SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=6959)

สายน้ำ 18-04-2024 02:12

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานานไว้ด้วย ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกเกิดขึ้นได้บางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในระยะนี้ไว้ด้วย
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน มีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างสูง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน และการระบายอากาศในบริเวณดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส
ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับในช่วงวันที่ 17 ? 18 เม.ย. 67 มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง

สำหรับภาคใต้ในช่วงวันที่ 17 ? 18 เม.ย. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 19 ? 23 เม.ย. 67 ลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลอันดามัน ประกอบกับมีลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานานตลอดช่วง

ส่วนในวันที่ 17 ? 18 เม.ย. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย



https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds

สายน้ำ 18-04-2024 03:09

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


โลกร้อน ดินร้อน ทะเลเดือด เกิดปรากฏการณ์ 'หญ้านึ่ง' พะยูนตรังอาการหนัก หนีตายกระจัดกระจาย

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
ภาพโดย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 17 เมษายน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก รายงานสถานการณ์หญ้าทะเลในพื้นที่อันดามัน และอ่าวไทย จากการที่ทางคณะประมงลงพื้นที่สำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีเนื้อหาต่อไปนี้


"สรุปผลสถานการณ์หญ้าทะเลไทยในขณะนี้ให้เพื่อนธรณ์ทราบ

ข้อมูลมาจากทริปที่ผมลงใต้ จากหน่วยวิจัยหญ้าทะเลสู้โลกร้อนของคณะประมง ของทีมสำรวจกรมทะเล และของคณะทำงานวิกฤตหญ้าทะเล

ขอบคุณทุกๆ ท่านที่ช่วยกันทำงานเต็มกำลัง
หญ้าทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่ประจวบ-ปัตตานี ยังอยู่ในสภาพดี อาจมีที่ลดลงบ้างแต่ยังไม่รุนแรงจนเห็นชัด

อ่าวไทยฝั่งตะวันออก สภาพปกติ ยกเว้นแหล่งหญ้าใหญ่ที่ตราด สิ้นเดือนนี้ผมจะไปดู

หญ้าทะเลอันดามันเหนือ พบปัญหาบางจุดที่พังงา ต้องติดตาม แต่ที่อื่นยังอยู่ในสภาพปกติ

หญ้าทะเลอันดามันใต้ จังหวัดตรัง/กระบี่ตอนล่าง เกิดผลกระทบรุนแรง รวมถึงสตูลบางจุด

โลกร้อนทำให้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อเนื่องถึงกระบวนการในทะเล เช่น น้ำลงต่ำผิดปกติ

ยังทำให้น้ำร้อนจัด ดินร้อนจนเกิดปรากฏการณ์ ?หญ้านึ่ง? อันเป็นเรื่องใหม่ที่เราเพิ่งเคยเจอ

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดไม่เท่ากัน

การสำรวจพะยูนล่าสุด พบว่ากระจายตัวออกไปในพื้นที่กว้าง ไม่รวมฝูงหากินเหมือนเคย มีรายงานการพบเพิ่มมากขึ้นในจุดที่เคยมีน้อย

หมายถึงพะยูนกระจายกันหากิน บางส่วนเริ่มอพยพขึ้นเหนือ (ตรัง -> กระบี่ -> ภูเก็ต)

หลายฝ่ายช่วยกันหาทางแก้ปัญหา/ฟื้นฟู แต่มันไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่อโลกร้อนทะเลเดือดขึ้นทุกวัน

มันเป็นปัญหาถาวรและมีแต่แรงขึ้นเรื่อย ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไปแก้ต้นตอได้ง่ายๆ

หน่วยวิจัยหญ้าทะเลสู้โลกร้อน คณะประมง กำลังวางแผนขยายงานฟื้นฟูหญ้าไปที่สถานีคลองวาฬ ประจวบ (ผมเพิ่งเล่า) ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ กำลังพยายามเต็มที่

นับจากนี้ เราต้องปกป้องแหล่งหญ้าที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด
การพัฒนาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งหญ้าฯ เบาได้เบาครับ".


https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_4529824


สายน้ำ 18-04-2024 03:15

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


ครม. เสนอ 'ทะเลสาบสงขลา' เป็น 'มรดกโลกทางวัฒนธรรม'

ครม. เห็นชอบ นำเสนอ 'ทะเลสาบสงขลา' เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาเป็น 'มรดกโลกทางวัฒนธรรม' ให้ทันการประชุม ครั้งที่ 46 ในเดือนกรกฎาคม ประเทศอินเดีย

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds
วันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอ สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริม"ทะเลสาบสงขลา" ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements (เอกสารนำเสนอฯ) เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

รวมทั้งเห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกลงนามในเอกสารนำเสนอฯ ต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส)

และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ นำเสนอเอกสารนำเสนอฯ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

ทส. จะต้องดำเนินการจัดส่งเอกสารนำเสนอฯ ให้ศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ 15 เม.ย. 2567 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อให้การรับรองในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 21-31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อให้สามารถจัดส่งเอกสารการนำเสนอเพื่อขอรับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกได้ในปี 2568

เนื่องจากสมาชิกจะต้องเสนอชื่อแหล่งมรดกฯ เพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกอย่างน้อย 1 ปี ก่อนขอรับการพิจารณาขึ้นทะเบียน ดังนั้นขั้นตอนการพิจารณาจริงจะเกิดขึ้นในปี 2568


แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ของประเทศไทย ปัจจุบัน มี 4 แหล่ง ดังนี้

- เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
- นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร
- แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
- เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง


อยู่ระหว่างกระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 2 แหล่ง ดังนี้

- อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
- แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ


สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา

อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.ระโนด, อ.สทิงพระ, อ.สิงหนคร, อ.เมืองสงขลา

เป็นทะเลสาบน้ำกร่อยเพียงแห่งเดียวของประเทศ และเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่มีการตั้งถิ่นฐานรอบทะเลสาบ มีความสำคัญทางวัฒนธรรมสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในโลก

เป็นต้นกำเนิดของวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำกร่อย ความเชื่อ ประเพณี การตั้งถิ่นฐานและเมืองต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ


ทะเลสาบสงขลา

เป็นทะเลสาบแบบลากูน เป็นทะเลสาบน้ำกร่อยตามธรรมชาติ อยู่บริเวณชายฝั่งและเปิดเชื่อมต่อสู่ทะเล เป็นระบบนิเวศธรรมชาติที่มีความหลากหลายซับซ้อน ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

มีการตั้งถิ่นฐานหลายแห่งบริเวณรอบทะเลสาบสงขลา มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับระบบนิเวศทะเลสาบการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ส่งผลให้การตั้งถิ่นฐานพัฒนาจนกลายเป็นชุมชนและเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ

และมีสิ่งก่อสร้างจากชุมชนเมืองโบราณที่อยู่ริมทะเลสาบสงขลา มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองไว้อย่างดี ปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก


ประกอบด้วย 4 พื้นที่ คือ

- เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง
- เมืองโบราณสทิงพระ
- เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า
- เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง


โดยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ สามารถเข้าหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการนำเสนอ ดังนี้

- เกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นพื้นที่แสดงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

- เกณฑ์ข้อที่ 4 เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีการพัฒนาด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม

- เกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรมหรือการตั้งถิ่นฐานมนุษย์


ทั้งนี้ ไม่มีแหล่งมรดกในบัญชีรายชื่อมรดกโลกที่เป็นทะเลสาบแบบลากูน และมีการตั้งถิ่นฐานที่แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนที่สำคัญกับอารยธรรมอื่น และเป็นตัวอย่างของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แบบดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์และหวงแหนมรดกเมืองเก่าสงขลาและชุมชนริมทะเลสาบสงขลา ส่งเสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยว


https://www.bangkokbiznews.com/lifes...prakai/1122364


สายน้ำ 18-04-2024 03:19

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


NOAA ประกาศ ปะการังฟอกขาวระดับ "หายนะ" ใน 3 มหาสมุทร 53 ประเทศ


SHORT CUT

- "ปะการังฟอกขาว" เกิดจากภาวะโลกร้อน อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลและสัตว์ทะเล

- ปัจจุบันมี 53 ประเทศใน 3 มหาสมุทร เกิดปะการังฟอกขาวและจะมีเพิ่มขึ้นอีก ในทะเลไทย

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


ดร.ธรณ์ เผย NOAA ประกาศ "ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ" ถือเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ แสดงถึงความรุนแรงของโลกร้อนทะเลเดือด ล่าสุดมี 53 ประเทศใน 3 มหาสมุทร ไทยต้องเฝ้าระวัง ช่วงสิ้นเดือน เม.ย. ถึง พ.ค. เป็นช่วงวิกฤต แนะควบคุมการท่องเที่ยวบางพื้นที่ มีส่วนช่วยได้

ก่อนหน้านี้มีข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ รวมถึง ภาวะโลกรวน อาจทำให้เกิดเหตุปะการังฟอกขาวได้ในปีนี้ผลมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างหนักโดยเฉพาะกับปะการังที่พบการเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวขึ้นเป็นวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลที่ใช้ประโยชน์จากแนวปะการังให้ขาดที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และที่หลบภัย

ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า NOAA ประกาศ "ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ" (Global Coral Bleaching Event) อย่างเป็นทางการ ถือเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ สองครั้งหลังเกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แสดงถึงความรุนแรงของโลกร้อนทะเลเดือด

ปัจจุบันมี 53 ประเทศใน 3 มหาสมุทร เกิดปะการังฟอกขาวแล้ว คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก ในทะเลไทย อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นในช่วงปลายมีนาคม/ต้นเมษายน แต่คงที่/ลดเล็กน้อยในช่วงสงกรานต์

ยังไม่พบปะการังฟอกขาวอย่างชัดเจนในขณะนี้ ต้องเฝ้าระวังปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสิ้นเมษายน/ตลอดเดือนพฤษภาคม อันเป็นช่วงวิกฤต

การลดผลกระทบด้านอื่นๆ ในแนวปะการัง เช่น ตะกอน น้ำทิ้ง การท่องเที่ยว แพลงก์ตอนบลูม ฯลฯ เป็นเรื่องสำคัญในการเพิ่มความทนทานของระบบนิเวศ

การย้ายปะการัง เก็บสะสมพ่อแม่พันธุ์ ฯลฯ อาจจำเป็นหากเกิดฟอกขาวรุนแรง แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ ภายใต้การดูแลของกรมทะเล/ผู้เชี่ยวชาญ

การลดจำนวนนักท่องเที่ยว ปิดบางพื้นที่ อาจจำเป็นแต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวควบคู่กันไป การสร้างแหล่งดำน้ำอื่นๆ เพื่อดึงคนออกจากแนวปะการัง มีส่วนช่วยได้ เช่น เรือปราบ/สัตกูด (ฟอกขาวในปี 2553)

เครือข่ายปะการังฟอกขาวของไทยเข้มแข็ง และจะติดตามต่อไป หากเพื่อนธรณ์พบพื้นที่ใดที่ปะการังเริ่มซีด ช่วยกันแจ้งเพื่อให้มีการตรวจสอบและประเมินให้เร็วทันเวลา

กลับจากใต้ พักแป๊บนึง จากนั้นผมจะไปทะเลตะวันออก ตามดูทั้งปะการังและหญ้าทะเล โลกร้อนกำลังส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปะการัง หญ้าทะเล น้ำเขียว เต่าทะเล ฯลฯ

เหนื่อยครับ บอกตามตรง ก็ได้แต่หวังว่าเราจะช่วยกันรักษาทะเลให้มากที่สุด เพราะเธอกำลังอ่อนแออย่างไม่เคยเกิดมาก่อนเลย


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/849537


สายน้ำ 18-04-2024 03:23

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


'ปะการังฟอกขาว' สะเทือนทั้งระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์


SHORT CUT

- ปะการังฟอกขาว เกิดจากการสูญเสียสาหร่าย Zooxanthellae จากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย

- ปะการังฟอกขาวทำให้ระบบนิเวศของแนวปะการังพังทลายลง สิ่งมีชีวิตในทะเลก็มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้

- ปะการังฟอกขาวส่งผลความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัย และสูญเสียสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติที่ดูดซับพลังคลื่นกระทบฝั่ง

https://hosting.photobucket.com/imag...720&fit=bounds


ช่วงนี้เราจะได้ยินข่าวปรากฎการณ์ 'ปะการังฟอกขาว' บ่อยขึ้น หลายคนอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่รู้ไหมว่านี่เป็นสัญญาณเตือนของโลกร้อน ที่เราควรเร่งมือลดการปล่อยมลพิษ และปะการังฟอกขาวนอกจากจะส่งผลบระบบนิเวศแล้วยังส่งผลกับความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ด้วย

NOAA ประกาศ "ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ" ถือเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ แสดงถึงความรุนแรงของโลกร้อนทะเลเดือด ล่าสุดเกิดขึ้นใน 53 ประเทศใน 3 มหาสมุทร ซึ่งประเทศไทยต้องเฝ้าระวังในช่วงสิ้นเดือน เม.ย.-พ.ค. อาจเป็นช่วงวิกฤต


ปะการังฟอกขาวคืออะไร?

ปะการังสีซีดจาง หรือ ปะการังฟอกขาว เป็นการที่ปะการังสูญเสียสีสันสดใสและเปลี่ยนเป็นสีขาวจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) เกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย หากสภาพแวดล้อมในมหาสมุทรเปลี่ยนแปลง เช่น หากร้อนเกินไป ปะการังจะเครียดและขับสาหร่ายออกไป ทำให้เกิดปะการังฟอกขาว

ปัจจุบันปะการังฟอกขาวอยู่ในระดับวิกฤตเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสภาพภูมิอากาศ และโลกร้อนอันเนื่องมาจากฝีมือของมนุษย์ ปัจจัยที่ทำให้ปะการังฟอกขาวมีหลายสาเหตุ เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป น้ำจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมทางทะเลของมนุษย์ ทั้งการปล่อยน้ำเสีย หรือใช้ครีมกันแดด

หากปะการังฟอกขาวจะส่งผลให้ปะการังตายลง แนวปะการังอาจไม่สามารถกลับเหมือนเดิมอีก ระบบนิเวศแนวปะการังทั้งหมดที่มนุษย์และสัตว์ป่าต้องพึ่งพาก็เสื่อมโทรมลง จากข้อมูลของสมาคมมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ ระหว่างปี 2014-2017 แนวปะการังเขตร้อนประมาณ 75% ของโลกประสบกับความเครียดจากความร้อนรุนแรงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการฟอกขาว สำหรับแนวปะการัง 30% ของโลก ความเครียดจากความร้อนนั้นเพียงพอที่จะทำลายปะการังได้


ปะการังฟอกขาวส่งผลกระทบกับสัตว์ทะเลอย่างไร?

แนวปะการังเป็นแหล่งของระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก สัตว์ทะเลหลายพันตัวต้องอาศัยแนวปะการังเพื่อความอยู่รอด รวมถึงเต่าทะเล ปลา ปู กุ้ง แมงกะพรุน นกทะเล ปลาดาว และอื่นๆ แนวปะการังเป็นแหล่งพักพิง พื้นที่วางไข่ และการปกป้องจากผู้ล่า พวกมันยังมีความสำคัยกับสิ่งมีชีวิตและห่วงโซ่อาหารใต้ทะเลอีกด้วย เมื่อระบบนิเวศของแนวปะการังพังทลายลง สิ่งมีชีวิตในทะเลก็มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้


ปะการังฟอกขาวส่งผลต่อมนุษย์อย่างไร?

การที่ปะการังสีซีดลงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัย แนวปะการังเป็นสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติที่ดูดซับพลังของคลื่นและคลื่นพายุ ทำให้ชุมชนชายฝั่งปลอดภัย

หากไม่มีแมวปะการังเราต้องพึ่งพากำแพงกันคลื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งมีราคาแพง และมีประสิทธิภาพน้อยกว่า และยังกำแพงที่เป็นสิ่งก่อสร้างยังทำสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่มีแนวปะการังจะทำให้ปลาและสัตว์จำพวกกุ้งจำไม่มีแหล่งวางไข่และเติบโต ชาวประมงจะได้่รับผลกระทบเมื่อแหล่งรายได้ประสบปัญหา นอกจากการท่องเที่ยวแนวปะการังยังได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวอาจหดหาย คนอาจตกงานมากขึ้น

ที่มา : WWF / ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา


https://www.springnews.co.th/keep-th...ronment/849541



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:13

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger