SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   ห้องรับแขก (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=2)
-   -   สรุปการประชุม "ความร่วมมือเพื่อพาอ่าวไทยผ่านวิกฤติน้ำท่วม" (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=1813)

สายน้ำ 18-11-2011 12:27

สรุปการประชุม "ความร่วมมือเพื่อพาอ่าวไทยผ่านวิกฤติน้ำท่วม"
 

ความร่วมมือเพื่อพาอ่าวไทยผ่านวิกฤติน้ำท่วม


เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องประชุมของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (1) สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย (2) มูลนิธิดร.สุรพล สุดารา และ (3) สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ได้รวมกันจัดประชุมระดมสมองเพื่อประเมินสถานการณ์อ่าวไทยอันเนื่องจากวิกฤติน้ำท่วม และแนวทางการจัดการเพื่อเผชิญกับภาวะดังกล่าว โดยมีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมสาขาต่างๆ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมประมาณ 25 คน



สถานการณ์ทะเลอ่าวไทย

ผู้เข้าร่วมประชุมได้รายงานถึงการสำรวจ และศึกษาวิจัยสถานภาพของทรัพยากร และลักษณะทางชีวภาพ เคมี และฟิสิกส์ของอ่าวไทยและชายฝั่ง ว่ามีการดำเนินการโดยครอบคลุมพื้นที่อ่าวไทย และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังมีสถานีสำรวจถาวรอยู่โดยรอบชายฝั่งอ่าวไทย ทั้งนี้ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงช่วงกลางเดือนตุลาคม การศึกษาสำรวจพบลักษณะที่สำคัญคือ

• ในหลายพื้นที่ของอ่าวไทยตอนในน้ำทะเลมีค่าความเค็มต่ำ (น้ำจืดมาก) ซึ่งเป็นภาวะที่พบเห็นเป็นปกติในบริเวณใกล้ปากแม่น้ำทั้งสี่สายในช่วงกลางถึงท้ายฤดูฝนของทุกปี

• น้ำทะเลในหลายพื้นที่มีค่า DO ต่ำมาก (DO = Dissolved Oxygen คือค่าออกซิเจนละลาย) ที่มีค่าต่ำเนื่องจากน้ำจืดที่ไหลออกสู่ทะเลมีสารอาหารปริมาณสูง เป็นภาวะที่เอื้อให้แพลงก์ตอนขยายปริมาณเร็ว จึงมีการใช้ออกซิเจนที่ละลายในน้ำมากตามไปด้วย ทั้งนี้การลดลงของ DO ในปีปัจจุบันซึ่งมีปัญหาน้ำท่วม มีสภาวะน่าเป็นห่วงกว่าในปีปกติ

• หอยในธรรมชาติ และหอยที่มีการเพาะเลี้ยงในบริเวณปากอ่าวมีการตายลงอย่างมากส่วนหลักล่อหอยใหม่ก็ไม่พบว่ามีลูกหอยลงเกาะ

• ปลาทะเลหลายชนิดทั้งจากการเพาะเลี้ยงและธรรมชาติมีการตายลงเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้การสำรวจในช่วงในช่วงเดือนกันยายน และตุลาคม พบว่าน้ำจืด และน้ำที่มี DO ต่ำแพร่ไปถึงบริเวณเกาะสีชัง ส่วนการสำรวจในช่วงเดือนปลายตุลาคม และต้นพฤศจิกายน บริเวณชายฝั่งชลบุรีมีระดับความเค็มและ DO เข้าสู่ภาวะปกติ โดยน้ำจืด และน้ำที่มี DO ต่ำจะแพร่ไปในทิศตะวันตกมากกว่า (บริเวณ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม จ.เพชรบุรี) เนื่องจากหลังช่วงปลายตุลาคม จะเริ่มเข้าสู่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมวลน้ำในอ่าวไทยจะมีการไหลสุทธิในทิศทวนเข็มนาฬิกา


สายน้ำ 18-11-2011 12:34


ภาพที่ 1 การไหลเวียนของน้ำในอ่าวไทยจากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
(ที่มา: www.mkh.in.th)


การคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงต่อไป

สืบเนื่องจากปริมาณน้ำจากแม่น้ำที่จะไหลลงสู่ทะเลจะยังมีปริมาณสูงมากกว่าปีปกติ และจะยังคงสูงต่อเนื่องไปอีกนานเป็นเดือน และมีคุณภาพต่ำ นักวิชาการที่เข้าร่วมประชุมคาดการณ์สถานการณ์ช่วงต่อไปในเบื้องต้นดังนี้

• สัตว์ทะเลที่เคลื่อนที่ไม่ได้อาทิเช่น หอยทั้งในธรรมชาติและที่มีการเพาะเลี้ยงจะมีปริมาณลดลง โดยเฉพาะหอยแมลงภู่ ซึ่งมีช่วงของการลงเกาะของตัวอ่อนในช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม นอกจากนั้นยังจะมีผลต่อหอยชนิดอื่นๆ เช่นหอยแครง หอยหลอด เป็นต้น

• ผลกระทบต่อประมงชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนบน เนื่องจากสัตว์ทะเลที่เคลื่อนที่ได้จะถอยร่นห่างฝั่งออกไปไกลมาก ส่งผลกระทบต่อชาวประมงทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันมากขึ้น หรืออาจทำให้ไม่สามารถออกไปถึงแหล่งประมงหากเป็นเรือขนาดเล็ก

• การบริโภคสัตว์ทะเลยังมีความปลอดภัย เนื่องจากในสภาพปัจจุบัน ยังไม่พบปัจจัยที่จะทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ ซึ่งทำให้เกิดอันตรายในการบริโภคสัตว์น้ำที่จับได้ในลักษณะปกติ

• ปะการังจะได้รับผลกระทบจากน้ำจืดในระดับมาก อย่างไรก็ดีเนื่องจากมวลน้ำในอ่าวไทยตอนบนในช่วงต่อจากนี้จะมีทิศไปทางตะวันตก (ภาพที่ 1) ดังนั้นแนวปะการังทางด้านอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (แนวแรกบริเวณเกาะสีชัง)จะไม่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่เป็นอยู่ และเป็นที่คาดการณ์ว่ามวลน้ำจืดจะไปถึงแนวปะการังกลุ่มแรกทางด้านอ่าวไทยฝั่งตะวันตก (บ้านกรูด) น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลปริมาณน้ำท่วมขังที่จะไหลลงสู่ทะเลจากหน่วยงานต่างๆ มีค่าไม่ชัดเจน ทำให้การประมาณระดับของสถานการณ์ไม่แน่นอนตามไปด้วย นอกจากนั้นในช่วงต่อไปน้ำจะเริ่มเป็นน้ำที่สูบออกจากพื้นที่ท่วมขัง ซึ่งมีค่า BOD สูง และอาจปนเปื้อนสารอินทรีย์ โลหะหนักที่มีภาวะเป็นพิษ ที่ประชุมได้เสนอแนะให้มีการจัดตั้งระบบเฝ้าระวังสภาพน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งให้ใกล้ชิด เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนสำหรับการแจ้งเตือนผู้ที่เกี่ยวข้อง และการจัดทำมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบอย่างเหมาะสม


สายน้ำ 18-11-2011 12:36



การดำเนินการต่อไป

• กรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง รับผิดชอบในการติดตามตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลครอบคลุมพื้นที่อ่าวไทยตอนบน การเก็บตัวอย่าง โดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แก่ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วมในการสำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูล

• เครือข่ายอนุรักษ์ของชุมชนชายฝั่ง (เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย) ร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการสำรวจคุณภาพน้ำ และสิ่งมีชีวิตในทะเลในบริเวณใกล้ฝั่ง อย่างต่อเนื่อง

• ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จะรับผิดชอบในการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และข้อมูลจากดาวเทียมทำการประเมินการเคลื่อนที่ของมวลน้ำจืดจากแม่น้ำทั้งสี่สาย

• สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบในการออกตรวจติดตามวัดคุณภาพน้ำในบริเวณอ่าวไทยตอนบนเบื้องต้น ประมวล วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ

• มูลนิธิดร.สุรพล สุดารา และสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย รับผิดชอบในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานยิ่งขึ้น



การประสานงาน และการติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม

รองศาสตราจารย์ ดร. อัจฉราภรณ์ เปี่ยมสมบูรณ์
สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 9 อาคารสถาบัน 3 ปทุมวัน กรุงเทพฯ
โทร. 02-218-8177 โทรสาร 02-254-4259
e-mail: ajcharaporn.p@chula.ac.th
Web site: www.arri.chula.ac.th
: www.mkh.in.th



สายชล 18-11-2011 14:02


ภาพและข้อมูลเพิ่มเติมจากอาจารย์บอย ค่ะ...

http://www.facebook.com/photo.php?fb...type=1&theater


http://a5.sphotos.ak.fbcdn.net/hphot...90198980_n.jpg

ภาพจากดาวเทียม Theos วันที่ 16 พ.ย. 54


เป็นครั้งแรกที่มวลน้ำจากแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ปรากฎเด่นชัดว่า กำลังมีน้ำจืดจากแผ่นดิน ไหลออกมาเป็นจำนวนมาก หลังจากช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีน้ำจืดไหลออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้ว แต่เป็นมวลน้ำประเภทแรกเป็นส่วนใหญ่ แต่มวลน้ำที่กำลังออกมาช่วงนี้ สะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของมวลน้ำที่ผ่านชุมชนต่างๆ ลงแม่น้ำทั้งสองสาย เป็นมวลน้ำอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ผมบรรยายไว้ในหน้ารวมของอัลบัมนี้


ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏเด่นชัดมานานแล้ว เพราะเป็นเส้นทางสายหลักในการระบายน้ำลงทะเล


สำหรับมาตรการเร่งด่วน ที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการประมง ต้องดำเนินการต่อ เมื่อคืนนี้ ช่วยกันคิดกับ ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คือ


1. การวางแผนและดำเนินการติดตาม เก็บข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล ประมวลวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย (กำหนดจุดเก็บตัวอย่าง ประเภทตัวอย่าง พารามิเตอร์ ความถี่ ฯลฯ)
หน่วยงานหลัก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง และกรมควบคุมมลพิษ


หน่วยงานสนับสนุน : สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ประสานงานเครือข่ายสถาบันต่างๆ ที่มีการศึกษาวิจัยทางทะเลและชายฝั่ง เช่น สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยมหิดล SEA START เป็นต้น


2. การเสนอมาตรการลดกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและทรัพยากรชายฝั่ง ชุมชนประมงชายฝั่ง ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ


3. การเสนอมาตรการและแนวทางเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ ทรัพยากร และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง


4. การสรุปบทเรียน จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการป้องกันและรับมือภัยพิบัติในระยะยาว

สายชล 18-11-2011 14:07



ภาพและเรื่องราวเพิ่มเติม จากอาจารย์บอย หาอ่านได้ที่...



http://www.facebook.com/media/set/?s...8994198&type=3

สายชล 19-11-2011 11:42



ชาวประมงชายฝั่ง และนักวิชาการ เขาพูดถึงน้ำเน่าไหลลงทะเลกันว่าอย่างไร ศึกษาได้จากที่นี่ค่ะ



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:44

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger