SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   แผ่นดินที่หายไป (3) (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=63)

สายน้ำ 27-05-2009 06:54

แผ่นดินที่หายไป (3)
 
น้ำเซาะทราย......อันตราย...โลกตะลึง!! โดย จำนง ถีราวุฒิ

http://www.nicaonline.com/articles8/...es/numsoh1.jpg

เชื่อหรือไม่ครับ แผนที่โลกใหม่กรุงเทพหายไป ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หมู่เกาะดูรินและเกาะแซคาลินของรัสเซียจมอยู่ใต้ทะเล เมืองซานวาดอร์ เซาเปาโล ริโอดอร์จาเนโร และบางส่วนของอุรุกวัยจะจมหายไปในทะเลเหมือนกับหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ และอีกหลายๆ พื้นที่ของโลก ปรากฎการณ์เช่นนี้ถ้าถามผมว่าเชื่อหรือไม่ ตอนแรกก็ไม่ค่อยเชื่อ แต่พอดูข่าวหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ เช่นที่ประเทศอินเดีย เกาะโลฮาซาราจมหายไปในทะเล ส่วนเกาะโกรามาราซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันจมหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง แล้วอีกไม่นานประเทศตูวาลู ประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกและเกาะมาดากัสการ์จะจมหายไปเช่นกัน ไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตร การกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเลจะทวีความรุนแรงขึ้น เอ๊ะ!!!! มันเริ่มเป็นจริงแล้วนี่น่า......ถ้าจะให้ผมหลับหูหลับตาแล้วตอบอย่างเสียงแข็งว่าไม่เชี่อ ถึงอย่างไรก็ไม่เชื่อ เออ.....ถ้าตอบอย่างนี้ก็คิดหนักเหมือนกันนะครับ (ถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงอีกหลายปี นี่เป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณ)

การกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเลเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนต่างประเทศถือว่าหนักแล้วบ้านเราล่ะหนักมั๊ย??? ไม่ถึงกับประเทศต้องจมหายไปในทะเลครับแต่ก็เกิดขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะชายฝั่งด้านอ่าวไทย เสียหายหนักกว่าฝั่งอันดามันตั้งแต่ภาคตะวันออกลงมาถึงจังหวัดทางภาคใต้บางพื้นที่อาการค่อนข้างหนักเหมือนกัน ผมมีภาพและตัวอย่างของพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ จากการกัดเซาะของน้ำทะเลมาให้ดู เกิดขึ้นใกล้ๆ กับสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งนี่เองที่บ้านบ่ออิฐ ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง และที่บ้านปึก ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

http://www.nicaonline.com/articles8/...es/numsoh2.jpg
ภาพที่ 1 แสดงต้นหูกวางอายุนับ 100 ปี ถูกโค่นล้ม


http://www.nicaonline.com/articles8/...es/numsoh3.jpg
ภาพที่ 2 แสดงถนนพังเสียหาย


http://www.nicaonline.com/articles8/...es/numsoh4.jpg
ภาพที่ 3 แสดงน้ำกัดเซาะชายฝั่งที่บ้านปึก

ภาพที่1 เกิดขึ้นที่บ้านบ่ออิฐ ต้นไม้ที่เห็นเป็นต้นหูกวางอายุร่วม 100 ปี คุณลุงในภาพท่านยืนยันได้ท่านอายุ 80 ตอนเด็กๆ ก็เห็นต้นหูกวางต้นนี้อยู่แล้ว แต่เอ๊ะ คุณลุงในภาพหน้าตาคุ้นๆ อ๋อ คุณลุง ถาวร ถีราวุฒิ คุณพ่อผมเอง ไม่ได้เล่นเส้นนะครับ พอดีเห็นว่าท่านผูกพันและชอบไปนั่งพักผ่อนใต้ต้นหูกวางต้นนี้อยู่เป็นประจำใช้เป็นที่หลบร้อน เวลาออกไปทอดแห ก็เลยนำท่านมาเป็นนายแบบเสียเลย ภาพที่ 2 แต่ก่อนไปไหนมาไหนระวังแค่อุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วไป แต่เดี๋ยวนี้ไม่น่าเชื่อขี่รถต้องระวังตกทะเล ภาพนี้เกิดขึ้นที่บ้านบ่ออิฐเช่นกัน ส่วนภาพที่ 3 เกิดขึ้นที่บ้านปึกสภาพเป็นอย่างที่เห็นนี่แหละครับรุนแรงไม่แพ้บ้านบ่ออิฐเช่นกัน
ผลที่ได้รับมันรุนแรงเหลือเกินแล้วสาเหตุจริงๆ มันคืออะไรกันแน่หลายท่านคงสงสัย

สาเหตุที่สำคัญมีอยู่ 2 ประการ

1. เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล กระแสน้ำมีการเปลี่ยนแปลง คลื่นลมแรง ปริมาณตะกอนจากทะเลที่พัดพาเข้าฝั่งลดลง และปริมาณฝนตกที่มากกว่าปกติ

2. เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์นอกจากจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนแล้วการปลูกสิ่งก่อสร้างก็มีส่วนสำคัญเช่นกันการสร้างเขื่อนหรือฝายกั้นน้ำ การสร้างท่าเทียบเรือ การถมสร้างชายหาดเทียมเป็นต้น สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ขัดขวางการพัดพาของตะกอนก่อให้เกิดการพังทลายของชายหาด


สายน้ำ 27-05-2009 06:55


แนวทางการแก้ไข

แนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสามารถทำได้ 2 วิธีคือ

1) การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบไม่ใช้โครงสร้างเหมาะสำหรับชายฝั่งที่มีชุมชนไม่แน่นหนาการกัดเซาะไม่รุนแรง เช่น การปลูกต้นไม้

2) การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมเหมาะสำหรับบริเวณชายฝั่งที่มีปัญหาถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง เช่น เติมทรายชายฝั่ง ก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งกั้นคลื่น ก่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่นใต้น้ำ ก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งกั้นคลื่นสลับกับก่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่นใต้น้ำ ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเป็นต้น

ตอนนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่บ้านบ่ออิฐ และบ้านปึกใช้แนวทางแก้ไขแบบใช้โครงสร้างทาง วิศวกรรมโดยการก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งกั้นคลื่นของกรมขนส่งทางน้ำพาณิชยนาวีกระทรวงคมนาคม (ดูรูปที่ 4 ประกอบ ) และจะสร้างต่อไปจนถึงชายฝั่งบริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3-7 ตำบลเขารูปช้าง

http://www.nicaonline.com/articles8/...es/numsoh5.jpg
ภาพที่ 4 แสดงเขื่อนหินทิ้งกั้นคลื่น

จากวิกฤตที่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่ง บ้านปึก บ้านบ่ออิฐ บ้านเนินชายทะเล บ้านทุ่งใหญ่ อำเภอ เมือง จังหวัดสงขลา กรมประมงโดยสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา เป็นเสือปืนไวอีกเช่นเคยครับ เล็งเห็นถึงการสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส ( ไม่ใช่การสร้างโอกาสให้เป็นวิกฤตเหมือนที่สังคมไทยกำลังกระทำอยู่ขณะนี้นะครับ) พื้นที่ว่างระหว่างแนวหินกั้นคลื่นกับชายฝั่ง นอกจากจะใช้เป็นแนวกั้นคลื่นลมแล้วที่ตรงนั้นแหละครับสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลามองว่าน่าจะใช้เป็นที่เลี้ยงปลาในกระชัง สร้างแหล่งทำกินที่ใหม่ให้กับชาวบ้านส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชัง ด้วยการรวมกลุ่มกันเลี้ยง กลุ่มละประมาณ 20 คน ช่วยกันดูแล ช่วยกันเลี้ยง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงานครับถ้าหากว่ามีความคืบหน้าประการใดผมนำมาเสนอให้ทราบอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน

สภาวะโลกร้อน ธารน้ำแข็งละลายระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คลื่นลมแปรปรวนการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงมีผลทำให้แผนที่โลกเปลี่ยน ฟังดูแล้วน่าใจหายเหมือนกันน่ะครับถึงแม้ว่าบ้านเราไม่รุนแรงถึงขนาดประเทศต้องจมอยู่ใต้ท้องทะเล.......จริงสินะประเทศของเราอาจจะไม่จมเพราะน้ำท่วมหรือน้ำกัดเซาะชายฝั่งหรอก เพราะบ้านเมืองของเรากำลังจะจมด้วยคนในประเทศทะเลาะกันเองมากกว่าแต่ถึงอย่างไรก็อย่าให้เกิดกับบ้านเมืองของเราเลย ถึงแม้ว่ามันเป็นคำขอที่ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน จะช่วยได้ พวกเรางัยครับ พวกเรานี่แหละคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงที่จะช่วยโลกและประเทศไทยของเราได้ การแก้ไขปัญหาที่กระทำอยู่ในขณะนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ช่วยกันคนละไม้คนละมือนะครับหยุด!!!!! พฤติกรรมที่ทำให้เกิดโลกร้อนนี่ต่างหากที่เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว......สัญญาสิครับ




จาก : สถาบันวิจัยและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง วันที่ 12 พฤษภาคม 2552

Birdie 27-05-2009 07:59

อืมม์ พวกบ้านแถวสมุทรปราการอย่าง Birdie เนี่ย ก็เสียว ๆ น้ำท่วม น้ำเซาะชายฝั่งจนไม่เหลือแผ่นดินให้อยู่เหมือนกันค่ะ บรึ๋ยส์

อยากแวะไปแอบดูบ้านปึกที่สงขลาเหมือนกันนะคะเนี่ย

janny 30-05-2009 21:29

เห็นว่าหมู่เกาะมัลดิฟก็จะเป็นอย่างนี้ในอนาคตใช่ไหมคะ
บางคนบอกว่าให้ไปก่อนที่น้ำทะเลจะท่วมเกาะภายใน ปีสองปีนี้ค่ะ
ไม่รู้ว่าจะเป็นความจริงหรือเปล่า

zmax 08-06-2009 09:09

เพื่อผมที่เป็นคนมัลดิฟก็เรียนจบ ซื้อบ้านที่นี่ แต่งเมีย(คนไทย) เรียบร้อยแล้วครับ
เห็นว่าจะย้ายครอบครัวมาอยู่เมืองไทยด้วย(ได้ด้วยเหรอ....??) มันว่างั้นอ่ะครับ

สายน้ำ 12-06-2009 06:55


ลั่น 4 เดือนผุด “เขื่อนไม้ไผ่”กู้แผ่นดิน

http://www.siamrath.co.th/ImagesUpload/bangk1.JPG

“บางขุนเทียน”จี้กทม.ทำจริง/ชี้สัญญาณเตือนชายฝั่งไทยย่อยยับ

กทม.ย้ำแค่รอ “คุณชาย” อนุมัติปุ๊บเปิดประมูลหาผู้รับเหมาปั๊บ นักวิชาการระบุไม่รีบทำวันนี้ 40 ปี แผ่นดินหายอีก 3 กม. ชี้ถ้ากทม.แก้ไม่ได้ อย่าหมายชายฝั่งทั่วไทยจะเหลือ

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.52 เวลา 13.00 น. ที่ลานชายทะเลบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพ จาก 6 ชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนได้จัดเวทีเสวนาเนื่องในโอกาส 149 วัน การเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เกี่ยวกับการแก้ปัญหาชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะซึ่งเรื้อรังมากว่า 40 ปี สูญเสียแผ่นดินกว่า 3,000 ไร่ ขณะที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากกทม.ตามที่ผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์รับปากไว้ขณะหาเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีตัวแทนจากกทม.คือ นายชัยนาท นิยมธูร ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบหลัก สำนักการระบายน้ำ และผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สำนักผังเมือง กทม. ร่วมชี้แจง รวมทั้งมีผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IPCN) และ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมด้วย

http://www.siamrath.co.th/ImagesUpload/bkt.JPG

ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านได้สอบถามความคืบหน้าโครงการสร้างเขื่อนสลายกำลังคลื่นของกทม.ว่าอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งนายชัยนาทกล่าวว่า จากการประชุมกับชาวบ้านเมื่อวันที่ 17 มี.ค.52 ได้ข้อสรุป 2 แนวทางคือ ทำแนวไม้ไผ่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า, เสนอของบประมาณทำเขื่อนกันคลื่นถาวรรูปตัวที หรือทีกรอยน์ จะใช้งบประมาณปี 53 ได้นำเสนอผู้บริหารกทม.แล้ว สำหรับการทำเขื่อนไม้ไผ่ สำนักงบประมาณอนุมัติหลักการแล้ว ขณะนี้รอการอนุมัติจากผู้บริหารกทม. คาดไม่กี่วันจะทราบผล และจะเปิดประมูลด้วยระบบอี-อ็อกชันหาผู้รับเหมาต่อไป คาดไม่เกิน 4 เดือน จะดำเนินการได้

ด้านดร.อานนท์กล่าวว่า ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งมีสาเหตุ 2 ประการ ทั้งการทรุดตัวของแผ่นดินและความแรงของคลื่น ที่ผ่านมาอัตรากัดเซาะชายฝั่งเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 20 เมตร/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากไม่เร่งแก้ไขภายใน 40 ปี แผ่นดินชายฝั่งอาจจะร่นเข้ามา 3 กิโลเมตรเป็นอย่างน้อย สำหรับเขื่อนไม้ไผ่นั้นป้องกันได้เฉพาะความรุนแรงของคลื่น แต่ไม่อาจกันปัญหาแผ่นดินทรุดได้ การเพิ่มแผ่นดินให้งอกกลับมาดังเดิมนั้น มนุษย์จะต้องรบกวนให้น้อยที่สุด โดยจะต้องอาศัยความเข้าใจและความเสียสละของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

http://www.siamrath.co.th/ImagesUpload/241.JPG

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาใดจะดีที่สุดนั้น ดร.อานนท์ว่า ไม่ฟันธง เพราะปัญหาลุกลามจนเลยจุดที่จะพิจารณาว่าสูตรใดเป็นสูตรสำเร็จ และการทดลองใดๆ อาจเสี่ยงเกินไปด้วย และจากที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐเถียงกันเรื่องแก้ปัญหา จึงเสนอให้หาคนกลางให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ทั้ง กทม. , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมเจ้าท่า, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพที่สุด หรือไม่ดำเนินการแต่วันนี้ปัญหาจะยิ่งลุกลาม โดยเฉพาะกทม.เป็นพื้นที่ปัญหาแรกและพื้นที่ตัวอย่าง หากแก้ไขไม่ได้ พื้นที่ชายฝั่งทั้งประเทศก็มีสิทธิย่อยยับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อการประชุมเสร็จสิ้น กลุ่มชาวบ้านต่างยิ้มแย้มแจ่มใส หลังจากทราบว่าภายใน 4 เดือนนี้ กทม.จะมีแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้มีความหวังขึ้นอีกครั้งและต่างขอให้กทม.ทำจริงอย่างที่พูดโดยเร็วที่สุด



จาก : สยามรัฐ วันที่ 11 มิถุนายน 2552

สายน้ำ 15-06-2009 07:01


149วัน “คุณชาย” 40 ปีที่รอคอย สัญญาใจ 4 เดือน “เขื่อนไม้ไผ่”

http://www.siamrath.co.th/ImagesUpload/d2015c1.JPG

ในที่สุดก็มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เล็ดลอดเข้ามาสร้างความหวังให้ชาวบ้านชาวประมงชุมชนชายทะเลเขตบางขุนเทียน กทม.เสียที

หลังการตั้งวงเสวนาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา มี “สัญญาณ” ที่ดีส่งมาจากผู้แทนกทม.เกี่ยวกับการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งซึ่งเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อและเรื้อรังมานานนับสิบๆ ปี โดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

“สยามรัฐ” ในฐานะที่ติดตามทำข่าวปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน จนถึงสมัยของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ยังอดรู้สึกดีใจ ไปกับชาวบ้านไม่ได้เหมือนกันที่จะได้เห็น “อะไร” เป็นชิ้นเป็นอันเสียที

หลังเข้าๆ ออกๆ พื้นที่มาหลายปีดีดักเพื่อทำข่าวเสนอสาธารณชน จน “ได้รู้ได้เห็น”อะไรมามากมายและมีข้อมูลเต็มจนล้นลิ้นชัก แต่กลับไร้ความคืบหน้า

**************************************


เรื่องที่ว่านี้คือข้อมูลจากปากของนายชัยนาท นิยมธูร ผอ.กองพัฒนาระบบหลัก สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. ที่ระบุว่า ขณะนี้สนน.กำลังอยู่ระหว่างรอผู้บริหารกทม.อนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนไม้ไผ่สลายกำลังคลื่น เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างรอโครงการก่อสร้างเขื่อนถาวร “ที-กรอยน์” ที่เสนอของบประมาณ (ปีพ.ศ.2553) ไปแล้วเช่นกัน

“...ไม่เกิน 4 เดือน”

กทม.รับปากชาวบ้านว่าจะได้เห็นเขื่อนไม้ไผ่เป็นรูปเป็นร่างแน่นอน พร้อมกับรับพิจารณาการจ้างแรงงานเป็นชาวบ้านในพื้นที่ด้วย เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งยังได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนไปในตัว

149 วันของผู้ว่าฯ “คุณชาย” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร บวกกับอีก 4 เดือนนับจากนี้เพื่อที่จะได้เขื่อนไม้ไผ่มาปกป้องการสูญเสียแผ่นดินไทยเป็นการชั่วคราว

จะว่าช้าก็ช้า จะว่าเร็วก็เร็ว โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเวลาและผืนแผ่นดินที่เสียไปตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ผ่านผู้ว่าฯ กทม.มาแล้วหลายยุคหลายสมัย

ต้องไม่ลืมว่าจนถึงวันนี้ เรา (กทม.-ประเทศไทย) สูญเสียแผ่นดินไปแล้วกว่า 3,000 ไร่ จากป่าชายเลนแนวกันชนเดิม 2,735 ไร่ ที่เคยอยู่เลยหลักเขตกทม.ออกไป บัดนี้สูญสิ้นไม่เหลือซาก และที่ดินทำกินของชาวบ้านที่บริจาคให้รัฐใช้เป็นกันชนอีก 405 ไร่ ก็แทบไม่เหลือ

ปัจจุบันหลักเขตกทม.ลอยคออยู่กลางทะเลห่างจากฝั่ง 1 กิโลเมตร!

http://www.siamrath.co.th/ImagesUpload/bkt4.JPG

****************************************


จากข้อมูลที่ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เฝ้าสังเกตและศึกษานั้นระบุว่า ปัจจุบันชายฝั่งของไทยถูกน้ำทะเลกัดเซาะเป็นแนวถอยร่นเฉลี่ย 20 เมตรต่อปี จากสาเหตุ 2 ประการคือแผ่นดินทรุดและความรุนแรงของคลื่นลม

ที่น่ากลัวก็คือ จากการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งมีความเป็นไปได้ว่าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

จากการทำนายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์นั้น อีก 40 ปีข้างหน้าแนวถอยร่นจะขยับเข้ามาจากเดิมอีก 3 กิโลเมตรเป็นอย่างต่ำ และไม่สามารถที่จะหยุดเองได้ด้วย!

“ต้องรีบทำอย่างรอบคอบที่สุด” คือใจความสำคัญที่ดร.อานนท์ฝากถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนทำด้วยเม็ดเงินมหาศาล

นอกจากจะต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์แล้ว ยังจะต้องระวังด้วยว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้พื้นที่ใกล้เคียงแทนหรือไม่ เพราะสภาพปัญหาในปัจจุบันนั้นรุนแรงจนเลยจุดที่จะใช้สูตรสำเร็จสูตรใดสูตรหนึ่งไปแล้ว ดังนั้น รูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาจึงยังไม่สามารถฟันธงได้

http://www.siamrath.co.th/ImagesUpload/bkt3.JPG

#############################################



ประเด็นที่น่าจับตามองหลังจากนี้คือ เรื่องของโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นถาวรของกทม.ที่กว่าจะสรุปได้ต้องเสียเงินจ้างบริษัทที่ปรึกษาหมดงบประมาณไปนับสิบล้านบาท กับระยะเวลาศึกษาอีกนานนับปี เพียงเพื่อที่จะสรุปรูปแบบโครงการให้ชาวบ้านคัดค้านจนต้องยกเลิกไป

กว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบเสร็จก็ล่วงไปเป็นปีๆ จึงจะสามารถเสนอเรื่องขออนุมัติให้ผู้บริหารกทม.พิจารณาได้ เมื่อช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

ที่ต้องจับตาคือโครงการดังกล่าวจะไปสะดุดหรือติดขัดอะไรอีกหรือไม่ เพราะเป็นโครงการใหญ่ที่มีหลายหน่วยงานจับตาอยู่ด้วยเช่นกัน อีกยังต้องดูด้วยว่าเพื่อนบ้านในจังหวัดติดกันและใกล้เคียงในอ่าวไทยจะว่าอย่างไร เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

เข้าทำนอง บ้านใคร ใครก็รัก ขณะที่กทม.ในฐานะพี่ใหญ่เองจะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างซึ่งจะเป็นต้นแบบให้ที่อื่นๆ นำไปปรับใช้

สุดท้าย “สยามรัฐ” ขอย้อนกลับไปที่เรื่องค้างคาใจที่ “ได้รู้ได้เห็น” ซึ่งกล่าวไปแล้วในตอนต้น นั่นก็คือเรื่อง “ความโปร่งใส” ของทุกฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานแก้ปัญหากู้วิกฤติแผ่นดินที่ว่านี้

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือภาคประชาชนชาวชุมชนก็ตาม ขอให้จริงใจกับการแก้ไขปัญหามากกว่าตั้งแง่ หรือมองแต่เรื่องของผลประโยชน์ และต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

ลด ละ เลิก “วิชามาร-การวางยา” สารพัดที่เคยใช้กัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อแผ่นดินไทย หาใช่ของใครสักคน...



จาก : สยามรัฐ วันที่ 15 มิถุนายน 2552

สายน้ำ 23-07-2009 06:52


ทำเขื่อนซีออสแก้นํ้าเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน


นายประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในโครงการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ว่า คณะผู้บริหารเห็นชอบในวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งด้วยการสร้างเขื่อนตาห่าง โดยเป็นการนำขี้เถ้าผสมกับพลาสติกอัดให้เป็นแท่งสามเหลี่ยม (ซีออส) ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวทางสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำการวิจัยศึกษา ซึ่งผลที่ออกมาพบว่าแท่งซีออส ดังกล่าวสามารถลดแรงปะทะของคลื่นทะเลได้ รวมไปถึงช่วยดักตะกอนดินให้เพิ่มมากขึ้น และมีอายุการใช้งานนานประมาณ 10-15 ปี ทั้งนี้ไม่ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำด้วย

ซึ่งขณะนี้ทางสำนักการระบายน้ำ (สนน.) เตรียมเสนอของบปี 2553 จำนวน 300 ล้านบาทเพื่อดำเนินการแล้ว เริ่มด้วยการใช้เสาซีออสปักลงน้ำ ความยาวตามแนวเขตของ กทม. มี 3 ระยะ โดยระยะแรกจะปักห่างจากฝั่งประมาณ 50 เมตร ส่วนระยะที่ 2 และ 3 ก็จะปักเป็นระยะห่างเท่าๆกัน ทั้งนี้วิธีดังกล่าวจะสามารถเพิ่มเนื้อที่ดินได้ภายใน 1 ปี จากนั้นแล้วกทม.จะเข้าไปปลูกต้นโกงกางเพื่อยึดหน้าดินต่อไป

ทั้งนี้ ได้ยกเลิก ทีกรอยน์ เนื่องจากใช้งบประมาณถึง 700 ล้านบาท ทั้งนี้ก่อนที่กทม.จะดำเนินการสร้างซีออส ล่าสุด สนน. ได้ของบกลางปี 2552 จำนวน 10 ล้านบาทเพื่อนำมาสร้างเขื่อนไม้ไผ่แก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะในช่วงนี้ไปก่อน



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 23 กรกฎาคม 2552

สายน้ำ 07-09-2009 08:06


เที่ยวทะเลกรุงเทพฯ ชมป่าชายเลน สำรวจแผ่นดินที่หายไป

http://pics.manager.co.th/Images/552000011221401.JPEG
บรรยากาศชุมชนริมคลองพิทยาลงกรณ์

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของเอเชีย คราคร่ำไปด้วยตึกรามบ้านช่องและถนนที่กว้างใหญ่ หากแต่ในความวุ่นวายของเมืองหลวงแห่งนี้ ยังมีพื้นที่เล็กๆ อีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่อันเงียบสงบและยังคงความเป็นธรรมชาติอันสวย งามอยู่เป็นอย่างมาก เรากำลังพูดถึงทะเลกรุงเทพฯ หรือที่รู้จักกันว่าชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งอยู่ในพื้นที่แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครนี่เอง

จากการลองสอบถามคนทั่วไปพบว่าชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่ากรุงเทพมหานครมีอาณาเขตติดกับทะเล ประกอบกับที่ผ่านมาสภาพถนนไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางจึงทำให้ทะเลกรุงเทพฯ ไม่เป็นที่นิยมนักสำหรับวันหยุดพักผ่อน ผู้ที่ไปเยี่ยมชมทะเลกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานราชการที่เดินทางไปในลักษณะหมู่คณะเพื่อการทัศนศึกษา สำหรับกิจกรรมหลักของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้คือการนั่งเรือออกไปที่ปากอ่าว เพื่อชมทะเล แวะดูหลักเขตกรุงเทพมหานครซึ่งตั้งอยู่กลางน้ำห่างจากแนวชายฝั่งไปประมาณ 500 เมตร และพักรับประทานอาหารที่ร้านริมทะเล แต่บริเวณที่เราจะไปสำรวจในวันนี้คือพื้นที่ป่าชายเลนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชายทะเลบางขุนเทียน และนักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมทะเลกรุงเทพฯ น้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสไปสำรวจสถานที่แห่งนี้ เนื่องจากไม่มีเส้นทางคมนาคมให้เข้าถึงได้ด้วยรถยนต์หรือเรือ การเข้าไปเยี่ยมชมจึงต้องอาศัยการเดินล้วนๆ เส้นทางศึกษาธรรมชาติและสำรวจป่าชายเลนเส้นนี้จึงร้างผู้คนและเงียบเหงาเป็น พิเศษ จะเรียกว่าเป็นสถานที่ unseen อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยก็คงไม่ผิดนัก

http://pics.manager.co.th/Images/552000011221402.JPEG
หลักเขตกรุงเทพมหานครที่ไปอยู่กลางทะเลอันนี้ พึ่งได้รับการกู้ขึ้นมาจากใต้น้ำเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สำหรับการเดินทางไปชมป่าชายเลนบางขุนเทียนนั้นเริ่มจากที่ถนนพระราม 2 เลี้ยวเข้าถนนบางขุนเทียน-ชายทะเลซึ่งในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงลาดยาง เสร็จสมบูรณ์ตลอดทั้งเส้นแล้ว ขับรถตรงเข้าไปประมาณ 15 กิโลเมตรจนสุดทาง จะพบ 3 แยกให้เลี้ยวขวา (ทางไปสมุทรสาคร) และตรงไปอีกเพียง 200 เมตรจะพบกับโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ สามารถนำรถเข้าไปฝากจอดในโรงเรียนได้ ตรงข้ามโรงเรียนจะพบทางเข้าชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ จากจุดนี้สามารถเลือกที่จะเดิน เช่ารถจักรยานจากทางโรงเรียน หรือจ้างรถจักรยานยนต์ให้เข้าไปส่งก็ได้ โดยต้องเดินทางเข้าไปด้านในระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะเส้นทางเป็นถนนคอนกรีตขนาดเล็กสำหรับให้คนและรถจักรยานยนต์สัญจร เมื่อมาสุดทางจะพบกับชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งสร้างเป็นสะพานไม้ทอดผ่านเข้าไปในป่าชายเลนมีปลายทางที่ริมทะเล มีระยะทางโดยรวม 1.7 กิโลเมตร สำหรับสะพานไม้นี้จัดสร้างโดยเขตบางขุนเทียนบนพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสมาชมและศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศป่าชายเลน โดยผู้ที่นำรถจักรยานหรือจักรยานยนต์เข้ามาจะต้องจอดรถไว้ที่บริเวณทางเข้า ไม่อนุญาตให้ขับขึ้นไปบนสะพานทางเดิน

http://pics.manager.co.th/Images/552000011221403.JPEG
บรรยากาศบริเวณบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของชาวบ้าน

บรรยากาศตลอดเส้นทางชมป่าชายเลนมีความร่มรื่นจากการที่สองข้างทางมี ต้นโกงกางและแสมขนาดใหญ่ปกคลุมอย่างหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีศาลาสำหรับนั่งพักผ่อนอยู่เป็นระยะ สิ่งหนึ่งที่ผู้เยี่ยมชมป่าชายเลนจะได้ยินเสมอคือเสียงดัง ป๊อก-แป๊กอยู่เป็นช่วงๆ ซึ่งเกิดจากกุ้งชนิดหนึ่งที่มีก้ามขวาขนาดใหญ่มีชื่อเรียกว่ากุ้งดีดขัน และยังมีสัตว์อื่นๆ ที่พบได้ในพื้นที่นี้ เช่น ปลาตีน ปูก้ามดาบ หอยชนิดต่างๆ ส่วนบริเวณริมทะเลสามารถพบนกได้หลายชนิด เช่นนกยางและนกนางนวล ซึ่งถือได้ว่าป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่าง มาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันป่าชายเลนผืนนี้กำลังถูกทำลายไปจนแทบจะหมด สิ้นแล้ว จากข้อมูลที่สำรวจโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าในอดีตกรุงเทพมหานครเคยมีป่าชายเลนประมาณ 2,750 ไร่ แต่ต่อมาได้มีการนำพื้นที่บริเวณนี้ไปจัดสรรและพัฒนาเป็นที่ดินทำกิน เช่นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำนาเกลือ รวมไปถึงการขยายตัวของชุมชน นอกจากนี้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงและต่อเนื่องอันเกิดจากการเปลี่ยน แปลงของสภาพอากาศโดยรวมก็เป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้พื้นที่ป่าชาย เลนกรุงเทพฯ ลดลงไปอย่างมาก โดยพบว่าปัจจุบันกรุงเทพมหานครเหลือพื้นที่ป่าชายเลนไม่ถึง 1,000 ไร่ โดยป่าเหล่านี้มีลักษณะเป็นหย่อมเล็กๆ ส่วนพื้นที่ป่าเดิมจมอยู่ในน้ำทะเลหมดแล้ว

http://pics.manager.co.th/Images/552000011221404.JPEG
บรรยากาศอันรมรื่นของทางเดิน ปกคลุมไปด้วยต้นแสมและโกงกาง



สายน้ำ 07-09-2009 08:06


เมื่อเราเดินมาใกล้ถึงปลายทางซึ่งเป็นจุดชมวิวทะเล จะได้ยินเสียงเครื่องเรือของชาวบ้านแว่วมาในระยะไม่ไกล แสงสว่างจากท้องทะเลส่องผ่านปากทางร่มไม้สองข้างที่โอบตัวเป็นเหมือนอุโมงค์ เมื่อพ้นบริเวณร่มไม้มาแล้วจะพบศาลานั่งเล่นขนาบอยู่ทั้งสองข้างของทางเดิน และปรากฏผืนน้ำทะเลอยู่เบื้องหน้า ซึ่งแม้น้ำทะเลจะไม่ได้มีสีสันสวยงามเหมือนแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อแห่ง อื่น แต่ที่แห่งนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นทะเลแห่งเดียวของเมืองหลวงอันทันสมัยนี้ โดยสะพานไม้จะทอดยาวออกไปในทะเลและที่สุดทางทำเป็นจุดยืนชมวิว โดยเมื่อมองออกไปในระยะไม่ไกลจะพบฝูงนกยางและนกนางนวลกำลังพักผ่อนและหา อาหารอยู่บริเวณแนวชายฝั่งเป็นจำนวนมาก

http://pics.manager.co.th/Images/552000011221405.JPEG
แนวไม้ไผ่ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการรับมือปัญหากัดเซาะชายฝั่ง

และที่ตรงนี้เองที่เราได้เห็นถึงปรากฏการณ์กัดเซาะชายฝั่งที่ได้ยิน ตามสื่อต่างๆ อยู่เป็นประจำ สิ่งที่สังเกตเห็นคือแนวต้นแสมที่ล้มระเนระนาดและประตูระบายน้ำเข้านากุ้ง ที่จมอยู่กลางทะเลซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของการสูญเสียแผ่นดินชายฝั่งซึ่ง เป็นปัญหาใหญ่ของชาวกรุงเทพฯ ทุกคน แต่สิ่งที่ทำให้เราพอชื้นใจขึ้นมาบ้างคือได้เห็นมีการเริ่มสร้างแนวไม้ไผ่ เพื่อลดแรงปะทะของคลื่นในบริเวณนี้แล้ว จากคำบอกเล่าของอาจารย์เกรียงศักดิ์ ฤกษ์งาม หรือครูแดง อาจารย์ประจำโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์และผู้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์สิ่งแวด ล้อมในพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน การกัดเซาะชายฝั่งกรุงเทพฯ ได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่ในอดีตปัญหานี้ไม่ได้รับการใส่ใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากนัก แต่เมื่อชาวบ้านในท้องที่เริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น จึงได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จนผลักดันให้เกิดเป็นโครงการความร่วมมือแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมใน ปัจจุบัน

http://pics.manager.co.th/Images/552000011221406.JPEG
สภาพแนวต้นแสมที่ล้มลงก่อนหน้าที่จะมีการสร้างแนวไม้ไผ่เพื่อลดความแรงคลื่น

สำหรับการแก้ปัญหาการกัดเซาะนั้น เดิมทางกรุงเทพมหานครได้เคยจัดสร้างแนวหินทิ้งบริเวณชายฝั่งเพื่อลดแรงปะทะ ของคลื่น ต่อมาได้เสนอการสร้างรอดักทรายรูปตัวทีหรือ “ที-กรอยน์” (T-Groin) โดยการวาง “ใส้กรอกทราย” แต่ชาวบ้านในพื้นที่ได้คัดค้านแนวทางนี้ โดยอธิบายว่าเมื่อใส้กรอกทรายแตกออกจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชาย เลนจากการกระจายตัวของทรายซึ่งไม่ใช่ส่วนประกอบตามธรรมชาติของหาดเลน นอกจากนี้ครูแดงยังเล่าต่อไปว่าการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งด้วยการสร้างแนว ไม้ไผ่นั้น ชาวบางขุนเทียนได้ต้นแบบมาจากตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งประสบปัญหาเดียวกัน ปรากฏว่าแนวไม้ไผ่นั้นนอกจากจะช่วยลดแรงปะทะของคลื่นได้ดีแล้ว ยังช่วยในการกักเก็บตะกอนที่อยู่ในน้ำ ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนที่จะงอกกลับมาเป็นพื้นดินอีกครั้งด้วย อีกทั้งไม้ไผ่ยังเป็นวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ และได้ช่วยสร้างงานให้กับชาวบ้านในจังหวัดอื่นที่ปลูกต้นไผ่เพื่อขาย และชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้รับการว่าจ้างให้ปักแนวไม่ไผ่อีกด้วย โดยที่ผ่านมาโครงการสร้างแนวไม้ไผ่นำร่องในเขตทะเลบางขุนเทียนความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิชุมชนไทย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาชุมชนท้องถิ่นโดยใช้ภูมิปัญญาชาว บ้านและแรงงานในพื้นที่

http://pics.manager.co.th/Images/552000011221407.JPEG
ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางขุนเทียน

นอกจากการเดินศึกษาเส้นทางป่าชายเลนแล้ว สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้ในการมาเที่ยวชมทะเลกรุงเทพฯ ครั้งนี้คือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางขุนเทียนซึ่ง ตั้งอยู่ในโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์นั่นเอง ซึ่งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้ มีการจัดแสดงประวัติความเป็นมา รวมไปถึงข้อมูลสถานที่ต่างๆ ของเขตบางขุนเทียนเอาไว้อย่างละเอียด โดยมีการแยกหมวดหมู่การจัดแสดงไว้ดังนี้: ภาพรวมกรุงเทพฯ, บางขุนเทียนบนเส้นทางประวัติศาสตร์, สวนบางขุนเทียน, ชาวพื้นเมืองในบางขุนเทียน, บุคคลสำคัญของบางขุนเทียน, สถานที่สำคัญของบางขุนเทียน, ทะเลกรุงเทพฯ, และบางขุนเทียนวันนี้ นอกจากนี้ภายในพื้นที่ด้านหลังของโรงเรียนยังได้มีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ ระบบนิเวศป่าชายเลนบางขุนเทียน โดยมีการปลูกพืชชายเลนชนิดต่างๆ และจำลองวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่เขตบางขุนเทียนมาจัดแสดงให้ชมอย่างครบ วงจร เรียกได้ว่าเป็นการย่อส่วนป่าชายเลนและชุมชนท้องถิ่นมาไว้ให้ชมได้ภายใน พื้นที่จำลองแห่งนี้นั่นเอง นอกจากนี้ผู้เยี่ยมชมยังสามารถทดลองปลูกป่าชายเลนภายในแปลงสาธิตในบริเวณ เดียวกันนี้ได้อีกด้วย

ก่อนเดินทางกลับเรายังได้แวะไปเที่ยวชมบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชาว บ้านและสัมผัสวิถีชีวิตการทำกินของคนในพื้นที่ ซึ่งในบริเวณนี้มีการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ หอยแครง และปูม้าอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อวัตถุดิบอาหารทะเลเหล่านี้ติดมือกลับบ้านได้ในราคา ย่อมเยา หรือหากต้องการสัมผัสวิถีชีวิตลูกน้ำเค็มชาวบางขุนเทียนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น สามารถติดต่อขอค้างคืนแบบโฮมสเตย์ได้ที่บ้านในชุมชนแสนตอได้อีกด้วย ซึ่งการมาเยี่ยมชมป่าชายเลนและทะเลกรุงเทพฯ นอกจากจะได้มาเที่ยวทะเลโดยไม่ต้องขับรถไปไกลแล้ว ยังได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีโอกาสชิมอาหารทะเลที่อร่อยในราคาไม่แพงไปพร้อมกัน เห็นอย่างนี้แล้ววันว่างโอกาสต่อไป หากยังนึกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวไม่ออกหรือไม่อยากเดินทางไปไกล อย่าลืมนึกถึงชายทะเลบางขุนเทียนที่แสนสงบแห่งนี้ที่ซึ่งรอคอยการมาเยี่ยมชม ของท่านเสมอ



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 6 กันยายน 2552



สายน้ำ 02-10-2009 07:08


ทะเลบางขุนเทียน ก้องโลก ตีแผ่ภาวะโลกร้อน


สื่อต่างชาตินับ 10 แห่ง เตรียมตีแผ่ปัญหาน้ำกัดเซาะฝั่งบางขุนเทียน หลังเกิดวิกฤติโลกร้อน เพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในไทยเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก ขณะโครงการเขื่อนไม้ไผ่ยังไม่คืบ ....

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นายชัยนาท นิยมธูร ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบหลัก สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดประมูลหาผู้รับเหมาผ่านระบบอี-อ็อคชั่นเพื่อเข้ามา ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนชั่วคราว แบบปักไม้ไผ่ เป็นแนวขนานห่างจากชายฝั่ง 50-100 เมตร ยาว 3.7 กิโลเมตรตลอดแนวฝั่งของ กทม. 4.7 กิโลเมตร รวมกับของเดิมที่มีองค์กรการกุศลสร้างไว้แล้ว 1 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณ 10 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาและเตรียมจัดหาเครื่องมือและวัตถุดิบ เสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนพฤศจิกายน

ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ล่าสุดบริเวณชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครภายหลังพายุไต้ฝุ่นกิสนาเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยส่งผลกระทบให้เกิดคลื่นสูงขนาด 1 เมตร พัดเข้าสู่ฝั่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงจากปกติที่คลื่นจะมีความสูง 50-80 เซนติเมตร จากผลดังกล่าวทำให้ประชาชนในพื้นที่วิตกว่าที่ดินทำกิน และบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งกว่า 100 ครอบครัวจะได้รับความเสียหาย

ทั้ง นี้ มีรายงานข่าวว่าคณะสื่อมวลชนจากต่างประเทศ อาทิ สำนักข่าวเอพี-รอยเตอร์ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สำนักข่าวบีบีซี และอีกกว่า 10 สถานีซึ่งเดินทางมาทำข่าวการประชุมภาวะโลกร้อนที่ประเทศไทย ได้มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ทำข่าวผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่ ย่านชายทะเลบางขุนเทียน กทม.ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ เพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยสู่สายตาชาวโลกต่อไป.



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 2 ตุลาคม 2552

สายน้ำ 19-11-2009 07:49


ผศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสมุทรศาสตร์ กับทางแก้คลื่นกัดเซาะชายฝั่ง สัมภาษณ์ โดย สันต์ชิต ชิตวงศ์

http://www.matichon.co.th/news-photo...35191152p1.jpg

หมายเหตุ - ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในฤดูมรสุม โดยเฉพาะช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น หลายฝ่ายพยายามจะแก้ไขปัญหาด้วยการทำแนวกันคลื่นชั่วคราวด้วยการวางหินขนาด ใหญ่ วางกระสอบทราย ยางล้อรถยนต์ หรือแม้แต่การทำแนวกันคลื่นด้วยหินขนาดใหญ่ลงในทะเล แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ และยิ่งเป็นการขยายพื้นที่การกัดเซาะออกไปอีก ผศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ วิศวกรทางทะเล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ที่มีอยู่ไม่กี่คนในประเทศ จะนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว

สถานการณ์คลื่นกัดเซาะชายฝั่งในขณะนี้เป็นอย่างไร

- คลื่นกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเมื่อมีปัญหาคลื่นกัดเซาะบริเวณใด ก็จะยิ่งมีการสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะพยายามหยุดยั้งการกัดเซาะ แต่นั่นกลับทำให้มีการกัดเซาะขยายออกไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยขณะนี้พื้นที่ชายฝั่งที่สมบูรณ์นั้นมีเหลืออยู่น้อยมาก อย่างชายฝั่งใน จ.สงขลา ขณะนี้เหลือสภาพสมบูรณ์ไม่เกิน 10 กิโลเมตรเท่านั้น หลายปีที่ผ่านมาปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทวีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำชายฝั่งมากยิ่งขึ้น โดยที่ภาครัฐไม่ควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชายฝั่งจึงทำให้มีปัญหา เกิดขึ้นต่อเนื่อง

จะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

- ต้องเกิดการเรียนรู้ก่อน ที่ผ่านมาแก้ไม่ถูกทาง ทุกฝ่ายต่างมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากคลื่นซัดถล่ม คลื่นลมแรง ซัดเข้าทำลายชายฝั่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คลื่นลมนั้นยังคงพัดเข้าชายฝั่งในระดับปกติ แต่ที่กัดเซาะชายฝั่งเป็นเพราะโครงสร้างของชายฝั่งถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการก่อ สร้างรุกล้ำลำน้ำกันมากยิ่งขึ้น ยิ่งอยากจะแก้ปัญหาก็ยิ่งก่อสร้างลงไปทั้งในทะเลและชายฝั่ง ยิ่งทำให้การกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทางแก้จึงต้องหยุดก่อสร้างเสียก่อน แล้วย้อนกลับมามองปัญหาคืออะไร สภาพชายฝั่งเปลี่ยนไปจากเมื่อหลายสิบปีอย่างไร ต้องยอมรับว่าสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดคือปัญหาเสียก่อน จึงจะตั้งต้นหาวิธีแก้ได้

ชายหาดของภาคใต้ฝั่งตะวันออกขณะนี้เสียหายระดับไหน

- เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งผมได้เก็บรวบรวมภาพถ่ายสถานที่จริงในจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สุราษฎร์ธานี จนถึง นราธิวาส พบความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่ละปีคลื่นกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้น จากเดิมที่กัดเซาะเฉพาะชายฝั่ง ก็มาถึงแนวชายหาด ต้นไม้ริมหาด บ้านเรือนริมทะเล ถึงถนนเลียบชายฝั่ง รุนแรงขึ้นทุกปี ทางวิศวกรรมศาสตร์ จึงมองว่าชายหาดอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้แล้ว หากเป็นคนก็เปรียบเสมือนผู้ป่วย ที่นอนรอวันสิ้นใจในห้องไอซียู ชายหาดเป็นทรัพยากรธรรมชาติทรงคุณค่า ไม่สามารถประเมินความเสียหายเป็นเม็ดเงินได้ ดังนั้น นอกจากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่คอยดูแลชายหาดแล้ว รัฐบาลเองก็ควรจะให้ความสำคัญกับชายหาด ไม่น้อยไปกว่าปะการัง และป่าชายเลน

หลังจากนี้ชายหาดจะมีสภาพอย่างไร

- อนาคตก็คงจะไม่มีชายหาดสวยงามให้ลูกหลาน คงเหลือเพียงสภาพแนวกันคลื่น กระสอบทราย หินขนาดใหญ่ ตามแต่มนุษย์จะสรรหามากระทำกับชายหาด ควรให้ความสำคัญกับชายหาดมากกว่าที่เป็นอยู่ ปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้รู้จักรักชายหาด รู้ถึงคุณค่าและประโยชน์มากกว่าเป็นที่สวยงาม เดินเล่น และอยู่ริมทะเลเท่านั้น ควรจะบันทึกลงในวิชาการเรียนการสอน เรื่อง ระบบนิเวศชายหาด เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ สร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมประมง สร้างเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น

จะให้ชายหาดฟื้นคืนได้อย่างไร

- สิ่งที่พยายามนำเสนอ คือการทำกิจกรรมที่ไม่มีเม็ดเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการสร้างจิตสำนึกคุณค่าของชายหาดแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน ให้ความรู้ประชาชนตามแนวชายฝั่ง กำหนดให้ชายฝั่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เร่งประเมินโครงการเขื่อนริมทะเลเพื่อหามาตรการฟื้นฟูที่เหมาะสม ประเมินความเสียหายที่ผ่านมาและเยียวยาแก่ผู้เสียหายโดยเร่งด่วน เลือกใช้มาตรการฟื้นฟูชายหาดให้กลับคืนมา เช่น การถ่ายเททราย การเติมทรายให้ชายฝั่ง รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว หรือที่ไม่มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ออก ส่งเสริมกระบวนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่ยั่งยืน กำหนดเขตพื้นที่ชายฝั่ง การเวนคืน และห้ามการขุดทรายออกจากชายฝั่งไม่ว่ากรณีใดๆ



จาก : มติชน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552

ดอกปีบ 19-11-2009 14:46

แค่คิดว่า ต่อไปทะเลไทยจะไม่มีชายหาด .. แค่นี้ก็อึ้งแล้ว
กว่าที่่เราจะรู้คุณค่าของสิ่งๆนึง ก็ต่อเมื่อเวลาที่เราสูญเสียมันไป

แต่เพิ่งเข้าใจครับว่า ขณะที่เราพยายามจะแก้ กลับกลายเป็นว่า เรากำลังทำลายอยู่ จากข้อความนี้เอง
"ที่ผ่านมาแก้ไม่ถูกทาง ทุกฝ่ายต่างมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากคลื่นซัด ถล่ม คลื่นลมแรง ซัดเข้าทำลายชายฝั่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คลื่นลมนั้นยังคงพัดเข้าชายฝั่งในระดับปกติ แต่ที่กัดเซาะชายฝั่งเป็นเพราะโครงสร้างของชายฝั่งถู กเปลี่ยนแปลงด้วยการก่อ สร้างรุกล้ำลำน้ำกันมากยิ่งขึ้น ยิ่งอยากจะแก้ปัญหาก็ยิ่งก่อสร้างลงไปทั้งในทะเลและช ายฝั่ง ยิ่งทำให้การกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทางแก้จึงต้องหยุดก่อสร้างเสียก่อน แล้วย้อนกลับมามองปัญหาคืออะไร สภาพชายฝั่งเปลี่ยนไปจากเมื่อหลายสิบปีอย่างไร ต้องยอมรับว่าสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดคือปัญหาเสีย ก่อน จึงจะตั้งต้นหาวิธีแก้ได้"

สายน้ำ 20-11-2009 07:49


อ่าวไทยคลื่นยังแรงกัดเซาะชายหาดสมิหลาพังเป็นแนวยาวกว่า 2 กม.

http://news.mcot.net/_images/MNewsImages_126125.jpg

สงขลา 19 พ.ย.-ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก แจ้งเตือนว่า ในระยะนี้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมพื้นที่ภาคใต้และ ทะเลอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง เรือประมงขนาดเล็ก ใน 5 จังหวัด ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ควรงดออกจากฝั่งตั้งแต่ระยะนี้ไปจนถึงวันที่ 22 พ.ย.นี้ ขณะที่คลื่นในทะเลอ่าวไทยยังคงถาโถมเข้าถล่มชายหาดสมิหลา ในเขตเทศบาลนครสงขลา อย่างต่อเนื่องเป็นรอบที่สอง จนทำให้ชายหาดสมิหลา ซึ่งเป็นหาดทรายยาวกว่า 9 กิโลเมตร ถูกความแรงของคลื่นกัดเซาะแนวต้นสนและหาดทราย ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 2 กิโลเมตร

ทางเจ้าหน้าที่เทศบาลนครสงขลาได้เร่งทำแนวกันคลื่น ด้วยล้อยางรถยนต์ กระสอบทรายกว่า 50,000 ลูก และเสาไม้อีกกว่า 300 ต้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะขยายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชายหาดสมิหลาเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันได้มากนัก นอกจากนี้ ความแรงของคลื่นยังทำให้ถนนเชื่อมระหว่างเทศบาลตำบลเกาะแต้ว อ.เมืองสงขลากับองค์การบริหารส่วนตำบลนาทับ อ.จะนะ ได้รับความเสียหายเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร



จาก : ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 20-11-2009 07:51


จันทบุรี ประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการป้องกันน้ำกัดเซาะชายฝั่ง

จังหวัดจันทบุรี จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ ถึง ตำบลบางชัน อำเภอขลุง

นายณรงค์ ธีระจันทรางกูร ปลัดจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นทางเทคนิค โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ ถึง ตำบลบางชัน อำเภอขลุง โดยมีองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในการประชุม

ทั้งนี้ตามที่จังหวัดจันทบุรี ได้ดำเนินการจัดทำโครงการศึกษาจัดทำแผนหลักและออกแบบเบื้องต้นการแก้ไขปัญหา การกัดเซาะชายฝั่ง ตำบลเกาะเปริด อำเภอแหลมสิงห์ ถึง พื้นที่ตำบลบางชัน อำเภอขลุง เพื่อรวบรวมและศึกษาสถานภาพของชายฝั่งทะเลบริเวณพื้นที่ศึกษา จัดทำแผนหลักการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างบูรณาการ จัดทำเป็นแผนการปฏิบัติการที่มีความเป็นไปได้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่ เพื่อออกแบบป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่วิกฤต โดยมีพื้นที่ศึกษาโครงการครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่อำเภอแหลมสิงห์และอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี และได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม รับผิดชอบและกำกับดูแล ซึ่งการกัดเซาะชายฝั่งได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ให้กับถนนเลียบชายฝั่งตำบลเกาะเปริด บ่อเลี้ยงกุ้ง อาคารบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ชายฝั่งได้ถูกคลื่นทำลายไปเป็นจำนวนมาก การดำเนินการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่าง ยั่งยืนจึงจำเป็นต้องให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นก่อนดำเนินการตามโครงการต่อ ไป



จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552

สายน้ำ 03-01-2010 10:11


สำรวจฝั่งอ่าวไทย โลกร้อน-กัดเซาะ

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...02030153p1.jpg
แนวเขื่อนไม้ไผ่

" ภาวะโลกร้อน" หรือ "Global Warming" เกิดจากอุณหภูมิของโลกที่ปรับสูงขึ้น อันเนื่องมาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจก

ผลกระทบที่ตามมา คืออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น น้ำแข็งในขั้วโลกละลายรวดเร็ว เกิดความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ ทะเลทรายขยายตัว พื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง ฤดูกาล และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง บางพื้นที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้ริมทะเล หรือเกาะต่างๆ จมหาย

เมื่อปลายปีพ.ศ.2552 มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15 และพิธีสารเกียวโตสมัยที่ 5 ที่ประเทศเดนมาร์ก มีมหาอำนาจหลายประเทศตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงประเทศไทย เข้าร่วมด้วย

แต่สุดท้ายไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องรอการประชุมที่ประเทศเม็กซิโก ในปีพ.ศ.2553 ว่า จะได้ข้อสรุปอย่างไร

ส่วนประเทศไทยยังคงปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 เรื่องการใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และปลูกป่าทดแทน โดยเฉพาะป่าชายเลน

โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องปฏิบัติตามแผนนโยบายนี้ ล่าสุดยกคณะลงเรือสำรวจพื้นที่ป่าชายเลน ตั้งแต่คลองบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เรื่อยไปจนถึง ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง มากแห่งหนึ่ง

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...02030153p2.jpg
1.เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล
2.หลักเขตกรุงเทพฯ
3.นายสุวิทย์ คุณกิตติ
4.ลุงทวีปพาดูแนวเขื่อนไม้ไผ่
5.น้ำทะเลกัดเซาะตลิ่ง
6.คลองพิทยาลงกรณ์


เริ่มจากคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน ระยะทาง 3 กิโลเมตร ก่อนเลี้ยวขวาล่องไปตามคลองขุนราชพินิจใจ ระยะทาง 4 กิโลเมตร ถึงปากคลองบางขุนเทียนออกอ่าวไทย บริเวณนี้จะพบหลักกิโลเมตรที่ 28 กรุงเทพฯ

จากนั้นแล่นเรือเลาะไปตามชายฝั่งอ่าวไทย สำรวจเรื่อยไปเป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร จนถึงศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชาวฝั่งที่ 2 ต.โคกขาม

จากการสำรวจทั้ง 2 ฝั่งคลอง และชายฝั่ง พบว่าป่าชายเลนลดลงเป็นอย่างมาก บางพื้นที่ชาวบ้านต้องทำเขื่อนเชื่อมคันดิน เพื่อไม่ให้น้ำทะเลท่วมทะลักเข้ามา แต่บางช่วงเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำทะเลทะลักเข้ามาในพื้นที่อยู่อาศัยเป็นอาณาบริเวณกว้าง

นายทวีป เมตสุวรรณ อายุ 58 ปี ประธานชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ ให้ข้อมูลว่า อาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศบริเวณนี้มาทั้งชีวิต โดยเฉพาะป่าชายเลนที่เมื่อก่อนมีความอุดมสมบูรณ์ทั้ง 2 ฝั่งคลอง และชายฝั่งอ่าวไทยเต็มไปด้วยป่าโกงกาง

"แต่ปัจจุบันแทบจะไม่หลงเหลือแล้ว อนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า บางขุนเทียนจะจมอยู่ใต้ทะเล และน้ำทะเลจะไหลเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างแน่นอน"

ลุงทวีปเล่าอีกว่า 30 กว่าปีที่ผ่าน แต่เดิมคลองพิทยาฯ เป็นคลองขุดมีความกว้างเพียง 3 เมตร แต่ปัจจุบันกว้างกว่า 40 เมตร หรือแม้แต่คลองขุนฯ จากเดิมกว้างเพียง 20 เมตร ขณะนี้ขยายกว้างกว่า 90 เมตร กลายเป็นแม่น้ำไปแล้ว บางแห่งน้ำท่วมลึกเข้าไปกว่า 10 เมตร ชาวบ้านต้องย้ายบ้านหนีขึ้นไปพื้นที่สูง

http://www.khaosod.co.th/news-photo/...02030153p3.jpg
น้ำทะเลท่วมบ้าน

" ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือหลังหลักกิโลเมตรที่ 28 และ 29 จากเดิมที่สร้างอยู่บนพื้นดินริมชายฝั่งทะเล แต่ปัจจุบันถูกน้ำทะเลเข้ายึดพื้นที่ไว้หมดแล้ว ท่วมกินแผ่นดินที่เป็นพื้นที่ของชาวบ้านเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร ปัญหาทั้งหมดเกิดจากภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน" ลุงทวีป ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยแปลงที่เกิดขึ้น

หลังจากนั้นคณะเดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ศูนย์อนุรักษ์ชาวฝั่งที่ 2 ต.โคกขาม เป็นพื้นที่ทดลองปลูกป่าชายเลนกว่า 40 ไร่ โดยมีโครงการสร้างเขื่อนไม้ไผ่ กั้นตลอดแนวชายฝั่ง จ.สมุทรสาคร ถึงบางขุนเทียน เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร

เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ให้ข้อมูลถึงเขื่อนไม้ไผ่ว่า ขั้นตอนการทดลองวางแนวเขื่อนไม้ไผ่ เริ่มทำมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 3 ปี ขั้นตอนแรกนำไม้ไผ่ที่มีความยาวขนาด 6 เมตร ปักลงไปในพื้นดิน 4 เมตร ให้ไม้ไผ่อยู่เหนือพ้นน้ำทะเล 2 เมตร โดยปักซ้อนกันหนา 50 เซนติเมตร ก่อนปักเป็นแนวยาว 1 กิโลเมตร ขนานไปกับแนวตลิ่ง แนวแรกห่างจากฝั่ง 20 เมตร หลังจากนั้นปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ 1 ปี จะพบว่าหลังแนวเขื่อนไม้ไผ่ ดินเลนเริ่มสะสมหนาขึ้น เจ้าหน้าที่จะนำต้นโกงกางมาปลูกเป็นแนวยาว

จากนั้นเริ่มสร้างเขื่อนแนวที่ 2 โดยนำไม้ไผ่ไปปักให้ห่างจากแนวแรกประมาณ 30 เมตร ปักรูปแบบเดียวกับแนวแรก ทิ้งไว้ 1 ปี จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในแนวแรก และแนวที่ 2 ส่วนแนวที่ 3 นำไม้ไผ่ไปปักให้ห่างจากแนวที่ 2 ประมาณ 50 เมตร ตามด้วยขั้นตอนการปลูกป่าโกงกางในแนวที่ 2 ถือว่าเป็นโครงการนำร่อง

คาดว่าหลังจากนี้อีกประมาณ 3 ปี หากพบว่าทั้งดินและป่าชายเลนเริ่มอยู่ได้ สิ่งมีชีวิตเริ่มกลับเข้ามา ทางโครงการอนุรักษ์ชายฝั่ง จะเริ่มขยายแนวเขื่อนไม้ไผ่ ให้เชื่อมต่อกับทางแนวเขื่อนทางเขตบางขุนเทียน

ด้าน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนไม้ไผ่ ทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะแนวหลังเขื่อนไม้ไผ่ที่ 1 เริ่มมีสัตว์น้ำ ทั้งปลาปูเข้ามาอาศัย รวมทั้งรากของต้นโกงกางสามารถยึดดินได้ดี จากนี้ทางกระทรวงจะสร้างเขื่อนไม้ไผ่ให้เชื่อมต่อกับพื้นที่ของเขต บางขุนเทียนให้เสร็จ

หากโครงการที่โคกขาม-บางขุนเทียน ได้ผลดี จะนำโครงการนี้ไปขยายผลต่อในพื้นที่จังหวัดที่ติดกับทะเล โดยเฉพาะที่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และตราด

หากสามารถฟื้นป่าชายเลนให้กลับมาสมบูรณ์เช่นเดิมได้ ทรัพยากรอาหารตามธรรมชาติก็จะกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ประชาชนที่อยู่ตามแนวป่าชายเลน จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่สำคัญสามารถช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ทางหนึ่ง



จาก : ข่าวสด วันที่ 4 มกราคม 2553

สายน้ำ 12-01-2010 08:14

1 Attachment(s)

ปัญหาน้ำทะเล 'กัดเซาะชายฝั่ง' แก้ตรงจุดหรือยังพลาดเป้า!?


"เขาเรียกไส้กรอกทรายตา?! มาจากประเทศนอกเอาไว้กันคลื่นทะเล อยู่ได้นาน 30 ปี” คำพูดของช่างคนหนึ่งที่มาพร้อมกับเรือขนาดมหึมาเพื่อทำแนวกั้นคลื่นราวปี พ.ศ. 2547 บริเวณปากอ่าวคลองด่าน จ.สมุทรปราการ สร้างความหวังให้กับผู้เฒ่าอย่าง สืบ ใจยิ้ม ชาวบ้านหมู่ 9 ในซอยวัดสว่างอารมณ์ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ที่หวังว่า ชุมชนชาวประมงริมทะเลกว่า 100 หลังคาเรือนในอดีตจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากถูกคลื่นกัดเซาะพื้นดินที่อยู่อาศัยจนหลายครอบครัวอพยพย้ายถิ่นฐาน

แต่ “ไส้กรอกจาก ประเทศนอก” ไม่เป็นอย่างไอ้หนุ่มผู้นั้นว่า!!! ไม่ถึงสองปีพังทลาย จมลงไปใต้โคลนทะเล ทรายในถุง ไหลลงทะเลส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่อยู่บริเวณปากอ่าว เพราะพื้นที่ของอ่าวไทยส่วนใหญ่เป็นหาดโคลนทำให้สัตว์น้ำพอได้รับทรายการดำรงชีวิตก็เปลี่ยนไป

“ฉันใจหายที่เห็นคนในชุมชนค่อยๆย้ายกันไปทีละครอบครัว หมู่บ้านที่เคยทำประมงลูกหลานก็ไม่สืบทอดต่อ มีแต่คนอยากทำงานโรงงานเพราะมันสบายกว่าหาปลา ตอนนี้ออกเรือทีต้องไปไกลเปลืองค่าน้ำมัน ค่าแรงลูกน้อง ลำพังจะหากินริมชายฝั่งเหมือน แต่ก่อน ไม่ค่อยได้เพราะปู ปลามันลดลง ส่วนหอยที่พอจะเก็บได้มันก็มีแต่ทราย ระบบชีวิตพวกมันเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะหอยพวกนี้จะอ้าฝารับโคลน แต่เดี๋ยวนี้มันรับทรายจากไส้กรอกทรายที่แตก พอเก็บไปขายไอ้คนไม่รู้ก็กินเข้าไปสะสมในร่างกาย” สืบ “เฒ่าทะเล” ระบายความรู้สึกที่อัดอั้นมานาน

ขณะเดียวกันปัญหาของคลื่นทะเลในยามหน้าลมก็สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้เฒ่าสืบ เพราะบ้านไม้ริมชายฝั่งเพิ่งยกพื้นสูงจากน้ำทะเลไม่ถึงปีก็ทรุดตัวลง จำต้องเตรียมยกพื้นให้สูงใหม่อีกครั้ง เนื่องจากยามหน้าลมคลื่นจะก่อตัวสูงจนท่วมพื้นบ้านชั้นล่าง ความโหดร้ายเหล่านี้สอนให้ชาวบ้านรู้ว่า เมื่อฤดูแห่งความโหดร้ายมาถึงต้องอพยพลูกหลานและคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไปอยู่บนฝั่งเฉพาะในรายที่มีอันจะกิน ส่วนครอบครัวที่ยากจนอย่างตาสืบ ได้แต่จำทนรับชะตากรรมที่ยังไม่รู้ว่า อนาคตหลานๆที่กำลังเติบโตจะมีที่อยู่หรือไม่ ?

ด้าน กรองทอง จันดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พา “ทีมวาไรตี้” ไปสำรวจปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณ ปากอ่าวคลองด่าน ที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนพบว่าสะพานที่ข้ามไปยังชุมชนกว่า 100 หลังคาเรือนที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จมไปกับน้ำทะเล ซึ่งในปี พ.ศ. 2547-2549 ชาวบ้าน ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำทะเลท่วมพื้นที่อาศัยทำให้ต้องอพยพขึ้นฝั่งและ ร่นถอยจนไม่เหลือภาพชุมชนอันรุ่งเรืองในอดีต ป่าชายเลนที่มีความหนาแน่นในอดีตลดลง เหลือเพียงไม้ใหญ่บางส่วนยืนต้นโงนเงนตามกระแสคลื่น ปัจจุบันบ้านริมชายฝั่งหลายหลังรื้อถอนอพยพเข้าไปอยู่บนพื้นที่ธรณีสงฆ์ วัดสว่างอารมณ์ ส่วนบ้านที่มีเรือหาปลาขนาดใหญ่จำต้องทนอยู่ต่อไปเพราะหากย้ายเข้าฝั่งไปลึกกว่านี้เรือประมงไม่สามารถเข้าไปได้

“การทำไส้กรอกทรายภาครัฐไม่เคยลงมาคุยกับชาวบ้านถึงความคิดเห็นผลดีและผลเสีย ชาวบ้านมารู้อีกทีก็ปีนี้เพราะมีการทำประชาพิจารณ์ โดยมีนักวิชาการมาให้ความรู้ว่า สัตว์น้ำที่เรากินขายกันอยู่ทุกวันมันได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ขณะเดียวกันชาวบ้าน ที่ออกหาปลาทุกวันก็ไม่รู้ว่า แนวไส้กรอกทรายอยู่ตรงไหนเวลาน้ำขึ้น เพราะไม่มีสัญลักษณ์บอกทำให้เรือประมงชาวบ้านวิ่งไปชนไส้กรอกทรายหรือการทำประมงชายฝั่งชาวบ้านไม่รู้ก็เอาไม้ไปปักหาปลาจนทิ่มถุงทรายแตก การกระทำของรัฐทำให้ชาวบ้านผิดหวังเพราะไม่เคยลงมาคุยกันก่อนเหมือนการนำเงินประชาชนไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” กรองทอง เล่าถึงปัญหา

ชาวบ้านได้ลงประชามติกันโดยใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ พบว่า การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดต้องทำเขื่อนหินที่สูงกว่าคลื่น แล้วปลูกป่าชายเลนไว้ด้านหลัง เพราะถ้าทำแนวกันคลื่นโดยใช้ไม้ไผ่เหมือนหมู่บ้านอื่นไม่ได้ผลเพราะไม่นานคลื่นก็จะทำลายไม้ไผ่พังหมด แนวป่าชายเลนที่ปลูกไว้ด้านหลังก็ถูกคลื่นซัดหายไปในทะเล

ไม่ต่างจากชาวบ้านใน ต.โคกขาม จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีพื้นที่ติดกับอ่าวไทยที่ได้รับผลกระทบจากไส้กรอกทรายเช่นกัน นรินทร์ บุญร่วม (ลุงทะเล) ปราชญ์ชาวบ้านเล่าว่า เมื่อไส้กรอกทรายแตกทำให้ผ้าใยสังเคราะห์ที่ห่อทรายฉีกขาดหลุดไปทำลายระบบนิเวศ ส่วนทรายก็ปนเปื้อนกับหาดโคลนทำให้การทำประมงชายฝั่งได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะพื้นที่ในการหากินของสัตว์ไม่สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อนทำให้ประชากรสัตว์น้ำลดลงและอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด

หากมองถึงแนวทาง การกู้ไส้กรอกทรายขึ้นมาจากท้องทะเล ลุงทะเล มองว่า “ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ !?! เพราะเป็นเรื่องยากลำบากในการโกยทรายที่ปนเปื้อนกับโคลนขึ้นมา แต่ก็มีการพูดเล่นกันว่า เอาทรายมาถมให้เป็นหาดทรายเลยดีไหมจะได้ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว!! ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงความคิดชาวบ้านที่ไม่สามารถเป็นจริงได้”

แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีต้องใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่างไม้ไผ่มาทำเป็นแนวกั้นคลื่น ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ร่วมใจกันทำมาแล้วกว่า 2 ปี จนประสบความสำเร็จฟื้นฟูป่าชายเลนขึ้นมาได้ใหม่ และทำให้ตะกอนจากทะเลพัดเข้ามาทับถมริมชายฝั่งด้านหลังแนวกั้นไม้ไผ่มากขึ้น ส่งผลให้ได้ผืนดินกลับมาอีกครั้ง

พลอย ฉายสวัสดิ์ เลขา ธิการกลุ่มรักษ์อ่าวไทย ที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ต.โคกขาม จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การทำแนวกั้นคลื่นจากไม้ไผ่ใช้งบประมาณไม่สูง และไม่มีผลต่อระบบนิเวศ เพราะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม้ไผ่สามารถอยู่ได้ 3-5 ปี ซึ่งแนวคิดการทำงานได้มาจากการปักหอยแมลงภู่ของชาวบ้านที่ปักหอยแล้วต้องย้ายหอยหนีเพราะว่าดินเลนมันจะมาทับตัวหอย เช่นเดียวกับแนวกั้นไม้ไผ่พอหอยติดเป็นพวงใหญ่ตะกอนเลนมันก็สูงขึ้น โดยต้องปักห่างๆกันเพื่อให้ดินพอกพูนเป็นกำแพงธรรมชาติ

สำหรับการแก้ปัญหาไส้กรอกทรายแตกปนเปื้อนหาดโคลนในอ่าวไทย สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ต้องเร่งดูแลแก้ไขโดยใช้ระบบธรรมชาติบำบัด ซึ่งจะนำเรื่องนี้ไปคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อหาแนวทางแก้ไข

การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะแต่ละปีเราสูญเสีย ผืนแผ่นดินไปไม่รู้กี่หมื่นไร่ กระบวนการการแก้ไขปัญหารัฐได้ดำเนินการศึกษา มีวิธีการหลายวิธีการเช่น ทำเขื่อนกันคลื่นหรือใช้เสาคอนกรีต มาเรียงกัน ในขณะเดียวกันบริเวณสมุทรสาครเป็นพื้นที่ป่าชายเลน การใช้ระบบธรรมชาติเข้ามาบำบัดโดยใช้เขื่อนไม้ไผ่ก็เป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งจากการที่ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งเห็นว่า ได้ผลดีพอสมควร แต่ระยะยาวต้องศึกษากันต่อไป กระบวนการการฟื้นฟูป่าชายเลนเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะแนวไม้ไผ่กันคลื่นเป็นการป้องกันเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะไม้ไผ่มีระยะเวลาของการเสื่อมสลายไป การปลูกป่าชายเลนเทียม ในระยะแรกจึงเลียนแบบป่าชายเลนตามธรรมชาติ เอาไม้ไผ่ไปลงเป็นแนวป่า แล้วเอาต้นแสมและโกงกางผูกติดกับไม้ไผ่เพื่อป้องกันการชะล้าง เพื่อให้ต้นไม้ได้หยั่งรากลึกอย่างน้อย 2-3 ปี การปักจะไม่เป็นแถวเป็นแนว แต่จะปักสลับเป็นลักษณะเหมือนธรรมชาติ

ด้านปัญหาการดูแลการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนที่เป็นพื้นที่ซึ่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะมากที่สุด สุวิทย์ กล่าวว่า ผมมีความเป็นห่วงอีกอย่างมากในการไปสร้างที่พักชั่วคราวในทะเลหรือพวกเครื่องมือประมงที่มีการขยายตัวค่อนข้างมากตรง จ.เพชรบุรี อันจะส่งผลต่อระบบนิเวศ ถ้าไม่มีการจัดระเบียบป้องกันแก้ไขปัญหา ซึ่งในส่วนนี้ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแล้ว ไม่เช่นนั้นปัญหาจะขยายตัวมากขึ้น เหมือนทะเลสาบสงขลาที่ทำให้เกิดปัญหาการไหลเวียนของน้ำ ปัญหาเรื่องตะกอน ปัญหาเรื่องน้ำเสีย เรื่องของระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบทำให้ปลาไม่สามารถวางไข่ได้ ปริมาณก็ลดลง ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เป็นห่วงมากในระยะยาว

จึงอยากวิงวอนให้ประชาชนลดการใช้น้ำบาดาล เพราะส่งผลกระทบต่อปัญหาการทรุดตัวของพื้นที่ ซึ่งอนาคตปัญหาน้ำท่วมคิดว่าน่าเป็นห่วงเนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน

ด้าน รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาภัยพิบัติและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 5 จังหวัดบริเวณอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง ไปจนถึงปากแม่น้ำเพชรบุรี มีโอกาสสูงที่น้ำจะท่วม เพราะแนวโน้มอีก 20 ปีข้างหน้า พื้นที่จะหายไปอีกกว่า 67,000 ไร่

ขณะนี้มีหลายหน่วยงานพยายามป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหาดโคลน อย่างไม่ถูกวิธี ตั้งแต่การนำหินมาถมตลิ่งที่ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายเร็วขึ้นเมื่อโดนคลื่นที่มีความแรงซัด หรือการใช้ไส้กรอกทรายวางเป็นแนวกั้น ที่ไม่นานจะแตกทำให้ทรายและหินปนเปื้อนบนหาดโคลน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากสัตว์และพืชพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณหาดโคลนไม่ชอบหินและทรายทำให้ค่อยๆสูญพันธุ์ลง จนชาวบ้านบริเวณชายฝั่งที่ทำประมงได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่วนแนวกันคลื่นที่ทำจากไม้ไผ่มีอายุได้เพียง 3-5 ปี แล้วไม้ไผ่ก็จะหักส่งผลกระทบต่อการทำประมงชายฝั่ง

“ตอนนี้เราได้ทำการวิจัยการป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเลด้วยเขื่อนขุนสมุทรจีน ที่นำเสาไฟฟ้ามาปักเป็นแนวยาว 2-3 ชั้น เพื่อป้องกันคลื่นที่จะทำลายหาดโคลน ตอนนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถฟื้นฟูหาดโคลนด้วยการปลูกป่าชายเลนทำให้สัตว์ต่างๆในระบบนิเวศเริ่มกลับคืนมา”

การแก้ปัญหาอย่างได้ผลรัฐต้องวางนโยบายการฟื้นฟูในระยะ 20 ปีขึ้นไปเพื่อสร้างแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันต้องให้ชาวบ้านและนักวิชาการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

ทุกนาทีที่มนุษย์หายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา น้ำทะเลยังคงกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งพร้อมกับความ ฝันที่ “เฒ่าทะเล” จะเห็นชุมชนชาวประมงชายฝั่งกลับคืนมาค่อยๆเลือนหายไปพร้อมกับดวงตาที่ฝ้าฟาง ขณะที่หลายคนยังหวั่นเกรงกับปัญหาน้ำทะเลกลืนกิน กรุงเทพฯ อันเป็นปลายเหตุของปัญหา ส่วนต้นขั้วของปัญหาการกัดเซาะพื้นดินริมทะเลยังดูแลไม่ทั่วถึง ไม่แน่อนาคตคนกรุงอาจไม่ต่างจาก “เฒ่าทะเล”.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 12 มกราคม 2553

สายน้ำ 12-01-2010 08:16


แฉแก้ปัญหาคลื่นเซาะชายฝั่งล่มสูญงบฟรี


เวลา 10.00 น. วันที่ 11 มกราคม คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาลงพื้นที่ จ.สงขลา ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและรับฟังข้อมูลจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยตัวแทนชาวบ้านปากบาง หมู่ 4 ต.สะกอม ยืนยันว่า หลังจากมีการสร้างเขื่อนทรายแล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ กรมขนส่งทางน้ำยังต้องดูดทรายบริเวณร่องน้ำปากคลองทุกปี สูญเสียงบประมาณซ้ำซ้อน

ส่วนตัวแทนชาวบ้านบ้านโคกสัด หมู่ 6 ต.สะกอม กล่าวว่า ชายหาดสะกอมในอดีตเป็นลักษณะหาด 2 ชั้น แต่หลังจากสร้างเขื่อนทรายกันคลื่นบริเวณปากน้ำสะกอม ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะ จากเดิมบ้านโคกสักห่างจากทะเล 100 เมตร ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 50 เมตร และมีลักษณะเป็นโคลนตม ปัจจุบันการแก้ปัญหาการกัดเซาะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงไปครั้งละ 200-300 ล้านบาท เป็นการลงทุนแก้ปัญหาแล้วไม่เกิดผล มูลค่าชายหาดที่ถูกกัดเซาะไปในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท วิธีที่ดีที่สุดคือหยุดการก่อสร้างอย่าทำเพิ่ม

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านบ่อโซน หมู่ 7 ต.สะกอม กล่าวว่า หลังสร้างเขื่อนแล้วทำให้วิถีชีวิตของชาวประมงเปลี่ยนแปลงไป เพราะน้ำลึกขึ้น ทำให้ปลาหลายชนิดวางไข่บริเวณชายหาดไม่ได้ โดยเฉพาะเต่าทะเล จึงควรยกเลิก เพราะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปกติช่วงมรสุม พอช่วงฤดูแล้งคลื่นจะแต่งชายหาดให้เหมือนเดิม แต่หลังสร้างเขื่อนอีกด้านงอก แต่อีกด้านหายไป มินำซ้ำงบประมาณยังสูญเปล่า



จาก : ไทยโพสต์ วันที่ 12 มกราคม 2553

สายน้ำ 29-01-2010 08:07


ทช.ชูสมุทรสาคร พท.ตัวอย่าง นำร่องแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่าชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นอย่างมาก โดยชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงหวัดฉะเชิงเทราจนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะขั้นรุนแรง บางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากถึง 25 เมตรต่อปี

โดยเฉพาะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ที่ ต.โคกขาม และ ต.พันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่โดนกัดเซาะมากที่สุด มีอัตราการกัดเซาะปีละ 2.48 เมตรและ 1.88 เมตรตามลำดับ ทช.จึงร่วมกับชุมชนในพื้นที่ดำเนินการโครงการแก้ไข อาทิ ปักไม้ไผ่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น การเพาะชำกล้าไม้ป่าชายเลน การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นต้น

ด้านนายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล รองอธิบดี ทช. กล่าวว่า ทช.ได้รับความร่วมมือจากชุมชนอย่างดี โดย 2 ปีที่ผ่านมา มีตะกอนดินหลังแนวไม้ไผ่เพิ่มสูงขึ้น 1.5 เมตร ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการปักแนวไม้ไผ่ไปแล้วทั้งสิ้นเป็นระยะทาง 3,000 เมตร และได้ทดลองปลูกป่าโกงกางขึ้นเพื่อเป็นแรงซับน้ำและลมอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในระยะแรกที่ทำประสบปัญหาต้นไม้ล้ม เนื่องจากปลูกไปในแนวเดียวกัน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นการปลูกแบบไม่มีระเบียบ สลับไปมา เลียนแบบธรรมชาติ เรียกว่าป่าชายเลนเทียมขึ้น โดยได้เริ่มดำเนินการที่ ต.โคกขาม และ ต.พันท้ายนรสิงห์ พบว่าได้ผลดีขึ้น ซึ่งจะดำเนินการเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลนต่อไป



จาก : แนวหน้า วันที่ 29 มกราคม 2553

สายน้ำ 04-02-2010 08:26


ชาวบ้านห่วงไม้ไผ่แนวกันคลื่นเซาะบางขุนเทียนเกรดต่ำ

http://pics.manager.co.th/Images/553000001686101.JPEG

ผู้รับเหมาเริ่มลงพื้นที่สร้างแนวไม้ ไผ่กันคลื่นกัดเซาะชายทะเลบางขุนเทียน ขณะที่ชาวบ้านเป็นห่วงใช้ไม้ไผ่คนละเกรดทำอยู่ไม่ทน หวั่นไม่ทันช่วงมรสุมเข้ามีนาคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง บางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ระยะทาง 4.7 กม. หลังจากที่ผู้บริหารกทม.ชุดปัจจุบันได้อนุมัติงบประมาณเร่งด่วนแก่สำนักการระบายน้ำ(สนน.) เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสร้างเขื่อนไม้ไผ่สลายกำลังคลื่นและช่วยดักตะกอนดินเลน มูลค่า 5.8 ล้านบาท ซึ่งได้ผู้รับเหมาโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปีพ.ศ.2552

ซึ่งล่าสุดทางผู้รับเหมาได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแนวเขื่อนไม้ไผ่ แล้วตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยจะดำเนินการต่ออีก 3.7 กิโลเมตรต่อจากแนวไม้ไผ่เดิมที่ชาวบ้านทำไว้ก่อนหน้านี้ 1 กิโลเมตร ภายใน 6 เดือนนี้ อย่างไรก็ตาม มีข้อเป็นกังวลจากชาวบ้านในพื้นที่เนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูมรสุมซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

ทำให้ชาวบ้านต่างวิตกว่าโครงการดังกล่าวอาจสร้างเสร็จไม่ทันกำหนด เนื่องจากมีคลื่นลมแรงจึงอาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินการ ขณะที่หากรอให้น้ำลดก็จะไม่สามารถลำเลียงวัสดุได้ ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินทำกินและระบบนิเวศชายฝั่งแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลอันเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในพื้นที่

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ชาวบ้านบางส่วนยังคงมีข้อกังขาถึงโครงการเขื่อนไม้ไผ่ของกทม.ว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ผลหรือไม่หลังพบว่าไม้ไผ่ที่กทม.กำหนดสเป็กให้ผู้รับเหมาจัด หามาใช้นั้นค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานเดิมที่ชาวบ้านได้ทำมาก่อนหน้านี้ที่ใช้ไม้ไผ่ตงซึ่งมีเนื้อไม้หนาและทนทาน ความยาว 6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้วที่กลางลำ ปักลึกจากพื้นเลนซ้อนกันตารางเมตรละ 26 ต้น สามารถอยู่ได้อย่างต่ำ 5 ปี ขณะที่ไม้ไผ่ที่ผู้รับเหมานำมาใช้นั้นไม่ใช่ไม้ไผ่ตง และมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3 นิ้วเท่านั้น อีกทั้งเนื้อไม้มีความบางกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจไม่มีความทนทานและหลุดลอยง่ายโดยเฉพาะเมื่อปักซ้อนตารางเมตรละ 26 ต้นเท่ากันแต่กลับมีระยะห่างช่องไฟมากกว่า

ขณะที่งบประมาณที่ใช้ของชาวบ้านก็ใช้งบมากกว่าเพราะจากที่ทำไป 1 กิโลเมตรใช้งบถึง 3.66 ล้านบาทโดยไม่มีค่าแรงเพราะชาวบ้านช่วยกันทำหลังได้รับงบฯอุดหนุนจากองค์กรการกุศล แต่ของกทม.ทำเกือบ 4 กม.กลับใช้เงินแค่ 5.8 ล้านบาทเท่านั้น ชาวบ้านจึงเป็นห่วงว่าเขื่อนไม้ไผ่ที่กทม.ทำให้จะอยู่ได้นานแค่ไหน



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553

สายน้ำ 05-02-2010 08:06


สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยเข้าขั้นวิกฤติ

http://mcot-image01.mcot.gtis.co.th/.../12-samila.jpg

กระทรวงทรัพย์ฯ 4 ก.พ.-สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยเข้าขั้นวิกฤติ และไทยอาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 50 ซม.ในอีก 40 ปีข้างหน้า จากภาวะโลกร้อน

นายประวิม วุฒิสินธุ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยถึงสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยในขณะนี้ ว่ามีอัตราการกัดเซาะรุนแรงใน 23 จังหวัด อัตราการกัดเซาะเฉลี่ย 5-20 เมตร/ปี โดยพื้นที่วิกฤติฝั่งอ่าวไทยมี 13 จังหวัด เช่น ระยอง สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และนราธิวาส ส่วนปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ถูกกัดเซาะรุนแรงที่สุดในรอบ 55 ปีที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้ว 16,700 ไร่

นอกจากนี้ ชายฝั่งทะเลของไทยยังจะเผชิญวิกฤติจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ตามที่นักวิชาการทั่วโลกทำการศึกษา ซึ่งได้ผลตรงกันว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า หรือปี ค.ศ.2050 ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 50 เซนติเมตร โดยไทยมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่กรุงเทพมากเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ติดชายทะเลทั้งหมด ขณะนี้ทางการได้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว โดยในวันที่ 11 ก.พ.ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ เพื่อร่วมรับทราบสถานการณ์และหาแนวทางแก้ปัญหา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน



จาก : ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553

สายน้ำ 05-02-2010 08:08


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “สู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน”

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “สู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน”

นายประวิม วุฒิสิทธุ์ รักษาการอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล เพื่อเป็นเวทีระดมสมองและนำข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศมาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี มาตรการ และวิธีการที่เหมาะสมใหม่ๆในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะจัดการประชุมเชิงปฎิบัติการ เรื่อง “สู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน” ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ตึก สันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

รักษาการอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพื้นที่วิกฤติหรือพื้นทีเร่งด่วนของชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีทั้งสิ้น 13 จังหวัด อาทิ จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร รวมระยะทางประมาณ 207.3 กิโลเมตร นอกจากนี้ วิกฤติระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 1 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 3 ล้านล้านบาท



จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553

สายน้ำ 12-02-2010 08:23


ประชุมวิกฤตกัดเซาะชายฝั่งเตรียมรับมือภัยโลกร้อน


กรุงเทพฯ 11 ก.พ. - จากข้อมูลปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลพบว่า ในจุดที่รุนแรงชายฝั่งถูกกัดเซาะเฉลี่ยถึง 5 เมตรต่อปี

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง สู้วิกฤติกัดเซาะชายฝั่งทะเลและเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน โดยยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับชาติ และเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติในปัจจุบันรุนแรงกว่าในอดีตมาก เนื่องจากการพัฒนาชายฝั่งทะเลมีมากขึ้น แต่ขาดการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การใช้ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง 20 ปี ของรัฐบาล ดำเนินการสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือการบูรณาการให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนในอดีต พร้อมย้ำว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมทั้งองค์กร ข้อมูล บุคลากรผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆเพื่อรับมือกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากภาวะโลกร้อนไว้แล้ว

ด้าน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า ขณะนี้ พื้นที่ชายฝั่งที่มีปัญหาถูกกัดเซาะ มีพื้นที่กว่า 113,000 ไร่ สำหรับพื้นที่รุนแรงถูกกัดเซาะเฉลี่ยถึง 5 เมตรต่อปี ซึ่งวิกฤติใน 13 จังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย.


จาก : ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553

สายน้ำ 15-02-2010 07:50


ทส.ปลุกร่วมมือแก้ปัญหาชายฝั่ง ไทยสูญเสียพื้นที่ไปแล้วแสนไร่

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนานและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรง ซึ่งขณะนี้อัตราการกัดเซาะชายฝั่งอยู่ที่ระดับ 5-30 เมตร และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยยังเป็นพื้นที่เสี่ยงอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ipcc เมื่อปี 2007 พบว่าระดับน้ำทะเลของโลกจะมีอัตราการเพิ่มอยู่ที่ 9 เซนติเมตร - 88 เมตร ในช่วง 100 ปี คือ ในปี 2097 ซึ่งหากระดับน้ำทะเลในประเทศไทยสูงขึ้นอีก 1 เมตร ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีมูลค่าความเสียหายของสินทรัพย์จากผลกระทบดังกล่าวเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท และกรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมความพร้อม เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติที่จะเกิดขึ้น

นายประวิม วุฒิสินธุ์ รักษาการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ร้อยละ 23 ของแนวชายฝั่งทะเลของไทยหรือราว 600 กิโลเมตรกำลังประสบปัญหาการกัดเซาะ ซึ่งประเทศไทยสูญเสียพื้นที่จากปัญหานี้ไปแล้วกว่า 113,000 ไร่ โดยเฉพาะในช่วง 55 ปีที่ผ่านมานี้มีการกัดเซาะผืนดินไป 16,760 ไร่

"จังหวัดที่จัดว่าเป็นพื้นที่วิกฤติมี 13 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ระยะทางรวม 207 กิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 12 ของแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยพื้นที่รูปตัว ก มีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 10 - 20 เมตรต่อปี ในส่วนพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามันมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปีใน 5 จังหวัด คือ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และหากระดับน้ำทะเลสูงเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร จ.พัทลุงจะโดนผลกระทบด้วยเช่นกัน" นายประวิมกล่าว



จาก : สำนักข่าว inn วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553

สายน้ำ 01-03-2010 07:34


ไทยเสียแผ่นดินกว่าแสนไร่


นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนานและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรง ซึ่งขณะนี้อัตราการกัดเซาะชายฝั่งอยู่ที่ระดับ 5-30 เมตร และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และนอกจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแล้ว พื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยยังเป็นพื้นที่เสี่ยงอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา ทส. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 20 ปี จัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555 จัดตั้งหน่วยงานเพื่อจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และการวิจัยทางด้านสมุทรศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาในบางพื้นที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นหรือยังไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์

ด้านนายประวิม วุฒิสินธุ์ รักษาการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ร้อยละ 23 ของแนวชายฝั่งทะเลของไทยหรือราว 600 กิโลเมตรกำลังประสบปัญหาการกัดเซาะ และจังหวัดที่จัดว่าเป็นพื้นที่วิกฤติมีทั้งสิ้น 12 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ระยะทางรวม 207 กิโลเมตรหรือประมาณร้อยละ 12 ของแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยพื้นที่รูปตัว ก มีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 10-20 เมตรต่อปี ในส่วนพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามันมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปีใน 5 จังหวัด คือ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และหากระดับน้ำทะเลสูงเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร จังหวัดพัทลุงจะโดนผลกระทบด้วยเช่นกัน นายประวิมกล่าว.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 1 มีนาคม 2553

สายน้ำ 24-01-2011 07:50


พัทยาชายหาดหาย คาดอีก 5 ปี ไม่มีเหลือ!


นักวิชาการ จุฬาฯ ชี้อีก 5 ปี พัทยาจะไม่มีหาดทรายเหลือ เหตุปัญหากัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขั้นวิกฤติ เผยข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศในปี 2495 ชายหาดกว้าง 35.6 เมตร ส่วนปี 2553 เหลือเพียง 4-5 เมตร เมื่อระดับน้ำทะเลขึ้นสูงพื้นที่หน้าหาดจมมิด เตรียมใช้วิธีเติมทรายชายหาดตามหลักวิชาการแก้ปัญหาระยะยาว

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศน์เชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุุบันชายหาดพัทยาถูกกัดเซาะอย่างหนักทำให้เหลือพื้นที่หาดทรายแคบมาก โดยเฉพาะเวลาที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด พื้นที่หน้าหาดเกือบทั้งหมดจมน้ำทะเล ทำให้ไม่มีพื้นที่ว่างริมชายหาดเหลืออยู่เลย ดังนั้นจึงมีการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยา ซึ่งจากการใช้เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และข้อมูลระยะไกล พร้อมกับตรวจสอบข้อมูลจากภาคสนามและภาพถ่ายเก่าๆในช่วงเวลาที่ต่างกัน พบว่าหาดพัทยามีการกัดเซาะที่รุนแรงขั้นวิกฤติในบริเวณตั้งแต่พัทยาเหนือจนถึงพัทยาใต้

ศ.ดร.ธนวัฒน์ระบุว่า จากข้อมูลการแปลภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าในปี พ.ศ.2495 บ่งชี้ว่าหาดพัทยาในอดีตมีความสวยงามมาก มีพื้นที่หน้าหาด 60 ไร่ ความกว้างหน้าหาดอยู่ที่ 35.6 เมตร ในปี พ.ศ.2510 หน้าหาดพัทยาถูกกัดเซาะจนเหลือเนื้อที่เพียง 34 ไร่ ความกว้างหน้าหาดเหลือ เพียง 20.6 เมตร ในปี พ.ศ.2517 หน้าหาดพัทยาถูกกัดเซาะเหลือประมาณ 31 ไร่ ความกว้างหน้าหาดลดลงเหลือแค่ 18.5 เมตรเท่านั้น

"อัตราการกัดเซาะชายหาดพัทยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2495-2517 มีอัตราการกัดเซาะ เฉลี่ยที่ 0.78 เมตรต่อปี การกัดเซาะชายหาดพัทยารุนแรงและวิกฤติที่สุดในช่วงปี พ.ศ.2535-2536 ขณะนั้นพบว่าชายหาดแทบไม่เหลือพื้นที่หน้าหาด โดยเฉพาะช่วงน้ำทะเลขึ้นสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีหาดไว้ใช้พักผ่อน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงมาก"

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศในปี พ.ศ.2539 กลับพบว่าชายหาดพัทยามีความกว้างหาดประมาณ 30.3 เมตร มีพื้นที่หน้าหาดคิดเป็น 51 ไร่ ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าชายหาดพัทยามีการถมทะเลเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการนำทรายมาถมโดยหน่วยงานท้องถิ่น และเมื่อเปรียบเทียบกับชายหาดพัทยาในปี พ.ศ.2545 พบว่าชายหาดพัทยาถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงด้วยอัตราประมาณ 1.8 เมตรต่อปี ทำให้หน้าหาดพัทยาเหลือความกว้างเพียง 31 ไร่

ศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการสำรวจในภาคสนาม พบว่าในปี พ.ศ.2553 ความกว้างของชายหาดพัทยาเหลือเพียง 4-5 เมตรเท่านั้น โดยเฉพาะในขณะที่มีระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม แทบจะไม่เหลือพื้นที่หาดให้นักท่องเที่ยวใช้พักผ่อน หากไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จากข้อมูลอัตราการกัดเซาะดังกล่าว ชี้ว่าอีกไม่เกิน 5 ปี หาดพัทยาจะไม่มีหาดทรายเหลือ

"ปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยาเป็นภัยพิบัติเงียบและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันแก้ไข การที่ผู้ประกอบการธุรกิจชายหาดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามลำพัง โดยใช้วิธีโกยทรายในช่วงระดับน้ำทะเลลงต่ำสุดมาพอกเป็นชายหาดที่อยู่หน้าเขื่อนเพื่อใช้ประกอบกิจการธุรกิจชายหาด เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ได้ผลในระยะสั้น แต่ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดที่มีความรุนแรงได้ตลอดไป"

นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งว่า มี 2 วิธีหลัก คือ
1.การใช้โครงสร้างแก้ไขปัญหากัดเซาะชายหาด เช่น กำแพงกันคลื่น การใช้หินทิ้ง เป็นต้น แม้จะสามารถรักษาชายฝั่งไว้ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทัศนียภาพของชายหาดเปลี่ยนไป ขาดความสวยงามและความเป็นธรรมชาติของชายหาด และ
2.การเติมทรายให้ชาดหาดที่ถูกกัดเซาะและพยายามรักษาสมดุลของหาดทรายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม วิธีนี้มีหลายประเทศกำลังให้ความสนใจและดำเนินการอยู่ ทั้งบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย หาดแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และหมู่เกาะมัลดีฟส์

"วิธีแรกใช้โครงสร้างแบบแข็ง ซึ่งในเมืองไทยนำมาใช้แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งหลายพื้นที่ ส่วนวิธีที่สอง คือ การเติมทรายนั้นบ้านเรายังไม่เคยใช้มาก่อน ดังนั้นการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งของหาดพัทยาจะใช้วิธีเติมทรายคืนชายหาด หากทำสำเร็จจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการปัญหากัดเซาะอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกับชายหาดท่องเที่ยวอื่นๆของประเทศ ทั้งนี้ คนในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต้องเห็นตรงกัน และเป็นผู้เลือกวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับชุมชนของตนเอง" ศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าว.




จาก ................... ไทยโพสต์ วันที่ 24 มกราคม 2554

สายน้ำ 27-01-2011 06:46


บางขุนเทียนอึ้ง 10 ปีดินหาย 50 ม. แก้ได้แค่ปักไม้กั้น


ชายทะเลบางขุนเทียนถูกน้ำกัดเซาะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ หลังพบสถิติย้อนหลังแค่ 10 ปีพื้นดินหายระยะทางยาว 1 ก.ม.แล้ว ศูนย์วิจัยธรรมชาติ ม.รังสิต ระบุซ้ำ ถ้าเพิกเฉย อีก 10 ปีข้างหน้า ดินจะหายไปอีก 50 เมตร สำนักระบายน้ำทำได้เพียงสร้างแนว "คันไม้ไผ่" ป้องกันแนวคลื่นและน้ำกัดเซาะ เผยแก้ปัญหาถาวรต้องใช้งบฯ 600 ล้านบาท ข้าราชการ กทม.ท้อใจผู้บริหารไม่ยอมอัดฉีดงบประมาณให้

จากการที่มีนักวิชาการเสนอแนะให้รัฐบาลย้ายเมืองหลวงจาก "กรุงเทพมหานคร" ไปยังพื้นที่ "อีสานใต้" เพื่อหลีกหนีปัญหาน้ำท่วมที่คาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เนื่องจากประเมินสภาพพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นที่ราบลุ่มต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ดินมีการทรุดตัวเฉลี่ย 1 เซนติเมตร/ปี


พื้นที่เสี่ยงจมน้ำ

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพฯมีพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร ทุกตารางนิ้วสุ่มเสี่ยงถูกน้ำท่วมหมด เพราะเป็นที่ราบลุ่มต่ำ ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อาทิ คลองสามวา ลาดกระบัง หนองจอก มีนบุรี ร่มเกล้า กิ่งแก้ว ศรีนครินทร์ บางนา ประเวศ

ขณะที่ "ฝั่งตะวันตก" ย่านตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ถูกกำหนดเป็นโซนผังเมืองสีเขียวและเขียวลายเช่นกัน แต่มีแนวคันกั้นน้ำเป็นเกราะกำบัง ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่า ส่วน "พื้นที่ใจกลางเมือง" เช่น สุขุมวิท รัชดาฯ จะเกิดน้ำท่วมช่วงฝนตกหนัก เพราะระบายไม่ทัน จุดนี้จะได้รับการแก้ไขเมื่อโครงการอุโมงค์ยักษ์ของ กทม.แล้วเสร็จในปี 2558


"ทะเลบางขุนเทียน" น่าห่วง

"บางขุนเทียน" เขตติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร ซึ่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะเฉลี่ย 1.4-4.5 เมตร/ปี ที่น่าวิตกคือสถิติ 10 ปีย้อนหลัง พื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้ว 800-1,000 เมตร หรือ 1 กิโลเมตร นับจากหลักเขตกรุงเทพฯ คำนวณเป็นที่ดินที่หายไปมากกว่า 2,000 ไร่ ทางศูนย์วิจัยธรรมชาติ ม.รังสิต ได้คาดการณ์ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ชายฝั่งทะเลจะถูกกัดเซาะต่อไปอีกอย่างน้อย 50 เมตร


กทม.แก้ปัญหาไม่ตก

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อปี 2548 สำนักผังเมือง กทม.ใช้งบฯ 29 ล้านบาท จัดจ้างที่ปรึกษาทำผลศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหา รายงานชิ้นนี้แล้วเสร็จเมื่อปี 2550 ระบุแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ คือ
1.ก่อสร้างไส้กรอกทรายรอดักตะกอนรูปตัวที (T-Groins) หรือทีกรอยน์ เพื่อยับยั้งการกัดเซาะชายฝั่งและดักจับดินตะกอน
2.ปลูกป่าไม้ชายเลนเพิ่มเป็นแนวกันชน (Buffer Zone) 100-300 เมตร แต่เนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่บางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับทีกรอยน์ โครงการนี้จึงถูกชะลอไว้ก่อน

ปัจจุบัน สำนักการระบายน้ำของ กทม. ได้มีมาตรการชั่วคราว คือก่อสร้างแนว "คันไม้ไผ่" ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน งบฯ 5.8 ล้านบาท จะแล้วเสร็จเมษายนนี้ และระยะที่ 2 ได้งบฯปีนี้อีก 10 ล้านบาท เริ่มกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม 2554


งบฯ 600 ล. แก้ปัญหาถาวร

ส่วนมาตรการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน กำลังสำรวจ ออกแบบ ทำรายละเอียด และประมาณค่าก่อสร้างคันหินรอดักตะกอนรูปตัวที ความยาว 6,970 เมตร ติดตั้งเสาและป้ายเครื่องหมายเดินเรือ 176 แห่ง ใช้งบฯ 500-600 ล้านบาท และต้องใช้เวลาจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาพื้นที่อีก 2 ปี นั่นหมายความว่า กว่าจะลงมือตอกเสาเข็มก่อสร้างได้จริง ต้องรอไปถึงเดือนมิถุนายน 2556 แต่ความสำเร็จของโครงการยังขึ้นกับผู้บริหาร กทม.ด้วยว่าจะจัดสรรงบประมาณให้หรือไม่




จาก ................... ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 มกราคม 2554

ลูกปูกะตอย 27-01-2011 07:28

ขอบคุณสำหรับข่าวค่ะ

สายน้ำ 30-01-2011 07:27


วิกฤติพัทยาหวั่น 5 ปีชายหาดหาย เร่งแก้เติมทราย 200,000 ตัน

http://www.dailynews.co.th/content/i...p19pattaya.jpg

ชายหาด “พัทยา” มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวติดอันดับหนึ่งในเอเชียถึงขั้นเป็นความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียยกย่องให้พัทยาเป็นสถานที่ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปเยือน มุมหนึ่งของพัทยานอกจากโรงแรมรีสอร์ท สถานบันเทิงพร้อมสรรพ พัทยายังมีหาดทรายกินอาณาบริเวณกว้างขวาง เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติที่นิยมมาอาบแดดเล่นน้ำทะเล

ย้อนไปเมื่อ 60 ปีก่อน “พัทยา” คือหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็ก เต็มไปด้วยป่ารกทึบ แต่มีชายหาดสวยและน้ำทะเลสวย ว่ากันว่าขนาดยืนในทะเลน้ำลึกระดับหน้าอกยังสามารถมองเห็นเท้าตัวเอง พัทยาเริ่มเป็นที่รู้จักจากคนภายนอกเมื่อปี พ.ศ. 2502 เมื่อทหารอเมริกันจากฐานทัพนครราชสีมาเดินทางมาพักผ่อน ต่อมาได้พัฒนาและเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศของทหารอเมริกันที่มาตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภา อ.สัตหีบ สมัยสงครามอินโดจีน จากนั้นพัทยาก็เจริญขึ้นตามลำดับ จนรัฐบาลต้องตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2551 ขึ้น

การเติบโตด้านการท่องเที่ยวของเมืองไม่หยุดยั้ง ทำให้พัทยาต้องเผชิญปัญหานานัปการ ทั้งการวางผังเมืองที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาขยะ ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ น้ำเสีย และปัญหาชายหาดถูกกัดเซาะอย่างหนักทำให้หาดแคบลง โดยเฉพาะเวลาน้ำทะเลขึ้นสูงสุด พื้นที่หน้าหาดเกือบทั้งหมดจมน้ำ

ก่อนหน้าที่พัทยาจะเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว มีพื้นที่ขนาดความกว้างถึง 96,128.4 ตารางเมตร หรือประมาณ 60 ไร่ หน้าหาดอยู่ที่ 35.6 เมตร แต่ปัจจุบันด้วยระบบธรรมชาติการกัดเซาะของคลื่นทะเล ส่งผลให้ปี พ.ศ. 2545– 2553 เหลือบริเวณความกว้างของชายหาดเพียง 4–5 เมตร เท่านั้น เฉลี่ยเกิดการกัดเซาะของชายหาด 1.80 เมตรต่อปี

ทั้งนี้จากการสำรวจของหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าการเปลี่ยนแปลงของภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2495–2545 หาดพัทยามีการกัดเซาะอย่างรุนแรงในบริเวณพื้นที่พัทยาเหนือจนถึงพัทยาใต้ ระยะทางทั้งสิ้น 2.7 กิโลเมตร พ.ศ.2510 หน้าหาดมีการกัดเซาะเหลือเพียง 55,818.3 ตารางเมตร หรือ ประมาณ 34 ไร่ ความกว้างของหน้าหาดเพียง 20.6 เมตร ปี พ.ศ. 2517 หน้าหาดถูกกัดเซาะเหลือเพียง 49,191.4 ตารางเมตร หรือประมาณ 31 ไร่ ความกว้างของหน้าหาดลดลง เหลือเพียง 18.5 เมตร โดยรวมแล้วอัตราการกัดเซาะชายหาดพัทยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495–2517 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.78 เมตรต่อปี ขณะที่พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยารุนแรงและวิกฤติสุดในราวปี พ.ศ. 2535-2536 ขณะนั้นพบว่า ชายหาดแทบไม่เหลือโดยเฉพาะช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง (พ.ย.-ม.ค.)

สืบเนื่องจากสาเหตุของปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการจัดโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมชายหาดพัทยา โดยความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว

ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ได้ศึกษาการวางแผนแม่บทออกแบบเพื่อเสริมชายหาดพัทยาครอบคลุมพื้นที่ 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1. บริเวณชายหาดพัทยาเหนือตั้งแต่โรงแรมดุสิตรีสอร์ท ถึงชายหาดพัทยากลางระยะทาง 1, 300 เมตร
ช่วงที่ 2 เริ่มจากชายหาดพัทยากลางถึงชายหาดพัทยาใต้ ระยะทาง 1,400 เมตร และ
ช่วงที่ 3 ได้แก่ ตั้งแต่ชายหาดพัทยาใต้ถึงบริเวณแหลมบาลีฮายมีระยะทาง 1,780 เมตร รวมแนวชายฝั่งพื้นที่ศึกษาทั้งสิ้น 4.48 กิโลเมตร

จากการศึกษาพบว่า สาเหตุการกัดเซาะเกิดจากตะกอนทรายที่คอยเติมให้กับอ่าวพัทยาจากตอนบนของลำน้ำและน้ำท่วมไหลหลากจากพื้นที่ชายฝั่งลงสู่อ่าวพัทยาลดน้อยลง การนำพาตะกอนของคลื่นมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการใช้ประโยชน์หรือกิจกรรมชายหาดที่เปลี่ยนไปในอ่าวพื้นที่พัทยา ล้วนส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายหาดพัทยาอย่างรุนแรง รวมทั้ง ทางระบายน้ำระบายไม่สะดวก คลื่นลมแรงขึ้น ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาด้วยการนำทรายมาเติมชายหาด

“กระบวนการดังกล่าวแก้ไขด้วยระบบธรรมชาติแบบพ่นทราย โดยศึกษาทิศทางของลม ว่าช่วงไหนลมอยู่ทางทิศใด เพราะคลื่นจะพัดเอาทรายไปไว้ในบริเวณชายหาดด้วย อย่างเช่น ฤดูหนาวเราก็นำมาปล่อยตรงหาดพัทยาเหนือ หน้าร้อนก็นำมาปล่อยที่หาดพัทยาใต้ ในขณะที่ระยะหาดประมาณ 30 เมตร จะต้องนำทรายมาเติมประมาณ 200,000 คิว หาดทรายจะอยู่ได้ประมาณ 15 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ในออพชั่นแรก 30 เมตร ออพชั่นสองที่วางแผนว่าจะทำ 40 เมตร ส่วนทางภูมิสถาปัตย์จะมีการออกแบบทางเดิน เต็นท์ผ้าใบ ถือได้ว่าเป็นการจำลองธรรมชาติ” หัวหน้าศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่อธิบายถึงลักษณะการเติมทราย

ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะนำทรายมาเติมได้มีการทำประชาพิจารณ์ ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าผลการทำอีไอเอและประชาพิจารณ์ผ่านก็จะดำเนินการ ซึ่งระหว่างการเติมทรายนักท่องเที่ยวยังสามารถเที่ยวได้

“หากไม่มีการเติมทรายเชื่อว่าภายในระยะเวลาอีก 5 ปี พัทยาจะไม่มีชายหาดเหลือ ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงรอผลการทำประชาพิจารณ์จากกลุ่มเป้าหมายที่ได้สำรวจ” นักวิชการจากจุฬาฯระบุ

อนุ นุชผ่อง ผู้ประกอบการร้านค้าร่มเตียงบริเวณชายหาดพัทยากล่าวว่า ได้ประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่มาประมาณ 40 กว่าปีแล้ว ย้อนไปเมื่ออดีตชายหาดมีขนาดกว้างและสวยงาม หาดทรายมีสีขาว ขยะมีปริมาณน้อย นักท่องเที่ยวเยอะรายได้เฉลี่ยต่อวันหลายพันบาท จนมาถึงปัจจุบันความกว้างของหน้าหาดแทบจะไม่มีเลย

“ถ้าผู้ที่มีความรู้ด้านการเติมชายหาดทำแล้วสามารถเห็นผลได้จริงก็ทำเลย เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรจะเหลือแล้ว จากที่เคยมีรายได้วันละพันบาท ปัจจุบันแทบจะไม่ถึง 400 บาทต่อวันด้วยซ้ำ และหวังว่าถ้าเติมแล้วชายหาดพัทยาจะกลับมาสวยเหมือนเดิม ที่สำคัญรายได้ก็อาจจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกด้วย” ผู้คุ้นเคยต่อหาดพัทยาบอกเล่าถึงผลกระทบในวันที่ชายหาดเหลือน้อย

ดร.เจิดจินดา โชติยะปุตตะ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ให้แนวคิดจากเรื่องนี้ว่า ในส่วนของชายหาดพัทยาถือได้ว่าได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะของคลื่นทะเล การกัดเซาะชายหาดมีหลายสาเหตุทั้งจากธรรมชาติด้วย อาทิ ลม พายุ คลื่น รวมไปถึงฝีมือมนุษย์ เช่น การขุดลอก การทำนากุ้ง การตัดป่าชายเลน ซึ่งป่าชายเลนถือเป็นตัวหลักในการบังคลื่น ลม ถ้ามีต้นไม้จะสามารถชะลอความเร็วของลมได้ ไม่ทำให้คลื่นลมแรงและลดการกัดเซาะได้ ด้านการสร้างเขื่อนเวลาฝนตกจะมีการชะล้างตะกอนจากหุบเขาลงมายังแม่น้ำ ในขณะที่มีการสร้างเขื่อน ตะกอนก็ไหลลงมายังทะเลหรือแม่น้ำมีจำนวนน้อย รวมไปถึงการดูดทราย การสร้างถนนใกล้ชายหาด

วันนี้หากไม่มีการตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อการกัดเซาะชายฝั่ง อนาคต “หาดทราย” อาจไม่อยู่คู่กับท้องทะเลไทย.



จาก ................... เดลินิวส์ วันที่ 30 มกราคม 2554

สายน้ำ 16-02-2011 08:33


สรุปบทเรียนจากปัญหาการกัดเซาะหาดทรายของไทย


ข้อสังเกตุเกี่ยวกับกฎหมายไทยที่ควรปรับปรุง

จากการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลควบคุมการใช้ประโยชน์ชายฝั่งของไทยนั้น พบว่ามีประเด็นที่ควรปรับปรุงดังนี้

1) กฎเกณฑ์การควบคุมดูแลและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางน้ำของไทยเป็นกฎเกณฑ์กว้างเกินไป เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ร่วมกันทุกพื้นที่ทั้งประเทศ และทุกประเภทของทรัพยากร (เช่น แม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทะเล หรือชายหาด) ซึ่งหากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่าทรัพยากรมีความแตกต่างกันทั้งพื้นที่ และประเภทของทรัพยากร เช่น กายภาพของทะเล และแม่น้ำจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก กฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดขึ้นใช้อาจเหมาะสมสำหรับแม่น้ำแต่อาจจะไม่หมาะสมสำหรับทะเล

2) การไม่มีมาตราการทางกฎหมายการจัดการ การสงวน การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน ในส่วนของปากแม่น้ำ สันทราย ซึ่งเป็นรอยต่อทางธรรมชาติระหว่างแม่น้ำและทะเล ระหว่างทะเลและแผ่นดินที่มีความสำคัญมาก และไม่มีการกำหนดแนวถอยร่นในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีแต่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเท่านั้นที่เข้มงวด

3) การอนุญาตสิ่งปลูกสร้างที่มิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ผลการศึกษาความเหมาะสมอย่างเป็นวิชาการประกอบการพิจารณา เช่น จาก พรบ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ข้อ 5. ที่กำหนดว่า อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำที่ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ ให้ผ่านการอนุญาตโดยกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวี จากนั้นให้ประกาศลักษณะของอาคารหรือลักษณะของการล่วงล้ำลำแม่น้ำนั้นในราชกิจจานุเบกษาและให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ในการอนุญาตต่อไปได้ โดยมิได้ระบุถึงมาตราการการส่งเสริมการใช้กระบวนการทางวิชาการประกอบการตัดสินใจ

4) ความไม่เหมาะสมของข้อกำหนดในบางกรณี เช่น โครงสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างล่วงล้ำเข้าชายฝั่งได้บางประเภทที่ระบุใน พรบ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ข้อ 4 เป็นโครงสร้างที่กระตุ้นการกัดเซาะชายฝั่ง กรณีตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน ข้อ 4 (5) ที่ว่า “การสร้างเขื่อนกันน้ำเซาะ ต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง” จากการทบทวนเอกสารพบว่า โครงสร้างแข็งจะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่แทรกแซงระบบธรรมชาติ และเป็นสาเหตุหลักของการกัดเซาะ ชึ่งพบได้ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของไทย ในทางวิชาการนั้น การป้องกันน้ำเซาะมีวิธีการหลากหลายวิธี วิธีการสร้างเขื่อนกันน้ำเซาะด้วยโครงสร้างแข็งแรง เป็นวิธีที่ก่อให้เกิดผลกระทบบริเวณข้างเคียงรุนแรงต่อเนื่องยากที่จะสิ้นสุดและจะยิ่งรุนแรงขึ้นมากในกรณีของชายฝั่งทะเล

อีกกรณีตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน ข้อ 4 (7) ที่ว่า “โรงที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำต้องอยู่บนฝั่งหรืออยู่ใกล้ฝั่งมากที่สุด” จากข้อกำหนดนี้ โรงติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่สร้างขึ้นจะเป็นโครงสร้างที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะรุนแรงได้ เพราะการอยู่ใกล้ฝั่งมากก็จะล่วงล้ำแนวถอยร่นของชายหาดและเกิดปัญหาการกัดเซาะตามมา ดังปัญหาที่เกิดขึ้นที่ ตำบลเก้าเส้ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ที่มีโรงสูบน้ำเสียตั้งอยู่ชายฝังบนหาดเก้าเส้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาการกัดเซาะที่หาดเก้าเส้งอย่างรุนแรงเนื่องจากโรงสูบน้ำเสีย เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ลุกล้ำแนวถอยร่น จึงแทรกแซงระบบของธรรมชาติ

5) การกำหนดโทษปรับต่ำมากเกินไป เช่น โทษปรับห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท กรณีการกระทำใดๆ ที่เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ทางเดินเรือ โทษปรับดังกล่าวจะไม่มีผลยับยั้งการสร้างปัญหา โทษปรับควรจะครอบคลุมถึงการสูญเสียดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมด้วย

http://www.bwn.psu.ac.th/crm/law1.jpg



จุดอ่อนในการบริหารจัดการอนุรักษ์หาดทรายของไทย

ทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยมีความเสียหายรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

1) การมองข้ามองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับระบบนิเวศหาดทรายและชายฝั่ง อาจเกิดจากการไม่ให้ความสำคัญ ทำให้การใช้ประโยชน์และการแก้ปัญหาการกัดเซาะที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความไม่เข้าใจไม่สอดคล้องกับระบบทางธรรมชาติของชายฝั่ง ทำให้กิจกรรมต่างๆของมนุษย์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพังทลายของหาดทราย

2) กฎหมายที่มีอยู่ไม่เป็นปัจจุบัน กฎหมายที่มีอยู่ให้อำนาจในการก่อสร้างที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 โดยมีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวีเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้มีการก่อสร้างที่เป็นการแทรกแซงระบบทางธรรมชาติของชายหาดมาตลอด ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังและมีอำนาจหน้าที่ในการดูแล ฟื้นฟู ซึ่งพบว่าแผนงานส่วนใหญ่ยังคงใช้แนวคิดการใช้สิ่งก่อสร้างเข้าแก้ปัญหาการกัดเซาะเช่นเดียวกับกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวี

3) กฎหมายในการอนุรักษ์ชายหาดและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งยังไม่ครอบคลุมชัดเจน กฎหมายที่มีอยู่กว้างเกินไป มีความไม่เหมาะสมในบางกฎเกณฑ์ และการไม่มีการกำหนดแนวถอยร่นอย่างชัดเจนในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นวิชาการและ เป็นปัจจุบันเพียงพอ ตลอดจนการขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เช่นทำให้มีการลักลอบดูดทรายเกิดขึ้นเสมอ

4) ขาดผู้รับผิดชอบโดยตรงในการบังคับใช้กฎหมาย และยังมีความเห็นไม่ตรงกันในแนวคิดการสงวน อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชายหาดและชายฝั่งของประเทศ

5) การไม่มีวิธีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ การไม่ประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้มีการทำงานทั้งส่วนที่ซ้ำซ้อนกันและส่วนที่ขัดแย้งกัน

6) การมองข้ามความสำคัญในการกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างชัดเจน ทำให้มีการใช้ประโยชน์ไปอย่างไร้ทิศทาง และทำให้เสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ศักยภาพของหาดทรายในอนาคต เช่น กรมเจ้าท่า (หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบดูแลชายฝั่งในอดีต ได้ใช้ประโยชน์ชายฝั่งไปในด้านการขนส่งทางน้ำเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงศักยภาพหรือคุณค่าชายหาดในด้านอื่นๆ เช่น การเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตสัตว์นานาชนิดและคุณค่าด้านนันทนาการ ทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาส่งผลให้เสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรชายฝั่งในด้านอื่นๆ

7) การไม่มีกระบวนการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในทุกระดับ


ภัยคุกคามต่อหาดทรายธรรมชาติของไทย

1) สังคมขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในระบบนิเวศของหาดทรายตามธรรมชาติ ข่าวสารที่ระบุสาเหตุปัญหาการกัดเซาะหาดทรายที่ไม่ถูกต้อง ได้รับการเผยแพร่ต่อสารธารณะอยู่เสมออย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดทั่วไปและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดทาง ตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการกัดเซาะหาดทรายเกิดจากคลื่น ซึ่งความเป็นจริงแล้วทรายจะเคลื่อนที่มาและเคลื่อนไปตามธรรมชาติโดยคลื่น การเคลื่อนที่ไปอาจจะมากในฤดูมรสุมและคลื่นจะช่วยซ่อมแซมในช่วงคลื่นลมสงบ ที่ชาวบ้านเรียกว่าคลื่นแต่งหาด

2) ไม่มีการควบคุมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายทะเลอย่างเหมาะสม เช่น การกำหนดแนวการใช้ประโยชน์ที่ไม่รุกล้ำระบบธรรมชาติ ประกอบกับการมองข้ามองค์ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายทะเลทั้งของโครงการของรัฐบาลและประชาชน แทรกแซงระบบของธรรมชาติทั้งโดยเจตนาและการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปัญหาการกัดเซาะจึงรุกลามไปเป็นลูกโซ่ในทุกวันนี้

3) ไม่มีการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง เช่น การกัดเซาะชายฝั่งมักจะสร้างความกังวลให้กับชุมชนชายฝั่ง ดังนั้นเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักใช้งบประมาณไปกับการใช้โครงสร้างแข็งเพื่อแก้ปัญหา โดยไม่คำนึงถึงขอบเขตของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แทนที่จะใช้กระบวนการทำความเข้าใจอย่างเป็นวิชาการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแทรกแซงธรรมชาติโดยไม่จำเป็น และเกิดการกัดเซาะหาดทรายในพื้นที่ถัดไปโดยไม่ทราบจุดสิ้นสุด เป็นการเลือกวิธีแก้ที่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ในพื้นที่ข้างเคียง

4) การแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงทำให้เกิดช่องทางแสวงหาประโยชน์ของคนบางกลุ่มจากโครงการก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนการใช้โอกาสในฤดูมรสุมลมแรงและการอ้างกระแสข่าวภาวะโลกร้อนในการเสนอโครงการก่อสร้างป้องกันชายฝั่ง โดยขาดการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มสิ่งแปลกปลอมแทรกแซงระบบธรรมชาติ ก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างไม่สิ้นสุด

ที่มา www.bwn.psu.ac.th





จาก ....................... http://beachconservation.wordpress.com

สายน้ำ 21-02-2011 07:15


ความเข้าใจผิดที่พบเสมอเกี่ยวกับหาดทราย



บทนำ

ความสัมพันธ์ระหว่างทะเลและชายหาด มีความซับซ้อน ทำให้มักเข้าใจกันผิดอยู่บ่อยๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแล ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ชุมชน เนื่องจากหลายๆครั้ง ความเข้าใจผิดนี้เอง เป็นสิ่งที่ขัดขวางความสำเร็จของการดูแลชายฝั่ง บทความนี้จึงได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อพิสูจน์ และแก้ใขความเข้าใจผิดต่างๆ



ความเข้าใจผิด

การกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหา และจะต้องมีการป้องกัน



แท้จริง

การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นกระบวนการตามปกติของธรรมชาติ เนื่องจากชายหาดประกอบด้วยเม็ดทราย ซึ่งเคลื่อนที่ตามแรงพัดพาของกระแสคลื่นและลม ทำให้เกิดความสมดุลของชายหาด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เคยหยุดนิ่ง การกัดเซาะของชายหาดในช่วงฤดูมรสุม จะถูกทดแทนด้วยเม็ดทรายที่ถูกพัดคืนกลับมาทับถมกันตามเดิมในฤดูที่ลมสงบ

ชายหาดนั้นจะได้รับการปกป้องอย่างสูงสุด ถ้าเรายอมรับกระบวนการตามธรรมชาติของการกัดเซาะ และการทับถมกลับคืน โดยไม่เข้าไปรบกวนสมดุลนี้



ความเข้าใจผิด

กำแพงกันคลื่นสามารถป้องกันการกัดเซาะได้


แท้จริง

ชายหาดตามธรรมชาติมักแผ่ขยายหรือร่น ตามอิทธิพลของคลื่นและกระแสน้ำ โดยในฤดูมรสุม คลื่นจะพัดพาทรายออกไปจากชายหาด และคลื่นก็จะนำทรายกลับมาที่หาดตามเดิมในช่วงฤดูที่ลมสงบ การสร้างกำแพงกันคลื่นจะแยกทรายให้อยู่เฉพาะด้านบนของกำแพง ทำให้ปริมาณทรายในระบบตามปกติลดลง ด้วยเหตุนี้ในช่วงฤดูมรสุมชายหาดที่อยู่ด้านล่างของกำแพง อาจถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจนหมดสภาพ

กล่าวคือ กำแพงกันคลื่นสามารถป้องกันพื้นที่ด้านบนของกำแพงได้จริง แต่จะเพิ่มการกัดเซาะให้กับชายหาดด้านล่าง ยิ่งสร้างกำแพงกันคลื่นมากขึ้นเท่าใด ทรายที่ถูกแยกออกจากระบบก็จะมากขึ้น ทำให้ชายหาดยิ่งยากจะคงสภาพอยู่ได้ จนในที่สุดอาจไม่เหลือชายหาดบริเวณด้านล่างของกำแพงเลย ซึ่งชายหาดก็จะไม่สามารถใช้ประโยชน์และท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจได้ดังเดิมอีกต่อไป

ในทางกลับกัน ถ้ายอมให้ชายหาดมีการกัดเซาะตามฤดูกาลธรรมชาติ ไม่ถูกกึดขวางด้วยกำแพงกันคลื่น ชายหาดก็จะยังเป็นชายหาดอยู่เสมอ

http://www.bwn.psu.ac.th/paper/misco...misconcep2.JPG

กำแพงกันคลื่นที่ Machans Beach in Mulgrave Shire ถูกสร้างขึ้นเพื่อยับยั้งการกัดเซาะอาคารบ้านเรือน แต่ผลคือทำให้ไม่เหลือชายหาดที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป


http://www.bwn.psu.ac.th/paper/misco...misconcep3.JPG

ที่ Burleigh Heads บน Gold Coast ลานจอดรถและสาธารณูปโภคอื่นๆถูกสร้างบนเนินทรายชายฝั่ง แม้จะปรากฏร่องรอยเพียงเล็กน้อยของการกัดเซาะต่อสาธารณูปโภค แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการซ่อมแซมแก้ไข และมีโอกาสมากที่จะเกิดการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรงตามมา



ความเข้าใจผิด

การปรับเปลี่ยนรูปร่างของเนินทรายด้านบนของชายหาด ไม่ส่งผลกระทบต่อชายหาด


แท้จริง

เนินทรายด้านบนของชายหาด เป็นที่เก็บสำรองทราบของชายหาดไว้ใช้ในฤดูมรสุม ที่ทรายด้านล่างถูกพัดพาออกไป สิ่งปลูกสร้างที่สร้างใกล้ชายหาดมากเกินไป หรือแม้แต่การจอดรถบนเนินทรายริมชายหาดก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่สร้างใกล้ชายหาดมากเกินไป เมื่อมีปัญหาการกัดเซาะ ก็อาจใช้วิธีการสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้การกัดเซาะชายหาดด้านล่างของกำแพง และพื้นที่ใกล้เคียงรุนแรงขึ้น ดังที่ได้บรรยายข้างต้น เพราะฉะนั้นสิ่งปลูกสร้างใดๆควรสร้างให้ห่างจากชายหาดให้มากเท่าที่จะทำได้

http://www.bwn.psu.ac.th/paper/misco...misconcep4.JPG

Bokarina on the Sunshine Coast การพัฒนาพื้นที่ถูกจัดให้อยู่ห่างจากชายหาดอย่างเหมาะสม จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาใดๆ



(มีต่อ)

สายน้ำ 21-02-2011 07:23


ความเข้าใจผิดที่พบเสมอเกี่ยวกับหาดทราย (ต่อ)



ความเข้าใจผิด

การมีต้นไม้และพืชต่างๆขึ้นปกคลุมชายหาด จะสามารถป้องกันการกัดเซาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ


แท้จริง

การปกคลุมของพืชบริเวณชายหาดและเนินทราย สามารถช่วยเก็บรักษาเม็ดทรายจากแรงลมทะเล และทำให้หาดแผ่ขยายขึ้นตามปริมาณทรายและตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ที่พืชขึ้นปกคลุม ในช่วงฤดูมรสุม เมื่อทรายถูกพัดพาออกไป ทำให้ชายหาดหดสั้นลงไปจนถึงเนินทรายที่มีพืชขึ้นปกคลุม เนินทรายก็จะสลายตัวเป็นเม็ดทรายเพิ่มให้กับชายหาด ซึ่งจะช่วยลดอัตราการกัดเซาะของหาดได้ ยิ่งเนินทรายมีขนาดใหญ่มากเท่าใด ประสิทธิภาพในการในการทดแทนเม็ดทรายให้กับชายหาดก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้นด้วย เหตุนี้การทำลายพืชที่ขึ้นปกคลุมเนินทรายจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ชายหาดถูกกัดเซาะได้ง่ายขึ้น

การปกคลุมของพืชช่วยรักษาเนินทรายจากแรงของลมทะเล แต่ช่วยต้านทานแรงกัดเซาะของกระแสคลื่นได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากรากของพืชเหล่านี้ไม่สามารถเก็บรักษาเม็ดทรายเอาไว้ได้เมื่อถูกคลื่นที่รุนแรงถล่ม นั่นคือช่วยได้ในแง่ป้องกันการกัดเซาะจากลมทะเลเป็นหลัก

ดังนั้นแม้ว่าการปกคลุมของพืชบนเนินทรายจะมีความสำคัญตามธรรมชาติต่อชายหาด แต่เราก็ควรเข้าใจถึงของจำกัดของมันด้วย

http://www.bwn.psu.ac.th/paper/misco...misconcep1.JPG

North Stradbroke Island จากการรุกล้ำของรถยนต์ทำให้พืชที่เคยขึ้นปกคลุมเนินทรายหายไป เนินทรายจึงมีความเสี่ยงต่อการถูกกัดเซาะมากขึ้น



ความเข้าใจผิด

การเติมทราย (sand nourishment) ช่วยป้องกันชายหาดได้เพียงแค่ชั่วคราว เมื่อฤดูมรสุมทรายส่วนใหญ่ก็จะถูกพัดหาดไป


แท้จริง

การเติมทราย เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูชายหาดจากปัญหาการกัดเซาะรุนแรง การเติมทรายนอกจากจะทำให้หาดแผ่ขยายกว้างขึ้นแล้วยังช่วยปรับให้ชายหาดเข้าสู่ความสมดุลขึ้นด้วย

วิธีการที่เหมาะสมในการเติมทรายคือ ควรใช้ทรายที่มาจากพื้นที่อื่นที่ไม่ประสบปัญหาการกัดเซาะ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณทรายในระบบ ดีกว่าการนำทรายที่จัดว่าอยู่ในระบบเดียวกัน หรือพื้นที่ใกล้เคียงกันมาเติม

ขนาดของเม็ดทรายที่จะเติมก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้มีขนาดใกล้เคียงกันของเดิม เพื่อที่จะได้แน่ใจว่าลักษณะความลาดของหาดจะคงเดิม และมีผลกระทบกับสมดุลเดิมตามธรรมชาติน้อยที่สุด โดยปกติการเติมทรายสามารถเติมเพียงแค่บางจุดของพื้นที่ที่ประสบปัญหา หลังจากนั้นทรายจะกระจายออกไปปกคลุมทั่วระบบของชายหาดนั้น ทรายไม่ได้สูญหายไปแต่ยังคงอยู่ในระบบ ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์ของการเติมทรายในจุดที่ต้องการน้อยลง เนื่องจากได้เฉลี่ยไปเพิ่มในพื้นที่อื่นๆแทน ดังนั้น เพื่อที่จะฟื้นฟูชายหาดให้เป็นผลสำเร็จ ปริมาณทรายที่จะเติมและความรุนแรงของปัญหา ต้องถูกพิจารณาอย่างรอบคอบ

หลายคนเข้าใจอย่างผิดๆเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายตามธรรมชาติของทราย จากหาดหนึ่งไปสู่หาดอื่นๆว่าเป็นการสูญเสียอย่างถาวร ซึ่งแท้จริงแล้วทรายเพียงแต่เคลื่อนย้ายไปชั่วคราว และพร้อมจะกลับมาทับถมกันเป็นหาดทรายกว้างตามเดิมในฤดูลมสงบ

http://www.bwn.psu.ac.th/paper/misco...misconcep5.JPG

Surfers Paradise Beach ได้รับการเติมทราย 1.4 ล้านคิวบิกเมตร ในปี 1974 หลังจากนั้นแม้จะโดนพายุและมรสุม หาดทรายก็ยังสามารถปรับตัวกลับมาอยู่ในสภาพที่ดีได้ ในภาพคือปี 1983 ชายหาดมีสภาพสมดุลและบางที่มีพืชขึ้นปกคลุม



ความเข้าใจผิด

การขุดลอกทรายจากปากแม่น้ำในพื้นที่ใกล้เคียง ไปเติมในบริเวณที่มีปัญหาเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาด


แท้จริง

ปริมาณทรายจำนวนมากบริเวณปากแม่น้ำ มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นแหล่งทรายสำหรับการเติมทราย อย่างไรก็ตาม ทรายในชายหาดหรือปากแม่น้ำ จะมีการเคลื่อนย้ายไปมาซึ่งกันและกันในระบบอยู่แล้ว การขุดลอกทรายจากปากแม่น้ำมาเติมในชายหาดใกล้เคียงจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น หลังจากนั้นทรายก็จะเคลื่อนย้ายไปสู่จุดสมดุลตามเดิม

ทรายบริเวณปากแม่น้ำจะสะสมและถูกพัดพาไปยังชายหาดต่างๆในช่วงฤดูน้ำหลาก การขุดลอกทรายบริเวณนี้ไปเติมยังชายหาดจะเป็นการรบกวนความสมดุลนี้ และปากแม่น้ำที่ถูกขุดลอกทรายออกไป ก็จะได้รับการแทนที่ด้วยทรายที่จะพัดพามาจากหาดใกล้เคียงเพื่อรักษาความสมดุลของระบบไว้ ทำให้ชายหาดข้างเคียงสูญเสียปริมาณทรายไปจากเดิม ผลคือไม่เกิดการได้-เสียอะไรในภาพรวม

http://www.bwn.psu.ac.th/paper/misco...misconcep6.JPG

http://www.bwn.psu.ac.th/paper/misco...misconcep7.JPG

Gold Coast ภาพที่ 1 ปี 1981 ทรายบริเวณปากแม่น้ำถูกขุดลอกออกเพื่อนำไปเติมที่หาดอื่น
ภาพที่ 2 ปี 1984 ทรายที่ถูกขุดลอกออกไปกลับมาทับถมกันตามเดิม



สรุป

หนึ่งในหน้าที่สำคัญของผู้ที่มีอำนาจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชายฝั่ง คือ การให้ความเข้าใจและข้อมูลที่ถูกต้องแก้ประชาชน เนื่องจากความเข้าใจผิดทั้งหลายจะเป็นอุปสรรคต่อการดูแลรักษาชายหาดให้คงสภาพดีอยู่เสมอ และประชาชนก็ควรตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจทฤษฏีเกี่ยวกับชายหาด อย่างถูกต้อง วิศวกรและนักวิชาการผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชายหาดควรจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เค้าเข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการใดๆเกี่ยวกับชายหาดจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมตามทฤษฏีและข้อมูลที่ถูกต้อง





ผู้เขียน : Carter , T. Common Misconceptions About Beaches. IN: “Beach Conservation”,Issue No.63 May 1986, Beach Protection Authority of Queenland.
ผู้แปล : นายดนุชัย สุรางค์ศรีรัฐ (ผู้ช่วยวิจัยโครงการ “การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ : กรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์”)


จาก ....................... http://beachconservation.wordpress.com

สายน้ำ 23-03-2011 07:36


แผ่นดินที่หายไป ........................... โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย

http://www.gotomanager.com/img/mgrm/...10321/home.jpg

ในสมัยสุโขทัยมีตำนานเรื่องพระร่วง หรือเรื่องราวของขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเป็นนิทานปรัมปรา หรือ Mythology ที่คนอายุ 60 ปีขึ้นไป อาจจะเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เล่าปากเปล่าให้ฟัง ต่อมาคนรุ่นอายุ 30-40 ปีก็เริ่มได้เรียนจากบทเรียนหรือจากการอ่านพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่องตำนานพระร่วง แต่คนรุ่นปัจจุบันดูเหมือนจะโชคร้ายไปหน่อยที่นิทานปรัมปราไม่ได้รับความสำคัญให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์เสียแล้ว

ความสำคัญจากตำนานพระร่วงที่น่าจะหยิบยกมาเป็นข้อคิดให้กับวิธีการแก้ปัญหาการเสียดินแดน ณ บริเวณชายฝั่งของประเทศไทย มาจากความสำคัญตอนหนึ่งของเรื่องราวในตำนานที่เล่ากันว่าพระร่วงเป็นคนฉลาด มีวาจาสิทธิ์ และรู้จักแก้ปัญหาที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้กับคนจำนวนมาก

ในยุคนั้นไทยต้องส่งส่วยให้ขอมในสมัยก่อน เป็นส่วยที่แปลกมากคือ “ส่วยน้ำ” ที่ต้องขนจากลพบุรีไปเมืองขอม ด้วยการบรรทุกใส่โอ่งขนเดินเท้าไป เมื่อต้องใส่โอ่งระยะทางไกล กว่าจะไปถึงก็ลำบาก หนักก็หนัก เจอปัญหาโอ่งแตกก็ต้องเสียเวลามาเอาน้ำใหม่

จากปัญหาที่คนในชุมชนต้องเจอ ทำให้นายร่วงผู้ฉลาด คิดประดิษฐ์ไม้ไผ่สาน รูปทรงเหมือนตะกร้าใบใหญ่เท่าโอ่งแล้วเอาชันมายาไม่ให้น้ำรั่ว แต่สมัยโบราณอาจจะไม่รู้จัก ก็เล่าไปว่าเป็นวาจาสิทธิ์ของ พระร่วงที่บอกไม่ให้น้ำรั่ว ไม้ไผ่สานเลยบรรทุกน้ำได้ ก็บรรทุกไปส่งขอมที่นครธม คราวนี้การบรรทุกน้ำก็สะดวกขึ้นเพราะเบากว่าโอ่ง ขอมเห็นก็ทึ่งว่าคิดได้อย่างไร และคิดไปถึงว่าผู้นำไทยอาจจะฉลาดเกินไป ถ้าขืนปล่อยไว้อาจจะเป็นปัญหาในภายหลัง ควรจะรีบกำจัดเสีย

พระร่วงรู้ข่าวก็หนีภัยไปบวช ขอมก็ส่งพระยาเดโชมาตาม แต่ก็โดนวาจาสิทธิ์ ของพระร่วงที่ออกอุบายให้นั่งรอว่าจะไปตามพระร่วงมาให้ตอนเจอหน้ากันโดยที่ พระยาเดโชไม่รู้ว่าคือพระร่วง จนเกิดเป็นตำนานขอมดำดินกลายเป็นหินอยู่ที่สุโขทัย

การหยิบยกตำนานพระร่วงมาบอกเล่าครั้งนี้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือกรณีพิพาทชายแดน แต่สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ การแก้ปัญหาที่ดีจากตัวอย่างของภาชนะบรรจุน้ำ ซึ่งไม่ต่างจากเทคนิควิธีการแก้ปัญหาการเสียแผ่นดินจากการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของหลายชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง

สิ่งที่ชาวบ้านคิดและทำแล้วในหลายพื้นที่ อาจจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่ระดับนโยบายที่ยกขึ้นเป็นความสำคัญระดับประเทศ แต่พวกเขาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการปฏิบัติจริง จนบางเรื่องพัฒนาไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ เช่น นำไปสู่การสร้างและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่จะให้ประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ ไม่ต่าง จากกรณีของพระร่วงที่เริ่มต้นจากนำความสามารถที่มีมาใช้แก้ปัญหาเล็กๆ จนพัฒนาไปสู่การกอบกู้อิสรภาพจากขอม และก่อตั้งเป็นอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาได้ในที่สุด

การเสียดินแดนของไทยในทุกวันนี้นั้น ไม่ได้มีเพียงพื้นที่ทับซ้อนบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา 4.6 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น และข้อแตกต่างอีกประเด็นก็คือพื้นที่พิพาทตลอด ชายแดนไทยกัมพูชาความยาว 798 กิโลเมตร แม้จะยังตกลงกันไม่ได้ แต่ก็ยังคงเป็นพื้นที่ที่ยังคงอยู่ไม่สูญหายไปไหน

แต่พื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยความยาว 2,815 กิโลเมตร มีเนื้อที่ถึง 20.54 ล้านไร่ กินพื้นที่ 807 ตำบล 136 อำเภอ 24 จังหวัด มีประชากรอาศัยมากกว่า 13 ล้านคน และพวกเขามีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ต้องพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งและทะเลโดยตรง

พื้นที่ตรงนี้กำลังวิกฤติ ทุกปีประเทศไทยต้องเสียพื้นดินไปเพราะการกัดเซาะชายฝั่ง ทะเลตลอดแนวนี้ โดยมีอัตราเฉลี่ยของการกัดเซาะชายฝั่งประมาณ 5-6 เมตรต่อปี บางพื้นที่ถูกกัดเซาะไม่ถึงเมตร แต่บางพื้นที่ถูกกัดเซาะเกินค่าเฉลี่ยและมีอัตราการกัดเซาะสูงกว่า 10 เมตรต่อปีก็มี

แต่ถ้าอ้างอิงตัวเลขจากโครงการการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบบูรณาการ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำไว้ในการประชุมโครงการด้านวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อปี 2551 บางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะสูงจนน่ากลัวถึง 25 เมตรต่อปีก็ยังมี ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่มีแนวโน้มความถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบัน ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจึงถูกบรรจุให้เป็นปัญหาภัยพิบัติระดับชาติ

ตัวอย่างอัตราการกัดเซาะที่ผ่านมา จากพื้นที่ชายฝั่งบริเวณคลองด่าน สมุทรปราการ ที่โด่งดังจากโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ถูกกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่าปีละ 10 เมตร เช่นเดียวกับที่บ้านขุนสมุทรจีน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดเดียวกัน ที่ยกมาเป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้ เขตบางขุนเทียนทะเลกรุงเทพฯ ก็มีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 10 เมตรต่อปีเช่นกัน ขณะที่บ้านโคกขาม สมุทรสาคร บางพื้นที่มีการกัดเซาะ บางพื้นที่มีดินงอก แต่อัตราการ งอกของแผ่นดินก็ต่ำลงทุกปีจนตัวเลขแทบจะเป็นศูนย์ ซึ่งชุมชนเหล่านี้เริ่มหาวิธีป้องกันการกัดเซาะ และสร้างแนวป้องกันด้วยตัวเองแล้ว (อ่าน “เสียดินแดน” และ “แนวป้องกัน” กรณีศึกษา: “โคกขาม” “บางขุนเทียน” และ “ขุนสมุทรจีน”)

แต่ที่สรุปปัญหาได้ตรงกันสำหรับภาพรวมของชายฝั่งทะเลก็คือเรากำลังเสียดินแดนทุกนาที และหากไม่มีมาตรการหยุดยั้งหรือหันมาใส่ใจ อัตราการสูญเสียก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สรุปข้อมูลไว้ว่า ในช่วง 100 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2449-2549 พื้นที่ชายฝั่งทะเลสูญหายไปทั้งสิ้น 16,760 ไร่ และในพื้นที่ 5 จังหวัดที่อยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนบนหรืออ่าว ก.ไก่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา เป็นจุดที่อยู่ใกล้เขตเมืองและเป็นจุดวิกฤติในด้านนี้

กรมทรัพยากรฯ ยังคาดการณ์ด้วยว่า หากไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ อีก 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องสูญเสียพื้นที่ ชายฝั่งอีกอย่างน้อย 5,290 ไร่ ซึ่งเป็น ตัวเลขที่สูงถึง 1 ใน 3 ของสถิติ 100 ปีที่ผ่านมาทีเดียว

ในฝั่งประชาชนที่อยู่ตามชายฝั่งจึงรอความช่วยเหลือไม่ไหว อะไรที่คิดว่าจะป้องกันแผ่นดินตัวเองได้ ชาวบ้านก็ลงมือทำไปก่อนตามกำลังความคิดและความสามารถที่มี ขณะที่หน่วยงานรัฐแม้จะเล็งเห็นแล้วว่า ปัญหาการกัดเซาะคือภัยพิบัติระดับชาติ แต่ในเมื่อยังไม่มีเหตุการณ์กัดเซาะรุนแรง เว้นเสียแต่เป็นเหตุการณ์จากพายุซึ่งก็ผ่านไปหลายปีจนลืมกันไปแล้วนั้น ก็มีเพียงหน่วยงานอย่างกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ลำดับ ความสำคัญของปัญหาการกัดเซาะไว้ ซึ่งเป็นแง่มุมจากหน่วยงานรัฐที่จะว่ากันจริงๆแล้วก็ไม่มีผลต่อความหวังของชาวบ้านเท่าไรนัก เพราะข้อมูลเหล่านี้จะมีบทบาทต่อการตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณเสียมากกว่า และเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆของการตัดสินใจเท่านั้น

การลำดับความสำคัญของปัญหาในส่วนของภาครัฐโดยกรมทรัพยากรฯ ซึ่งได้จากการพิจารณาความสำคัญของปัญหาการกัดเซาะร่วมกับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขึ้นกับองค์ประกอบ 7 ประการ ดังนี้

หนึ่ง-อัตราเฉลี่ยของการกัดเซาะ หรืออัตราการถดถอยของเส้นขอบชายฝั่งขึ้นไปบนฝั่งเนื่องจากการกัดเซาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะในอัตราเฉลี่ยสูง จะสูญเสียพื้นที่มาก กว่าพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะในอัตราเฉลี่ยต่ำกว่า ในระยะเวลาที่เท่ากัน

สอง-ระยะทางของการกัดเซาะ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับข้อแรก แต่แตกต่างกันคือขณะที่ข้อแรกพิจารณาการกัดเซาะตามความลึก แต่ข้อนี้พิจารณาการสูญเสียพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง

สาม-การประเมินค่าทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จะประเมินคุณค่าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่พบอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะ ส่วนการจัดลำดับความสำคัญจะประเมินผลเสียหายต่อทรัพยากรดังกล่าว หากพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข สี่-ผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งจะพิจารณาถึงจำนวนของประชาชนหรือครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อน

ห้า-การร้องเรียนหรือร้องขอให้มีการแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานของรัฐ ในข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนของปัญหาในแต่ละพื้นที่

หก-โครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่พบอยู่ในปัจจุบัน การจัดลำดับความสำคัญ ของการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จะต้องขึ้นอยู่กับสภาพของชายฝั่งในปัจจุบัน และแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต พื้นที่ที่มีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชนหรือรัฐบาลก็ตาม หากโครงสร้างที่สร้างไว้ทำงานได้ผลดีแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาก่อสร้างอีก ฯลฯ และ

เจ็ด-มูลค่าความเสียหายขั้นต่ำที่เกิดขึ้น

สุดท้ายนี้ หากจะถามว่าแล้วปัญหาการกัดเซาะมีผลอะไรต่อคนเมืองที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าหรือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ตอบแบบไม่ต้องคิดได้ว่า ไม่ใช่แค่คนที่อาศัยในประเทศไทยด้วยกัน แต่ทุกคนและทุกสิ่งที่อยู่บนโลกใบเดียวกันนี้ล้วนโยงใยถึงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไม่ก็เร็วก็ช้า เหมือนกับที่น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายคนอยู่เกาะแถวทะเลใต้ก็ได้รับผลกระทบ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะถมที่ดินก่อสร้างโรงงานไว้สูงเพื่อหนีน้ำท่วม ต่อท่อปล่อยน้ำเสียออกไปไกลจากโรงงาน ไหลเรื่อยไปสู่ทะเล แล้ววันหนึ่งกุ้งหอยปูปลาที่เขาสั่งมารับประทาน บนโต๊ะในเหลาชั้นดีก็ซ่อนเอาสารพิษที่เขาเป็นต้นเหตุผสมมาด้วย เป็นสิ่งยืนยันว่าทุกคนในโลกอยู่ในวัฏจักรเดียวกันนี้เอง

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจึงเป็นเพียงแค่ภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัด คนนอกพื้นที่ที่เห็นอาจจะคิดว่าไกลตัวเพราะยังไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่ถ้าบอกว่าสิ่งที่คุณเห็นอยู่นี้คือจุดเริ่มต้นเป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนของพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่า 55% ที่จะต้องเจอกับภาวะน้ำท่วมหากน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอีกแค่ 50 เซนติเมตร หรือจะท่วมถึง 72% ถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มถึง 100 เซนติเมตร การทรุดตัวของแผ่นดินผสมด้วยการกัดเซาะที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องไม่หยุดนี้ คือสัญญาณเตือนว่ากรุงเทพฯ อาจจะตกอยู่ใต้น้ำ 50-100 เซนติเมตร ภายในปี 2568 (2025) ไม่รวมถึงภัยพิบัติจากอุทกภัยฉับพลันที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็ได้

โดยสรุปแล้ว ภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันให้ทุกคนตระหนักร่วมกันว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากสภาวะ อากาศโลกเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และจงใช้ปัญหาเล็กๆที่เกิดขึ้นนี้ เริ่มต้นวางแผนรับมืออย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้




จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554

สายน้ำ 23-03-2011 07:39


“เสียดินแดน” และ “แนวป้องกัน” กรณีศึกษา: “โคกขาม” “บางขุนเทียน” และ “ขุนสมุทรจีน” ........................
โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย ชัชวัสส์ คติพิพัฒน์พร วรรณวณัช สุดจินดา


http://www.gotomanager.com/vaf/ar/91/91274_in06.jpg

ถ้าพูดถึงการสูญเสียแผ่นดินของประเทศไทย คนส่วนใหญ่ก็มักจะมองถึงการบุกรุก ยึดครองหรือข้อพิพาททางชายแดนระหว่างประเทศเท่านั้น แต่จะมีสักกี่คนที่ได้รับรู้ถึงการสูญเสียดินแดนหรือแผ่นดินตามแนวชายฝั่งทะเล ซึ่งนั่นรวมถึงการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆด้วย เหมือนเหตุการณ์การสูญเสียดินแดนในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน หรือที่รู้จักในเชิงสัญลักษณ์ว่า “อ่าว ก.ไก่” ปัญหาของการสูญเสียดินแดนทำให้ชุมชนในพื้นที่นี้ ต้องเรียนรู้วิธีการป้องกันและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และเป็นการต่อสู้กับการเปลี่ยน แปลงสภาพอากาศโลกหรือธรรมชาติผู้กำหนดชะตาชีวิตมนุษย์อย่างน่าสนใจ

เริ่มต้นจาก 3 พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน หรือส่วนหัวของตัว ก. ในอ่าว ก.ไก่ ฝั่งหนึ่งอยู่เลียบไปทางชายฝั่งด้านขวาของทะเลกรุงเทพฯ (เมื่อเราหันหน้าไปทางอ่าวไทย) หรือพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทร สาคร และอีกฝั่งเลียบไปทางชายฝั่งซ้าย คือพื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัด สมุทรปราการ ตรงกลางคือบางขุนเทียน แนวกันชนของคนกรุงเทพฯ

ทั้ง 3 พื้นที่เป็นชุมชนชายฝั่งที่มีวิถีชีวิตแบบประมงน้ำเค็มธรรมชาติและประมงพื้น บ้าน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สะสมและสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงมีวิถีชีวิตที่คล้ายกัน แต่สภาพทางภูมิศาสตร์ชายฝั่งกลับแตกต่างกัน ส่งผลให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชนแตกต่างกัน แต่ก็ยังมีปัญหาหนึ่งที่เหมือนกันก็คือปัญหาแผ่นดินถูกกัดเซาะจากคลื่นน้ำทะเล

สิ่งสำคัญที่เหมือนกันของทั้ง 3 พื้นที่ก็คือ ชาวบ้านยังมีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิด ทำให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนของชุมชนเพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและผืนแผ่นดินของตนเอง แต่ละพื้นที่ต่างก็มีวิธีแก้ไขปัญหาของตนเอง แม้ว่าจะมีเป้าหมายที่เหมือนกัน โดยหลักการว่าการแก้ไขนั้นๆ จะต้องช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นทะเลและช่วยเพิ่มตะกอนดินเลนเพื่อใช้ เป็นพื้นที่ปลูกป่าชายเลนขึ้นมาใหม่แทนที่ป่าชายเลนเดิมที่หายไป โดยหวังว่าป่าชายเลนรุ่นใหม่นี้จะเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ยั่งยืนและให้ประโยชน์แก่วิถีชีวิตชุมชนให้กลับมาสมบูรณ์ได้ดังเดิม




จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554

สายน้ำ 23-03-2011 07:48


คนเฝ้าแผ่นดินที่โคกขาม ............................. โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย

http://www.gotomanager.com/vaf/ar/91/91275_in01.jpg

“สมัยก่อนแมงดาจานในพื้นที่มีเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว” คำบอกเล่าของ วรพล ดวงล้อมจันทร์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หรือที่รู้จักกันในนาม ผู้ใหญ่หมู ผู้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาชัยฝั่งตะวันออก

ศูนย์เรียนรู้ฯดังกล่าวเกิดขึ้นจากความคิดของผู้ใหญ่หมูที่เริ่มเห็นสัตว์ทะเลจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ที่เคยมีอยู่อย่างสมบูรณ์ในธรรมชาติให้ชาวบ้านจับได้มาก มายลดน้อยลงไป จึงเกิดความสงสัยว่า สาเหตุเป็นเพราะอะไร เขาเริ่มต้นศึกษาจาก ตำราต่างๆ สำรวจพื้นที่และจัดทำข้อมูล จนกระทั่งพบว่าสาเหตุที่สัตว์น้ำพวกนี้ลดน้อยลงหรือหายไปจากพื้นที่ เกิดจากฝีมือของมนุษย์ที่แข่งขันกันใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำหรือป่าชายเลนนั่นเอง

“เมื่อปี 2525 รัฐบาลส่งเสริมการส่งออกกุ้งกุลาดำทำให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงกุ้งกันเยอะ ในยุคนั้นมีการทำลายป่าชายเลนกันในทุกพื้นที่ที่สามารถทำบ่อกุ้งได้ ซึ่งรัฐก็สนับสนุน แต่รัฐไม่ได้มองกลับว่าธรรมชาติต้องหายไป รัฐมองเห็นอย่างเดียวคือ GDP และตัวเลขส่งออก” นี่คือหนึ่งในสาเหตุเริ่มต้นของการสูญเสียทรัพยากรสัตว์น้ำตามธรรมชาติและแผ่นดินชายฝั่งทะเลของพื้นที่นี้

โดยสรุปก็คือ มนุษย์ใช้ธรรมชาติมากเกินไป ซึ่งผู้ใหญ่หมูบอกว่า แม้ทุกคนจะเริ่ม มองปัญหาออก แต่ก็ยังมีปัญหาว่าจะหาวิธีการอะไรฟื้นฟูธรรมชาติกลับมาและแก้ไขข้อผิดพลาดของมนุษย์ที่ทำลงไปอย่างไร ท่วมกลางหมู่คนที่มองไปทางไหนก็มีแต่นักพูดที่รู้ปัญหา แต่แทบจะหานักปฏิบัติไม่เจอ

เขาสรุปว่า คนแรกที่ต้องลงมือทำก็คือคนในพื้นที่ เพราะหนึ่ง-เป็นคนที่มีส่วนทำลาย สอง-เป็นคนที่อยู่กับพื้นที่ สาม-เป็นคนที่เดือดร้อนจากทรัพยากรที่หายไป

“บทเรียนของเราคือมนุษย์ใช้และทำลายทรัพยากรได้ ก็ต้องสร้างและฟื้นฟูทรัพยากรได้ด้วย แต่ถ้าไม่ทำอะไรเสียเลย แล้วเราจะเหลืออะไรให้ลูกหลาน” นี่คือแนวคิดที่เป็นที่มาของศูนย์เรียนรู้ฯ ผู้ใหญ่หมูจึงร่วมกับคนในชุมชนทำตามแนวคิดของตนเอง แม้ในช่วงแรกจะมีข้อถกเถียงกันว่า ทำกันแค่ 2-3 คนจะไหวหรือ แต่ด้วยแนวคิดที่ว่า อย่างน้อยการก่อตั้งศูนย์ฯ ก็จะทำให้พวกเขารู้ว่าสาเหตุของปัญหาในพื้นที่ที่พบเกิดจากอะไร เวลาจะต้องพูดคุยหรือถูกใครถามจะได้มีคำตอบมาอธิบายได้ถูกต้อง

แต่โดยส่วนตัวแล้วแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้ใหญ่หมูหันมาเป็นแนวหน้าในการปฏิบัติอย่างจริงจัง เกิดจากการท้าทายของบุคคลรอบข้าง ที่บางคนหาว่าเขาบ้า ที่วันๆ เอาแต่นั่งมองทะเล

“ช่วงก่อนนั้นเวลาน้ำขึ้นผมจะรีบเข้ามาดู พร้อมด้วยสมุดพกเล่มหนึ่ง จดการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งไปเรื่อยๆ มีน้องคนหนึ่งเห็นผมมานั่งบ่อยๆ ก็ทำแคร่ไม้ไผ่มาให้นั่ง เขาพูดเล่นๆว่าเราก็ได้แต่คิดเท่านั้น คิดจนแคร่พังก็ทำอะไรไม่ได้ มานั่งดูธรรมชาติแล้วจะทำอย่างไรให้ธรรมชาติกลับคืน นั่นคือความท้าทาย จากตรงนี้ทำให้เรามีมานะว่าเราต้องทำได้ ส่วนปรัชญาการทำงานนั้นก็คือถ้าคิดแล้วต้องเริ่มต้นทำ อย่าคิดแล้วพูด เพราะเอาแต่พูด แล้วมันจะไม่ได้ลงมือปฏิบัติ”

จากการเฝ้าสังเกต จนเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาชัยฝั่งตะวันออกขึ้นในปี 2546

“ศูนย์ฯนี้สร้างขึ้นโดยฝีมือของพวกเรา ไม่ได้ใช้งบประมาณของราชการเลย ที่ดิน 5 ไร่ของศูนย์ก็ได้มาจากการบริจาคของพ่อ เป็นการบริจาคให้ อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) อาคารสมัยก่อนก็ไปขอบริจาคบ้านไม้ของชาวบ้านที่เขาขายที่ไปแล้ว แล้วก็มีคนโน้นคนนี้บริจาคเงินให้บ้าง รวมเป็นก้อนแล้วค่อยๆขยาย เพราะฉะนั้นที่นี่เราอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค” ผู้ใหญ่หมูเล่าประวัติความเป็นมาของศูนย์ฯที่ก่อตั้งมากับมือ

ทุกวันนี้หน้าที่ของศูนย์ฯ มีเป้าหมายให้คนที่มาเรียนรู้ได้คิดว่า ถ้าไม่ฟื้นป่าชายเลน แล้วจะมีที่ให้สัตว์น้ำที่ไหนหลบภัยเป็นแหล่งอาหาร พร้อมกับเป็นสถานที่ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ของคนในชุมชนให้กับกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่

เมื่อเป็นศูนย์ฯที่ชาวบ้านทำเอง จึงไม่ได้อิงหลักการใดๆของกฎหมาย หน่วยงานรัฐที่เข้ามาช่วยเหลือบ้างในช่วงเริ่มต้น มีเพียงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่บริเวณนั้นอยู่เท่านั้น

สิ่งที่ชุมชนมีอยู่จริงเป็นแค่กฎเกณฑ์ ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มชาวบ้านที่เชื่อและไม่เชื่อ ดังนั้น เพื่อจะให้กฎเกณฑ์ที่ตั้งมาได้ผลในเชิงปฏิบัติ กลุ่มผู้นำการอนุรักษ์ ณ บ้านโคกขาม จึงต้องพึ่งพาหน่วยงานรัฐมากขึ้นในระยะต่อมา

“ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 สมุทรสาคร หรือหน่วยเฉพาะกิจนี้ มาทำงานร่วมกับเราตามแผนงานที่เราคุยกัน ชาวบ้านก็ร่วมมือด้วย มีการอบรมอาสาสมัคร เป็นการร่วมมือระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อย่างแท้จริง ชาวบ้านที่เข้ามาทำงาน เขาก็ภูมิใจว่าตัวเขาไม่ได้ทำลายอย่างเดียวแล้ว แต่เขายังมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากร

โดยเฉพาะเมื่อเราทำเรื่องปักไม้ไผ่ ไม้ไผ่ที่ปักลงไปเวลาน้ำขึ้นมันจะมีตะไคร่น้ำขึ้นมาเกาะ แล้วปลากระบอกก็ขึ้นมากินตะไคร่เยอะมาก แล้วพอน้ำเริ่มจะลง ปลากระบอกก็จะออกไป ทำให้มีปลาโลมาเข้ามาตามแนวไม้ไผ่เพื่อกินปลากระบอก ตอนนี้จังหวัดก็เข้ามาสนับสนุน โดยให้เครดิตว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ผมว่ามันดูง่าย แต่ได้ผล”

“การปักไม้ไผ่” ที่ผู้ใหญ่หมูพูดถึง เป็นวิธีการป้องกันและรักษาพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลและเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนที่ต้นไม้ถูกตัดไปจำนวนมากไม่ให้ถอยร่นหายไปมากขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งที่ชุมชนถือว่าเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง ที่เดือดร้อนมากกว่า การที่ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลหายไปที่ชุมชนมองว่าเป็นปัญหาหลักในช่วงแรก

การปักไม้ไผ่ถือเป็นผลงานที่เกิดจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการผสมผสานภูมิปัญญา ชาวบ้านขนานแท้ เพราะก่อนจะเป็นแนวไม้ไผ่กั้นการกัดเซาะที่รู้จักกันไปถึงนักวิจัยทั้งในไทยและประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากเนเธอร์แลนด์ หรือทีมงานจากเยอรมนี แนวไม้ไผ่นี้เกิดจากความคิดง่ายๆของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเริ่ม จากการนำไม้เก่าๆมาปักไว้ตามแนวชายฝั่ง เพื่อค้นหาวิธีการและรูปแบบที่จะช่วยชะลอคลื่นและกันดินตะกอนไม่ให้หลุดไหลลงทะเล ก่อนจะมาเป็นแนวไม้ไผ่ที่พัฒนาเป็นระบบเหมือนในปัจจุบัน

การใช้ไม้ไผ่แก้ปัญหาการกัดเซาะ มีจุดเริ่มที่ผู้ใหญ่หมูมองว่าตัวแปรสำคัญของการกัดเซาะคือน้ำ ซึ่งเมื่ออยู่นิ่งๆ มันไม่เกิดพลังงาน แต่เมื่อไรที่ขยับก็จะเกิดพลังงาน และเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สิ้นสุดด้วย แต่พลังงานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้นจะเกิดผลต่อสิ่งที่น้ำไปกระทบ จะให้ประโยชน์หรือสร้างความเสียหายก็ได้

“ในทะเลก็ต้องจบที่ชายฝั่ง คลื่นมาไกลมันก็แรง ถ้าเราตั้งรับหรือชะลอได้ก่อน ก็จะทำให้พลังงานของน้ำเบาลงก่อนจะไปจบที่ชายฝั่ง” ผู้ใหญ่หมูเล่าข้อมูลจากการสังเกต ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่ได้ต่างจากหลักวิชาการซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคย

จากนั้นเขาก็เริ่มคิดง่ายๆว่า เมื่อแรงปะทะหนักถ้าหากแนวกั้นที่เป็นแนวระนาบก็จะเกิดการกระทบรุนแรง แต่ถ้าเป็นรูปทรงกลมก็น่าจะทำให้น้ำไหลลื่นไปได้ รูปทรงกระบอกของไม้ไผ่จึงถูกเลือกมาเป็นตัวตั้งรับ ลดพลังงานน้ำที่วิ่งเข้ามา ลำเดียวไม่พอก็ต้องตั้งลำเป็นแผงทิ้งระยะอย่างเหมาะสม

“คิดง่ายๆ จากแรง 100 มันก็จะเหลือข้างละ 50 จาก 50 มันก็จะเหลือข้างละ 25 ระหว่าง 25 เมื่อมันแตกออกมันก็วิ่งมาปะทะกันเองอยู่ในกลุ่มไม้ไผ่ แรงก็สลายลง นี่คือแนวคิด เดิมเลยเราใช้ท่อ PVC ทดลอง แต่ท่อ PVC ทำงานยาก แพงและโดนขโมย ผมมีโอกาสไปที่จังหวัดปราจีนบุรี ไปเจอเขาตัดไผ่ทิ้ง เขาบอกว่าถ้าไม่ตัด หน่อไม้จะไม่โต ทีนี้ก็เลยสนใจว่ามันเป็นวัสดุเหลือใช้ก็เลยคิดว่า ถ้าทำโครงการแล้วไปซื้อไม้ไผ่เขา ชาวบ้าน ทางโน้นก็ได้สตางค์ เมื่อเอามาปักก็ต้องจ้างแรงงานในท้องถิ่น ชาวบ้านที่นี่ก็ได้สตางค์ มันเป็นโครงการที่น่าสนใจก็เลยเริ่มทดลอง เอามาปักหลายๆ รูปแบบ จนท้ายที่สุดเราได้ รูปแบบที่หยุดคลื่นได้ อย่างปีที่แล้วเราไปช่วยทำโครงการที่หมู่ 6 บางหญ้าแพรก เดือนพฤษภาคม พอถึงเดือนสิงหาคมสามารถปลูกป่าได้เลย เพราะตะกอนมันสะสมตัวเร็วมาก ขออย่างเดียวหลังไม้ไผ่อย่าให้กระแสน้ำมันกระเพื่อมเอาตะกอนเลนออกไปได้”

ลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้มาเยือนจะได้พบเห็นคือแนวเสาไม้ไผ่ขนาดเส้น ผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ความยาว 6 เมตร ปักตรงลงพื้นทะเล จัดวางให้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยม หันด้านแหลมของสามเหลี่ยมเข้าหาหน้าคลื่น ปักเป็นแนวสลับกัน 4 แถว เพียงเท่านี้ก็จะได้หลักการทำงานของกลุ่มไม้ไผ่ที่ทำให้คลื่นที่พัดเข้ามาลดความแรงเมื่อปะทะกับแนวไม้ไผ่ ส่วนน้ำที่ทะลักผ่านไปได้ก็จะลดความแรงลงเมื่อผ่านไปยังไม้ไผ่แถวต่อๆไป จนไม่มีแรงเหลือพอจะไปกระแทกหรือกัดเซาะแนวชายฝั่งให้หน้าดินพังทลาย

ขณะที่คลื่นม้วนตัวกลับสู่ทะเลโดยธรรมชาติก็จะหอบเอาทรายหรือดินเลนม้วน กลับลงทะเลไปด้วย แต่แนวไม้ไผ่ก็จะดักตะกอนไว้เหมือนกับที่ลดแรงของคลื่นตอนขาพัดเข้าฝั่ง เมื่อดินตะกอนถูกสะสมมากเข้าหลังแนวไม้ไผ่ ชาวบ้านก็จะลงไม้แสม ลำพู โกงกาง ไม้ท้องถิ่นในป่าชายเลน เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า เนื้อดิน และห้องอนุบาลสัตว์น้ำธรรมชาติ

การเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาและการที่ชาวบ้านเริ่มเข้าใจว่าธรรมชาติจะกลับมาดีได้ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างแบบนี้ ถือเป็นการทำงานประสานกันอย่างเข้าใจระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ จากจุดเล็กๆที่คนในท้องถิ่นสัมผัสได้ และถ้าหากสังเกตแนวไม้ไผ่ของพวกเขา ก็จะยิ่งเห็นว่านอกจากพวกเขาจะเข้าใจธรรมชาติแล้ว เขายังเข้าใจวิถีชีวิตท้องถิ่น ดีไซน์แนวไม้ไผ่จึงดูสวยงามด้วยการแบ่งเป็นช่องเพื่อให้เรือหาปลาสัญจรเข้าออกได้ด้วย

(มีต่อ)

สายน้ำ 23-03-2011 07:53


คนเฝ้าแผ่นดินที่โคกขาม .... (ต่อ)


ไม้ไผ่ชะลอคลื่นของบ้านโคกขามเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2550 และทำแนวขยายไปแล้ว กว่า 3 กิโลเมตร ทุกวันนี้ชุมชนมีกิจกรรมเพิ่มในเรื่องของการปลูกป่าชายเลน และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ตัวเลขที่วัดผลได้อาจจะไม่มาก แต่เป็นตัวเลขที่เป็นกำลังใจและ เป็นความหวังในอนาคตของคนท้องถิ่น ที่จะได้เห็นการสะสมของตะกอนดินหลังแนวไม้ไผ่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.50 เมตร ขณะเดียวกันก็ยังมีปลาโลมาอิรวดี แม้แต่ปลาวาฬบลูด้า แวะกลับมาเยี่ยมเยียนให้เห็นในช่วงฤดูหนาวหรือตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีอีกด้วย

พื้นที่คุ้มครอง 5 กิโลเมตรจากชายฝั่งบริเวณโคกขาม คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 10.45 ตารางกิโลเมตร อาจจะยังตัดสินได้ไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่ชาวบ้านทำจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวให้กับพื้นที่ได้ไหม แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่หมูมั่นใจคือ การเริ่มต้นแก้ปัญหาในพื้นที่ตรงนี้เป็นการสร้างจิตสำนึกในระยะยาวให้กับคนในชุมชนได้ เพียงแต่เริ่มต้น กลุ่มผู้ดำเนินงานต้องใช้ความอดทนสูงต่อเสียงที่ไม่เข้าใจของชาวบ้านบางกลุ่ม

“แรกๆชาวบ้านก็ด่า ทำไมเคยใช้อวนรุนได้แต่ห้ามเข้ามาลาก พวกเราก็ได้แต่บอกว่าไม่เป็นไรอดทนไว้ สักวันเขาจะเข้าใจ พอทรัพยากรเริ่มฟื้นฟู เขาก็ได้เห็นด้วยตัวเอง ลูกหอยแครงเกิดเต็มพื้นที่ เมื่อปี 2552 ชาวบ้านเก็บหอยได้ทั้งปี”

เทียบกับช่วงก่อนที่ทำโครงการแนวไม้ไผ่ ชาวบ้านหาหอยแครงขายได้ไม่เกินวันละ 200 บาท แต่ตอนนี้แค่ 2-3 ชั่วโมงก็ได้ถึง 700-800 บาท ช่วงที่หาดโคลนสมบูรณ์มากๆ บางครอบครัวสามารถทำรายได้จากการหาหอยแครงถึง 3,500-4,000 บาทเลยทีเดียว

แค่ 2 ปี ธรรมชาติก็ฟื้นตัวเองได้แล้ว ผู้ใหญ่หมูได้แต่หวังว่า บทเรียนนี้จะทำให้ชาวประมงเข้าใจกลไกที่ตัวเองกระทำกับธรรมชาติ เช่น รู้ว่าใบพัดที่ขับเคลื่อนเรือเมื่อไปปั่นหน้าเลนจะทำให้แก๊สกระจายไปทั่ว สัตว์น้ำก็อยู่ไม่ได้ และเครื่องมือประมงบางชนิดก็ทำลายสัตว์น้ำมากเกิน เมื่อทุกคนเข้าใจก็เริ่มรู้จักรักษาสิ่งที่ได้กลับมา อีกทั้งยังทำให้พวกเขาประกอบอาชีพได้มากกว่าเดิม เพราะเมื่อมีแนวกั้นคลื่นชายฝั่งมีดินเลนสะสม แผ่นดินที่ยังเหลือก็ไม่เสี่ยงต่อการสูญหาย ชาวบ้านก็เริ่มทำกระชังปูในลำคลอง เพื่อใช้กระชังเป็นที่พักปูไข่นอกกระดอง

“ปูไข่นอกกระดองมันวางใจอุ้มลูกมาฝากเลี้ยงไว้ตรงนี้ ถ้าคนไปจับ มันจะขยายพันธุ์อย่างไร ดังนั้นถ้าทุกคนเคารพกฎเกณฑ์ธรรมชาติก็จะดีและสัตว์น้ำก็จะมีมากขึ้น”

ตัวอย่างจากปูชายฝั่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเมื่อชาวบ้านเริ่มเข้าใจ ก็จะมีผลต่อธรรมชาติเพิ่มขึ้นเพราะพวกเขาสามารถขยายขอบเขตความเข้าใจจากพื้นที่ชายฝั่งออกไปจากการตามติดชีวิตปูทะเลอีกด้วย เมื่อปูเดินทางออกทะเล จากเดิมพวกมันต้องฝ่าด่านโพงพางที่มีอยู่เต็มไปหมดในคลอง ถ้าโชคดีหลุดไปได้ก็ยังต้องเจอกับอวนลอย อวนรุน เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับความยากลำบากที่มนุษย์ต้องเจอ ซึ่งทำให้พวกเขาเริ่มเข้าใจวิถีชีวิตสัตว์น้ำชายฝั่งเหล่านี้มากขึ้น

ดังนั้น เมื่อมนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มีสมองคิดได้ จึงควรจะเป็นผู้ “หยุด” เสียก่อน

“เราต้องหยุดก่อน แค่เราหยุดมาไม่กี่ปี ผลลัพธ์ที่โคกขามได้ทุกวันนี้ เรามีดินพอ ที่จะปลูกป่าชายเลนหลังจากมันเคยหายจากฝั่งไปเป็นกิโล เราลดแรงคลื่น ลดการกัดเซาะ เราจับได้ถึง 3 หอย หน้าแล้งเก็บหอยแครง หน้าหนาวเก็บหอยแมลงภู่ และเก็บหอยดินในหน้าฝน แค่นี้ชาวบ้านก็มีรายได้ ถือว่าคุ้ม แม้ว่าเขาจะต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ถึง 3-4 ปี”

คนโคกขามดูเหมือนจะไม่หวงทรัพยากรที่พวกเขาทำให้กลับคืนมายังท้องถิ่นได้ เพราะหากคนถิ่นอื่นจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ก็ทำได้ เพียงแต่พวกเขาต้องเคารพกติกาเดียวกัน นั่นคือต้องจับด้วยมือ

หากจะย้อนไปก่อนหน้าที่บ้านโคกขามจะจัดการชายฝั่งและทรัพยากรได้เข้ารูปเข้ารอย ทั้งป่าชายเลนและแผ่นดินก็หายไปมากแล้ว พวกเขาไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้คืออะไร แต่เท่าที่เห็นด้วยตาในพื้นที่และคิดง่ายๆ ก็คือน้ำทะเลเซาะเอาแผ่นดินไป โดยที่ลืมคิดไปว่าแล้วตะกอนที่มาตกเป็นดินเลนสะสมนั้นเดิมมันมาจากไหน

“ช่วงแรกเขาบอกว่าตะกอนถูกปิดกั้นด้วยเขื่อนต่างๆที่อยู่ตอนต้นน้ำ ทำให้ไม่มีตะกอนดินมาสะสมที่ชายฝั่งเหมือนในอดีต ชายฝั่งก็เลยไม่มีตะกอนมาเสริมเพิ่มเติม อันนี้เป็นข้อมูลของนักวิชาการซึ่งเราไม่รู้”

เรียกว่าคนในพื้นที่รับรู้สาเหตุที่เกิดปัญหาแต่เพียงด้านเดียว นั่นคือคลื่นลมกัดเซาะ ยิ่งพอช่วงที่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำฮิต มีการทำประตูปิดกั้นน้ำที่บ่อกุ้ง การตัดไม้ป่าชายเลนเพื่อทำบ่อกุ้งก็ยิ่งถูกรุกหนัก มีการดึงน้ำทะเลเข้ามาในบ่อกุ้ง ช่วงเปิดน้ำเข้าก็เอาตะกอนจากชายฝั่งเข้ามาด้วย แต่พอบ่อกุ้ง ตื้นเขิน เจ้าของบ่อก็หาประโยชน์แม้แต่กับ ตะกอนก้นบ่อ โดยขุดดินขายเพื่อให้บ่อกุ้งลึกขึ้น จึงเหมือนกับขุดตะกอนจากชายฝั่งไปถมที่อื่น แถมทุกวันนี้ถนนแถวชายฝั่งทะเลก็ยังคงมีรถบรรทุกดินให้เห็นอยู่บ่อยๆ

ตะกอนเก่าก็เดินผิดที่ผิดทางไปแล้ว แผ่นดินก็ร่นเข้ามา ตะกอนที่พอมีก็ยังถูกขน ออกไปนอกพื้นที่อีก ทั้งหมดล้วนเป็นการทำงานบนความโลภของมนุษย์ที่ไม่มีใครห้ามไหว เพราะที่ดินมีผู้ครอบครองเป็นผู้ครอบครองที่มีอำนาจจะจัดการอย่างไรกับพื้นที่ตัวเองก็ได้

“เราทำงานกับความโลภของมนุษย์ ขณะที่คนหากินชายฝั่งหรือชุมชนชายฝั่งรับฟังพวกเรา แต่กลุ่มคนทำอาชีพเพาะเลี้ยงชายฝั่งกลับแค่เข้ามาใช้ประโยชน์และ มักจะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยฟัง เพราะไม่เดือดร้อนจากฐานทรัพยากรที่เสียหาย เราก็ต้องอาศัยคนในพื้นที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการปกป้อง”

วิธีง่ายๆ ถ้าผู้ใหญ่หมูและชุมชนจะทำให้คนนอกพื้นที่ชายฝั่งรู้สึกตระหนักกับปัญหาการเสียแผ่นดินก็ทำได้ เพียงแค่พวกเขาไม่เข้าไปป้องกันแล้วปล่อยให้วันหนึ่งการกัดเซาะลามจากชายฝั่งร่นเข้าไปถึงถนน เขาเชื่อว่าระยะแค่หนึ่งกิโลเมตรก็ใช้เวลาแค่แป๊บเดียว แต่พวกเขาก็เลือกที่จะปกป้องและเสริมสร้างพื้นดินเพื่อคนส่วนรวมและเพื่ออนาคตชุมชน แม้ว่าจะมีคนบางกลุ่มเมินเฉยต่อปัญหาเหล่านี้อยู่ก็ตาม

“ก่อนไม้ไผ่จะพังเราได้ดินตะกอนพอปลูกป่าได้ เมื่อไรได้ตะกอนเลนต้องรีบปลูกป่า มีเสียงสะท้อนว่าไม้ไผ่มันไม่ถาวร มันผุ ผมก็บอกว่าผมไม่ต้องการความถาวร ในป่า ไม่ต้องการอะไรที่ถาวร ผมต้องการให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่ผมต้องการมากๆ คือ เมื่อไรคนชายฝั่งจะมีจิตสำนึกในการรักษาป่า มันเป็นกุศโลบายว่าถ้าคุณไม่ทำ คุณไม่ต่อสู้ คุณก็อยู่กับไม้ไผ่ต่อไป”

กว่าชาวบ้านจะคิดได้ว่าจะจัดการกับธรรมชาติที่มาเอาแผ่นดินไปอย่างไร อุปสรรคที่พบอีกประการคือต้องทำให้นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหายอมรับวิธีการนี้ด้วย เพราะถึงพวกเขาจะอยู่กับชายฝั่ง แต่ชายฝั่งก็เป็นสิทธิ์ของคนไทยทุกคนเช่นกัน

ช่วงก่อนที่โครงการแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นจะเริ่มขึ้น ผู้ใหญ่หมูต้องเดินสายเสวนากับนักวิชาการ เหตุการณ์หนึ่งในปี 2549 คือตัวอย่างที่ชาวบ้านอย่างเขาต้องเจออยู่เสมอ ครั้งนั้นเขาขอเวลาเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มนัก วิชาการ แต่เขาได้สิทธิ์แค่ 3 นาที และไม่มีใครยอมรับหรือตั้งคำถามกับเขา

“เขาถามแต่พวกอาจารย์” เหตุการณ์ที่ผู้ใหญ่หมูจำได้แม่น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาท้อ แต่กลับมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าทำให้สิ่งที่ไม่มีทฤษฎีหรือตำราไหนเขียนระบุไว้ก่อนหน้านั้นว่า ลำไม้ไผ่สามารถทำให้พลังงานเปลี่ยนทางได้ มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้และเป็นที่ยอมรับ

ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต ผู้ใหญ่หมูเก็บเทคนิคที่นักวิชาการใช้ในการนำเสนอผลงาน กลับมาประยุกต์ใช้กับการทำงานของตัวเอง เขาเก็บข้อมูล ทำแผนผัง ทำเอกสาร นำเสนอ มีภาพเปรียบเทียบให้ดูก่อนและหลังปักไม้ไผ่ว่าผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ชุมชนเริ่มปลูกป่าได้อย่างไร

ข้อมูลที่นำเสนอแบบนักวิชาการโดยฝีมือชาวบ้านธรรมดาสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงสนทนาทันที

“พวกเขาก็ถึงบางอ้อกัน เริ่มมีนักวิชาการเข้ามา ถึงผมจะทำเป็นเอกสารแต่ก็ขาด ข้อมูลด้านวิชาการ เลยขอให้กรมทรัพยากรฯ เชิญนักวิชาการจากจุฬาฯ มาเก็บข้อมูลหลังไม้ไผ่ ได้อาจารย์สมภพ รุ่งสุภา ซึ่งหลังจากเก็บข้อมูลท่านบอกว่าตะกอนสะสมเพิ่มขึ้นเร็วมาก พอเรารู้ก็คิดว่าจะทำอย่างไรต่อ”

แนวไม้ไผ่ถูกนำมาออกแบบใหม่ เพื่อให้ได้รูปแบบของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ แล้วหลังจากนั้นทุกครั้งที่ผู้ใหญ่หมูนำเสนอผลงานเขาจะนำผลงานของนักวิชาการหรืออาจารย์สมภพร่วมนำเสนอด้วย

“เพื่อให้เห็นว่าเราก็มีวิชาการเหมือนกัน ที่เราทำงานไม่เก็บข้อมูลของเราก็เพราะเดี๋ยวมันจะเหมือนยอตัวเอง เลยต้องให้เป็นงานของคนกลางเข้ามาเก็บ ซึ่งหลังจากนั้นก็เป็นที่ยอมรับ”

แนวไม้ไผ่กันคลื่นกลายเป็นองค์ความรู้หนึ่งของบ้านโคกขามที่สร้างเป็นบทเรียนให้ กับเครือข่ายชุมชนอ่าวไทยตอนบนหรืออ่าว ก.ไก่ และหลายพื้นที่นำไปเป็นแบบอย่างปรับ ใช้ในพื้นที่ของตัวเองต่อๆไป มีทั้งในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ เพชรบุรี ฯลฯ ซึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่าย

เครือข่ายเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ราว 2-3 ปี พอๆ กับการเกิดขึ้นของการทำแนวไม้ไผ่ การเกิดเครือข่ายทำให้ทุกคนได้หันกลับไปถอดบทเรียนจากพื้นที่หน้าบ้านตัวเอง การถอดบทเรียนทำให้ชุมชนเกิดคำถามและการค้นหาคำตอบว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร

“การค้นหาปัญหาและคำตอบทำให้ชุมชนรู้ลึกไปเรื่อยๆ ป่าหายไม่ใช่แค่คนตัดไม้ แต่ลึกกว่านั้นเขาต้องเข้าใจถึงทรัพยากรของเขาว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะฟื้นฟูอย่างไร”

สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องต่อจากโครงการแนวไม้ไผ่ที่ชุมชนต้องการ คือการสร้างแนว ป่าเพื่อป้องกันแผ่นดินเป็นแนวคิดของการย้อนสู่อดีต ที่คนในชุมชนเพิ่งเริ่มตระหนักได้ว่า สิ่งที่จะเป็นตัวดูดซับคลื่นได้ดีจริง คือแนวป่าชายเลนซึ่งเคยมีอยู่หนาทึบในพื้นที่ในอดีต

ดังนั้นเมื่อได้ดิน พวกเขาจึงรีบปลูกป่าซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการการสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเชื่อว่าป่าเท่านั้นที่จะรักษาพื้นดินได้ถาวรและยาวนานกว่าเสาไม้ไผ่หรือ เสาปูนซึ่งอยู่ได้เต็มที่ก็ไม่เกิน 5-20 ปี และมีเพียงเงื่อนไขเดียวที่จะให้มีป่าอยู่ได้ถาวรคือคน ซึ่งจะต้องเป็นผู้นำป่ากลับมาและรักษาไว้

“ในระยะยาว เราคาดหวังว่าจะขยับพื้นที่ป่าออกไปเพื่อสร้างสมดุลในพื้นที่มาก ขึ้น แนวไม้ไผ่ที่เราทำกันน่าจะช่วยเพิ่มตะกอนขึ้นมาในระนาบของฝั่ง ไม่เกิน 10 องศาก็น่าจะป้องกันแผ่นดินได้แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าแผ่นดินที่ได้กลับมานี้ไม่ตายตัว เพราะชายฝั่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามธรรมชาติด้วย ไม่ใช่เปลี่ยน เพราะฝีมือมนุษย์เพียงอย่างเดียว”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขาทำอยู่ในพื้นที่ทุกวันนี้ เมื่อมองจากภาพใหญ่ระดับประเทศ ก็เป็นเพียงผลงานชิ้นจ้อย ที่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและยังไม่ใช่แนวทางแก้ที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้จะเป็นผลงานที่ให้ผลหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาหวังว่า ดินตะกอนที่สะสมจะช่วยให้เขาสร้างผืนป่าชายเลนกลับมาอีกครั้งพร้อมๆกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรในทะเล

แม้ทรัพยากรเหล่านี้จะไม่คงทนถาวรโดยธรรมชาติ แต่ถ้ามันจะเป็นสิ่งที่สร้างความถาวรด้านจิตสำนึกรักษาป่าและเข้าใจธรรมชาติ ผู้ใหญ่หมูก็จะถือว่าเป็นผลสำเร็จที่พวกเขาทำให้มนุษย์ได้กลับมาเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างสันติกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้แล้ว



จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554

สายน้ำ 23-03-2011 07:59


บางขุนเทียน: ด่านหน้ารักษาดินแดน ................ โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย

http://www.gotomanager.com/img/mgrm/...20110321/3.jpg

คนกรุงเทพฯโชคดีที่มีทะเลบางขุนเทียน เป็นทั้งพื้นที่สีเขียว แหล่งพักผ่อน แหล่งเรียนรู้ และเป็นแผ่นดินหน้าด่านที่ปกป้องกรุงเทพฯ ชั้นในไว้จากการรุกดินแดนโดยเงื้อมมือธรรมชาติ อีกด้านหนึ่งพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำทางทะเลที่ทำรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้สูงไม่แพ้พื้นที่ชายฝั่งที่เป็นหาดทรายสวยชื่อดังในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งเป็นแหล่งจับกุ้ง หอย ปลา ปู จากธรรมชาติเกรดเอที่คนทั่วไปมักจะนึกว่ามีแหล่งมาจากชายฝั่งนอกกรุงเทพฯ

ไม่ว่าชายทะเลบางขุนเทียนจะมีความหลากหลายทางธรรมชาติที่มีคุณค่าซ่อนอยู่มากเพียงใด แต่ชื่อเสียงที่คนส่วนใหญ่รู้จักก็แค่เพียงทะเลกรุงเทพฯที่มีแต่หาดเลน เป็นแหล่งร้านอาหารทะเล และจุดชมวิวสำหรับพาครอบครัวมาทานอาหาร ในวันหยุดสุดสัปดาห์ และบางขุนเทียน ไม่ได้มีความสำคัญใดๆกับชีวิตคนกรุงเทพฯ ชั้นในไปมากกว่านี้

ลึกๆแล้ว คนในพื้นที่นี้เป็นอย่างไร พวกเขาต้องเผชิญปัญหาอะไร อยู่อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเท่าไรนัก

คงศักดิ์ ฤกษ์งาม ผู้นำเครือข่ายสิ่งแวดล้อมคูคลองและทะเลบางขุนเทียน หรือชื่อที่ชาวบ้านแถวชายทะเลบางขุนเทียนเรียกขานว่า “หมอโต” มีอาชีพหลักรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ติดถนนเส้นสุดท้ายด้านใต้สุดของกรุงเทพฯ ถนนที่เปรียบเหมือนแนวเขื่อนถาวรกั้นพื้นที่กรุงเทพฯ ออกจากชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เขารับนัดกับผู้จัดการ 360 ํ เมื่อเราต้องการเข้ามาศึกษาว่าปัญหาการกัดเซาะของชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนสาหัสแค่ไหน

ถึงจะรับราชการ แต่ภารกิจของคงศักดิ์ไม่ได้จบแค่ศูนย์บริการสาธารณสุข และเลือกที่จะแบกภาระของพื้นที่ 3,000 ไร่ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะหายไปไว้บนบ่า ร่วมกับชาวชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นบ้านเกิดและที่ที่เขาเติบโตมา

“ผมอยู่ตรงนี้ เกิดที่นี่ ไม่เคยย้ายไปที่อื่น จนกระทั่งผันตัวเองลงพัฒนาท้องที่ เพราะ ตลอดเวลาที่ผมทำงานก็จะอยู่กับชาวบ้าน ซึ่งแต่ละคนก็จะเข้ามาระบายมานั่งคุยให้ฟังอยู่เสมอเกี่ยวกับปัญหาต่างๆในพื้นที่ ก็เริ่มจากแนะนำพูดคุยกับชาวบ้าน เมื่อเขาเชื่อเรา ก็เลยทำงานด้วยกัน”

สิ่งที่คงศักดิ์แนะนำให้ชาวบ้านตระหนักก็คือ ไม่ว่าชาวบ้านจะเดือดร้อนเรื่องอะไร อย่างไร เสียงของชาวบ้านก็เป็นแค่เสียงที่ตะโกนเท่าไรก็ไม่มีใครได้ยิน เพราะปัญหาของชาวบ้านไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของคนนอกพื้นที่ เขาแนะนำให้ชาวบ้านรวมตัวเป็นเครือข่ายเริ่มจากในชุมชนก่อนขยับไปชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้เกิดพลัง จากนั้นต้องเข้าหาสื่อ ใช้สื่อเป็นตัวกระตุ้นความสนใจด้วยการกระจายข่าวปัญหาผ่านสื่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ประสบการณ์จากการเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ทำให้ผมรู้ว่าเวลามีปัญหาอะไร คุณพูดไปเถอะไม่มีใครฟังหรอก แต่ถ้าออกสื่อเมื่อไรดังเป็นพลุแตกเลย” เพราะเชื่อในพลังของสื่อ ปัจจุบันคงศักดิ์ยังทำหน้าที่เป็นนักข่าวพลเมืองของทีวีไทยของเขตกรุงเทพฯอีกตำแหน่ง ปัจจุบันทั้งกรุงเทพฯ มีเขาเป็นนักข่าวพลเมืองอยู่เพียงคนเดียว โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2551 และกะจะทำต่อเนื่องไปเพื่อแก้เหงาหลังจากเกษียณอายุราชการด้วยเลย

การก่อตั้งเครือข่ายของคงศักดิ์ เริ่มต้นจากชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนภายใต้ชื่อเครือข่ายรักทะเลและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายสิ่งแวดล้อมคูคลองและทะเลบางขุนเทียนในช่วงหลังเมื่อมีสมาชิกจากชุมชนที่อยู่ติดกันเข้ามาเป็นภาคีเพิ่มรวมเป็น 6 ชุมชน

ปัญหาอย่างแรกที่คนพื้นที่นี้มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งกลืนกินแผ่นดินหายไปหลายพันไร่ แล้วกว่าพวกเขาจะหาทางหยุดปัญหาได้ก็ต้องลองผิดมาหลายครั้ง กว่าจะลองได้ถูกและมีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือก็เพิ่งจะราว 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง

“เราอยู่ เราหากินกับชายฝั่ง ทั้งคนบางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรปราการ เมื่อแผ่นดินถูกทะเลตีร่นเข้ามา พื้นที่ประมงน้ำเค็มและทรัพยากรน้อยลง มันเป็นปัญหาใหญ่ สำหรับเราที่ต้องแก้ไขเพื่อความอยู่รอด มีคนบอกว่าปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่นี่เรื่องเล็กเพราะไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ ไม่เหมือนชายฝั่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ของเรามันแค่หลังฉาก แต่ผมแย้งนักวิชาการว่า กล้าพนันกับผมไหมว่าพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียนมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นในอ่าวไทยตั้งแต่ภาคกลางไปถึงสงขลาเลย”

คงศักดิ์ยืนยันว่า จริงๆแล้วกรุงเทพฯและชายฝั่งทะเลบริเวณส่วนหัวของอ่าว ก.ไก่ เป็นแหล่งทำประมงน้ำเค็มที่สำคัญของประเทศ เฉพาะกรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำจากประมงน้ำเค็มคิดแล้วสูงถึง 84% ของประมงน้ำเค็มทั้งหมด ถ้าจะเทียบรายได้กันวันต่อวันกับแหล่งท่องเที่ยวว่าเศรษฐกิจใครดีกว่ากัน เขาจึงรับประกันว่าพื้นที่แห่งนี้ทำรายได้ไม่แพ้ใคร

“เรามีรายได้จากการขายสินค้าประมงทุกวัน เป็นรายได้จาก การทำงานแค่ช่วง 3-4 ชั่วโมงต่อวัน แต่แหล่งท่องเที่ยววันหนึ่งมีนักท่องเที่ยวลงเท่าไร วันต่อวันเขาสู้เราไม่ได้หรอก ผมเคยนำข้อมูล นี้ไปแย้งในที่ประชุมเพื่อให้นักวิชาการเห็นความสำคัญของพื้นที่ ก็เป็นที่ฮือฮาในที่ประชุมเลย”

คงศักดิ์นัดทีมงานผู้จัดการ 360 ํ มาพบที่ริมคลองพิทยาลงกรณ์ราว 7 โมงเช้า เพื่อต้องการให้เห็นสภาพเศรษฐกิจประจำวันในพื้นที่ ซึ่งจะมีชาวบ้านขนสัตว์น้ำที่จับได้จากชายฝั่งใส่เรือมาขายผู้ค้าส่งที่ท่าเรือ ซึ่งมีกันอยู่หลายรายตามแนวคลอง เป็นผู้รับซื้อมือหนึ่งซึ่งจะแยกประเภทสินค้าคัดขนาดจากที่นี่ ก่อนจะลำเลียงส่งสินค้าไปยังมหาชัย ซึ่งถือเป็นผู้ค้ามือที่สองไม่ใช่มือหนึ่งอย่างที่ผู้นิยมอาหารทะเลส่วนใหญ่เข้าใจกัน

ความหลากหลายของสัตว์น้ำที่นำมาขายสะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ได้อย่างดี สินค้าจากชายทะเลบางขุนเทียนยังมีจุดเด่นของความเป็นสินค้าธรรมชาติสูง แม้ส่วนหนึ่งจะได้มาจากรูปแบบของการทำประมงน้ำเค็ม ทำให้มีรสชาติอร่อยกว่าสัตว์น้ำจากแหล่งอื่น สินค้าที่จับมาขายกันมีทั้งกุ้งแช่บ๊วย กุ้งกุลาดำตัวโตจากนากุ้งธรรมชาติ ปลากุเลา ปลากะพงขาวตัวใหญ่ ปลาดุกทะเล ปลากระบอก ปลาบู่ที่ปรับตัวมาเป็นสัตว์น้ำเค็มไปแล้ว ปูม้า ปูทะเล และหอยหลากชนิด อาทิ หอยพิม หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยแครง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฏทุกวันนี้ เพิ่งกลับมาดีขึ้นหลังจากที่ชุมชนผ่านการเผชิญปัญหาในพื้นที่และแก้ไขมาแล้วเปลาะหนึ่ง ตอนนี้สภาพชายทะเลบางขุนเทียนเมื่อมองจากด้านบน นับจากคลองพิทยาลงกรณ์ไล่ลงไปถึงชายทะเล ด่านแรกจะเห็นป่าชายเลนชั้นที่หนึ่ง ต่อด้วยนากุ้งธรรมชาติ ตามด้วยป่าชายเลนชั้นที่สอง และเลยไปจากนั้นก็เป็นทะเล

ทุกวันนี้พวกเขายังคงเดินหน้าแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ ที่เชื่อว่าได้ผลตามเป้าหมายของชุมชน แม้ว่าจะมีหน่วยงานระดับประเทศที่นำทีมงานจัดการแก้ปัญหา เรื่องน้ำและชายฝั่งจากเนเธอร์แลนด์เข้ามาศึกษาหาข้อมูลในพื้นที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ตาม เพราะชาวบ้านเชื่อว่าอนาคตคนกลุ่มนี้อาจจะมีผลงานดีๆมาช่วยชาวบ้าน แต่ถ้าให้รอคงต้องรออีกนาน ดังนั้นระหว่างนี้พวกเขาก็จะไม่วางมือในสิ่งที่ทำอยู่และจะทำต่อเนื่องไป

คงศักดิ์เล่าว่า แนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นชุดแรกเกิดขึ้นเมื่อชุมชนบางขุนเทียนเห็นหมู่บ้านโคกขามทำไป 6 เดือนเริ่มได้ผล ก็คิดจะทำกันบ้าง แต่กรุงเทพฯเป็นเขตปกครองพิเศษจะทำเรื่องของบประมาณจะต้องใช้เวลาอีกนาน

“จุดเริ่มต้นที่รวบรวมชาวบ้านในชุมชนตั้งเป็นเครือข่ายรักทะเลและสิ่งแวดล้อมขึ้นก็ตอนนั้นแหละ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายสิ่งแวดล้อมคูคลองและทะเลบางขุนเทียนทีหลัง เมื่อมีภาคีจาก 6 ชุมชน คือเราสู้กันมานาน ตอนแรกมีแค่บางขุนเทียนกับเสาธง จะทำให้ได้ผลเร็วต้องใช้มวลชนเข้าสู้ ถ้าสู้ตามลำพังไม่ผ่านหรอก”

เครือข่ายรักทะเลฯ ใช้วิธีของบประมาณด้านภัยพิบัติของสถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน ซึ่งเหลือจากนำไปช่วยในเหตุการณ์สึนามึในภาคใต้ประมาณ 3 ล้าน กว่าบาทมาเป็นทุนเริ่มต้น หลังจากแนวไม้ไผ่รุ่นปี 2552 ชุมชนก็เริ่มปลูกป่าเสริมหลังในแนวไม้ไผ่ได้แล้ว

“ก่อนจะเริ่มชวนชาวบ้านมาทำ รัฐบาลแทบไม่ได้เข้ามาทำอะไรกับการแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งเลย มีแค่สมัยท่านผู้ว่าฯ พลตรีจำลอง (ศรีเมือง) ที่ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลงมาศึกษาอยู่ 7 เดือน เข้าเดือนที่ 8 บอกวิธีนี้คงช่วยได้ระยะหนึ่ง ก็ได้งบมาทิ้งหินวางไว้หน้าทะเล 800 เมตร”

จาก 800 เมตร ในปีแรก เมื่อชาวบ้านยังไม่มีวิธีอื่นและ กทม.แบ่งงบมาทิ้งหินให้ทุกปี แนวกองหินก็ยาวขึ้นเพิ่มเป็น 4.7 กิโลเมตร ทิ้งกันปีเว้นปี แต่ก็ไม่สามารถหยุดปัญหาการกัดเซาะได้ เพราะเนื้อดินอ่อน หินก็จบหายไป ปี 2538 กทม.ก็หยุดให้งบ โดยให้เหตุผลว่าไม่คุ้มกับการลงทุนในการขนหินมาทิ้งในแต่ละปี

“พอหยุดทิ้งพื้นที่ก็ถูกกัดเซาะเข้ามาอีก 405 ไร่ ไม่คุ้มกันเลย พื้นที่ขนาดนี้เราสามารถสร้างผลผลิตส่งเลี้ยงชุมชนเมืองได้อีกเท่าไร แต่ถ้าเอาแผ่นดินกลับมาใช้ประโยชน์ ได้อีกครั้งคงจะคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม นั่นแหละเหตุการณ์ก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนถึงปลายปี 2550 ผมเริ่มตั้งเครือข่ายแล้วก็ของบได้มาในปี 2551”

นักวิชาการส่วนใหญ่อาจจะมองว่า การแก้ปัญหาของพื้นที่บางขุนเทียนไม่ใช่การปรับแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อปัญหาของน้ำทั้งระบบ รวมถึงน้ำที่กัดเซาะชายฝั่งนี้ด้วย

ในความเห็นของคงศักดิ์ เขาเห็นว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชุมชนซึ่งต้องเริ่มจาก ช่วยเหลือตัวเอง ทำให้ตัวเองยืนหยัดได้ด้วยตัวเองให้ได้เสียก่อน อะไรก็ได้ที่ได้ผลเกิดขึ้นในท้องถิ่น จากนั้นจึงนำโครงการที่เกิดขึ้นไปกระทุ้งหน่วยงานรัฐให้เข้ามาร่วมแก้ปัญหาร่วมกับชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง

“เมื่อเราทำแล้วได้ผลก็ต้องพยายามทำให้หน่วยงานภาครัฐมาดู เพราะเราก็เสียภาษี เราเริ่มช่วยตัวเองไปแล้วคุณมาช่วยต่อหน่อยได้ไหม นี่คือเทคนิคของชุมชน เป็นหลักการที่เหมือนการใช้ภาพหนึ่งภาพแทนคำพันคำ โครงการของเราคือภาพที่ใช้แทนคำ อธิบายกับหน่วยงานรัฐว่า เราต้องการอะไรและอยากให้เขาช่วยเราสานต่อในเรื่องงบประมาณ”

(มีต่อ)

สายน้ำ 23-03-2011 08:01


บางขุนเทียน: ด่านหน้ารักษาดินแดน .... (ต่อ)


คงศักดิ์บอกว่าทุกวันนี้ปัญหาการกัดเซาะของพื้นที่สามารถควบคุมอยู่ในวงจำกัดแล้ว อย่างน้อยก็ไม่โดนกัดเซาะเพิ่ม ได้งบประมาณจากหน่วยงานราชการปีละ 10 ล้านบาท เป็นงบที่ให้มาเพื่อรอจนกว่าโครงการใหญ่ๆของนักวิชาการหรือของภาคราชการจะทำแล้วเสร็จ เงินงบประมาณปีละ 10 ล้านบาทนี้เป็นสิ่งที่คงศักดิ์และชุมชนร้องขอ เพื่อปักแนวไม้ไผ่ให้ได้ตลอดแนว 4.7 กิโลเมตรตามแนวชายทะเลของในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

“ถือว่า กทม.ตอบสนองค่อนข้างดีในการให้งบ ถ้าไม่ทำเลยชาวบ้านจะเสียแผ่นดิน อย่างน้อยปีละ 6 เมตรทุกปี คิดแล้วงบประมาณแค่นี้เพื่อรักษาแผ่นดินถูกมาก แต่ถ้าจะมีโครงการใหญ่ต้องใช้งบเยอะและขั้นตอนก็ตั้งแต่ทำประชาพิจารณ์กว่าจะจบก็ใช้เวลานาน ชาวบ้านคงรอไม่ได้”

ส่วนไม้ไผ่ที่ได้งบจัดซื้อเอามาทำแนวชะลอคลื่นก็มีบางหน่วยงานที่โจมตีว่า ไม้ไผ่เยอะขนาดนี้แล้วไม่เป็น การตัดไม้ทำลายป่าจากที่หนึ่งมาไว้อีกที่หนึ่งหรือ

“ไม้ไผ่ที่เราเอามาเป็นผลดีกับเจ้าของป่าไผ่เสียอีก เพราะต้องตัดลำไผ่แก่เพื่อเลี้ยงหน่อแทนที่จะตัดทิ้งก็เอามาขายเรา ก็จองป่าซื้อล่วงหน้ากันเลย ได้ขนาดก็ตัดมาให้เราที่บางขุนเทียนเราจะใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 5 นิ้ว ใหญ่กว่าของผู้ใหญ่หมูที่โคกขาม ไม้ที่เราปักรุ่นแรกตั้งแต่ปี 2534 ก็ยังมีให้เห็นอยู่เลยแต่ดำปี๊ดแสดงว่า ไม้ไผ่ทนอยู่ได้นาน แต่ตอนนั้นปักสองข้างแล้วใช้ทิ้งหินลงไปไม่ใช่เอามาทำแบบนี้”

การปักแนวไม้ไผ่ที่บางขุนเทียนจะต่างจากที่โคกขามเล็กน้อย ที่โคกขามจะปักในช่วงน้ำลด แต่บางขุนเทียนค่อนข้างเร่งงานน้ำไม่ลดก็ต้องลงไปทำเพื่อแข่งกับเวลา ช่วงงานเร่งก็ใช้รถแบ็กโฮลงช่วยปักไม้ไผ่ร่วมกับแรงงานคน ซึ่งต้องใช้คนจำนวนไม่น้อยสำหรับการปักไม้ไผ่ความยาวขนาด 5 เมตร

วิธีการปักที่บางขุนเทียนจะปักไม้ไผ่เป็นแนวตรงทั้งหมดเพราะจะง่ายกว่าแบบสามเหลี่ยมแบบที่โคกขาม ไม้ไผ่ที่จะปักไม่ต้องทำให้แหลมเพราะดินอ่อนปักง่าย มีเทคนิคนิดเดียวแค่เอาส่วนปลายปักลงดิน ส่วนที่อยู่ในดินจะไม่ค่อยผุแล้วเอา โคนต้นซึ่งใหญ่กว่ามาสู้กับน้ำ วันหนึ่งปักได้สัก 50 เมตรก็ถือว่าเต็มที่ ปักเสร็จตะกอนเลนก็จะเข้ามาตามช่องไม้ไผ่ซึ่งมีลำคดงอเป็นช่องให้น้ำไหลเข้าได้ แต่ถ้ามองแนวเฉียงจะดูเหมือนเป็นกำแพงหนาและถี่มาก

จริงๆจะว่าไปแนวไม้ไผ่ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในชุมชนและเห็นกันมานานในฟาร์มหอยแมลงภู่ แต่การเลี้ยงหอยใช้ไม้รวกลำเล็กปักให้หอยแมลงภู่เกาะ พอหอยโต ในฟาร์มหอยก็มักจะมีตะกอนดินขึ้นสูงในก่ำหรือในกลุ่มไม้รวกที่ปักไว้ และมักพบเนินดินขึ้นหลังฟาร์มหอย คนเลี้ยงต้องถอนเอาไม้สลับข้างบนลงล่างเพื่อหนีตะกอนเลน ฟาร์มหอยจึงเป็นตัวช่วยที่ดึงตะกอนเลนและชะลอคลื่นได้ชุดหนึ่ง แต่ที่ใช้ทำแนวสร้างดินไม่ได้เพราะฟาร์มหอยต้องทำในทะเลห่างจากฝั่งไปอีก 3 กิโลเมตร

ภูมิปัญญาชาวบ้านจากฟาร์มหอยแมลงภู่เป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกหยิบยกมา แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่สรุปออกมาเป็นแนวไม้ไผ่นี้นี่เอง

“เราใช้คำว่าแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เคยเรียกว่าเขื่อนไม้ไผ่ แต่เป็นเขื่อน เดี๋ยวต้องทำประชาพิจารณ์ แต่ถ้าพูดว่าเป็นแนวไม้ไผ่มันเป็นโครงสร้างอ่อนไม่ต้องรอ ทำได้เลย เราเลือกทำจุดแรกตรงด้านหน้าที่ราชพัสดุเพราะเป็นที่ไม่มีเจ้าของและเว้าลึกที่สุด”

น่าดีใจว่า คนในชุมชนบางขุนเทียนที่ออกมาช่วยกันทำแนวไม้ไผ่ มีตั้งแต่ชาวบ้านวัย 50 ปีไล่ลงมาถึงวัยรุ่นอายุ 17-18 ปี ซึ่งหมอโตเชื่อว่าการที่คนหลายรุ่นในชุมชนหันมาทำงานเพื่อส่วนรวม เป็นการสะท้อนถึงอนาคตของชุมชนที่คงทำให้มีคนเสียสละทำงานเพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

เมื่อแนวไม้ไผ่ขยายถึงแนวที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิของเอกชน พวกเขามีกฎเกณฑ์อะไรที่จะไม่ทำให้เจ้าของที่ดินใช้สิทธิ์ในพื้นที่ตนเองเมื่อได้แผ่นดินและป่ากลับมา

“พอเราสามารถทวงพื้นดินคืนมาได้ เราบอกเจ้าของที่ว่าขอให้ชุมชนนะ อย่าไปรุกล้ำ อย่าไปแผ้วถางที่จะทำนากุ้งต่อ เราจะปลูกป่าเพิ่มให้หนาขึ้น โฉนดยังเป็นชื่อของคุณ เราขอแค่สิทธิ์ เป็นข้อตกลงปากเปล่า คงบังคับไม่ได้ แต่ขอและให้กันด้วยใจ เป็นเรื่องของจิตอาสามากกว่า เพื่อช่วยกันป้องกันการกัดเซาะแล้วระบบนิเวศก็จะกลับมา เชื่อว่าเขาน่าจะรักษาคำพูด และรู้ดีว่าถ้าเราไม่ทำ ที่ของเขาก็จะหายไปเรื่อยๆ แต่เมื่อชุมชนทวงที่ดินคุณกลับมา คุณก็ควรจะให้อะไรกับชุมชน”

ไม้ชายเลนที่ชุมชนนำมาปลูก ที่นิยมเห็นกันบ่อยคือต้นโกงกาง เป็นไม้ที่เข้ามาทีหลัง ไม้ท้องถิ่นที่มีอยู่มากในพื้นนี้คือต้นแสม ซึ่งเมื่อปลูกมากขึ้น ก็เริ่มเห็นเม็ดแสมลอยในผืนป่ามากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งศึกษาธรรมชาติ ซึ่ง กทม.เข้าไปทำทางเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความยาว 1,300 เมตรไว้แล้วในพื้นที่

สำหรับพื้นที่บางขุนเทียน คงศักดิ์บอกว่า ถ้าบริษัทไหนทำกิจกรรมซีเอสอาร์แล้วอยากเข้ามาปลูกป่า คงจะลำบากหน่อย เพราะต้องเดินเท้าเข้ามา และจุดที่ปลูกจะต้องเป็นหลังแนวไม้ไผ่หรือพื้นที่ที่อยู่ลึกบริเวณที่มีป่าอยู่บ้างต้นไม้ถึงจะอยู่รอด เพราะถ้าเลือกปลูกง่ายๆในตะกอนเลนที่เกิดใหม่หรือใกล้ชายฝั่งเกินไป กล้าไม้เล็กๆจะไม่มีแรงยึดเกาะที่ทนต่อกระแสน้ำได้ แค่คนปลูกคล้อยหลัง คลื่นก็ซัดกล้าไม้ลอยตามกลับไปแล้ว

แม้จะต้องเจอปัญหาการการกัดเซาะ แต่ทะเลบางขุนเทียนก็นับว่าโชคดีอยู่บ้างในบางเรื่อง

ถ้าเทียบกับพื้นที่ชายฝั่งระหว่างชายฝั่งกรุงเทพฯที่บางขุนเทียนกับชายฝั่งแถวจังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ขนาบทะเลบางขุนเทียน ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่ปากอ่าวทำประมงน้ำเค็มเป็นหลักเหมือนกัน และเป็นปลายทางของแม่น้ำสายต่างๆที่ไหลลงอ่าวไทยทั้งท่าจีน เจ้าพระยา บางปะกง แถมด้วยการเป็นแหล่งระบายน้ำของคูคลองอีกหลายสาย เฉพาะบางขุนเทียนก็มีคลองหลักๆในพื้นที่ ได้แก่ คลองสนามชัย คลองหัวกระบือ/คลองขุนราชพินิจใจ คลองพิทยาลงกรณ์ และคลองแสมดำ

“ของกรุงเทพฯ ตรงนี้เป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้เราโชคดีที่ไม่มีโรงงาน แต่ฝั่งสมุทรปราการและสมุทรสาครจะเจอหนักกว่าเรื่องสารพิษจากน้ำเสียที่ตกตะกอนอยู่ในสัตว์น้ำ แต่ระยะหลังเราก็เริ่มได้ผลกระทบเรื่องน้ำเสียเพิ่มขึ้นผลผลิตเริ่มลดน้อยลง เพราะ กทม.ในเขตฝั่งธนบุรีมีการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ซึ่งภาคีเครือข่ายที่ตั้งขึ้นกำลังเฝ้าระวังกัน คาดว่าเขาจะทำให้ดีเหมือนฝั่งพระนครที่บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อย”

ถ้าไม่เป็นอย่างที่คงศักดิ์คาดการณ์ น้ำเสียจะกลายเป็นอีกปัญหาที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาในพื้นที่ เพราะเขาบอกว่าตอนนี้ทุกปีในพื้นที่ ก็มีเทศกาลน้ำเสียประจำปีอยู่แล้ว โดยจะเกิดขึ้นราวช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ลมจากทุกทิศทางพัดปะทะกันจนปั้นน้ำเสียเป็นก้อนและไม่กระจายไปในทะเล ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปลาตายลอยให้ชาวบ้านมาช้อนไปขายเป็นประจำทุกปี

หลังทีมงานเรื่องน้ำจากเนเธอร์แลนด์ลงมาฟังข้อมูลสรุปจากคงศักดิ์พร้อมบินดูพื้นที่ เขาก็ไม่ได้หวังว่าระดับนโยบายจะเดินหน้าไปอย่างไร เพราะทุกวันนี้เขาและชุมชนยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลาในพื้นที่

“ผมก็จะยังเขย่าข่าวหรือสร้างความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้ก็ผลักดันจนการกัดเซาะถูกยกเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว แต่พอเป็นวาระแห่งชาติแล้วนี่แหละอันตรายที่สุด เพราะวาระแห่งชาติคือเอกสารที่วางอยู่บนโต๊ะที่จะกลายเป็นเรื่องนิ่ง”

ดังนั้นระหว่างวาระแห่งชาติเดินไปตามเส้นทางของมัน คงศักดิ์ก็จะยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายภาคประชาชนต่อไป จาก 1 ชุมชนเป็น 6 ชุมชน ตอนนี้เครือข่ายของเขาขยายข้ามจังหวัดกลายเป็นเครือข่ายรักอ่าวไทย โดยรวมตัวกันตั้งแต่ชุมชนในจังหวัดเพชรบุรีเลียบชายฝั่งทะเลไปถึงจังหวัดตราด

“หน่วยงานรัฐมีขอบเขตของจังหวัด เป็นตัวแบ่งแยก แต่ภาคประชาชนของเรา เราเชื่อมชายฝั่งถึงตราดแล้วมาสุดทางภาคตะวันตกที่เพชรบุรี จากเพชรบุรีลงไปใต้ทั้งอันดามันทั้งอ่าวไทยเขาจะมีคณะกรรมการเขาอยู่แล้ว เหมือนที่ผมทำ แต่แบ่งเป็นท่อนๆ พอระยะสักปีหรือครึ่งปี เรามาประชุมกันที สุดแท้แต่เขาจะจัดที่ไหน ประชุมในเครือข่าย กลุ่มย่อยก็จะมีประชุม กันสองเดือนต่อหนึ่งครั้ง แต่ถ้าเรื่องด่วนเราจะเรียกเลย เร็วอาจจะเดือนละครั้งเวลามีอะไรเข้ามา”

คงศักดิ์อธิบายการทำงานของเครือ ข่ายที่ดูเหมือนจะรวดเร็ว ทันสมัยและเข้าใจการทำงานที่ไม่ใช้เส้นแบ่งพื้นที่หรือเขตแดนเป็นข้อจำกัดได้ดีกว่าหน่วยงานรัฐที่มีอยู่เสียอีก

จากเครือข่ายที่ขยายตัวจับกลุ่มกันแน่นขึ้นในภาคประชาชน คนในชุมชนแห่งนี้ก็ได้แต่หวังว่า ในอนาคตพื้นที่ดินและป่าในชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนก็จะจับกลุ่มกันแน่นขึ้นๆ เหมือนเครือข่ายและภาพอดีตในวัยเด็กของคงศักดิ์ที่ยังจดจำได้ดีว่า สมัยนั้นกว่าที่เขาจะพาตัวเอง ออกไปเห็นทะเลบางขุนเทียนได้ จะต้องเดินเลาะคันนากุ้งและแทบจะต้องมุดผ่านป่าแสมที่แน่นทึบ เจอทั้งตัวนาก เสือปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อย เพื่อออกไปงมกุ้งและจับปลาในวันหยุดกับเพื่อนๆอย่างสนุกสนาน กลับมาเป็นแบบเดิมได้อีกครั้ง เพราะปฏิบัติการทวงคืนแผ่นดินของพวกเขาเห็นผลมากขึ้นทุกวัน

ที่สำคัญพวกเขาจะไม่ปล่อยปละละเลยให้คลื่นลมและทะเลเอาป่าและแผ่นดินไปจากชุมชนเหมือนเมื่อช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาอีก




จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554

สายน้ำ 23-03-2011 08:13


แผ่นดินที่หายไปที่ “ขุนสมุทรจีน” .................. โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย ชัชวัสส์ คติพิพัฒน์พร วรรณวณัช สุดจินดา

http://www.gotomanager.com/img/mgrm/...20110321/5.jpg

การแก้ปัญหาการกัดเซาะของชุมชนชายฝั่งหลายพื้นที่เริ่มตั้งหลักได้ คือความหวังที่ทำให้ชาวชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เชื่อว่าพวกเขาก็น่าจะมีวิธีหยุดการกัดเซาะชายฝั่งได้เช่นกัน อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ของเขื่อนป้องกันการกัดเซาะต้นแบบที่เป็นงานวิจัยของนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อโครงการเขื่อนกั้นคลื่น 49A2 อีกด้วย

“ในอดีตบริเวณนี้มีแผ่นดินเต็มไปหมด ปัจจุบันทะเลรุกเข้ามาหลายกิโลเมตร ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ หมู่ 8 หายไปจากแผนที่ประเทศไทยแล้ว” ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ตำบลแหลมฟ้าผ่าบอกกับทีมงานผู้จัดการ 360 ํ

ในอดีตชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเป็นชุมชนชายฝั่งที่หากินกับทะเล พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ ทุกคนจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีที่ทำกินเป็นของตนเอง มีเพียงที่ปลูกบ้านที่อยู่อาศัยก็เพียงพอแล้ว

“ผู้คนที่นี่มีแต่ที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำกิน ซึ่งก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเพราะแค่ออกไปหาหอย หาปู ก็พออยู่พอกินซึ่งถือว่าพอเพียงแล้ว ได้วันละ 200-300 บาท วันไหนได้น้อย 50-60 บาทก็ไม่ขาดทุนเพราะเราไม่มีต้นทุน ไม่ได้ใช้เครื่องมือที่ต้องใช้น้ำมัน พูดง่ายๆ คือใช้มือเก็บสัตว์น้ำนั่นเอง” ผู้ใหญ่สมรบอกกับทีมงานด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แต่ปัญหาใหญ่สุดที่ชาวบ้านและผู้ใหญ่สมรต้องเผชิญอยู่ก็คือปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่นับวันยิ่งจะรุนแรงขึ้นทุกที เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชายฝั่งซึ่งมีระนาบขององศาที่อยู่ในเกณฑ์ชันมาก

เมื่อถามว่าปัญหาการกัดเซาะได้เริ่มขึ้นเมื่อใด ผู้ใหญ่สมรบอกว่า เริ่มมาตั้งแต่อดีตแล้ว เป็นภัยธรรมชาติ โดยดูได้จากลึกลงไปในทะเล 2-3 เมตรมีการขุดพบชุมชนโบราณชุมชนหนึ่งซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า มีการกัดเซาะชายฝั่งหรือแผ่นดินมาตั้งแต่ครั้งโบราณเลยทีเดียว

อีกทั้งภาพถ่ายในอดีตสมัยที่ผู้ใหญ่สมรยังสาวๆ เธอหยิบมาโชว์กับผู้จัดการ 360 ํ แสดงให้เห็นว่าชายฝั่งทะเลอยู่ห่างจากหมู่บ้านในปัจจุบันประมาณ 2 กิโลเมตร กว่า หลังหมู่บ้านก็จะเป็นวัดขุนสมุทรจีน ซึ่งห่างจากหมู่บ้านประมาณกิโลเมตรกว่าๆ และจากหมู่บ้านนั้นก็ห่างจากชายฝั่งปัจจุบันอีกประมาณ 1 กิโลเมตร

ปัจจุบันวัดขุนสมุทรจีนถูกน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นเกาะไปแล้ว จากเนื้อที่วัดเป็น 100 ไร่ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 5-6 ไร่ เมื่อรวมระยะการกัดเซาะเปรียบเทียบพื้นที่จากอดีตที่มีหลักฐานภาพถ่ายก็พบว่า น้ำทะเลกัดเซาะเข้ามาเป็นระยะกว่า 5 กิโลเมตรแล้ว นี่ยังไม่รวมข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกว่าเคยมีการกัดเซาะมากกว่า 10 กิโลเมตรในอดีต

“นี่มันไม่ใช่เรื่องปกติแล้วนะ จะเห็นว่าแนวเสาไฟฟ้าที่อยู่ไกลๆในทะเลนั่น เมื่อก่อนปักบนดิน ตอนนี้แผ่นดินหายหมด แล้วเหลือแต่เสาไฟฟ้าซึ่งห่างจากตลิ่งตั้ง 2 กิโลเมตร” ผู้ใหญ่สมรเปรียบเทียบระยะการกัดเซาะ

ผู้ใหญ่สมรเชื่อว่าสาเหตุหลักของการกัดเซาะส่วนใหญ่แล้วเกิดจากธรรมชาติและ ภูมิศาสตร์ของชายฝั่งเอง ส่วนที่มีผู้บอกว่าเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าและทำบ่อเลี้ยงกุ้ง ในพื้นที่นั้นเป็นความจริงเพียงบางส่วน เพราะว่าการตัดไม้ในพื้นที่นั้นเป็นการใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่สั่งสอนไว้ว่าเวลาตัดไม้ไปใช้ให้แบ่งป่าไม้ออกเป็นแปลงๆ อย่าตัดทีเดียวหมด เมื่อตัดแปลงที่หนึ่งแล้วให้ปลูกเสริมรอโต ในขณะที่ตัดแปลงที่สองและที่สามในระยะต่อมา แปลงที่หนึ่งก็จะโตให้หมุนเวียนมาตัดใหม่ได้อีก และอีกอย่างหนึ่งก็คือป่าถูกทำลายโดยน้ำทะเลกัดเซาะเข้ามา ชาวบ้านถึงไปตัดไม้ที่มันล้มอยู่ ส่วนการทำนากุ้งนั้น อย่าลืมว่าชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน ดังนั้นการทำบ่อเลี้ยงกุ้งจึงเป็นของนายทุนซึ่งชุมชนไม่สามารถไปยับยั้งได้ แต่ปัจจุบันนี้นากุ้งก็ไม่มีแล้วเนื่องจากพื้นที่ถูกกัดเซาะไปหมด

ภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการตัดไม้ของขุนสมุทรจีนไม่ต่างจากหลักการทำป่าไม้ที่ใช้กันในยุโรปหรือประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก ซึ่งถือเป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน มีการใช้แบบหมุนเวียน เพราะโดยหลักวิชาการแล้วไม้ที่โตเต็มที่จะมีปริมาณการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในต้นไม้ได้ต่ำกว่าไม้ที่อยู่ระหว่างเติบโต การตัดทิ้งแล้วให้ไม้รุ่นใหม่เติบโตจะเป็นผลดีต่อโลกมากกว่า แต่ด้วยความไม่เข้าใจบวกกับความโลภของมนุษย์ จึงนิยมที่จะฆ่าห่านทองคำไปเป็นอาหารมากกว่าจะรอเก็บไข่ไปขาย

การแก้ปัญหาของพื้นที่ขุนสมุทรจีนในช่วงแรกๆ เป็นการนำหินไปถมบริเวณชายฝั่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะ และยังคงทำต่อเนื่องแม้ในปัจจุบัน รอบวัดขุนสมุทรจีนที่มีกำแพงหินล้อมรอบ

“พวกเราทอดผ้าป่า ทอดกฐินที่วัด ได้เงินมาเท่าไหร่ก็ไปซื้อหินมาลงหมด เพราะเราต้องการรักษาพื้นที่วัดตรงนี้ไว้” ผู้ใหญ่สมรพูดด้วยแววตาที่มีความวิตกกังวล

ระยะหลังบ้านขุนสมุทรจีนจึงเริ่มปักแนวไม้ไผ่ ตามอย่างชุมชนชายฝั่งในเครือข่าย แต่สำหรับที่นี่ไม้ไผ่ไม่สามารถป้องกันคลื่นที่ความแรงมากกว่า

โดยเฉพาะคลื่นลมในฤดูที่พัดจากฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดเข้าปะทะพื้นที่เต็มๆ ไม้ไผ่ที่ปักไว้ถึงกับหลุดไปตามกระแสน้ำ

อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานราชการและเอกชนต่างๆ ผลที่ได้กลับมาก็คือ บางหน่วยงานก็ไม่สนใจ หน่วยงานที่สนใจก็ไม่ได้ทำตามความต้องการของชาวบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ไส้กรอกทราย ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เท่าที่ควร เวลาไส้กรอกทรายแตกจะทำให้ทรายในถุงไหลออกมาปนเปื้อนกับหาดโคลนทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป รวมไปถึงเศษถุงที่ห่อหุ้มทรายก็กลายเป็นขยะในทะเล

ในความคิดของผู้ใหญ่สมรบอกว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือเสาไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพื่อนำมาปักไว้เป็นเขื่อนชะลอคลื่น การปักเสาไฟเป็นความคิดของชาวบ้านที่เชื่อว่าสามารถจะต้านทานคลื่นได้ แต่จากที่นักวิชาการนำโดย รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาศึกษาวิจัย ออกแบบเขื่อนสลายกำลังคลื่นที่มีชื่อว่า “ขุนสมุทรจีน 49A2” ก็เป็นผลงานที่ชาวบ้านตอบรับว่าใช้ได้ผล

ขุนสมุทรจีน 49A2 ทำให้ชั้นตะกอนหลังเขื่อนเพิ่มขึ้น ให้ชาวบ้านเพิ่มพื้นที่ป่าได้เห็นเป็นรูปธรรม แต่น่าเสียดายที่งบประมาณสำหรับงานวิจัยนี้หมดแล้ว ทั้งๆที่เพิ่งเริ่มดำเนินการเป็นระยะทางของเขื่อนแค่ 250 เมตรเท่านั้น ขณะที่สภาพปัญหาในพื้นที่ยังไม่หมดไป เนื่องจากความยาวของบ้านขุนสมุทรจีน มีมากกว่า 2 กิโลเมตร ดังนั้นชาวชุมชนเลยช่วยตัวเองด้วยการขอการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ ซึ่งชาวชุมชนก็ยังรองบประมาณนี้ด้วยจิตใจที่มีความหวังว่าจะหยุดการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งในขณะเดียวกันก็เพิ่มแผ่นดินและป่าชายเลนให้กับประเทศชาติ

“หลายคนมาทำงานวิจัยที่นี่แล้วก็เงียบไป มีแต่ความคิดในอนาคต แต่เราอยู่กับพื้นที่เรารอพวกนี้ไม่ได้ นักวิจัยบางท่านกล่าวว่า ถ้าจะแก้ไขที่นี่ต้องอีกประมาณ 50 ปี แต่ผมว่าถ้ารออีก 50 ปี รับรองว่าบ้านขุนสมุทรจีนหายไปจากแผนที่ประเทศไทยแน่นอน” วิษณุ เข่งสมุทร ลูกชายของผู้ใหญ่สมรและนักวิจัยชุมชนท้องถิ่นกล่าวกับผู้จัดการ 360 ํ

แนวคิดของวิษณุก็คือ แทนที่จะเสียงบวิจัยเพื่อขุนสมุทรจีน สู้เอางบตัวนี้มาทำเขื่อนสลายคลื่นดีกว่า แล้วทยอยปลูกป่าชายเลนที่หลังเขื่อน

ผู้ใหญ่สมรและลูกชายค่อนข้างเชื่อในประสิทธิภาพของขุนสมุทรจีน 49A2 เพราะ เห็นว่าไม้ไผ่ที่ใช้ได้ผลในพื้นที่อื่น แต่ต้านทานแรงลมในพื้นที่นี้ไม่ได้

“บางครั้งถ้าจะแก้ไขปัญหาในชุมชน ต้องให้ชุมชุนเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาด้วย แม้เราจะมีคนนอกเข้ามาช่วยทำเขื่อนสลายคลื่น ซึ่งต้องขอบคุณทั้ง สกว.และจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยที่ส่งบุคลากรเข้ามาช่วยพร้อมกับทุนในการทำเขื่อน โครงการของเรายังจะช่วยไม่ให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองบาดาลดังคำนาย เราขอแค่แผ่นดินบ้านขุนสมุทรจีนนี้เป็นเหตุการณ์สุดท้ายที่ถูกผลพวงของภัย ธรรมชาติและการถูกกัดเซาะจากน้ำทะเล แผ่นดินที่เหลือนี้เราจะรักษาไว้ให้ชาติ และจะช่วยกันปลูกป่าเพื่อตอบโจทย์และเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในเวลานี้ เพื่อให้ลูกหลานของเราได้มีใช้กันต่อไป” วิษณุกล่าวทิ้งท้าย

แนวคิดและวิธีการแก้ปัญหาของบ้านขุนสมุทรจีน โคกขาม และบางขุนเทียนต่างก็ได้จากการเรียนรู้ธรรมชาติและทดลองปฏิบัติจริงในแต่ละพื้นที่ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ชายฝั่งที่แตกต่างกัน มีการลองผิดและลองถูก ประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากการเรียนรู้จนเข้าใจธรรมชาติ จนกระทั่งรู้ว่าต้องจัดการแก้ไขปัญหาในธรรมชาติเพื่อชุมชนอย่างไรนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุ ซึ่งไม่สามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่แปรปรวนมากขึ้นและยังไม่สิ้นสุด พวกเขาก็ได้แต่หวังว่าต่อจากนี้ไปอีก 50 ปี 100 ปีข้างหน้า ผู้มีความรู้และมีอำนาจมากกว่าเขาจะมีส่วนช่วยเข้ามาวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนของชุมชนเหล่านี้ให้คงอยู่กับผืนแผ่นดินไทยไปตราบนานเท่านาน แทนที่จะปล่อยพวกเขาอยู่กับการแก้ปัญหาไปวันๆ หรือซ้ำร้ายอาจจะต้องรอเผชิญกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างที่หวั่นกลัวกันเช่นนี้ต่อไป



จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554

สายน้ำ 23-03-2011 08:15


ผลลัพธ์ของขุนสมุทรจีน 49A2 .................. โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย ชัชวัสส์ คติพิพัฒน์พร วรรณวณัช สุดจินดา

http://www.gotomanager.com/vaf/ar/91/91280_in04.jpg

สำหรับผลลัพธ์ที่นักวิชาการคำนวณไว้สำหรับการสลายพลังงานคลื่นขุนสมุทรจีน 49A2 มีค่าอยู่ระหว่าง 0.6-0.7 (ค่ายิ่งน้อยแสดงว่าโครงสร้างยิ่งลดพลังงานคลื่นได้มาก) ซึ่งหลักการทำงานของขุนสมุทรจีน 49A2 สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า โครงสร้างแบบทึบน้ำสามารถสลายพลังงานคลื่นได้ดีกว่าโครงสร้างแบบโปร่งเช่นเดียวกับเสาเข็ม นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า โครงสร้างแบบโปร่งนี้จะมีความสามารถในการลดหรือสลายพลังคลื่นลดลงเมื่อคลื่นที่มีความสูงมากขึ้น (คาบเวลามากขึ้น) อย่างไรก็ตาม ในการเลือกโครงสร้างที่เหมาะสมนั้น ปัจจัยเรื่องการสลายพลังงานเป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เสาเข็มสลายพลังงานคลื่นช่วยให้ตกตะกอน เพิ่มความหนาของตะกอนดินให้กับชายฝั่งได้ดีกว่าโครงสร้างทึบ ส่วนเขื่อนกันคลื่น ไส้กรอกทรายใช้วัสดุสังเคราะห์เป็นเปลือกหุ้มทรายไว้ เมื่อแตกออก ทรายจะปนกับดินเลน ทำให้มีผลต่อระบบนิเวศได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ

ที่มา: โครงการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล บริเวณอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรฯ




จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:17

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger