SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม 2564 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5622)

สายน้ำ 01-08-2021 02:57

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม 2564
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับ มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมามีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 31 ก.ค.- 1 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน

ส่วนในช่วงวันที่ 2 - 6 ส.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันยังคงมีกำลังแรงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 2 ? 6 ส.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม สำหรับชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะสัปดาห์นี้ไว้ด้วย



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 01-08-2021 03:23

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


หวั่น 'เต่ามะเฟือง' สูญพันธุ์! ดร.ธรณ์ แนะแตะเบรกเสริมทราย 'เขาหลัก'

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลกังวลผลกระทบจากการเสริมทรายชายหาด "เขาหลัก" ระยะทาง 12 กิโลเมตร อาจเลวร้ายถึงขั้น "เต่ามะเฟือง" ไร้ที่วางไข่และสูญพันธุ์
หลังจากกรมเจ้าท่าและทีมศึกษาได้มีแผนการเสนอใช้วิธีการเติมทราย (เสริมทราย) ในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่บริเวณโรงแรมเขาหลักซันเซ็ท ไปจนถึงหาดปะการัง เป็นความยาวทั้งสิ้น 12 กิโลเมตร จนเกิดกระแสคัดค้านจากหลายฝ่าย เพราะหวั่นผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว ล่าสุด ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก เตือนว่าการ เสริมทราย อาจรบกวนการวางไข่ของ เต่ามะเฟือง

"เต่ามะเฟืองเป็นเต่าหายากระดับโลก เป็นเต่าทะเลใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเต่าที่ได้รับการคุกคามจากสถานะใกล้สูญพันธุ์มาก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย และเต่ามะเหืองเข้ามาวางไข่เฉพาะที่ชายหาดที่เปิดรับลมและค่อนข้างชัน บริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เยอะคือตั้งแต่หาดท้ายเหมืองจนถึงบริเวณเขาหลัก บางเนียง ไล่ไปตามพื้นที่จนถึงแหลมปะการัง มีแวะแถวภูเก็ตบ้าง แต่หลักๆ จะเป็นบริเวณดังกล่าว"

อาจารย์ธรณ์อธิบายว่าเหตุผลที่เต่าขึ้นมาที่ "เขาหลัก" เพราะธรรมชาติของ "เต่ามะเฟือง" คือไม่วางไข่ที่ชายฝั่งแนวปะการังเหมือนเต่าชนิดอื่น เพราะขนาดตัวใหญ่มากจึงเข้าที่ตื้นไม่ได้ และพื้นที่ดังกล่าวมีชายฝั่งที่ค่อนข้างลึก แต่เมื่อ 5-6 ปีก่อนมีปัจจัยทำให้เต่ามะเฟืองหายไป ไม่มาวางไข่ กระทั่งมีการรณรงค์ผลักดันให้เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์สงวนสำเร็จเมื่อปี 2562 และเต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่อีกครั้งบริเวณชายหาดคึกคักซึ่งอยู่ในบริเวณ 12 กิโลเมตรตามแผนการ "เสริมทราย"

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
ชายหาดทะเลเขาหลัก / ภาพจากชมรมกีฬากระดานโต้คลื่นจังหวัดพังงา

ก่อนหน้านี้มีการ "เสริมทราย" อยู่ในบางพื้นที่ เช่น เสริมทรายหน้าหาดพัทยา และล่าสุดคือที่หน้าหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี แต่พื้นที่ดังกล่าวไม่น่ากังวลนักเพราะไม่มีสัตว์ทะเลหายาก ทว่าพื้นที่การเสริมทรายชายหาด "เขาหลัก" น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะการเสริมทรายจะทำให้ลักษณะชายหาดมีการเปลี่ยนแปลง คือ เกิดการตื้นเขิน ส่งผลกระทบต่อ "เต่ามะเฟือง" โดยตรง

"ถ้าเต่ามะเฟืองไม่มาวางไข่ เท่ากับสูญพันธุ์จากเมืองไทย เพราะเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่วางไข่ยากมาก ไม่ได้เป็นเต่าที่เพาะเลี้ยงกันได้ มีแต่เขาปกป้องกันสุด พื้นที่ไหนในโลกที่มีเต่ามะเฟืองมาวางไข่ ไม่ต้องห่วงหรอก เพราะฉะนั้นเราพยายามคุยกับชาวบ้าน ร่วมกันดูแลเต่า แต่ถ้าเปลี่ยนสภาพชายหาด การที่ขาดเต่ามะเฟืองไปเพียง 1 รัง จะส่งผลกระทบต่อประชากรเต่ามะเฟืองที่มาวางไข่ในประเทศไทยอย่างมหาศาล"

ระหว่างที่โครงการ "เสริมทราย" ในพื้นที่ชายฝั่งหาด "เขาหลัก" ความยาว 12 กิโลเมตร ยังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลและศึกษาผลกระทบ อาจารย์ธรณ์แนะนำว่ายังไม่สายที่จะพูดคุยกับคนในพื้นที่ หาจุดที่มีปัญหาจริงๆ ที่เกิดการกัดเซาะ ซึ่งจากการสำรวจของเขายังไม่พบการกัดเซาะที่เป็นปัญหาใหญ่ แต่ถ้ากรณีมีปัญหาจริงๆ ต้องแก้ไขเฉพาะจุด ไม่ "เสริมทราย" แบบลากยาว

"ต้องกำหนดจุดที่ชัดเจนว่ามีจุดใดเป็นปัญหาการกัดเซาะจริงๆ แล้วค่อยมาดูว่าจะทำอย่างไร ถ้าเสริมทรายทั้งหมดผมเสนอมาตรา17 "ระงับการกระทำหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง" แน่นอน แล้วถ้ากรมทะเลไม่อนุมัติ ผมจะลาออกทุกตำแหน่งเลย การทำให้เต่ามะเฟืองได้เป็นสัตว์สงวน ผมใช้เวลาไป 5-6 ปี แต่ผมก็คิดว่าน่าจะไม่มีปัญหาหรอกครับ น่าจะคุยกันได้ คุยกับกรมเจ้าท่า เพียงแต่ว่าต้องดูให้ชัดเจนว่าตรงไหนมีปัญหา กำหนดกรอบของปัญหาให้ชัดๆ ว่าปัญหามันสาหัสถึงระดับที่ต้องทำอะไรไหม เพราะว่าถ้าเกิดทำ ต้องเข้าใจว่ามีเต่ามะเฟืองอยู่แล้วมันจะขึ้นตรงไหน ถ้ากำหนดกรอบพื้นที่เล็กๆ ได้ ก็มาดูว่าทำอย่างไรกับพื้นที่เล็กๆ นั้น แต่ถ้าจะเสริมทรายทั้งพื้นที่ ให้ตายผมก็ไม่เห็นด้วย" อาจารย์ธรณ์ กล่าว


https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/952149


สายน้ำ 01-08-2021 03:25

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ทฤษฎีใหม่ชี้ ไอซ์แลนด์อาจเป็นยอดเขาของทวีปที่สาบสูญ จมทะเลไปเมื่อหลายล้านปีก่อน

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
สภาพภูมิประเทศที่งดงามแปลกตาของไอซ์แลนด์

ประเทศไอซ์แลนด์อาจเป็นยอดบนสุดของทวีป "ไอซ์แลนเดีย" (Icelandia) ที่ยังคงโผล่พ้นน้ำ หลังผืนแผ่นดินที่กว้างใหญ่ 600,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเกาะกรีนแลนด์และภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ได้จมลงใต้มหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือไปเมื่อ 10 ล้านปีก่อน

ทีมนักธรณีฟิสิกส์นานาชาติ นำโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ จิลเลียน โฟลเจอร์ จากมหาวิทยาลัยเดอแรมของสหราชอาณาจักร เผยแพร่ทฤษฎีใหม่ดังกล่าวในบทหนึ่งของหนังสือ "ตามรอยวอร์เรน บี. แฮมิลตัน: แนวคิดใหม่ทางวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ" (In the Footsteps of Warren B. Hamilton: New Ideas in Earth Science)

ทีมวิจัยที่นำโดย ศ. โฟลเจอร์ เสนอว่ามหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือที่เคยเป็นผืนแผ่นดินแห้งสนิท และเป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีปแพนเจีย (Pangaea)ไม่ได้แตกตัวแยกออกจากกันอย่างสมบูรณ์ในทันทีเมื่อ 200 ล้านปีก่อน ทำให้น้ำทะเลไม่เข้าท่วมผืนแผ่นดินที่เชื่อมเกาะกรีนแลนด์และภูมิภาคสแกนดิเนเวียในแนวตะวันตก-ตะวันออก เป็นเวลานานหลายล้านปี ทำให้เกิดทวีปไอซ์แลนเดียขึ้น

"อย่างไรก็ตามเมื่อ 10 ล้านปีก่อน พื้นที่ทางตะวันตกและตะวันออกของทวีปไอซ์แลนเดียเริ่มจมลงใต้ทะเล แต่ก็ยังมีพื้นที่สูงตรงกลางทวีปโผล่พ้นน้ำให้เราได้เห็นกัน ซึ่งก็คือเกาะไอซ์แลนด์ในทุกวันนี้" ศ. โฟลเจอร์กล่าว "หากทำให้ระดับน้ำทะเลลดลงได้อีกสัก 600 เมตร เราก็จะเห็นสภาพภูมิประเทศของทวีปที่หายสาบสูญไปแล้วชัดเจนขึ้น"

ศ. โฟลเจอร์ยังชี้ว่า แม้แนวคิดนี้จะขัดแย้งกับทฤษฎีดั้งเดิมที่เชื่อว่าไอซ์แลนด์ถือกำเนิดจากภูเขาไฟใต้น้ำเมื่อ 60 ล้านปีก่อน แต่ทฤษฎีใหม่ก็สามารถจะอธิบายไขปริศนาบางอย่างได้ เช่นเรื่องแผ่นเปลือกโลกใต้เกาะ ซึ่งมีความหนาผิดปกติถึง 40 กิโลเมตร แทนที่จะเป็นเพียง 8 กิโลเมตร ตามแบบฉบับของเกาะภูเขาไฟทั่วไป

"นั่นเป็นเพราะว่า เกาะไอซ์แลนด์รวมทั้งแผ่นดินไอซ์แลนเดียเป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีปเก่าแก่ ไม่ใช่เกาะภูเขาไฟที่เกิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด" ศ. โฟลเจอร์อธิบาย

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
แผนที่แสดงขอบเขตของทวีปไอซ์แลนเดีย (สีชมพูเข้ม) รวมทั้งส่วนขยายหรือ "เกรเทอร์ ไอซ์แลนเดีย" (สีชมพูอ่อน)

ทีมผู้วิจัยประมาณการว่า ทวีปไอซ์แลนเดียมีพื้นที่กว้างขวางถึง 600,000 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่เกือบเท่ากับรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ ทั้งยังเชื่อมต่อกับผืนทวีปที่จมน้ำอีกแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของหมู่เกาะอังกฤษ ซึ่งทีมผู้วิจัยเรียกแผ่นดินส่วนขยายของทวีปไอซ์แลนเดียนี้ว่า "เกรเทอร์ ไอซ์แลนเดีย" (Greater Icelandia)

ศ. ฟิลิป สไตน์เบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการวิจัยแนวพรมแดนแห่งมหาวิทยาลัยเดอแรม ชี้ว่าการศึกษาเรื่องทวีปไอซ์แลนเดียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากการพิสูจน์ได้ว่าผืนแผ่นดินใต้น้ำเป็นไหล่ทวีปที่ยื่นขยายออกมาจากเขตแดนของชาติใด ทรัพยากรใต้สมุทรในบริเวณดังกล่าวก็จะตกเป็นของประเทศนั้น

ด้านนักธรณีฟิสิกส์หลายรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีใหม่นี้ โดยระบุว่ายังมีหลักฐานหลายชิ้นที่คัดค้านการมีอยู่ของทวีปไอซ์แลนเดีย เช่นบริเวณก้นมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือนั้น มีวัสดุที่จะก่อตัวเป็นแผ่นเปลือกโลกที่รองรับผืนทวีปอยู่ไม่มากพอ รวมทั้งร่องรอยการสลับขั้วแม่เหล็กโลกที่พื้นมหาสมุทรก็ยังชี้ว่า เกาะไอซ์แลนด์ถือกำเนิดจากภูเขาไฟใต้ทะเลอย่างแน่นอน


https://www.bbc.com/thai/international-58039421



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:46

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger