SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรรพชีวิตแห่งท้องทะเล (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=8)
-   -   เรื่องน่ารู้ของวาฬบรูด้า (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=1190)

สายน้ำ 13-10-2010 07:46

เรื่องน่ารู้ของวาฬบรูด้า
 

เรื่องน่ารู้ของวาฬบรูด้า ........ โดย ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์


http://pics.manager.co.th/Images/553000015147401.JPEG


ช่วงนี้ไปไหน ใครๆก็ถามผมแต่เรื่องวาฬที่เข้ามาในอ่าวไทย เป็นยังไง ? ตัวใหญ่ไหม ? โชว์ท่าทางอะไรบ้าง ? ผมจึงขอคั่นจังหวะการพาหวานใจไปปารีสสักหนึ่งตอน กลับมาพาหวานใจไปดูวาฬไทยบ้าง แต่เพื่อให้บทความแตกต่างจากงานเขียนของท่านอื่น ๆ ผมจะไม่เล่าประสบการณ์ในการไปดูวาฬ แต่จะเจาะลึกข้อมูลประเภทคำถามคำตอบ โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยตามดูวาฬมาตั้งแต่ครั้งทำงานที่ทะเลบ่อนอก (พ.ศ.2544) ต่อเนื่องถึงครั้งนี้ที่ทะเลอ่าวไทยตอนในครับ

...

วาฬคืออะไร ? วาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ไม่ใช่ปลา บรรพบุรุษของวาฬเคยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอยู่บนบกเมื่อกว่า 45 ล้านปีมาแล้ว แต่กลับลงไปอาศัยอยู่ในน้ำอีกครั้ง ปัจจุบัน วาฬสีน้ำเงินคือสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลก ความยาวเกิน 30 เมตร น้ำหนักกว่า 100 ตัน

วาฬแบ่งเป็นกี่กลุ่ม ? วาฬกับโลมาเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกัน แบ่งกันด้วยลักษณะฟัน โลมาและวาฬบางชนิด เช่น วาฬเพชฌฆาต เป็นวาฬมีเขี้ยว หากินโดยใช้การกัด วาฬสีน้ำเงินและวาฬอีกเกือบสิบชนิดเป็นวาฬบาลีน หรือวาฬที่มีฟันเป็นซี่กรอง หากินโดยการกรองน้ำจับเหยื่อ

วาฬในอ่าวไทยคือชนิดไหน ? ในเมืองไทยมีวาฬหลายชนิด แต่ชนิดที่พบบ่อยสุดและที่เป็นข่าว คือ Bryde’s Whale คำนี้เป็นภาษาดัตช์ อ่านว่า “บรูด้า” ความยาว 12-17 เมตร น้ำหนักมากกว่า 40 ตัน เมื่อเทียบความยาว จัดอยู่ในอันดับ 4-5 เมื่อเทียบน้ำหนัก จัดอยู่ในกลุ่มที่มีน้ำหนักน้อย เนื่องจากมีรูปร่างเพรียว วาฬชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่สันกลางหัว จำนวน 3 สัน (บางกลุ่มมีอีก 2 สัน แต่เห็นไม่ชัดเจน)

วาฬเข้ามาทำอะไร ? วาฬเป็นสัตว์อพยพ เคลื่อนที่ไปตามจุดต่าง ๆ ในแต่ละฤดูกาล บางกลุ่มอพยพเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร เช่น วาฬ Right Whale ในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เมื่อวาฬคลอดลูก วาฬจะพาเข้าใกล้ฝั่งเพื่อหลีกหนีผู้ล่ากลางทะเลเปิด อีกทั้งยังสอนลูกให้รู้จักล่าเหยื่อ นั่นคือสาเหตุประการแรก อีกสาเหตุคือวาฬตัวผู้หรือวาฬตัวเมียที่ไม่มีลูก เข้ามาในพื้นที่นี้เพื่อการล่าเหยื่อ อันได้แก่ ฝูงปลากระตัก

วาฬกินปลาเท่านั้นหรือ ? วาฬบาลีนทุกชนิดกินแพลงก์ตอน บางชนิดกินเฉพาะแพลงก์ตอนขนาดใหญ่ เช่น Krill (ลักษณะเหมือนกุ้ง ขนาดยาว 10 เซนติเมตรหรือมากกว่า) แต่วาฬบางชนิดมีพฤติกรรมกินปลาด้วย เช่น วาฬหลังค่อม การกินปลาช่วยให้วาฬได้รับอาหารจำนวนมาก ถือเป็นช่วงสำคัญ วาฬบางชนิดหรือบางกลุ่มจึงมีการอพยพตามฝูงปลา

วาฬบรูด้ามีพฤติกรรมกินปลา ในช่วงเวลาอื่น วาฬอาจแยกย้ายหากินตามลำพัง ไม่ค่อยอยู่รวมกัน แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม วาฬมักเข้ามาใกล้ฝั่งอ่าวไทยตอนใน ตั้งแต่ชายฝั่งสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี เรื่อยลงไปจนถึงประจวบคีรีขันธ์ แต่จะมีพื้นที่เฉพาะบางบริเวณที่วาฬมารวมตัวหากิน เช่น บ่อนอก แหลมผักเบี้ย บางตะบูน โคกขาม ฯลฯ โดยมีการเคลื่อนที่ตามฝูงปลา นอกจากนี้ กลุ่มปลาที่วาฬกินอาจไม่เหมือนกัน เมื่อวาฬเข้ามาบ่อนอก วาฬกินปลาขนาดกลาง เช่น ปลาอกแล แต่เมื่อวาฬเข้ามาใกล้ปากน้ำแม่กลอง วาฬกินปลาขนาดเล็กกว่า เช่น ปลากระตัก

ทำไมวาฬเข้ามาพื้นที่บริเวณนี้ ? คำถามข้อนี้ตอบยากครับ ด้วยข้อมูลที่มี ผมคาดว่า เมื่อถึงปลายฝนต้นหนาว น้ำเหนือไหลบ่าสู่ทะเล ทำให้ธาตุอาหารมีมาก กอปรกับสภาพภูมิอากาศ ทำให้แพลงก์ตอนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แพลงก์ตอนเป็นอาหารของปลา ทำให้ฝูงปลาเล็กเคลื่อนที่เข้ามา นอกจากนั้น ผมยังคิดถึงปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ทำให้ปลามึน วาฬอาจมีโอกาสจับง่ายขึ้น แนวคิดนี้มาจากข้อมูลว่า ในปีนี้ ชาวบ้านพบวาฬเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 สิงหาคม ในระหว่างเหตุการณ์น้ำเขียวปลาน้อค แกนนำชาวบ้านออกไปเก็บตัวอย่างน้ำ ก่อนพบวาฬเข้ามาหากินเกือบถึงริมฝั่ง

วาฬมีกี่ตัว ? จากข้อมูลที่รวบรวมมา คาดว่ามีวาฬ 14-18 ตัว ในจำนวนนี้ มีวาฬแม่ลูก 4 คู่ ที่เหลือเป็นวาฬเต็มวัย มีอย่างน้อย 1 คู่ที่เป็นวาฬเต็มวัยว่ายอยู่คู่กัน วาฬพบตั้งแต่ระยะห่างฝั่งเพียง 1 กิโลเมตร น้ำลึก 4-5 เมตร จนถึงระยะห่างฝั่ง 30 กิโลเมตร น้ำลึก 17 เมตร

วาฬทำอะไรบ้าง ? ผมพบพฤติกรรมต่างๆ ได้แก่ ลอยตัวพักผ่อน (Resting - ความเร็ว 1-5 กม.ต่อชม.) ว่ายน้ำไปมา (Traveling - เร็ว 15-25 กม.ต่อชม.) หายใจในทุก 3-10 นาที (Breathing) นานๆครั้งอาจกระโดด (Jumping) หากเป็นลูกวาฬ อาจมีการเล่นซนตามประสา (Playing) พฤติกรรมเด่นที่กินใจคนไทยทั้งประเทศ คือลีลาการกินปลา แบ่งเป็นท่าพ่นฟองอากาศ (Bubble Net) และท่าแทงปลา (แทงปลา - ภาษาชาวบ้าน - Lunging)

หาดูยากไหม ? หากเทียบการดูวาฬในอ่าวไทยกับประเทศอื่นที่ผมเคยไป จุดเด่นของเรามี 2 ประการ อย่างแรกคือทะเลเรียบน้ำนิ่งเกือบตลอดเวลา ไม่เมาคลื่น จุดเด่นอีกประการคือน้ำนิ่งทำให้เห็นพฤติกรรมชัดเจน โดยเฉพาะ Bubble Net หรือฟองอากาศที่วาฬปล่อยมาเรียงกันเพื่อต้อนปลา ผมเห็นในทะเลชัดกว่าในสารคดีเรื่องใดที่เคยดู สำหรับท่าแทงปลาหรือ Lunging หาดูยากมากในเมืองนอก แต่ของบ้านเราเห็นกันสะใจวัยรุ่น บางทีวาฬแทงขึ้นมาสามสี่ตัวพร้อมกัน ยังมีลีลาแม่แทงก่อนลูกแทงตาม เป็นการสอนลูกวาฬให้รู้จักการจับปลาครับ

วาฬจะอยู่อีกนานไหม ? จากประสบการณ์ครั้งล่าสุด ฝูงปลาเริ่มมีน้อยลง อาจเป็นเพราะคุณภาพน้ำเริ่มเปลี่ยนแปลง วาฬเข้ามาจับปลามากจนแตกเป็นฝูงย่อย หรือเป็นเพราะกิจกรรมของมนุษย์ แต่ใจผมเชื่อว่าคงเป็นหลายสาเหตุร่วมกัน ทำให้วาฬเริ่มแทงปลาน้อยลง บางตัวว่ายน้ำออกไปจากบริเวณนี้ คาดว่าวาฬส่วนใหญ่คงอพยพออกไปในไม่ช้า

แล้วจะเห็นได้อย่างไร ? รอปีหน้าสิครับ จากข้อมูลเราทราบว่า วาฬเข้ามาหากินทุกปี (เริ่มพบในปี 50 แต่ก่อนหน้านั้นคงมีอยู่แล้ว) ปรกติมีแค่สี่ห้าตัว แต่ปีนี้พิเศษหน่อย วาฬเข้ามามาก อีกทั้งยังแทงปลากันสนุกสนาน จนกลายเป็นข่าวฮือฮา ถ้าปีนี้พลาดแล้ว แนะนำคอยปีหน้าช่วงนี้ ลองให้เช็คข่าวสักนิด เสร็จแล้วค่อยเช่าเรือออกไปดูวาฬ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีครับ

การไปดูวาฬมีผลกระทบไหม ? ขึ้นกับพฤติกรรมของวาฬ ปริมาณอาหาร ขนาดของเรือ ปริมาณของเรือ และวิธีการนำเรือเข้าติดตามดูวาฬ กฎเกณฑ์ในการดูวาฬแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ผมไม่อาจตอบได้ในขณะนี้ แต่อยากแนะนำแบบกันเหนียว (เข้าข้างวาฬมากกว่าคน) หากวาฬกำลังว่ายน้ำหรือพ่นฟอง เรือเราแล่นอยู่ ไม่ควรเข้าใกล้ในระยะเกิน 100-200 เมตร (เรือเล็กเรือใหญ่) แต่ถ้าเห็นวาฬแทงปลา นำเรือเข้าไปในระยะ 50-100 เมตร จากนั้นเดินเครื่องเบาเข้าเกียร์ว่างทันที เกณฑ์นี้อาจใช้ชั่วคราวได้ แต่เราจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลมาศึกษาและตกลงร่วมกันครับ

หมายเหตุ - ขอบคุณกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคุณวรพล ดวงล้อมจันทร์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติมหาชัยฝั่งตะวันออก สำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์มหาศาลครับ




จาก ........... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 ตุลาคม 2553

สายน้ำ 13-10-2010 07:50


ตามดูวาฬบรูด้า ............ โดย วินิจ รังผึ้ง


http://pics.manager.co.th/Images/553000015159901.JPEG


ช่วงนี้ข่าววาฬบรูด้าเข้ามาป้วนเปี้ยนหากินอยู่แถวๆชายฝั่งแหลมผักเบี้ย บางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี ได้สร้างความคึกคักให้กับท้องทะเลบริเวณนั้นเป็นอย่างยิ่ง แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยว นักดูนก นักดูปลา เดินทางมาเหมาเรือออกไปตามดูวาฬบรูด้ากันวันละมากมายหลายลำ เป็นการสร้างรายได้ กระจายเม็ดเงินลงไปสู่ชาวบ้านจำนวนมาก ความจริงข่าวการพบวาฬบรูด้านั้นมีมาเป็นระยะๆ ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง ทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและทะเลฝั่งอันดามัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีที่ไหนและครั้งใดจะมีความคึกคักและมีผู้คนให้ความสนใจเท่ากับครั้งนี้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการพบวาฬบรูด้าในพื้นที่อื่นๆ เป็นการพบเห็นชั่วครั้งชั่วคราว ชาวบ้าน ชาวเรืออาจจะพบกันวันสองวันหรืออยู่เป็นสัปดาห์แล้วก็หายไปไม่พบอีก ซึ่งจะมีการพบเห็นบ่อยๆและยาวนานครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ก็ที่บ้านบ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์ ที่นั่นก็มีคนไปดูและถ่ายภาพมาได้บ้างเหมือนกัน แต่วาฬบรูด้าก็ไม่ได้อยู่นานและขึ้นมาโชว์ตัวกันอย่างถึงใจเหมือนครั้งนี้

ชาวประมงพื้นบ้านแถวบางตะบูนบอกว่าพบวาฬบรูด้าฝูงนี้มาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมแล้ว และก็ยังคงวนเวียนกินฝูงปลากะตักอยู่ไม่ไกลฝั่งยาวนานมาจนถึงวันนี้ นั่นจึงทำให้เกิดเป็นข่าวเผยแพร่ออกไปทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์และทางทีวี จนทำให้เกิดการรับรู้ของผู้คนและเกิดเป็นกิจกรรมพาคนไปลอยเรือดูวาฬเหมือนอย่างในต่างประเทศเขาทำกัน ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกและเป็นแห่งแรกของเมืองไทยก็ว่าได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็น่าจะมาจากการที่ปีนี้มีปริมาณฝนตกลงมามาก ปริมาณน้ำจืด ตะกอนดิน และอินทรีย์สารต่างๆจากบนผืนแผ่นดินก็ไหลลงไปสู่ทะเลใกล้ชายฝั่งเป็นจำนวนมาก อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ชาวบ้านเรียกว่า “ช่วงน้ำเบียด” หรือช่วงที่น้ำจืดหลากไหลลงไปชนกับน้ำเค็มจนเกิดการขยายตัวของแพลงก์ตอนในท้องทะเลขึ้นมากมายใกล้ชายฝั่ง ซึ่งแพลงก์ตอนจำนวนมากมายเหล่านี้ก็จะเป็นตัวดึงให้ฝูงปลาขนาดเล็กจำพวกปลากะตักที่มีจำนวนมากมายมหาศาลในท้องทะเล อพยพเข้ามากินแพลงก์ตอน ฝูงปลากะตักและปลาเล็กๆเหล่านี้ก็เป็นตัวดึงปลาใหญ่และเจ้าวาฬบรูด้าที่ชื่นชอบการกินปลากะตักอย่างยิ่งให้เดินทางเข้ามาอ้าปากไล่ช้อนฝูงปลากะตักกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินจนไม่ยอมหนีไปไหน

ความจริงนักชีววิทยาทางทะเลบอกวาฬบรูด้านั้นเป็นวาฬชนิดที่หากินอยู่ประจำพื้นที่ ไม่ใช่นักเดินทางไกลไปทั่วท้องทะเลหรือข้ามมหาสมุทรไกลๆเหมือนวาฬชนิดอื่นๆ บางคนก็เลยบอกว่าเป็นวาฬประจำถิ่นแถวๆแหลมผักเบี้ย บางตะบูนเสียเลย ซึ่งผมมีความเห็นว่าคำว่าหากินประจำถิ่นของเจ้าวาฬบรูด้านั้นมันคงไม่ใช่วนเวียนอยู่แค่อ่าวใดอ่าวหนึ่งหรือรอบๆเกาะใดเกาะหนึ่งเท่านั้น แต่อาณาเขตหากินของมันก็คงต้องเป็นร้อยๆตารางกิโลเมตรนั่นแหละ ประเภทหากินประจำถิ่นวนเวียนอยู่ในอ่าวไทยอะไรทำนองนั้น และที่เป็นลักษณะพิเศษของวาฬบรูด้าในท้องทะเลไทยนั้น นักชีววิทยาทางทะเลจากต่างประเทศได้ให้ความสนใจและตั้งข้อสังเกตว่ามันมีขนาดเล็กกว่าวาฬบรูด้าที่พบตามท้องทะเลอื่นๆของโลก ซึ่งอาจจะสามารถแยกเป็นวาฬบรูด้าชนิดใหม่ของโลกก็มีทางเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องมีการศึกษาวิจัยกันให้ได้รายละเอียดมากกว่านี้


http://pics.manager.co.th/Images/553000015159902.JPEG


หลายคนอาจจะสนใจไปล่องเรือดูวาฬบรูด้าก่อนที่มันจะออกทะเลไกลไปเสีย ก็อยากให้มาลองทำความรู้จักกับวาฬบรูด้ากันก่อน ซึ่งความจริงสัตว์จำพวกวาฬหรือที่หลายๆคนเรียกปลาวาฬนั้น แม้นจะมีรูปร่างมีครีบมีหางและอาศัยอยู่ในทะเลเหมือนปลา แต่มันก็ไม่ใช่ปลาแต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกับคนอย่างเรา วาฬเป็นสัตว์เลือดอุ่น ไม่ได้เป็นสัตว์เลือดเย็นเหมือนกับปลา ทั้งยังหายใจโดยใช้ช่องจมูกหายใจเอาอากาศเข้าไปสู่ปอดไม่ได้ใช้เหงือกกรองเอาอ๊อกซิเจนในน้ำเหมือนปลา ดังนั้นวาฬจึงจำเป็นต้องโผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ โดยเมื่อวาฬโผล่ช่องหายใจที่อยู่ส่วนบนของหลังขึ้นพ้นผิวน้ำ มันก็จะต้องพ่นน้ำออกให้หมดจากท่อหายใจเหมือนกับตอนที่เราดำน้ำด้วยท่อสนอร์เกิ้ลเมื่อโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำก็ต้องเป่าพ่นน้ำที่ค้างอยู่ในท่อออกให้หมดก่อนจะสูดหายใจเข้าไป เราจึงเห็นวาฬพ่นน้ำเกือบทุกครั้งที่มันโผล่ขึ้นมาหายใจ วาฬนั้นจะตั้งท้องแล้วออกลูกเป็นตัว ไม่ได้ออกลูกเป็นไข่เหมือนปลา โดยวาฬบรูด้านั้นจะตั้งท้องราว 1 ปี และคลอดลูกออกมามีขนาดลำตัวยาวราว 2-3 เมตร แม่วาฬจะว่ายน้ำคลอเคลียพยุงลูก ดันตัวขึ้นมาให้หัดหายใจ และให้นมจากเต้าที่อยู่บริเวณใต้ครีบกับลูกอ่อน และจะเลี้ยงดูให้นมลูกไปประมาณ 1 ปีซึ่งใกล้เคียงกับมนุษย์เรา วาฬบรูด้านั้นเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดยาว 14-15 เมตร มีน้ำหนักตัวราว 20-25 ตันเลยทีเดียว และจะมีอายุยืนยาวได้ถึงราว 50 ปี สิ่งที่สัตว์จำพวกวาฬและโลมาซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีความแตกต่างจากปลาอีกอย่างก็คือ วาฬและโลมามีแพนหางราบขนานกับพื้น ไม่ได้ตั้งขึ้นเหมือนปลา และใช้แพนหางโบกกระพือว่ายน้ำขึ้นลงทางแนวตั้ง ไม่ได้ส่ายหางไปมาด้านข้างเหมือนกับปลา

วาฬบรูด้านนั้นจัดเป็นวาฬขนาดกลาง ลำตัวมีสีเทาเข้มรูปทรงยาวเรียวเพียวน้ำ ใต้ท้องมีสีจางกว่า ส่วนหัวเรียวแหลมแผ่กว้างบนหัวมีแนวสัน 3 สันยาวไปจนถึงช่องหายใจ ด้านล่างของปากบริเวณใต้คางไปจนถึงท้องจะมีแนวร่องยาวเรียงกันราว 40-70 ร่อง เหมือนเป็นรอยพับของหีบเพลงที่สามารถจะคลี่ขยายออกมาเป็นถุงอวนขนาดใหญ่เวลาที่วาฬบรูด้าปากกว้างฮุบน้ำที่เต็มไปด้วยฝูงปลาขนาดเล็กเข้าไปในถุงใต้ปาก โดยวาฬบรูด้าเป็นวาฬที่ไม่มีฟัน แต่จะมีแผงกรองที่เรียกว่าบาลีน(Baleen) ซึ่งเป็นเส้นกรองเรียงถี่ๆคล้ายกับแปรงหรือหวีเรียงรายอยู่ในปากราว 250-370 แผ่น แผ่นกรองเหล่านี้จะเป็นตัวดักปลาและอาหารเล็กๆ ไว้ตอนที่มันพ่นน้ำที่ฮุบออกมาจากปาก ปรกติจะพบวาฬบรูด้าครั้งละ 1-2 ตัว แต่ที่แหลมผักเบี้ยและบางตะบูน เพชรบุรีนี้ มีการพบรวมกันบริเวณนั้นนับสิบตัวเลยทีเดียว

แม้นจะตื่นเต้นกับกิจกรรมดูวาฬกันเป็นล่ำเป็นสันครั้งแรกในประเทศไทย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่ต้องขอเตือนกันไว้ก่อนก็คือ เรื่องของความปลอดภัยของท่านที่จะออกไปลอยเรือดูวาฬบรูด้า สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงก็คือ สภาพอากาศ เช่นต้องเช็คดูให้แน่นอนเสียก่อนว่าวันที่จะออกไปดูนั้นคลื่นลมสงบเงียบดีไหม ถ้าทะเลปั่นป่วนมีคลื่นลมก็อย่าออกไปเสี่ยงเลยครับ เพราะจุดที่จะไปดูวาฬนั้นอยู่กลางทะเล ไม่มีที่หลบคลื่นลม ต้องไปลอยลำให้คลื่นโยนไปมาให้เกิดความเสี่ยงหรือเกิดอาการเมาคลื่นเล่นเสียเปล่าๆ และทะเลที่มีคลื่นนั้นก็ยากจะสังเกตเห็นวาฬที่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ ไม่เหมือนกันช่วงทะเลเรียบๆ โผล่ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลๆอย่างชัดเจน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากอันดับถัดมาก็คือ ขนาดของเรือที่ออกไปจะต้องไม่เล็กจนเกินไป เพราะแล่นออกห่างจากฝั่งราวชั่วโมงเศษ และอาจจะแล่นหรือลอยลำหาจุดที่ปลาขึ้นเป็นเวลานานถึง 3-4 ชั่วโมงก็มี และเรือที่ออกไปต้องมีชูชีพสำหรับผู้โดยสารทุกคน ประเภทไม่เป็นไรหรอกทะเลเรียบไม่ต้องมีชูชีพก็ได้นั้นอย่าไปใช้บริการอย่างเด็ดขาด อย่าเอาชีวิตไปเสี่ยงครับ และสุดท้าย การเข้าไปดูวาฬบูด้านั้น ควรเคารพกฎกติกาที่จะไม่ไปรบกวนวาฬมากนัก เมื่อพบแล้วควรจอดเรือลอยลำอยู่ด้านเดียวกันในระยะห่างราว 300 เมตรขึ้นไป เพราะจะได้ไม่ไปกดดันให้วาฬต้องตื่นหนี หรือเข้าไปใกล้จนทำให้ฝูงปลากะตักที่วาฬได้ตีวงล้อมไล่ต้อนให้มารวมกันก่อนที่จะฮุบเหยื่อแตกหนีไปเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ซึ่งวาฬจะอดอาหารจานโปรดเสียเปล่าๆ และในที่สุดก็จะหนีออกไปให้ไกลๆ ก็จะอดดูกัน หรือหากทำให้มันรู้สึกว่าบริเวณนี้ถูกรบกวนมากและดูไม่ปลอดภัย ปีหน้ามันอาจจะไม่เข้ามาอีกเลยก็เป็นได้ ฉะนั้นก็ขอให้ใช้ความระมัดระวังกันหน่อยทั้งเจ้าของเรือและผู้ที่จะเข้าไปดู เพื่อให้กิจกรรมของคนและวิถีชีวิตของวาฬดำเนินไปได้ด้วยกันอย่างมีความสุขทั้งสองฝ่าย




จาก ........... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 12 ตุลาคม 2553

สายน้ำ 13-10-2010 07:52


ทช.ศึกษาพบวาฬบรูด้าตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนจำนวนมาก แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศึกษาพบวาฬบรูด้าตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนจำนวนมาก แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร พร้อมขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวปฏิบัติตามคำแนะนำในการชมวาฬบรูด้าที่ถูกต้อง ป้องกันการรบกวน

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาวาฬบรูด้าในอ่าวไทยของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า วาฬบรูด้าอพยพเคลื่อนย้ายตามแหล่งอาหารและฤดูกาลมาในพื้นที่อ่าวไทย ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ ชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม จนถึงจังหวัดเพชรบุรี พบได้ง่ายที่แหลมผักเบี้ย และบางครั้งอาจพบได้บริเวณชายฝั่งของจังหวัดชลบุรี โดยพบห่างจากฝั่งตั้งแต่ 4-30 กิโลเมตร พบมากที่สุดในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนจำนวน 20-25 ตัว โดยที่พบครั้งแรกในปีนี้เป็นวาฬบรูด้าคู่แม่ลูกเข้ามากินอาหาร คือปลาขนาดเล็กในกลุ่มของปลากะตัก และพบวาฬบรูด้าจากการสำรวจ 1 ครั้ง 1 วัน มากที่สุดถึง 18 ตัว จากปกติพบครั้งละ 1-3 ตัว ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร อย่างไรก็ตาม การนำนักท่องเที่ยวลงเรือประมงไปสังเกตวาฬบรูด้า ขอให้ชะลอเครื่องยนต์หรือดับเครื่องยนต์เมื่ออยู่ใกล้วาฬบรูด้า และควรอยู่ห่างในรัศมี 100-300 เมตร

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวด้วยว่า วาฬบรูด้าแม่ลูกอ่อน จะคอยปกป้องลูก แม้ไม่ใช่สัตว์ดุร้าย แต่ถ้าเรือเข้าใกล้มาก อาจโดนกระแทกได้จึงต้องป้องกันให้นักท่องเที่ยวสวมเสื้อชูชีพในการชมวาฬบรูด้า ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์สัตว์หายาก และต้องอนุรักษ์ไว้ โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้และจัดทำคู่มือแก่ชาวประมงที่เป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้า เพื่อแนะนำข้อควรปฏิบัติในการดูวาฬบรูด้าที่ถูกต้อง และไม่ให้เป็นการรบกวนหรือคุกคามวาฬบรูด้าจนเกินไป




จาก ........... สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 12 ตุลาคม 2553

-Oo- 13-10-2010 09:54

น่ารักจัง
แต่ไม่มีโอกาสได้ไปดุ (แปลว่าอยากดู...5555)


ขอบคุณข้อมูลดีๆ ค่ะ

สายน้ำ 15-10-2010 08:46


สกัดคุกคาม"วาฬบรูด้า" ทช.ออกกฎป้องกันเข้ม / วอนนักท่องเที่ยวอย่าเข้าใกล้มากเกินไป


นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ทช. ได้ใช้เรือเฝ้าศึกษาติดตามการอพยพเคลื่อนย้ายของวาฬบรูด้าในอ่าวไทยตลอดทั้งปี พบว่าวาฬบรูด้ามีการอพยพเคลื่อนย้ายตามแหล่งอาหารและฤดูกาล โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนบนพบวาฬบรูด้าได้ตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ ชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน กทม. สมุทรสาคร สมุทรสงคราม จนถึงเพชรบุรี และบางครั้งอาจจะพบได้บริเวณชายฝั่งทะเลของ จ.ชลบุรี โดยพบห่างจากฝั่งตั้งแต่ 4 - 30 กิโลเมตร ประชากรวาฬบรูด้าที่พบในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนมีจำนวน 20-25 ตัว แต่โดยทั่วไปจะพบครั้งละ 1-3 ตัว สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่พบบ่อยอยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี

ส่วนกรณีที่นักท่องเที่ยวแห่มาชมวาฬบรูด้าเป็นจำนวนมากจนชาวประมงพื้นบ้านหันมาประกอบอาชีพพานักท่องเที่ยวออกไปชมวาฬบรูด้านั้น นายเกษมสันต์ กล่าวว่า ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ออกมาตรการเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ที่พบวาฬบรูด้า รวมทั้งกำชับให้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการล่าหรือทำร้ายวาฬบรูด้า

นอกจากนี้ ทช. ยังได้จัดการอบรมให้ความรู้และจะจัดทำหนังสือคู่มือแก่ชาวประมงที่เป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้า เพื่อแนะนำข้อควรปฎิบัติในการดูวาฬบรูด้าที่ถูกต้อง และไม่ให้เป็นการรบกวนหรือคุกคามวาฬบรูด้าจนเกินไป เช่น ไม่ควรนำเรือเข้าใกล้มากกว่ารัศมี 300 เมตรจากปลาวาฬ หากปลาวาฬว่ายเข้าใกล้เรือ ควรดับเครื่องยนต์ หรือไม่เปลี่ยนทิศทางและความเร็วเรืออย่างกระทันหัน หากต้องการเคลื่อนเรือต้องให้ห่างจากวาฬอย่างน้อย 100 เมตร ไม่ควรใช้ความเร็วเกิน 4 น็อต ในรัศมี 100-300 เมตร หากวาฬว่ายน้ำอย่างเร็วออกจากตำแหน่งที่สังเกต ไม่ควรเร่งเครื่องยนต์เพื่อติดตามในทันที เพราะจะทำให้ปลาวาฬตื่นตกใจ เพราะวาฬสื่อสารกันด้วยคลื่นเสียง ดังนั้นเสียงรบกวนต่างๆ ทั้งจากเหนือน้ำและใต้น้ำจะส่งผลรบกวนปลาวาฬ จึงไม่ควรกระทำการใดๆให้เกิดเสียงดัง




จาก ........... แนวหน้า วันที่ 15 ตุลาคม 2553

koy 15-10-2010 09:36

ยอมรับว่าอยากไปดู แต่อีกใจก็นึกถึงภาพขบวนเรือแห่กันไปกวนพวกเขา ก็เลยได้แต่คิด

สายน้ำ 15-10-2010 10:31


ผมเองก็ยอมรับเหมือนน้องก้อยว่าอยากตามไปดูเหมือนกันครับ แต่นึกถึงภาพขบวนเรือที่แล่นวนไปมาแล้ว ไม่ไปดีกว่า รอดูภาพที่คนอื่นเค้าถ่ายมาให้ดูแทน

เคยไปดูโลมาที่ปากแม่น้ำบางปะกง ครั้งแรกไปวันธรรมดา ไม่ค่อยมีเรือ จะมีโอกาสได้เห็นโลมาเยอะมาก แต่พออีกครั้งไปวันเสาร์-อาทิตย์ เรือออกกันเพียบ วิ่งไล่ตามโลมาไปๆมาๆ โลมาเลยหลบหมด

เที่ยวนี้ เลยยอมอดใจ ไม่ไปดีกว่าครับ


หอยกะทิ 15-10-2010 16:48

ท่องเที่ยวเชิง (ทำลายหรือรบกวน) นิเวศ คนส่วนใหญ่จะชอบเป็นกระแสเดี๋ยวก็จะเงียบไปเองครับ แต่กว่าจะเงียบบางที่ก็พังหมด ขึ้นกับรัฐว่าจริงจังขนาดไหน ไม่ได้หน้าแล้วจะยอมทำมั๊ย (เด็กๆคงทำแต่รัฐมนโทถึงจัตตะวาคงไม่เอาด้วย) และที่สำคัญ คนในพื้นที่ คนที่ทำมาหากินกับทรัพยากรตรงนั้นจะมีความรู้และจิตสำนึกสูงกว่าเสียงท้องร้องหรือไม่

เคยเห็นและประสบกับตัวถึงภาพฝูงเรือแห่กันไล่ตามวาฬและโลมา เพื่อจะสนองความต้องการนักท่องเที่ยว ผมเป็นโลมาคนกลัวจนเอาหางไปจุกตู... แม้แต่เรือของรัฐเองยังทำเลยในบางครั้งที่ผมเจอมา จนผมเห็นพี่ๆที่เคารพบางคนก็ต้องตักเตือนเรือของพวกเดียวกันเหมือนกัน

มันน่ารักใครก็อยากดู เป็นแม่เหล็กทางการท่องเที่ยวที่ไม่มีอะไรแทนได้ แค่นี้รัฐบาลยังคิดไม่ออกอีกว่าจะอนุรักษ์ทำไม เพราะเขาคิดแค่ว่ากินได้ไหม (ไม่รู้หมายถึงเขาจะกินได้ไหมหรืออะไร น่าคิด???)

ไอ_นุ! 15-10-2010 18:39

วางแผนว่าจะไปดู แต่ท่าทางใกล้หมดฤดูแล้วแฮะ..

แม่หอย 17-10-2010 10:20

ไปดูมาเมื่อวานนี้เองค่ะ .. ได้เห็นแล้วก็น่ารักดีมาก ทั้งปลาวาฬ และคนที่ไปชม เพราะไม่เจอขบวนเรือแห่ไล่ล่าอย่างที่บางปะกง แต่เรือที่เห็น 6-7 ลำ ต่างจอดลอยลำคอยดูอยู่ห่างๆ ไม่มีโหวกเหวกโวยวาย มีพวกมือกล้องมืออาชีพมาพร้อมกล้องโตขนาดปืนใหญ่ ไม่รู้ได้ภาพสวยๆ กันมากหรือเปล่า เพราะทะเลไม่เรียบแล้ว เจอคลื่นลมแรงน่าดู..
ไม่มีภาพสวยแจ่มอย่างมืออาชีพเขา ได้แต่เก็บความประทับใจภาพน้องวาฬโผล่ขึ้นมาแทงปลา พลิกตัวเห็นใต้คางสีชมพูเชียว


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:13

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger