SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5094)

สายน้ำ 04-04-2020 03:39

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 4 - 5 และ 8-9 เม. ย. 63 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น

ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 9 เม. ย. 63 บริเวณประเทศไทยจะมีอากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคกลาง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 4 - 5 และ 8 - 9 เม.ย. 63 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงลูกเห็บตก โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย



https://i1198.photobucket.com/albums...psl16ixido.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psefed6p0u.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psr2b5yqb3.jpg

สายน้ำ 04-04-2020 03:41

ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์


เรือประมงเคราะห์ร้ายเพิ่งขอใบอนุญาตได้เพียง 2 วันถูกเรือสินค้าชนอับปางอ่าวสัตหีบ ลูกเรือ 8 ชีวิตรอดตาย สูญ 20 ล.

https://i1198.photobucket.com/albums...pserepgkxr.jpg

3 เม.ย.63 - นายปรีชา เกษมธีระสมบูรณ์ ผู้ประกอบการเรือประมงศรีนพรัตน์ 11 เรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ขนาด 83 ตันกรอส ทะเบียน 3109-02396 เปิดเผยว่า ช่วงเวลาประมาณ 06.00 น. วันนี้ขณะเรือกำลังลอยลำอยู่ในทะเล พิกัดละติจูด 12.11.73 ลองติจูด 100.54.579 ได้ประสบเหตุถูกเรือสินค้าชื่อ sun flura ตัวลำสีส้มที่กำลังมุ่งเข้าฝั่ง ชนกลางลำอย่างจังขาดสองท่อน จมลงในทะเลทันที ก่อนหลบหนี ส่วนลูกเรือ 8 ชีวิต มีเรือประมงใกล้เคียงเข้าช่วยเหลือไว้ได้อย่างปลอดภัย นำขึ้นฝั่งท่าโชครัตนปรีดา ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท

เบื้องต้น นายพิชัย แซ่ซิ้ม นายกสมาคมประมงจังหวัดสมุทรปราการ ได้เข้าช่วยเหลือโดยประสานไปยัง ศรชล.เขต 1 เพื่ออำนวยความสะดวกด้านฝ่ายกฎหมาย เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.สัตหีบ ซึ่งทางตำรวจได้เตรียมประสานกรมเจ้าท่า เพื่อระงับเรือสินค้าที่ได้ถูกกล่าวอ้าง ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ เรือประมงศรีนพรัตน์ 11 ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง เมื่อวันที่ 1 เม.ย.63 ที่ผ่านมาก ผ่านไปเพียง 2 วัน ก็ต้องมาประสบเคราะห์ร้าย ท่ามกลางวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งขอแสดงความเสียใจกับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม จะเร่งติดตามการดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งหากเรือสินค้าผิดจริงก็จะต้องให้มารับผิดชอบอย่างแน่นอน


https://www.thaipost.net/main/detail/61935


สายน้ำ 04-04-2020 03:47

ขอบคุณข่าวจาก GREENPEACE


ไฟป่าอนุรักษ์ : ผลพวงของนโยบายที่ผิดพลาดและสัญญานเตือนของของภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ................. โดย ธารา บัวคำศรี


ไฟเผาผลาญพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เกิดปรากฏการณ์ไฟรุนแรงในพื้นที่ป่าหลายแห่ง เริ่มจาก อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ส่งผลให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ป่าสนเขาเป็นวงกว้าง การวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า พื้นที่ป่าสนเขาถูกเผาไหม้ประมาณ 3,700 ไร่ กระจายทั้งทางด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอุทยานฯ (ทางตอนใต้ของผาเมษาและผาหมากดูก) ซึ่งเป็นรอยต่อกับพื้นที่การเกษตร ต่อมาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ไฟป่าบนเทือกเขาบรรทัดซึ่งเผาผลาญพื้นที่ราว 5,600 ไร่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชาส่งผลให้หลายพื้นที่ในจังหวัดตราดและพื้นที่ใกล้เคียง ถูกปกคลุมด้วยมลพิษทางอากาศจากไฟป่า รวมถึงจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ในเขตกันชนรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา มีพื้นที่ที่ได้ผลกระทบจากการเผาไหม้วันที่ 21?26 กุมภาพันธ์ 2563 รวมทั้งสิ้น 102,600 ไร่

ล่าสุด เกิดไฟป่ารุกหนักในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย การวิเคราะห์ภาพจากดาวเทียม Sentinel-2 ในวันที่ 25-30 มีนาคม ชี้ให้เห็นพื้นที่เสียหายจากไฟป่าเป็นบริเวณรวมกันมากกว่า 8,600 ไร่ ส่งผลให้หลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงถูกปกคลุมไปด้วยกลุ่มควันไฟที่เกิดขึ้นจากไฟป่า และเชียงใหม่ขึ้นแท่นเป็นเมืองที่มลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลกในช่วงเวลาดังกล่าว

https://i1198.photobucket.com/albums...psxvhzzq1h.jpg
ภาพถ่ายไฟป่าบริเวณดอยสุเทพของคืนวันที่ 29 มีนาคม ? โดรนอาสา

การรายงานสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันจากปี พ.ศ.2528-2562 พบว่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ในเขตภาคเหนือตอนบนมีพื้นที่เผาไหม้ (burnt scar) ที่เป็นผลพวงจากไฟป่าเป็นจำนวนหลายล้านไร่ทุก ๆ ปี

https://i1198.photobucket.com/albums...psdiaixt7p.jpg


อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ? พื้นที่เสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ผืนป่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสรรพชีวิต ป่าให้ความชื้น ความร่มเย็นและถ่ายเทออกซิเจน รวมถึงรักษาสมดุล วัฏจักรคาร์บอน ต้นไม้ช่วยกันลมและกันแดด ต้นไม้หยั่งรากลงบนผืนดิน ดูดซับและชะลอการไหลของน้ำ ป่าไม้เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค เชื้อเพลิงและวัสดุก่อสร้างที่มนุษย์นำมาใช้เพื่อดำรงชีวิต

พื้นที่เสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Hotspot) หมายถึงบริเวณที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วอันเป็นมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเป็นบริเวณที่อุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จนอาจทำให้ระบบนิเวศของผืนป่าในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ในทางนิเวศวิทยา ไฟป่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่สมดุลในตัวเอง ป่าแห้ง ป่าไหม้ ป่ากลับฟื้นตัว เป็นวงจรปกติเช่นนี้เรื่อยไป อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ พ.ศ.2423 มาจนถึงปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้น 1.09 องศาเซลเซียส(เทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) โดยมีปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และฤดูกาลไฟป่ายาวนานขึ้นทั่วทั้ง 1 ใน 4 ของพื้นผิวโลกที่มีพืชพรรณปกคลุม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ระยะเวลาที่ได้รับฝนและความแห้งแล้งต่างส่งผลกระทบต่อการพัฒนา เติบโตและขยายพันธุ์ของพืช การศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ระบบนิเวศป่าไม้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในบางพื้นที่รวมถึงป่าเขตร้อน

การใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ(Climate Model)ศึกษาการแพร่กระจายของระบบนิเวศป่าไม้เป็น ครั้งแรกในประเทศไทยภายใต้การจำลองสภาพภูมิอากาศที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มเป็นสองเท่า ในชั้นบรรยากาศในปี พ.ศ.2539 และการศึกษาเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือในปี พ.ศ.2551 พบว่าป่าในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพป่าที่แห้งแล้งขึ้นในแทบทุกพื้นที่ ป่าไม้ในพื้นที่เหล่านี้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดเนื่องจากสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมาก่อนไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้และระบุว่า อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประมาณ 32 แห่งในประเทศไทยจะตกอยู่ในความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

https://i1198.photobucket.com/albums...psyugdh31e.jpg
ที่มา: รายงาน "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประเทศไทย : วิกฤตหรือโอกาส"


https://i1198.photobucket.com/albums...psrja5sket.jpg


ท้องถิ่นจัดการตนเอง : ทางออกจากวิกฤต

การปะทุอย่างรุนแรงของไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์นั้นแยกไม่ออกจากการดำเนินงานตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และความลักลั่นของแผนปฏิบัติการต่างๆ เช่น แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เป็นต้น ที่มีลักษณะสั่งการจากบนลงล่างและละเลยองค์ความรู้และศักยภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่น

ป่าไม้เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดบนผืนแผ่นดิน ทั่วโลก ประมาณว่ามีผู้คนกว่า 1.6 พันล้านคน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 2,000 กลุ่มวัฒนธรรมทั่วโลกนั้นมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาป่าไม้โดยตรง ในประเทศไทย มีชุมชนที่พึ่งพาผืนป่าในรูปแบบป่าชุมชนอันเป็นวิถีปฏิบัติ การจัดการทรัพยากร และแนวทางในการรักษาพื้นที่ป่าและระบบนิเวศป่าไม้โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมอยู่ราว 2 ล้านครัวเรือน รวมเนื้อที่ป่าชุมชนทั้งในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติราว 3 ล้านไร่

การที่มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM2.5 จากไฟป่ากลายเป็นส่วนหนึ่ง ของวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ซ้อนทับลงไปบนความขัดแย้งที่ลงลึกในทุกมิติและทุกระดับของสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกลไกจัดการความขัดแย้งและปฏิบัติการบนพื้นฐานของความร่วมมือ มองผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง และที่สำคัญคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง

การที่ผืนป่าหลายแห่งของประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเพื่อสร้างความมั่นคงและเข้มแข็ง(Resilience)ของ ชุมชน แทนการกีดกันโดยใช้อำนาจรัฐ เช่น การปิดป่า 100% เพื่อดับไฟป่า เป็นต้น นโยบายป่าไม้แห่งชาติต้องเปิดกว้างต่อศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการรับมือและปรับตัวต่อความสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศในอนาคตบนรากฐานของความเป็นธรรมและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์


https://www.greenpeace.org/thailand/...e-in-thailand/



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:08

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger