SaveOurSea.NET

SaveOurSea.NET (http://www.saveoursea.net/forums/index.php)
-   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม (http://www.saveoursea.net/forums/forumdisplay.php?f=13)
-   -   สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน 2563 (http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=5164)

สายน้ำ 11-06-2020 03:40

สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน 2563
 
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ด้านตะวันตกของประเทศไทย ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 11 - 12 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง

ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 16 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 12- 14 มิ.ย.หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศฟิลิปปินส์คาดว่าจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนบนและจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 14 - 16 มิ.ย. 63 ขอให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง



https://i1198.photobucket.com/albums...psffc9y5pe.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psfvaoaezy.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...ps8djsak1r.jpg


https://i1198.photobucket.com/albums...psykzg5kl8.jpg

สายน้ำ 11-06-2020 04:47

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


"อ่าวมาหยา" สวรรค์อันดามันฟื้นตัว หลังปิดครบ 2 ปี

ครบ 2 ปี ปิดอ่าวมาหยา สวรรค์อันดามันทยอยฟื้นตัว ธรรมชาติร่วมสร้างปรากฏการณ์ชวนทึ่งส่งสัตว์ทะเลมากหน้าหลายตาเข้ามาในอ่าว โดยเฉพาะสัตว์หายากฝูงฉลามหูดำเกือบ 100 ตัว ยืนยันประสิทธิผลของการปิดอ่าวมาหยา

ไปดูเรื่องราว 2 ปีของการปิดอ่าวมาหยา กับการกลับคืนมาของธรรมชาติ และสัตว์ทะเลต่าง ๆ ซึ่งเป็นดังดัชนีชี้วัดประสิทธิผลของการปิดอ่าว เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ธรรมชาติก็หวนคืน สัตว์ต่างๆ พากันเริงร่า




https://mgronline.com/travel/detail/9630000060049


*********************************************************************************************************************************************************


ฝูงนกเงือก! เข้ายึดพื้นที่ "เกาะพะลวย" หลังปิดเกาะป้องกันโควิด-19 ธรรมชาติฟื้นตัว-บรรยากาศเงียบสงบ

https://i1198.photobucket.com/albums...ps6fhrszyf.jpg

สุราษฎร์ธานี - ปิดเกาะพะลวย ป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาด ไร้เงานักท่องเที่ยว ทำให้ธรรมชาติฟื้นตัว บ่งบอกถึงบรรยากาศอันเงียบสงบ ฝูงนกเงือกกว่า 20 ตัว เข้ายึดพื้นที่แทนนักท่องเที่ยว

เกาะพะลวย เป็นเกาะบริวารของเกาะสมุย เดินทางด้วยทางเรือทางเดียว ประมาณ 1 ชั่วโมง ระยะการเดินทางห่างจาก อ.ดอนสัก ประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายหลังที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ใช้มาตรการปิดแหล่งท่องเที่ยว จากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธรรมชาติไม่ถูกรบกวน เกิดปรากฏการณ์ของระบบนิเวศ และธรรมชาติสมดุลได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง พบนกเงือก ฝูงใหญ่กว่า 20 ตัว บินลงจากภูเขาสูงจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ลงมาหาอาหาร และนอนคลุกฝุ่นอาบแดด เป็นภาพที่สวยงามไม่ค่อยพบเห็นกันบ่อยนัก

นายสุพจน์ พรหมเมศ เจ้าของร้านอาหารบนเกาะพลวย ชื่อ "นัมเบอร์วันซีฟู้ด" หมู่ 6 ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่เกาะพะลวย ได้ปิดเกาะตามมาตรการของผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว ทำให้ธรรมชาติบนเกาะพะลวยเหงียบเหงา แต่มีสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับโรคโควิด-19 หลายอย่าง เช่น ระบบนิเวศกลับฟื้นตัวรวดเร็ว หลังไม่มีนักท่องเที่ยวไปรบกวน และเกิดปรากฏการณ์สิ่งดีๆ มีนกเงือก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ?นกแก๊ก? ซึ่งเป็นนกเงือกที่มีขนาดตัวไม่เล็กไม่ใหญ่ มีความยาวประมาณ 70-90 เซนติเมตร มีขนสีดำสนิท และเหลืองเขียวแซมขาว มีจะงอยปากและโหนกสีขาวงาช้าง มีสีดำแต้มด้านหน้าของโหนก ทั้งนี้ นกเงือกเป็นตัวบ่งชี้ว่า ที่พื้นเกาะพะลวย ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ หลังจากเกิดสถานการแพร่ระบาดของโควิด-19

จึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ประการหนึ่ง เนื่องจากนกเงือกจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น นกเงือกมีพฤติกรรมกินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร อีกทั้งธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่าที่กว้าง และยังเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ในป่าได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากเป็นนกที่กินผลไม้ชนิดต่างๆ ได้ถึง 300 ชนิด และทิ้งเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ
โดยนกเงือกได้บินลงมาจากยอดภูเขาสูงในอุทยานหมู่เกาะอ่างทอง ที่อาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่ประมาณ 20 ตัว บินลงมาหาอาหารตามแนวชายทะเล และมาเกาะอยู่ที่กิ่งต้นสน บริเวณหน้าร้านอาหารนัมเบอร์วันซีฟูด ที่หน้าร้านของตน ซึ่งตนได้นำกล้วยไปแขวนเอาไว้ บางครั้งตนยังนำกล้วยไปป้อนให้กิน แต่มีท่าทางหวาดระแวง ขณะเดียวกัน ในช่วงสายของทุกวัน นกเงือกกลุ่มนี้จะบินลงมาทั้งฝูง และลงไปนอกเกลือกกลิ้งคลุกฝุ่นบนถนนลูกรังอย่างสนุกสนาน เป็นภาพที่ไม่ค่อยให้ได้เห็นกันมากนัก

นายสุพจน์ เปิดเผยอีกว่า ตน และ ด.ต.ชนะ เที่ยวแสวง ผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สภ.เกาะสมุย ซึ่งประจำอยู่บนเกาะพะลวย ได้ช่วยกันขับเคลื่อน พร้อมเชิญชวนชาวบ้านมาร่วมกันดูแลและช่วยกันป้องกันห้ามไม่ให้ประชาชน และนักท่องที่ยวไปทำร้ายนก เพื่อให้นกเงือก และธรรมชาติบนเกาะพะลวยอยู่ร่วมกันได้ เพื่อต้องการให้เกาะพะลวย เป็นแลนด์มาร์ก รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์นกเงือก เตือนใจนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นเองให้เห็นความสำคัญของนกเงือกและทรัพยากรธรรมชาติ

โดยต้องคอยเฝ้าระวัง พร้อมทำความเข้าใจไม่ให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสหรือจับตัวนกเด็ดขาด และยังคอยดูแลสอดส่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครไปรบกวนนกเงือก เพื่อให้นกเงือกเหล่านี้อยู่คู่กับเกาะพะลวยต่อไป เกาะพะลวยเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะอ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง อ.เกาะสมุย และ อ.ดอนสัก ระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ทั้ง 2 ฝั่งสามารถนั่งเรือโดยสารประมาณ 1 ชั่วโมง เกาะพะลวยมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายไม่ต่างจากเกาะอื่นๆ มีธารน้ำจืดไหลมาจากหุบเขา ให้ชาวบ้านได้อาศัยใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเกาะ


https://mgronline.com/south/detail/9630000060005


สายน้ำ 11-06-2020 04:50

ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด


แคนาดาสูญเสียวาฬหลังค่อม ช็อกเพิ่งว่ายมาอวดโฉม คาดถูกเรือชนดับ

https://i1198.photobucket.com/albums...psx6pthrqo.jpg

แคนาดาสูญเสียวาฬหลังค่อม - วันที่ 10 มิ.ย. เอเอฟพี รายงานว่า วาฬหลังค่อมที่ว่ายน้ำหลงเข้ามาในแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ใกล้เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ของแคนาดา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และสร้างความตื่นเต้นต่อผู้คนจำนวนมาก อาจตายลงแล้ว สร้างความสลดใจแก่ชาวแคนาดาทั้งประเทศ

หลังกรมประมงแคนาดาใช้เครนขนาดยักษ์ลากซากวาฬหลังค่อมตัวหนึ่งขึ้นมาบนฝั่ง ที่ได้รับเบาะแสจากคนขับเรือสินค้าพบในแม่น้ำขณะล่องเรือผ่านแม่น้ำ เจ้าหน้าที่เครือข่ายหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลรัฐควิเบก (RQUMM) กล่าวว่า อาจเป็นตัวเดียวกับข้างต้น

วาฬหลังค่อมตัวดังกล่าวอายุ 2-3 ปี มีสุขภาพแข็งแรง ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะว่ายน้ำกลับไปปากแม่น้ำและอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ ห่างออกไปมากกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อออกทะเลไปอีกครั้ง สำหรับผลการชันสูตรซากวาฬด้วยความร่วมมือระหว่าง RQUMM กรมประมง และมหาวิทยาลัยสัตวแพทย์มอนทรีออล ในเบื้องต้นไม่พบโรคใดๆ

https://i1198.photobucket.com/albums...psusr4i0gx.jpg
Ivanoh Demers/Radio-Canada

สื่อท้องถิ่นตั้งข้อสงสัยโดยอ้างผู้เชี่ยวชาญว่า วาฬหลังค่อมตัวนี้อาจถูกเรือสินค้าชน หรือว่ายน้ำมาเกยบนพื้นดินตื้นในน้ำตื้น ขณะที่ RQUMM ระบุว่า วาฬหลังค่อมตัวนี้อาจว่ายน้ำหลงทางเข้ามาขณะล่าเหยื่อ หรือความผิดพลาดในการนำทาง นอกจากนี้ เป็นวาฬหลังค่อมตัวแรกที่ถูกพบในแม่น้ำแห่งนี้ เพราะก่อนหน้ามีรายงานการค้นพบวาฬมิงก์และวาฬเบลูกา

ทั้งนี้ วาฬหลังค่อมอาศัยใกล้ทั้งอาร์กติกและแอนตาร์กติกา ตัวเต็มวัยมีความยาวถึง 17 เมตร และน้ำหนักถึง 40 ตัน จะใช้เวลาในฤดูร้อนใกล้ขั้วโลก และว่ายน้ำไปพื้นที่เขตร้อนในซีกโลกระหว่างฤดูหนาวเพื่อผสมพันธุ์


https://www.khaosod.co.th/around-the...s/news_4290851


สายน้ำ 11-06-2020 04:53

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


เต่าทะเลนับหมื่นโผล่วางไข่นอกฝั่งออสเตรเลีย

นักวิจัยออสซี่จับภาพฝูงเต่าตนุนับหมื่นตัวแห่วางไข่ บนเกาะอนุรักษ์ใกล้เกรตแบร์ริเออร์รีฟ

https://i1198.photobucket.com/albums...pszpb8qgr7.jpg

ทีมนักวิจัยและนักอนุรักษ์ของออสเตรเลียสามารถจับภาพของฝูงเต่าตนุ (Green sea turtle) จำนวนนับหมื่นตัว ขณะว่ายน้ำอพยพจากแหล่งที่อยู่บริเวณพืดหินปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) มายังเกาะเรน (Raine Island) เขตอนุรักษ์นอกชายฝั่งทางเหนือของประเทศเพื่อวางไข่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์

ทีมนักวิจัยและนักอนุรักษ์ภายใต้โครงการ Raine Island Recovery Project ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลของออสเตรเลีย ได้ใช้โดรนขึ้นบินเพื่อจับภาพของเต่าทะเลซึ่งมักพากันอพยพมาวางไข่กันบริเวณเกาะเรนเป็นประจำช่วงฤดูผสมพันธุ์ เพื่อง่ายต่อการประเมินจำนวนประชากรเต่าที่อาศัยในแถบปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ โดยภาพจากโดรนทีมวิจัยประเมินว่าอาจมีเต่าตนุมาถึง 64,000 ตัว ว่ายน้ำอพยพมาเป็นระยะทางนับร้อยกิโลเมตร เพื่อขึ้นฝั่งไปวางไข่บริเวณเกาะเรนและพื้นที่ใกล้เคียง



ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้พยายามนำจำนวนประชากรเต่าที่จะขึ้นมาวางไข่ด้วยการใช้สีที่ไม่เป็นอันตรายทาเพื่อนับจำนวน แต่ก็มีความคลาดเคลื่อนสูง กระทั่งมีการใช้โดรนพร้อมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวน จึงทำให้ง่ายต่อการประเมินจำนวนประชากรเต่า ซึ่งการที่นักวิจัยสามารถนับจำนวนเต่าได้ครั้งนี้ทำให้พบว่า มีจำนวนเต่ามากกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าถึง 1.73 เท่า

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักวิจัยยังห่วงคือเปอร์เซ็นอัตราการรอดชีวิตของเต่าที่เกิดใหม่ยังคงสูงอยู่ ขณะที่ทีมยังต้องใช้ความพยายามในฟื้นฟูเกาะเรนเพื่อให้เต่าเหล่านี้สามารถขึ้นมาวางไข่ได้ทุกปี รวมถึงพยายามสร้างรั้วเพื่อป้องกันศัตรูทางธรรมชาติที่อาจมารบกวนฤดูวางไข่ของพวกมัน


https://www.posttoday.com/world/625702


สายน้ำ 11-06-2020 04:57

ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย


ตื่นตา ภาพฝูงเต่าทะเลทำรัง สุดอลังการ

ออสเตรเลีย 10 มิ.ย. - เป็นใครก็ต้องตื่นตา ทำท่าตะลึงแทบลืมหายใจ เมื่อได้เห็นภาพถ่ายจากโดรนของนักวิจัยที่จับภาพเต่าทะเลฝูงใหญ่ทำรังวางไข่ใกล้กับแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก

https://i1198.photobucket.com/albums...psu7vrywxa.jpg

สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ภาพที่ถ่ายด้วยโดรน โดยทีมนักวิจัยชาวออสเตรเลียถ่ายเอาไว้ เป็นภาพเต่าทะเลจำนวนนับพันนับหมื่นตัวทำรังวางไข่บนเกาะแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับ "เกรตแบร์ริเออร์รีฟ" (Great Barrier Reef) หินปะการังหรือแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย

ทีมนักวิจัยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย บอกว่า เทคโนโลยีโดรนช่วยเพิ่มความแม่นยำในการสำรวจจำนวนเต่าทะเลที่ทำรังวางไข่บนเกาะเรน ( Raine Island) เกาะปะการังที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอาศัยของฝูงเตาตนุที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเกาะเรนนี้ ตั้งอยู่บนขอบด้านนอกของแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ

https://i1198.photobucket.com/albums...pswnzsocaa.jpg

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทีมนักวิจัยออสเตรเลียใช้โดรนบินวนเหนือบริเวณเกาะเรน เพื่อสำรวจจำนวนฝูงเต่าตนุ สัตว์ทะเลที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ผลที่ได้คือภาพถ่ายของเต่าทะเลที่กำลังพากันเดินต้วมเตี้ยมๆ ขึ้นฝั่งเพื่อทำรังวางไข่ ซึ่งนับจำนวนได้มากถึง 64,000 ตัว

เมื่อก่อนในการนับจำนวนเต่า นักวิจัยจะใช้วิธีระบายสีเป็นแถบสีขาวลงบนกระดองเต่าแล้วก็นับจำนวน โดยนักวิจัยนั่งอยู่บนเรือลำเล็กๆ วนล่องไปตามชายฝั่ง มองดูหลังกระดองเต่า ทั้งที่มีแถบสีขาวและไม่มี ก็นับกันไป นับได้ตามจำนวนที่มองเห็น แต่คราวนี้มีเทคโนโลยีโดรนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจับภาพและนับจำนวน ทำให้ทีมนักวิจัยสามารถวิเคราะห์ภาพแต่ละเฟรมในห้องแล็บและคำนวณจำนวนประชากรเต่าทะเลได้อย่างแม่นยำมากขึ้นหลายเท่า

https://i1198.photobucket.com/albums...psgwpuwsfi.jpg

แนวปะการัง "เกรตแบร์ริเออร์รีฟ" ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 348,000 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่เลื่องชื่อของโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2524 เป็นสถานที่ที่บรรดานักดำน้ำทั่วโลกยกให้เป็นแหล่งธรรมชาติทางทะเลที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก.


https://www.mcot.net/viewtna/5ee0ce05e3f8e40af945486f


สายน้ำ 11-06-2020 05:01

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


สัตว์ป่า: การลักลอบค้าตัวนิ่มอาจลดลงหลังจากจีนยกระดับความคุ้มครองและปลดจากตำรายาจีน ................. โดย กุลธิดา สามะพุทธิ

https://i1198.photobucket.com/albums...psfl8kofgu.jpg
เจ้าหน้าที่อุ้มตัวนิ่มที่ยึดได้จากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าในแอฟริกาเมือเดือนเมษายน 2563 องค์กรอนุรํกษ์สัตว์ป่า WWF ระบุว่าตัวนิ่มในแอฟริกาจำนวนมากถูกล่าเพื่อส่งขายประเทศจีน Image copyright GETTY IMAGES

รายงานการพบเชื้อไวรัสโคโรนาในตัวนิ่มและข้อสันนิษฐานว่ามันอาจเป็นพาหะตัวกลางที่นำเชื้อโรคโควิด-19 จากค้างคาวมาสู่คน อาจช่วยชีวิตสัตว์ป่าชนิดนี้จากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าและการถูกนำเกล็ดของมันมาผสมเป็นยาตามตำรับยาแพทย์แผนจีน

กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าจากหลายประเทศ รวมทั้ง WWF ประเทศไทยต่างแสดงความยินดีที่ทางการจีนยกระดับสถานะของตัวนิ่ม (pangolin) จากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ซึ่งได้รับความคุ้มครองระดับสูงสุดตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของจีนเมื่อต้นเดือน มิ.ย.นี้

ล่าสุดสื่อจีนรายงานเมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.) ว่า ทางการจีนได้ถอนเกล็ดตัวนิ่มออกจากตำรับยาแพทย์แผนโบราณด้วย เนื่องจากกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าของจีนห้ามบริโภคหรือใช้ประโยชน์ใด ๆ จากสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1

กลุ่มอนุรักษ์เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้การลักลอบค้าตัวนิ่มซึ่งจัดเป็น "อาชญากรรมข้ามชาติ" ลดลง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจีนจะบังคับใช้กฎหมายจริงจังแค่ไหน


ตัวนิ่มกับโควิด-19

แม้จะยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าตัวนิ่มเป็นพาหะตัวกลางที่นำเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวมาสู่มนุษย์หรือไม่ เนื่องจากตัวนิ่มใช้ลิ้นกวาดกินแมลงตามพื้นดิน ทำให้อาจติดเชื้อโรคโควิด-19 จากมูลค้างคาวมาได้ แต่กลุ่มอนุรักษ์เชื่อว่านี่เป็นเหตุผลที่ทางการจีนลุกขึ้นมาเปลี่ยนสถานะของตัวนิ่มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และลบเกล็ดตัวนิ่มออกจากตำราแพทย์แผนจีน

"จะเรียกว่าเป็นข่าวดีของตัวนิ่มก็ได้" เจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย WWF Greater Mekong ให้ความเห็นกับบีบีซีไทย

"การขึ้นบัญชีตัวนิ่มเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และถอนตัวนิ่มออกจากตำรับยาแพทย์แผนจีนเป็นสัญญาณที่ดี แต่ถ้าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังก็จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร"

เขาบอกว่าที่ผ่านมาทางกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าได้พยายามผลักดันให้ทางการจีนยกระดับสถานะตัวนิ่มไปอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 มานานหลายปี แต่ไม่สำเร็จ

https://i1198.photobucket.com/albums...psf794ot5y.jpg
Image copyright REUTERS

"ผมหวังว่าทางการจีนจะใช้วิกฤตครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะการบริโภคสัตว์ป่าในเมืองจีนเป็นความเชื่อและประเพณีที่ฝังรากลึกมาก หวังว่าโควิด-19 จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในเรื่องนี้"

นายเจษฎาให้ข้อมูลว่า ตามตำรับยาจีน เกล็ดของตัวนิ่มมีสรรพคุณในการขับน้ำนม จึงนิยมนำมาบดผสมกับยาจีนให้แม่ลูกอ่อนรับประทาน ส่วนเนื้อของมันคนจีนก็นิยมรับประทานโดยเชื่อว่าเป็นอาหารอันโอชะ

เดิมที ตัวนิ่มจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ซึ่งกฎหมายระบุว่าสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นสัตว์คุ้มครองประเภท 1 แล้วจะห้ามการใช้และบริโภคในทุกกรณี

"ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริง ๆ ก็จะลดทั้งอุปทานในตลาด ทำให้ของหายากขึ้น เมื่อหายาก ความต้องการซื้อก็จะลดลง เมื่อความต้องการลดลง การลักลอบนำเกล็ดตัวนิ่มเข้าไปเมืองจีนก็จะลดลง และการลักลอบนำตัวนิ่มเข้าจีนก็จะยากขึ้นอย่างแน่นอน" นายเจษฎาวิเคราะห์


เกล็ดอันมีค่าของตัวนิ่ม

เจ้าหน้าที่ WWF อธิบายว่าตัวนิ่มมีอยู่ 8 สายพันธุ์ทั่วโลก โดย 4 สายพันธุ์อยู่ในเอเชียและอีก 4 สายพันธุ์อยู่ในแอฟริกา ตามตำรับยาแพทย์แผนจีนต้องใช้ตัวนิ่มสายพันธุ์เอเชีย แต่เนื่องจากประชากรตัวนิ่มลดลงมาก จึงเริ่มมีการลักลอบค้าตัวนิ่มสายพันธุ์แอฟริกาแทน โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกใช้เป็นทางผ่านในการลักลอบขนตัวนิ่มจากแอฟริกาส่งไปจีน

https://i1198.photobucket.com/albums...psx675lcgc.jpg
ตัวนิ่มเป็นสัตว์ที่ถูกลักลอบซื้อขายมาที่สุดในโลก Image copyrightAFP/GETTY IMAGES

ช่วงก่อนปี 2560 เจ้าหน้าที่ไทยยึดตัวนิ่มของกลางจากกลุ่มลักลอบค้าสัตว์ป่าได้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ส่งตรงมาจากประเทศในแอฟริกาอย่างเคนยาและไนจีเรียมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือส่งมาที่มาเลเซียแล้วลักลอบขนผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลเซียทางถนน ส่งต่อไปลาวหรือเวียดนามเข้าจีน

นอกจากนี้ยังมีตัวนิ่มที่ถูกล่าจากป่าในมาเลเซียและอินโดนีเซีย เข้าไทยส่งไปจีนด้วย

หลังจากถูกนานาประเทศและกลุ่มนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากดดันอย่างหนัก ทางการไทยได้ปรับปรุงมาตรการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า รวมทั้งตัวนิ่มอย่างจริงจัง มีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมศุลกากรและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้การลักลอบค้าสัตว์ป่าในไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2561-2562 ไม่มีการจับกุมการลักลอบค้าตัวนิ่มในไทยเลย นายเจษฎาให้ข้อมูล

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการลักลอบค้าตัวนิ่มหมดไป

"โดยลักษณะของอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ จะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อย ๆ ถ้าประเทศไหนที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ก็จะมีการเปลี่ยนเส้นทางไป ในกรณีของตัวนิ่ม เราพบว่ามีการย้ายเส้นทางการลับลอบขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและลาวแทน"

จากรายงานของ Wildlife Justice Commission พบว่าในปี 2562 มีการยึดเกล็ดตัวนิ่มในเวียดนามได้มากถึงเกือบ 60,000 กิโลกรัม ส่วนประเทศไทย ปี 2559 มีการยึดเกล็ดตัวนิ่มได้รวม 5,800 กิโลกรัม แต่ระหว่างปี 2560-2562 ไม่มีบันทึกการยึดของกลาง

อย่างไรก็ตาม นายเจษฎาบอกว่าขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าการยกสถานะความคุ้มครองและการถอนจากตำรับยาจะทำให้การลักลอบค้าตัวนิ่มลดลงขนาดไหน แต่ปลายปีนี้น่าจะเห็นสถานการณ์ชัดขึ้น


"ก้าวสำคัญของการอนุรักษ์ตัวนิ่ม"

กลุ่มอนุรักษ์นานาชาติต่างมีความหวังว่าการล่าและฆ่าตัวนิ่มเพื่อเอาเกล็ดและเนื้อจะลดลงจากการยกระดับความคุ้มครองและถอนออกจากตำรับยาจีนในครั้งนี้

พอล ทอมสัน จากกลุ่ม Save Pangolins บอกว่านี่เป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์สัตว์ป่ารอคอยมานาน

"การถอนเกล็ดตัวนิ่มออกจากตำรับยาแผนโบราณของจีนจะเป็นผลดีอย่างใหญ่หลวงต่อการอนุรักษ์ตัวนิ่ม และนี่เป็นสิ่งที่เราเฝ้ารอกันมานาน" ทอมสันกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการจีนเดินหน้าต่อด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และรณรงค์เพื่อเปลี่ยนความเชื่อและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่าของประชาชน

แคทเธอรีน ไวส์ นักรณรงค์เพื่อสวัสดิภาพสัตว์บอกว่านี่เป็น "ข่าวดีมาก ๆ" แต่เธอบอกว่าแค่ยกระดับการปกป้องตัวนิ่มยังไม่พอ ทางการจีนต้องคุ้มครองสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ในระดับสูงสุดด้วย เพราะสัตว์ป่าเหล่านี้ต่างถูกล่าจากป่า จับยัดในกรงแคบ ๆ มาขาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการทารุณกรรมสัตว์แล้ว พวกมันยังอาจเป็นพาหะที่นำเชื้อโรคมาสู่มนุษย์อีกด้วย


https://www.bbc.com/thai/thailand-52995364



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:07

vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger