SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   คุยเฟื่องเรื่องดำน้ำ (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=6)
-   -   แนะนำเรื่องดำน้ำ ตอนที่ 5 : ภัยที่แก้ไขได้ ในการดำเรือจม (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=593)

สายน้ำ 23-11-2009 13:12

แนะนำเรื่องดำน้ำ ตอนที่ 5 : ภัยที่แก้ไขได้ ในการดำเรือจม
 
1 Attachment(s)
กระทู้เดิมได้โพสต์ไว้ใน Webboard 1 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2546


แนะนำเรื่องดำน้ำ ตอนที่ 5 : ภัยที่แก้ไขได้ ในการดำเรือจม

การดำน้ำลงไปชมซากเรือใต้ทะเล จะถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับนักดำน้ำ ที่ให้รสชาติของชีวิตมากกว่าการดำน้ำชมปะการังเฉยๆ เนื่องจากซากเรือส่วนมากมักจะจมอยู่ที่ความลึกตั้งแต่ 50 ฟุตขึ้นไป และอยู่ในที่ที่มักจะมีกระแสน้ำแรง

นอกจากนี้ บรรยากาศอันอึมครึมของซากเรือแต่ละแห่งล้วนมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป ทำให้นักดำน้ำที่มี Log Dive ขนาดอยู่ในวัยละอ่อนไปจนถึงขั้นปรมาจารย์นิยมใช้เวลาว่างไปออกกำลังดำน้ำชมซากเรือกันเป็นจำนวนมาก

ซากเรือที่นิยมไปกันก็มี เรือจมสุทธาทิพย์ เรือเพชรบุรีเบรเมน เรือคราม และข้ามฟากไปถึงเรือคิงส์ครุยเซอร์ทางฝั่งอันดามันด้วย


สายน้ำ 23-11-2009 13:13

1 Attachment(s)


ต้องถือเป็นความโชคดีของวงการดำน้ำของไทยที่ไม่มีรายงานถึงการสูญเสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุระหว่างการดำชมซากเรือ

ทั้งๆที่เชื่อได้ว่าบรรดานักดำน้ำที่แห่กันไปดำน้ำชมซากเรือน่าจะมีถึง 50 % ที่ไม่ certify สำหรับการดำ Wreck Diving และมี Log Dive ที่ไม่มากนัก

แต่ก็ชวนกันไปลองของด้วยการดำเรือจมแต่ละแห่ง ที่เต็มไปด้วยอันตรายมากมายทั้งจากความลึกที่เกินกำหนดสำหรับ Recreational Diving จากกระแสน้ำที่แรงจัด จาก Visibility ที่ต่ำ และจากความด้อยประสบการณ์ทั้งในการดำน้ำและในการแก้ปัญหาระหว่างการดำน้ำ


สายน้ำ 23-11-2009 13:14

1 Attachment(s)


นาย Michael Ange ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาที่อาจประสบระหว่างการดำน้ำชมซากเรือจมนี้ไว้ในหัวข้อ Advanced Diving เรื่อง The Art of Escape ในนิตยสาร Rodale’s Scuba Diving ฉบับประจำเดือน June 2003

แถมยังคุยไว้อีกด้วยว่า วิธีของเขาเป็นทักษะการดำซากเรือ ที่แม้แต่ฮูดินี่ (Houdini) ต้องชอบ

แน่ะ ! ว่าเข้าไปนั่น จะดีจริงหรือไม่ ต้องตามมาอ่านกันหน่อยนะครับ


สายน้ำ 23-11-2009 13:15

1 Attachment(s)


นาย Michael เล่าว่า :


วันหนึ่ง เขามีโอกาสได้ไปดำน้ำที่ซากเรือ USCG Duane ที่นอนนิ่งอยู่ที่ความลึกประมาณ 100 ฟุต บริเวณนอกฝั่ง Key Largo มลรัฐฟลอริดา พบว่า น้ำนิ่ง ใส และมีฝูงปลาหนาแน่นมากเหนือลำตัวซากเรือ

ก่อนที่การดำน้ำไดฟ์นี้กำลังจะจบลง Michael ดำตามหลังบัดดี้มาตามกราบเรือ และได้หยุดแหงนหน้าขึ้นไปมองดูปลาสากฝูงใหญ่ที่อยู่ด้านบน

ทันใดนั้น เขารู้สึกเหมือนกับว่า มีมือที่มองไม่เห็นเอื้อมออกจากซากเรือมาดึงคอถังของเขาไว้ แท้จริงแล้วมันคือ สายเอ็นที่ใช้ตกปลานั่นเอง สายเอ็นที่ยุ่งเหยิงกระจุกนั้นเข้ามาพันติดอยู่กับถังและ BC ถึงแม้ว่ามือและขาของเขาจะยังขยับได้ แต่ตัวของเขากลับถูกยึดติดกับซากเรือเสียจนไปไหนไม่ได้เสียแล้ว

เขาพยายามส่งสัญญาณให้บัดดี้ที่อยู่ข้างหน้าได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขา รวมทั้งพยายามส่งเสียงตะโกนผ่าน regulator ออกมา แต่ไม่เป็นผล บัดดี้ของเขายังคงว่ายตรงไปไปเกาะอยู่ที่สายทุ่นโดยไม่ได้หันกลับมามองเลย


สายน้ำ 23-11-2009 13:15

1 Attachment(s)


ปลาที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้บริเวณซากเรือนี้กลายเป็นที่นิยมสำหรับนักตกปลา นอกจากนี้ เมื่อปลายเบ็ดพลาดไปเกี่ยวติดเข้ากับส่วนใดส่วนหนึ่งของซากเรือ นักตกปลาจึงจำเป็นต้องตัดสายเบ็ดทิ้งไป

ผลก็คือ สายเอ็นเบ็ดที่ถูกตัดทิ้งจึงมาติดอีนุงตุงนัง ระโยงระยางอยู่กับซากเรือด้วย และก่อให้เกิดอันตรายกับนักดำน้ำไปโดยที่นักตกปลาไม่ได้ตั้งใจ


สายน้ำ 23-11-2009 13:16

1 Attachment(s)


การที่สายเอ็นเบ็ดมาเกี่ยวพันเข้ากับอุปกรณ์ดำน้ำเป็นอันตรายอย่างหนึ่งที่นักดำน้ำผู้พิสมัยในการดำซากเรือจมต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักดำน้ำมือใหม่ ไร้ประสบการณ์

สายเอ็นเบ็ดตกปลาในสมัยนี้ นอกจากจะเหนียวทนทานแล้ว ยังถูกออกแบบมาให้มีสภาพใส มองเห็นได้ยากในน้ำอีกด้วย เราสามารถมองเห็นมันได้ก็ต่อเมื่อเอ็นเส้นนั้นจมอยู่ในน้ำเป็นเวลานานพอที่จะมีสิ่งมีชีวิตใต้น้ำมาเกาะติดอยู่แล้วเท่านั้น

อันตรายที่เกิดจากการถูกเกี่ยวพันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในกรณีที่อยู่ภายในซากเรือ เนื่องจากชิ้นส่วนของซากเรือบางชิ้นที่ผุพัง หลุดรุ่งริ่งจะออกมาเกะกะและมีโอกาสทำให้เราต้องถูกเกี่ยวติดอยู่ข้างในได้หากเราขาดความระมัดระวัง


สายน้ำ 23-11-2009 13:17

1 Attachment(s)


นักดำน้ำที่จะดำลอดเข้าไปในตัวซากเรือจึงควรจะต้องได้รับการฝึกฝนให้รับรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและรู้ถึงวิธีที่จะแก้ไขเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น

แต่เชื่อหรือไม่ว่า นักดำน้ำมือใหม่ส่วนมากไม่เคยได้รับรู้และเรียนรู้ถึงวิธีแก้ไขในเรื่องเหล่านี้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ถูกเกี่ยวพันโดยสายเอ็นที่มองไม่เห็นขึ้น แทนที่จะแก้ไขได้ พวกเขามักจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักขึ้นไปอีก


สายน้ำ 23-11-2009 13:18

1 Attachment(s)


นักดำน้ำทุกคนสามารถเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการดำน้ำชมบริเวณซากเรือทั้งด้านในและด้านนอกได้อย่างปลอดภัย โดยจัดการกับตัวเองและอุปกรณ์ ดังนี้

- เก็บสาย Console ของมาตรวัดต่างๆให้เรียบร้อย โดยล็อคไว้กับ D-ring บน BC ของเรา และให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถยกขึ้นมาดูได้ถนัด

- เก็บสาย Octopus ให้เรียบร้อย เช่นเดียวกับ Console และให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถดึงออกมาใช้ได้สะดวก ในกรณีที่จะต้องนำออกมาใช้

- ปรับ BC ให้กระชับพอดีตัว อย่าให้หลวมโพลกเพลกที่จะนำไปสู่ปัญหาได้

- กระชับสายรัดถังให้แน่น อย่าปล่อยให้หลวมจนถังเลื่อนหลุดได้ รวมทั้งติดปลายสายรัดให้แนบกับตีนตุ๊กแก (Velcro) อย่าปล่อยให้อ้าซ่าออกมา

- กลับสายรัดตีนกบ โดยกลับเอาปลายสายไปไว้ด้านในแทน

- คิดแบบ 3 มิติ ..... ปกติเราจะคิดถึงสิ่งต่างๆว่ามีเพียงสองด้าน คือ หน้าและหลัง แต่สำหรับนักดำน้ำเรายังต้องระวังทั้งความลึก ด้านบนและด้านล่างของเราเพิ่มอีกด้วย ซึ่งนักดำน้ำส่วนมากจะว่ายไปเรื่อยๆ มองลงด้านล่างและมองไปข้างหน้าเท่านั้น แต่สิ่งที่จะมาติดพันกับตัวเรามักจะเป็นที่ Tank Valve ดังนั้นเราจึงควรที่จะมองสังเกตุไปทั่วๆด้วย


สายน้ำ 23-11-2009 13:19

1 Attachment(s)


มาอ่านต่อเรื่องของนาย Michael กันครับ

เมื่อเขารู้สึกตัวว่าถูกเรือ Duane จับยึดตัวเอาไว้ สิ่งแรกที่เขาทำคือ หยุดอยู่นิ่งๆ เพราะการเตะ ถีบ ดึง ดิ้น หรือขยับตัวไม่ว่าจะแบบไหน มีแต่จะทำให้เรื่องมันเลวร้ายยิ่งขึ้น

ถ้าเราลงดำน้ำกับบัดดี้ เราต้องทำสัญญาณให้บัดดี้รับรู้ว่าเราต้องการความช่วยเหลือ (ตามตำรา คนที่เป็นบัดดี้กันน่าจะอยู่ใกล้ๆกัน ใช่ไหมครับ?) บัดดี้ควรจะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเรามากกว่าตัวเราเอง และมีโอกาสที่จะเข้ามาขจัดปัญหานั้นได้ดีกว่าเราอีกด้วย


สายน้ำ 23-11-2009 13:21

1 Attachment(s)


แต่ถ้าไม่มีใครอยู่ใกล้พอที่จะช่วยเหลือเราได้ล่ะ จะทำอย่างไร


อย่างแรกที่ต้องทำคือ พยายามพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ที่ตัวเราติดแหง็กอยู่นั้น มันเป็นเพราะอะไร โดยค่อยๆขยับตัวอย่างระมัดระวังเพื่อสำรวจหาสาเหตุ อย่างน้อยให้รู้ว่าสิ่งที่เกี่ยวติดอยู่นั้นติดอยู่กับส่วนใดของ bc หรือส่วนใดของถังอากาศ แล้วค่อยๆดึงมันออกให้พ้นอุปกรณ์ของเรา จนสามารถขยับตัวผ่านไปได้

แต่ถ้ามองก็ไม่เห็น คว้าก็ไม่ถึง ทางที่ดีที่สุดคือ ถอยหลัง แต่ต้องลองพิจารณาดูก่อนว่าถ้าเราถอยหลังแล้ว จะต้องไม่ทำให้เกิดเหตุร้ายอื่นๆซ้ำซ้อนอีก ก็ให้ค่อยๆถอยหลังออกมา ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว มักจะหลุดออกมาและว่ายต่อไปได้


สายน้ำ 23-11-2009 13:22

1 Attachment(s)


แล้วเราจะทำอย่างไรดี ถ้าเราติดหนึบแบบถอยหลังก็ไม่ได้ แถมยังไม่รู้อีกด้วยว่าติดอยู่กับอะไร ?

ขอให้ลองพยายามดูอีกครั้ง อาจจะทำให้พอเห็นได้บ้าง


..... ต่อไปก็ลองควงแขนให้เป็นวง โดยเริ่มจากด้านหลังของถังอากาศ แล้ววาดเป็นวงผ่านศีรษะมาทางด้านหน้า

วิธีนี้เองที่ทำให้ Michael พบว่า เป็นเพราะสายเอ็นไนลอน 2 สายที่รั้งตัวเขาติดไว้กับซากเรือ เขาจึงสามารถดึงเอาส่วนที่พันอยู่กับถังและ BC ออกไปได้ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ยังพันอยู่รอบคอถังยังคงติดอยู่


สายน้ำ 23-11-2009 13:23

1 Attachment(s)


คราวนี้ถึงตอนที่ยากที่สุดที่ Michael จะต้องปลดปล่อยตัวเองออกมาจากพันธนาการ คือต้องหาทางตัดสายเอ็นให้ขาด

เมื่อเขาสามารถรู้ตำแหน่งของสายเอ็นที่ติดอยู่แล้ว เขาขยับตัวให้มือข้างหนึ่งสามารถจับสายเอ็นไว้ได้ ในขณะที่อีกมือหนึ่ง ดึงมีดมาตัดสายเอ็นให้ขาดหลุดออกไป

เมื่อใดก็ตามที่มีของมีคมเข้ามาเกี่ยวข้อง เรายิ่งต้องระวังให้มากๆก่อนที่จะลงมือทำอะไรลงไป เพราะถ้าขาดความระมัดระวัง เราอาจจะไปตัดเอาท่ออากาศ หรือไม่ก็บาดมือตัวเอง

ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข คือตัวเราก็ยังคงติดอยู่ที่เดิม แต่จะยิ่งสร้างปัญหาอื่นๆเพิ่มขึ้นมาอีก คือการเสียเลือด และตามมาด้วยอาการตื่นเต้น ที่จะส่งผลให้เราใช้อากาศเปลืองมากขึ้น


สายน้ำ 23-11-2009 13:24

1 Attachment(s)


แต่ถ้าหากว่า ทำทุกวิถีทางตามที่บอกมาแล้ว ยังไม่สามารถหลุดออกมาจากพันธนาการได้ คราวนี้จำเป็นที่จะต้องถอดตัว BC ออกมาจัดการเอาพันธนาการออกให้หมด

ซึ่งทักษะนี้นักดำน้ำทุกคนต้องผ่านการฝึกมาแล้วจากการเรียนดำน้ำระดับ Openwater แล้วก็คงลืมกันไปหมดแล้วด้วย


สายน้ำ 23-11-2009 13:25

1 Attachment(s)


การถอดอุปกรณ์ดำน้ำออกจากตัว ต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ระดับความลึกสูงมาก

ซึ่งถ้าเป็น bc ธรรมดาทั่วๆไป ก็ให้ถอดตัว bc ให้ออกมาอยู่ด้านหน้า ไล่อากาศออกจากตัว bc ให้หมดและให้รีบสอดเข้าไปให้หว่างขา เพื่อจัดการกับเจ้าตัวปัญหาที่ทำให้เราติดหนึบอยู่กับเรือ

แต่จำไว้ว่าอย่าถอดเข็มขัดพร้อมตะกั่วออกอย่างเด็ดขาด เพราะเราต้องการน้ำหนักไว้กด bc และถังอากาศที่พยายามจะลอยขึ้นผิวน้ำ


สายน้ำ 23-11-2009 13:27

1 Attachment(s)


มาถึงตรงนี้ ผมขอทบทวนขั้นตอนการถอด BC ใต้น้ำให้สักนิดนะครับ โดยยังคาบ Reg. ไว้ในปากตลอดเวลา

+ ขั้นตอนแรก ... ปลดล็อค Buckle ด้านหน้าออก

+ ขั้นตอนที่สอง ... ปลดแถบ Velcro ที่รัดบริเวณหน้าท้อง

+ ขั้นตอนที่สาม ... ปลด Buckle บ่าซ้าย

+ ขั้นตอนที่สี่ ... ดึงถังวนมาทางขวา แล้วสอดเข้าไปใต้หว่างขา

+ ขั้นตอนที่ห้า ... จัดการกำจัดพันธนาการที่ติดอยู่กับ BC หรือคอถังออกไป

+ ขั้นตอนที่หก ... ใส่ BC กลับ โดยสอดแขนขวาเข้าไปถึงไหล่

+ ขั้นตอนที่เจ็ด ... ดันถังวนกลับไปทางซ้าย

+ ขั้นตอนที่แปด ... ติด Buckle บ่าซ้าย

+ ขั้นตอนที่เก้า ... ติดแถบ Velcro เพื่อกระชับ BC ให้แนบกับตัว

+ สุดท้าย ... ติด Buckle ด้านหน้าที่เหลืออยู่ให้ครบ

แต่ถ้าจะให้ชัวร์ พอทำขั้นตอนที่ห้าเสร็จ ก็ขยับตัวออกมาให้พ้นจากบริเวณที่สร้างปัญหาให้เรา เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะไม่เข้าไปติดกับอะไรอีกหลังจากใส่ BC กลับเข้าไปแล้ว เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ


สายน้ำ 23-11-2009 13:28

1 Attachment(s)


แต่ถ้าเป็น BC แบบ Weight-integrated ละก็ ปัญหาจะมาอีกแบบหนึ่งครับ

จะตรงกันข้ามกับ BC ทั่วๆไป คือถ้าถอดออกมาพ้นตัว BC จะจมลงสู่พื้น แต่ตัวเราเองจะลอยขึ้นไปแทน

ดังนั้นถ้าเป็น BC ชนิดนี้ เมื่อถอดออกจากตัว เราต้องยึด BC ให้มั่นไว้ แล้วรีบจัดการวางไว้บนหน้าขาหรือตักของเราโดยเร็ว ก่อนที่จะจัดการกับพันธนาการทั้งหลาย


สายน้ำ 23-11-2009 13:29

1 Attachment(s)


นี่แหล่ะครับ เรื่องเล่าของนาย Michael Ange ซึ่งจริงๆแล้ว วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้มีอยู่ในบทเรียนและขั้นตอนของการฝึกฝนระหว่างการเรียนตั้งแต่ Openwater แล้วทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราจะใส่ใจให้ความสำคัญกับการเรียนและจดจำได้มากน้อยขนาดไหน

การดำน้ำไม่ว่าจะเรียนถึงระดับไหน ถ้าเราไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎของการดำน้ำ และมีสติ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราหรือคนอื่นๆไม่ว่าจะยากแค่ไหน ก็สามารถแก้ไขได้ หรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ทั้งนั้นครับ

อย่างที่เคยย้ำไว้ตลอดเวลาในทุกเรื่องที่เคยเล่าสู่กันฟัง คือ ให้หยุด (Stop) คิด (Think) แล้วจึงค่อยลงมือทำ (Action) ครับ


สายน้ำ 23-11-2009 13:30

1 Attachment(s)


เรื่องทั้งหมดถอดความจากเรื่อง The Art of Escape ซึ่งเขียนโดยนาย Michael Ange ในนิตยสาร Rodale’s Scuba Diving ฉบับประจำเดือน June 2003 และสอดแทรกความรู้และประสบการณ์ของตัวเองเข้าไปเสริมบ้างบางส่วน

สำหรับภาพประกอบทั้งหมด ไม่ใช่ USCG Duane ที่นาย Michael Ange ไปประสบเหตุมา แต่เป็นภาพของเรือครามที่เกาะไผ่ เรือ King Cruiser ที่ Anemone Rock เรือจมที่เกาะบิดะนอก หมู่เกาะพีพี และเรือจมซี่โครงไก่ ที่หาดนวล หน้าเกาะล้านแว็ค โดยนำมาประกอบเรื่องเพื่อให้ได้บรรยากาศครับ

แล้วพบกันใหม่ สวัสดี


สายน้ำ 23-11-2009 13:33

1 Attachment(s)


น้อง Juv ได้โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2546 ว่า

เรื่องนี้มีประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะนักดำน้ำซุ่มซ่ามอย่างหนู... เมื่อวาน post เล่าเสียยืดยาว พอกด submit ... เครื่อง hang ไปเสียนี่ Evil or Very Mad

เหตุการณ์ล่าสุดเกิดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เองค่ะ... ไม่ได้เกิดขณะดำเรือจม แต่เป็นที่โล่งๆปกตินี่แหล่ะ…. ระหว่างดำน้ำในทริปอันดามันใต้… วันนั้นเราลงหมายที่ชื่อลานหิน Scubanet …. กระแสน้ำแรงและค่อนข้างขุ่น… แต่ด้วยความที่ Soft Coral บริเวณนั้นอุดมสมบูรณ์มากๆและหลากสีสันสวยงาม ขนาดว่าไม่ได้ถือกล้องลงน้ำ ยังอดใจแวะเวียนดูกอโน้นกอนี้ไม่ได้ เผลอแป๊บเดียว Buddy ก็ดำห่างออกไปเสียแล้ว พอเห็นว่าห่าง ก็ว่ายตามออกไป อ้าว! ขยับตัวไม่ได้แฮะ จะถอยหลัง เดินหน้าอย่างไรก็ไม่เป็นผล … เหลียวหลังมามองจนคอแทบหลุด ก็ไม่เห็นว่าติดอะไรอยู่ สุดท้ายเลยต้องเคาะถังอากาศไป 2 แก๊งค์… Buddy แสนดีก็รีบว่ายกลับมาหา กวาดตามองแป๊บเดียวก็ชักมีด SOG SEAL (สั้นกว่าดาบนิดเดียว) ออกมาตัดให้ ปรากฏว่ากลายเป็นสายเบ็ดตกปลาที่เกี่ยวติดอยู่หลัง BC!!! นี่ถ้า Buddy ไม่ได้ยิน คงต้องใช้วิธีถอด BC ออกมาปลดพันธนาการแบบนาย Michale แน่ๆ …. คาดว่าคงทำไม่ได้ดีไปกว่าคุณประชาชาติเท่าไหร่ เพราะ skill นี้ไม่ได้ทบทวนมาเป็นปีๆแล้วค่ะ Confused

ว่าแล้วก็จะขออนุญาตตามพี่สองสายไปพัทยาทริปหน้า เพื่อไปทบทวน skill ที่สำคัญมากๆ ข้อนี้ เป็นการเตรียมพร้อมก่อนเปิด season อันดามันเลยดีกว่า… และบทเรียนที่ได้จากการติดเบ็ดที่อยากฝากไว้เป็นข้อเตือนใจพี่ๆน้องๆ คือเวลาอยู่ใต้น้ำ ขอให้รัก Buddy มากๆ อยู่ใกล้ๆกันไว้....(บนบกจะจงเกลียดจงชังขนาดไหนค่อยว่ากัน แต่ในยามคับขันใต้น้ำ....เค้าคือคนที่จะช่วยชีวิตคุณได้นะคะ) ยิ่งถ้าดำในจุดที่ทัศนวิสัยต่ำ เช่น น้ำขุ่นมากๆ หรือดำน้ำกลางคืน ขอให้อยู่ในระยะเอื้อมมือถึงยิ่งดีใหญ่ค่ะ… ขอให้จำไว้เสมอว่า…. ‘ความประมาท เป็นหนทางไปสู่ความหายนะ’ …. Safety First นะคะ



สายน้ำ 23-11-2009 13:36


ส่วนน้องฉะหลามได้โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2546 ว่า ....


พี่สายน้ำ น่าจะเล่าก่อนหน้านี้สัก 2 ปี รับรอง หนูจะไม่มีวันได้เจอเหตุการณ์ ที่น่าประทับใจอย่างงี้แน่นอน

น้อง Juv. ค่ะ น้องยังโชคดี ที่บัดดี้ เหลียวหลังหันกลับมาดู บัดดี้พี่ ขึ้นมาแล้ว แทบจะเลิกดำน้ำเป็นบัดดี้กันอีกต่อไป

เมื่อ 2 ปีก่อน ดำน้ำเรือจม ช่วงกลางคืน เพราะความซ่าส์ ของตัวเอง และเพื่อนพ้อง ..ก่อนลงน้ำ ตรวจเช็คความพร้อม ของอุปกรณ์ และสัญญาณมือต่างๆ เพื่อป้งอกันปัญหาที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

ลงน้ำเป็นคู่ที่ 2 ลงไปทางท้ายเรือ ว่ายอ้อมท้ายเรือ ระหว่างที่กำลังจะอ้อมท้ายเรือ มีความรู้สึกเหมือนมีคนมาดึงปลายฟินไว้ ครั้งแรก ไม่เท่าไหร่ ตีฟิน จะไปอีก อ่ะ..คิดว่าเพื่อนในกลุ่มแกล้ง 2 ครั้งแล้วนะ..นึกในใจว่าถ้ามี ครั้งที่ 3 จะไปด่าผ่านเรคฯ ซะเลย..มีอย่างที่ไหน มืดค่ำปานนี้ คนโบราณเค้าห้ามแกล้งกัน(คิดเองค่ะ) พอเจอครั้งที่ 3 เลยย้อนกลับไปดู

หวาย ไม่มีใครเลยอ่ะ...บัดดี้แสนดี .. ก้อทิ้งห่างไปเรื่อยๆ ใช้สัญญาณไฟเรียกขอความช่วยเหลือ พ่อเจ้าประคุณตีฟินฉั่บๆๆ เหมือนโกรธแค้นเรามาแต่ปางไหน..ยังหวังว่า จะมีเพื่อนร่วมทีม ผ่านมาทางท้ายเรือบ้าง ก้อ แห้ว

เมื่ออยู่ตัวคนเดียว..ก้อต้องหาทางแก้ปัญหาเอง ในใจก้อต้องท่องบทสวดมนต์ แหมมมมม..บรรยากาศ ออกจะวังเวง..ก้มตัวลงมองที่ฟินตัวเอง ใช้ไฟฉายส่องดู เอามือดึงขา ปรากฏว่า เจอต้นเหตุ สายเอ็นเส้นโต + ตะกั่วเป็นก้อน ติดพันอยู่ตรงตัวล็อคฟิน กดตัวล็อคให้ปลอดออก ก้อกดไม่ได้ เพราะสายเอ็นมาจากไหนไม่รู้ พันซะเป็นก้อน อย่างไม่น่าเชื่อ แถมตะกั่วอีก 1 ก้อน (ปัจจุบันยังเก็บไว้เลยค่ะ มันแค้น) ต้องใช้วิธี ปลดสายรัดข้อเท้าแล้วถอดฟินออกมาปลดสายเอ็น (ไม่มีมีดตัด ลงไปด้วย) Sad Crying or Very sad

หลังจากที่ปลดเครื่องพันธนาการออกไปแล้ว ค่อยๆ เดินถือฟิน ข้างที่ถอดออกมา ให้ห่างจากบริเวณนั้น ประมาณ 5-7 เมตร อ้อมมาอยู่อีกด้านของเรือ จึงเริ่มลอยตัวใส่ฟิน เพราะกลัวว่า จะหนีไม่พ้น

แต่เชื่อมั๊ยคะ..ว่า ครั้งนี้ ยังไม่พ้น ติดอีก เป็นครั้งที่ 2

ตั้งแต่ติดสายเอ็น ครั้งแรก จนแก้ไขหลุดออกครั้งที่ 2 ใช้เวลานานพอสมควร บัดดี้ หายจ้อย..ดูเวลา และอากาศ ใกล้จะติดดีคอม..อยู่ร่อมร่อ..จึงต้องค่อยๆ ขึ้น มาที่กราบเรือ โห Shocked เพื่อนๆ พร้อมแสงไฟ ระยิบระยับ สวยงามอยู่ตรงนั้นเอง เลยต้องไปรวมกลุ่มด้วย..พอเค้าขึ้น ก้อ ขึ้นด้วย อ้อ..กลับมาเป็ฯบัดดี้ ที่แสนดี กะ พ่อตัวดี ตรงสายทุ่น..

พอขึ้นมาที่เรือ ยังไม่มีคนรู้เรื่องว่าใต้น้ำเกิดอะไรขึ้น น้ำเป็นใจจริงๆ ที่ 5 คู่ 10 คน ไม่มีใครสักคนที่ดำมาท้ายเรือเลยค่ะ แม้กระทั่งบัดดี้ ไปถามว่า หายไปไหนไม่มาช่วยเหลือเลย เค้าตอบว่า..ไม่รุ เหรอคิดว่าดำตามมา Twisted Evil

ข้อคิดจากบทเรียนที่เกิดขึ้นจริงครั้งนี้..

1. หากเกิดติดกับสิ่งที่มองไม่เห็น แนะนำให้ทำอย่างที่พี่สายน้ำแนะนำมาค่ะ ตามหลักสูตร OW เลย หยุด...คิด..แล้วกระทำ คือแก้ไข เพราะเจอนักดำน้ำบางคนบอกมา ว่า จะกระทำอะไร ในเมื่อติดแหง็ก อยู่งั้น...ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนค่ะ

2. เจอบัดดี้แบบนี้ ต้องคุยกันยาว หากคิดจะดำน้ำด้วยกันต่อไป


koy 23-11-2009 18:05

มีประโยชน์มากเลยครับพี่จ๋อม หนหน้าอาจต้องลองหาโอกาสฝึกเคาะสนิมเรื่องนี้สักหน่อย

Reef 23-11-2009 18:06

เป็นความรู้จากประสบการณ์จริงที่ดีมากครับ เผื่อนำไปใช้เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนรอบข้าง

ขอบคุณครับ

zmax 24-11-2009 16:36

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ สายน้ำ (โพส 9621)


แต่ถ้าเป็น BC แบบ Weight-integrated ละก็ ปัญหาจะมาอีกแบบหนึ่งครับ

จะตรงกันข้ามกับ BC ทั่วๆไป คือถ้าถอดออกมาพ้นตัว BC จะจมลงสู่พื้น แต่ตัวเราเองจะลอยขึ้นไปแทน

ดังนั้นถ้าเป็น BC ชนิดนี้ เมื่อถอดออกจากตัว เราต้องยึด BC ให้มั่นไว้ แล้วรีบจัดการวางไว้บนหน้าขาหรือตักของเราโดยเร็ว ก่อนที่จะจัดการกับพันธนาการทั้งหลาย


มาเสริม ฟิสิกส์หน่อยครับ สำหรับ Integrate Weight นั้นถ้าถอดเสื้อออกมาแล้วเราต้องจับหรือหนีบไว้กับตัวครับ ตามหลักฟิสิกส์แล้ว ถ้าหากเราจับหรือมีอะไรที่เชื่อมต่ออยู่กับวัตถุอื่น เราจะเสมือนเป็นวัตถุเดียวกันกับของสิ่งนั้นครับ ทดลองดูได้จากการที่ถ้าเราอยู่ที่ความลึกแล้วถอด BC ที่มี Integrate weight มาถือไว้ (ไม่ว่าจะถือท่าใดก็ตาม) ค่าความลอยตัวของเราจะเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงครับ จะมีต่างก็ในเรื่องของความสมดุลย์ครับ ถ้าเสื้อหนักตัวเราเบา เราก็อาจจะหัวทิ่มลงมาได้ตามน้ำหนัก แต่การลอยตัวของเราจะยังคงเดิมครับ ผมอธิบายแล้วยิ่งงงหรือเปล่าเนี่ย -_-! เอาเป็นว่าถ้าเรายังจับหรือหนีบ หรือยึดมันไว้กับตัว ค่าbuoyancy ของเราจะยังคงเหมือนเดิมครับ

mr.kai 26-02-2010 07:04

ขอบคุณสำหรับสาระความรู้ดีๆครับ

chickykai 26-02-2010 09:35

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ zmax (โพส 9654)
มาเสริม ฟิสิกส์หน่อยครับ สำหรับ Integrate Weight นั้นถ้าถอดเสื้อออกมาแล้วเราต้องจับหรือหนีบไว้กับตัวครับ ตามหลักฟิสิกส์แล้ว ถ้าหากเราจับหรือมีอะไรที่เชื่อมต่ออยู่กับวัตถุอื่น เราจะเสมือนเป็นวัตถุเดียวกันกับของสิ่งนั้นครับ ทดลองดูได้จากการที่ถ้าเราอยู่ที่ความลึกแล้วถอด BC ที่มี Integrate weight มาถือไว้ (ไม่ว่าจะถือท่าใดก็ตาม) ค่าความลอยตัวของเราจะเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงครับ จะมีต่างก็ในเรื่องของความสมดุลย์ครับ ถ้าเสื้อหนักตัวเราเบา เราก็อาจจะหัวทิ่มลงมาได้ตามน้ำหนัก แต่การลอยตัวของเราจะยังคงเดิมครับ ผมอธิบายแล้วยิ่งงงหรือเปล่าเนี่ย -_-! เอาเป็นว่าถ้าเรายังจับหรือหนีบ หรือยึดมันไว้กับตัว ค่าbuoyancy ของเราจะยังคงเหมือนเดิมครับ


เพิ่งนึกขึ้นได้ค่ะ ว่าต่อให้หลุดมือ ก็ยังติดปากอยู่ดีใช่มั้ยคะ :D เพราะ BC ไม่ว่าแบบไหนจะติดกับแทงค์ ซึ่งมีสาย second stage ต่อมาเข้าปากเรา ซึ่งเราก็คงไม่คายสายออกแน่นอน เดี๋ยวหายใจไม่ออก:p


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:59

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger