SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5136)

สายน้ำ 15-05-2020 03:43

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่งในระยะนี้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนต่อเนื่อง

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น ?หว่องฟ้ง? (VONGFONG) บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ตอนล่าง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ตอนบนในช่วงวันที่ 15-16 พ.ค.63 โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนขึ้นอ่าวเบงกอลตอนบน


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 15 - 16 พ.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงเกิดขึ้นบางพื้นที่ เนื่องจากลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดนำความชื้นเข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ส่วนในช่วงวันที่ 17-20 พ.ค. 63 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทย ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบน

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น ?หว่องฟ้ง? (VONGFONG) บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ตอนบนในช่วงวันที่ 15-16 พ.ค.63 ซึ่งพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 15 - 16 พ.ค. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งฟ้าผ่า ในระยะนี้ไว้ด้วย และขอให้ประชาชนภาคใต้ฝั่งตะวันตกระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย ในช่วงวันที่ 17-20 พ.ค. 63



https://i1198.photobucket.com/albums...psl7pwb3jy.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psa4le9rx3.jpg

สายน้ำ 15-05-2020 04:15

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่สงบ เลียงผา-หมูป่า เดินสบายใจเพราะโควิด-19 ทำไร้คน

https://i1198.photobucket.com/albums...pssyuukqt0.jpg

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เผยภาพป่าหลังปิดอุทยานแห่งชาติฯ จากโรคโควิด-19 ไร้ผู้คนความสงบกลับคืนมา จนเลียงผา และฝูงหมูป่า ออกมาเดินกลางถนนได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องเกรงกลัวรถยนต์จะมาชน

จากการที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศปิดการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทุกแห่ง เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระบาด ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.63 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศยกเลิก ทำให้ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 5 และเป็นลำดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติของไทย ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อีก 1 แห่ง

ทำให้ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลับคืนสู่ธรรมชาติ สัตว์ป่านานาชนิดในเขตอุทยานสามารถดำรงชีวิตในผืนป่าอย่างมีความสุข เมื่อผืนป่าสงบเงียบ เจ้าของบ้านจึงออกเดินเล่นอย่างมีความสุข หลังจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สามารถบันทึกภาพ "เลียงผา" ที่ออกเดินชมวิวที่ยอดเขาสูงบริเวณผาเดียวดาย ที่เป็นแหล่งชมวิวที่สวยงามและมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี นักท่องเที่ยวเมื่อขึ้นเขาใหญ่จะต้องเดินเข้าไปชมที่บริเวณผาเดียวดาย เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวมารบกวน ทำให้ "เลียงผา" ออกมาเดินเล่นอย่างสบายใจ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พ.ค.63 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สามารถบันทึกภาพ "เลียงผา" ขณะออกมาจากป่าเดินข้ามถนนและเล็มหญ้า กิ่งไม้ ใบไม้ อย่างเอร็ดอร่อย ได้อีกครั้ง เป็นภาพธรรมชาติที่สดชื่นสวยงามของสิ่งมีชีวิตในป่า โดยไม่มีรถยนต์หรือนักท่องเที่ยวเข้าไปรบกวน ส่วนหมูป่า ก็ไม่น้อยหน้า พาฝูงหมูป่าตัวเล็กตัวใหญ่เดินข้ามถนนอย่างสบายใจ โดยไม่สนใจหรือกลัวรถยนต์จะวิ่งมาชนให้ได้บาดเจ็บหรือตายแต่อย่างใด.


https://www.thairath.co.th/news/local/east/1844504


สายน้ำ 15-05-2020 04:18

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ครอบครัวนากผ่อนคลายอารมณ์ หลังปิดอุทยานฯ นานกว่า 1 เดือน

อุทยานเขาใหญ่ โชว์ภาพครอบครัวนากขนเรียบ ที่ไม่พบเห็นได้บ่อยนัก โดยมีชาวเน็ตเข้ามาชื่นชมความน่ารักของครอบครัวนากมากมาย เผยครอบครัวนากดูผ่อนคลายและสบายใจเนื่องจากช่วงนี้ทางอุทยานปิดมานานกว่า 1 เดือน

https://i1198.photobucket.com/albums...psxgy8lldh.jpg

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. เพจ "อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ - Khao Yai National Park" ได้เผยวิดีโอความยาว 0.27 นาที โดยเป็นภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่าง "ตัวนาก" โดยในวิดีโอเผยความน่ารักของครอบครัวนาก ซึ่งดูไปเหมือนกำลังสบายอารมณ์ที่ป่ากลับมาเงียบสงบอีกครั้ง โดยนากชนิดที่ปรากฏในวิดีโอคือ "นากใหญ่ขนเรียบ" ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ระบุว่าไม่สามารถพบเห็นได้บ่อยนัก

โดยเพจระบุเนื้อหาว่า "ครอบครัวนากนับสิ! ครอบครัวเรามีกี่ตัว นากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขึ้นมาอาบแดดหลังจากมีการปิดอุทยานฯ 1 เดือน"

ทั้งนี้ ตัวนาก หรือนาก ในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 ชนิด คือ นากเล็กเล็บสั้น นากใหญ่ขนเรียบ นากใหญ่จมูกขน หรือ นากใหญ่หัวปลาดุก และนากใหญ่ธรรมดา ทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และเป็นสัตว์นักล่าโดยธรรมชาติ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตไม่สามารถ ครอบครอง ล่า หรือค้าได้ ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จำคุกไม่เกิน 4 ปี และปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท


https://mgronline.com/onlinesection/.../9630000050270


สายน้ำ 15-05-2020 04:22

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


การปกป้องมหาสมุทรเป็นเรื่องเร่งด่วน?เพื่ออนาคตด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ............... โดย Ellie Hooper

แม้ตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤต โควิด-19 แต่เราก็ต้องปกป้องการฟื้นตัวของระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน

นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าสิ่งมีชีวิตใต้น้ำนับล้านชีวิต ตั้งแต่ผืนน้ำสีฟ้าอันกว้างใหญ่สวยงามชวนหลงใหลไปจนถึงระดับความลึกอันน่าพิศวงที่ยังรอการค้นพบนี้ มหาสมุทรยังมีบทบาทที่ยิ่งใหญ่มากในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นเหมือนอ่างกักเก็บความร้อนและคาร์บอนจากบนผิวโลกเอาไว้

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดพบว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2514-2553 มหาสมุทร ดูดซับความร้อนจากพื้นผิวโลกมากกว่าร้อยละ 90 และยังดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์กว่าร้อยละ 40 อีกด้วย กล่าวได้ว่ามหาสมุทรนั่นเป็นเหมือนเกราะป้องกันเราไม่ให้พบเจอกับวิกฤตสภาพอากาศสุดเลวร้ายที่ควร จะเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ดังที่ จอช วิลลิส นักสมุทรศาสตร์ของนาซาได้กล่าวไว้ว่า "มหาสมุทรช่วยยืดเวลาการพิพากษาของพวกเราออกไป" ถ้าหากไม่ได้มหาสมุทรช่วยไว้ล่ะก็ ป่านนี้พวกเราก็คงเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้ายสุดบรรยายอยู่เป็นแน่

ในเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2562 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยมหาสมุทรและพื้นที่ในโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง (The Oceans and Cryosphere) โดยเป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อมหาสมุทรและภูมิภาคที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง รายงานแสดงให้เห็นว่าขีดจำกัดของมหาสมุทรในการดูดซับเหล่าก๊าซคาร์บอนและความร้อนได้มาถึงจุดวิกฤตแล้ว

ขณะนี้ทะเลกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และค่าความเป็นกรดที่เพิ่มมากขึ้นรวมถึงคลื่นความร้อน ที่กำลังทำร้ายสาหร่ายและปะการังให้เหลือน้อยลงไปทุกที หากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้หายไป กิ่งก้านที่เคยเป็นบ้านให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น ปลา สัตว์ที่มีเปลือกแข็งจำพวกกุ้ง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์ต่างๆ ก็จะหายไปด้วย

https://i1198.photobucket.com/albums...pstwcnxna9.jpg
ฝูงปลาว่ายน้ำข้ามแนวปะการัง แม้ครั้งหนึ่งสาธารณรัฐนาอูรู ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค จะเคยมีรายได้เข้าประเทศจำนวนมากจากการทำอุตสาหกรรมถลุงแร่ฟอสเฟต ในทะเล แต่เมื่อทรัพยากรดังกล่าวหมดไป ก็ส่งผลกระทบต่อเศษฐกิจและสังคมอย่างมาก ชาวนาอูรูจึงหันเปลี่ยนมาจัดตั้งเขตคุ้มครองการประมงในน่านน้ำของตนเองและน่านน้ำสากลใกล้เคียงแทน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ยังเหลืออยู่ไว้ให้ได้มากที่สุด ? Paul Hilton / Greenpeace

สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลขนาดเล็กเหล่านี้ มีบทบาทที่ยิ่งใหญ่ที่ช่วยโลกรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ใต้ทะเลลึก พืชในพื้นที่ชายฝั่งเช่นป่าชายเลนและทุ่งหญ้าทะเลก็เช่นกัน ที่ช่วยดักและดูดซับคาร์บอนไว้ในตะกอน ใต้น้ำและดิน เมื่อมีสัตว์ทะเลมากินพืชในบริเวณดังกล่าว คาร์บอนก็จะถูกถ่ายเทไปที่สัตว์ ก่อนจมลงสู่ใต้มหาสมุทรลึกพร้อมกับร่างของสัตว์เมื่อตายแล้ว เป็นไปตามวงจรห่วงโซ่อาหาร

หากเรายังรบกวนมหาสมุทรโดยการสร้างมลพิษ ทำเหมืองแร่ในทะเล หรือยังคงทำการประมงเกินขนาด สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลก็ไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่ ยิ่งในเวลาที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและต้องการให้คาร์บอนถูกมหามุทรกักเก็บไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

https://i1198.photobucket.com/albums...ps3vmzrp88.jpg
วาฬหลังค่อมกำลังว่ายน้ำอย่างเพลิดเพลินในหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณประเทศตองกา ? Paul Hilton / Greenpeace

สิ่งหนึ่งที่เรายังได้เรียนรู้สิ่งหนึ่งท่ามกลางความทุกข์ยากจากวิกฤตไวรัสนี้ คือธรรมชาติไม่สามารถทำหน้าที่เพื่อจัดการหรือควบคุมกับไวรัสต่างๆ หรือสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างที่มันเคยทำได้ หากเรายังคงคุกคามและรบกวนระบบของธรรมชาติอยู่แบบนี้

ขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะสร้างโลกสีเขียวและสงบสุขใบใหม่ให้เกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะต้องปกป้องกลไกทางธรรมชาติซึ่งคอยสร้างสมดุลให้กับโลกใบนี้ เพราะหากไม่มีกลไกลทางธรรมชาติ เราจะไม่มีทางคาดเดาสภาพอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้

เวลานั้นเหลือน้อยเต็มทีแล้ว อย่าให้การปกป้องมหาสมุทรเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่เหลืออยู่ เราไม่สามารถมองข้ามหรือเพิกเฉยต่อสัญญาณจากธรรมชาติที่คอยเตือนเราได้อีกต่อไป

สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ นาทีนี้ คือการเร่งลดปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจของมนุษย์เพื่อให้ระบบนิเวศได้เจริญเติบโตและยังสามารถทำหน้าที่ของมันต่อไปได้ สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญในต่อการจัดการมหาสมุทร

https://i1198.photobucket.com/albums...pspjhuipku.jpg
โลมากำลังว่ายน้ำในทะเลอัลบอราน (Alboran Sea)

การกำหนดให้หนึ่งในสามของพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลกเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์คือ หัวใจสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันว่าการปกป้องพื้นที่ในมหาสมุทรทั่วโลกร้อยละ 30 เป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

องค์การสหประชาชาติ (UN) ขยายความของเป้าหมายนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ทั้งบนบกและทะเลบนโลกของเราร้อยละ 30 จะต้องได้รับการปกป้องเพื่อให้แน่ใจว่าในอนาคตโลกใบนี้จะยังคงเอื้อต่อการเป็นที่อยู่อาศัยต่อไป

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบผลสำเร็จ มีข้อมูลมากมายที่ระบุว่าเพียงแค่จำกัดพื้นที่บางส่วนของมหาสมุทรก็สามารถเพิ่มจำนวนประชากรปลาได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงสามารถฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกด้วย

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลจะทำให้ทะเลฟื้นฟูตัวเองและกลับมาสวยงามอย่างที่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเมื่อเร็วๆ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จาก เนเจอร์ (Nature) ก็สรุปว่า การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลไม่เพียงแแต่จะช่วยให้มหาสมุทรฟื้นฟูตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่จะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ภายใน 30 ปีเท่านั้น

เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงนามใน "สนธิสัญญาทะเลหลวง" ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้อยู่ในวาระการประชุมขององค์การสหประชาชาติมาเป็นระยะมากกว่า 1 ปีแล้ว หากสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นได้จริงจากการลงนามของผู้นำทั่วโลก การฟื้นฟูของมหาสมุทรทั่วโลกก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน


https://www.greenpeace.org/thailand/...an-protection/


สายน้ำ 15-05-2020 04:26

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ฟอสซิล 55 ล้านปีชี้ปลากะตักโบราณตัวยาวถึงหนึ่งเมตร มีเขี้ยวดาบไว้ล่าปลาเล็กเป็นอาหาร

https://i1198.photobucket.com/albums...psj59a7omk.jpg
ภาพจำลองปลากะตักดึกดำบรรพ์ที่มีเขี้ยวดาบ กำลังถูกบรรพบุรุษของวาฬยุคเริ่มแรกจับกินเป็นอาหาร Image copyrightJOSCHUA KNUPPE

เมื่อพูดถึงปลากะตัก ปลาไส้ตัน หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่าแอนโชวี่ (anchovy) ทุกคนคงจะนึกถึงปลาทะเลตัวเล็กจิ๋วที่เอามาใช้ทำน้ำปลาหรือตากแห้งเป็นของกินกรุบกรอบ แต่ใครจะรู้ว่าในอดีตหลายสิบล้านปีมาแล้วนั้น ปลากะตักเคยมีบรรพบุรุษที่ตัวใหญ่ได้ถึงหนึ่งเมตร แถมยังมีเขี้ยวดาบเอาไว้ล่าปลาตัวเล็กกว่าอีกด้วย

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐฯ นำซากฟอสซิลปลา 2 ชิ้นจากสมัยอีโอซีน (Eocene Epoch)ที่มีอายุเก่าแก่ 55 ล้านปีมาทำการวิเคราะห์ หลังมีการค้นพบฟอสซิลนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนในประเทศเบลเยียมและปากีสถาน โดยใช้เทคนิค micro-computed tomography ซึ่งเป็นการสแกนและสร้างภาพขึ้นใหม่ ในลักษณะที่คล้ายกับการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกนตามโรงพยาบาล

ผลปรากฏว่าฟอสซิลปลาทั้งสองชิ้นซึ่งมีความยาวลำตัวร่วม 1 เมตร มีลักษณะหลายประการที่คล้ายกับปลากะตักในยุคปัจจุบัน เว้นแต่ในปากของมันมีเขี้ยวดาบงอกยาวออกมาที่ด้านหน้าด้วย ซึ่งแสดงว่ามันเป็นนักล่าที่ใช้เขี้ยวดาบทิ่มแทงและงับปลาตัวเล็กกว่าเอาไว้ในปาก

https://i1198.photobucket.com/albums...psq8ertzvx.jpg
ฟอสซิลปลากะตักยุคโบราณ อายุเก่าแก่ 55 ล้านปี Image copyrightCAPOBIANCO ET AL. / RSOS 2020

ผลการค้นพบนี้เผยแพร่ในวารสาร RSOS ของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน โดยดร. อเลซซิโอ กาโปเบียงโก ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า บรรพบุรุษของปลากะตักที่มีขนาดใหญ่ยักษ์นี้ เป็นผลของวิวัฒนาการหลังเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อราว 11 ล้านปีก่อนหน้านั้น ซึ่งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากรวมทั้งไดโนเสาร์จากเหตุอุกกาบาตพุ่งชนโลก ได้เปิดทางให้ปลาบางชนิดเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็นผู้ล่าแทนที่สัตว์หลายชนิดที่สูญพันธุ์ไป

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ปลากะตักยักษ์เขี้ยวดาบนี้ต้องสูญพันธุ์ไปก่อน เหลือไว้เพียงลูกหลานสายพันธุ์ตัวจิ๋วที่มีเพียงฟันขนาดเล็กไว้กินแพลงก์ตอน ดังที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

"ผมอยากจะรู้เหมือนกันว่า ปลากะตักโบราณเขี้ยวดาบที่กินเนื้อปลาอื่นเป็นอาหารจะมีรสชาติยังไง เพราะมันจะต้องแตกต่างไปจากแอนโชวี่ที่เราใช้โรยหน้าพิซซ่าอย่างแน่นอน" ดร. กาโปเบียงโก กล่าวทิ้งท้าย

https://i1198.photobucket.com/albums...psn4prju7y.jpg
ปลากะตักหรือปลาไส้ตันตากแห้งตัวเล็กจิ๋ว ซึ่งเราใช้ประกอบอาหารกันในทุกวันนี้ GETTY IMAGES


https://www.bbc.com/thai/international-52663714



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:29

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger