SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 27 มกราคม 2564 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5435)

สายน้ำ 27-01-2021 04:02

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 27 มกราคม 2564
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สำหรับยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย ส่วนบริเวณภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อยในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆบางส่วน อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 27 - 28 ม.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนเป็นบางพื้นที่ ใน บริเวณภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็น สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อน

ส่วนในช่วงวันที่ 29 ม.ค. - 1 ก.พ. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ประกอบกับในช่วงวันที่ 29 - 30 ม.ค. 64 จะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 26 - 27 ม.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย ในช่วงวันที่ 28 ม.ค. ? 1 ก.พ. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย



https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

สายน้ำ 27-01-2021 04:42

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


พบไมโครพลาสติกในก้นมหาสมุทรแปซิฟิก! สัญญาณบอกอันตรายต่อห่วงโซ่อาหารมนุษย์ และระบบนิเวศทางทะเล

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
คูริล ? คัมชัตกาคู ร่องลึกในมหาสมุทรแปซิฟิกพบว่าเป็นกับดักไมโครพลาสติก (เครดิตภาพ: Wikimedia Commons)

งานวิจัยชิ้นล่าสุดจาก Senckenberg Research Institute & Natural History Museum โดย เซเลน่า มาร์ติน่า เอเบล และ ดร. แองเจลิก้า แบรนด์ จากการสุ่มเก็บตัวอย่างของเศษทรายบริเวณคูริล ? คัมชัตกา (Kuril-Kamchatka) ซึ่งเป็นร่องลึกของมหาสมุทรแปซิฟิก พบไมโครพลาสติกปะปน 14-209 ชิ้น ในพื้นผิวของเม็ดทราย 1 กิโลกรัม

งานวิจัยนี้เพื่อค้นหาปริมาณไมโครพลาสติกที่จมดิ่งลงและปนเปื้อนอยู่ในทะเล ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Pollution ระบุว่า ปริมาณเม็ดทรายพื้นผิวทุกๆ 1 กิโลกรัมจะมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ตั้งแต่ 14 ถึง 209 ชิ้น และในจำนวนดังกล่าวมีพลาสติกจำนวน 15 ชนิดที่แตกต่างกัน

"โลกผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันต่อปี และเราปฏิเสธไม่ได้ว่า มีปริมาณขยะพลาสติกจำนวนไม่น้อยที่หลุดลอยลงสู่ทะเล หรือเป็นพลาสติกที่สะสมอยู่ในพื้นที่ป่า ในรูปแบบของขยะ" จากข้อมูลของเอเบล มีเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในทุกที่ของมหาสมุทร ไม่เว้นกระทั่งก้นทะเลที่อยู่ลึกที่สุด

ทีมนักวิจัยต้องการสุ่มสำรวจว่าบริเวณร่องมหาสมุทรแปซิฟิก Kuril-Kamchatka ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของภูมิภาค ว่ามีปริมาณพลาสติกตกค้างมากแค่ไหน โดยตั้งจุดสำรวจบริเวณที่คาดว่าจะเป็นจุดลึกที่สุด และตั้งสมมติฐานว่าจุดนี้จะเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสพบไมโครพลาสติกในปริมาณมาก เนื่องจากอนุภาคเล็กๆที่ถูกคลื่นและน้ำทะเลพัดพามักจะตกตะกอนในบริเวณนี้ ดังนั้นจึงไม่ผิดที่จะบอกว่า บริเวณพื้นที่ร่องมหาสมุทรนี้เองที่เป็นหลุมดักพลาสติกขนาดยักษ์

ในจำนวนพลาสติก 15 ชนิดที่พบในบริเวณนี้นั้น มีพลาสติกจำพวก โพลีพริพโพลีน (PP) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของภาชนะบรรจุอาหาร และโพลีแอทธีลีน (PE) ที่พบมากกว่า 75% ของตัวอย่างที่สำรวจทั้งหมด และพบเส้นใยพลาสติกจำพวกโพลีเอสเตอร์ประมาณ 63% นอกจากนั้นนักวิจัยยังพบ อนุภาคของพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 375 ไมโครมิเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดไม่เกิน 125 ไมโครมิเตอร์ ซึ่งเป็นหน่วยที่มีความเล็กประมาณ 1/8 ของ 1 มิลลิเมตร

งานวิจัยจากสถาบันการศึกษา และองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับไมโครพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทะเล ระบุตรงกันว่า เศษพลาสติกเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ และระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง ซึ่งสิ่งมีชีวิตอาจจะบริโภคไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไปอย่างไม่รู้ตัวหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้มีอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบจากการปนเปื้อนของพลาสติกในระดับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาจเกิดความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ระบบย่อยอาหาร รวมถึงสารประกอบของพลาสติกบางตัว ยังส่งผลถึงระบบสืบพันธุ์ในสิ่งมีชีวิตได้ด้วยเช่นกัน

แม้ทั่วโลกมีการรณรงค์เรื่องการลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง แต่การสะสมของปัญหาที่กินระยะเวลาหลายทศวรรษไม่อาจสร้างสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้นได้ทันท่วงที ดังนั้นวิธีการแยกขยะ และลดการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นทางเลือกที่หลายประเทศเลือกใช้เพื่อให้สิ่งแวดล้อมของโลกเราไม่แย่ลงไปกว่านี้


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9640000008073


สายน้ำ 27-01-2021 04:45

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


เผยปริศนา"วาฬอำแพง "อายุกว่า 3,380ปี สะท้อนทะเลไทย อาจเคยมีวาฬขนาดยักษ์อยู่อาศัย

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
ส่วนสีแดงคือ ชิ้นส่วนที่ค้นพบกระดูกของวาฬอำแพง

25 ม.ค.63 - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงข่าว ?ทธ. เผยปริศนา...อายุวาฬอำแพง ย้อนเวลาสู่อดีตทะเลโบราณ? เผยได้นำชิ้นส่วนกระโหลกวาฬส่งพิสูจน์อายุพบว่า วาฬอำแพงมีอายุ 3,380 +/-30 ปี ถือว่ามีสภาพเป็นซากฟอสซิลสมบูรณ์ถึง 90% และพบซากชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ บาลีนและกระดูกหู ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี(ทธ.) เปิดเผยว่า จากการค้นพบโครงกระดูกวาฬอำแพง ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ได้ส่งตัวอย่างกระดูกบริเวณส่วนหัวกะโหลกที่แตกหัก 1 ชิ้นประมาณ 100 กรัม ไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14) ที่ห้องปฏิบัติการบริษัท เบต้า จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการชั้นนำด้านการหาอายุด้วยวิธีคาร์บอน 14 AMS ทราบว่า วาฬอำแพงมีอายุ 3,380 ปี +/-30 ปี หรือมีอายุมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อทางธรณีวิทยากับโบราณคดี โดยสามารถบ่งบอกสภาพแวดล้อมในอดีตได้ว่า เป็นช่วงที่เริ่มมีอารยธรรม พบสิ่งมีชีวิต หรือเริ่มเข้าสู่ในยุคอาณาจักรศรีวิชัย หลังจากนี้อาจจะสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและระดับน้ำทะเล ที่จะมีผลกระทบต่อที่ลาบลุ่มภาคกลางจะเป็นอย่างไรต่อไป

อธิบดี ทธ. กล่าวเพิ่มว่า เมื่อกลางเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการอนุรักษ์ตัวอย่างชิ้นสุดท้ายชิ้นที่ 128 คือ เฝือกส่วนกะโหลก และกระดูกหู 2 ข้าง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการจำแนกสายพันธุกรรมโบราณและวิวัฒนาการของวาฬ อีกทั้งยังเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย เพราะกระดูกหูถือว่าเป็นส่วนที่ค้นพบได้ยากมากๆ ยังพบบาลีนหรือ ส่วนขากรรไกรบน (ซ้าย-ขวา) กว้าง 40 เซนติเมตร และชิ้นส่วนนิ้วเพิ่มอีกจำนวน 3 ข้อ สรุปชิ้นตัวอย่างโครงกระดูกวาฬ จำนวนรวมทั้งสิ้น 138 ชิ้น และจะทำการศึกษาต่อไปถึงสรีระของวาฬ วิวัฒนาการของวาฬในอดีตเชื่อมโยงปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ณ ขณะนี้โครงกระดูกวาฬเพื่อทำการอนุรักษ์ตัวอย่าง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี และหากสถานที่ของทางจังหวัดสมุทรสาครที่จะนำชิ้นกลับไปดูแลอนุรักษ์ เป็นสมบัติของจังหวัด ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

ภายในงานเสวนา สภาพแวดล้อมบรรพกาลกับวาฬอำแพง นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การจำแนกชนิด"วาฬอำแพง" ชิ้นส่วนที่สามารถนำมาจำแนกได้ อย่าง ส่วนของกระดูกจมูก พบว่ากระดูกจมูกวาฬอำแพง ยังไม่มีความชัดเจน แต่ได้ให้น้ำหนักใกล้เคียงกับ วาฬบรูด้า ที่มีลักษณะโค้งงอและเส้นตรง แต่อีกส่วนที่สำคัญที่สามารถพิสูจน์ชนิดได้ คือด้านข้างของกะโหลก แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์เพราะกระโหลกมีความชำรุด

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ ที่น่าสนใจคือ มีการพบว่าวาฬอำแพง ที่มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับวาฬ Sei Whale แต่ทั้งนี้ขนาดของวาฬอำแพงเมื่อโตเต็มไวมีขนาดประมาณ 12.5 เมตร ซึ่งใหญ่กว่า วาฬบรูด้า แต่เล็กกว่าวาฬ Sei Whale ที่มีขนาด 15 เมตร อีกทั้งยังไม่พบการแพร่กระจายในประเทศไทย ดังนั้นยังคงไม่ข้อสรุปเรื่องชนิดวาฬ จะต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมที่อาจจะทำให้พบชนิดพันธุ์เพิ่มขึ้นได้


https://www.thaipost.net/main/detail/91069


สายน้ำ 27-01-2021 04:47

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


?วาฬอำแพง? อายุกว่า 3,000 ปี

กรุงเทพฯ 26 ม.ค. ? กรมทรัพยากรธรณีเผยผลตรวจหาอายุซากดึกดำบรรพ์ของวาฬซึ่งพบที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า มีอายุมากกว่า 3,000 ปี รวมทั้งเป็นหลักฐานสำคัญบ่งชี้ว่า ตำบลอำแพงในอดีตเป็นทะเลมาก่อน

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการอนุรักษ์ตัวอย่างชิ้นสุดท้ายชิ้นที่ 128 คือ เฝือกส่วนกะโหลก และกระดูกหู 2 ข้าง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการจำแนกสายพันธุกรรมโบราณและวิวัฒนาการของวาฬ อีกทั้ง ยังพบขากรรไกรบน (ซ้าย-ขวา) และชิ้นส่วนนิ้วเพิ่มอีก 3 ข้อ สรุปชิ้นตัวอย่างโครงกระดูกวาฬมีทั้งสิ้น 138 ชิ้นตัวอย่าง หลังจากการส่งตัวอย่างกระดูกวาฬอำแพงเพื่อวิเคราะห์หาอายุของวาฬ กรมทรัพยากรธรณีได้รับแจ้งจากห้องปฏิบัติการบริษัท เบต้า จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการชั้นนำด้านการหาอายุด้วยวิธีคาร์บอน 14 AMS ทราบว่า วาฬอำแพงมีอายุ 3,380 +/-30 ปี หรือมีอายุมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งผลอายุของกระดูกวาฬอำแพงได้นำไปสู่หลักฐานที่บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณตำบลอำแพงเป็นทะเลเมื่อประมาณ 3,380 +/-30 ปีก่อน ซึ่งเป็นผลให้สามารถอธิบายถึงสภาพนิเวศวิทยาโบราณที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเนื่องจากบริเวณเดียวกันยังพลซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์อื่นๆ ได้แก่ ฉลาม กระเบน หอยกาบคู่ หอยกาบเดี่ยว ทั้งยังช่วยเรื่องการลำดับชั้นตะกอนทะเลโบราณของที่ราบภาคกลางได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้การขุดค้นพบโครงกระดูกวาฬอำแพงเริ่มเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 หลังได้รับแจ้งจากบริษัท ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด พบโครงกระดูกวาฬในชั้นตะกอนดินเหนียว ที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยกรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจขุดค้นและศึกษาบริเวณพื้นที่โดยรอบ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563 จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายโครงกระดูกวาฬเพื่อทำการอนุรักษ์ตัวอย่างที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งการอนุรักษ์โครงกระดูกวาฬอำแพง ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563 โดยมีชิ้นตัวอย่างโครงกระดูกวาฬ 127 ชิ้นตัวอย่าง ขณะเดียวกันได้ส่งตัวอย่างกระดูกบริเวณส่วนหัวกะโหลกที่แตกหัก 1 ชิ้น ประมาณ 100กรัม ไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14)

กรมทรัพยากรธรณียังจัดประชุมวิชาการ เรื่อง ?สภาวะแวดล้อมบรรพกาลกับวาฬอำแพง? เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการกับภาคีเครือข่ายด้านซากดึกดำบรรพ์ที่ให้ความร่วมมือในการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ ประกอบด้วยหัวข้อ การสำรวจขุดค้นซากกระดูกวาฬโบราณ การศึกษาด้านธรณีวิทยาและตะกอนวิทยา ตลอดจนซากสิ่งมีชีวิตโบราณอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย รวมทั้งเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นนำไปสู่แนวทางด้านการสงวน การอนุรักษ์ การศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์และแหล่งซากดึกดำบรรพ์ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 เพื่อป้องกันการลักลอบขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ หรือขุดค้นโดยไม่ถูกหลักวิชาการ ทำให้ซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณค่าถูกทำลาย นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยที่ครบถ้วนรอบด้าน ส่งเสริมให้แหล่งวาฬอำแพงมีศักยภาพในการพัฒนา


https://tna.mcot.net/latest-news-624956


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:43

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger