SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5153)

สายน้ำ 01-06-2020 03:10

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 1 - 2 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 6 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอล ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ ตลอดช่วง



https://i1198.photobucket.com/albums...psb7bz3x82.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psr8ujkxdt.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psibzipsag.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psfnc2u2n3.jpg

สายน้ำ 01-06-2020 03:12

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ศึกหอยแครงสุราษฎร์ฯ เดือด เรือต่างถิ่นบุกจับหอยชุมชนลีเล็ด แถมเผาขนำทิ้ง

ศึกหอยแครงสุราษฎร์เดือด เรือประมงพื้นบ้านห้ามไม่ฟัง บุกเข้าจับหอยเลี้ยงชุมชนลีเล็ด แถมเผาขนำเฝ้าหอยเขตห้ามจับ ก่อนหน้านี้ ผอ.สำนักทรัพยากรฯ ที่ 4 มาห้ามทัพ พอ จนท.กลับก็แห่มาจับเหมือนเดิม

https://i1198.photobucket.com/albums...psdrfjys6w.jpg

เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 31 พ.ค.63 ได้เกิดเหตุไฟไหม้ขนำเฝ้าคอกหอยกลางทะเลของชาวบ้านชุมชนบ้านคลองราง ท้องที่หมู่ 2 ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ภายหลังทราบเหตุ นายประเสริฐ ชัญจุกร กำนันตำบลลีเล็ด พร้อมชาวบ้านรีบรุดไปยังที่เกิดเหตุ แต่ไม่สามารถช่วยอะไรได้ แต่ยังโชคดีไม่มีผู้ใดติดอยู่บนขนำ โดยพบเพลิงกำลังลุกไหม้อย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นขนำไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ตั้งอยู่สูงจากพื้นน้ำประมาณ 5 เมตร ทำให้เพลิงไหม้เสียหายเกือบทั้งหมดเหลือแต่เสา สำหรับคอกหอยดังกล่าวมีเนื้อที่เลี้ยงหอยแครงประมาณ 80 ไร่ ก่อนนี้เจ้าของได้ซื้อลูกหอยมาปล่อยเลี้ยงไว้ ได้ถูกชาวบ้านจากถิ่นอื่นเข้ามาจับลูกหอยไปขายจนหมดแล้ว

เบื้องต้นทราบว่า ก่อนเกิดเหตุได้มีชาวประมงพื้นบ้านกว่า 500 คน นำเรือหางยาวประมาณกว่า 300 ลำ เข้าไปจับหอยแครงในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอีก โดยชาวบ้านในชุมชน ต.ลีเล็ด และเจ้าของคอกหอยนำเรือติดลำโพงออกมาประกาศขอร้องและห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่สงวนของชุมชน ได้ซื้อลูกหอยมาเลี้ยงไม่ใช่ลูกหอยตามธรรมชาติ และหอยมีขนาดใหญ่ รอการจับขาย ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของชุมชน

ข่าวแจ้งว่า ช่วงมีการประกาศออกลำโพงนั้น อีกฟากหนึ่งได้เร่งเครื่องเรือหางยาวดังสนั่น และมีชาวชุมชนลีเล็ดเห็นเรือฮอนด้าขนาดเล็ก 1 ลำ มีคนนั่งอยู่ในเรือ 3 คน แล่นเข้าไปยังขนำเฝ้าหอยที่เกิดเหตุ แล้วขว้างขวดลักษณะคล้ายขวดระเบิดเพลิงใส่น้ำมันขึ้นไปยังขนำเกิดไฟลุกไหม้ โดยเรือที่ก่อเหตุได้แล่นมุ่งหน้าไปทางเขต อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ล่าสุด นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มอบให้ นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม มีชาวประมงพื้นบ้านจากหลายแห่งประมาณ 1 หมื่นคน นำเรือหางยาวกว่า 1,000 ลำ มาจอดลอยลำเตรียมลงจับหอยแครง โดยนายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี และนายประเสริฐ ชัญจุกร กำนัน ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน ได้ชี้แจงเป็นพื้นที่ขออุทธรณ์เลี้ยงของชุมชน เนื่องจากอยู่นอกเขตอนุรักษ์ 1,000 เมตร ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีอนุญาตให้ชาวประมงพื้นบ้านเข้าจับลูกหอยได้ ขอให้ชาวประมงพื้นบ้านออกจากพื้นที่ไปก่อน โดยจะมีการประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งได้ยอมออกไป แต่เมื่อเรือนายวิชัยเดินทางกลับ ชาวประมงพื้นบ้านกลับนำเรือร่วม 200 ลำ กลับเข้าไปในพื้นที่จับหอยอีก


https://www.thairath.co.th/news/local/south/1857834


สายน้ำ 01-06-2020 03:26

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ปิด "อ่าวมาหยา" 2 ปี สวรรค์อันดามันฟื้นตัว สุดทึ่งปรากฏการณ์ฉลามหูดำ ..................... โดย ปิ่น บุตรี

https://i1198.photobucket.com/albums...pstuojh218.jpg
อ่าวมาหยา สวรรค์แห่งอันดามัน กับการปิดอ่าวให้ให้ธรรมชาติฟื้นตัว ที่ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว

ครบ 2 ปี ปิดอ่าวมาหยา สวรรค์อันดามันทยอยฟื้นตัว ธรรมชาติร่วมสร้างปรากฏการณ์ชวนทึ่งส่งสัตว์ทะเลมากหน้าหลายตาเข้ามาในอ่าว โดยเฉพาะสัตว์หายากฝูงฉลามหูดำเกือบ 100 ตัว ยืนยันประสิทธิผลของการปิดอ่าวมาหยา

1 มิถุนายน 2561 เป็นวันที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ได้ประกาศปิด "อ่าวมาหยา" (และอ่าวโล๊ะซามะ) ไม่อนุญาตให้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวหรือกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ธรรมชาติพักฟื้นตัว ซึ่งแม้จะมีผู้สูญเสียผลประโยชน์บางส่วนคัดค้าน แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสของคนไทยส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยกับการปิดอ่าวดังกล่าว

แล้วทำไม ? ถึงต้องปิดอ่าวมาหยา ทั้ง ๆ ที่อ่าวแห่งนี้ยังคงเดินหน้าสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ !?!


สวรรค์ป่วย จึงต้องปิด !

อ่าวมาหยา ตั้งอยู่ที่เกาะพีพีเล แห่งหมู่เกาะพีพี (มี 2 เกาะใหญ่สำคัญคือ เกาะพีพีเลและพีพีดอน) อยู่ภายใต้การดูแลของ "อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี" จังหวัดกระบี่

อ่าวมาหยา มีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวเล็ก ๆ ที่มีภูเขาหินปูนโอบล้อม มีหาดทรายทอดตัวโค้งงาม พื้นทรายละเอียดยิบขาวเนียน น้ำทะเลสวยใสดุจดังสระว่ายน้ำธรรมชาติแห่งท้องทะเลอันดามัน จนอ่าวมาหยาถูกยกให้เป็น "สวรรค์แห่งอันดามัน"

นอกจากมนต์เสน่ห์ความงามที่เป็นชื่อเสียงดึงดูด เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว อ่าวมาหยาเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "เดอะบีช" (The Beach) ก่อนออกฉายเมื่อปี 2543 ซึ่งทำให้อ่าวแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังระบือไกลมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันอ่าวมาหยาเป็นทะเลไทยอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหมายปอง ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของทุกปี แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมากถึง 3-4 พันคน เดินทางสู่อ่าวมาหยา ขึ้นไปเหยียบอัดแน่นกันบนพื้นที่เล็ก ๆ ของอ่าวชื่อดังแห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่อ่าวมาหยามีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้เพียงแค่ 375 คน/วัน เท่านั้น (ข้อมูลจาก อส.)

เมื่อมีคนมาเที่ยวอ่าวมาหยาจนล้นทะลักเกินพอดีไปมาก ทำให้อ่าวมาหยามีสภาพเสื่อมโทรม หาดทรายที่เต็มแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวทำให้หาดทรายทรุดตัว มีขยะเกลื่อนกลาด น้ำทะเลแม้เบื้องบนสวยใส แต่เบื้องล่างกลับขุ่นมัว โลกใต้ทะเลแนวการังเสียหายพังยับจากการถูกเหยียบย่ำและการเจาะกระแทกของสมอเรือ

อ่าวมาหยามีสภาพแบบนี้มายาวนานนับสิบปี จนเกิดอาการป่วยไข้สะสมเรื่อยมา ก่อนจะเข้าสู่สภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก จนกรมอุทยานฯ ในฐานะของหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ต้องประกาศปิดเกาะฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูให้สภาพธรรมชาติของอ่าวทั้งบนบกและใต้น้ำค่อย ๆ ฟื้นคืนชีวิตกลับมาสมบูรณ์สวยงามอีกครั้ง


ธรรมชาติส่งสัญญาณ

การปิดอ่าวมาหยา เบื้องต้น กรมอุทยานฯ ได้กำหนดปิดอ่าวเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน ? 30 กันยายน 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบจากการท่องเที่ยว และก็ไม่ได้เป็นการปิดตายอ่าวมาหยา แต่อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำนักท่องเที่ยวมาลอยเรือชมความงามของอ่าวมาหยาจากภายนอกในจุดที่กำหนดโดยมีทุ่นไข่ปลาเป็นแนวกั้น

https://i1198.photobucket.com/albums...psfoosgqgv.jpg
ฉลามหูดำ สัตว์ทะเลหายากที่มาสร้างปรากฏการณ์อันน่าทึ่งให้กับอ่าวมาหยามากที่สุด

อย่างไรก็ดีหลังการปิดอ่าวมาหยาได้ไม่นาน เหมือนกับว่าธรรมชาติได้ส่งสัญญาณบางอย่าง เมื่อ "ฉลามหูดำ" สัตว์หายากที่หายจากอ่าวมาหยาไปนาน ได้เข้ามาแหวกว่ายหาอาหารในอ่าวแห่งนี้ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีฉลาม และฉลามหูดำเข้ามาในพื้นที่อ่าวมาหยาอย่างต่อเนื่อง

นั่นจึงทำให้ทีมนักวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้ เสนอให้มีการปิดอ่าวมาหยาต่อไปเพื่อให้สภาพธรรมชาติฟื้นตัวอย่างเต็มที่ อันนำมาสู่แผนการปิดอ่าวมาหยาแบบไม่ให้มีกิจกรรมท่องเที่ยว ซึ่ง ณ ตอนนี้กำหนดเวลาปิดอ่าวไว้ 3 ปี (มิ.ย.61-พ.ค.64)


ฟื้นฟูสู่อ่าวมาหยาโฉมใหม่

หลังปิดอ่าวมาหยา ทางกรมอุทยานฯ ได้จับมือกับหลายหน่วยงานดำเนินการต่าง ๆ ตามแผนฟื้นฟูต่าง ๆ อาทิ

การปิดน่านน้ำด้วยการติดตั้งทุ่นไข่ปลา พร้อมธงสัญญาญเตือนห้ามเข้าอย่างชัดเจน, จับมือกับคนในพื้นที่และอาสาสมัครดำเนินการ Big Cleaning ขนานใหญ่ ทั้งทำความสะอาดอ่าว เก็บขยะบนบกและใต้ท้องทะเล ทำความสะอาดแนวปะการัง

หลังจากนั้นก็ได้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวฟื้นฟูสภาพป่าชายหาด ซึ่งมีทั้งพืชที่เคยมีอยู่แล้วบนเกาะ และพืชบางชนิดที่ช่วยเกาะยึดหน้าดิน เพื่อป้องกันการพังทลายของเนินทราย

https://i1198.photobucket.com/albums...ps8oo55gn6.jpg

ขณะที่การฟื้นฟูโลกใต้ทะเลก็ได้ทำการปลูกและฟื้นฟูแนวปะการัง เนื่องจากปะการังจำนวนมากบริเวณอ่าวมาหยา เสียหายยับเยิน (โดยเฉพาะทางฝั่งซ้าย) รวมถึงมีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ เพื่อสำรวจระบบนิเวศของอ่าวมาหยา ซึ่งก็ทำให้ได้พบกับสัตว์ทะเลหลากหลายมาปรากฏกายอยู่ในบริเวณอ่าวมาหยาแห่งนี้

นอกจากนี้กรมอุทยานฯ ยังทำการสร้างท่าเทียบเรือเพื่ออำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวที่อ่าวโล๊ะซามะ ซึ่งเป็นบริเวณหลังอ่าวมาหยา พร้อมทั้งเส้นทางเดินจากท่าเทียบเรือเชื่อมต่อไปยังอ่าวมาหยา เพื่อป้องกันไม่ให้เรือไปจอดเทียบท่าที่หน้าอ่าวแล้วส่งผลกระทบต่อธรรมชาติเหมือนช่วงก่อนปิดอ่าว อีกทั้งยังมีแผนการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหลังอ่าวมาหยากลับมาเปิดอีกครั้ง

https://i1198.photobucket.com/albums...ps7s0qcekj.jpg
ภาพจำลองท่าเทียบเรือที่อ่าวโล๊ะซามะ (หลังอ่าวมาหยา)


2 ปี ปิดอ่าวมาหยา

หลังการปิดอ่าวมาหยา ทำให้ไม่มีกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เข้ามาบริเวณอ่าวแห่งนี้ ทำให้ธรรมชาติที่เคยเสื่อมโทรมค่อย ๆ ฟื้นตัว พืชพันธุ์ป่าชายหาดขยายตัว ผักบุ้งทะเลเกิดขึ้นมาเองบนชายหาด ซึ่งมันเป็นพืชที่ช่วยยึดเกาะและป้องกันการพังทลายของแนวหาดทราย

น้ำทะเลกลับมาสวยใส หาดทรายสะอาด สงบ สวยงาม ปะการังใต้ทะเลฟื้นตัวทยอยกันเติบโต ที่สำคัญคือเมื่ออ่าวมาหยาไม่มีมนุษย์รบกวน บรรดาสัตว์ทะเลต่าง ๆ ก็พากันเริงร่า แสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริงอีกครั้ง

สัตว์หลายชนิดหลังจากหนีมนุษย์ห่างหายไม่พบที่อ่าวมาหยามานานก็ทยอยกลับคืนสู่อ่าวอันงดงามแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น

-ปูลม ปูทหาร (ปูปั้นทราย) และปูเสฉวนบก พากันปรากฏโฉม ต่างจากเมื่อครั้งที่มีนักท่องเที่ยวคลาคล่ำบนชายหาดซึ่งแทบจะไม่เคยพบปูเหล่านี้เลย

-ปูไก่ สัตว์หายากที่หายตัวจากอ่าวมาหยาไปนาน กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งนับสิบตัว บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของสถนที่แห่งนี้หลังการปิดเกาะฟื้นฟู

-ปลาการ์ตูนส้มขาว เจ้านีโมน้อยผู้น่ารัก ปลาชนิดนี้ไม่ปรากฏที่อ่าวมาหยาในช่วงที่เปิดการท่องเที่ยว เพราะดอกไม้ทะเลที่เป็นบ้านของเจ้านีโมน้อย ถูกใบพัดเรือพัดปลิวกระจาย แต่เมื่อปิดอ่าว ดอกไม้ทะเลเติบโตไม่ถูกทำลาย เจ้านีโมก็ว่ายเข้ามาอยู่อาศัยในกอดอกไม้ทะเล บ้านหลังใหม่ของมันที่อ่าวมาหยา

-ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจแห่งท้องทะเล 1 ในสัตว์สงวนของไทยก็มาแหวกว่ายอวดโฉมบริเวณใกล้อ่าวมาหยา สร้างความฮือฮาให้ผู้พบเห็น แถมยังเป็นฉลามวาฬตัวใหญ่ยาวกว่า 5 เมตร คาดว่ามีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2 ตัน ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งผลพวงจากการปิดอ่าวมาหยา

-ฉลามหูดำ สัตว์ทะเลหายาก ที่สร้างปรากฏการณ์อันน่าทึ่งให้กับอ่าวมาหยามากที่สุด เนื่องจากมีรายงานการพบฉลามหูดำมาแหวกว่ายที่อ่าวมาหยาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ 6 ตัว เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 61 จากนั้นท้องทะเลอ่าวมาหยาก็มีฉลามหูดำเข้ามาแหวกว่ายปรากฏเป็นข่าวอย่างเนื่อง จาก 20 ตัว 60 ตัว ไปจนถึงเกือบ 100 ตัว

นอกจากนี้แม่ฉลามยังได้เลือกอ่าวมาหยาคลอดลูกอีกหลายครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าหลังปิดอ่าวฟื้นฟู ระบบนิเวศที่อ่าวมาหยาสมบูรณ์ขึ้นมาก เพราะฉลามเป็นสัตว์ทะเลอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร การมีฉลามแปลว่าต้องมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้วันนี้อ่าวมาหยาเป็นหนึ่งในจุดที่มีฉลามชุกชุมที่สุดในเมืองไทย

และนี่ก็คือเรื่องราว 2 ปีของการปิดอ่าวหมายา กับการกลับคืนมาของธรรมชาติ และสัตว์ทะเลต่าง ๆ ซึ่งเป็นดังดัชนีชี้วัดประสิทธิผลของการปิดอ่าว เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ธรรมชาติก็หวนคืน สัตว์ต่าง ๆ พากันเริงร่า

ฟื้นชีวิตความงดงามของสวรรค์แห่งอันดามันให้กลับคืนมาอีกครั้ง


https://mgronline.com/travel/detail/9630000056526


สายน้ำ 01-06-2020 03:29

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


อย่าเข้าใจผิด!! แยกขยะที่บ้านก่อนทิ้งทำไม! สุดท้ายเอาไปเทกองรวมกัน

https://i1198.photobucket.com/albums...psqg4dsh8i.jpg
เจ้าหน้าที่เก็บขยะกำลังคัดแยกขยะ ขั้นตอนนี้หลายคนอาจจะไม่เห็น จึงเข้าใจผิด

หลายคนไม่ตระหนัก ไม่ใส่ใจถึงการแยกขยะก่อนทิ้งว่ามีความสำคัญมากอย่างไร แถมยังไปเข้าใจผิดๆ อีกว่าพนักงานเก็บขยะมักง่าย เพราะยกถังขยะจากที่บ้านไปเทกองรวมกันในรถเก็บขยะ

แต่ความเป็นจริงนั้น "พวกเขาต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงเทรวมกันไว้ก่อน" อีกทั้งแต่ละบ้านส่วนมากก็ยังไม่ได้แยกขยะทิ้งอีกด้วย พวกเขาจึงเทถังขยะของเราเพื่อนำไปคัดแยกประเภทขยะอีกรอบบนรถ ไม่ใช่เอาไปเทรวมกัน

ต่อจากนั้น พวกเขาจะคัดแยกขยะแต่ละประเภทกระจายไปตามโรงงานรับซื้อของเก่า หรือโรงงานจัดการขยะรีไซเคิล เพราะขยะประเภทต่างๆ ไม่ใช่ขยะทั้งหมดที่จะเอาไปรีไซเคิลได้ (ชมลิงก์ แยกขยะไปทำไม)

ยิ่งช่วงนี้ เป็นช่วงที่ลดการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ทำให้ขยะตามบ้านเรือนมีปริมาณมากขึ้น จากการ Work from Home หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่คงหยุดไม่ได้ที่ต้องทิ้งขยะในแต่ละวัน แต่ถ้าเราร่วมกันทำตั้งแต่ต้นทางโดยการคัดแยกก่อนทิ้ง ย่อมจะทำให้การจัดการขยะโดยพนักงานเก็บขยะรวดเร็ว และเกิดประสิทธิภาพต่อการเอาไปรีไซเคิลมากขึ้นด้วย

และในยามยากลำบากเช่นตอนนี้ การนำขยะกลับมารีไซเคิล (Recycle) เพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ ไม่ว่าเราจะทิ้งผ่านรถเก็บขยะของ กทม. ของเทศบาล ก็ถือว่าเรานั้นช่วยทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น หรือจะนำไปขายให้กับซาเล้ง หรือรถรับซื้อของเก่าที่เราเห็นจนชินตาตั้งแต่เด็ก ก็สามารถสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย

https://i1198.photobucket.com/albums...pswm6lca6n.jpg
เจ้าหน้าที่เก็บขยะ กำลังคัดแยกขยะ ถ้าเราคัดแยกก่อนทิ้งย่อมจะทำให้ขยะไม่ปนเปื้อน นำกลับมารีไซเคิลมากกว่านำไปสู่หลุมฝังกลบ

ส่วนใครที่ต้องการก้าวไปสู่วิถีชีวิตใหม่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม New Normal ของพวกเราก็ควรจะมีส่วนร่วมในการเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวของเราเอง ใครที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ก็ให้เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการลดการสร้างขยะ เช่น การลดการใช้บรรจุภัณฑ์ (Reduce) อย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ที่ใช้แล้วทิ้ง (Single-use plastic) ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกก๊อบแก๊บ หลอดพลาสติก ซึ่งตอนนี้ห้างสรรพสินค้า-ร้านสะดวกซื้อเขาก็ไม่ใส่ให้เราฟรีๆ จนพวกเราเริ่มคุ้นชินกันแล้ว

ส่วนการนำวัสดุหรือสิ่งของกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่ทุกคนช่วยลดปริมาณขยะได้ทันที อย่างการเลือกใช้ หรือพกพาภาชนะต่างๆ ทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น กระบอกน้ำ แก้วน้ำ หรือแก้วกาแฟส่วนตัว การนำกล่องบรรจุอาหารไปใช้ซื้ออาหารสดตามตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต หรือการพกกล่องข้าวไปซื้ออาหารตามสั่งเลยก็ได้เพื่อช่วยลดการใช้กล่องโฟมหรือกล่องกระดาษ

หรือแม้แต่ถุงก๊อบแก๊บที่ยังใช้ได้ ลองหัดเป็นคนยุคใหม่ที่แคร์ต่อสิ่งแวดล้อม ง่ายๆ โดยการนำถุงมาใช้ซ้ำหลายๆ ครั้ง และฝึกปฏิเสธการรับถุงจากร้านค้า พกถุงใส่ของ แก้วน้ำส่วนตัวติดตัวอยู่เสมอ เป็นต้น พอทุกคนปฏิบัติตัวแบบวิถีชีวิตใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมเกิดผลกระทบที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอนในอีกไม่ช้า


https://mgronline.com/greeninnovatio.../9630000056632


สายน้ำ 01-06-2020 03:35

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


"วราวุธ" แนะหาทางเฝ้าระวัง "ฉลาม" อย่าตั้งค่าหัวล่า

รมว.ทส.ระบุห่วงทุกฝ่าย ขอให้ปรับแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ พร้อมผลักดันใช้กฎหมายคุ้มครองฉลาม แต่อย่าตั้งค่าหัวเพื่อให้ชาวบ้านล่า เพราะน่าจะเป็นสัญชาตญาณป้องกันตัวของสัตว์

จากกรณีนายกเทศมนตรีตำบลเจ๊ะบิลัง จ.สตูล ประกาศตั้งค่าล่าหัวฉลาม 1,000 บาท หากใครจับได้ในเขตคลองเจ๊ะบิลง ตั้งแต่จุดท่าเรือโลมาจนถึงท่าเรือ อบจ. สตูล หลังเกิดเหตุฉลามกัดเด็กชายวัย 12 ปี จนต้องเย็บกว่า 50 เข็ม

https://i1198.photobucket.com/albums...psq3cqn9cg.jpg

วันนี้ (31 พ.ค.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า แม้ยังไม่มีกฎหมายกำหนดโทษในการล่าฉลาม แต่ฉลามนับเป็นสัตว์ทะเลที่หายากและเป็นสัตว์ที่ควบคุมสมดุลระบบนิเวศทางทะเล ขออย่าล่าเพื่อเงินรางวัล วอนให้ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนจะดีกว่า เน้นย้ำห่วงใยเด็ก ๆ และประชาชนในพื้นที่ ให้เล่นน้ำอย่างระมัดระวัง และอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ พร้อมเสนอคุ้มครองฉลามเป็นสัตว์สงวนคุ้มครองตามกฎหมาย ต่อไป

นายวราวุธกล่าวว่า ตนได้รับข่าวกรณีมีการตั้งค่าหัวล่าฉลามในพื้นที่ ต.เจ๊ะบิลัง จ.สตูล ตนยอมรับว่ารู้สึกตำหนิการกระทำดังกล่าว เนื่องจาก ฉลามเป็นสัตว์ทะเลที่หายากในปัจจุบัน อีกทั้งนับเป็นสัตว์ที่เป็นผู้ควบคุมความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พยายามรณรงค์เลิกการล่าฉลามเพื่อการบริโภค เพื่อให้จำนวนประชากรฉลามเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเต่าทะเล วาฬ โลมา และพะยูน

"การกำหนดค่าหัวฉลาม เปรียบเสมือนสนับสนุนให้ออกล่าเพื่อเงินรางวัล ซึ่งหากเทียบประโยชน์ที่ฉลามเป็นสัตว์ที่ควบคุมสมดุลของระบบนิเวศแล้ว ก็ไม่อาจประเมินเป็นจำนวนเงินได้"

อยากจะฝากถึงท่านนายกเทศมนตรีตำบลเจ๊ะบิลัง อย่าได้ตั้งค่าหัวฉลามหรือสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนออกไล่ล่าฉลามเพื่อเงินรางวัล แต่อยากให้ประกาศหรือติดป้ายแจ้งเตือนแทนจะดีกว่า

สำหรับตนจะขอบันทึกไว้ว่า ต.เจ๊ะบิลัง คือ พื้นที่ที่มีระบบนิเวศทางทะเลสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งความสมบูรณ์แบบนี้นับวันยิ่งหาได้น้อยลง

อย่างไรก็ตามก็ยังคงเป็นห่วงเด็ก ๆ ที่ลงเล่นน้ำในบริเวณดังกล่าว อาจจะต้องเล่นน้ำด้วยความระมัดระวัง และควรอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่

"ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ย่อม มีพฤติกรรมการป้องกันตัวเองโดยธรรมชาติ แต่เพียงเพื่อการอยู่รอดและการดำรงชีวิต การสั่งล่าไม่ใช่เป็นการป้องกันตัวตามธรรมชาติ แม้อาจจะยังไม่ผิดกฎหมาย แต่นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดจากที่ธรรมชาติกำหนด ธรรมชาติสร้างสิ่งต่าง ๆ บนพื้นฐานความสมเหตุสมผล โดยทุกอย่างจะสร้างสมดุลกันเองตามธรรมชาติ การล่าไม่ใช่การลงโทษสัตว์ทะเล แต่เป็นการทำลายสมบัติที่จะต้องตกเป็นของลูกหลานในอนาคต"

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ตนได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ พร้อมนักวิชาการลงตรวจสอบทันที ทราบว่า ฉลามดังกล่าวเป็นฉลามหัวบาตร ซึ่งโดยธรรมชาติมีนิสัยรักสงบ ไม่ดุร้าย จากกรณีดังกล่าว น่าจะเกิดจากการตกใจ หรืออาจจะเข้าใกล้ตัวฉลามมากเกินไป ซึ่งอาจคิดว่าศัตรูจึงป้องกันตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฉลามจะยังไม่ถูกกำหนดเป็นสัตว์คุ้มครองหรือมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรฉลามในประเทศไทยก็พบไม่มากและจัดอยู่ในประเภทสัตว์ทะเลใกล้ที่จะหายาก ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสมัยที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ดำรงตำแหน่งอธิบดี ได้มีนโยบายการผลักดันให้ฉลามในประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นเดียวกับฉลามวาฬ วาฬโอมุระ เต่ามะเฟือง และพะยูน

ทั้งนี้ตนได้สานงานต่อและได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่และนักวิชาการติดตามพฤติกรรมฉลามหัวบาตร ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพิเศษ รวมทั้งสำรวจจำนวนฉลามในพื้นที่และรายงานให้ตนทราบ เพื่อจะได้กำหนดมาตรการในการคุ้มครองและป้องกัน ต่อไป

อยากย้ำกับพี่น้องประชาชนที่พบเห็นฉลามหัวบาตรในพื้นที่ ขออย่าล่า แต่ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ส่งทีมเจ้าหน้าดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและหลักวิชาการที่ถูกต้อง


https://news.thaipbs.or.th/content/293148



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 19:08

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger