

นายกเทศมนตรี ชี้แจงแล้ว "น้ำสีดำ" ไหลลง "หาดกะรน" เนื่องจากตะกอนตกค้างที่สะสมและน้ำทะเลหนุน ด้านเจ้าหน้าที่เร่งสะสางเป็นการด่วน

จากกรณี โลกออนไลน์ได้มีการโพสต์ภาพ น้ำสีดำไหลลงทะเลหาดกะรน จุดหนองหาน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความแตกตื่นและวิ่งขึ้นจากทะเล โดยชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเชื่อกันว่าเป็นการลักลอบปล่อยน้ำเสียของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบนั้น

ล่าสุด วันที่ 16 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นได้พบกับ เรือเอกเจด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน นายกเทศมนตรีตำบลกะรน และนายสนั่น รักดำ ผู้อำนวยการกองช่างเทศบาลตำบลกะรน และ เจ้าหน้าที่งานบำบัดน้ำเสียเทศบาลตำบลกะรน พร้อมได้ลงพื้นที่ บริเวณหนองหานซึ่งเป็นสถานที่บำบัดน้ำเสียของ เทศบาลตำบลกะรน ก่อนปล่อยน้ำลงสู่ทะเล โดยทางเจ้าหน้าที่ งานบำบัดน้ำเสียได้ทดสอบให้ผู้สื่อข่าวดู

เริ่มจากการไปตักน้ำขึ้นมาจากบริเวณหนองน้ำ ที่มีสีดำก่อนปล่อยลงทะเล แต่ปรากฏว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ ได้มีการตักน้ำขึ้นมา และใส่ลงไปในหลอดแก้วน้ำดังกล่าวใส และไม่มีตะกอน เหมือนในภาพที่ออกไปเนื่องจากก่อนหน้านั้นมีตะกอนสะสมมาเป็นเวลานาน จึงภาพที่ปรากฏออกมาเป็นน้ำสีดำ

ทางด้าน เรือเอกเจด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน กล่าวว่า เมื่อตอนเช้าหลังจากเห็นข่าวจากสื่อโซเชียลก็ได้ลงไปดูจริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นเรื่องน้ำเสีย แต่ตรงนั้นเป็นท้องคลองมีคลองที่ไหลบำบัดน้ำเสียของเทศบาล และส่วนหนึ่งเป็นธรรมชาติซึ่งไหลลงสู่ทะเลซึ่งเป็นร่องน้ำหรือเป็นคลองธรรมชาติเมื่อก่อนน้ำขึ้นน้ำลงก็ตามปกติแต่ตอนนี้ในการน้ำเสียต่างๆ เราได้มีการบำบัดมีบริษัทดูแลมีคุณภาพที่ดีไม่มีเรื่องน้ำเสียแน่นอนแต่ในส่วนภาพที่เป็นน้ำเสียออกไปทาง ผอ.กองช่าง ได้ลงไปตรวจดูพร้อมเจ้าหน้าที่และตอนได้ลองไปดูด้วยน่าจะเกิดจากตะกอนที่ตกอยู่ที่ท้องคลอง หรือก้นคลองพอน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นไปทำให้การขยับของทรายหรือตะกอนต่างๆ ขึ้นไปด้วยพอน้ำทะเลลงน้ำที่ขังอยู่มากๆ ข้างบนก็ไหลกระชากลงไปก็ทำให้กระชากตะกอนที่อยู่ใต้ท้องคลองลงไปด้วย ทำให้เหมือนดูกับน้ำเสีย

แต่เมื่อบริษัทที่ดูแลน้ำเสียได้ลงไปตรวจสอบ ปรากฏว่าเป็นน้ำที่ใสปกติท้องคลองเท่านั้น ที่เป็นส่วนของตะกอนในส่วนรายละเอียดต่างๆ ผอ.กองช่าง กำลังตรวจสอบพร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่พิสูจน์ได้แน่นอนว่าน้ำไม่ได้เป็นน้ำเสียทางเทศบาลก็ดูแลความเรียบร้อยในการดูแลนักท่องเที่ยวเพื่อแม่การท่องเที่ยวเสียหายปีนี้ไม่มีน้ำเสียที่ไหลลงไป

ส่วน นายสนั่น รักดำ ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลตำบลกะรน กล่าวว่า ตามที่นายกฯ ได้ชี้แจงเมื่อกี้ขอพูดซ้ำอีกว่าสาเหตุน้ำที่เหมือนตะกอนดำไหลสู่ทะเลเมื่อวานสาเหตุหลักเนื่องจากน้ำทะเล ขึ้นสูงแล้วได้พักทรายขึ้นมากลบช่องระบายน้ำที่เป็นช่องทางออกของน้ำปกติสู่ทะเลทำให้ส่งผลน้ำที่บำบัดน้ำเสียที่มีมากกว่า 14,000 คิวต่อวันไหลย้อนกลับเข้ามาสู่หนองหานซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงที่ระดับ 3.2 เมตรซึ่งถือว่าสูงมากผิดปกติทำให้ที่กั้นทางน้ำพังทลายลงเมื่อน้ำทะเลลดลงทำให้กระชากตะกอนดำที่อยู่ในท้องร่องกับแนวร่องข้างหนองหานออกไปสู่ทะเลด้วยจากการตรวจสอบของหน่วยบำบัดน้ำเสียและการทดสอบของระบบปรากฏว่าน้ำยังเป็นปกติน้ำยังสะอาดน้ำเป็นน้ำที่ดีไม่ได้เป็นน้ำเสีย

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาก็ได้รองพื้นที่พร้อมกับวิศวกรรมวางแผนเบื้องต้นว่า ตอนเย็นวันนี้น้ำลงจะนำเครื่องจักรไปกวาดตะกอนดำออกและในอนาคตจะวางแผนก่อสร้างที่ดักตะกอนน้ำก่อนออกสู่ทะเลประมาณ 3 จุดเพื่อดูดก่อนเข้าบ่อบำบัดน้ำเสียเดิมคิดว่าอนาคตจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แต่วันนี้ต้องขอโทษสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกคนกังวลกันหมดว่าภาพที่ออกไปผ่านสื่อโซเชียลจะทำให้เสียภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเกิดความเสียหายเราพยายามแก้ปัญหาให้เร็วที่สุดไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้จะจบแน่นอนเราระดมทั้งคนและเครื่องจักรโดยเร่งด่วน.


https://www.thairath.co.th/news/local/south/2755690


สายน้ำ 17-01-2024 03:07

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


วิจัยสหรัฐค้นพบ 'นาโนพลาสติก' นับแสนๆ ชิ้นใน 'น้ำดื่ม' บรรจุขวดขนาด 1 ลิตร ............... โดย วรุณรัตน์ คัทมาตย์

วิจัยล่าสุด! พบอนุภาค "นาโนพลาสติก" 240,000 ชิ้นใน "น้ำดื่ม" บรรจุขวดขนาด 1 ลิตรตามท้องตลาดในสหรัฐ ซึ่งมากกว่าที่เคยพบในอดีตถึง 100 เท่า! โดยอนุภาคเหล่านี้สามารถเข้าสู่กระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ ได้

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

Key Points:

- งานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ค้นพบอนุภาคนาโนพลาสติก จำนวนเฉลี่ยถึง 240,000 ชิ้นในน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร ซึ่งมากกว่างานวิจัยก่อนหน้านี้ 100 เท่า!

- ทีมวิจัยสุ่มตรวจสอบน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร จากหลากหลายยี่ห้อในซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่งในสหรัฐฯ แล้วนำไปทดลองด้วยการฉายแสงเลเซอร์ชนิดพิเศษ ผลการทดลองพบว่ามีอนุภาคพลาสติกจิ๋วที่เกิดจากพลาสติก 7 ประเภท

- "นาโนพลาสติก" ก่อให้เกิดความกังวลมากกว่า "ไมโครพลาสติก" เพราะพวกมันมีขนาดเล็กกว่ามาก หากปนเปื้อนในน้ำดื่มและอาหารจึงมีแนวโน้มที่จะทะลุผ่านเยื่อบุลำไส้ หรือเข้าสู่กระแสเลือดได้มากกว่า


หลายปีที่ผ่านมามีรายงานเกี่ยวกับการปนเปื้อน ?ไมโครพลาสติก? ในอาหาร แหล่งน้ำ และอากาศ ให้ได้เห็นกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงหลังมานี้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้พบแค่การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกเท่านั้น แต่ยังเริ่มพบ "นาโนพลาสติก" ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน มีงานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ได้ค้นพบอนุภาคพลาสติกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จำนวนเฉลี่ยถึง 240,000 ชิ้นในน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร ซึ่งมากกว่าที่พบในงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ถึง 100 เท่า จึงเป็นเรื่องท้าทายบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวดตามท้องตลาดในสหรัฐ


"นาโนพลาสติก" สร้างความกังวลด้านสุขภาพมากกว่า "ไมโครพลาสติก"

"เป่ยซาน หยาน" หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า พลาสติกหลายล้านตันถูกผลิตขึ้นทุกปี อันเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรม, ประมง, ขยะในครัวเรือน และอย่างที่รู้กันว่าในปัจจุบันขยะพลาสติกเหล่านั้นปลดปล่อยไมโครพลาสติก (มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 1 ไมโครเมตร - 5 มิลลิเมตร) ออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก

การวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าอนุภาคไมโครพลาสติกเป็นพาหะส่งต่อมลพิษและเชื้อโรคมาสู่มนุษย์ได้ แต่ล่าสุดในงานวิจัยครั้งนี้ค้นพบว่ามีอนุภาคที่เล็กกว่านั้น นั่นคือ "นาโนพลาสติก" (มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 ไมโครเมตร) ปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความกังวลมากกว่าไมโครพลาสติก เพราะพวกมันอาจมีแนวโน้มที่จะทะลุผ่านเยื่อบุลำไส้ หรือเข้าสู่กระแสเลือดและสมองได้มากขึ้น

เนื่องจากอนุภาคนาโนพลาสติกมีความกว้างน้อยกว่า 1 ใน 70 ของเส้นผมมนุษย์ จึงมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ และแน่นอนว่ามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเช่นกัน การทำวิจัยครั้งนี้จึงต้องใช้เครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่


การทดลองด้วยแสงเลเซอร์ชนิดใหม่ ทำให้ตรวจจับ "อนุภาคนาโนพลาสติก" ขนาดเล็กจิ๋วได้

ทีมวิจัยได้พัฒนาเทคนิคที่เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งสามารถตรวจจับอนุภาคนาโนพลาสติกในน้ำได้ โดยพวกเขาสุ่มตรวจสอบน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร จำนวน 6 ขวด จากหลากหลายยี่ห้อในซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่งในสหรัฐฯ แล้วนำไปทดลองด้วยการฉายแสงเลเซอร์ชนิดพิเศษ ซึ่งลำแสงจะสั่นเมื่อกระทบกับอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วในน้ำ

ผลการทดลองพบว่ามีระดับอนุภาคพลาสติกอยู่ระหว่าง 110,000 - 400,000 ชิ้นต่อตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดทั้งหมด หรือเฉลี่ยแล้วขวดน้ำแต่ละขวดบรรจุ "อนุภาคพลาสติก" ประมาณ 240,000 ชิ้นจากพลาสติก 7 ประเภท ทั้งนี้ขนาดของการสั่นสะเทือนของเลเซอร์ยังระบุประเภทของพลาสติกในน้ำได้ด้วย โดยพบว่า 90% เป็นนาโนพลาสติก และอีก 10% เป็นไมโครพลาสติก ซึ่งบางส่วนก็มาจากตัวขวดเอง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นการศึกษาขนาดเล็ก ยังคงต้องขยายการศึกษาในวงกว้างอีกต่อไป ด้านทีมวิจัยเองก็หวังว่าจะปรับปรุงเทคนิคของพวกเขาเพื่อระบุชนิดของนาโนพลาสติกที่อยู่ในน้ำให้ได้มากขึ้นกว่านี้


ยังไม่มีข้อมูลยืนยันเรื่องความอันตรายจาก "นาโนพลาสติก" ที่ปนเปื้อนในน้ำดื่ม

ขณะเดียวกันก็มีคำถามตามมาว่า นาโนพลาสติกที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดตามผลวิจัยครั้งนี้ จะมีอันตรายต่อผู้บริโภคแค่ไหน? อย่างไร? เรื่องนี้ "ไนซิน เฉียน" นักศึกษาปริญญาเอกสาขาเคมี ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเป็นผู้เขียนรายงานการศึกษาชิ้นนี้คนแรก เปิดเผยว่า ทีมวิจัยยังไม่อาจให้คำตอบได้ว่า การค้นพบนี้ทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดมีอันตรายมากขึ้นหรือไม่ นั่นอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผลต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม เคยมีการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า อนุภาคนาโนของพลาสติกสามารถเข้าสู่เซลล์และเนื้อเยื่อในอวัยวะสำคัญเคลื่อนที่ผ่านกระแสเลือด และแพร่กระจายสารเคมีสังเคราะห์ที่อาจเป็นอันตรายในร่างกาย ไปถึงเม็ดเลือด ตับ และสมองได้

ขณะที่ เชอรี เมสัน จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้) กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า เป็นการศึกษาที่น่าประทับใจและแปลกใหม่มาก

"ปัจจุบันอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แต่ความสามารถในการวัดปริมาณและระบุชนิดอนุภาคพลาสติกเหล่านี้ได้จนถึงระดับนาโนพลาสติกนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในอนาคต" เชอรีกล่าว


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1108686


สายน้ำ 17-01-2024 03:20

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


ภารกิจสุดสำคัญ "แม่หมึก" อุ้มไข่เกือบ 3,000 ใบ นานหลายเดือนผ่านมหาสมุทร ................. โดย สุพัตรา ผาบมาลา

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

"หมึกตาดำ" (Gonatus Onyx) หรือรู้จักในลักษณะที่โดดเด่นของดวงตาข้างในสีดำโตและมีขอบสีขาว เป็นหนึ่งในหมึกสายพันธุ์ที่มีมากที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งสายพันธุ์ตัวแม่ขึ้นชื่อเรื่องของการดูแลไข่เป็นอย่างดี


ทำไม ? "แม่หมึก" ต้อง "อุ้มไข่"

การอุ้มไข่สามารถทำได้เพียงครั้งเดียวในหนึ่งชีวิตของการเป็น "แม่หมึก" โดยจำนวนไข่จะอยู่ที่ 2,000 - 3,000 ใบ และใช้ระยะเวลาประมาณ 6 - 9 เดือน ก่อนตัวแม่จะวางไข่จริง ๆ ในขณะที่ไข่หมึกค่อย ๆ เติบโตขึ้นอย่างเต็มที่ ความสามารถในการลากไข่ของแม่หมึกจากภัยอันตรายนั้นจะลดลง เช่นเดียวกันชีวิตตนเองก็ค่อยๆอ่อนแอลงเรื่อย ๆ

โดยปกติปลาหมึกชนิดนี้จะอาศัยอยู่บริเวณน้ำตื้น และช่วงผสมพันธุ์จะไม่สามารถว่ายน้ำได้เร็วนัก แต่เพื่อเป็นการปกป้องไข่จากอันตรายอย่างเต็มที่ก่อนวางไข่ จากเหล่านักล่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในมหาสมุทรนี้ จึงหลีกหนีด้วยการดำน้ำในมหาสมุทร ความลึกโดยประมาณต่ำกว่า 1,500 เมตร รายละเอียดจากงานวิจัยในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 66 ที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลไว้


ด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ กับการดูแลชีวิตตน

การลากไข่เพื่อหาที่วางไข่ ยังเป็นการปกป้องไข่ของตัวเองอีกด้วย จากการบันทึกการตอบสนองต่อเรือดำน้ำ ในรายงานปี 2548 ของ แบรด ไซเบล นักชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดาและเพื่อนร่วมงาน

และด้วยความที่ "ปลาหมึกตาดำ" ต้องอุ้มและลากไข่ด้วยหนวดที่ซึ่งปกติต้องว่ายน้ำด้วยหนวด ในระหว่างอุ้มไข่การว่ายน้ำในท่าเดิมอาจส่งผลกระทบให้ไข่หลุดออกจากกันได้ จึงใช้ครีบในการว่ายน้ำแทน และในระหว่างอุ้มไข่นั้น "แม่หมึก" จะไม่สามารถหาอาหารกินได้เอง จึงต้องพึ่งพาพลังงานที่สะสมไว้ในช่วงก่อนจะเริ่มวางไข่

แม้จะมีความเสี่ยง แต่การอพยพและมีชีวิตรอด ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ก่อนที่ลูกจะฟักตัวออกมา เป็นภารกิจสุดท้ายแสนสำคัญของ "แม่หมึก" เนื่องจากสามารถวางไข่ได้ครั้งเดียวก่อนจะสิ้นชีวิตไป หรือไม่ "แม่หมึก" เองที่อาจจะตายก่อน จากการพยายามปกป้องลูกก่อนลืมตาดูโลก


https://www.thaipbs.or.th/now/content/688


สายน้ำ 17-01-2024 03:21

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


5-3-5 พาชายหาดไทยกลับมาอยู่จุดที่ดีอีกครั้ง .................. โดย ฟาห์เรนน์ นิยมเดชา

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

เราเริ่มปี 2567 ที่ดูเหมือนมีท่าทีดีขึ้น เพราะตัวเลขงบประมาณของภาครัฐในการจัดการปัญหาชายหาดลดลงกว่าครึ่งจากปีก่อน ๆ จากพระราชบัญญัติร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่พึ่งเข้าสภาไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากที่ตัวเลขเคยสูงถึง 1,500 ? 1,600 ล้านบาทในปีก่อน ๆ แต่ตลอดสองทศวรรษกลับพบว่าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้จริง หนำซ้ำยิ่งเป็นการเพิ่มกำแพงกันคลื่นหลาย ๆ รูปแบบที่เป็นโครงสร้างทางวิศวกรรม ทำร้ายชายหาดไม่รู้จบ ผศ.ดร. สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเริ่มต้นวงเสวนา

แต่เมื่อเอางบประมาณ 800 ร้อยล้านบาทออกมากาง อาจารย์สมปรารถนา ชวนเรามองงบก้อนนี้ออกเป็นส่วนดำเนินการและงบศึกษา ส่วนดำเนินการคืองบที่เอาไปลงกับโครงการกำแพงกันคลื่นต่าง ๆ ซึ่งทำให้เห็นว่างบประมาณในส่วนนี้มีจำนวนสูงสุด ส่วนงบศึกษาก็จะเอาไปทำการศึกษาว่าส่วนไหนต้องมีการซ่อมแซมหรือเพิ่มเติมกำแพงกันคลื่นอีกบ้าง และจะตั้งงบประมาณเข้าสู่หน่วยงาน เพื่อของบดำเนินการในปีถัดไป ถึงจุดนี้อาจารย์สมปรารถนาชี้ให้เห็นว่านี่เป็นวิธีที่ไม่ทันการต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพราะพลวัตรของชายหาดนั้นมีสูงเกินกว่าที่จะใช้เวลาข้ามปีในการจัดการ นี่จึงเป็นต้นเหตุของความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หรือเฉพาะเจาะจงเท่าที่อาจารย์สมปรารถนาติดตามก็ล่วงระยะเวลากว่าสองทศวรรษ

สิ่งที่เราเห็นเด่นชัดที่สุดจากการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาดของรัฐ คือการเอาโครงสร้างทางวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็น กำแพงกันคลื่น เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งหรือรอดักทราย นี่เป็นโครงสร้างยอดฮิตที่หน่วยงานรัฐเลือกทำในการป้องกันชายฝั่ง แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่เคยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้เลยตลอดระยะเวลาสองทศวรรษนี้ อาจารย์สมปรารถนาได้หยิบยกกรณีศึกษาให้เราเห็น ถึงหลายกรณี ว่าการแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีนี้ จะยิ่งทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงยุคที่เราเรียกว่า "กำแพงกันคลื่นระบาด" ที่ปัจจุบันพบว่ากำแพงกันคลื่นปรากฏบนชายฝั่งอ่าวไทยแล้วเกือบ 200 กิโลเมตร

"ตามหลักวิทยาศาสตร์ คลื่นคือพลังงานอย่างหนึ่งที่ต้องการที่อยู่" กำแพงกันคลื่นคือสิ่งที่จำกัดการอยู่ของพลังงาน เพราะฉะนั้นคลื่นก็จะเคลื่อนตัวออกไปตามแนวกำแพงกันคลื่น และทำให้การกัดเซาะนั้นขยายวงต่อไป "ถ้ารัฐบอกว่าวิธีนี้คือการปกป้องชายหาด แต่ทำไมตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ชายหาดกลับคืนมาเลย"

"ผมจะพูดในสิ่งที่ผมอยากพูด ไม่ว่าพิธีกรจะถามอะไร" ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พูดติดตลกก่อนเริ่มลงเนื้อหาในส่วนของบทบาทและหน้าที่ที่ตัวเองสังกัด ในฐานะคนที่ทำงานด้านชายฝั่งมากว่าสามสิบปี อธิบดีฯบอกว่า สิ่งที่เรามีปัญหากันมาตลอดหลายสิบปี คือเรื่องของ HOW (ทำอย่างไร) ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็มีจุดประสงค์ไม่ต่างกัน แต่ต่างกันที่บริบทหน้าที่และข้อจำกัดของแต่ละคน วันนี้ฐานความรู้เรื่องการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งกว้างขึ้น มีการ OVERLAB กันมากขึ้น ไม่ใช่ว่าในอดีตนั้นทำผิดไป "แต่ความรู้ความเข้าใจในวันนั้นมีแค่นั้น" พวกเราที่อยู่ต่อในวันนี้ก็ต้องแก้ปัญหากันต่อ อธิบดีฯ เชื่อว่าวันนี้เรามาถูกทางแล้วและเราต้องเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งอธิบดีฯ ได้กล่าวว่าหลังจากนี้ ในฐานะที่ตัวเองเป็นหัวหน้าหน่วยและรับผิดชอบในส่วนงานโดยตรงก็กำลังผลักดันเพื่อสร้างชายหาดที่ยั่งยืน เช่น การผลักดันให้ทะเลไทยเป็น Blue Economy ที่ไม่ใช่เป็นทะเลที่สร้างรายได้ แต่ต้องเป็น Green Economy ที่ทำให้ทะเลไทยยั่งยืนด้วย

ส่วนที่สองคือการผลักดันองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในประเด็นของ Nature Base Solutions ให้ลึกลงไปตั้งแต่ระดับการศึกษา เพราะอธิบดีบอกว่าวันนี้ได้มีโอกาสไปดูหลักสูตรต่าง ๆ ก็เห็นข้อจำกัดที่ลดลงหรือแทบไม่มีข้อจำกัดเลย อย่างการเรียนข้ามคณะข้ามสาขา ให้ส่วนของวิศวะสามารถลงเรียนวิชาทางวิทยาศาสตร์ด้วย "เพราะถ้าหากมองเห็นว่าปัญหาของชายหาดมันเป็นพลวัตร ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงเดี่ยว" ก็จะทำให้เราเห็นวิธีการจัดการปัญหาได้ดีขึ้น จัดการปัญหาแบบชั่วคราว/ชั่วโคตรได้ง่ายขึ้นในทางนโยบาย

หรืออีกมิติที่สำคัญคือมิติทางกฎหมายที่ต้องจัดการแก้ไขกันต่อ ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินที่ตกน้ำไปแล้วจะทำอย่างไร หรือถ้าเกิดสามารถฟื้นฟูที่ดินบางส่วนกลับมาได้แล้ว จะบริหารพื้นที่ตรงนี้ต่ออย่างไร "เป็นไปได้ไหมจะเปิดโอกาสให้เกิดการสัมปทาน หรือให้เอกชนเข้ามาดูแลจัดการโดยไม่ลดประโยชน์การใช้ของสาธารณะออกไป" อธิบดีฯ ยกตัวอย่างจากพื้นที่ชายหาดหน้าโรงแรมของเอกชน ก็จะเห็นว่าเอกชนดูแลจัดการในพื้นที่ในส่วนนั้นได้ดีกว่าภาครัฐเสียอีก หรืออีกปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่คือเรื่องของภาษีที่ดิน ที่ตีความป่าชายเลนเป็นพื้นที่รกร้าง ในส่วนนี้จะเอาอย่างไร เพราะพื้นที่ป่าชายเลนเป็นที่เก็บน้ำ หากเรารุกป่าชายเลน ชายหาดก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

ข้อถกเถียงต่อปัญหาการกัดเซาะชายหาดถูกพูดถึงมากขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เพราะสิ่งที่ชี้ชัดที่สุดคือจำนวนชายหาดของเราลดลง ในขณะที่งบประมาณการจัดการการกัดเซาะเพิ่มขึ้นมาตลอดสิบปี เราเห็นชายหาดชะอำกลายเป็นขั้นบันไดคอนกรีต เห็นหาดชายปราณบุรี กลายเป็นกำแพงยาวมากกว่า 5 กิโลเมตร หรือหาดมหาราชที่จังหวัดสงขลาที่เกิดการกัดเซาะเพียงแค่ร่องน้ำปล่อยน้ำทิ้ง

แต่รัฐเลือกใช้วิธีแก้แบบวางโครงสร้างทางวิศวกรรมแบบถาวร สิ่งเหล่านี้ อาจารย์สมปรารถนากล่าวด้วยความเจ็บปวดว่า "ความฉิบหายเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากเพื่อนร่วมอาชีพของดิฉัน ข่าวร้ายคือคนเหล่านี้ได้เติบโตเป็นใหญ่เป็นโตและมีอำนาจ ข่าวดีคืออีกไม่นานก็จะตายจากกันหมดแล้ว" ในวันนั้นชายหาดไทยอาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ได้

กรณีที่เห็นชัดที่สุดคือกรณีของปากน้ำนาทับ จังหวัดสงขลา ที่สันทรายเคลื่อนตัวปิดบล็อกทางเข้าออกของเรือประมงชายฝั่ง แต่ในปี 2544 รัฐใช้วิธีสร้างรอดักทรายเพื่อป้องกันการปิดตัวของสันทรายหน้าปากน้ำ แต่ผลกระทบที่ตามมาคือเกิดการกัดเซาะขึ้นไปทางเหนือของรอดักทรายเพียง 800 เมตร ซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐสามารถที่จะจำกัดขอบเขตพื้นที่และฟื้นฟูบริเวณของการกัดเซาะเพียงแค่ 800 เมตร แต่สิ่งที่รัฐเลือกกลับไม่ใช่เพียงแค่การป้องกันแค่ 800 เมตรนี้ ซึ่งอาจารย์สมปรารถนาชวนชี้ให้เราเห็นว่า ผลพวงจากการแก้ปัญหาการกัดเซาะด้วยกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะแค่ 800 เมตร วันนี้กลับทำให้ชายหาดนาทับถึงตำบลบ่ออิฐ จังหวัดสงขลาเกือบ 10 กิโลเมตร ต้องเต็มไปด้วยกำแพงกันคลื่น เพราะการแก้ไขด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดการกัดเซาะออกไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ


สิ่งที่อาจารย์สมปรารถนาเสนอในวงเสวนาว่า ขอให้ตัวเลข 535 เป็นตัวเลขที่พาชายหาดไทยกลับมาอยู่จุดที่ดีอีกครั้ง ซึ่งอาจารย์เสนอ 5 เลิก 3 รื้อ และ 5 เริ่ม


5 เลิก

- เลิก รื้อหลังคาทั้งหลังเพราะกระเบื้องแผ่นเดียว คือเสนอให้รัฐเลือกสร้าง/ซ่อม เฉพาะส่วนที่จำเป็น ตรงไหนกัดเซาะก็แก้เฉพาะส่วนนั้น

- เลิก ถามหา One Solution Fits to All เพราะชายหาดต่างกัน พลวัตรแต่ละที่ก็ต่างกัน

- เลิก ใช้โครงสร้างแบบชั่วโคตร กับการกัดเซาะแบบชั่วคราว

- เลิก สร้างโครงสร้างป้องกันออกไปเรื่อย ๆ

- เลิก สร้างวาทกรรมการมีส่วนร่วมแบบพอเป็นพิธี


3 รื้อ

- รื้อ นิยามแนวชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งให้ชัดเจน เป็นที่เข้าใจที่ตรงกันของทุกงานที่มีส่วนรับผิดชอบ

- รื้อ โครงสร้างริมชายฝั่งที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมด

- รื้อ ระบบการจัดสรรงบประมาณ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแลจัดการ


5 เริ่ม

- เริ่ม กำหนดให้มีมาตรการถ่ายเททรายข้ามร่องน้ำ สำหรับร่องน้ำที่มีการสร้างเขื่อนกันทราย เพื่อลดการกัดเซาะตามปากแม่น้ำ

- เริ่ม กำหนดระยะถอยร่นชายฝั่งทะเลอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ชายหาดโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

- เริ่ม แนวทางการบรรเทาทุกข์กรณีเร่งด่วนแบบชั่วคราว รื้อถอนออกเมื่อควรแก่เวลา วิธีนี้จะได้ไม่ต้องใช้โครงสร้างที่ชั่วโคตร

- เริ่ม พิจารณามาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากการปรับใช้โครงสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก

- เริ่ม ปรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ ทั้งเชิงวิทยาศาสตร์และรัฐศาสตร์ (Coastal erosion framework) ซึ่งอาจารย์มองถึงปลายทางของพระราชบัญญัติป้องกันการกัดเซาะชายหาดที่เราจำเป็นต้องมี


อาจารย์สมปรารถนาชี้ว่าแม้ก่อนหน้านี้เราจะบอกว่าวิธีแบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่อ้างข้อจำกัดแบบเดิม ๆ แม้องค์ความรู้ก่อนนี้นั้นเป็นอย่างที่อธิบดีปิ่นสักก์พูด แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่ามันมีวิธีที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหา ถ้าหากผู้มีอำนาจ ผู้มีส่วนรับผิดชอบ "จะรับพิจารณาแนวทางเหล่านี้เอาไปปรับใช้ได้บ้างก็จะเป็นประโยชน์ต่อชายหาดไทย ไม่ใช่ดิฉัน"


https://decode.plus/20240106-breakwa...aters-thailand



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:10

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger