SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5487)

สายน้ำ 21-03-2021 02:43

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในวันนี้ (21 มี.ค. 64) และจะแผ่ปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่รวมถึงฟ้าผ่า โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบนตามลำดับ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 22 - 25 มี.ค. 64 ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 21 - 22 มี.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบน มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิจะลดลง โดยอากาศจะช่วยคลายความร้อนลงได้

ต่อจากนั้นในช่วงวันที่ 23 - 26 มี.ค. 64 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอุณภูมิสูงขึ้น สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรในช่วงวันที่ 22 - 26 มี.ค. 64


ข้อควรระวัง

ในวันที่ 21 - 22 มี.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมทั้งฟ้าผ่าไว้ด้วย โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร สำหรับชาวเรือในบริเวณอ่าวไทยขอให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง ในช่วงวันที่ 22 - 26 มี.ค. 64



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21 - 22 มีนาคม 2564)" ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2564

ประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า โดยจะมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน ตามลำดับ จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยจะมีผลกระทบดังนี้


วันที่ 21 มีนาคม 2564

ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหารกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น และมหาสารคาม

ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี และสระบุรี

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด


วันที่ 22 มีนาคม 2564

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเชร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด



https://hosting.photobucket.com/imag...080&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

สายน้ำ 21-03-2021 03:42

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


จุดความร้อน กลับมาแล้ว คราวนี้ พีคขึ้นเท่าตัว จาก600 พรวดเดียวเป็นพันกว่าจุดทั่วประเทศ

https://hosting.photobucket.com/imag...atichon_01.jpg

วันที่ 20 มีนาคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 พบจุดความร้อนทั้งประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,001 จุด และภาคเหนือยังเป็นพื้นที่ที่มีจุดความร้อนมากที่สุด วานนี้สูงมากถึง จำนวน 624 จุด ซึ่งมี 3 จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด ได้แก่ #แม่ฮ่องสอน 196 จุด #เชียงใหม่ 86 จุด และ #เพชรบูรณ์ 63 จุด ตามลำดับ ภาพรวมทั้งประเทศของจุดความร้อนที่เกิดขึ้นยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตร ตามลำดับ

สำหรับจุดความร้อนประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา แชมป์ยังคงเป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ที่มีจุดความร้อนสูงมาก สูงถึง 8,153 จุด รองลงมาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2,902 จุด และประเทศไทยตามลำดับ ส่งผลให้พื้นที่จังหวัดใกล้เคียงที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองและหมอกควัน ที่ลอยข้ามแดนเข้ามาได้ โดยเฉพาะทางพื้นที่ทางภาคเหนือ ที่พบเห็นกลุ่มของจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างหนาแน่น ประกอบกับทิศทางลมที่พัดมาจากทางฝั่งตะวันตกและทางใต้ อาจส่งผลให้ฝุ่นละอองสะสมตัวเพิ่มมากขึ้น


https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_2632387


สายน้ำ 21-03-2021 03:45

ขอบคุณข่าวจาก คม ชัด ลึก


"วราวุธ" สั่งลุยจัดการเดินท่องเที่ยวใต้ทะเลพัทยา จับปะการัง สัตว์ทะเลเล่น

"วราวุธ" สั่งลุยจัดการเดินท่องเที่ยวใต้ทะเลพัทยา จับปะการัง สัตว์ทะเลเล่น กำชับ"กรมทะเล" เร่งหารือเมืองพัทยาสร้างมาตรการ Sea walker

https://hosting.photobucket.com/imag...hudLuek_01.jpg

20 มี.ค.64 กรณีมีการโพสต์ข้อความผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีนักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมเดินใต้ทะเล หรือ Sea Walker โดยมีไกด์นำเที่ยวใต้ทะเล บริเวณเกาะล้าน เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และได้จับปะการังและสัตว์ทะเลขึ้นมาเล่น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งเร่งติดตามและดำเนินการตามกฎหมายทันที เนื่องจาก กิจกรรมเดินใต้ทะเลจะต้องขอใบอนุญาตก่อน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการรายใด นอกจากนี้ ได้มอบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หารือแนวทางร่วมกับเมืองพัทยาในการกำหนดพื้นที่ตลอดจนมาตรการและเงื่อนไขการออกใบอนุญาตสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวเดินใต้ทะเล และไกด์นำเที่ยว เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก อีกทั้งจะได้เป็นมาตรฐานในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ต่อไป

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้เห็นภาพนักท่องเที่ยวทำกิจกรรมการเดินใต้ทะเล หรือ Sea Walker โดยมีไกด์นำเที่ยวใต้ทะเล บริเวณเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี และได้จับปะการังและสัตว์ทะเลขึ้นมาเล่นโชว์ต่อหน้ากล้อง โดยมีไกด์นำเที่ยวเป็นคนชี้นำและหยิบยื่นให้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง และผิดกฎหมายอย่างแน่นอน ทั้งไม่มีใบอนุญาตดำเนินการทำกิจกรรมเดินใต้ทะเล และการจับปะการัง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

นอกจากนี้ การจับสัตว์ทะเลขึ้นมาเล่น บางชนิดเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวและอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้จับหรือสัมผัสได้ สำหรับเรื่องนี้ ตนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ซึ่งได้มอบให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการหาแนวทางการจัดระบบการอนุญาตและจัดการให้เป็นมาตรฐาน และให้หารือกับนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ในการกำหนดแนวทางการจัดการเรื่องนี้ และหากพ้นวิกฤติการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 เริ่มมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาจเกิดเหตุการณ์เช่นนี้และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะถูกทำลายจนไม่อาจจะฟื้นคืนได้

"การปฏิบัติตามกฎหมาย คือ พื้นฐานในการอนุรักษ์อย่าอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย เพราะอย่างน้อย เราต้องรู้จักเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หากท่องเที่ยวกันอย่างขาดจิตสำนึกเช่นนี้ ในไม่ช้าเมืองพัทยา จะไม่เหลืออะไรให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม และนั่นคือหายนะที่จะมาเยือนกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน" นายวราวุธ กล่าวยืนยัน

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds

ในกรณีนี้ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (19 มีนาคม 2564) ตนได้มอบหมายให้นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 สนธิกำลังร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (จ.ชลบุรี) ปฏิบัติการตรวจจับกุมเรือนำเที่ยวทางทะเลชื่อ ธ.ป๊อบอาย นำนักท่องเที่ยวจำนวน 20 ราย เดินท่องเที่ยวใต้ทะเลบริเวณอ่าวทองหลาง เกาะล้าน เมืองพัทยา จ. ชลบุรี โดยไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบการกิจกรรมเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล ซึ่งมีความผิดตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563ในการห้ามกระทำการประกอบกิจการเรือภัตตาคาร เรือสถานบริการ หรือการเดินท่องเที่ยวใต้ทะเลโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงนำผู้ต้องหาจำนวน 4 คน พร้อมของกลางเรือชื่อ ธ.ป๊อบอาย โดยมีนายเรืองชัย วงค์จำปา เป็นผู้ควบคุมเรือ และอุปกรณ์เดินเที่ยวใต้ทะเล จำนวน 8 ชุด ส่งพนักงานสอบสวน สภ. เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อไป

นอกจากนี้ ตนจะได้เข้าพบหารือกับนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรฐานของบริษัทนำเที่ยวใต้ทะเลและไกด์นำเที่ยว ที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็น กรมฯ จะใช้อำนาจแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันในเบื้องต้น ก่อนจะมีมาตรการทางกฎหมายอื่นๆรองรับ อธิบดีกรมฯ ทช.กล่าว


https://www.komchadluek.net/news/regional/461608


สายน้ำ 21-03-2021 03:51

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


พายุทรายที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพูมิอากาศหรือไม่

ช่วงเช้าของวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ประชาชนในกรุงปักกิ่งตื่นมาพร้อมกับท้องฟ้าที่กลายเป็นสีส้มอันเนื่องมาจากกระแสลมแรงพัดพาพายุทรายขนาดใหญ่ที่มาจากมองโกเลีย พายุทรายได้ทำให้ระดับมลพิษทางอากาศพุ่งสูงขึ้นในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นตอนเหนือของจีน เกาหลี และบางพื้นที่ของญี่ปุ่น สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของจีนบอกว่าพายุทรายนี้เป็น "พายุทรายที่ใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ"

https://hosting.photobucket.com/imag...enpeace_01.jpg
พายุฝุ่น (หรือพายุทราย) ปกคลุมทั่วปักกิ่งและทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก


6 ชีวิตที่มลายและอีกร้อยที่สูญหาย

หน่วยงานจัดการเหตุฉุกเฉินของมองโกเลียรายงานว่าพายุทรายได้คร่าชีวิตคนไป 6 คน ส่วนในจีนสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ณ วันที่ 15 มีนาคม มีผู้สูญหายอย่างน้อย 341 คน

พายุทรายในปักกิ่งได้ก่อให้เกิดทัศนวิสัยต่ำ ยอดตึกระฟ้าซ่อนอยู่ในหมอกควัน ผู้คนที่สัญจรไปมาตามท้องถนน และคนที่ขี่จักรยานต้องสวมหน้ากากและอุปกรณ์สวมศีรษะชั่วคราวเพื่อป้องกันใบหน้าของพวกเขาจากทรายที่กระโชกแรง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ความเข้มข้นของฝุ่น PM10 ในปักกิ่งมีค่าสูงกว่า 8,100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สำหรับบริบทแนวปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศของสหรัฐอเมริกาถือว่าระดับระหว่าง 0 ถึง 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ในระดับ" ดี" และ 55 ถึง 154 อยู่ในระดับ "ปานกลาง" การสัมผัสมลพิษทางอากาศไม่มีในระดับที่ปลอดภัย)

ไกลออกไปทางตะวันตก ณ เมือง เจี่ยยู่กวน มณฑลกานซู ค่า PM10 มีค่าสูงถึง 9,985 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรหรือเกือบ 40 เท่าซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ ?มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก?

หลายเที่ยวบินต้องถูกยกเลิกและถูกสั่งห้ามบินเนื่องจากทัศนวิสัยต่ำ โรงเรียนถูกสั่งให้ยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้งทั้งหมด และคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้รับคำแนะนำว่าให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย


พายุทรายเกิดขึ้นได้อย่างไร?

3 ปัจจัยที่จะทำให้เกิดพายุทรายคือ

1) ขนาดความใหญ่ของพื้นที่ทราย

2) ระดับความแรงของลม และ

3) สภาพบรรยากาศที่สามารถพัดพาทรายไปในอากาศ

เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งกว่าเดิม กอปรกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ถึง 8 องศาเซลเซียสในมองโกเลีย ทำให้ฝุ่นและทรายสามารถฟุ้งกระจายได้แรงกว่าเดิม

นอกจากนี้ พายุไซโคลนที่เกิดขึ้นในมองโกเลียได้นำแรงลมระดับ 6 ถึง 8 ไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือของจีนซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การเกิดพายุทราย ยิ่งไปกว่านั้นการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานและการกดกร่อนของดินทางตอนใต้ของมองโกเลียทำให้มลพิษทางอากาศมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงพายุทรายที่เกิดในมองโกเลียถูกลมพัดพาไปบริเวณเอเชียตะวันออกและตก


พายุทรายเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่?

ดร. Liu Junyan นักรณรงค์ด้านสภาพอากาศและพลังงานของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า "แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ความถี่ของพายุทรายในมองโกเลียก็เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

ระหว่างปีพ.ศ. 2483 ถึง พ.ศ.2558 อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีในมองโกเลียเพิ่มขึ้น 2.24 องศาเซลเซียสซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณสามเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ถึง พ.ศ.2558 ทุ่งหญ้าในมองโกเลียประสบกับความแห้งแล้งมากขึ้นเมื่อเทียบกับสองทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและปริมาณน้ำฝนที่ลดลง การแทะเล็มหญ้าของสัตว์ที่มากเกินไปยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่เกิดขึ้นของทุ่งหญ้า

เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น สภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การก่อตัวของพายุทรายจึงเกิดขึ้นบ่อยขึ้น

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
ภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังพายุทรายพัดถล่มในปักกิ่ง

เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หนทางที่ดีและยั่งยืนที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือเราต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับโลกลงให้มากที่สุด

จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ปล่อยก๊าซคาร์บอนถึงหนึ่งในสามของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกในปี พ.ศ. 2561 ในฐานะผู้ปล่อยก๊าซที่ใหญ่ที่สุดสามแห่งในเอเชียตะวันออก ล่าสุดเมื่อปี 2563 ทั้งสามประเทศให้คำมั่นสัญญาว่า จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ มุ่งไปสู่ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Nuetral) 100%

แต่ ณ ปัจจุบัน แผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของทั้งสามประเทศยังไม่มีออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง กรีนพีซจึงเรียกร้องให้ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีพัฒนาแผนงานรูปธรรมในระยะยาวขึ้นมา ว่าทำอย่างไรที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้ รวมถึงกรอบเวลาที่ชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100%

https://hosting.photobucket.com/imag...enpeace_04.jpg
กิจกรรมฉายแสงข้อความรณรงค์ยุติถ่านหินในกรุงโซล เกาหลี

กรีนพีซในปักกิ่งได้รณรงค์ประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานมานานกว่าทศวรรษ ล่าสุดเราได้ป้องกันไม่ให้พันธบัตร "การเงินสีเขียว" หลายล้านดอลลาร์ไปลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนกรีนพีซ เกาหลีมีการพูดคุย เสนอแนวทาง และทางออกอย่างยั่งยืนกับนักการเมืองคนสำคัญ และท้ายสุดกรีนพีซ ญี่ปุ่น ได้รณรงค์ต่อต้านการแสดงจุดยืนสนับสนุนถ่านหินของรัฐบาลที่งาน World Economic Forum ในเมืองดาวอสเพื่อเรียกร้องให้สถาบันการเงินรายใหญ่ของญี่ปุ่นยุติการระดมทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่

คุณคือพลังอันสำคัญที่สามารถร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

กรีนพีซได้สร้างความตระหนักแก่สาธารณชนเกี่ยวกับวิกฤตสภาพอากาศผ่านโซเชียลมีเดียและกิจกรรมต่าง ๆ เสียงของประชาชนสามารถผลักดันให้รัฐบาลและองค์กรที่ก่อมลพิษได้รับรู้ความจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้พลังของเราสามารถผลักดันให้รัฐบาลเลิกสนับสนุนถ่านหิน และพร้อมเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ปลอดภัย


https://www.greenpeace.org/thailand/...oss-east-asia/


สายน้ำ 21-03-2021 03:54

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ซากฟอสซิลยืนยัน "ฉลามมีปีก" บินร่อนในทะเลได้เหมือนกระเบนราหู เมื่อ 93 ล้านปีก่อน

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
ภาพจำลอง "ฉลามมีปีก" Aquilolamna milarcae ที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์

ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติจากฝรั่งเศส เยอรมนี และเม็กซิโก เผยผลวิเคราะห์ซากฟอสซิลของ "ฉลามมีปีก" อายุเก่าแก่ 93 ล้านปี ในวารสาร Science โดยชี้ว่าเป็นฉลามรูปร่างประหลาดที่ไร้กระโดงหรือครีบหลัง แต่กลับมีครีบด้านข้างลำตัวที่ยาวและกว้างคล้ายปีกเครื่องบิน สามารถใช้ร่อนเหมือนกับบินในน้ำทะเลเช่นเดียวกับกระเบนราหูได้

ฉลามโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aquilolamna milarcae มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสที่ไดโนเสาร์ครองโลก ก่อนที่กระเบนราหูซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดของฉลามจะถือกำเนิดขึ้นมาหลายสิบล้านปี

ฉลามมีปีกชนิดนี้เป็นฉลามที่กรองกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารเหมือนกับฉลามวาฬ อาศัยอยู่ในบริเวณ Western Interior Seaway ซึ่งเป็นช่องที่น้ำทะเลไหลเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ จนกลายเป็นทางน้ำเชื่อมต่ออ่าวเม็กซิโกและมหาสมุทรอาร์กติกในยุคโบราณ

มีการค้นพบฟอสซิลนี้เมื่อปี 2012 ในเหมืองหินทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเม็กซิโก โดยพบว่าครีบด้านข้างที่คล้ายปีกนกนั้น เมื่อกางออกเต็มที่จะมีความยาวจากปลายข้างหนึ่งไปจรดอีกข้างหนึ่งเกือบ 2 เมตร ในขณะที่ลำตัวมีความยาว 1.65 เมตร ทำให้มันเป็นสัตว์ที่มีความกว้างของลำตัวมากกว่าความยาว นอกจากนี้มันยังมีส่วนหัวสั้น จมูกสั้น แต่มีปากกว้างอีกด้วย

https://hosting.photobucket.com/imag...370&fit=bounds
ซากฟอสซิลเก่าแก่ 93 ล้านปี ซึ่งจะนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศเม็กซิโก

ฉลามและกระเบนราหูจัดเป็นสัตว์จำพวก Elasmobranch หรือปลากระดูกอ่อนเหมือนกัน ทั้งยังกรองกินแพลงก์ตอนเช่นเดียวกันอีกด้วย แต่การที่ฉลามมีปีกมีอายุเก่าแก่กว่าและมีครีบด้านข้างขนาดใหญ่เหมือนกระเบนราหูนั้น ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นบรรพบุรุษของกระเบนราหูแต่อย่างใด แต่เป็นวิวัฒนาการแบบเบี่ยงเบนเข้าหากัน (Convergent evolution) หรือการที่สัตว์ต่างชนิดพัฒนาโครงสร้างแบบเดียวกันขึ้นมาโดยแยกกันมีวิวัฒนาการแบบเป็นอิสระจากกัน

ทีมผู้วิจัยคาดว่าฉลามมีปีกน่าจะว่ายน้ำได้ค่อนข้างช้าและไม่ใช่นักล่าที่น่ากลัว โดยมันจะใช้ครีบด้านข้างที่ทั้งกว้างและยาวช่วยทรงตัวขณะร่อนไปในน้ำเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะอาศัยครีบหางที่แข็งแกร่งตวัดไปมาทางซ้ายและขวา รวมทั้งใช้ลำตัวรูปทรงตอร์ปิโดช่วยในการว่ายไปข้างหน้ามากกว่า

แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าฉลามมีปีกสูญพันธุ์ไปเนื่องจากสาเหตุใด แต่ทีมผู้วิจัยคาดว่าอาจเป็นสาเหตุเดียวกับที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ซึ่งก็คือหายนะจากอุกกาบาตขนาดยักษ์ที่พุ่งชนโลก โดยผลพวงจากการชนปะทะที่ทำให้เกิดแรงระเบิดมหาศาลและอุณหภูมิสูง เปลี่ยนผิวหน้าของน้ำทะเลให้เป็นกรดอย่างแรง จนแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของฉลามมีปีกตายไปจนหมด


https://www.bbc.com/thai/international-56452643



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 03:32

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger