SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5130)

สายน้ำ 09-05-2020 03:22

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่งเกิดขึ้นในระยะนี้ เนื่องจากมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณหัวเกาะสุมาตรา ซึ่งจะส่งผลทำให้คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 10-13 พฤษภาคม 2563 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 8 - 9 พ.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น เนื่องจากลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดนำความชื้นเข้าปกคลุม ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด

ส่วนในช่วงวันที่ 10 - 14 พ.ค. 63 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณหัวเกาะสุมาตราจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 10 - 12 พ.ค. 63 และมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน ส่งผลทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 10 - 13 พ.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมทั้งฟ้าผ่าไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในช่วงวันที่ 10 - 12 พ.ค. 63



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 10-13 พฤษภาคม 2563)" ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 09 พฤษภาคม 2563

ในช่วงวันที่ 10-13 พฤษภาคม 2563 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยจะเริ่มแผ่เข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก่อน โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกจะเริ่มมีผลกระทบในคืนวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะเริ่มได้รับผลกระทบในวันถัดไป (วันที่ 11 พฤษภาคม 2563) จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย



https://i1198.photobucket.com/albums...pskxucppss.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...pscn32euv1.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...pst207kj9x.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psdcpibghd.jpg

สายน้ำ 09-05-2020 05:10

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ทะเลเขาหลักกลับมาสวยงาม ปะการังฟื้นตัว หลังไร้นักท่องเที่ยว

ระบบนิเวศทางทะเลฟื้นตัว ชายหาดเขาหลัก จ.พังงา แหล่งท่องเที่ยวจุดดำน้ำดูปะการังกลับมาสวยงาม มีฝูงปลาแหวกว่าย หลังปิดการท่องเที่ยว ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยธรรมชาติไม่ถูกรบกวน เกิดความอุดมสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด




https://www.thairath.co.th/video/new...hotclip/419193


*********************************************************************************************************************************************************


ไมโครพลาสติกในแกนน้ำแข็งแอนตาร์กติก

https://i1198.photobucket.com/albums...psswy70ekp.jpg
Credit : CC0 Public Domain

เมื่อปีที่แล้วมีนักวิจัยพบตัวอย่างของไมโครพลาสติกในน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ กลายเป็นหลักฐานเพิ่มของการแพร่กระจายมลพิษในมหาสมุทรของโลก และเมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ในออสเตรเลีย รายงานว่า พบหลักฐานของไมโครพลาสติกที่ถูกเก็บไว้ในแกนน้ำแข็งนอกชายฝั่งแอนตาร์กติกาเมื่อ 10 ปีก่อน

แกนน้ำแข็งที่ถูกรวบรวมไว้นี้ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทำความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับแอนตาร์กติกา ถูกนำมาจากพื้นที่ห่างประมาณ 2 กิโลเมตรจากชายฝั่งแอนตาร์กติกา และเก็บไว้ที่โรงงานในเมืองโฮบาร์ต รัฐแทสเมเนีย แกนน้ำแข็งขนาดยาว 1.1 เมตร กว้าง 14 เซนติเมตร เผยให้เห็นอนุภาค 96 ชนิดจากไมโครพลาสติก 14 ประเภท มีค่าเฉลี่ย 12 ชิ้นต่อลิตรของน้ำ อนุภาคทั้งหมดมีความยาว 5 มิลลิเมตรหรือสั้นกว่า ชนิดที่พบมากที่สุดคือพลาสติกที่ใช้ในผลิตภัณฑ์หลากหลาย

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า อนุภาคไมโครพลาสติกถูกล้อมรอบด้วยสาหร่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าพวกมันอาจถูกกินโดยตัวคริลล์ (Krill) สัตว์ทะเลตัวเล็กจิ๋วในกลุ่มเดียวกับกุ้ง และวาฬจะได้รับอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปเมื่อพวกมันกินตัวคริลล์อีกที.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1838676


สายน้ำ 09-05-2020 06:09

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ดร.ธรณ์ เผยปลาที่กองหินชุมพร เกาะเต่า ลดลงมากช่วงโควิด คาดเนื่องจากไม่อยู่ในเขตอุทยานฯ

ดร.ธรณ์ โพสต์ มีนักดำน้ำเผยปลาที่กองหินชุมพร จุดดำน้ำสำคัญของเกาะเต่าลดลงจำนวนมากในช่วงโควิด ชี้อาจเพราะไม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แนะหากกฎหมายไม่ครอบคลุม คนในท้องถิ่นสามารถนำเสนอขึ้นมาได้ และหวังว่าคงมีการตรวจสอบจริงจัง

https://i1198.photobucket.com/albums...pscgyg3klw.jpg

วันนี้ (8 พ.ค.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยถึงกรณีที่มีเพื่อนนักดำน้ำโพสต์ว่าปลาที่กองหินชุมพร จุดดำน้ำสำคัญของเกาะเต่าลดลงเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าอาจเกิดจากการเข้ามาจับปลาในช่วงท่องเที่ยวปิดโควิด

"ผมขอเสริมดังนี้ครับ กองหินชุมพรไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ กฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่าที่ค้นเจอ คือ

1. ประกาศกรมประมง (2519) ห้ามทำการประมงรอบเกาะเต่าและเกาะหางเต่า รัศมี 3,000 เมตร แต่มีข้อยกเว้นว่า สามารถทำเบ็ดราว อวนลอย หรือลอบทะเลได้

2. ประกาศเขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ คุ้นๆ ว่าหินชุมพรน่าจะอยู่ แต่ไม่มั่น ต้องถามผู้เกี่ยวข้องโดยตรงหากอยู่ จะมีกฎหมายกำหนดว่าห้ามจับสัตว์น้ำ มีบทลงโทษรุนแรงตามขนาดเรือด้วย สูงสุดถึง 30 ล้านบาท (150+ ตันกรอส)

3. ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากร (หมดอายุ 2564) น่าจะอยู่ในพื้นที่ 1 (ต้องดูรายละเอียดว่าคลุมถึงไหม) ในประกาศห้ามจับปลาสวยงานและการทำประมงบางประเภท (ลองอ่านที่แนบมาครับ)

สำหรับคำถามว่า มีการจับสัตว์น้ำในบริเวณนั้นหรือเปล่า? หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะติดตามดูได้จากระบบติดตามเรือ VMS ประกอบกับการขอภาพถ่ายข้อมูลจากผู้แจ้ง รวมถึงการสำรวจเพิ่มเติมในพื้นที่หากจำเป็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่นี้คงเป็นกรมประมงและกรมทรัพยากรทางทะเล หวังว่าคงมีการตรวจสอบต่อไป และหากกฎหมายไม่ครอบคลุมหรือใดๆ คนในท้องถิ่นสามารถนำเสนอขึ้นมาได้ เช่น เสนอให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ฯลฯ โดยผ่านตัวแทน/อบต. ฯลฯ เข้ามาทางกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประจำจังหวัดสุราษฎร์ฯ ครับ"

ทั้งนี้ มีชาวเน็ตที่รักทะเลจำนวนมากเข้ามากกดไลก์และแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วย และควรประกาศพื้นที่คุ้มครอง เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทางทะเลที่สร้างรายได้น่าจะเป็นอันดับต้นๆ ของอ่าวไทย โดยมียอดกดไลก์แล้วกว่า 300 ครั้ง


https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000048172


*********************************************************************************************************************************************************


ปี 2020 กำลังทำลายสถิติโลกร้อนที่สุด นักวิทยาศาสตร์เตือน! ภาวะโลกร้อน คือหายนะอันดับต่อไปของมนุษยชาติ

https://i1198.photobucket.com/albums...psixvp9nd3.jpg
ดินแดนอาร์กติก ในปีนี้อาจจะเห็นอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ( เครดิตภาพ: Alamy)

นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่ามีโอกาสถึง 50-75% ว่าในปี 2020 จะทำลายสถิติเป็นปีที่ร้อนที่สุด ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาทำให้ท้องฟ้าสะอาด แทบจะปราศจากมลพิษ อันเนื่องมาจากการล็อกดาวน์ ( Lockdown) ในหลายประเทศทั่วโลก แต่นั่นยังไม่ได้ช่วยอุณหภูมิโลกลดลง

ถึงแม้ว่าก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นใหม่ หรือ New Emission จะลดลง แต่ค่าความเข้มข้นสะสมยังสูงอยู่ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นจะต้องใช้แผนการระยะยาว และต้องการนโยบายเร่งด่วนจากรัฐบาลของหลายๆ ประเทศในโลกใบนี้เช่นเดียวกับมาตรการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

ก่อนหน้านี้คลื่นความร้อนที่ Antarctic ขั้วโลกใต้ , Greenland ขั้วโลกเหนือ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สร้างความประหลาดใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ เพราะปีนี้เป็นปีที่ปราศจากเอลนิโน (El Ni?o) และปรากฏการณ์นี้มักเกิดด้วยกัน จึงทำให้เดือนมกราคมที่ผ่านมาเป็นเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุด และประเทศในแถบ Arctic ขั้วโลกเหนือหลายประเทศพบกับปรากฏการณ์ไร้หิมะ ในขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขั้วโลกใต้วัดอุณหภูมิได้สูงถึง 20 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรก และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดินแดนกรีนแลนด์ (Greenland) ที่ขั้วโลกเหนือ ก็สามารถวัดอุณหภูมิได้ถึง 6 องศาเซลเซียส

https://i1198.photobucket.com/albums...pskc7lnyja.jpg
สกีรีสอร์ท ในกรานาดา ประเทศสเปน ถูกบังคับให้ใช้ปืนหิมะเทียมเนื่องจากขาดหิมะในฤดูหนาวนี้ (เครดิตภาพ: Carlos L Vives / Alamy)

องค์กร US Ntional Oceanic and Atmospheric Administration คำนวณถึงโอกาสในปี 2020 จะกลายเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุด สูงถึง 75% และมีความน่าจะเป็น 99.9% ที่ 2020 จะเป็นหนึ่งในท็อป 5 ของปีที่ร้อนที่สุด ในขณะที่สถาบันอื่นคำนวณความน่าจะเป็นแตกต่างออกไป The Met Office คำนวณไว้ที่ 50% ,NASA คำนวณไว้ที่ 60%

ในปีนี้ เวลาผ่านไปเพียง 1 ใน 3 ของปี แต่อุณหภูมิของยุโรปและเอเชีย กลับสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3 องศาเซลเซียส และเมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐอเมริกาก็ประสบกับคลื่นความร้อนเช่นกัน ในตัวเมือง Los Angeles วัดได้สูงถึง 34 เซนเซียส เช่นเดียวกับที่สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนเมษายนนี้ ก็วัดอุณหภูมิได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3 องศาเซลเซียส

Karsten Hausten นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศกล่าวว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเทียบกับยุค preindustrial กำลังขยับเข้าใกล้ 1.2 องศาเซนเซียส (ระดับที่ปลอดภัยคือ 1.5 องศาเซนเซียส) โดยจากฐานข้อมูลของเขา ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 1.14 องศาเซนเซียส

"แม้ว่าปีนี้ สถานการณ์ไวรัสโคโรนา ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยเพิ่มขึ้นใหม่สู่บรรยากาศจะลดลงบ้าง แต่ค่าความเข้มข้นที่สะสมในชั้นบรรยากาศยังไม่มีแนวโน้มลดลงเลย บทเรียนจากไวรัสโคโรนาครั้งนี้ เราควรจะพิจารณาการใช้พลังงานหรือการคมนาคมขนส่งที่ sustainable และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยใช้มาตรการที่เข้มงวดผ่านทางภาษี, carbon prices เป็นต้น"

Grahame Madge จาก Met Office กล่าวว่า "รัฐบาลและประชาชนต้องหันมาเชื่อใจและรับฟังข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง เพื่อต่อสู้กับหายนะอันดับต่อไปของมนุษยชาติ คือ ภาวะโลกร้อน"

https://i1198.photobucket.com/albums...psejk49dvp.jpg
ล็อกดาวน์ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เหตุจากไวรัสโคโรนา ทำให้สถานที่สำคัญว่างเปล่า เงียบสงบ (เครดิตภาพ : Andy Parsons)

หลายคนอาจไม่รู้ว่า โลกควรควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซนเซียส (จากงานวิจัยของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ) มิเช่นนั้นระบบนิเวศ และสภาพอากาศจะเสียหายถาวร ภายในปี 2050 และจะมีประชากรจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน ภัยธรรมชาติ ภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนอาหาร และต้องย้ายที่อยู่จากสภาพอากาศที่ร้อนเกินไปที่จะอยู่อาศัย รวมถึงน้ำทะเลที่หนุนสูงจนอยู่ไม่ได้ (และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น)


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000048041


สายน้ำ 09-05-2020 06:12

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


สัตว์ป่าโชว์ตัวถี่ "วราวุธ" เล็งปิดอุทยานทุกแห่งปีละ 3 เดือน

https://i1198.photobucket.com/albums...psmah9y60q.jpg

"วราวุธ" เตรียมเสนอปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศทั้ง 157 แห่งอย่างน้อยปีละ 3 เดือน เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ หลังพบสัตว์หายากออกมาใช้พื้นที่มากขึ้นช่วง 1 เดือนหลังปิดการท่องเที่ยวช่วง COVID-19 อยู่ระหว่างศึกษาช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

จากกรณีหลายอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ พบสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ทั้งอุทยานแห่งชาติทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะสัตว์ป่าหายากออกมาให้เห็นกัน เนื่องจากไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์ หลังประกาศปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

วันนี้ (8 พ.ค.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ภาพรวมช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมาหลังปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ พบเรื่องดีๆ เกิดขึ้นมีสัตว์ป่าออกมาหาอาหารและออกมารวมฝูงนอกพื้นที่มากขึ้น เพราะไม่มีมนุษย์เข้าไปรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

หากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ได้กำชับให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งทำตารางกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการปิดอุทยานแห่งชาติ 157 แห่ง เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของผืนป่า ทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ป่า เป็นเวลา 3 เดือนในทุกๆปี

https://i1198.photobucket.com/albums...psttbnydur.jpg
ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช


ศึกษาตารางเปิด-ปิดอุทยานแต่ละแห่ง

ขณะเดียวกันขอความร่วมมือประชาชนหากจะเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติขอให้ศึกษาตารางการเปิด-ปิดอุทยานแต่ละแห่งก่อน เพราะแต่ละอุทยานจะปิดไม่ตรงกัน ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์และเกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นายวราวุธ กล่าวว่า การเปิดอุทยานแห่งชาติในช่วงนี้ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน เพราะการท่องเที่ยวอาจเกิดการรวมตัวกันจำนวนมากของกลุ่มคน อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อีก อยากให้ปลอดภัยจริงๆก่อนแล้วเปิดท่องเที่ยว

โดยจะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานและระยะเวลาท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ โดยกรมอุทยานฯอยู่ระหว่างศึกษามาตรการที่จะใช้ในอนาคต

https://i1198.photobucket.com/albums...psz8g3rykd.jpg
ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช


เลียงผาโชว์ที่ผาเดียวดายเขาใหญ่

ล่าสุดเพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นำภาพเลียงผาที่ออกมาหากิน ที่บริเวณผาเดียวดาย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยระบุว่า (เลียง)?ผาเดียวดาย...#เขาใหญ่ในวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยว

https://i1198.photobucket.com/albums...psn9erxa0j.jpg

โดยก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอภาพหมีหมา ที่ถ่ายโดยนายปกครอง ทองเนื้อแข็ง หัวหน้าศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 3 จ.นครราชสีมา พบว่าหมีหมาตัวใหญ่ กำลังเดินข้ามถนนในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ช่วงขึ้นเนินยาวก่อนถึงค่ายอบรมเยาวชนสุรัสวดี หลังปิดอุทยานแห่งชาติทั้งหมดทั่วประเทศ? ตามมาตรการป้องกัน? COVID?-19? โดยไม่ค่อยพบตัวได้ง่ายๆ เพราะปกติเขาใหญ่จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว


https://news.thaipbs.or.th/content/292237



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:36

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger