SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2565 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=6111)

สายน้ำ 03-12-2022 02:38

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2565
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามัน ในช่วงวันที่ 4-5 ธ.ค. 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรงขึ้น คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 3-4 ธ.ค.2565

สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรในระยะนี้ไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 3 - 5 ธันวาคม 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง และจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง จากนั้นจะเคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 8 ธันวาคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียส

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มตลอดช่วงไว้ด้วย และขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ โดยชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 3 ? 5 ธันวาคม 65 นี้



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 03-12-2022 03:25

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


รู้จัก 4 แหล่งธรรชาติ ช่วยรักษาอุณหภูมิโลก-ลดภาวะเรือนกระจก

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เผย 4 แหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและรักษาอุณหภูมิโลกได้อย่างยั่งยืน

วันที่ 2 ธันวาคม 2565 เฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความระบุว่า การลดก๊าซเรือนกระจกและลดอุณหภูมิโลกอย่างยั่งยืน จำเป็นที่ต้องฝากความหวังไว้กับมาตรการและแนวทางที่ทุกชาติทั่วโลกนำมาปฏิบัติ โดยเฉพาะการพยายามรักษาแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติเอาไว้

1. ป่าพรุ (Peatlands) สามารถกักเก็บคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพกว่าป่าเขตร้อนทั่วไป เนื่องจากความหนาของการทับซ้อนกันจากซากพืชและสัตว์มาอย่างยาวนาน หากมีความหนา 10 เมตรขึ้นไป จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 5,800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เปอร์เฮกตาร์ ขณะที่ป่าเขตร้อนทั่วไป กักเก็บคาร์บอนได้เพียง 300-800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เปอร์เฮกตาร์

2. พื้นที่ป่า ต้นไม้และป่าไม้เป็นตัวดูดซับและกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ โดยการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าเขตร้อนและการปลูกป่าใหม่ทั่วโลก สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ 60?87 กิกะตันภายในปี ค.ศ. 2050

3. พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) พื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ หรือช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ต่างๆแล้ว ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีบทบาทสำคัญอยากหนึ่ง โดยประมาณการว่า พื้นที่ชุ่มน้ำบนบกในทวีปอเมริกา สามารถเก็บกักคาร์บอนไว้ถึง 13.5 พันล้านเมตริกตัน

4. ระบบนิเวศชายฝั่ง เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะพื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่หญ้าและสาหร่ายขนาดใหญ่ มีบทบาทสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินลึกหลายเมตร ในปริมาณที่มากกว่าป่าเขตร้อน


https://www.thairath.co.th/news/local/2568225


สายน้ำ 03-12-2022 03:28

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ


ภัยโลกรวนใกล้ถึงตัว วานูอาตู ตั้งแผนย้ายหลายสิบหมู่บ้าน หนีจมทะเล

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
An aerial view of Erakor island and the coastline of Port Vila on December 07, 2019 in Port Vila, Vanuatu. (Photo by Mario Tama/Getty Images)

โลกร้อนส่งผลกระทบชัดขึ้นเรื่อย ๆ วานูอาตู ประเทศหมู่เกาะ นิ่งนอนใจไม่ได้แล้ว ต้องตั้งแผนย้ายหมู่บ้านหนีน้ำทะเลสูง

วันที่ 2 ธันวาคม 2565 เอเอฟพี รายงานว่า วานูอาตูเตรียมย้ายหมู่บ้านหลายสิบแห่งใน 2 ปีนี้ เพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนเป็นภัยที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

ราล์ฟ เรเจนวานู รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศกล่าวว่าผลจากโลกร้อนทำให้ชาววานูอาตูประมาณ 300,000 คนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและพายุรุนแรงขึ้น

หมู่บ้านหลายสิบแห่งที่ตั้งในพื้นที่เสี่ยงจะต้องย้ายภายใน 24 เดือน ส่วนการตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่อื่นจะขยับขยายต่อไปในระยะยาว

ภารกิจหลักในอนาคต คือ การย้ายประชาชนเนื่องจากภาวะโลกร้อน ซึ่งต้องพร้อมรับมือและวางแผนตั้งแต่บัดนี้ นับว่าเป็นความท้าทายใหญ่หลวงและโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่สำหรับหลายๆ คนที่ต้องย้ายจากบ้านซึ่งเป็นที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ประเทศในที่ต่ำบนหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น วานูอาตูเผชิญกับภาวะโลกรวน เมื่อปี 2558 ชาววานูอาตูครึ่งหนึ่งของประเทศได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนแพมที่พัดถล่มกรุงพอร์ตวิลลาทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนและไร้ที่อยู่อาศัยหลายพันคน

รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี จัดอันดับให้วานูอาตูเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วมและสึนามิ

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกกำลังเตรียมย้ายชุมชนในพื้นที่เสี่ยงเช่นกัน รวมทั้ง ฟิจิ ที่มีหมู่บ้านหลายสิบแห่งอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องย้ายเพราะผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 25?58 เซนติเมตรภายในกลางศตวรรษนี้ ทำให้ชาววานูอาตูร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศเสี่ยงภัยธรรมชาติ เนื่องจากอาศัยห่างจากชายฝั่งไม่ถึงกิโลเมตร

เรเจนวานูกล่าวว่าต้องปกป้องชายฝั่งและคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยเพราะมีคนตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นจากภูเขาไฟปะทุ น้ำท่วม พายุไซโคลนและอื่นๆ จึงต้องเตรียมย้ายประชาชนและสร้างสาธารณูปโภคเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยขึ้นในปีต่อๆ ไป


วานูอาตูเคยย้ายประชาชนมาแล้ว

ปี 2548 เคยย้ายประชาชนทั้งหมดที่อาศัยในชุมชนทางตอนเหนือของเกาะเตกัวไปยังที่สูงเพราะชายฝั่งเสี่ยงน้ำท่วม

ต่อมา ปี 2550 ประชาชน 11,000 คนบนเกาะอัมแบ ทางตอนเหนือของประเทศต้องย้ายไปเกาะอื่นเพราะภูเขาไฟมานาโรโวอิปะทุพ่นก้อนหินและเถ้าถ่านใส่ชาวบ้าน

เดือน พ.ค.2565 รัฐสภาของวานูอาตูประกาศภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่รัฐบาลเร่งให้ทั่วโลกตระหนักถึงภัยโลกรวนโดยพยายามยื่นเรื่องยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก

เรเจนวานูร่วมประชุมสุดยอด COP27 ที่เมืองชาร์ม เอล ชีค ของอียิปต์เมื่อเดือนที่แล้ว ประเด็นสำคัญ คือ การช่วยให้ประเทศยากจนต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตั้งกองทุน "สูญเสียและเสียหาย"

ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม COP27 ย้ำคำมั่นที่จะจำกัดอุณหภูมิให้เพิ่ม 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิโลกก่อนถึงยุคอุตสาหกรรม แต่เรเจนวานูกล่าวว่าคำมั่นสัญญาดังกล่าวยังไม่เพียงพอเพราะยังไม่มีคำสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ดังนั้น อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งจะเป็นหายนะกับแปซิฟิก จึงต้องมุ่งเน้นมาที่การปรับพฤติกรรมและเห็นความสำคัญของการสูญเสียและความเสียหาย


https://www.prachachat.net/world-news/news-1136651


สายน้ำ 03-12-2022 03:33

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


มุมมองนักวิชาการ กับ กำแพงกันคลื่น ที่ต้องทำ EIA เพราะเป็นโครงการผลาญงบ ............... ผศ.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชายฝั่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

"ทะเล" นิยามในภาพจำของใครหลายคนที่อาจมีองค์ประกอบหลักๆคือหาดทรายสายลมแสงแดดและเสียงคลื่นแต่ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์แพร่ระบาดของ กำแพงกันคลื่น ทั่วประเทศโดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญเช่นหาดชะอำและหาดปราณบุรี นั่นทำให้ภาพจำของทะเลในสายตาของคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนไปเพราะหลังปรากฎโครงสร้างดังกล่าวทำให้หาดทรายที่เคยสวยงามถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่ปกคลุมไปด้วยตะไคร้น้ำสีเขียวและลื่น (เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว) บางหาดมีซากปรักหักพังของ กำแพงกันคลื่น ที่เสียหายที่สำคัญคือเมื่อมีกำแพงกันคลื่นจะทำให้เกิดการม้วนตัวของคลื่นหน้ากำแพงและพัดพาเอาทรายออกไปทำให้หาดทรายที่ในอดีตเคยทอดยาวสุดลูกหูลูกตาในช่วงฤดูที่ไม่มีมรสุมหายไปอย่างถาวร

ชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่เปราะบางและมีพลวัตสูงที่สุดในโลกความหมายคือมีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติไปอย่างไม่หยุดนิ่งและหากปรากฎสิ่งแปลกปลอมเข้ามากระทบเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดการเสียสมดุลได้โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีภาวะวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change เข้ามาเป็นปัจจัยเสริม นั่นทำให้กระบวนการชายหาดที่นักวิชาการเคยวิเคราะห์หรือคาดคิดไว้อาจเปลี่ยนไปจากเดิมในอดีตจึงทำให้การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทุกชนิด มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยขั้นตอนการศึกษาที่รอบด้านและต้องผ่านกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ในช่วงปี 2556 กลับมีการถอดโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำEIA เป็นที่มาที่ทำให้ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์แพร่ระบาดของกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศ

ผศ.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชายฝั่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อธิบายความจำเป็นที่โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต้องจัดทำ EIA ไว้ 2 ประเด็น

- ประเด็นแรก มองว่า การทำ EIA ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าโครงสร้างเหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับสภาพแวดล้อม แต่สิ่งสำคัญคือ ชาวบ้านในพื้นที่ที่ประสบปัญหาสามารถยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังมีโครงสร้างได้หรือไม่

- อีกประเด็นคือ ภาครัฐได้มีความพยายามที่จะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งกระบวนการทำ EIA ต้องจัดทำอย่างเข้มข้นมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้นเมื่อย้อนกลับมาจะพบว่าหากไม่มีการจัดทำ EIA ก็จะเป็นช่องว่างที่ทำให้ประเด็นหลักทั้ง 2 ข้อ ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ หรือสภาพบังคับทางกฎหมาย เมื่อเกิดปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจะไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้มากนัก อนึ่งการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน เป็นหลักประกันสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐที่ดี เพราะปัจจุบันจะเห็นว่าแม้จะมีบางโครงการที่ต้องมีขั้นตอนการจัดทำEIAอยู่แล้ว แต่ก็ยังปรากฎขั้นตอนที่บิดเบี้ยว ดังนั้นจะนับประสาอะไรกับโครงการที่ไม่ต้องจัดทำEIA ว่ากระบวนการที่บิดเบี้ยวและไม่สามารถตรวจสอบได้แค่ไหน และนั่นเป็นที่มาที่ทำให้ภาคประชาชนต้องเคลื่อนไหว

?แล้วแนวทางไหนดีที่สุดในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง?

นี่เป็นคำถาม? ?ที่นักวิชาการและหน่วยงานรัฐต้องหาคำตอบ โดยจะต้องวิเคราะห์จากสภาพแวดล้อมและตัวแปรที่เป็นปัจจัยสำคัญของปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบที่ได้ ไม่น่าจะใช่ คำตอบเดียวกันในทุกโจทย์ เพราะแต่ละพื้นที่ มีสภาพแตกต่างกัน แต่จะเห็นว่าขณะนี้ กรมเจ้าท่า และ กรมโยธาธิการและผังเมือง พยายามยัดเยียดคำตอบเดิม ๆ ให้กับโจทย์ทุกข้อ ซึ่งหากสามารถแก้ปัญหาได้จริง งบประมาณที่นำมาใช้ควรจะลดลงได้แล้ว แต่หากตรวจสอบจะพบว่าแนวโน้มงบประมาณที่นำมาใช้ในการสร้างกำแพงกันคลื่นกลับเพิ่มขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชายฝั่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เปรียบเทียบแนวทางแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งว่าคล้ายกับอาการป่วยที่ต้องกินยาตามแต่ละระดับ เริ่มจากยาอ่อน แต่หากไม่หายจึงค่อยปรับเป็นยาแรง ซึ่งแตกต่างจากวิธีที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังเลือกใช้อยู่ เพราะพวกเขามักใช้ยาแรงเข้าไปทันทีโดยไม่ตรวจสอบอาการ ยกตัวอย่างเช่น โครงการปักไม้ชะลอคลื่น หรือ วางถุงทรายขนาดใหญ่ ที่เป็นมาตรการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบชั่วคราว เมื่อถึงฤดูมรสุม หน่วยงานท้องถิ่นจะต้องเริ่มดำเนินการ และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลกัดเซาะหน่วยงานท้องถิ่นก็จะต้องนำโครงสร้างเหล่านี้ออกไป วิธีนี้เป็นจุดอ่อนที่รัฐมองและชอบอ้างว่าเป็นวิธีที่ต้องทำต่อเนื่อง สร้างความลำบากให้กับหน่วยงานท้องถิ่น แต่จากการคำนวน งบประมาณการทำโครงการปักไม้ชะลอคลื่น ของเทศบาลเมืองม่วงงาม จ.สงขลา พบว่าโครงการนี้ไม่ได้ทำทุกปี คือ ในปี 2560 ใช้งบประมาณ 552,660 บาท , ปี 2561 ใช้งบประมาณ 127,400 ปี 2562 ไม่มีการจัดทำเพราะไม่มีการกัดเซาะ และปี 2563 ใช้งบประมาณ 39,000 บาท รวม 4 ปี ใช้งบประมาณ 719,060 บาท

เมื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามระยะทางประมาณ 2.6 กม. ที่มีมูลค่ารวม 226 ล้านบาท จะเห็นว่า ถ้านำเงินงบประมาณจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเปลี่ยนมาเป็นวิธีปักไม้ชะลอคลื่น จะสามารถดำเนินโครงการต่อเนื่องได้ถึง 409 ปี

การจะเปรียบเทียบเพื่อหาคำตอบวิธีที่ดีสุดในมุมมองของนักวิชาการ ม.เกษตรศาสตร์ จึงมองว่าไม่ควรนำเรื่องปัจจัยความลำบากของหน่วยงานมาเป็นตัวตั้ง แต่ควรเอาผลลัพธ์ด้านความคุ้มค่าขอเงินภาษีประชาชนมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นประเด็นหลักมากกว่า อีกทั้งเมื่อนำข้อเท็จจริงเรื่องวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change มาร่วมวิเคราะห์ จะเห็นชัดเจนว่า ทุกภัยพิบัติสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มาตรการที่เหมาะสม ณ ช่วงเวลาหนึ่ง อาจไม่เหมาะสม เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง การสร้างโครงสร้างที่มีลักษณะคงทนถาวร จึงอาจไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

"ระยะนี้เริ่มเห็นการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมเกี่ยวกับเรื่องกำแพงกันคลื่นมากขึ้น ส่วนตัวเชื่อว่าการต่อสู้เรื่องนี้อาจต้องใช้เวลา แต่ก็รู้สึกดีใจเพราะหากมองย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีก่อนกระแสกำแพงกันคลื่นยังอยู่ในวงจำกัดแค่กลุ่มนักวิชาการเฉพาะด้าน แต่ปัจจุบันเริ่มพบว่าประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้แล้ว?."


https://dxc.thaipbs.or.th/news_updat...8%9c%e0%b8%a5/


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 19:21

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger