SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5157)

สายน้ำ 04-06-2020 03:17

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 4 - 9 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนในช่วงวันที่ 7 - 9 มิ.ย. ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้นโดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ ตลอดช่วง สำหรับในช่วงวันที่ 4-9 มิย. ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง



https://i1198.photobucket.com/albums...psvj9wnekb.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psxcobtrzm.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...pseespcnqq.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psoeuxof3g.jpg

สายน้ำ 04-06-2020 04:49

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


'อช.หมู่เกาะเภตรา' ปักป้ายเตือน 'ริมหาดปากบารา' ระวังแมงกะพรุนมีพิษ

https://i1198.photobucket.com/albums...psoenb1hin.jpg

วันที่ 3 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่เฟสบุ๊กส่วนตัวของ Kilttisa Ar-Lee โพสต์แจ้งเตือนผู้ปกครองทราบ หลังกรณีเกิดเหตุบุตรหลานไปเล่นน้ำบริเวณที่จุดชายหาดปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูลแล้วโดนแมงกะพรุนชนิดมีพิษเข้าที่ขาต้องเร่งส่งถึงหมอโรงพยาบาลอำเภอละงู โดยได้โพสต์เตือนเฝ้าระวัง

ล่าสุดทีมข่าวลงพื้นที่ไปตรวจสอบถามข้อมูลพบว่า เด็กที่ไปเล่นน้ำโดยมีผู้ปกครองพาไปเล่นบริเวณที่ชายหาดปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ซึ่งเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตานั้น ยังพบอีกว่ายังมีเด็กไปเล่นน้ำบริเวณอ่าวนุ่น ม.4 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราด้วยเช่นกัน เป็นแนวชายทะเลติดเชื่อมกันถึง 2 อุทยานฯ

ล่าสุดนายวิทยา บัวพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา หลังทราบข่าวจากโซเซียล จึงสั่งการให้ทางนายหมอดดี สำสู นักนันทนาการ สำนักงานอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ลงพื้นที่ปักป้ายเตือนประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะการนำเด็ ๆ มาเล่นน้ำให้ระวังแมงกะพรุน

นายวิทยา บัวพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา กล่าวว่า สำหรับแมงกะพรุนมีพิษนั้นมีหลายชนิดในพื้นที่ชายหาดปากบาราและทะเลสตูลมีน้อยมากที่ชาวบ้าน นักท่องเที่ยวจะโดนแมงกะพรุนจนได้รับบาดเจ็บ คงเกิดจากช่วงมรสุมน้ำขึ้นพัดพาแมงกะพรุนขึ้นมา เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นแมงกะพรุนสายมาริมชายฝั่งและเป็นครั้งแรกในรอบปีที่มีโดนแมงกะพรุนสายได้รับบาดเจ็บ

สำหรับแมงกะพรุนสายมีลักษณะตัวกลมคล้ายถ้วยสีออกแดง มีหนวดยาวประมาณ 1.5 เมตร จะอาศัยอยู่น้ำลึกห่างจากฝั่งประมาณ 15-20 เมตรและจะเริ่มมีจำนวนมากตั้งแต่เดือน กรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปี ซึ่งมีพิษสามารถทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้

อาการเฉพาะที่เมื่อถูกหรือสัมผัสกับสัตว์ที่มีพิษเหล่านี้จะรู้สึกเจ็บ ปวดแสบปวดร้อน บริเวณที่ถูกจะมีสีแดงเข้ม บางครั้งเหมือนรอยไหม้ ประมาณ 20-30 นาทีจะบวมนูนขึ้นเป็นทางยาวตามผิวหนังต่อไปจะเกิดเป็น Vesicle เล็กๆ หรืออาจเป็น Bleb ใหญ่ และแตกเป็นแผลเรื้อรังกว่าจะหายกินเวลานานแม้ว่าตกสะเก็ดแล้วก็เกิดแผลใหม่อีก อาการที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปสุดแล้วแต่ชนิดและอาการกระทบกระแทก ตลอดจนบาดแผลที่ได้รับว่าอยู่ที่ส่วนใดของร่างกายและเนื้อที่มากน้อยเพียงใด พวกที่มีพิษน้อยก็จะรู้สึกคันๆ แสบร้อนเล็กน้อยแล้วก็หายไป บริเวณที่ถูกถ้าเป็นเนื้ออ่อน เช่น บริเวณขาอ่อน ตามซอกคอและหน้า อาการก็จะมาก


การปฐมพยาบาลให้ปฏิบัติดังนี้

1.) เมื่อถูกแมงกะพรุนในตอนแรก ให้ใช้ทรายที่หาดนั้นถูบนผิวหนังเบาๆ หรือผ้าเช็ดตัวเช็ด เพื่อขัดเอาน้ำเมือก ๆ จากตัวแมงกะพรุนบนผิวหนังออกล้างด้วยน้ำทะเล ห้ามใช้น้ำจืด

2.) ให้ใช้พวกด่างอ่อน ๆ เช่นน้ำแอมโมเนีย หรือแอมโมเนียหอม หรือน้ำยา โซดาไบคาบอเนต หรือน้ำปูนใสชุบปิดแผลนั้นไว้ หรือขยำต้นและใบผักบุ้งทะเลให้ได้วุ้นลื่นๆมาพอกแผล

3.) หลังจากนั้นใช้พวก แอนติฮิสตามีนครีม หรือพวกคอร์ติโคสเตอรอยครีม (เช่น เพร็ดนิโซโลนครีม ฯลฯ)

4.) ถ้ามีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวด เช่นแอสไพริน เอ.พี.ซี. นำส่งโรงพยาบาล เพราะอาจมีอาการร้ายแรงอื่น ๆ ร่วมด้วย (ถ้ามีอาการมาก แพทย์อาจให้พวก 10% แคลเซียมกลูโคเนทเข้าเส้นช้า ๆ และยาอื่น ๆ ตามอาการ) การป้องกัน

พร้อมกันนี้ก็ยังได้ประสานงานไปยังพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา เร่งติดป้ายเฝ้าระวังแมงกะพรุนแล้วเช่นกัน


https://www.naewna.com/likesara/496898


สายน้ำ 04-06-2020 04:52

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


เย้ยกฎหมาย ลักลอบคราดหอยแครง อ่าวปากนคร

https://i1198.photobucket.com/albums...psvwgoucme.jpg

อ่าวปากนคร จ.นครศรีธรรมราช มีเรือประมงลักลอบเข้ามาคราดหอยแครง โดยอาศัยช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ตรวจการณ์ไม่อยู่ ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าลำละ 10,000 บาท

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่สำรวจบริเวณปากอ่าวปากนคร ตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ห่างจากชายฝั่งเพียง 300 เมตร พบมีเรือลักลอบคราดหอยแครงกว่า 20 ลำ กระจายปูพรมคราดหอยแครงในแนวกระโจมบ้านปลา ด้วยเครื่องมือคราดหอยแครงผิดกฎหมาย พวกเขาขับเรือวน แล้วใช้ตะแกรงเหล็กลากหอยแครงไปตามแนวหน้าดิน ในพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง

นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่ากลุ่มที่เข้ามาลักลอบคราดหอยแครงในพื้นที่อนุรักษ์ จะอาศัยช่วงเวลาที่ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจการณ์ เวลาเพียง 2 - 3 ชั่วโมง สามารถสร้างรายได้ให้พวกเขาไม่ต่ำกว่าลำละ 10,000 บาท ในพื้นที่แห่งนี้มีหอยแครงจำนวนมาก เป็นผลจากการที่กรมประมงและกลุ่มชาวประมงชายฝั่ง ร่วมกันปล่อยพันธ์หอยแครงเพื่อสงวนการกระจายพันธ์และสร้างการประมงแบบยั่งยืน จากนี้เจ้าหน้าที่จะสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ จากการสังเกตของทีมข่าวไทยพีบีเอส พบว่าหลังลักลอบคราดหอยแครงเสร็จแล้ว เรือทุกลำจะเร่งเครื่องยนต์กลับเข้าปากน้ำปากนครทันที มีบางลำยังคงใช้ตะแกรงลากหอยแครง แม้ห่างจากฝั่งไม่ถึง 100 เมตร เพิ่มไปอีกด้วย




https://news.thaipbs.or.th/content/293247


สายน้ำ 04-06-2020 04:56

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ต้นไม้อายุยืนหายไปจากผืนป่าทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง .............. โดย แมตต์ แมคเกรธ

https://i1198.photobucket.com/albums...psbkh2rwg2.jpg
ในปี 2019 โบลิเวียสูญเสียพื้นที่ป่าครั้งใหญ่ จากปัญหาการเผาป่าเพื่อเกษตรกรรมที่ลุกลามจนควบคุมไม่อยู่ Image copyright GETTY IMAGES

ข้อมูลล่าสุดจากดาวเทียมเผยให้เห็นว่าป่าดงดิบหรือป่าดิบชื้นเก่าแก่ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในปริมาณมหาศาลกำลังสูญหายไปจากหลายพื้นที่ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ในสหรัฐฯ ที่ทำการศึกษาต้นไม้ความสูง 5 เมตรขึ้นไปพบว่า ในปี 2019 โลกได้สูญเสียพื้นที่ป่าปฐมภูมิ (primary forest) ขนาดเท่า 1 สนามฟุตบอลไปทุก ๆ 6 วินาที

ป่าปฐมภูมิ คือป่าดั้งเดิมที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติมาเป็นเวลายาวนานแล้ว และยังไม่เคยมีคนบุกรุกเข้าไปทำลาย

บราซิล เป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ป่าปฐมภูมิที่หายไป เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2016 และ 2017 ที่เกิดความเสียหายอย่างหนักจากไฟป่า

อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สามารถลดการสูญเสียป่าไม้เหล่านี้ไปได้ในปีที่ผ่านมา

ขณะที่ออสเตรเลีย ต้องเผชิญการสูญเสียไม้ยืนต้นอายุมากเพิ่มขึ้น 6 เท่าจากเหตุไฟป่าครั้งใหญ่เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

https://i1198.photobucket.com/albums...psxx7h7ctk.jpg
งานวิจัยนี้ศึกษาถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ต้นไม้หายไป เช่น ไฟป่า และการรบกวนธรรมชาติของมนุษย์ Image copyright GETTY IMAGES

ป่าดิบชื้นปฐมภูมิ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตร้อนทั่วโลกและต้นไม้ในแถบนี้อาจมีอายุเก่าแก่หลายร้อยหรือหลายพันปีนั้น มีบทบาทสำคัญต่อโลกเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงจะเป็นแหล่งเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล แต่ยังเป็นบ้านของบรรดาสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่าง ลิงอุรังอุตัง และเสือด้วย


การสูญเสียที่ไม่อาจยอมรับได้

งานวิจัยชิ้นนี้พบข้อมูลว่า เมื่อปี 2019 พื้นที่ป่าดิบชื้นในโลกหายไป 11.9 ล้านเฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 1 หมื่นตารางเมตร หรือ 6 ไร่ 1 งาน) ในจำนวนนี้ 3.8 ล้านเฮกตาร์เป็นพื้นที่ป่าดิบชื้นปฐมภูมิ นับการการสูญเสียป่าไม้ปฐมภูมิครั้งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 นับจากปี 2000 และปี 2018

ฟรานซิส ซีย์มัวร์ จากสถาบันทรัพยากรโลก ระบุว่า "การสูญเสียพื้นที่ป่าในปี 2019 เป็นระดับที่ไม่อาจยอมรับได้"

"หากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายที่ดี และบังคับใช้กฎหมายก็จะทำให้อัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าลดลง แต่หากรัฐบาลหย่อนยานในการควบคุมเรื่องการเผาป่า หรือส่งสัญญาณว่ามีความประสงค์จะเปิดพื้นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อัตราการสูญเสียผืนป่าก็จะเพิ่มขึ้น"

มิเกลลา ไวสส์ จากโกลบอล ฟอเรสต์ วอตช์ ที่เฝ้าติดตามข้อมูลพื้นที่ป่าของโลก ได้กล่าวถึงปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าในบราซิลว่า "เราพบพื้นที่สำคัญใหม่หลายจุดที่มีการสูญเสียป่าปฐมภูมิในเขตที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมือง โดยเฉพาะในรัฐปารา ของบราซิล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการยึดที่ดินและการทำเหมืองแร่"

ส่วนในอินโดนีเซีย สูญเสียพื้นที่ป่าในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อันเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการคุ้มครองป่าที่เข้มงวดของรัฐบาล

https://i1198.photobucket.com/albums...psjv9vdmxi.jpg
ภาพไฟที่เผาผลาญผืนป่าในรัฐปารา ของบราซิล เมื่อเดือน ส.ค. 2019 Image copyright GETTY IMAGES

สถานการณ์ในไทย

ระหว่างปี 2001-2019 ไทยสูญเสียพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมไป 2.06 ล้านเฮกตาร์ หายไปราว 10% จากปี 2000 ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึง 807 ล้านตัน

เมื่อปี 2010 ไทยมีผืนป่าธรรมชาติครอบคลุมพื้นที่ 19.1 ล้านเฮกตาร์ เป็นสัดส่วนราว 37% ของพื้นดินทั้งประเทศ

มาในปี 2019 ได้สูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติเหล่านี้ไป 1.29 แสนเฮกตาร์ หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศปริมาณ 50 ตัน

ระหว่างปี 2001-2019 ไทยสูญเสียป่าดิบชื้นปฐมภูมิ 1.22 แสนเฮกตาร์ หายไปถึง 98%

จำนวนที่หายไปนี้ คิดเป็น 5.9% ของพื้นที่ต้นไม้ปกคลุมทั้งหมดทั่วประเทศ


https://www.bbc.com/thai/features-52891036


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:35

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger