SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 10 มิถุนายน 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5163)

สายน้ำ 10-06-2020 03:27

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 10 มิถุนายน 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ด้านตะวันตกของประเทศไทย ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนบน ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมามีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง จนถึงวันที่ 10 มิ.ย. 63


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 9 - 10 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับหย่อมความกด อากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ด้านตะวันตกของประเทศไทย ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 15 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 9 - 10 มิ.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง



https://i1198.photobucket.com/albums...pszw6vqdtb.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psptaizf12.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...pstxaleulf.jpg

สายน้ำ 10-06-2020 04:25

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ยานดำน้ำไร้คนขับ ไห่โต้ว-1 ทำสถิติดำน้ำลึก 10,907 เมตรที่ร่องลึกมาเรียนา

https://i1198.photobucket.com/albums...psbyfg7seo.jpg
เครดิตภาพ จาก สถาบันระบบอัตโนมัติเสิ่นหยาง ประเทศจีน

ยานดำน้ำไร้มนุษย์ ไห่โต้ว-1 ของจีนสามารถทำสถิติการดำน้ำลึกใต้ท้องทะเลครั้งใหม่ของประเทศจีน ณ ความลึก 10,907 เมตร บริเวณชาเลนเจอร์ ดีป ของร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา กลางมหาสมุทรแปซิฟิก

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.63 สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ยานดำน้ำไร้มนุษย์ ไห่โต้ว-1 (Haidou-1) ของจีน สามารถสร้างสถิติการดำน้ำลึกใต้ท้องทะเลครั้งใหม่ของประเทศ ณ ความลึก 10,907 เมตร บริเวณร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) ที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก

สมาชิกทีมสำรวจจากสถาบันระบบอัตโนมัติเสิ่นหยาง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่ายานสำรวจไห่โต้ว-1 ได้ดำน้ำลึกเกิน 10,000 เมตร 4 ครั้ง ณ จุดชาเลนเจอร์ ดีป (Challenger Deep) ของร่องลึกฯ

https://i1198.photobucket.com/albums...pskvfcz1no.jpg

อนึ่ง ทีมสำรวจข้างต้นออกเดินทางเมื่อวันที่ 23 เม.ย.63 และกลับสู่มณฑลเหลียวหนิงทางจีนตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันจันทร์ที่ (8 มิ.ย.) ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยได้ทดสอบการตรวจจับความลึกแบบแม่นยำสูง การทำงานของแขนกล การตรวจจับและการระบุตำแหน่งของเสียง และการส่งผ่านคลิปวิดีโอความละเอียดสูง ขณะปฏิบัติการดำน้ำลึกใต้ทะเล นอกจากนั้นไห่โต้ว-1 ยังเก็บรวบรวมตัวอย่างจากใต้ทะเลลึก และบันทึกภาพความละเอียดสูงของสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาด้วย

ทั้งนี้ วิคเตอร์ เวสโคโว นักสำรวจ และนักลงทุนชาวอเมริกัน จากรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ครองสถิติขับเรือดำน้ำ DSV Limiting Factor ลงไปยังจุดที่ลึกที่สุดในโลก เมื่อปี 2019 บริเวณชาเลนเจอร์ ดีป ของร่องลึกมาเรียนา (Mariana Trench) ที่สถิติความลึก 10,925 เมตร และเป็นการดำน้ำสำรวจโดยมนุษย์ครั้งที่ 2.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1864489


สายน้ำ 10-06-2020 04:29

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


"เกาะแสมสาร" ทดลองเปิดท่องเที่ยว 13-14 มิ.ย.นี้ จองผ่านออนไลน์-ไม่เกิน 300 คน/วัน

https://i1198.photobucket.com/albums...psdsvtd2h7.jpg

เกาะแสมสาร สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังใกล้กรุงฯ กำหนดทดลองเปิดให้บริการท่องเที่ยวในวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้ ในรูปแบบ New Normal จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เกินวันละ 300 คน และต้องจองผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น โดยเปิดให้จองตั๋วในวันที่ 10-11 มิ.ย. เวลา 09.00 -14.00 น. ที่ https://www.facebook.com/KohSamaesarn/

วันนี้หลังรัฐบาลคลายล็อกเปิดให้ประชาชนสามารถการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดได้ ส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่งต่างทยอยเปิดตัว อย่างเช่นล่าสุดกับ ?เกาะแสมสาร? สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังใกล้กรุงฯ ที่มีกำหนดทดลองเปิดให้บริการท่องเที่ยวในวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้ โดยทางเพจ เกาะแสมสาร ? เกาะแห่งการเรียนรู้ ได้โพสต์ข้อมูลการเปิดให้บริการและเงื่อนไขในการไปท่องเที่ยวเกาะแสมสาร ดังนี้

https://i1198.photobucket.com/albums...psrbahau5y.jpg

???????? สิ้นสุดการรอคอย ????????

"เกาะแสมสาร" เปิดทดลองให้บริการในวันที่ 13-14 มิถุนายน 2563 โดยผ่านระบบจองตั๋วออนไลน์เท่านั้น

ตามนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของรัฐบาลและกองทัพเรือ เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เกาะแสมสารจึงมีความจำเป็นต้องจำกัดนักท่องเที่ยวในการเยี่ยมชมเกาะแสมสาร ไม่เกินวันละ 300 คน จึงได้ทำการทดลองเปิดให้บริการในวันที่ 13-14 มิถุนายน 2563

โดยนักท่องเที่ยวที่จะเข้าเยี่ยมชมเกาะแสมสาร ต้องทำการจองตั๋วผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งจะทำการทดลองเปิดให้จองตั๋วออนไลน์ในวันที่ 10-11 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่เวลา 09.00 -14.00 น.
????????????????????????????????????
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปจองตั๋วออนไลน์ได้ที่ https://www.facebook.com/KohSamaesarn/
????????????????????????????????????

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์
?? 038-432471
?? 038-432473
?? 038-432475

***หมายเหตุ***
ยังไม่รับนักท่องเที่ยว Walk in นะคะ ด้วยความห่วงใยในความปลอดภัยด้านสุขภาพ เรายังคงต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

เตรียมตัวจองตั๋วกันให้ดีๆ นะคะ (รับจำนวนจำกัด) เกาะแสมสารรอต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่จ้า....คิดถึงนักท่องเที่ยวแล้ว????????

https://i1198.photobucket.com/albums...pssqticuf0.jpg

เกาะแสมสาร ตั้งอยู่ที่ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเล ที่มีโลกใต้ทะเลเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ และสวยงาม จนได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ในการดำน้ำดูปะการังใต้ทะเล โดยมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย บนเกาะแสมสารเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ทางทะเลที่น่าสนใจ

นอกจากนี้เกาะแสมสารยังเป็นชุมชนประมง ที่มีร้านอาหารทะเลไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีที่พักและรีสอร์ตตามแนวชายหาด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ แสมสาร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนนิยมเดินทางมาเที่ยวกันไม่ได้ขาด


https://mgronline.com/travel/detail/9630000059725


สายน้ำ 10-06-2020 04:35

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ชื่นชม 2 นักท่องเที่ยวเดินเก็บขยะชายหาดอ่าวนาง ขณะบรรยากาศยังเงียบเหงา

กระบี่ - ชื่นชม 2 นักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินหิ้วกระสอบเก็บขยะตามชายหาดอ่าวนาง จ.กระบี่ ขณะที่สถานประกอบการ ย่านการค้าในหาดอ่าวนางเริ่มเปิดให้บริการแล้วบางส่วน แต่ยังไม่ค่อยมีลูกค้ามาใช้บริการ บรรยากาศยังคงเป็นไปอย่างเงียบเหงา

https://i1198.photobucket.com/albums...psd7zw9iwg.jpg

วันนี้ (9 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้โลกออนไลน์ต่างพากันชื่นชมและแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก หลังเพจ ?กระบี่ทีวีออนไลน์? ได้มีการแชร์คลิปขนะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2 คน กำลังเดินหิ้วกระสอบใบใหญ่ตระเวนเก็บขยะที่บริเวณชายหาดอ่าวนาง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ โดยมีนักท่องเที่ยวคนไทยที่มาเที่ยวบริเวณดังกล่าวต่างก็ยืนมองด้วยความชื่นชมในความมีน้ำใจของนักท่องเที่ยวทั้ง 2 คนที่ไม่นิ่งดูดายในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมแหล่งท่องเที่ยว แม้จะไม่ใช่เป็นบ้านของตัวเองก็ตาม

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ชายหาดอ่าวนาง และหาดนพรัตน์ธารา แต่ก็ไม่พบกับนักท่องเที่ยวทั้ง 2 คนแต่อย่างใด ทั้งนี้จากการสอบถามชาวบ้านที่มาเที่ยวพักผ่อนชายหาดอ่าวนาง ทราบว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบเห็นนักท่องเที่ยวทั้ง 2 คนมักจะมาตระเวนเก็บขยะตามชายหาดอ่าวนาง เป็นประจำ แต่ในช่วง 2-3 วันนี้ไม่เห็นมาอีก คาดว่าทั้ง 2 คน คงจะเดินทางไปที่อื่นแล้ว

ขณะที่บรรยากาศบริเวณย่านการค้าบริเวณชายหาดอ่าวนาง ได้มีการเปิดให้บริการแล้วบางส่วน เช่น ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า แต่พบว่ายังมีลูกค้ามาใช้บริการน้อย ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินพลุกพล่านตามฟตุปาธเหมือนที่ผ่านมา บรรยากาศจึงเป็นไปอย่างเงียบเหงา


https://mgronline.com/south/detail/9630000059763


*********************************************************************************************************************************************************


ช่วยได้ไหม? ถ้าส่งคนไทยไปกำจัดหอยนางรมที่นอร์เวย์

https://i1198.photobucket.com/albums...psawbnfd6q.jpg
อาสาสมัครในนอร์เวย์เข้าร่วมกิจกรรมเก็บหอยนางรมแปซิฟิกเพื่อทำความสะอาดชายหาดให้ปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

จากปรากฏการณ์ "หอยนางรมแปซิฟิก" ที่บุกชายหาดในนอร์เวย์จนต้องเปิดรับอาสาสมัครกำจัดหอย คนไทยจำนวนไม่น้อยอยากอาสาไปช่วย นอกจากเป็นเรื่องขำขันแล้ว ในมุมของนักวิชาการคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าการกินของคนไทยนั้นจะช่วยเก็บกวาดชายหาดนอร์เวย์ได้

เพจเฟซบุ๊ก "เรื่องแปล - ข่าวนอร์เวย์" ได้เผยแพร่ข่าวการแพร่ระบาดของหอยนางรมในนอร์เวย์ โดยปริมาณการบริโภคนั้นน้อยมากจนไม่สามารถกำจัดได้ทัน และให้ข้อมูลด้วยว่าหอยนางรมแปซิฟิกนั้นมีเปลือกที่คมเหมือนใบมีดโกน และยังระบาดจนต้องประกาศรับอาสาสมัครเพื่อช่วยทำความสะอาดชายหาดทุกปี ปีนี้ตั้งแต่เดือน มี.ค.พบหอยนางรมระบาดทางตอนใต้และตะวันตกของนอร์เวย์ และกำลังระบาดขึ้นไปทางเหนือ

ทั้งนี้ นางรมแปซิฟิกเป็นสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นตามชายฝั่งแปซิฟิกในเอเชีย ชื่อสามัญอีกชื่อเป็นที่รู้จักกันว่าหอยนางรมญี่ปุ่น แต่หอยชนิดนี้เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (introduced species) ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกาเหนือ และยุโรป ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมในการปล่อยไข่และสเปิร์มเพื่อผสมพันธุ์คือ 20 องศาเซลเซียส โดยตัวเมียสามารถปล่อยได้มากตั้งแต่ 50-200 ล้านฟอง ส่วนตัวอ่อนจะอยู่ในรูปแพลงก์ตอนที่ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ

ข่าวการระบาดของหอยนางรมแปซิฟิกในนอร์เวย์กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่คนไทยร่วมวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนหนึ่งแสดงความเห็นว่าอยากอาสาไปช่วยกำจัดพร้อมกับเครื่องเคียงสำหรับรับประทานหอยนางรมสดๆ อย่างใบกระถิน น้ำพริกเผา หอมเจียว รวมถึงน้ำจิ้มซีฟู้ด ขณะที่คนไทยในนอร์เวย์บางส่วนก็แบ่งปันประสบการณ์ร่วมเก็บหอยนางรมไปบริโภค ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าการบริโภคของคนไทยนั้นจะช่วยแก้วิกฤตการระบาดของหอยนางรวมได้หรือไม่?

ในมุมของ ดร.อารมณ์ มุจรินทร์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้ความเห็นแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เป็นไปได้ที่การกินของคนไทยจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ พร้อมยกตัวอย่างว่าเมื่อก่อนพบปลิงทะเลได้ทั่วไปตามชายหาดทะเลไทย แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวจีนและไต้หวันเข้ามาก็ได้สั่งไปบริโภค จนกระทั่งปัจจุบันเริ่มพบได้น้อย ซึ่งการจับไปบริโภคแบบประมงเกินขนาดก็ทำให้สัตว์น้ำหมดไปได้

อย่างไรก็ตาม การอาศัยคนบริโภคเพื่อจำกัดหอยนางรมในกรณีการระบาดที่นอร์เวย์นั้น ต้องใช้คนจำนวนมากพอสมควร ซึ่งการเดินทางก็มีค่าใช้จ่ายที่แพงมากอาจจะไม่คุ้มค่า ทว่า ดร.อารมณ์ก็ให้แนวคิดอื่นเป็นทางเลือก เช่น การตั้งโรงงานผลิตซอสหอยนางรมหรือผลิตหอยนางรมอัดกระป๋อง

พร้อมกันนี้ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล อพวช.ซึ่งประสบการณ์ศึกษาระยะสั้นแถบสแกนดิเนเวีย ทั้งนอร์เวย์ สวีเดน รวมถึงกรีนแลนด์ ก็ตั้งข้อสังเกตถึง พฤติกรรมการบริโภคของชาวยุโรปว่า กินอาหารที่แปลกประหลาด เช่น เนื้อสัตว์ก็กินแค่เนื้อ ไม่กินเครื่องใน หรือต้นกุ้ยช่ายที่พบได้มาก ชาวยุโรปก็ไม่บริโภค

จากประสบการณ์ตรง ดร.อารมณ์เคยจับหอยแมลงภู่ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
ในเดนมาร์กมารับประทาน หรือเมื่อครั้งออกไปสำรวจทรัพยากรทางทะเลที่นอร์เวย์ได้จับปูขึ้นมา เพื่อนๆ ในคณะเลือกกินแค่กล้ามปู ขณะที่เธอกินปูทั้งตัวอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งการใช้หลักการประมงเกินขนาดคือบริโภคให้มากกว่าความสามารถในการผลิตจากท้องทะเล ก็น่าจะลดจำนวนหอยนางรมลงได้ หรืออาจทำให้สูญพันธุ์ลงได้

ดร.อารมณ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดของหอยนางรมแปซิฟิกในนอร์เวย์ยังเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน เพราะสำหรับสัตว์ทะเลนั้นอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยก็มีผลต่อสัตว์น้ำค่อนข้างมาก หากอุณหภูมิเหมาะสม ความเค็มเหมาะสม ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว

ดร.อารมณ์กล่าวอีกว่า หอยนางรมอาศัยการขยายพันธุ์แบบปฏิสนธิภายนอก คือ ปล่อยไข่และสเปิร์มออกมาผสมภายนอก ซึ่งไข่เหล่านี้ก็เป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย จึงต้องปล่อยไข่ออกมาในปริมาณมาก โดยในจำนวนไข่ 100 ฟอง อาจเจริญเป็นตัวเต็มวัยได้เพียง 2-3 ฟอง ซึ่งการที่หอยนางรมระบาดนั้นนอกจากอาหารดี อุณหภูมิเหมาะสมแล้ว ก็แสดงว่าศัตรูตามธรรมชาติของหอยนางรมอาจจะน้อยลงด้วย

https://i1198.photobucket.com/albums...psxnwwqnzh.jpg
เมนูหอยนางรมสด ที่หลายคนโปรดปราน (REUTERS/Antonio Bronic)

ทางด้าน รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การระบาดของหอยนางรมแปซิฟิกซึ่งควรจะอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปถึงเขตหนาวนั้น น่าจะมีสาเหตุจากการพาไปโดยมนุษย์จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มากกว่าจะเกิดจากการระบาดเนื่องจากการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติของหอยเอง และสันนิษฐานว่าการระบาดน่าจะเกิดจากตัวอ่อนที่ถูกพาไปอย่างไม่ตั้งใจโดยมนุษย์ หรืออาจเป็นหอยตัวเต็มวัยที่เกาะไปกับเรือ

รศ.ดร.สุชนา ระบุว่า การบริโภคอาจจะช่วยควบคุมได้ แต่คงไม่เป็นวิธีการที่ดีเท่าไรนัก เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมาที่พบกรณีเหล่านี้ ยังไม่เคยเห็นกรณีใดที่สามารถกำจัดสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นได้เลย เพราะหากสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นก็ยากที่จะกำจัดให้หมดไป ทางที่ดีเราควรป้องกันตั้งแต่ต้น ในกรณีของนอร์เวย์นั้นชาวท้องถิ่นอาจจะต้องปรับตัวแล้วหันมาบริโภคหอยนางรมกันให้มากขึ้น

สำหรับหอยนางรมแปซิฟิกในนอร์เวย์นี้ รศ.ดร.สุชนากล่าวว่า น่าจะแฝงตัวเข้าไปในท้องถิ่นนานแล้ว อาจจะอยู่ในรูปแพลงก์ตอน แล้วค่อยๆ โตจนกระทั่งเกิดการระบาดจนเห็นได้ชัด ซึ่งการที่สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตนั้น ย่อมส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างแน่นอน โดยออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นก่อนหลายๆ ประเทศ จึงมีมาตรการห้ามนำสิ่งมีชีวิต ผัก ผลไม้ต่างๆ เข้าประเทศ

นอกจากหอยนางรมแปซิฟิกในนอร์เวย์แล้ว ยังมีปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอีกหลายชนิดทั่วโลก เช่น หอยแมลงภู่ของไทยไประบาดที่ฟลอริดา ปลาสิงโตซึ่งเป็นปลาเขตร้อนและหาได้ยากในไทย แต่กลับพบระบาดที่แคนาดาจากการหลุดรอดออกจากตู้ปลาสวยงาม หรือกุ้งขาวที่ไทยนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจก็พบว่าหลุดรอดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่ง รศ.ดร.สุชนาระบุว่า เราต้องหาทางป้องกันดีกว่าตามแก้ไขทีหลัง


https://mgronline.com/science/detail/9630000059920


สายน้ำ 10-06-2020 04:40

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


การปกป้องสิ่งแวดล้อมคือการปกป้องชีวิตของพวกเรา .................. โดย Louisa Casson

สิ่งที่ช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีคืออะไร? จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกใบนี้ พวกเราได้แต่สงสัยว่า อะไรที่จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้

สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าทำให้เกิดรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น คนต่อแถวยาว เว้นระยะห่างเพื่อซื้ออาหาร การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อติดต่อสื่อสารมากขึ้น (ทำให้ผู้สูงอายุก็ต้องหัดใช้เทคโนโลยีมากขึ้นด้วย) หรือกระทั่งการช่วยเหลือกัน แบ่งปันกันในสังคม สิ่งเหล่านี้คือความพยายามทำให้สังคมของเรากลับมาแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้งหลังวิกฤตของโรคระบาด

https://i1198.photobucket.com/albums...ps0dhgi51g.jpg
การเว้นระยะห่างทางสังคม (Physical Distancing) บนรถไฟฟ้าจะกลายเป็นภาพที่เราคุ้นชิน

แม้ว่าทุกวันนี้เรากำลังพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น แต่ก็ในทางกลับกันเราก็ยังคงต้องการการสนับสนุนจากระบบในระดับประเทศเพื่อสามารถรับมือได้ดีขึ้น เช่น

- การเข้าถึงน้ำที่สะอาดเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและปกป้องเราจากไวรัสได้โดยการล้างมือให้สะอาดตาม 7 วิธีการล้างมือ

- การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่นระบบสวัสดิการต่าง ๆ ที่เราควรได้รับ

- ความมั่นคงทางอาหารที่จะทำให้เราไม่ขาดแคลนอาหารการกิน

แม้ว่าตอนนี้จะเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้รับข่าวสารด่วนเกือบทุกชั่วโมง แน่นอนว่ามันยากที่เราจะจับตาดูข่าวพวกนี้ตลอดเวลา อย่างไรก็ดีเราควรตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดีจะเป็นระบบที่เอื้อให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้น


สิ่งแวดล้อมเกี่ยวอะไรกับ COVID-19?

สิ่งแวดล้อมที่ดีเกิดขึ้นได้จากการไม่ไปรุกล้ำระบบนิเวศต่าง ๆ เช่นการตัดไม้ทำลายป่า หรือพื้นที่ป่ารกร้าง การมีพื้นที่ป่าที่มากขึ้นเป็นเหมือนเกราะป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสที่ถูกส่งต่อของมนุษย์ได้ยากขึ้น หากลองเอาทฤษฎีสภาวะเจือจาง (dilution effect) มาอธิบายแล้วก็จะเห็นว่า ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่ามาก ก็จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคเจือจางลง เพราะยิ่งมีความหนาแน่นของสัตว์พาหะน้อยลงเท่าไร ไวรัสก็จะแพร่ระบาดได้น้อยลงตามและจะช่วยลดการแพร่เชื้อโรคไปยังมนุษย์ได้

เพราะโดยพื้นฐานแล้วสุขภาพของเราเชื่อมโยงกันกับระบบนิเวศทั้งหมด ดังคำที่กล่าวไว้ว่า "เราไม่สามารถแยกสุขภาวะของสัตว์จากสุขภาวะของมนุษย์ได้ เหมือนกับเราไม่สามารถแยกสุขภาวะของคนในแต่ละประเทศออกจากกัน เช่น สุขภาวะของประชาชนชาวเกาหลีกับสุขภาวะของประชาชนชาวฝรั่งเศส"


การทำลายสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับโรคระบาดอย่างไร?

เมื่อเราทำลายป่าและทำลายธรรมชาติเพื่อใช้พื้นที่ในการผลิตอาหารเนื้อสัตว์และสินค้าอื่น ๆ เราไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในบ้านของสัตว์ป่าเท่านั้น แต่เรายังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคจากสัตว์ป่าที่คล้ายกับ COVID-19 อีกด้วย

การบุกรุกของมนุษย์นั้นมีหลายรูปแบบ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมืองหรือการถางป่าเพื่อเพาะปลูก กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ให้มนุษย์ใกล้ชิดกับสัตว์ป่ามากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโรคจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์และคุกคามสุขภาพของโลกในที่สุด

https://i1198.photobucket.com/albums...psykrzf6ru.jpg

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นไม่เหมือนกับโรคระบาดที่เราเคยเผชิญก่อนหน้านี้ แม้จะเป็นการแพร่ระบาดที่มีสาเหตุมาจากสัตว์เหมือนกันกับโรคซาร์ส ไวรัส H1N1 ไข้หวัดใหญ่หรือแม้แต่เชื้ออีโบลาก็ตาม


การทำปศุสัตว์แบบระบบอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรน่าหรือไม่?

การทำปศุสัตว์แบบระบบอุตสาหกรรมหรือการเลี้ยงสัตว์แบบปิดรวมถึงการผลิตผลิตภัณฑ์นมในฟาร์มขนาดใหญ่ ที่มีการเลี้ยงสัตว์แบบแออัดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดและการแพร่กระจายของเชื้อโรค แต่ในขณะเดียวกันแม้ว่ายังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการระบาดของไวรัส COVID-19 เชื่อมโยงกับการเลี้ยงสัตว์แบบปิด แต่การเลี้ยงสัตว์แบบปิดมีส่วนในการแพร่กระจายของไวรัสจากสัตว์สู่คนซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างของการเกิดไข้หวัดนก ว่าการที่สัตว์อาศัยอยู่ในพื้นที่คับแคบ แออัด และไม่ถูกสุขลักษณะนั้น ผู้ที่ทำงานในฟาร์มนั้น ๆ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างเห็นได้ชัด


การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลงไปด้วยจริงหรือ?

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะไม่ปรากฏว่ามีบทบาทโดยตรงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่การที่เราไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้นได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในรูปแบบอื่น ๆ อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษทำให้สุขภาพสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ขาดความสมดุล มันเป็นความเสี่ยงที่เราไม่สามารถยอมรับได้


จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรา?

ระบบนิเวศที่ดีจะทำให้โรคระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ยากกว่า รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรค นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราทุกคนควรหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอเบาะแสที่สำคัญสำหรับการวิจัยทางการแพทย์เพื่อทำความเข้าใจกับไวรัสที่ดีขึ้นและแนวทางการรักษาที่มีศักยภาพ ดังนั้นการปกป้องมหาสมุทรจากมลพิษและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่นการทำเหมืองใต้ทะเลสามารถช่วยรักษาระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยเหลือพวกเราทุกคน

โดยทั่วไปแล้วสิ่งแวดล้อมที่ดีนั่นคือระบบที่ใหญ่ที่สุดในการช่วยเหลือชีวิตของคนเรา การมีพื้นที่ป่าเยอะและมหาสมุทรอันอุดมสมบูรณ์ให้อากาศที่สะอาดสำหรับการหายใจและช่วยให้เราต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี

https://i1198.photobucket.com/albums...psjktguwig.jpg
ป่าคือแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนชั้นดีที่จะช่วยรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศ


แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้าง?

การรับมือกับวิกฤตไวรัส COVID-19 และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งหมายความว่าเราจำเป็นต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมเพราะการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เราก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยตามไปด้วย

เป็นสิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลจะต้องทำให้สภาพความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น โลกและสังคมที่ปลอดภัย น่าอยู่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นได้จริง หลังจากสถานการณ์โควิดนี้ เราจะต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ให้อยู่บนพื้นฐานของการเคารพความหลากหลายของผู้คน คำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูระบบนิเวศ และสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม

ภาครัฐไม่ควรนำงบประมาณลงทุนให้กับในระบบอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนจากรัฐบาลควรเน้นไปที่ประชาชน หรือเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การดำรงชีวิตที่ทำให้เราทุกคนปลอดภัยและเอื้อให้ผู้คนมีสุขภาพดี

บริษัทอาหาร และอุตสาหกรรมบางแห่งกำลังใช้วิกฤตนี้เพื่อลบกฎความปลอดภัย ด้วยการหาประโยชน์จากแรงงานและขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (planetary boundaries) ซึ่งทำให้เรามีความเสี่ยงมากขึ้น ในที่นี้รวมถึงการทำปศุสัตว์ระบบปิดที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาดในอนาคต ดังนั้น เราควรส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย หรือการทำเกษตรแบบยั่งยืน ร้านขายของชำในท้องถิ่นของตัวเองเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม

การห้ามการค้าสัตว์ป่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการระบาดของโรคสัตว์ แต่มาตรการระยะสั้นนั้นไม่เพียงพอที่จะป้องกันวิกฤตครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จากวิกฤตในปัจจุบันเราต้องการการดำเนินการที่มั่นคงและเป็นรูปธรรมเพื่อผลในระยะยาว เราเรียกร้องนโยบายที่แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริง รวมทั้งสามารถปกป้องชีวิตของเราได้นโยบายที่เราต้องการนั้นจะต้องคำนึงไว้เสมอว่าป่าที่อุดมสมบูรณ์ มหาสมุทรที่ไร้มลพิษคือระบบที่ใหญ่ที่สุดในการช่วยเหลือชีวิตของเราทุกคน

สุขภาวะของเรา รวมทั้งคุณภาพชีวิตของสังคมเราและสุขภาวะของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และเป็นสิ่งที่ต้องมาก่อนผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับมาฟื้นฟูโลกของเราใหม่โดยมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญ


https://www.greenpeace.org/thailand/...ing-ourselves/


สายน้ำ 10-06-2020 04:43

ขอบคุณข่าวจาก PPTV


ยูเอ็นห่วงทั่วโลกจับปลามากเกินไป

สหประชาชาติแสดงความเป็นหว่งว่าการจับปลาทั่วโลกยังคงมีปริมาณมากเกินไปกว่า 30 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มาตรการควบคุมอุตสาหกรรมประมงมีความเข้มงวดน้อย

https://i1198.photobucket.com/albums...ps78zwp3s4.jpg

รายงานที่จัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่าการแก้ปัญหาการจับปลามากเกินไปจำเป็นต้องใช้หลายมาตรการ รวมถึงความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นจากฝ่ายการเมือง และการปรับปรุงวิธีดูแลติดตาม เนื่องจากพบว่าปลามีปริมาณลดลงในพื้นที่ที่ขาดมาตรการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

ซึ่งแม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วได้ปรับปรุงวิธีกำกับดูแลอุตสาหกรรรมประมง แต่ประเทศกำลังพัฒนากลับมีสถานการณ์ที่แย่ลง โดยในปี 2017 พบว่าทั่วโลกจับปลามากเกินไป 34.2 เปอร์เซนต์ นับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1974 ที่อัตราการจับปลามากเกินไปอยู่ที่ 10 เปอร์เซนต์

โดย FAO ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายชาติมีมาตรการควบคุมการจับปลาที่ไม่เข้มข้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดในการบริหารจัดการและความสามารถของรัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ประชาชนยากจน ขาดแคนอาหารและเกิดการสู้รบ ซึ่งทำให้การจับปลาอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องยากอย่างมาก

นอกจากนี้ในปี 2018 ปริมาณการบริโภคปลาทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.5 กิโลกกรัมต่อคน สูงสุดเป็นสถิติใหม่ และเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.1 เปอร์เซนต์ ต่อปี นับตั้งแต่ปี 1691 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ


https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8...0%B8%99/126941


สายน้ำ 10-06-2020 04:48

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


น้ำมันรั่วที่รัสเซีย ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างหายนะทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเมือง

https://i1198.photobucket.com/albums...pswjshqfam.jpg
น้ำมันดีเซลที่รั่วไหลออกมาทำให้แม่น้ำที่อยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุกลายเป็นสีแดง Image copyright AFP

เหตุการณ์น้ำมันรั่วสู่แม่น้ำครั้งใหญ่ในเขตขั้วโลกเหนือส่วนที่เป็นของรัสเซีย กลายเป็นภัยพิบัติที่กำลังสร้างความหายนะด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งยังสร้างความสั่นสะเทือนต่อฐานอำนาจของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียด้วย

ประธานาธิบดีปูติน ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากน้ำมันดีเซลปริมาณ 20,000 ตัน รั่วไหลจากถังเก็บเชื้อเพลิงของโรงงานไฟฟ้าลงสู่แม่น้ำที่เมืองนอริลสก์ ในเขตวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา


หายนะทางสิ่งแวดล้อม

https://i1198.photobucket.com/albums...pseq516aow.jpg
ถังเชื้อเพลิงที่ถล่มลงมาอาจเป็นผลมาจากการที่เสารองรับโครงสร้างถังทรุดตัวลง เนื่องจากโรงงานสร้างอยู่บน "ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว" ที่อาจจะยุบตัวลงจากน้ำแข็งที่ละลายเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Image copyright AFP

น้ำมันที่รั่วไหลออกมา ได้ไหลเข้าปนเปื้อนแม่น้ำหลายสายในท้องถิ่น รวมทั้งไหลซึมสู่พื้นดิน เจ้าหน้าที่รัสเซีย รวมทั้งบรรดาหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศต่างระบุว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมยาวนานหลายสิบปี และเกรงว่าน้ำมันจะรั่วไหลไปถึงมหาสมุทรอาร์กติกในแถบขั้วโลกเหนือด้วย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยถังเก็บเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ของโรงงานไฟฟ้าในเครือบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล (Norilsk Nickel) หนึ่งในผู้ผลิตนิกเกิลและพาลาเดียมรายใหญ่ของโลก ใกล้กับเมืองนอริลสก์ ในเขตไซบีเรีย ได้ถล่มลง

ดูเหมือนว่าถังเชื้อเพลิงที่ถล่มลงมาจะเป็นผลมาจากการที่เสารองรับโครงสร้างถังได้ทรุดตัวลง เนื่องจากโรงงานสร้างอยู่บน "ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว" ที่เรียกว่า เพอร์มาฟรอสต์ (permafrost) ที่อาจจะยุบตัวลงจากน้ำแข็งที่ละลายอันเป็นผลมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รองประธานบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล ระบุว่า เสารองรับโครงสร้างดังกล่าวใช้งานได้ดีมา 30 ปี และไม่มีสัญญาณว่าจะเสื่อมสภาพ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ทำการบำรุงรักษาอย่างดีที่สุด แต่ชี้ว่า "อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นผิดปกติ" อาจเป็นสาเหตุการถล่มครั้งนี้


แม่น้ำเปลี่ยนเป็นสีแดง

https://i1198.photobucket.com/albums...psrbsxvf21.jpg
กรีนพีซ ชี้ว่า น้ำมันดีเซลมีความเป็นพิษมากกว่าน้ำมันดิบ และยังมีส่วนผสมของสารเคมีที่ทุ่นลอยดักจับน้ำมันไม่สามารถดักจับได้ Image copyright EPA

สื่อทางการรัสเซียรายงานว่า น้ำมันดีเซลที่รั่วไหลออกมาลอยไปไกล 12 กม. ส่งผลให้แม่น้ำกลายเป็นสีแดงเข้ม การปนเปื้อนดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ราว 350 ตร.กม.

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ บริษัทนอริลสก์ นิกเกิล เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ เพราะเมื่อปี 2016 บริษัทยอมรับว่าเกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันที่โรงงานแห่งหนึ่งของบริษัท ส่งผลให้แม่น้ำที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุสายหนึ่งกลายเป็นสีแดงมาแล้ว


(มีต่อ)


สายน้ำ 10-06-2020 04:52

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


น้ำมันรั่วที่รัสเซีย ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างหายนะทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเมือง ........ ต่อ

https://i1198.photobucket.com/albums...pseffp3sa2.jpg
ภาพถ่ายจากองค์การอวกาศยุโรป เผยให้เห็นน้ำมันดีเซลสีแดงที่ไหลลงสู่แม่น้ำ Image copyright EUROPEAN SPACE AGENCY

ปัญหาน้ำมันรั่วไหลมักสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม เพราะน้ำมันที่รั่วออกมานั้นจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติได้นานหลายปี อีกทั้งยังทำความสะอาดและขจัดออกไปได้ยากมากด้วย

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กระบวนการทำความสะอาดน้ำมันที่รั่วไหลออกมานั้นอาจสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมได้มากพอ ๆ กับความเสียหายที่เกิดจากน้ำมันที่รั่วไหลออกมาในตอนแรก

การประกาศภาวะฉุกเฉินของผู้นำรัสเซีย จะทำให้ทางการส่งกองกำลังพิเศษเข้าไปปฏิบัติภารกิจทำความสะอาดในพื้นที่ได้

https://i1198.photobucket.com/albums...psoje9hbaj.jpg
มีการใช้ทุ่นดักจับน้ำมันที่ไหลไปตามแม่น้ำ แต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า การทำความสะอาดอาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี และระบบนิเวศอาจเสียหายจนไม่สามารถฟื้นกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อีก Image copyright EPA

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย นายอเล็กเซ คนิซนิคอฟ ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนสัตว์ป่าโลก ชี้ว่า เหตุการณ์นี้นับเป็นเหตุน้ำมันรั่วไหลสู่ธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันของรัสเซีย ในแง่ของปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมา

ขณะที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ในรัสเซีย ระบุว่า นี่เป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมในแถบขั้วโลกเหนือครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี พร้อมชี้ว่า การทำความสะอาดเหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้อาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี และระบบนิเวศอาจเสียหายจนไม่สามารถฟื้นกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อีก

นอกจากนี้ กรีนพีซ ยังแสดงความกังขาถึงประสิทธิภาพในการใช้ทุ่นลอยดักจับน้ำมัน โดยชี้ว่า น้ำมันดีเซลมีความเป็นพิษมากกว่าน้ำมันดิบ และยังมีส่วนผสมของสารเคมีที่ทุ่นลอยดักจับน้ำมันไม่สามารถดักจับได้

"น้ำมันดีเซลบางชนิดจะละลายในน้ำ และสารเคมีจะตกค้างอยู่ได้นานอีกหลายปี" กรีนพีซระบุ พร้อมชี้ว่า "สารที่เป็นพิษเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อแม่น้ำและทะเลสาบ เชื้อเพลิงบางส่วนจะระเหยขึ้นสู่อากาศที่คนในท้องถิ่นสูดหายใจเข้าไป"

ขณะที่บางฝ่ายแนะนำให้ใช้วิธีเผาเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมา แต่นายดมิทรี โคบิลกิน รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของรัสเซียชี้ว่าวิธีการดังกล่าวเสี่ยงเกินไป

"มันเป็นสถานการณ์ที่ยากมาก ผมไม่อาจจินตนาการถึงการเผาเชื้อเพลิงปริมาณมหาศาลในเขตขั้วโลกเหนือ...กองไฟขนาดใหญ่ในบริเวณเช่นนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ได้" เขากล่าว

นอกจากนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมยังคาดว่า การฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นอาจต้องใช้เวลานานกว่าสิบปี


เหตุใด ปธน.ปูติน จึงไม่พอใจอย่างรุนแรง

https://i1198.photobucket.com/albums...psiiirtsp0.jpg
ปธน.ปูตินแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง ที่มีการรายงานเหตุน้ำมันรั่วไหลล่าช้าถึง 2 วัน ในระหว่างการประชุมของรัฐบาล Image copyright EPA

ประธานาธิบดีปูติน แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง หลังตรวจสอบพบว่า โรงงานไฟฟ้าในเครือบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล รายงานเหตุน้ำมันรั่วไหลล่าช้าไปถึง 2 วัน ส่งผลให้ผู้อำนวยการโรงงานไฟฟ้าถูกควบคุมตัว ขณะที่ทางการรัสเซียได้เปิดการสอบสวนคดีอาญาในความผิดฐานประมาทเลินเล่อ และการละเมิดกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

คะแนนนิยมของประธานาธิบดีปูตินกำลังดำดิ่งสู่ระดับต่ำสุด หลังจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำลง รวมทั้งการที่คนรัสเซียจำนวนมากมองว่ามาตรฐานชีวิตของพวกเขากำลังย่ำแย่ลงทุกขณะ

ก่อนจะถึงการลงประชามติเพื่อปฏิรูปรัฐธรรมนูญของรัสเซีย ซึ่งจะเปิดทางให้นายปูตินลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้อีกสมัย และจะทำให้เขาอยู่ในอำนาจต่อไปได้จนถึงปี 2036 นายปูติน จึงมีความต้องการอย่างยิ่งที่จะพิสูจน์ให้ประชาชนชาวรัสเซียได้เห็นว่าเขาเป็นผู้นำที่ทำงานมีประสิทธิภาพ และยังสามารถกุมอำนาจไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ด้วยเหตุนี้ ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมจึงอาจเป็นบททดสอบที่ยากเย็นที่สุดในการจัดการสำหรับรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล ซึ่งบางคนชี้ว่าเป็นการใช้อย่างไม่รอบคอบนัก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา


https://www.bbc.com/thai/international-52964649




เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:48

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger