SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=6870)

สายน้ำ 27-03-2024 02:34

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ในขณะที่ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคกลาง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมในบริเวณดังกล่าวมีกำลังอ่อนลง และการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 26 ? 27 มี.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 28 มี.ค. ? 1 เม.ย. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดไว้ด้วยตลอดช่วง

ส่วนในช่วงวันที่ 26 ? 27 มี.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง กับลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 27-03-2024 03:30

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


สถานการณ์สายพันธุ์ ท้องถิ่นทะเลเอเดรียติก

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสัญจรทางทะเลที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยทำให้สัตว์ต่างๆเดินทางไปสู่ถิ่นที่อยู่ใหม่ เมื่อจำนวนมากขึ้นก็รุกรานสายพันธุ์ท้องถิ่นเดิม เช่น ปลานกแก้วและสายพันธุ์ใหม่ราว 50 ชนิดได้แพร่กระจายไปยังทะเลเอเดรียติก ทางตอนเหนือสุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก่อปัญหาคุกคามประชากรปลาพื้นเมือง ซึ่งปลานกแก้วถูกพบเห็นครั้งแรกในทางตอนใต้ของทะเลเอเดรียติกเมื่อราว 15 ปีที่แล้ว คนท้องถิ่นแถบนั้นก็ไม่ชอบบริโภคปลาชนิดนี้

เมื่อเร็วๆนี้ นักวิจัยของสถาบันวิจัยทางทะเลและชายฝั่งในเมืองดูบรอฟนิค ซึ่งเป็นเมืองโบราณของโครเอเชีย เผยว่าปริมาณปลาในทะเล เอเดรียติกได้ลดลงเพราะการทำประมงที่มากเกินไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบุกรุกของสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งการที่ทะเล เอเดรียติกเริ่มอุ่นขึ้นทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆปรากฏตัว ทั้งปลา แพลงก์ตอน สาหร่าย ตามข้อมูลในปี 2566 จากสำนักงานเทคโน โลยีใหม่ พลังงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแห่งชาติของอิตาลี ระบุว่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกำลังกลายเป็นทะเลที่ร้อนเร็วที่สุดในโลก ปลาสายพันธุ์ใหม่ เดินทางจากทะเลแดงผ่านคลองสุเอซ เข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลเอเดรียติกที่น้ำอุ่นขึ้น โดยมาพร้อมกับถังอับเฉาที่อยู่ตรงท้องเรือหรือส่วนของฐานทุ่นลอย กลายเป็นอันตรายต่อการอยู่รอดของปลาพื้นเมืองประมาณ 460 สายพันธุ์

นักวิจัยเผยว่าปลาชนิดใหม่บางชนิดเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เช่น ปลาสิงโต หรือปลาหินที่มีพิษ ซึ่งหากินอยู่ตามพื้นทะเล รวมถึงปูสีน้ำเงิน ที่เป็นสายพันธุ์รุกรานในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมานานถึง 20 ปี ทำให้ปูเขียวที่เป็นปูท้องถิ่นมีจำนวนลดลงอย่างมาก.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2773109


สายน้ำ 27-03-2024 03:33

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


เสียดายงบ 95 ล้านโครงการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า-อาคารปลากระเบน เกาะล้าน พังไม่เป็นท่า

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ศูนย์ข่าวศรีราชา -เสียดายงบ 95 ล้านบาท เมืองพัทยาใช้พัฒนาฟาร์มกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า และอาคารปลากระเบน บนเขานมสาว เกาะล้าน สุดท้ายพังไม่เป็นท่าทั้งถูกปล่อยทิ้งร้าง ผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้ชาวบ้านไม่ได้

จากกรณีที่เมืองพัทยาได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์บนเขานมสาว หน้าหาดแสม ชุมชนบ้านเกาะล้าน จ.ชลบุรี จำนวน 45 ชุด เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 200 กิโลวัตต์จ่ายเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียและไฟแสงสว่างหาดแสม เพื่อลดการใช้พลังงานในพื้นที่

และได้ตกลงเซ็นสัญญาว่าจ้างในลักษณะรัฐต่อรัฐ ภายใต้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 95 ล้านบาท โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.2549 เป็นเวลา 300 วัน ซึ่งได้มีการก่อสร้างอาคารเพื่อควบคุมการทำงานของระบบ 1 หลัง และอาคารปลากระเบนอีก 1 หลังเพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจัดนิทรรศการ

แต่ปัจจุบันโครงการพัฒนา "ฟาร์มกังหันลม" บนเนินนมสาว และอาคารปลากระเบนที่มีหลังคาเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีเป้าหมายป้อนกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนในชุมชนบ้านเกาะล้าน รวม 489 หลังคาเรือน กลับไม่ค่อยมีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพการทำงานออกสู่สังคมมากนัก

หลังเมืองพัทยาอ้างว่าเป็นโครงการดังกล่าวเป็นโครงการพลังงานสะอาดโครงการแรกของไทย และการก่อสร้างเสร็จในระยะที่ 1 แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2553 แต่เมื่อระยะเวลามา 5 ปีจนถึงปัจจุบัน กังหันลมกลับไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้

ซึ่งจากการสอบถามผู้ชำนาญการทราบว่า "ฟาร์มกังหันลม" จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดูแลและซ่อมบำรุง แต่เมืองพัทยากลับคิดเพียงว่าเมื่อผลิตกระแสไฟไม่ได้ก็ใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นจุดถ่ายภาพแทน แต่สุดท้ายกลับปล่อยทิ้งให้เป็นซากวัสดุ เพื่อเตือนใจประชาชนว่างบประมาณกว่า 95 ล้านบาท ที่นำไปสร้างกังหันลมและอาคารปลากระเบนเป็นไปอย่างไม่สมประโยชน์

ทั้งยังปล่อยให้ผุพังจนไม่สามารถปรับปรุงและซ่อมแซมได้ จึงถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และล่าสุดผู้สื่อข่าวยังได้รับแจ้งว่า ในเร็วๆ นี้ทั้ง ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโครงการว่ามีความผิดปกติ หรือมีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ ซึ่งผลจะออกมาเป็นเช่นไรจะได้มีการนำเสนอข่าวต่อไป


https://mgronline.com/local/detail/9670000026722


สายน้ำ 27-03-2024 03:35

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


เจ้าของโรงแรมเกาะช้างแกรนด์วิว ยอมรื้อถอนแท่นปูนคอนกรีตรุกหาดทรายขาว

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ตราด - เจ้าของโรงแรงเกาะช้างแกรนด์วิว ยอมรื้อถอนแท่นปูนคอนกรีตรุกล้ำพื้นที่หาดทรายขาวในส่วนที่เกินจากเอกสารสิทธิแล้ว ยันไม่มีเจตนาใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ เพียงแต่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันคลื่นทะเลกัดเซาะชายหาดเท่านั้น เผยจุดรุกล้ำไม่ใช่เขตพื้นที่ทหาร

จากกรณีที่มีชาวบ้านในพื้นที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ร้องเรียนต่อ นายวันรุ่ง ขนรกุล กำนันตำบลเกาะช้าง ว่าพบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในทะเลด้านหน้าโรงแรมเกาะช้างแกรนด์วิว จนนำสู่การรายงานต่อ นายนริศ ปาลวงศ์ ณ อยุธยา นายอำเภอเกาะช้าง ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเกาะช้าง ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ

โดยพบเป็นแท่นปูนคอนกรีตสูง 5 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร ทอดเป็นทางยาวกว่า 12 เมตรลงไปในทะเล และพื้นที่ด้านข้างยังพบว่ามีการทำบันไดลงไปหาดทรายขาว และคาดว่าแท่นปูนดังกล่าวน่าจะก่อสร้างมานานกว่า 6 เดือนแล้ว เนื่องจากมีทั้งหอยและสัตว์ทะเลเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่เจ้าท่าตราด ได้ออกคำสั่งให้รื้อถอนในทันทีนั้น

วันนี้ (26 มี.ค.) นางภิรญาพัณณ์ วงษ์มณีกิจชัย เจ้าของโรงแรมเกาะช้างแกรนด์วิว ได้เปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้ทำธุรกิจโรงแรมบริเวณดังกล่าวมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งในครั้งแรกที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมยังเป็นพื้นที่ติดหาดทรายขาวที่มีโขดหินยื่นลงไปในทะเล และทุกครั้งที่เข้าสู่หน้ามรสุมจะมีคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้ามากระทบหน้าชายหาดเป็นประจำ จนทำให้พื้นที่ชายหาดฝั่งหน้าโรงแรมเกิดการกัดเซาะ

จนต้องตัดสินใจทำเขื่อนกันคลื่น ซึ่งในครั้งแรกยังไม่ได้จัดทำเป็นแท่นปูนดังภาพที่เห็นตามสื่อต่างๆ กระทั่งได้มีการหารือกับช่างรับเหมาและผู้ออกแบบ จึงได้ก่อสร้างแท่นปูนขนาดใหญ่เพื่อกั้นคลื่นทะเลเท่านั้นและไม่ได้มีเจตนาอื่นใด หรือเพื่อต้องการให้เป็นจุดเช็กอินเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวตามที่เป็นข่าว

"ยอมรับว่าในครั้งแรกที่จัดทำเขื่อนกันคลื่นยังเป็นการจัดทำในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ แต่เมื่อทำการก่อสร้างเขื่อนใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้มีบางส่วนเกินจากพื้นที่ที่ครอบครอง ทั้งนี้ ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอเกาะช้าง เข้าตรวจสอบระวางว่าเกินพื้นที่ไปเท่าไร และทางเรายินดีที่จะรื้อถอนออกไปและจะไม่ทำอะไรเพิ่มเติมอีก"

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ น.ท.อธิวัฒน์ แสงสว่าง เสนาธิการ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด (ฉก.นย.ตราด) และ น.ท.ภาคภูมิ บูรณะเหตุ หัวหน้าชุด ศรภ.ทร.เกาะช้าง และชุดเฝ้าตรวจเกาะช้าง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดโรงแรมแกรนด์วิว รีสอร์ท อ.เกาะช้าง จ.ตราด โดยมี นางภิรญาพัณณ์ วงษ์มณีกิจชัย เจ้าของโรงแรมให้การต้อนรับ และได้สรุปข้อมูลโรงแรมให้เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

1.ที่ตั้งของโรงแรมแกรนด์วิว รีสอร์ท อยู่นอกพื้นที่รับผิดชอบของที่ดิน ทร. โดยเป็นพื้นที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินเกาะช้าง และเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลเกาะช้าง และตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2525 และปัจจุบันพื้นที่โรงแรมมีเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก.

2.สิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำชายหาดเป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ และปลูกสร้างก่อนปี 2554

3.เจ้าหน้าที่จากกรมการปกครอง และสำนักงานเจ้าท่าตราด รวมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง และเทศบาลเกาะช้าง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

4.เจ้าของพื้นที่ยินดีที่จะทำการทุบทำลายในส่วนที่เกินจากพื้นที่ตามเอกสารสิทธิที่ตนครอบครอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการรังวัดขอบเขตพื้นที่จริงตามเอกสารสิทธิ

5.การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ.ตราด (ส่วนแยกแหลมงอบ) ในการเข้าทำการรังวัดชี้พิกัดพื้นที่ที่ถูกต้องตามเอกสารสิทธิ

และ 6.เมื่อทำการรังวัดและชี้พิกัดขอบเขตพื้นที่จริงตามเอกสารสิทธิเรียบร้อยแล้ว เจ้าของจะทำการทุบทำลายสิ่งปลูกสร้างที่อยู่นอกเขตเอกสารสิทธิต่อไป


https://mgronline.com/local/detail/9670000026778


สายน้ำ 27-03-2024 03:38

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


โลกเดือด! น้ำแข็งละลายเร็ว น้ำท่วมมากขึ้น ธรรมชาติเอาคืนมนุษย์ ........... โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ตอนที่ 2)

Climate Change มีผลต่อชีววิทยาทางธรรมชาติอีกมาก อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชอีกมากมายหลายชนิด

แต่ผมขอแยกประเด็นนี้ออกไปก่อน เพราะซับซ้อนมากเกินกว่าจะอธิบายเพิ่มในพื้นที่จำกัดนี้

แต่ขอโฟกัสมาสู่การบันทึกว่าบัดนี้เราค้นพบว่าโลกที่ร้อนขึ้นนำเราไปสู่อะไรแล้วบ้าง

อย่างแรก การละลายของน้ำแข็งทั้งโลกเกิดขึ้นรวดเร็ว ดังนั้นน้ำจากที่สูงจะไหลลงไปรวมที่มหาสมุทร

ระดับน้ำทะเลจะท่วมชายฝั่งขึ้นมาเรื่อยๆ

และมนุษย์ฝังรากทางอารยธรรมอยู่ชายฝั่งเป็นส่วนมาก เมืองท่าค้าขาย เมืองเพื่อการผลิต เมืองการอยู่อาศัย เมืองเพื่อการท่องเที่ยว ล้วนมีระดับสูงจากทะเลปานกลางน้อยมากๆ

ส่วนเมืองเกษตรกรรมที่มักอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน มักอยู่ได้ด้วยลำน้ำจืดไหลผ่าน ซึ่งมีลำน้ำสาขาแผ่กระจาย จึงเป็นชลประทานธรรมชาติที่ทำให้มีนามีสวน

น้ำทะเลที่เพิ่ม อาจไม่ท่วมเหนือแผ่นดินลึกเข้าไปมากก็จริง แต่ก้นของแม่น้ำนั้นมักอยู่ในระดับสูงกว่าระดับทะเลปานกลางน้อยยิ่งกว่าเมืองชายฝั่งเสียอีก

แถมหลายสายจะต่ำกว่าทะเลปานกลางด้วย

ดังนั้น นิเวศน้ำจืดจำนวนมากจะถูกรุกล้ำด้วยน้ำเค็มเข้าลึกไปในแผ่นดิน เมืองไทยน้ำเค็มมีแนวโน้มจะบุกลึกใต้แม่น้ำไปถึงอ่างทอง นี่คือสิ่งที่อธิบดีกรมชลประทานเคยคาดการณ์ไว้

ยิ่งเมื่อมีภาวะภัยแล้ง หรือเมื่อน้ำแข็งยอดเขาละลายจนหมด ลำน้ำจืดจะไม่เหลือพลังดันน้ำเค็มอย่างที่เคยทำได้ตลอดปี ในหน้าแล้งเขื่อนและฝายจะกักเก็บน้ำไว้

น้ำจืดไหลลงร่องน้ำมาน้อยลง แปลว่าน้ำทะเลจะเอ่อเข้าลำน้ำในแผ่นดินไปทำลายนิเวศน้ำจืดของการเพาะปลูกจำนวนมากได้อย่างเงียบๆ

เพราะชาวบ้านสูบน้ำมาเข้าสวนเข้านาปกติไม่มีใครสำรวจหรือชิมว่าน้ำมันเค็มหรือยัง

จะรู้อีกทีก็ใบเหลืองเค็มจนเฉาแล้วทั้งสวน

ความมั่นคงทางอาหารจะถูกสั่นคลอนอย่างร้ายแรง

น้ำแข็งที่ว่าละลายนั้น ก็ให้ปรากฏการณ์ใหม่แก่มนุษย์อีก เพราะเมื่อน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตรของกรีนแลนด์และที่ขั้วโลกใต้ละลาย มันได้กลายเป็นทะเลสาปทีละหย่อมเรียงรายไปสุดลูกตา

ทะเลสาปเหล่านั้นค่อยๆกัดกร่อนน้ำแข็งต่อเพื่อหย่อนให้น้ำเหลวๆใสๆสามารถลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงได้

เกิดสภาพคล้ายสว่านหมุนเกลียวเจาะลงสู่เบื้องล่าง แล้วทำให้กลายเป็นโพรงรูพรุนคล้ายชีส เยอะไปหมด เมื่อน้ำไหลได้ มวลของมันจะส่งพลังการกระแทกเบียดกับผนังน้ำแข็งภายในโพรงราวน้ำตกกระแทกก้อนหิน ซึ่งย่อมเปราะบางกว่าหินมาก

การกร่อนของภูเขาน้ำแข็งจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นถ้ำน้ำลอดเต็มไปหมด

รูโพรงเหล่านี้ทำให้อากาศไหลเข้าไปด้านใน
และนำความอุ่นไปรบกวนน้ำแข็งในระดับโครงสร้างเพิ่มเข้าไปอีก

มนุษย์จึงตกใจว่าธารน้ำแข็งและแผ่นทวีปแอนตาร์กติกาและน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังแตกตัวออกตามที่ต่างๆในอัตราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ไม่ใช่มันละลาย แต่เพราะโครงสร้างถูกลมอุ่นมุดเข้าไปเจาะภายในราวกับรังปลวกบุกกินไม้อย่างตะกละตะกลาม

ในขณะเดียวกัน น้ำแข็งที่ละเลายที่เกาะกรีนแลนด์ ได้ปล่อยน้ำจืดมหาศาลลงทะเลแอตแลนติกตอนบน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของระบบเครื่องปรับอากาศของโลก ที่เคยเป็นจุดตั้งต้นของสายพานใต้ทะเลส่งความเยือกเย็นจากขั้วโลกให้ถูกน้ำทะเลพาไปไหลเวียนในทุกมหาสมุทรฟรีๆมานับล้านปี

ทำให้ตะกอนแร่ธาตุผงธุลีใต้ทะเลที่รับมาจากแม่น้ำบนฝั่งสามารถเดินทางไปไหลเวียนท้่วท้องมหาสมุทร เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่สารพัดชีวิตใต้ผืนมหาสมุทร

เมื่อการแปลงสภาพน้ำทะเลจากของเหลวไปเป็นน้ำแข็ง เกิดขึ้นมากที่สุดที่ข้างเกาะกรีนแลนด์ เพราะที่นี่ทะเลกว้างและลึกมาก

ต่างจากจุดเชื่อมของทะเลแปซิฟิกกับขั้วโลกเหนือที่ทั้งแคบและตื้น เฉลี่ยความลึกของแปซิฟิกตอนบนนั้น ตื้นกว่าอ่าวไทยเสียอีก เพราะที่นั่นลึกเพียง50 เมตร ในขณะที่อ่าวไทยลึกเฉลี่ย68เมตร

แต่ที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั้น ทะเลลึกหลายๆพันเมตร

ในการกลายสภาพจากน้ำไปสู่การเป็นน้ำแข็ง กฏทางธรรมชาติของฟิสิกส์จะทำให้โมเลกุลน้ำเท่านั้นที่กลายเป็นน้ำแข็ง

ดังนั้นน้ำแข็งธรรมชาติทั้งมวลจึงจืด เพราะที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั่นเองที่น้ำปริมาณมหาศาลกำลังกลายเป็นน้ำแข็ง ทั้งวันทั้งคืนมันจึงเกิดน้ำตกใต้ทะเลของผงตะกอนแร่ธาตุโดยเฉพาะเกลือที่ร่วงลงมา แล้วถูกแรงโน้มถ่วงโลกดึงมันจมลงสู่ก้นทะเลอันลึกล้ำ

แรงจมของเกลือปริมาณมหาศาลทุกวินาทีตลอดวันตลอดคืนนี้เองที่กลายเป็นแม่ปั้มธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่ดันส่งกระแสน้ำใต้สมุทรจากจุดนี้ให้ไหลดันตามกันไปจนเมื่อเเรงกดส่งตะกอนไปถึงก้นทะเลแล้วยังดันกันต่อไปจนเดินทางลงใต้ไปกระทบกับกับแผ่นดินของขั้วโลกใต้ ซึ่งก็เย็นจัดเช่นกัน แล้วจึงไหลเข้าสู่ก้นมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก นำพาความเย็นจากสองขั้วโลกเข้าสู่ใต้สมุทรทั้งหลาย

จากนั้นน้ำทะเลที่ไหลนี้จึงเริ่มมีน้ำหนักเบาขึ้น และค่อยๆสะสมการรับแดดในเขตศูนย์สูตรแล้วเดินทางต่อจนกลับมายังแอตแลนติกข้างเกาะกรีนแลนด์เหมือนเดิม

หนึ่งรอบวงจรนี้ ใช้เวลาราวพันปี

วงจรนี้เรียกว่า The Great Conveyor Belt ของโลกที่ส่งความเยือกเย็นจากสองขั้วโลกให้ไหลไปถึงใต้ชายฝั่งทะเลทั้งหลาย

ภูมิอากาศของโลกจึงถูกระบบนี้กำกับให้มาโดยตลอด
แต่เพราะน้ำจืดที่ละลายลงมาที่กรีนแลนด์ ทำให้ม่านความเค็มใต้ทะเลที่จุดเริ่มต้นการเดินทาง เจือจางลงมาก

ทำให้สารละลายขาดน้ำหนักเพียงพอที่จะจมลงในอัตราที่เคยเป็น

แรงดันใต้มหาสมุทรให้เป็นกระแสธารของความเยือกเย็นจึงอ่อนลงเรื่อยๆ รายงานจากงานวิจัยชี้ว่าอ่อนลงกว่า15%และยังคงอ่อนลงเรื่อยๆ

ระบบปรับอุณหภูมิของใต้สมุทรจึงกำลังค่อยๆพังทลายลง
และพลังการส่งสารอาหารให้เดินทางไปทั่วผืนสมุทรจึงกำลังหมดลงด้วยอากาศเหนือชายฝั่งจึงต้องถูกกระทบ
หมู่ปลาและสัตว์ทะเลจะปั่นป่วนเพราะธาตุอาหารที่เคยไหลผ่านจางลงจนอาจหายไป

แล้วมนุษย์ซึ่งพึ่งพาทั้งเกษตรบนแผ่นดินและโปรตีนจากทะเลจะทำอย่างไร

ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่มนุษย์ต้องคลี่คลายให้ได้ก่อนที่จะถึงวันที่หลายระบบจะล่มลงหรืออ่อนลงจนธรรมชาติเอื้อมส่งวงจรทางนิเวศกันไม่ถึง

ปี 2030 เป็นเสมือน Tipping Points ชุดแรกที่บอกเราได้ ว่าลูกบอลที่ชื่อนิเวศของโลกใบนี้จะตกบันไดที่น่าจะกู่ไม่กลับแล้ว

และถ้ายังปล่อยไปหรือเบรคไว้ไม่แรงพอ

ปี 2050 คือชุดบันไดยาวๆที่ลูกบอลแห่งระบบนิเวศนี้จะร่วงหล่นกลิ้งเป็นลูกขนุนตกเขา แม้มีเงินมีเศรษฐกิจชนิดไหน ณ ที่ใดของโลก ทุกระบบก็จะกระเด็นกระดอนจนพังพินาศทั้งหมด

There is no healthy business on a collapsing planet

โลกใบนี้มีมานานก่อนมนุษย์คนแรกกลุ่มแรกจะปรากฏตัวขึ้น

และโลกใบนี้จะอยู่ได้สบายด้วย แม้ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยหลังจากนั้นแล้ว
แต่มนุษย์ต่างหากที่จะสาปสูญ ถ้าระบบธรรมชาติของโลกถูกรบกวนมากเกินไป

บทความนี้ถูกเขียนเรียบเรียงขึ้นเพื่อยืนยันว่า

ทุกระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบการเมืองใดๆก็ไม่อาจอยู่ได้

ถ้าระบบนิเวศธรรมชาติของโลก เอาคืนหรือไม่เอื้อให้ระบบมนุษย์อยู่กันได้อีกต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกความพยายามที่จะรื้อฟื้น คืนทุนให้ระบบธรรมชาติ ผ่านกลไกเศรษฐกิจสีเขียว การค้าสีเขียว การลงทุนสีเขียว และสังคมที่ระดมให้ทุกชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9670000026112


สายน้ำ 27-03-2024 03:43

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


เกาะกาลาปากอส ขึ้นค่าธรรมเนียมครั้งแรกในรอบ 26 ปี หวังนำไปสนับสนุนด้านการอนุรักษ์

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยัง "หมู่เกาะกาลาปากอส" เตรียมจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็น 2 เท่า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกำลังสร้างแรงกดดันต่อจุดหมายปลายทางที่ระบบนิเวศมีความเปราะบาง

กระทรวงการท่องเที่ยวของประเทศเอกวาดอร์ประกาศเตรียมขึ้นค่าธรรมเนียมใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน มรดกโลกอย่างหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2024 นี้

การขึ้นค่าธรรมเนียมครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ค่าธรรมเนียมแรกเข้าอยู่ระหว่าง 100 - 200 ดอลลาร์สำหรับพลเมืองจากเกือบทุกประเทศ ยกเว้นสมาชิกกลุ่มการค้า Mercosur ในอเมริกาใต้ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล และเปรู ที่จ่ายเงิน 100 ดอลลาร์ต่อคน เพิ่มขึ้นจาก 50 ดอลลาร์ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีสามารถเข้าชมได้ฟรี โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ

"หมู่เกาะกาลาปากอสไม่เพียงแต่เป็นสมบัติของชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นสมบัติระดับโลก เป็นความรับผิดชอบร่วมกันในการปกป้องและรักษาระบบนิเวศที่ไม่มีใครเทียบได้นี้สำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคต" นีลส์ โอลเซ่น รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวของเอกวาดอร์กล่าวในแถลงการณ์ Galapagos Conservation Trust

โอลเซ่น กล่าวเสริมว่าค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นนั้นจะนำไปสนับสนุนการอนุรักษ์หมู่เกาะต่างๆ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่เอกวาดอร์ออกไปราว 1,000 กิโลเมตร

สำหรับหมู่เกาะกาลาปากอสเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติขององค์การยูเนสโกที่ประกอบด้วยเกาะมากกว่า 100 เกาะ เกาะเหล่านี้ได้รับการขนานนามว่า "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" เป็นที่ตั้งของพืชพรรณและสัตว์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์

เกาะแห่งนี้เป็นแรงบันดาลใจสู่การกำเนิดทฤษฎีวิวัฒนาการของ "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเกิดขึ้นในหมู่เกาะนี้เรื่อยมา โดยนักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบแนวปะการังที่ไม่รู้จักมาก่อน ซึ่งเชื่อกันว่ามีอายุหลายพันปีเมื่อปีที่แล้วนี่เอง

หมู่เกาะมีประชากรประมาณ 30,000 คนอาศัยอยู่ แต่มีนักท่องเที่ยวประมาณ 170,000 คนมาเยือนในแต่ละปี ทำให้ Galapagos Conservation Trust องค์กรการกุศลที่จดทะเบียนในสหราชอาณาจักรซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมการอนุรักษ์และความยั่งยืนบนเกาะต่างๆ ได้เตือนถึงผลกระทบทางนิเวศวิทยาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

"ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหมู่เกาะเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล โดยได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวทางบกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว" คำแถลงระบุบนเว็บไซต์ "ปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นระบบการจัดการขยะให้ถึงขีดจำกัด ทำให้น้ำและอาหารเกิดความไม่มั่นคงรุนแรงขึ้น และเพิ่มภัยคุกคามต่อสัตว์ที่ถูกรุกราน"

ในปี 2021 ยูเนสโกได้ออกรายงานเกี่ยวกับหมู่เกาะต่างๆ และสถานะของความพยายามในการอนุรักษ์ รายงานดังกล่าวยกย่องรัฐบาลเอกวาดอร์ที่ลดการประมงผิดกฎหมายและควบคุมการแพร่กระจายของสายพันธุ์ที่รุกราน แต่ได้ขอให้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมภายในปีนี้ และการขึ้นค่าธรรมเนียมชมเกาะ ก็อาจเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์


https://mgronline.com/travel/detail/9670000026304


สายน้ำ 27-03-2024 03:45

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


เปิดตัว!เรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ หวังแก้ปัญหาขยะในแม่น้ำ

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

"พัชรวาท" จับมือ "โบแยน สแลต ? ชัชชาติ" เปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา หวังแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแม่น้ำสายหลัก

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา สะพานพระราม 3 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นายโบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง The Ocean Cleanup นายวิกเตอร์ หว่อง รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โคคา-โคล่า ประจำประเทศไทย เมียนมา และลาว นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และตัวแทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) ซึ่งเป็นเรือดักจับขยะบนผิวน้ำด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเชิงวิจัย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกในแม่น้ำสายสำคัญทั่วโลก

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรฯ มีวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ความร่วมมือในการติดตั้ง Interceptor 019 ในแม่น้ำเจ้าพระยาในครั้งนี้ จะสนับสนุนการทำงานเชิงรุกด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน

นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุน The Ocean Cleanup และพันธมิตร ในด้านการจัดเก็บและคัดแยกขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของเราในการจัดการขยะที่ไหลลงสู่แม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การคัดแยกขวดพลาสติกใช้แล้วที่มีมูลค่าออกจากขยะอื่นๆ แล้วส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล สามารถช่วยลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ และลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่มหาสมุทรได้อีกทางหนึ่ง

นายโบแยน กล่าวว่า เรือดักจับขยะ Interceptor 019 เป็นก้าวสำคัญในการป้องกันไม่ให้มลพิษจากขยะพลาสติกในกรุงเทพฯ ไหลลงสู่มหาสมุทร นับเป็นก้าวแรกของเราในประเทศไทยสำหรับการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและพันธมิตรเพื่อลดปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการดำเนินงานด้านการกำจัดพลาสติกในมหาสมุทรในเมืองต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการโครงการติดตั้ง Interceptor ทั่วโลก ซึ่งเรามีแผนจะขยายไปอีกหลายแห่ง ภายใต้โครงการ Rivers ของเรา

นายวิกเตอร์ กล่าวถึงความสำเร็จจากความร่วมมือกับ The Ocean Cleanup ว่า ความร่วมมือกับ The Ocean Cleanup ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลสำเร็จขึ้นในประเทศไทย คือการติดตั้ง Interceptor 019 ในแม่น้ำสายสำคัญอย่างเจ้าพระยา ซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการปรับใช้เทคโนโลยีนี้ในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งเรายินดีอย่างมากที่ได้สนับสนุนโครงการ ผ่านการทดลองและเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อไป

นายแร็มโก กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของมหาสมุทร ประเทศเนเธอร์แลนด์เชื่อว่าความร่วมมือ การทำงานร่วมกัน และนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา เป็นสิ่งสำคัญที่จะบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในวันนี้ เรายินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนสนับสนุนหมุดหมายที่สำคัญร่วมกันในการจัดการขยะพลาสติกที่อาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการนี้ได้ติดตั้ง Interceptor 019 ที่ริมฝั่งแม่น้ำบริเวณหน้าสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งเป็นช่วง 16 กิโลเมตรสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีลำคลองจำนวน 61 สายไหลมาบรรจบในช่วงนี้ ทำให้มีโอกาสที่ขยะพลาสติกจะถูกพัดพามาจากที่ต่าง ๆ ทั้งนี้จะมีการเก็บข้อมูลของขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจประเภทของขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา และมุ่งศึกษาวิธีการสกัดและดักจับขยะพลาสติกก่อนที่จะไหลเข้าสู่ช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะบรรจบกับอ่าวไทยและพัดพาขยะพลาสติกไปยังมหาสมุทร สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนและชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 11 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของเอเชีย

เรือดักจับขยะ Interceptor 019 ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการดักจับขยะแบบอัตโนมัติ และเป็น Interceptor ลำที่ 5 ของ The Ocean Cleanup ที่ติดตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้ความร่วมมือกับโคคา-โคล่า โดยได้ติดตั้งไปแล้ว 1 ลำในอินโดนีเซีย 1 ลำในเวียดนาม และ 2 ลำในมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง Interceptor ในสาธารณรัฐโดมินิกัน และเมืองลอสแอนเจลิส ในสหรัฐอเมริกา นับเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือระดับโลก เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมเพื่อช่วยป้องกันการเล็ดลอดของขยะพลาสติกจากแม่น้ำลงสู่มหาสมุทรทั่วโลก


https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_8157891


สายน้ำ 27-03-2024 03:49

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


ตำรวจน้ำไล่ล่าจับกุมเรือเวียดนาม 3 ลำ ลักลอบขนน้ำมันเถื่อนกลางทะเล

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

26 มี.ค.2567 - เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ ภายใต้การอำนวยการสั่งการของ พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผบก.รน./ผอ.ศปม.บก.รน. พ.ต.อ.วัชชิรานนท์ นนท์นา ผกก.2 บก.รน. พ.ต.อ.นิรัตน์ ช่วยจิตต์ ผกก.6 บก.รน.และพ.ต.อ.ปรเมษฐ โพยนอก ผกก.7 บก.รน. เปิดยุทธการฟ้าสางที่ปลายด้ามขวาน โดยให้กำลังตำรวจน้ำทั้ง กก.2 กก.6และกก.7 ซึ่งนำโดย พ.ต.ท.วินัย นิ่มฟัก รอง ผกก.2 บก.รน. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการทางทะเลออกปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดทางทะเล และพบเรือต้องสงสัยมีลักษณะคล้ายเรือประมงไม่ปรากฏสัญชาติ จำนวน 3 ลำ กลางทะเลอ่าวไทยในเขตน่านน้ำไทย ห่างจากปากร่องน้ำสงขลาไปทางทิศตะวันออกประมาณ 65 ไมค์ทะเล

แต่เมื่อเรือทั้่ง 3 ลำเห็นเรือตำรวจน้ำได้ขับหลบหนีฝ่ายคลื่นอย่างเต็มกำลัง ตำรวจน้ำจึงนำเรือตรวจการณ์ 513 และเรือยางท้องแข็ง ไล่ล่าติดตามตรวจสอบ สุดท้ายก็สามารถไล่จนทันและสกัดจับเอาไว้ได้ทั้ง 3 ลำ

ตรวจสอบพบว่าเป็นเรือสัญชาติเวียดนาม ลำที่ 1 ชื่อเรือ KG 90897 TS ลูกเรือ 3 คน ลำที่ 2 ชื่อเรือ KG 94431 TS ลูกเรือ 4 คน ลำที่ 3 ชื่อเรือ KG 96117 TS ลูกเรือ 3 คน โดยลูกเรือทั้งหมดเป็นชาวเวียดนาม

และตรวจสอบพบว่าเรือทั้ง 3 ลำเป็นเรือประมงดัดแปลงบรรทุกน้ำมัน จึงควบคุมเรือและลูกเรือกลับเข้าฝั่งที่ท่าเทียบเรือตำรวจน้ำสงขลา กองกำกับการ 7 และประสานไปยังเจ้าหน้าที่ศุลกากร สรรพสามิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบน้ำมันในเรือทั้ง 3 ลำ

พบว่าเป็นน้ำมันดีเซลจำนวน 60,000 ลิตร เป็นน้ำมันเถื่อน และเป็นน้ำมันในราชอาณาจักรใช้สำหรับการส่งออกไปยังนอกราชอาณาจักร และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผลหาผู้กระทำผิดขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนกลุ่มนี้ต่อไป และได้ยึดเรือทั้ง 3 ลำเอาไว้และคุมตัวลูกเรือทั้ง 10 คนส่ง สภ.เมืองสงขลาดำเนินคดี


https://www.thaipost.net/district-news/559339/


สายน้ำ 27-03-2024 03:56

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


รู้จัก 'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ทางออก 'ปัญหาขยะพลาสติก' ของไทย และทั่วโลก

ทำความรู้จัก "สนธิสัญญาพลาสติกโลก" หรือ "Global Plastic Treaty" เตรียมประกาศใช้ในปี 2568 ความหวังที่จะแก้ไข "ปัญหาขยะพลาสติก" และอาจเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ความตกลงปารีส

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

"ขยะพลาสติก" กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก หลายประเทศประสบกับปัญหา "ขยะล้นเมือง" แต่นั่นยังไม่เป็นอันตรายเท่ากับ "ไมโครพลาสติก" พลาสติกที่แตกตัวออกกลายเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งสามารถพัดพาไปทั่วโลก แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดอย่างขั้วโลกเหนือก็ยังพบไมโครพลาสติก

ไมโครพลาสติก กลายเป็นมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งในแหล่งน้ำ พื้นดิน และในอากาศ แทรกแซงห่วงโซ่อาหาร มีการศึกษาหลายชนิดที่ ตรวจพบไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติกหลายประเภทในเนื้อเยื่อของมนุษย์ รวมถึงลำไส้ใหญ่ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง รก และแม้แต่ในเลือดของมนุษย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้นำจากประเทศทั่วโลก จึงได้พยายามผลักดันให้เกิด "สนธิสัญญาพลาสติกโลก" เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก


กำเนิด "สนธิสัญญาพลาสติกโลก"

2 มีนาคม 2565 มีการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ในโอกาสนั้น ผู้นำจากประเทศทั่วโลกได้มีมติสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติที่ 5/14 กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee - INC) โดยมีภารกิจจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายว่าด้วยมลพิษพลาสติก รวมถึงในสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งอยู่บนฐานของแนวทางที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก

หลังจากนั้นการประชุมของ INC จึงเริ่มมีการกล่าวถึง "สนธิสัญญาพลาสติกโลก" หรือ "Global Plastic Treaty" ซึ่งคาดหวังว่าจะมาตรการทางกฎหมายนี้จะต้องมีความสำคัญ และมีขอบเขตอำนาจสูง โดย อิงเจอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เคยกล่าวว่า

"สนธิสัญญาพลาสติกโลก" อาจเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดตั้งแต่ความตกลงปารีส

ปัจจุบัน สนธิสัญญาพลาสติกโลก ยังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมาย เนื่องจากมีหลาย ประเด็นที่แต่ละประเทศยังตกลงกันไม่ได้ แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการประชุม INC-5 ที่จัดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงปลายปี 2567 หลังจากนั้นในปี 2568 จะมีการประชุมระหว่างประเทศครั้งใหญ่เพื่อจัดตั้งมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และเปิดให้มีการลงนาม

สนธิสัญญาพลาสติกโลก จะมีโครงสร้างที่ครอบคลุมวงจรชีวิตของพลาสติก โดยกำหนดให้มีมาตรการในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้งาน การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล การจัดการขยะ การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบหรือ ได้รับผลกระทบแล้ว

INC กำลังหาข้อสรุปเกี่ยวกับการตั้งเป้าลดการผลิตพลาสติก รวมถึงการกำหนดมาตรการให้ทุกประเทศที่ลงนามเลิกผลิตหรือใช้พลาสติกบางประเภท เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไมโครพลาสติกแต่งเติม หรือ มาตรการในการเลิกใช้สารเคมีบางประเภทในพลาสติก ตลอดจนการตั้งเป้าในการจัดตั้งระบบใช้ซ้ำ และระบบเติม และการบังคับให้ผู้ผลิตพลาสติกขยายขอบเขตความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น เช่น มีมาตรฐานในการรีไซเคิลและการจัดการขยะพลาสติกที่เป็นสากล โดยหัวข้อเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นหลักในการประชุม INC-4 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเม.ย. ที่แคนาดา


"สนธิสัญญาพลาสติกโลก" สำคัญอย่างไรกับประเทศไทย

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ โดยส่วนใหญ่จะถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่งานวิจัยของ ลอเรนส์ เจ.เจ. ไมเยอร์ พบว่าประเทศไทยติดอันดับ 10 ของประเทศที่ปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลด้วยจำนวน 22,806 ตันต่อปี เป็นเพราะระบบการจัดขยะของประเทศไทยมีคุณภาพไม่ดีพอ

ด้วยเหตุนี้ องค์กรภาคประชาสังคม 3 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เล็งเห็นถึงความสำคัญของมาตรการทางกฎหมายฉบับนี้ จึงร่วมจัดงาน "สนธิสัญญาพลาสติกโลก สู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย" เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเพื่อประกาศจุดยืนให้มาตรการทางกฎหมายฉบับนี้ทะเยอทะยาน คำนึงถึงสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติมลพิษพลาสติกเพื่อโลกที่ยั่งยืน สะอาด และเป็นธรรม

โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาล 175 ประเทศทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลไทย สร้างสนธิสัญญาพลาสติกที่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยต้องมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน มีกรอบเวลาชัดเจน มีกลไกการเงิน ดังนี้

1.ลดการผลิตพลาสติกอย่างจริงจัง ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้

2.กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

3.กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน

4.กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก และค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม

5.กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อย และเคลื่อนย้ายสารเคมี และมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ

6.ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น

7.ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา

8.กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก

9.กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึง ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงาน และแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1119515


สายน้ำ 27-03-2024 03:58

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


ล่าปลิงทะเล ทำเมนูเด็ด-ส่งออก

ตรัง 26 มี.ค. ? ชาวบ้านเกาะสุกร ออกหาปลิงทะเลหลังน้ำลด โดยเฉพาะ "ดอเทศ" ปลิงทะเลชนิดหนึ่ง นำมาตากแห้งส่งขายต่างประเทศ มีสรรพคุณทางยาสูง

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มีของดีหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ปลิงทะเล ที่เอามาแปรรูปเป็นเมนูเด็ด หรือเอามาตากแห้งส่งออกก็ได้ราคาดี ช่วงน้ำทะเลลดต่ำสุด ชาวบ้านออกหาปลิงทะเลตามแนวโขดหิน นำมาตากแห้งและทำเมนูอาหาร ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวเกาะ ช่วงนี้จะพบปลิงทะเลสีดำ ตัวนิ่ม ที่ชาวบ้านเรียกว่า "ดอเทศ" มากที่สุด บางตัวมีความยาว 1 -1.20 ฟุต

เมื่อได้มาแล้ว นำมาผ่าท้อง ล้างทำความสะอาด ก่อนนำมาต้มให้สุก ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วจึงนำมาตากแดด 1-2 วัน ให้แห้ง รอพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อในราคากิโลละ 500 บาท เพื่อส่งขายไปต่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกงและไต้หวัน แต่หากรับซื้อตัวเป็น ๆ ตกกิโลละ 25 บาท ซึ่งแต่ละวันชาวบ้านจะหาได้มาก-น้อยต่างกัน บางวันได้ 2-3 กิโล แต่บางวันก็ได้นับ 10 กิโล

จากงานวิจัยจากหลายสถาบัน พบว่า ดอเทศ เป็นปลิงทะเลที่มีสรรพคุณทางยาสูง อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ มีสารมิวโคโปรตีน ช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุนในผู้สูงอายุ มีโปรตีนใกล้เคียงกับหมึกกล้วย ปูม้า หอยแมลงภู่และหอยลาย แต่มีไขมันต่ำกว่ามาก ปลิงดอเทศ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่ควบคุมไขมันได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีปลิงกาหมาด เป็นปลิงทะเลอีกชนิดที่หาได้ตามโขดหิน แนวชายหาดและตามแนวหญ้าทะเล ได้ราคาสูงกว่าปลิงดอเทศ เพราะหายากกว่า ปลิงกาหมาดมีลักษณะเป็นทรงกระบอกกลม คล้ายไส้กรอก ลำตัวยืดหดได้ มีลายสีน้ำตาลแต้ม ลำตัวเป็นตะปุ่มตะป่ำเล็กน้อย มีสรรพคุณทางยาสูง ใช้ทำเครื่องสำอาง ดองน้ำผึ้งป่า รักษาแผล ช่วยบำรุงผิวพรรณ และบำรุงเรื่องข้อ กระดูกได้ดี เมื่อนำปลิงกาหมาด 10-12 กิโลมาตากแห้ง จะได้ปลิงกาหมาดแห้งเพียง 1 กิโล ขายได้สูงถึงกิโลละ 3,500 บาท สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ทุกเมนู

โดยเอานำมาต้มให้สุก ผ่ากลางเพื่อเอาของเสียออก หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ แล้วนำไปต้ม ผัด แกง ทอดหรือยำกับมะพร้าวคั่ว รสชาติหมือนกินเอ็นไก่หรือหนังหมู ให้ความรู้สึกกรุบ ๆ เคี้ยวเพลินและมีประโยชน์ต่อสุขภาพเหมือนปลิงทะเลทั่วไป ราคาขายสดเป็นตัว อยู่ที่กิโลละ 160 บาท แต่หากนำมาเคี่ยวกับสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ใบมะกรูด กระชาย มะพร้าวคั่ว ขมิ้นขาว ข่าแก่ โดยใช้เวลานานประมาณ 3 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำมันปลิงกาหมาดขายขวดละ 20 ซีซี ราคา 100 บาท ซึ่งมีสรรพคุณในการรักษาแผลสด แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเปื่อยและแก้อักเสบได้ผลชะงัก

ส่วนเมนูต้อนรับนักท่องเที่ยวที่นิยมกันมากที่สุด คือยำปลิงกาหมาด ใส่มะพร้าวคั่ว ซึ่งบนเกาะสุกร มีนางอารี ชุมคง อายุ 72 ปี เป็นชาวบ้านเพียงคนเดียวที่แปรรูปปลิงทะเลทั้งปลิงกาหมาดและดอเทศขาย สร้างรายได้เสริมเดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท

นางอารี ชุมคง บอกว่า ทำปลิงอยู่คนเดียวบนเกาะ หากใครจะมาซื้อมาขายก็นำมาขายที่ตน เพราะบางคนไม่รู้สูตร ไม่รู้เคล็ดลับ เอาไปทำแล้วกินไม่ได้ คาวบ้าง อะไรบ้าง บางคนเอาไปดองจนเหม็นก็ต้องทิ้ง ทำให้มีคนมาจ้างวานตนให้ทำให้บ่อยมาก ปลิงกาหมาดมีราคาแพงกว่าดอเทศ เพราะเป็นยารักษาโรค

ส่วนดอเทศ ต้องส่งไปแปรรูปเป็นยาที่จีน ดอเทศตากแห้งขายกิโลละ 500 บาท แต่ตัวเป็น ๆ รับซื้อกิโลละ 25 บาท ส่วนกาหมาดขายเป็นตัวกิโลละ 160 บาท ถ้าตากแห้ง 10 กิโลจะเหลือแค่ 1 กิโล สามารถเอาไปทำหลายอย่าง ทำเครื่องสำอาง ยาหม่อง ยำได้ แกงคั่วได้ เคี่ยวน้ำมัน ดองน้ำผึ้ง เป็นยาทุกชนิด กระตุ้นให้มีน้ำมีนวลขึ้น.


https://tna.mcot.net/region-1341225



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 19:21

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger