SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=6192)

สายน้ำ 07-02-2023 02:28

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ กับมีหมอกในตอนเช้า โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มของการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เนื่องจากมีฝนเกิดขึ้นในระยะนี้


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 7 ? 12 ก.พ. 66 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ กับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดพาความหนาวเย็นจากที่ราบสูงทิเบตและประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ทำให้ภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิลดลง 2 ? 5 องศาเซลเซียส สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ตลอดช่วง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ตลอดช่วง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 07-02-2023 03:11

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


สะเทือนใจ! คนมักง่ายทิ้งเศษอวนแนวปะการัง นักดำน้ำ จิตอาสาช่วยเก็บกู้

อยากให้มีจิตสำนึก.. หนุ่มโพสต์อวน 100 เมตร หนัก 30 กก. ติดคลุมปะการังใต้ทะเลตรัง บริเวณอ่าวเนียง "เกาะกระดาน" นักดำน้ำ จิตอาสา ร่วมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ช่วยเก็บกู้เสร็จเรียบร้อย พบปะการังเสียหาย ถ้าปล่อยไว้นานไม่ส่งผลดี

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความว่า "ต้องการความช่วยเหลือด้วยครับ ก่อนที่จะสูญเสียมากไปกว่านี้ ขอบอกเลยว่าช่วงนี้ที่บริเวณเกาะกระดาน ทะเลตรัง เจอแบบนี้เยอะมาก และวางอวนใกล้หน้าที่ทำการอุทยานฯ เลย ได้เหรอครับ ผมไม่ต่อต้านคนทำมาหากินทางทะเลนะ แต่อยากให้มีจิตสำนึกในสิ่งที่ทำ และอยากให้อุทยานฯ ช่วยดูแลตรงนี้หน่อย ช่วงนี้บ่อยเหลือเกิน ขอวอนผู้เกี่ยวข้องครับ" พร้อมกันนี้ได้มีการโพสต์ภาพเศษอวนที่คลุมปะการังเป็นแนวยาว ทั้งยังมีภาพที่สะเทือนใจขณะที่ปลาปักเป้ากำลังพองตัว และปลาอีกหลายชนิดติดอยู่ในอวน พร้อมทั้งมีการแท็กชื่ออุทยานหาดเจ้าไหม หลังจากมีการโพสต์ออกไปก็มีการแชร์และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง

ความคืบหน้าล่าสุด นักประดาน้ำจิตอาสาจาก Trang Pro dive และ Laytrang Diving อบต.เกาะลิบง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ร่วมกันเก็บกู้เครื่องมือประมงที่อยู่ใต้ทะเล บริเวณอ่าวเนียง เกาะกระดาน หมู่ 2 บ้านเกาะมุก ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง

สำหรับบริเวณพื้นที่ที่พบเศษอวนอยู่บริเวณอ่าวเนียง ทิศใต้ ที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ที่ จม.3 (เกาะกระดาน) โดยจมอยู่ที่ระดับความลึก 8 เมตร ตรวจสอบพบมีเศษอวนคลุมแนวปะการังเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร นักประดาน้ำจิตอาสาและเจ้าหน้าที่ต่างช่วยกันเก็บกู้ โดยใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันความเสียหายกับแนวปะการัง โดยใช้เวลาดำน้ำประมาณ 2 ชั่วโมง สามารถเก็บกู้ได้ เบื้องต้นพบเป็นเครื่องมือประมงชนิดอวนลอย มีความยาวประมาณ 100 เมตร น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม

นายโสภณ คิ้วงาม หรือ ครูทัช อายุ 45 ปี จาก Trang Pro dive ผู้โพสต์ข้อความ กล่าวว่า วันนี้ตนและทีมนักประดาน้ำจิตอาสา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และ อบต.เกาะลิบง ได้ร่วมกันเก็บกู้ซากอวนที่ลอยมาติดแนวปะการัง ตนได้นำนักเรียนดำน้ำมาฝึกดำน้ำแถวอ่าวเนียง ซึ่งขณะที่อยู่ใต้น้ำดูแนวปะการังนั้นเองก็เห็นมีเศษอวนไปคลุมแนวปะการังและมีปลาหลายชนิดที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นต่างก็ติดอวนไปไหนไม่ได้ ตนและนักเรียนจึงช่วยกันแกะอวนบางส่วนออกมาก่อน

นายโสภณ กล่าวต่อว่า จากการประเมินด้วยสายตาแนวปะการังอาจจะได้รับความเสียหายบ้าง ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานย่อมไม่ส่งผลดี จึงพูดคุยกับทีมงานจัดทีมลงเก็บกู้ครั้งนี้โดยใช้ทุนส่วนตัวและผู้มีจิตอาสาที่ช่วยกันมา อย่างไรก็ตาม ฝากนักท่องเที่ยวและหลายๆ คน ให้ช่วยกันลดใช้ขยะให้น้อยลง อย่าทำลายทรัพยากรตัวเอง เพราะถ้าถูกทำลายไปเรื่อยๆ อนาคตก็จบ


https://www.dailynews.co.th/news/1968790/


สายน้ำ 07-02-2023 03:17

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


กรมประมงชี้ "ปลาเก๋าหยก" ยังไม่ครบขั้นตอนวิจัย-สั่งปลดทุกเมนู

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

อธิบดีกรมประมง ยัน "ปลาเก๋าหยก" ของซีพียังไม่ครบขั้นตอนการวิจัยเฟส 2 ในระบบปิดเพิ่งเริ่มต้นปี 2565-2567 ตอบความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ ชี้ผิดเงื่อนไขนำสต็อกปลาเก่าเฟสแรก นำปลาแช่แข็งมาขายแปรรูป เรียกแจงบอร์ด IBC ส่อพักใบอนุญาต

กรณีบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยก (Jade perch) ซึ่งล่าสุดพบมีการจำหน่าย และโฆษณาปลาเก๋าหยก เพื่อแปรรูปอาหารในงานเกษตรแฟร์เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา

วันนี้ (6 ก.พ.2566) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กรมประมง ไม่ได้มีการอนุญาตให้ CPF นำผลิตภัณฑ์ปลาเก๋าหยกแบบแช่แข็ง หรือแปรรูปมาขายในงานเกษตรแฟร์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เปิด นอกเหนือข้อตกลงในการวิจัยเฟสนี้ (2565-2567) เพราะยังอยู่ระหว่างทาง เพื่อหาคำตอบว่าปลาเก๋าหยกจากที่อนุญาตให้ 40 คู่จากเฟสแรกเมื่อปี 2561-2564 จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศหากหลุดไปในสิ่งแวดล้อมหรือไม่

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ปลาหยก ยังไม่เคยทดลองในพื้นที่เลี้ยงจริง ยังเลี้ยงในระบบปิดภายใต้การควบคุมของกรมประมง รู้แค่พฤติกรรมการออกลูกอายุเท่าไหร่ และประชากร การกินอาหารกี่รูปแบบ เป็นการประเมินความเสี่ยงในระบบทดลองเท่านั้น บริษัทรายงานครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน ธ.ค.2565 ว่าเพิ่งเพาะชุดลุกพันธุ์ชุดแรก

โดยผู้ประกอบการอ้างว่าเป็นปลาสต็อกแช่แข็งที่หลงเหลือจากการทดลองในเฟสแรกที่มีเงื่อนไขให้ชำแหละปลาแช่แข็งจำหน่ายในช่องทางของบริษัท แต่กลับมาโปรโมทขาย

"ไม่อนุญาตให้นำปลาแช่แข็งและแปรรูปมาจำหน่ายที่เกษตรแฟร์ ตั้งแต่แรก เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย ได้สั่งเก็บบูททั้งหมด ห้ามโฆษณาและสั่งให้ปลดทุกเมนูที่จะนำไปขายตรงในภัตตาคาร ร้านอาหารทั้งหมด เพราะถือทำผิดเงื่อนไขชัดเจน"


ทำไมถึงอนุญาตนำเข้ามาเพาะเลี้ยงย้อนแย้งกม.

อธิบดีกรมประมง ยอมรับว่าปลาหยก เป็นหนึ่งใน 13 ชนิดหรือสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ที่มีกฎหมายห้ามนำเข้ามาเพาะเลี้ยงเมื่อปี 2564 เพราะเป็นปลาที่มีความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากหลุดรอดในระบบนิเวศ

แต่เส้นทางของปลาชนิดนี้ ตั้งแต่ปี 2558 ซีพี มีการขออนุญาตนำเข้าปลาหยกเพื่อการวิจัย พบว่าปลาชนิดนี้มีความเสี่ยงกระทบต่อระบบนิเวศปานกลาง สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีค่าความเค็ม 10 PPT กินสัตว์น้ำ พืชแพลงก์ตอนได้ทุกชนิด

จากนั้นในปี 2561-2564 บริษัทซีพี ขอนำเข้าทดลองเลี้ยงผ่านระบบปิด ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด IBC ออกระเบียบท้ายใบอนุญาตว่าการเลี้ยงต้องควบคุมอย่างระมัดระวังห้ามหลุดรอด และหากหลุดรอดโทษความผิดปรับ 2 ล้านบาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี

ต่อมาในปี 2565 กรมประมงให้ทางซีพี สรุปโครงการเฟสแรก การทดลองชำแหละเนื้อปลาทั้งหมดที่เฟสแรกเป็นแบบแช่แข็ง และตอนนี้ 2565-2567 ซีพี ขออนุญาตทดลองเลี้ยงโดยมีพ่อพันธุ์แค่ 40 คู่จากที่อนุญาตในเฟสแรกมาเลี้ยงในระบบปิด ได้ลูกปลาอายุประมาณ 3-6 เดือนราว 10,000 ตัว ภายใต้การควบคุมกรมประมงอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน เพื่อตอบว่ามีศักยภาพในการเพาะเลี้ยง และผลกระทบต่อนิเวศหรือไม่ ในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไว้

"ประเมินแล้วอนุญาตให้ศึกษาประชากรจากพ่อแม่แค่ 40 คู่รวมทั้งการอนุบาล และศึกษารูปแบบ และการตลาดระยะเวลา 3 ปี (2565-2567) ต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงลูกปลาทุกเดือน และรายงานผลการศึกษาทุก 3 เดือนให้กับ IBC "


ปลาเศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อใคร-ความคุ้มทุน สวล.

ส่วนประเด็นที่ว่าปลาหยก พร้อมจะเป็นปลาเศรษฐกิจหรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ต้องถามว่าถ้าเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทย ต้องประเมินให้รอบคอบคุ้มค่าหรือไม่ ที่จะทำให้มีความเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อม และเกษตรกรต้องมีรายได้จากปลาตัวนี้

แต่หากเป็นแค่ของบริษัทต้องดูว่าจะมีระบบควบคุมอย่างไร ยังเร็วไปที่จะไปถึงขั้นนั้น เพราะตอนนี้ยังไม่มีคำตอบเรื่องผลกระทบต่อนิเวศ เรื่องที่เกิดขึ้นจะเรียกซีพีเข้ามาชี้แจงกับบอร์ด IBC ในสัปดาห์นี้

"ตอนนี้พักระงับโฆษณาแล้ว เพราะทำผิดเงื่อนไขนอกเหนือการอนุญาต ส่วนใบอนุญาต ไม่จำเป็นต้องรอถึงปี 2567 ถ้าเขาไม่ทำตามเงื่อนไข และฝ่าฝืนสามารถพักใช้ หรือเพิกถอนโครงการวิจัย ถ้ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินที่จะป้องกัน"

ทั้งนี้ยังมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายติดตามตรวจสอบสถานที่เลี้ยงในระบบปิด และมอนิเตอร์ปัญหาการเล็ดรอดของลูกปลาในสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป โดยยืนยันกรมประมงไม่ได้ละเลย ซึ่งในสัปดาห์นี้จะทำให้รู้ว่าสต็อกปลาแช่แข็งที่อ้างว่านำออกมาขายและแปรรูปไปทั้งหมดเท่าไหร่


https://www.thaipbs.or.th/news/content/324275



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:08

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger