SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=6174)

สายน้ำ 20-01-2023 04:41

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับลมตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากลมแรงและสภาพอากาศแห้งในระยะนี้

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมบริเวณดังกล่าวเริ่มมีกำลังแรงขึ้น


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 20 - 22 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นแรงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลงแต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ในขณะที่ในช่วงวันที่ 19 ? 21 ม.ค. 66 ลมตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ทำให้ภาคเหนือมีอุณหภูมิลดลง 3 ? 5 องศาเซลเซียส

ส่วนในช่วงวันที่ 23 - 25 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวเย็นต่อเนื่อง
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงยังคงปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้ตลอดช่วง ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 20 ? 25 ม.ค. 66 บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 -3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตลอดช่วง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น รวมถึงระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากลมแรงและอากาศแห้งไว้ด้วย สำหรับประชาชนในภาคใต้ระวังคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าฝั่งไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ หลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 20 ? 25 ม.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 3 (24/2566) (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 20 - 25 มกราคม 2566)

ในช่วงวันที่ 20-25 มกราคม 2566 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้


วันที่ 20 - 22 มกราคม 2566

ภาคใต้: จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล


ช่วงวันที่ 23 - 25 มกราคม 2566

ภาคใต้: จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันดังกล่าว



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 20-01-2023 04:44

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ผลศึกษาใหม่ ชี้ กรีนแลนด์ ร้อนสุดในรอบ 1,000 ปี

ผลศึกษาใหม่ ชี้ แกนน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ ดินแดนทางเหนือสุดของโลก มีอุณหภูมิร้อนที่สุดในรอบ 1,000 ปี ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ชัดเจนที่สุดของภาวะโลกร้อน ที่กำลังทำให้ธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

เมื่อ 19 ม.ค. 2566 เว็บไซต์ อัลจาซีรา รายงาน ผลศึกษาใหม่ของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องธารน้ำแข็ง แสดงให้เห็นว่า แกนน้ำแข็งของกรีนแลนด์ ดินแดนทางเหนือสุดของโลก ในมหาสมุทรอาร์กติก กำลังมีอุณหภูมิร้อนที่สุดในรอบ 1,000 ปี ซึ่งถือเป็น 'ลายเซ็นชัดเจน' ของภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากน้ำมือมนุษย์

ผลศึกษาใหม่โดยการเก็บตัวอย่างจากแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งที่อยู่ในระดับลึกของกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ประมาณ 2.17 ล้านตารางกิโลเมตร ถูกนำมาตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ ?เนเจอร์? (Nature) เมื่อวันพุธที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่าอุณหภูมิของแกนน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส จากค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995

'พวกเรากำลังดูอุณหภูมิที่สูงขึ้นระหว่างทศวรรษ 1990 และ 2011? Maria Hoerhold หัวหน้าผู้เขียนผลการศึกษา ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสนใจเรื่องธารน้ำแข็งจากสถาบัน Alfred Wegener ในเยอรมนี กล่าว พร้อมบอกว่า ?พวกเรามีลายเซ็นที่ชัดเจนของภาวะโลกร้อน'

เดือนพฤศจิกายน 2565 มีรายงานของสหประชาชาติออกมาว่าธารน้ำแข็งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดบนโลกจำนวนมาก อาจหายไปในปี 2050 ขณะโลกกำลังอุ่นขึ้น โดยจากการติดตามของนักวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติถึงสถานการณ์ของธารน้ำแข็งกว่า 18,600 แห่งในแหล่งมรดกโลก 50 แห่ง คาดว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของธารน้ำแข็งเหล่านี้ จะหายไปในกลางศตวรรษนี้ ขณะที่ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งคาดว่า 2 ใน 3 ของธารน้ำแข็งทั่วโลกจะหายไปในปี 2100 ซึ่งการละลายของธารน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ย่อมส่งผลให้ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น

จากรายงานระบุว่า แกนน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิระยะยาว ซึ่งต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ โดยข้อมูลจากแกนน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ได้มีการวิเคราะห์ครั้งล่าสุด เมื่อปี 1995 อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ มีการชี้ว่า อุณหภูมิของกรีนแลนด์จะไม่อุ่นเร็วเท่ากับบริเวณอื่นๆ ของมหาสมุทรอาร์กติก

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาแกนน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ครั้งใหม่ ซึ่งดำเนินการในปี 2011 แสดงให้เห็นว่าแกนน้ำแข็งมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่นักวิยาศาสตร์ได้นำแกนน้ำแข็งมาสร้างชาร์ต-แผนภูมิอุณหภูมิเฉลี่ยที่กรีนแลนด์ ในช่วงระยะ 1,000 ปี นับจากปี ค.ศ. 1000 จนถึงปี 2011.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2606990


สายน้ำ 20-01-2023 04:48

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


ผู้เชี่ยวชาญระบุ "แมนนาทีฟลอริดา" กำลังตายในอัตราน่าใจหาย

แมนนาทีฟลอริดา หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ที่รู้จักกันในชื่อ "วัวทะเล" กำลังตายในรัฐฟลอริดา ด้วยอัตราที่น่าตกใจ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขาดอาหาร เนื่องจากหญ้าทะเลที่เป็นอาหารหลักของพวกมันหายไป ในภูมิภาคแพนแฮนเดิล

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
เครดิตภาพ : REUTERS

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากเมืองคริสตัลริเวอร์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ว่า นายเจมส์ "บัดดี" โพเวลล์ นักชีววิทยาแมนนาที กล่าวว่า จากจำนวนประชากรแมนนาทีราว 6,000-7,000 ตัว ในรัฐฟลอริดา พวกมันตายไปมากถึง 1,000 ตัว ในปีที่แล้วเพียงปีเดียว

"ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเราเห็นในตอนนี้คือ สัญญาณเตือน" โพเวลล์ กล่าวว่า แมนนาทีเหล่านี้ประสบกับความอดอยาก เพราะอาหารตามธรรมชาติของพวกมันหายไป ส่งผลให้พวกมันมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการขาดสารอาหาร และตายลงในเวลาต่อมา

แม้แมนนาทีจะเป็นสายพันธุ์สัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐฟลอริดา ทว่าสภาพแวดล้อมของพวกมันกลับตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง ทำให้แมนนาทีมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เนื่องจากการขาดแคลนหญ้าทะเลในแหล่งที่อยู่อาศัย, ผลกระทบของมลพิษทางน้ำ, การได้รับบาดเจ็บจากเรือ และการตายจากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของสาหร่ายที่เป็นอันตราย หรือ "ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ"

ประชากรแมนนาทีในภูมิภาคแพนแฮนเดิล ทางตะวันตกของรัฐฟลอริดา มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์, จำนวนเรือ และมลพิษที่น้อยลง ประกอบกับความพยายามในการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง และการปลูกหญ้าทะเล โดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร "ซี แอนด์ ชอร์ไลน์" ที่นำโดยโพเวลล์ และอุทิศตนเพื่อการฟื้นฟูพืชและสัตว์น้ำ กำลังปลูกหญ้าทะเลในเขตรักษาพันธุ์แมนนาทีของเมืองคริสตัลริเวอร์

ทั้งนี้ นายรอน เดอซานทิส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา จัดสรรงบประมาณมากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 990 ล้านบาท) เมื่อเดือน พ.ค. 2565 เพื่อยกระดับและขยายการช่วยเหลือแมนนาที, ความพยายามในการฟื้นฟู และจัดหาการฟื้นฟูที่อยู่อาศัย สำหรับพื้นที่ซึ่งมีแมนนาทีอยู่อย่างหนาแน่น.


https://www.dailynews.co.th/news/1909000/


******************************************************************************************************


ผลการศึกษาชี้ 2 ใน 3 ของฉลาม-กระเบนแนวปะการัง "เสี่ยงสูญพันธุ์"

ผลการวิจัยครั้งใหม่พบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของปลาฉลามและปลากระเบน ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางแนวปะการังของโลก กำลังเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ พร้อมกับเตือนว่า สิ่งนี้อาจสร้างความเสียหายเพิ่มเติมต่อแนวปะการังอันมีค่าได้

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ว่า แนวปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์และพืชทะเลอย่างน้อย 1 ใน 4 ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงจากการคุกคามจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การประมงเกินขนาด, มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

นางซาแมนธา เชอร์แมน จากมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ในแคนาดา และกลุ่มสัตว์ป่า "ทราฟฟิก อินเทอร์เนชั่นเนล" กล่าวว่า ปลาฉลามและปลากระเบน มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ ซึ่งไม่สามารถแทนที่ด้วยสัตว์สายพันธุ์อื่นได้

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในนิตยสาร Nature Communications ซึ่งประเมินข้อมูลความเสี่ยงของการสูญพันธุ์จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) พบว่าพวกมันกำลังถูกคุกคามอย่างหนักทั่วโลก โดยปลาฉลามและปลากระเบนแนวปะการังสัดส่วน 59% มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์มากเกือบ 2 เท่า ของปลาฉลามและปลากระเบนทั่วไป

เมื่อปีที่แล้ว หลายประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอนุสัญญา ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) อนุมัติแผนคุ้มครองปลาฉลามและปลากระเบนหลายสิบสายพันธุ์ด้วยการเพิ่มแนวปะการังในพื้นที่ ซึ่งเชอร์แมนมองว่าเป็น ?การก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง? แต่เสริมว่า มันจำเป็นต้องมีความพยายามในระดับโลก เพื่อปรับปรุงการนำไปใช้ด้วย

แม้การประมงในแนวปะการัง จะมีส่วนช่วยโดยตรงต่อการดำรงชีวิตและความมั่นคงด้านอาหาร แต่ระบบนิเวศสำคัญนี้ กำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัด และภาวะโลกร้อน

"พวกเราทราบดีว่า สุขภาพของแนวปะการังกำลังแย่ลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อย่างไรก็ตาม ปลาฉลามและปลากระเบนแนวปะการัง สามารถช่วยรักษาความสมบูรณ์ของแนวปะการังให้อยู่นานขึ้นได้" เชอร์แมน กล่าวทิ้งท้าย


https://www.dailynews.co.th/news/1908999/



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:34

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger