SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2564 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5586)

สายน้ำ 26-06-2021 02:38

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2564
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีการกระจายของฝนน้อย ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ในระหว่างบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 26 - 27 มิย. หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้าปกคลุมอ่าวไทย ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ส่วนในวันที่ 28 มิ.ย. - 1 ก.ค. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง


ข้อควรระวัง

ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 26-06-2021 02:47

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


นักวิจัยคาดการณ์วิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการสร้างแบบจำลอง

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

วิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน ที่เรียกว่า "การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6" เป็นหนึ่งในความท้าทายที่มนุษย์ต้องเผชิญในศตวรรษที่ 21 สิ่งมีชีวิตหลายชนิดถูกคุกคามด้วยการสูญพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมจากน้ำมือมนุษย์ การทำลายถิ่นอาศัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ประโยชน์ที่มากเกินไป มลพิษ เหล่านี้คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สิ่งมีชีวิตในโลกลดลงอย่างรวดเร็ว

ทีมนักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการ นักบรรพชีวินวิทยา นักธรณีวิทยา และนักสร้างแบบจำลองระดับนานาชาติ ได้เปรียบเทียบวิกฤติในปัจจุบันกับเหตุการณ์ สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 5 ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบจังหวะเวลาการสูญพันธุ์และคาดการณ์เวลาฟื้นตัว เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผลมาจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยเมื่อ 66 ล้านปีก่อน กำจัดชนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกไปราว 76% เช่น ไดโนเสาร์ ทีมได้รวบรวมชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลและหอยทากที่มีชีวิตจำนวน 3,387 ชนิดในยุโรปตลอด 200 ล้านปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตในน้ำจืด ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก จากนั้นก็ประเมินอัตราการเกิดและการสูญพันธุ์เพื่อประเมินความเร็วการสูญพันธุ์และคาดการณ์เวลาแห่งการฟื้นตัว

การวิจัยครั้งใหม่นี้ ชี้ให้เห็นว่าอัตราความหลากหลายทางชีวภาพลดลงในระบบนิเวศน้ำจืดยุคปัจจุบัน มีมากกว่าช่วงสูญพันธุ์ในยุคครีเตเชียสที่คร่าชีวิตไดโนเสาร์ โดยอัตราการสูญพันธุ์ที่คาดการณ์ไว้เมื่อถึงปี พ.ศ. 2663 จะสูงกว่าช่วงที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ถึง 3 เท่า สัตว์น้ำจืด ที่มีชีวิตจำนวน 1 ใน 3 อาจหายไป นักวิจัยเผยว่าแม้เราจะมีชีวิตอยู่บนโลกได้ไม่นาน แต่มั่นใจว่าผลของการกระทำของเราจะอยู่ได้นานกว่าเราไปอีกหลายล้านปี.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2123840


สายน้ำ 26-06-2021 02:50

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


สลด! โลมาตายหมู่ 8 ตัว เกลื่อนชายหาดทุ่งนางดำ จ.พังงา อีก 5 ตัว ยังต้องลุ้น

พังงา - สลด ! ฝูงโลมาถูกคลื่นซัดเกยตื้นตายหมู่ 8 ตัว ที่ชายหาดเกาะทุ่งนางดำ จ.พังงา อีก 5 ตัว ติดน้ำตื้น ชาวบ้านพยายามช่วยเหลือให้ว่ายน้ำกลับทะเลลึก

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

วันนี้ ( 25 มิ.ย.) ชาวประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่เกาะทุ่งนางดำ อ.คุระบุรี จ.พังงา พบฝูงโลมาว่ายน้ำเข้ามาเกยตื้น อยู่ในบริเวณหาดทุ่งนางดำ ม.5 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา เบื้องต้นพบว่าโลมาไม่ทราบชนิด โดยพบว่ามีโลมาตายอยู่บนชายหาด 8 ตัว และเป็นโลมาที่ยังมีชีวิตติดอยู่ในบริเวณน้ำตื้นอีก 5 ตัว รวมทั้งหมด 13ตัว

ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้มาก่อน จึงได้รีบประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามา เก็บซากโลมาเตรียมให้เจ้าหน้าที่จากศูนย์สัตว์ทะเลหายากจังหวัดภูเก็ตเข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุการตาย

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

เบื้องต้นซากโลมาทุกตัวไม่มีบาดแผลตามลำตัว คาดว่าน่าจะมีการหลงทิศเข้ามาหากินในช่วงน้ำทะเลขึ้นสูง เมื่อน้ำลงก็เกิดการเกยตื้นจนเสียชีวิตดังกล่าว ล่าสุดทางชาวบ้านและเจ้าหน้าที่กู้ภัยทางทะเลได้ให้การช่วยเหลือตัวที่ยังมีชีวิตอยู่ และรอเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร


https://mgronline.com/south/detail/9640000061717


สายน้ำ 26-06-2021 02:58

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลายไปเพียงไร เมื่อสหรัฐฯ ทดสอบความแกร่งของเรือด้วยระเบิดใต้น้ำ

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

ในคลิปเผยให้เห็นผิวน้ำทะเลกลายเป็นวงกลมสีขาวและเกิดระลอกคลื่นกระจายออกไป จากนั้นสายน้ำก็พวยพุ่งขึ้นกลางท้องฟ้าก่อนจะตกลงมา เมื่อแพนกล้องไปรอบ ๆ เห็นเรือรบขนาดมหึมาปรากฏอยู่จากระยะไกล

เมื่อ 18 มิ.ย. กองทัพเรือสหรัฐฯ ทดสอบความแข็งแกร่งของ ยูเอสเอส เจอรัลด์ ฟอร์ด เรือบรรทุกเครื่องบินที่ก้าวหน้าที่สุดและใหม่ที่สุดของสหรัฐฯ ว่าจะสามารถทนทานต่อแรงระเบิดที่เกิดขึ้นใกล้เคียงได้ดีเพียงไร

สหรัฐฯ ใช้วัตถุระเบิด 18 ตัน หรือประมาณสองเท่าของระเบิดที่เรียกว่า ?แม่ของระเบิดทั้งมวล? (Mother of All Bombs?MOAB) ซึ่งเป็นอาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่ทรงพลังที่สุดในคลังอาวุธของสหรัฐฯ

แรงระเบิดที่เกิดขึ้นมีพลังสูงถึง 3.9 ตามหน่วยวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวของหน่วยสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (US Geological Survey)

ภาพที่มีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลายทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในโซเชียลมีเดียในสัปดาห์นี้ ผู้คนพากันตั้งคำถามว่า "แรงระเบิดขนาดนั้นทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลที่อยู่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างไร"


รัศมีสังหาร

"ถ้าแรงระเบิดมีขนาดใหญ่พอที่จะทำลายเรือรบได้ มันก็คงจะทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลตายได้แน่นอน" เดวิด ชุกแมน บรรณาธิการข่าวสิ่งแวดล้อมของบีบีซี กล่าว "ชาวประมงใช้ไดนาไมต์ในการจับปลา เรารู้ว่า ระเบิดทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลตายได้ และระเบิดขนาดใหญ่จะทำให้สัตว์จำนวนมากในทะเลล้มตาย"

ไมเคิล แจสนี ผู้อำนวยการด้านคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของสภาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Defense Council) เห็นด้วย เขากล่าวกับบีบีซีว่า "สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กบางชนิดที่อยู่ภายในรัศมี 1-2 กิโลเมตรของแรงระเบิดน่าจะตาย และที่อยู่ภายในรัศมีราว 10 กิโลเมตร คาดว่าจะบาดเจ็บถาวร รวมถึงการสูญเสียการได้ยินเป็นการถาวร"


ความเสียหายต่อโสตประสาทส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลบางชนิด

"ใต้น้ำ คลื่นเสียงสามารถเดินทางได้ไกล และวาฬก็ใช้คลื่นเสียงในการสื่อสารกันเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์" ชุกแมนกล่าวเพิ่มเติม "ดังนั้นลองนึกดูว่า แรงกระแทกที่เกิดจากเสียงดังสนั่นของระเบิดจะส่งผลกระทบต่อต่อการได้ยินของพวกมันอย่างไร"

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
วาฬสามารถสื่อสารกันในระยะทางที่ไกล และการได้ยินมีส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของวาฬ ......... Getty Images

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลเป็นสัตว์ที่ดำน้ำเก่งอย่าง วาฬจงอย สามารถดำน้ำลึกลงไปใต้ผิวน้ำถึง 2,000 เมตร

ความสามารถในการมองเห็นใต้น้ำลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ 1 กิโลเมตรใต้ผิวน้ำ ก็มีแต่ความมืด

ที่ระดับความลึกขนาดนั้น วาฬต้องอาศัยเสียงในการนำทาง ซึ่งก็คือเหตุผลว่า ทำไมนักวิทยาศาสตร์บางส่วนบอกว่า วาฬที่หูหนวกเท่ากับวาฬที่ตายแล้ว


คลื่นกระแทก

การระเบิดใต้น้ำส่งผลให้เกิดคลื่นกระแทกและพลังงานเสียงขึ้น มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในทะเลจำนวนมากที่มีหลักฐานว่าได้รับอันตรายจากการทดสอบ

โลมาอย่างน้อย 8 ตัว หูหนวกและตายในเดือน ส.ค. 2019 หลังจากมีการระเบิดในทะเลบอลติกเพื่อกำจัดกับระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

10 ปีที่แล้วในสกอตแลนด์ วาฬนำร่องครีบยาว 39 ตัว เกยตื้นที่อ่าวช่วงน้ำขึ้น แล้วตายไป 19 ตัว รายงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักรพบว่า ปฏิบัติการกำจัดระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านั้นทำให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้ขึ้น มัน "เป็นเหตุภายนอกเพียงเหตุการณ์เดียวที่อาจเป็นสาเหตุ" ให้วาฬเกยตื้น

ในปี 2013 กองทัพเรือสหรัฐฯ ยอมรับเองว่า การฝึกซ้อมและการทดสอบอาจทำให้วาฬและโลมาหลายร้อยตัวตายลง และ อีกหลายพันตัวบาดเจ็บในช่วงเวลา 5 ปีนับจากนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจุดชนวนระเบิดใต้น้ำ


ขนาดของสัตว์ มีผลต่อการรอดชีวิต

แม้เรามีตัวอย่างมากมายให้เห็นว่าสัตว์น้ำขนาดใหญ่หลายประเภทต้องจบชีวิตลง แต่เป็นเรื่องที่ยากกว่าในการคำนวณหาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสัตว์น้ำที่ขนาดเล็กกว่า ซึ่งเราเชื่อว่าสัตว์พวกนี้ต้องพบกับความเสี่ยงมากกว่า

ปีเตอร์ วอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงใต้น้ำ ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการระเบิดใต้น้ำและได้เขียนรายงานในเรื่องนี้เมื่อปี 2015

ในการศึกษาดังกล่าว เขาได้จำลองความเสียหายของการทำลายกับระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

"กับระเบิดทะเลโดยปกติจะมีวัตถุระเบิดหนัก 450-680 กิโลกรัม ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตได้ในระยะ 300-630 เมตร ระเบิดที่ขนาดใหญ่กว่านั้นก็จะยิ่งมีระยะที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตที่ไกลออกไปอีก"

แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่า "ยิ่งสัตว์มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งมีโอกาสในการรอดชีวิตจากแรงระเบิดมากขึ้น"


https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6472390



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:35

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger