SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   เรื่องเล่าชาวทะเล (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=4)
-   -   แน่งน้อย ยศสุนทร : คลื่นใต้น้ำฟื้นชีวิตทะเลไทย (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=2483)

สายน้ำ 07-06-2013 13:55

แน่งน้อย ยศสุนทร : คลื่นใต้น้ำฟื้นชีวิตทะเลไทย
 

แน่งน้อย ยศสุนทร : คลื่นใต้น้ำฟื้นชีวิตทะเลไทย

http://www.trueplookpanya.com/data/p...628_Resize.JPG

พี่น้อย-แน่งน้อย ยศสุนทร และพี่จ๋อม-สมยศ ยศสุนทร สองสามีภรรยานักดำน้ำ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ไม่เพียงในฐานะครูสอนดำน้ำมืออาชีพ แต่ทั้งสองคือผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม SaveOurSea.net หรือ SOS ด้วยจิตสำนึกในคุณค่าของทะเล พี่น้อยชักชวนอาสาสมัครนักดำน้ำใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญตอบแทนบุญคุณผืนทะเลไทย แทนการดำน้ำท่องเที่ยวอย่างเคย ตลอดหนึ่งทศวรรษในการอุทิศตัวทำงานเก็บขยะ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ช่วยชีวิตและใช้สิทธิที่พึงมีของคนกลุ่มเล็กๆ ส่งสัญญาณคลื่นใต้น้ำแผ่ไปสู่สังคมไทยให้ลงมือปกป้องสมบัติของชาติ ด้วยความหวังว่า ท้องทะเลไทยจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม



ความสนใจและความผูกพันกับทะเลก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่

อาจจะเป็นโดยกำเนิด เราอยู่ทางเหนือซึ่งมีแม่น้ำ พ่อก็จะชอบพาไปแม่น้ำไปน้ำตก พอปิดเทอมใหญ่เราก็จะไปทะเลทุกครั้ง สมัยก่อนไปเที่ยวอย่างเดียว รู้สึกว่าทะเลมันกว้างใหญ่ผิดกับแม่น้ำที่เราเคยเห็น สัตว์ทะเลที่เราเห็นแค่ชายหาดก็ยังรู้สึกว่าน่ารักและนำความสุขมาให้ เราเกิดความรักขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ยิ่งได้มาดำน้ำก็ยิ่งรู้สึกหลงใหลในความงามใต้ทะเล เป็นอีกโลกหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน มันมีความงามและมีความสงบ ตอนเรียนอยู่จุฬาฯ ปีสาม พ.ศ. 2515 พ่อก็ซื้อเรือกับอุปกรณ์ดำน้ำลึกให้ จริงๆ แล้วการดำน้ำจะต้องเรียน แต่เราโชคดีที่มีฝรั่งอเมริกันเพื่อนของน้องชายแนะนำว่าควรจะใช้อย่างไร ก่อนหน้านั้นเราสน็อกเกิ้ลคือดำที่ผิวน้ำอยู่แล้ว แต่พอได้ใกล้ชิดจนแทบสัมผัสปลาที่วนเวียนรอบตัวก็เป็นความสุขจนจะพูดว่าหลงใหลก็ได้


เริ่มเรียนดำน้ำอย่างจริงจังเมื่อไหร่

หลังจากเรียนจบที่จุฬาฯ ก็ไปต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกาสองปี ก็ยังคิดอยากจะดำน้ำแต่ไม่มีโอกาส กลับมาก็แต่งงานและมีลูกเลย กว่าจะลูกโตก็ปี 2529 ถึงได้เรียนดำน้ำเป็นเรื่องเป็นราว จากนั้นต้นปี 2530 จนถึงทุกวันนี้ก็ดำน้ำมาตลอด ถามว่าความถี่ในการดำน้ำเท่าไหร่ เฉลี่ยแล้วเดือนละครั้งตั้งแต่ปี 2530


อยากให้พี่น้อยเล่าถึงทริปดำน้ำที่ประทับใจมากที่สุด

ตอนที่ลูกเริ่มเรียนดำน้ำตอนอายุ 12-13 ปี พาลูกไปสิมิลันครั้งแรกแล้วเราได้เห็นฉลามวาฬครั้งแรกในชีวิต เหมือนลูกนำโชค เราลงด้วยกันหมดพ่อแม่ลูก พอเงยหน้าขึ้นไปที่ผิวน้ำ เห็นเหมือนกับเรือดำน้ำแล่นมาช้าๆ เอ๊ะ แต่ทำไมเรือดำน้ำมีจุดด้วย สักพักก็อ้าปากเพื่อกินอาหาร ถึงได้รู้ว่านั่นคือฉลามวาฬ เป็นอะไรที่น่าประทับใจมากๆ จากนั้นเราก็เจอมา 39 ตัวแล้ว แต่ปลาที่ยังไม่เคยเจอเลยคือวาฬบรูด้า เราจะเห็นเขาที่ผิวน้ำหลายครั้ง แต่เวลาอยู่ใต้น้ำยังไม่เคยเห็นเลย ตอนนี้มีข่าวว่ามีคนพบที่ใต้ทะเลเกาะเต่าแล้ว เราก็ใฝ่ฝันว่าจะได้เจอวาฬบรูด้า


จากนักดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยว อะไรที่จุดประกายให้หันมาเป็นอาสาสมัครแห่งท้องทะเล

คงจะเคยได้ยินเรื่องฉลามวาฬถูกคุกคาม มีการตัดครีบไปทำเป็นหูฉลาม ทั้งที่มันเป็นปลาที่ใหญ่มากที่สุดในโลกแต่ก็ยังถูกล่า ความที่มันเป็นสัตว์ยักษ์ใหญ่ใจดี ไม่กินเนื้อสัตว์ กินแต่แพลงตอนหรือสัตว์เล็กๆ ใครจะไปจับก็ค่อนข้างง่าย เราได้ข่าวจากเพื่อนบ้านฟิลิปปินส์อินเดียว่าฉลามวาฬโดนตัดครีบไปกิน รู้สึกว่าใกล้บ้านเราแล้วนะ ฉลามวาฬเป็นสัตว์หาดูยาก ชาวประมงถือว่าเป็นปลาของเทพเจ้า ใครเห็นก็โชคดี แต่ทำไมคนอื่นไม่เห็นคุณค่าของเขาเลย มูลค่าของเขามหาศาล ถ้าให้ว่ายอยู่ในทะเลแล้วสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ เราเล่นเว็บไซต์ pantip ห้อง Blueplanet เลยมารวมตัวกันคุ้มครองป้องกันฉลามวาฬให้พ้นจากการถูกล่า โดยตั้งเป็นกลุ่ม โ€œรักษ์ฉลามวาฬโ€ เป็นตัวเริ่มต้นให้รู้จักคำว่ารักษา ตอนนี้ฉลามวาฬได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลแล้ว


สายน้ำ 07-06-2013 13:57

http://www.trueplookpanya.com/data/p...679_Resize.JPG

การก่อตั้ง www.SaveOurSea.net สืบเนื่องมาอย่างไร

ทำไปสักพักก็เห็นว่าไม่ใช่ฉลามวาฬตัวเดียวแล้ว ยังมีตัวอื่นอีกเยอะรวมถึงท้องทะเลที่ต้องมีคนช่วยกันดูแล ก็เลยตั้ง SaveOurSea.net ขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2546 โดยมีสามี (คุณสมยศ ยศสุนทร) คิดชื่อ Save Our Sea หรือ SOS ที่ไปตรงกับรหัสมอร์สขอความช่วยเหลือ เราเป็นกลุ่มของคนที่รักทะเลแล้วอยากรักษาทะเลไว้เพื่อตัวเราเองในปัจจุบันและเพื่อลูกหลานในอนาคต สโลแกนของเราคือ save our future, save our sea ตั้งแต่ก่อตั้งเราก็มีกิจกรรมตลอด เริ่มจากโครงการเล็กๆ เก็บขยะ ตัดอวน ปล่อยหอยมือเสือซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำมาตั้งแต่ “รักษ์ฉลามวาฬ” แล้ว เราทำงานใกล้ชิดกับนักวิชาการเพราะฉะนั้นเราจะไม่พลาดว่าทำอะไรไม่ถูกต้อง จากหอยมือเสือก็เริ่มมีสัตว์อื่นๆตามมาอย่างม้าน้ำ ปลาการ์ตูน ปลาและหอยอื่นๆ นอกจากการรักษาทะเลก็จะพยายามให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนด้วยการทำค่ายเยาวชนเพราะไม้อ่อนดัดง่ายกว่า


สถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลในสายตาของพี่น้อยเป็นอย่างไร

ท้องทะเลไทยเคยสวยงามติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก แต่ระยะหลังความสวยงามลดน้อยลงไป สาเหตุอาจมาจากธรรมชาติ เช่น สึนามิ กระแสน้ำแรงหรือพายุแรงๆ ทำให้แนวปะการังเสียหาย แต่ที่สำคัญคือมนุษย์ซึ่งเป็นนักทำลายใต้น้ำอย่างแท้จริง จากการดำน้ำมาหลายปีเราสังเกตว่านอกจากนักท่องเที่ยว นักดำน้ำ การทำประมงแบบล้างผลาญสร้างความเสียหายให้กับปะการังมากที่สุด จริงๆ มีกฎหมายอยู่ว่า 3,000 เมตรจากชายฝั่งหรือแผ่นดินบนเกาะ ห้ามทำประมงอวนลากหรืออวนรุน อวนรุนก็คือไถไปใต้น้ำหมด อวนลากก็ลากไปใต้น้ำหมด ปรากฏว่ามีคนเห็นแก่ตัวไม่คำนึงว่าแนวปะการังมีประโยชน์ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์ เขาเอาอวนลากอวนรุนไปลากใต้น้ำซึ่งทำให้ปะการังเสียหาย บางทีอวนไปติดหินหรือแนวปะการัง ถ้าเอาขึ้นไม่ได้เขาก็จะตัดทิ้งไว้อย่างนั้น เราไปเห็นอวนคลุมแนวปะการังทำให้ไม่ได้รับแสงแดด สาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในตัวปะการังและสัตว์อื่นๆ อีกเยอะ พอปะการังไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ก็จะตายกันหมด

เราพยายามจะแก้ที่ต้นเหตุคือไปบอกเขาว่าอย่าทำเลย แต่เราไม่มีอำนาจที่ทำได้ หน่วยราชการที่มีอำนาจก็จะบอกว่าไม่มีคนไม่มีงบประมาณ นั่นคือต้นเหตุ เมื่อแก้ต้นเหตุไม่ได้ ทะเลก็หมดไปทุกวัน เราก็ทนไม่ได้ ต้องไปแก้ที่ปลายเหตุ คือไปตัดอวนไปทำอะไรเพื่อให้แนวปะการังนั้นอยู่รอดได้



ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการเก็บขยะและตัดอวน โดยเฉพาะที่โลซิน

ถ้าพูดกันตามประสาชาวเรือ โลซินเป็นกองหินโสโครก เป็นภูเขาใต้น้ำที่ยอดโผล่ขึ้นมา มีเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางเมตรเท่านั้นเอง แล้วก็มีเสาไฟตั้งบอกเรือที่เดินทางไปบริเวณนั้นว่าตรงนี้มีหินโสโครก แต่คนเดินเรือคงไม่ทราบว่าที่นี่เป็นแนวปะการังที่สวยงามและสมบูรณ์มาก ถ้าถามว่าแนวปะการังแข็งที่ไหนสวยที่สุดในอ่าวไทยก็ต้องบอกว่าที่นี่ มีความหลากหลายของปะการังและสัตว์อื่นๆ สาหร่าย ปลาเต็มไปหมด แต่เมื่อสิบปีก่อนโดนอวนลาก ยังดีว่าไม่ใช่ทั้งหมด แต่ยังมีร่องรอยอยู่จนบัดนี้ก็ยังไม่ฟื้น ถามว่ามีความสำคัญอย่างไร จุดนั้นเป็นรอยต่อของประเทศไทยกับมาเลเซีย เป็นตัวบอกว่านั่นคือดินแดนของประเทศไทย มาเลเซียไม่สามารถเข้ามารุกล้ำได้

ความอุดมสมบูรณ์บริเวณนั้น นอกจากแนวปะการังที่สมบูรณ์ ยังเป็นแหล่งน้ำมันแหล่งก๊าซที่กำลังสำรวจอยู่ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องหวงแหน ด้วยความที่ปลาชุกชุม ชาวประมงก็จะมาทิ้งอวนที่นี่ เพียงแค่ตกเบ็ดเราไม่ว่าอะไร แต่การทำประมงแบบล้างผลาญลากอวนนี่เราเสียดาย ทำไมถึงมีอวนลากหรือการทำประมงล้างผลาญที่นั่น เพราะมันไกล ไกลจากสงขลาถึง 150 กิโลเมตร จากนราธิวาสปัตตานี 70-80 กิโลเมตร การนั่งเรือจากสงขลาใช้เวลา 10 ชั่วโมงกว่าจะถึง เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่คงไม่ไปถึงที่นั่น


สายน้ำ 07-06-2013 14:02

http://www.trueplookpanya.com/data/p..._03_Resize.JPG

การทำงานแบบไม่แสวงหากำไรได้รับการสนับสนุนอย่างไรบ้าง

เราพึ่งตนเอง ไม่อยากเกี่ยวข้องทางการค้า เพราะเราไปทำงานเพื่อทะเล ไม่ได้ทำเพื่อหน้าตา เราไม่ต้องการเกียรติยศชื่อเสียง อย่างเช่น พิธีการ เอากลองดุริยางค์มาตีเปิดงาน เสียเวลาไปครึ่งวันแล้ว เราคงดำน้ำไปได้สองไดฟ์แล้ว เรารวมกลุ่มเฉลี่ยค่าใช้จ่ายกันเอง ค่าเรือ ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปเก็บอวน ในนามของ SOS เราทำเสื้อยืดและหมวกเพื่อระดมทุนเป็นเงินกองกลางนำไปทำค่ายเยาวชนสองครั้ง เด็กๆ ที่หมู่บ้านเด็กที่กาญจนบุรี เขาไม่เคยเห็นทะเล ไม่ได้จะให้เขามาดำน้ำเหมือนเรา แต่วัตถุประสงค์คือให้รู้จักว่าทะเลมีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องรักษาทะเล และพยายามปลูกฝังให้รักทะเล เพราะเชื่อว่าถ้าเขารักแล้วจะรู้สึกหวงแหน และพร้อมที่จะทำอะไรเพื่อสิ่งที่เรารัก อยากให้รู้ว่าจากบ้านเขาถ้าทิ้งอะไรที่แม่น้ำมันก็ลงมาที่ทะเลหมดเลย กลายเป็นว่าท้องทะเลเป็นกระโถน ทะเลมีประโยชน์มหาศาล เป็นแหล่งอาหาร เป็นต้นกำเนิดฝน เป็นต้นน้ำของเขาเอง ถ้าทะเลเน่าเสียทุกคนในโลกก็จะเดือดร้อนหมด


เป็นเวลา 10 ปีมาแล้ว กลุ่ม www.SaveOurSea.net บรรลุผลตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่

เราคิดว่าเราทำได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ เราจะทำต่อไปไม่ว่าจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่ได้รับการสนับสนุนก็ตาม คนส่วนมากจะเห็นแล้วว่าเราทำเพื่ออะไร บางคนมาเรียนรู้แล้วกลับไปทำในบ้านเกิดตัวเอง เช่นที่ตรังและสงขลาก็ตั้งชมรมขึ้นมาทำกิจกรรมเหมือนเรา เก็บขยะ ตัดอวน ปลูกป่าชายเลน ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม เราปลูกฝังให้คนรักสิ่งหนึ่ง แล้วเขาจะไม่ได้รักแค่ทะเล เขาจะรักป่า รักสิ่งแวดล้อมของโลก เรื่องการเผยแพร่เรื่องการรักษาทะเลเราทำสำเร็จ อันที่สองคือค่ายเยาวชน ปลูกฝังให้เยาวชนเรียนรู้และเห็นความสำคัญของทะเล เราก็ทำได้แล้วแม้จะไม่กว้างขวาง ค่ายเยาวชนต้องใช้เงินมากกว่าการดำน้ำเก็บขยะ จะทำอย่างไรจึงจะได้ทุนทำค่ายเยาวชนได้มากขึ้น


การทำงานอนุรักษ์ทะเลต้องกระทบกับชาวประมงหรือผู้มีอำนาจต่างๆ พี่น้อยต่อสู้กับปัญหานี้อย่างไร

การต่อสู้ของเราไม่ได้รุนแรงอะไรนะคะ พูดในเว็บไซต์เสมอว่าการทำประมงแบบล้างผลาญทำความเสียหายให้ท้องทะเลอย่างไร กระตุ้นทางหน่วยราชการว่าคุณปล่อยให้เขาทำอย่างนี้ได้อย่างไร ทั้งที่มันเป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย แก้ต้นเหตุให้ได้ เป็นการกระตุ้นทางอ้อม อยากให้พูดด้วยเหตุด้วยผลมากกว่า พาผู้บริหารมาดำน้ำให้เห็นว่าเป็นอย่างไร เจ้าของบริษัทเจ้าของเรืออาจจะเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ผิด เคยมีกรณีของคนอื่นที่เกาะเต่า คือมีประมงอวนล้อมที่ติดหิน เขาตัดอวนแล้วเฝ้าอยู่ นักดำน้ำไปตัดเข้า เขาไปฟ้องตำรวจว่าอวนโดนขโมย แต่ก็จบด้วยการพูดคุยกัน เกาะเต่าเป็นจุดดำน้ำที่ใหญ่ที่สุดทางอ่าวไทย ซึ่งก็มีประโยชน์กับเขาเหมือนกัน นักอนุรักษ์ก็ใช้วิธีการรวมกลุ่มตั้งเป็นกลุ่มรักษ์เกาะเต่าขึ้นเพื่อช่วยกันดูแล ชุมพรก็มี ทุกแห่งเริ่มมี

แนวปะการังเหมือนหม้อข้าว เขาจะทุบหม้อข้าวตัวเองเหรอ ทั้งพวกที่ทำประมงและพวกที่ทำกิจกรรมดำน้ำต้องรักษาแนวปะการัง ถ้าถูกทุบทำลายไม่ใช่แค่เขาที่เดือดร้อน แต่คนทั้งประเทศทั้งโลกที่เดือดร้อน เราอยู่กันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะดีกว่า ที่จริงเราร้องเรียนมาเป็นสิบปีแล้ว เราเหนื่อยแล้วนะคะ แต่ก็อุ่นใจขึ้นที่เรามีพวกมากขึ้นที่เห็นความสำคัญของทะเล เราใช้เว็บไซต์และสื่อสาธารณะต่างๆ บอกกล่าวเรื่องราวทะเลทั้งดีและไม่ดี พี่น้อยคิดว่ามันช่วยได้ คงก็ต้อง SOS (ขอความช่วยเหลือ) ต่อไป



ถ้าดำน้ำไม่เป็น เราจะมีส่วนช่วยอนุรักษ์ท้องทะเลไทยได้อย่างไร

ทุกคนทำได้ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศหรือโลก เพราะแม่น้ำทุกที่ไหลลงทะเลหมด ถ้ารักษาต้นน้ำลำธารให้สะอาดปราศจากมลพิษ น้ำที่ไหลลงทะเลก็จะไม่สกปรก ทะเลก็พลอยสะอาดไปด้วย สิ่งที่อยู่ใต้ทะเลไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ก็จะแข็งแรงไปด้วย ถ้าง่ายขึ้นมาอีกหน่อยคือเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยกันดูแลรักษา อย่าทิ้งขยะลงทะเลหรือชายหาด โดยเฉพาะพลาสติก เราเคยได้รับเชิญให้ไปดูการผ่าพิสูจน์ซากฉลามวาฬขนาดความยาว 4 เมตร ในกระเพาะฉลามวาฬนั้นไม่มีอะไรเลย มีแต่แผลกับหลอดดูดนมกล่องอันเดียว สันนิษฐานว่ามันขึ้นมากินอาหารและงับหลอดเข้าไป หลอดแหลมๆ เข้าไปทิ่มในกระเพาะจนเป็นแผล ทำให้เขาป่วยตาย นี่ก็บอกได้ว่าแม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เราก็ไม่ควรทิ้งลงทะเลเลย อย่างเต่า อาหารของเต่าคือแมงกะพรุน ถุงขยะหน้าตาคล้ายแมงกะพรุน เขาก็กินเข้าไป มีคนแจ้งมาว่าเต่ากำลังจะตายแล้วช่วยไปดูหน่อย กว่าเราจะไปถึงเต่าก็ตายแล้ว ผ่าตัดดูก็เจอถุงขยะอยู่ อยากให้ช่วยกันดูแลรักษาทะเลให้สวยงาม



แหล่งที่มา : นิตยสาร plook http://www.trueplookpanya.com

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพ: พิทักษ์พงษ์ ฉายแสง


Thoto_Dive 07-07-2013 23:09

กด Like ครับ

สายชล 08-07-2013 05:48


ขอบคุณค่ะ น้อง Thoto_Dive...หายไปนานเลย คิดถึงนะคะ

สายน้ำ 16-07-2013 11:49

อ่านเพิ่มเติมและชม VDO สัมภาษณ์ได้ที่นี่ครับ


http://www.trueplookpanya.com/new/cm...21de185c65eec4


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:45

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger